กัณฑ์ที่ ๑    พรรษา ๒๕๔๐

กามสุขเป็นทุกข์

 

การที่ญาติโยมมาอยู่ปฏิบัติธรรมนี้ถือว่ามาปฏิบัติเนกขัมมะ คำว่าเนกขัมมะก็คือการออกจากกามสุขนั่นเอง   กามสุขก็อย่างที่พูด คือความสุขที่เราจะต้องใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ต่างๆ นาๆ   แล้วก็เกิดการบันเทิงรื่นเริงใจ  แต่ไม่เกิดความอิ่มใจ ไม่เกิดความพอ ไม่เกิดความเย็นใจ  เป็นความสุขที่มีความเร่าร้อนจิตใจ เพราะได้สัมผัสสิ่งไหนที่เป็นสิ่งที่ถูกอกถูกใจ เป็นรูปก็ดี เป็นเสียงก็ดี ก็เกิดอุปทานความยึดมั่นถือมั่น เกิดความหวงแหน เกิดความเสียดาย อยากจะให้สิ่งนั้นๆ ที่ตัวเองสัมผัสที่ชอบนั้น ให้อยู่กับตัวเองไปนานๆ ก็เลยมีความกังวล กลัวว่ามันจะไม่อยู่กับตัวเองไปนาน ความสุขที่ได้เลยต้องเสียไปกับความทุกข์ที่เกิดจากความห่วง ความเสียดาย ความหวงแหน ก็เลยเป็นความสุขที่ปนไปกับความทุกข์  ได้สิ่งที่ตัวเองชอบมาแต่ก็ต้องระวังรักษาและก็มีความกังวลว่ามันจะหมดไปเมื่อไหร่ และในที่สุดมันก็ต้องหมดไป เพราะโดยธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายในสากลโลกมันเป็นของไม่เที่ยง  ด้วยเหตุที่ว่ามันเป็นของไม่เที่ยงและเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในความควบคุมของเรา ที่จะบังคับให้มันอยู่กับเราไปได้ตลอด มันก็เลยเป็นทุกข์

 

แต่สิ่งที่เราสามารถควบคุมบังคับให้อยู่กับเราไปได้ตลอด สามารถให้ความสุขกับเราไปได้ตลอด และเป็นสิ่งที่จีรังถาวรไม่เปลี่ยนแปลงก็มีอยู่ ตัวนี้แหละที่เราแสวงหากัน และตัวนี้ที่เราต้องการพบมัน ตัวนี้ก็คือจิตใจของเรานั่นเอง จิตใจนี้มันเป็นของไม่ตาย มันเหมือนกับน้ำ  น้ำนี่ทำลายยังไงมันก็ไม่สูญ ต้มมันมันก็ระเหยขึ้นไปเป็นไอ พอมันขึ้นเป็นไอมันก็กลายไปเป็นเมฆ พอไปสัมผัสความเย็นเข้ามันก็ตกลงมาเป็นน้ำอีก มันก็วนไปเวียนมาอย่างนี้  จิตของมนุษย์เราก็เช่นกัน มันก็ไม่ตาย ไม่สูญสลายหายไป มันก็วนไปเวียนมา เวียนว่ายตายเกิด ออกจากร่างนี้มันก็ไปสู่อีกร่างหนึ่ง สุดแท้แต่เหตุปัจจัยที่จะพาไป

 

เหตุปัจจัยส่วนใหญ่เราเรียกว่ากรรม กรรมก็คือการกระทำของเรา ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ถ้าเราทำไปในทางที่ดีอยู่ในทำนองคลองธรรมอยู่ในศีลธรรม ก็จะไปสู่ที่ดีที่เรียกว่าสุคติหรือสวรรค์  พระพุทธเจ้าบอกว่าผู้ใดมีศีลห้า ผู้นั้นไปสวรรค์ และผู้ใดละเมิดศีลห้าอยู่เป็นอาจิณก็ต้องไปนรก นี่ก็เป็นภาษาพระ สวรรค์กับนรก จิตใจพอออกจากร่างกายก็ไปอยู่อีกร่างหนึ่งหรืออีกภพหนึ่งอีกภูมิหนึ่ง  แต่จิตใจนั้นก็ไม่สูญสลายไปไหนไปตามวาระแห่งกรรมบุญที่จะพาไป 

 

ทีนี้คนเราไม่ได้ทำแต่บุญอย่างเดียว และก็ไม่ได้ทำแต่บาปอย่างเดียว ทำทั้งบุญทั้งบาป และที่ไม่ใช่บุญและไม่ใช่บาป สลับผลัดเปลี่ยนไปตามอารมณ์ ตามเหตุการณ์ เวลาที่ผลบุญผลกรรมมันแสดงขึ้น ก็เลยสลับกันไป บางทีบางคนรู้สึกว่าทำบุญมากในชาตินี้ แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยได้รับความสุขเท่าไหร่ ก็เพราะว่าบุญที่ตัวเองทำอยู่นั้นยังไม่ส่งผลให้  ผลที่ตัวเองได้รับนั้นมันเป็นผลของกรรมที่ทำมาในอดีต มันก็เลยเหมือนกับว่าทำดีไม่ได้ดี ส่วนบางคนทำความชั่วอยู่ตลอดเวลา แต่รู้สึกว่าได้ดีอยู่เรื่อย นั่นก็เป็นเพราะว่ากรรมชั่วที่เขาทำในปัจจุบันนี้มันยังไม่ส่งผล ส่วนความดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเขานั้นมันเกิดขึ้นมาจากบุญหรือความดีที่เขาเคยทำไว้ในอดีต มันส่งผลให้ในปัจจุบันนี้ มันก็เลยเกิดความรู้สึกว่าคนทำชั่วกลับได้ดี คนทำดีกลับไม่ได้ดีอย่างนี้เป็นต้น

 

เราก็ต้องเข้าใจว่าการกระทำนี้ มีทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน และก็จะมีต่อไปในอนาคต และการที่ผลของสิ่งเหล่านี้จะปรากฏขึ้น ผลบางอย่างก็ปรากฏขึ้นเร็ว ผลบางอย่างก็ปรากฎขึ้นช้า  ขึ้นอยู่กับกรรมบุญแต่ละอย่างที่กระทำกัน เหมือนกับต้นไม้หรือพืชต่างๆ บางอย่างก็ออกดอกออกผลเร็ว บางอย่างก็ออกดอกออกผลช้า ถ้าปลูกต้นไม้ยืนต้นใช้เวลาหลายปีกว่าจะออกดอกออกผล แต่ถ้าปลูกพวกพืชล้มลุกต่างๆ เช่น ข้าว ข้าวโพดนี้ ปลูกสามเดือนก็ออกผลให้แล้ว อย่างนี้เป็นต้น การกระทำต่างๆ ก็เหมือนกัน บางอย่างก็ออกผลเร็ว บางอย่างก็ออกผลช้า แต่ลักษณะโดยรวมแล้วมันก็ออกผลให้ด้วยกันทั้งนั้น และผู้ที่จะรับผลนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือจิตใจผู้ที่กระทำกรรมกระทำบุญนั้นๆ

 

ดังนั้นก็สรุปได้ว่าผลของกรรมนั้นก็เหมือนกับรอยของเกวียน เวลาเกวียนมันหมุนไปบนดินนี่ ก็จะมีรอยตามไปตลอดเวลาฉันใด การกระทำของเราก็มีผลตามมาฉันนั้น จะช้าหรือจะเร็วเท่านั้นเอง แต่ถ้าทำดีก็ได้ดี  ทำชั่วก็ได้รับแต่สิ่งที่ไม่ดีไม่งามเป็นเครื่องตอบแทนไป  ทำดี ทำบุญก็ได้รับความสุขใจ ถ้าทำความชั่วทำบาปทำกรรมเบียดเบียนผู้อื่นก็จะได้รับความไม่สบายใจ ผลที่เกิดทางด้านจิตใจนี้มันเร็ว มันเกิดขึ้นได้ทันที ทันตาเห็น เช่นเราทำบุญนี้ช่วยเหลือผู้ใดและเราเกิดความอิ่มเอิบใจ สุขใจ นี่แหละผลบุญมันเกิดขึ้นแล้ว และถ้าเราทำความชั่วไปด่าใคร ไปว่าใคร ประทุษร้ายผู้หนึ่งผู้ใด หรือไปกลั่นแกล้งผู้หนึ่งผู้ใดให้เขาได้รับความทุกข์ เราก็มีความไม่สบายใจเกิดขึ้นมา และผลที่มันปรากฏที่ใจนี้มันเร็ว

 

ผลพวงที่ตามมาทีหลัง คือถูกเขาจับเข้าตาราง  หรือว่าทำดีแล้ว มีคนอื่นเขามาสรรเสริญ ให้ลาภ ให้ยศกับเรา นี่มันอาจจะช้า หรือบางทีอาจจะไม่มาเลยก็ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ คนเราถ้ามีความสุขอยู่ในจิตใจเสียอย่างแล้วไม่ต้องการอะไรหรอก  ใครจะมาสรรเสริญเยินยอ ใครจะเอาเงินมากองให้ต่อหน้า มันก็ไม่มีประโยชน์สำหรับคนๆ นั้น เพราะคนนั้นเขามีความอิ่ม มีความพออยู่ในใจ  บุญหรือความสุขนี่ ทำให้เรารู้จักกับคำว่าพอ แต่ถ้ามีความอยากแล้ว มีเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ  ความทุกข์เกิดจากความอยาก อยากเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ ได้มาเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ

 

เช่นวันนี้โยมเอาของมาให้ห้าร้อยบาท พอพรุ่งนี้เอามาให้สามร้อยบาท มันจะรู้สึกว่าน้อยเหลือเกิน เคยให้ตั้งห้าร้อย วันนี้ให้แค่สามร้อย เรื่องของกิเลสมันเป็นอย่างนั้น เรื่องของความอยากมันไม่รู้จักคำว่าพอ แต่เรื่องของความสุขที่เกิดจากการให้นั้น พอเราให้เขาไปแล้ว เราสบายใจ มีเงินมีทอง มีข้าวมีของ ที่มันเหลือใช้ เกินความจำเป็น บางทีเก็บไว้ก็รู้สึกเกิดความรำคาญใจ ต้องมาคอยห่วง คอยดูแลรักษา ถ้าให้ไปเสีย สละไปเสีย หมดเรื่องหมดราวไป มันกลับสบายใจ อยู่ตัวเปล่าๆ นี่มันแสนสบาย มันไม่ต้องไปห่วงหน้าห่วงหลัง การห่วงหน้าห่วงหลังก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง ฉะนั้นการที่เราเสียสละ เราให้สิ่งที่ไม่มีความจำเป็นสำหรับเรา มันทำให้เราเกิดความสุขใจขึ้นมา ฉะนั้นการให้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราพบความสุขใจ

 

เช่นเดียวกับการไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือการที่เราไม่ไปทำร้ายผู้อื่น ไปฆ่าเขาก็ดี หรือว่าไปทำร้ายจิตใจเขาด้วยการ เอาข้าวเอาของที่เขารักเขาหวงมา หรือไปประพฤติผิดประเวณีกับสามีเขาก็ดี ภรรยาเขาก็ดี ลูกเขาก็ดี ซึ่งเป็นสมบัติของเขาโดยที่เขาไม่อนุญาติ โดยที่เขาไม่เห็นชอบ มันก็สร้างความทุกข์ให้กับเขา หรือว่าเราไปโกหกหลอกลวงผู้อื่นให้เขาเกิดความหลงเชื่อเรา และเขามารู้ที่หลังว่าสิ่งที่เราพูดนั้นไม่เป็นความจริง ก็ทำให้เขาเกิดความเสียใจ และก็เกิดความอาฆาตพยาบาท บางทีเขาก็ตามล่าเรา ไปแจ้งความกับตำรวจให้มาจับเรา พอเราทำผิดศีลแล้ว จิตใจเราก็อยู่ไม่สงบ อยู่ไม่สุข วุ่นวายใจ ภาษาชาวบ้านเขาก็ว่าเป็นวัวสันหลังหวะ มีแผล พอเห็นตำรวจก็ตกใจทั้งๆ ที่ตำรวจเขาไม่รู้จักเรา เขาไม่ได้มาจับเราสักหน่อย พอเราเห็นตำรวจเข้า เราก็ชักจะระแวงไม่แน่ใจ นี่แหละเรียกว่าเกิดความทุกข์ขึ้นมา ไม่สบายใจขึ้นมา ถ้าเรามีศีล เราไม่ละเมิดศีลแล้ว ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่เกิดขึ้น ความสุขใจที่เกิดจากการมีศีลก็ตามมา

 

ส่วนความสุขที่เกิดจากความสงบของจิต ที่เราปรารถนากันนักกันหนาเรียกว่าสันติสุข ความสุขที่เกิดจากความสงบนั้น ต้องอาศัยการควบคุมจิตใจให้อยู่นิ่ง เหมือนกับที่เรามานั่งอยู่นี่ เราสามารถควบคุมร่างกายเราได้ ร่างกายเรานั้น ไม่ใช่เป็นของยากที่จะบังคับ สามารถให้นั่งนิ่งได้ ชั่วโมง สองชั่วโมงนี่ พอบังคับกันได้ แต่จิตใจนี่ ให้มันนิ่งได้แม้กระทั่งเพียงสองสามนาทีก็รู้สึกว่ายากเหลือเกิน ให้มันอยู่กับคำว่าพุทโธ พุทโธ ไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ ก็รู้สึกว่ามันแสนจะยาก ที่มันยากก็เพราะว่าเราขาดเหตุปัจจัย คือตัวที่จะควบคุมจิตใจนั่นเอง

 

ตัวที่จะควบคุมจิตใจเราเรียกว่าสติ ความระลึกรู้   ความระลึกรู้หมายถึง ทำให้รู้อยู่กับปัจจุบัน ให้รู้อยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ รู้อยู่ว่าใจกำลังคิดอะไรอยู่  ถ้าเรานั่งอยู่ ก็ให้ใจรู้อยู่กับการนั่ง ให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ที่เราเรียกว่าอานาปานสติ ถ้ารู้อยู่ตรงนี้ รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็ถือว่าเรามีสติควบคุมใจ โดยใช้การกำหนดรู้ลมเป็นเครื่องควบคุมใจ อานาปานะ แปลว่าลมเข้าลมออก    สติแปลว่าการระลึกรู้  อานาปานสติคือการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อันนี้ก็เป็นวิธีควบคุมจิตใจให้มันนิ่ง 

 

ถ้าจิตใจถูกควบคุมอยู่กับลมได้โดยสม่ำเสมอต่อเนื่องกัน จิตก็จะค่อยๆ สงบตัวลง ค่อยๆ นิ่ง ค่อยๆ นิ่ง และในที่สุดมันก็จะหยุดนิ่งไปเลย  เมื่อหยุดนิ่งแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ เกิดขึ้นมาภายในจิตใจ ซึ่งเราไม่เคยสัมผัสมาก่อน เป็นความรู้สึกที่มันว่างเปล่า เวิ้งว้าง เบาอกเบาใจ เกิดความปิติ เกิดความสุข บางทีขนลุกซ่าขึ้นมาในขณะนั้น หรือน้ำตาอาจจะไหลออกมา เพราะเป็นความรู้สึกที่มันอัศจรรย์ใจ เป็นสิ่งที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนในชีวิต นี่คือความสุขที่เกิดจากความสงบ พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า นัตถิสันติปรังสุขัง  ไม่มีสุขไหนจะเท่ากับความสงบ  สุขอื่นที่จะเหนือกว่าความสุขที่เกิดจากความสงบของจิต ไม่มีในโลกนี้  ต่อให้มีเงินมีทองกี่ร้อยล้านกี่พันล้าน สามารถซื้อข้าวซื้อของ สร้างตึกสูงเป็นร้อยๆชั้น มีรถยนต์ราคาคันละสิบๆล้านก็ตาม  ความสุขที่ได้จากสิ่งเหล่านั้นไม่เท่าธุลีเมื่อเปรียบเทียบกับความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตใจ  พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง 

 

สมาธิก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เป็นธรรมเบื้องต้นเท่านั้นเอง  ยังมีความสุขที่เหนือกว่าสมาธิอีก คือสุขที่เกิดจากปัญญา สุขที่เกิดจากการหลุดพ้นวิมุตติ  อันนี้เป็นขั้นตอนของการปฏิบัติที่เราต้องไต่ขึ้นไป จากสุขที่เราได้รับจากการให้ทาน สู่ความสุขที่เกิดจากการรักษาศีล ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สู่ความสุขของสมาธิ ขณะที่จิตสงบตัวอยู่นั้น จิตจะไม่มีอาการดิ้น จิต จะไม่หนีไปไหนโดยที่เราไม่ต้องบังคับ คือหลังจากที่เรากำหนดลมหายใจและจิตค่อยๆ สงบเข้าไป จนกระทั่งจิตเข้าไปรวมตัวลง เราเรียกว่าจิตรวมลงเป็นสมาธิ  พอรวมตัวลงเป็นสมาธิแล้ว ในขณะนั้นเราไม่ต้องไปกำหนดสติ เราไม่ต้องไปกำหนดลมอีกต่อไป ขณะนั้นเราก็ปล่อยวางลมไป ลมก็หายไป จิตรวมอยู่เฉยๆ ตั้งนิ่งอยู่ในขณะนั้น ถ้าเป็นนักโทษ  นักโทษตอนนั้นก็ไม่วิ่งหนีแล้ว นักโทษเหนื่อยวิ่งไม่ไหวก็นั่งอยู่เฉยๆ ตำรวจผู้ที่จะต้องคอยตามจับนักโทษก็ไม่ต้องคอยมานั่งเฝ้า

 

เพราะฉะนั้นขณะที่จิตเข้าสู่สมาธิ จึงเป็นขณะที่มีความสบาย ไม่มีความเครียด จากการที่ต้องคอยควบคุมจิตใจ เหมือนกับขณะที่เรากำลังเจริญอานาปานสติ ขณะที่เราเจริญอานาปานสติ จะเกิดความรู้สึกการต่อสู้กัน ระหว่างการมีสติกับการเผลอสติ เวลามีสติก็รู้อยู่กับลม เวลาเผลอสติ ก็ไปคิดอยู่กับเรื่องราวต่างๆ นานา  คิดเรื่องโน้นบ้าง คิดเรื่องนี้บ้าง พอได้สติ ก็ดึงกลับมาหาลม ช่วงนั้นมันเป็นเหมือนกับการชักคะเย่อกัน เกิดความตึงเครียดระหว่างการต่อสู้กันสองฝ่าย ฝ่ายที่พยามจะดึงจิตไว้ กับฝ่ายที่พยามจะฉุดจิตให้ไปตามอารมณ์ต่างๆ แต่ถ้าฝ่ายที่มีกำลังมากกว่าเป็นฝ่ายสติ คือฝ่ายธรรมะ ถ้าสามารถรั้งจิตไว้ให้อยู่ได้ กระทั่งฝ่ายที่จะฉุดจิตให้ไปตามกระแสอารมณ์ต่างๆนั้น หมดกำลังลง จิตก็จะรวมตัวลง พอรวมตัวลงปั๊บ ก็เหมือนกับทีมสองทีมที่ชักคะเย่อกัน พอทีมหนึ่งยอมแพ้ ไม่มีกำลังที่จะต้านทานแล้ว ฝ่ายที่มีกำลังมากกว่าก็ไม่ต้องออกกำลังอีกแล้ว  พอเขาปล่อย ความตึงเครียดมันก็หมดไป จิตเวลาเข้าสู่สมาธิก็เป็นในลักษณะนั้น มันหมดความตึงเครียดไม่ต้องมาคอยควบคุมจิตอีกต่อไป ไม่ต้องตั้งสติแล้วในขณะนั้น  คือขณะนั้นสติมีแล้วโดยอัตโนมัติ มันรู้อยู่กับจิต ตัวสติกับจิตตอนนั้นมันรวมกันเป็นหนึ่ง ที่เราเรียกว่าจิตรวม หรือสักแต่ว่ารู้  จิตรู้อยู่ตามลำพังของตัวเอง รู้อยู่ว่าขณะนี้จิตไม่คิดไม่ปรุง จิตไม่คิดอยากจะไปโน่นมานี่ จิตสงบอยู่ จิตอยู่เฉยๆ 

 

อันนี้แหละเป็นความอัศจรรย์ใจเป็นความสุขที่ผู้ใดเมื่อได้สัมผัสกับความสุขแบบนี้แล้ว จะยินดีที่จะสละความสุขต่างๆ ที่เคยมีมาก่อน เคยมีความสุขอยู่กับการอยู่บ้านใหญ่โต อยู่ในพระราชวัง มีบริษัทบริวาร มีข้าวของเงินทองต่างๆ ที่จับจ่ายใช้สอยเหลือเฟือ แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้มีความหมายกับจิตดวงนั้นอีกต่อไป จิตดวงนั้นจะพยายามแสวงหาแต่ที่สงบ ที่วิเวก ที่สงัด พยายามหลบหลีกคน เมื่อก่อนนี้เป็นคนที่ชอบสังคม เดี๋ยวนี้กลับกลายเป็นคนเบื่อสังคม ไม่อยากจะพูดคุย ไม่อยากจะเจอใคร เพราะเสียเวลา พูดไปมันก็เท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่เหมือนกับหลบไปอยู่ตามลำพังที่ไหนเงียบๆ นั่งกำหนดจิต นั่งดูลมหายใจเข้าออก ไม่ให้จิตไปคิด ไปปรุง แล้วจิตก็รวมลงเป็นสมาธิ อันนั้นแหละเป็นความสุขที่แท้จริง 

 

แต่ความสุขที่เกิดจากสมาธินั้น มันอยู่ได้เพียงชั่วครั้ง ชั่วคราว คือจิตเมื่อรวมลงแล้วอยู่ได้ไม่นาน ใหม่ๆ นี่อาจจะอยู่เพียงวูบเดียวเท่านั้น ขณะหนึ่ง หรือ สองขณะ เราถึงเรียกว่า ขณิกะสมาธิ จิตรวมตัวลงแล้ว อยู่ได้เพียงขณะสองขณะ  แต่ขณะสองขณะนั้น มันก็เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ใจเหลือเกิน  เป็นสิ่งที่จะไม่ทำให้ลืมไปตลอดชีวิต เป็นสิ่งที่จะสามารถดึงคนให้ออกจากกามสุขได้อย่างสบาย จากผู้ที่เคยเป็นผู้ที่ชอบแต่งหน้าทาปาก ใส่เสื้อผ้าสวยๆ งามๆ ออกงานสังคมต่างๆ กลับกลายเป็นคนที่เบื่อหน่ายกับสิ่งเหล่านั้น ชอบอยู่แบบง่ายๆ เรียบๆ  ชอบอยู่ตามลำพัง หาความสงบจากจิตใจ นี่ก็คือลักษณะของความสุขที่เกิดจากสมาธิ แต่อย่างที่พูดนี่ มันเป็นชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง 

 

พอมันถอนออกมาก็เริ่มกลับไปสู่สภาพเดิมๆ มันก็จะเริ่มคิดปรุงต่อไป คิดไปโน่น  คิดมานี่ คิดเรื่องโน้น คิดเรื่องนี้แล้ว จิตมันก็จะเริ่มฟุ้งซ่านแต่อย่างน้อยมันจะอยู่ในวงของศีลธรรม อยู่ในวงของการทำบุญทำทานคือคิดอยากจะทำบุญทำทาน อะไรอย่างนั้น แต่บางทีการทำบุญทำทานมันก็วุ่นวายสำหรับคนที่มีสมาธิ เวลาจะไปทำบุญทีก็ต้องไปเตรียมข้าวเตรียมของ ซื้อข้าวซื้อของ ต้องติดต่อกับคนนั้น ติดต่อกับคนนี้ บางทีติดต่อแล้ว พูดกันแล้ว นัดกันแล้ว ก็ไม่เป็นตามนัด มันก็เกิดความวุ่นวายขึ้นมาในจิตใจ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีสมาธิแล้ว ถ้าไม่มีปัญญาก็ยังไม่มีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าต่อไปได้เท่าไหร่

 

แต่ถ้าเป็นผู้มีปัญญา จะต้องรู้จักรักษาจิต คือเมื่อจิตออกมาจากสมาธิแล้วต้องมีปัญญาคอยประกบทุกขณะ ต้องรู้ว่าขณะนี้จิตเรากำลังคิดอะไรอยู่คิดไปเพื่อให้จิตสงบ หรือเพื่อให้จิตวุ่นวาย ถ้าคิดไปเพื่อที่จะไปทำโน่นทำนี่ ถ้ามีปัญญามันก็จะดึงกลับมา จะตัดได้ แต่ถ้าไม่มีปัญญา มันก็จะถูกกิเลสหลอกพาไปอีก หลอกพาให้ไปทำบุญนี่แหละ การทำบุญนี่ เมื่อก่อนที่จะมีสมาธิเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าเป็นบันไดที่จะนำไปสู่ธรรมมะขั้นที่สูงขึ้นไป แต่เมื่อขึ้นไปถึงขั้นที่สูงแล้ว กลับโดนกิเลสหลอกให้ลงบันไดมาขั้นที่ต่ำอีก ไปวุ่นวายเกี่ยวกับเรื่องการทำบุญทำทานอีก ทำให้ไม่มีเวลามาทำสมาธิ เลยหลุดจากธรรมขั้นสูง กลับลงไปสู่ธรรมขั้นต่ำ

 

เพราะฉะนั้นผู้ที่เจริญได้สมาธิแล้ว ต้องใช้สติปัญญาสังเกตุดูว่ากิริยาอาการเคลื่อนไหวของจิตใจนั้น จะเป็นไปเพื่อให้เจริญขึ้นสู่ธรรมที่สูงขึ้นไป หรือถูกดึง ถูกหลอกให้กลับลงไปสู่ธรรมที่อยู่ต่ำกว่า ถ้ามีสติปัญญาคอยแยกแยะ ก็จะสามารถที่จะตัดการทำบุญที่เป็นเรื่องของความวุ่นวายได้ คือถ้าจะทำบุญก็ทำแบบง่ายๆ มีเช็คก็เขียนชื่อ เซ็นชื่อลงไปเลย หมดเรื่อง ไม่ต้องไปจัดการเรื่องโน้น เรื่องนี้ ไปเตรียมข้าว เตรียมของต่างๆ นานา เป็นการทำบุญแบบตัดภาระ  ตัดความกังวล ตัดเวลาที่เราจะต้องเสียไปกับเรื่องราวต่างๆ เอาเวลาที่มีค่ามาเจริญธรรมมะขั้นสูงต่อไปดีกว่า

 

ธรรมมะขั้นที่สูงนั้น ก็คือการเจริญด้วยปัญญา ให้จิตที่ยังมีกิเลสครอบงำอยู่ ที่มีกิเลส คืออุปทาน ยังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆอยู่นั้น ให้ใช้ปัญญาเข้าไปทำลายเสีย ทำลายความยึดมั่นถือมั่น ที่เราเรียกว่าการเจริญวิปัสสนา คือการพยามกำหนดดูสภาวะธรรมทั้งหลาย ให้เห็นว่าเป็นของที่ไม่น่ายึดไว้ ไม่น่าติดพัน เช่นขันธ์ห้า คือเป้าหมายอันใหญ่โตที่กิเลสนั้นลากใจผูกใจไว้ ให้ติดอยู่กับขันธ์ห้า คืออุปทานความยึดมั่นในขันธ์ห้า  ความยึดมั่น ถือมั่นในขันธ์ห้า ว่าเป็นเราเป็นของเรา

 

ขันธ์ห้าประกอบด้วยรูปขันธ์  รูปขันธ์ก็คือร่างกาย  เวทนาขันธ์ก็คือความรู้สึก สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์  สัญญาขันธ์ ก็คือการจำได้หมายรู้ เราเห็นรูปเราก็จำได้ว่า อันนี้เป็นรูปของใคร เป็นรูปของนายก. รูปของนายข. ได้ยินเสียง เราก็จำเสียงนี้ได้ว่า เป็นเสียงของใคร อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของสัญญาคือการจำได้หมายรู้  สังขารคือความคิดปรุงแต่ง คิดไปได้สองทางด้วยกัน คิดไปทางธรรมะก็ได้ คิดไปทางโลกก็ได้ ถ้าคิดไปทางโลก ก็คิดไปแบบว่า เออเดี๋ยววันนี้ไปเที่ยวสักหน่อย ไปกินเลี้ยงสักหน่อยอะไรอย่างนี้  ถ้าคิดไปทางธรรมมะก็ อ้อวันนี้วันพระ เราไปเข้าวัดดีกว่าไปจำศีล ไปอดข้าวเย็น ไปทรมานใจตัวเอง เพื่อที่จะพัฒนาจิตใจให้เกิดความเข้มแข็ง ให้เกิดกำลังที่จะต่อต้าน ต่อสู้กับกิเลส ความโลภ ความอยากทั้งหลาย ถ้าเราไม่มีกำลัง ไม่มีขันติ ไม่มีศีล เป็นเครื่องช่วยแล้ว ก็ยากที่จะสู้กับความโลภ ความอยากทั้งหลายได้

 

ดังนั้น สังขารก็เป็นสังขารที่เป็นธรรมมะก็ได้ เป็นกิเลสก็ได้ ที่เราเรียกว่าเป็นมรรค หรือเป็นสมุทัย ถ้าคิดไปในทางสั่งสมกิเลส ไปทางความโลภความโกรธ ไปทางที่อยากจะสนุกสนานเฮฮากับเรื่องกามสุขทั้งหลาย อันนี้ก็ถือว่าเป็นสังขารไปทางสมุทัย เป็นการไปสั่งสมความทุกข์ใจ ถ้าสังขารที่คิดว่าไปหาที่สงบๆดีกว่า ไปอยู่ตามสถานที่ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือให้หาที่นั่งที่นอนอันสงบสงัดวิเวก อย่าไปคลุกคลีกัน อย่าไปนั่งจับกลุ่มคุยกัน คุยกันไปก็ฟุ้งไป และก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร สู้ไปอยู่ตามลำพังของเรา แล้วก็ตั้งสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก อันนี้เรียกว่าเป็นผู้ที่มีสัมมาสติ เป็นผู้ที่เจริญเข้าสู่สัมมาสมาธิ เป็นผู้ที่เจริญมรรคนั่นเอง

 

ความคิดอันนี้จึงเป็นตัวสำคัญ ถ้าคิดในทางธรรมมะเราก็เรียกว่าปัญญา ถ้าคิดไปในทางโลกเราก็เรียกว่ากิเลส ทีนี้โดยธรรมดาแล้ว จิตใจของเรานั้น ไม่ค่อยคิดไปทางมรรคเท่าไหร่ ไม่คิดไปทางปัญญาเท่าไหร่ เพราะโดยนิสัยเดิมแล้ว จิตใจของเรานั้น ถูกกิเลสครอบงำมานานมาก จนกระทั่งฝังเป็นนิสัยลึกเข้าไป จนกระทั่งเป็นถึงสันดานเลยก็ว่าได้  เรื่องของการไปเที่ยวรู้สึกว่ามันรวดเร็วมาก ใครโทรศัพท์มาชวนนี่ แทบไม่ต้องรอเลย แต่ถ้าใครจะมาชวนเข้าวัดเข้าวานี่ ต้องตั้งหลักตั้งท่ากันเป็นเดือน เป็นปี กว่าจะเข้าวัดกันได้สักครั้งหนึ่ง นั่นก็เป็นเพราะว่าเราขาดธรรมมะ เราไม่ค่อยได้พัฒนา ไม่ได้ส่งเสริมให้คิดไปทางด้านธรรมมะ นั่นก็เป็นเพราะเราไม่เคยสัมผัสผลของธรรมะมาก่อน  เราไม่เคยได้สัมผัสกับความสุขอันเกิดจากการทำบุญทำทาน เราไม่เคยสัมผัสกับความสุขจากการรักษาศีล เราไม่เคยสัมผัสกับความสุขที่เกิดจากความสงบของสมาธินั่นเอง  แต่เมื่อเราได้เริ่มสัมผัสกับสมาธิแล้ว เราต้องพยายามระมัดระวัง ควบคุม ดูสังขารความคิดปรุงของเรานี้ ให้ไปในทางที่เราต้องการให้ไป

 

ขณะที่เราออกจากสมาธิแล้ว เราควรที่จะดูจิตใจเรา ดูสังขารตัวนี้ ดูว่าสังขารตัวนี้จะพาให้เราคิดไปในทางไหน ถ้าคิดว่าเมื่อก่อนนี้เคยเข้าวัดแค่วันพระ อาทิตย์หนึ่งก็เข้าจำศีลอยู่เพียงครั้งเดียว  ต่อไปนี้อยากจะขอลองอยู่สักอาทิตย์หนึ่งเลย หรืออยู่สักสิบวัน สักเดือนหนึ่งหรือพรรษาหนึ่ง อะไรอย่างนี้เป็นต้น เพิ่มเวลาให้กับตัวเองในการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว แสดงว่าเราเริ่มจะเดินทางไปในทางที่ถูก ทางที่เราเรียกว่ามรรคผลนิพพานนั่นเอง  เราต้องการไปสู่ความสงบ เราต้องเจริญรอยตามที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ คือทางแห่งศีล สมาธิ และ ปัญญา

 

พยายามหาที่สงบวิเวก อย่างที่วัดนี้เราก็มีห้องพัก ที่เราเรียกว่าห้องอินทรีย์สังวรนั่นแหละ เป็นสถานที่สำหรับผู้ที่อยากจะควบคุมจิตใจ ควบคุมอินทรีย์  อินทรีย์ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ ไม่ให้ไปดู ไปสัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ต่างๆ ที่ไปยั่วยวนกวนใจ ให้เกิดกิเลส ให้เกิดความอยาก  ถ้าไปเห็นสิ่งเหล่านั้นแล้ว บางทีอยู่วัดได้ไม่กี่วัน ก็ทนอยู่ไม่ได้ ต้องออกไป เพราะคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ตัวเองเคยสัมผัสมา เคยมีความสุขกับสิ่งเหล่านั้นมา แต่ลืมนึกถึงความทุกข์ที่มันมีอยู่กับสิ่งเหล่านั้นไป เพราะความสุขของกามสุขนั้น มันเป็นความสุข แบบยาขมเคลือบน้ำตาล เวลาอมเข้าไปใหม่ๆ ก็หวานแต่พอน้ำตาลที่เคลือบอยู่หมดไป ก็เจอแต่ความขมขื่น ความสุขของทางโลกมันก็เป็นอย่างนั้น เวลาได้อะไรมาใหม่ๆ ก็รู้สึกว่ามันมีความสุขดี มันเพลิดเพลินดี พอต่อไปเมื่อเกิดความจำเจแล้วมันก็เริ่มเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาเป็นต้น  

 

เพราะฉะนั้นเวลาเรามีสมาธิแล้ว ท่านบอกให้เจริญปัญญาต่อไป ให้พิจารณาให้เห็นโทษของสิ่งเหล่านี้ ให้เห็นโทษของกามสุข เพราะขณะที่เราได้สมาธินั้น มันเป็นเพียงชั่วขณะเดียว พอเราออกจากสมาธิแล้ว กิเลสที่มันเคยชอบเรื่องกามสุข มันยังมีอำนาจ ที่จะฉุดลากเรากลับไปได้อย่าคิดว่า คนที่นั่งทำสมาธิแล้ว จะไม่ไปเที่ยวผับนะ ไปได้ ถ้าเราลองปล่อยมันไป มันก็อ้างว่า เพื่อนมาชวนไป เกรงใจก็ต้องไป มีนะ เพราะทำแต่สมาธิ ไม่ใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญาแล้ว มันจะมีกำลังต้านทาน จิตมันสามารถที่จะดึง ไม่ให้ถูกฉุดกระชากไปได้

 

ต้องพยายามเจริญวิปัสสนา คือไตรลักษณ์อยู่เสมอ ให้เห็นว่า ความสุขของทางโลก มันเป็นของไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นเหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล มันสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แล้วมันก็เบื่อ มันก็เซ็ง ต้องหาความสุขใหม่ๆ แปลกๆ อยู่เรื่อย ซึ่งความจริงแล้ว มันก็ไม่มีอะไรใหม่ในโลกนี้ ของต่างๆ มันก็มีอยู่ในโลกนี้ตั้งแต่ดั้งเดิม มันประกอบขึ้นด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วเราก็เอามาผสมปรุงแต่ง ให้เป็นรูปร่างแปลกๆ ให้มีเสียงแปลกๆ แล้วก็เกิดความลุ่มหลง สนุกสนาน ไปกับมันเท่านั้นเอง พอเพลิดเพลินกับมันสักระยะ ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ก็ต้องหาของแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมาอีก เหมือนเสื้อผ้า แฟชั่น ที่เราใส่กันนี้ เดี๋ยวมันก็สั้นเดี๋ยวมันก็ยาวขึ้นๆ ลงๆ อยู่อย่างนี้ แฟชั่นของคนเรามันก็หมุนไป เวียนมาอยู่อย่างนี้ มันไม่มีที่สิ้นสุด มันวนไป เวียนมา เหมือนกับวัฏฏะ วนไป วนไป เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่มันไม่ได้เปลี่ยนไป เพื่อให้เราดีขึ้น ให้เราได้หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ มันกลับวนไป เพื่อจะผูกเรา มัดเรา ให้ติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้

 

แต่สังขารร่างกายของเรานี้ มันไม่เที่ยงแท้ แน่นอน มันค่อย ๆ แก่ลงไปเสื่อมลงไป เราจะไปตามสังคม ตามแฟชั่น ก็ไม่ไหว พอแก่เข้า แก่เข้ามันก็รู้สึกว่า มันอยู่กันคนละโลกกับเขาแล้ว ตอนนั้นบางทีก็ต้องทำใจแล้ว ทำใจตอนนั้นบางทีก็อาจจะลำบาก เพระไม่เคยทำมาก่อน ก็อาจจะทำไม่ได้ บางคนอายุ ๗๐ หรือ ๘๐ ก็ยังเข้าสังคมอยู่ ยังแต่งหน้าทาปากอยู่เพราะว่าจิตใจ มันถูกสิ่งเหล่านี้ดูดไว้ ดึงไว้ มันก็ต้องทำอย่างนั้น จนกระทั่งถึงวันตาย ผลก็คือ เวลาตาย ระดับจิตก็ยังอยู่ในระดับเดิม ไม่ได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้น ให้ดีขึ้น ให้เป็นจิตที่ได้สัมผัสกับความสุข ที่มีความละเอียด เป็นความสุขแท้ๆ ความสุขล้วนๆ ก็ไม่เคยได้มีโอกาส ได้ปรากฏขึ้นมา

 

แต่ถ้าเราได้เข้าวัด เข้าวา ได้เข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมได้ยิน ได้ฟังธรรม อย่างที่ญาติโยมได้มาฟังกันในวันนี้ ญาติโยมก็พอรู้อยู่ว่า สิ่งไหนที่ญาติโยมจะต้องทำ ก็คือการรักษาจิตใจ พยายามรักษาจิตใจให้สงบ ให้นิ่ง ให้ได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี ถ้าวันหนึ่ง ทำแต่สองอย่างเท่านั้น ได้ก็เป็นสิ่งที่เลิศเลยทีเดียว ก็คือนั่งสมาธิกับเดินจงกรม  พอลุกจากนั่งสมาธิ ก็เดินจงกรมต่อ กำหนดควบคุมจิตใจต่อ คือไม่ปล่อยให้ใจไปคิด ไปปรุงเหมือนสมัยก่อน คิดว่าอยากจะไปโน่น อยากจะมานี่ อยากจะทำโน่นอยากจะทำนี่ บอกไม่เอา มันเป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น มันเป็นทุกข์ทั้งนั้นเคยทำมามากต่อมากแล้ว เคยไปมามากต่อมากแล้ว มันไม่มีอะไรดีขึ้นหรอก 

 

แต่ถ้าเราควบคุมจิตใจ ให้นิ่ง ให้สงบ ให้ปล่อย ให้วาง ไม่ไปยึด ไปเกาะไม่ไปวุ่นวายกับเรื่องของใคร อันนั้นแหละ คือสิ่งที่วิเศษสำหรับจิตใจของเรา  ถ้าเราสามารถทำอย่างนี้ได้ในวันๆ หนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้ทำเพียงสองอย่างนี้เท่านั้น เพราะว่าหน้าที่ รับผิดชอบ ของแต่ละคนก็มีอยู่เช่น ดูแล รักษา ร่างกาย ของเรานี้ แต่สิ่งเหล่านี้ เราสามารถทำควบคู่ ไปกับการปฏิบัติธรรมได้ คือทุกขณะที่เราทำงานเหล่านี้ ให้เรามีสติอยู่กับสิ่งที่เราทำ มันก็เหมือนกับเราปฏิบัติธรรมอยู่ เหมือนกับเราเดินจงกรมอยู่  ขณะเราเดินกวาดบ้าน ถ้าเรามีสติ อยู่กับไม้กวาด ที่เรากวาดอันนี้ก็ถือว่า เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการตั้งสติ รักษาจิตใจ ไม่ให้จิตใจลอยไปหาความวุ่นวาย ไม่ให้จิตใจคิดปรุง ให้เกิดความฟุ้งซ่าน

 

ถ้าเราพยายามรักษาใจ ให้อยู่กับตัวเรา ให้มันนิ่งอยู่ ไม่ให้ไปไหน จิตก็จะไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็จะสงบ จะสบาย ไม่ว่าจะทำอะไร ในอิริยาบถสี่ จิตก็จะมีแต่ความสุข ความสบาย เพราะจิตใจ มีสติ คอยควบคุมอยู่ มีปัญญาคอยต่อสู้กับกิเลส ไม่ปล่อยให้กิเลสหลอก ฉุดลาก ไปหาสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือสิ่งที่เราเคยสัมผัสมาแล้ว ผ่านมาแล้ว มันก็ไม่ได้ มีดีอะไรเท่าไหร่ สู้สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้ไม่ได้ คือพยายามรักษาใจให้สงบอยู่ตลอดเวลานั้นเอง เพราะความสงบนั้นก็คือความสุขที่แท้จริง 

 

คนเรามีความสงบนี่ มันอิ่มนะ บางทีข้าวปลาอาหาร เมื่อก่อนเคยรับประทานมาก ตอนหลังนี้จะไม่ค่อยหิวเท่าไร รับประทานพอมันอยู่ท้องก็พอแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ เวลารับประทานอาหาร จิตใจไม่ได้ไปสัมผัสกับรสกับชาด รสชาดเหล่านั้น มันไม่ได้มีความหมาย เมื่อเปรียบเทียบกับความสุข ที่มีอยู่กับจิตใจ ของผู้ที่มีความสงบ มันต่างกันมาก  เพราะฉะนั้นการรับประทานอาหาร เมื่อก่อนรับประทานอาหารเพื่อความสุขจริงๆ รับประทานเพื่อรสชาด เพื่อสีสันของมัน อาหารนี่จะต้องจัดให้มันสวย ให้มันงาม 

 

พระที่ท่านฉันในบาตร บางทีท่านก็คลุกมันเข้าไปเลย เอาแกงใส่เข้าไป เอาข้าวใส่เข้าไป เอาของหวาน ทองหยิบ ฝอยทอง องุ่น แอปเปิ้ลผลไม้หั่นเป็นชิ้นๆ แล้วก็คนเข้าไป ให้เป็นอันเดียวกัน อร่อยนะ ลองรับประทานดูซิ เดี๋ยวมันก็ลงไปรวมกันอยู่ในท้อง มันไม่ได้ไปไหนหรอก จะได้ลองกินอาหารที่แปลกๆ อย่างนี้เขาเรียกว่าเปิบพิสดาร แล้วเราจะสบาย กับเรื่องอาหาร การกิน ไม่ต้องไปแย่งอะไรกับใครเขา เพราะเรารู้ว่า มันก็มีแค่ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม มีอยู่แค่ สี่รสเท่านี้เอง กินก็ไม่ได้กินเพื่อรสชาด เพื่อความอร่อยอะไร  เรากิน เพื่อที่จะรักษาร่างกายนี้ ให้อยู่ไปวันๆหนึ่ง ไม่ให้ได้เจ็บไข้ได้ป่วย กินเพื่อระงับความหิวที่เกิดขึ้น เนื่องจากการขาดอาหาร เรารับประทานครั้งเดียวก็สามารถอยู่ได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง

 

เรื่องของกิเลสนี่แปลก รับประทานอาหารเพิ่งเสร็จใหม่ๆ พอมีใครมาพูดเรื่องอาหารขึ้นมา บางทีก็อดที่อยากจะกินอีกไม่ได้ อันนี้มันเป็นความอยากของกิเลสมัน ไม่มีความจำเป็น  ที่นี้เราจะแก้ เราจะทำลาย กิเลสนี่ ก็ต้องใช้เหตุผล บอกว่ากินไปทำไม เพิ่งกินไปอิ่มๆ เมื่อกี้นี้เอง ท้องมันยังย่อยไม่เสร็จเลย จะกินอะไรอีก ไว้พรุ่งนี้ค่อยกินก็แล้วกัน ถ้าอยากจะกิน  อันนี้เป็นการใช้เหตุ ใช้ผล ดับกิเลส  ปัญญาเป็นเหตุ เป็นผล เป็นความจริง แต่กิเลสเป็นความปลอม ไม่มีความจำเป็นจะต้องกิน แต่หิว แต่อยากจะกิน อันนี้เป็นความปลอม เป็นตัวที่สร้างปัญหาให้กับคนเราทั้งหลาย 

 

ถ้าทุกคนมีเหตุ มีผลแล้ว โลกเราสามารถอยู่กันได้ ด้วยความผาสุก เพราะว่าของต่างๆ ในโลกนี้มันมีมาก มากเสียกว่าที่เราจะต้องการ แต่เพราะความอยากของกิเลส มันมีความรู้สึกว่า ไม่พอ มันคิดว่า มีมากเท่าไหร่ ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น มันก็เลยสร้างปัญหา ให้สงครามเกิดขึ้นก็เพราะกิเลสพาให้เกิดขึ้น  ถ้าทุกคนเป็นชาวพุทธ เชื่อได้ว่าโลกเรานี้ จะอยู่กันได้อย่างสันติสุข ไม่มีเหตุที่จะต้องไปรุกราญผู้อื่น ไม่มีเหตุที่จะไปเบียดเบียนผู้อื่น เพราะชาวพุทธเรานั้น อยู่ง่าย กินง่าย แล้วก็กินน้อยด้วยเรียกว่า มักน้อยสันโดษ กินเท่าที่จำเป็น บริโภคเท่าที่จำเป็น เสื้อผ้ามีสักสองชุด ก็อยู่ได้แล้ว ชุดขาวนี่สลับผลัดเปลี่ยนกัน วันนี้ใส่ชุดนี้ อีกชุดหนึ่งก็เอาไปซัก พอพรุ่งนี้ เราก็เปลี่ยนมัน 

 

อย่างของพระนี่ ท่านก็มีแค่สามผืนก็อยู่ได้แล้ว เรียกผ้าไตรจีวร มีผ้านุ่งผืนหนึ่ง ผ้าห่มผืนหนึ่ง แล้วก็ผ้าห่มกันหนาวอีกผืนหนึ่ง ความจริงใช้แค่สองผืนเท่านั้นเอง ผ้าห่มกันหนาวใช้เวลาหน้าหนาว ฤดูหนาว โดยปกติมีอยู่สองผืนก็อยู่ได้แล้ว อย่างที่อาตมาห่มนี่ ผ้าจีวรนี่เรียกว่าผ้าห่ม แล้วก็ผ้านุ่งอีกผืนหนึ่ง พูดถึงความจำเป็น ของเรื่องเหล่านี้แล้ว มันไม่มาก มนุษย์เรานี่ ถ้าอยู่กัน ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว อยู่ตามความจำเป็น ไม่ต้องมีอะไรมากมาย ตู้เสื้อผ้าไม่ต้องมีหรอก ร้านขายตู้เสื้อผ้าก็เจ๊งไปเลย ไม่รู้จะเอาเสื้อผ้าที่ไหนมาเก็บ แต่สังคมเรามันก็แปลก ต้องมีหลายชุดด้วยกัน วันหนึ่งมี ชุดเช้า ชุดกลางวัน ชุดเย็น ชุดนอน ใส่กันเป็นแบบว่าเล่นไปเลย  แล้วก็ต้องมาลำบาก กับการดูแล รักษา ต้องซักกันอยู่อย่างนี้ ปัญหาต่างๆ นานา จึงเกิดขึ้นมา เพราะว่า ขาดความพอดีขาดปัญญา 

 

ถ้าเรา ใช้เหตุ ใช้ผล ใช้ปัญญาแล้ว สังคมเราจะอยู่กันได้ ด้วยความสงบผาสุก เพราะว่า ความสุขที่แท้จริงนั้น มันมีอยู่ในตัวของเราแล้ว คือความสงบของจิตใจนั้นเอง  เพียงแต่ว่า เราไม่เคยมาควบคุมตัวนี้เลย ปล่อยให้ตัวนี้ ถูกฉุด กระชาก ลากไป ด้วยพลังอำนาจของกิเลส มันก็เลยหาความสุขไม่ได้ มีแต่ความรุ่มร้อนอยู่ตลอดเวลา ร้อนเพราะความโลภ ร้อนเพราะความโกรธ ร้อนเพราะความหลง พระพุทธเจ้าบอกว่าจิตใจของคนเรานั้นร้อนเพราะรูป ร้อนเพราะเสียง ร้อนเพราะกลิ่น ร้อนเพราะรส ร้อนเพราะเครื่องสัมผัส เห็นแล้วตาลุกวาว ได้ยินแล้วตาลุกวาว อยากจะได้ขึ้นมา มันทำให้เกิดความร้อนขึ้นมา เมื่อเกิดความอยากแล้ว ก็อยู่ไม่สุขนั่นเอง  แต่ถ้าเราใช้ปัญญา ใช้ธรรมมะ เข้ามาสอนจิตใจ และบอกเราว่าอย่าไปหลงเลย ในโลกนี้น่ะ ต่อให้มีเงิน กี่ร้อยล้าน กี่พันล้าน มันก็ซื้อความสุข ที่พระพุทธเจ้าสอนพวกเราไม่ได้ เรามีอยู่แล้วในตัวเราเอง เพียงแต่ทำให้มันเกิดขึ้นเถิด แล้วเราจะไม่ต้องไปวุ่นวายกับอะไรทั้งสิ้น

 

เราจะมีความสุขตลอดไปเลยทีเดียว เพราะความสุขอันนี้เมื่อเรามีแล้ว เรามีสติปัญญา เราสามารถรักษามันไว้ได้ มันเป็นสมบัติของเราอย่างแท้จริง  สมบัติภายนอกนั้น มันถูกเขาขโมยไปได้นะ มันเสื่อมได้ รถจอดทิ้งไว้เดี๋ยวนี้ คนก็ยังขโมยไปได้ ข้าวของที่เรามีอยู่ ขโมยก็ยังเข้าไปขโมยได้ถึงในบ้าน สามีของเรา ภรรยาของเรา ยังเสียไปได้เลย อย่าว่าแต่อะไร  แต่อันนี้แหละ ที่ไม่มีใครสามารถ จะเอาจากเราไปได้ ความสุขที่เกิดจากความสงบสุขอันนี้  ก็ขอฝากญาติโยม ให้พยายามผูกใจไว้ คิดถึงเรื่องนี้ และพยายามทุ่มเท ชีวิต จิตใจ สติ ปัญญา ความพากเพียร เพื่อที่จะยึดครองความสุข คือความสงบของจิตอันนี้ ไว้ให้ได้ การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้