กัณฑ์ที่ ๓    ๒ กันยายน ๒๕๔๓

อัตตาหิ  อัตตะโนนาโถ

 

การทำบุญนั้น เป็นการให้อาหารแก่จิตใจ  เพราะคนเรานั้น มีส่วนประกอบสองส่วนด้วยกัน คือร่างกายและจิตใจ ร่างกายเราก็ต้องให้ปัจจัยสี่ เพื่อที่จะได้อยู่อย่างสุขสบาย จิตใจก็ต้องให้บุญ ให้กุศล หรือให้ธรรมะ     ถ้าจิตใจไม่มีบุญ ไม่มีกุศล ไม่มีธรรมะ ต่อให้มีเงินทองเยอะแยะ ข้าวของเยอะแยะ จิตใจก็ไม่มีความสุข เพราะว่าเงินทอง ข้าวของ ปัจจัยสี่นั้น       ไม่สามารถระงับดับความร้อนใจ ความกังวลใจ ความทุกข์ใจได้ ต้องอาศัยธรรมะ พระธรรมคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ถ้าเรามีธรรมะ คำสอนหล่อเลี้ยงจิตใจเราแล้ว จิตใจเราจะมีความสบาย จิตใจเราจะมีความสุข จิตใจเราจะมีความอิ่ม มีความพอ เพราะว่าธรรมะนั้น สอนให้เรารู้จักว่า ความทุกข์นั้นอยู่ตรงไหน ความสุขนั้นอยู่ตรงไหน

 

ถ้าเราไม่รู้ เราก็หลง คนเราในโลกนี้ มีอยู่สองพวกด้วยกัน พวกรู้ กับพวกหลง พวกหลงก็จะไปหา ของที่ไม่เป็นคุณ ไม่เป็นประโยชน์ ที่ไม่ให้ความสุขกับตัวเอง กลับไปหาสิ่ง ที่ให้ความทุกข์กับตัวเอง พวกเราในโลกนี้ ส่วนใหญ่ยังถือว่าเป็นพวกที่หลงอยู่  เพราะมีโลภ มีโกรธ มีหลง    ความหลงมันทำให้เราโลภ ทำให้เราโกรธ และทำให้เราไม่รู้ว่า ความโลภ ความโกรธนี้ มันเปรียบเหมือนกับไฟ เวลาเกิดขึ้นมาในจิตใจของเราแล้ว จิตใจของเราจะร้อน กระวนกระวาย หาความสบาย หาความสุขไม่ได้ เพราะว่าจิตใจเรามืดบอดนั้นเอง จิตใจขาดธรรมะ ขาดแสงสว่าง       ถ้าเราเข้าหาธรรมะ เข้าหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศึกษาพระธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เราก็จะสามารถแยกแยะได้ว่า     อะไรคือเหตุที่นำมาซึ่งความสุข อะไรคือเหตุที่นำมาซึ่งความทุกข์ทั้งหลาย ถ้าเรามีธรรมะเป็นแสงสว่างแล้ว เราก็จะสามารถดำเนินชีวิตของเราไปได้ ด้วยความราบรื่นดีงาม

 

พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสสอนไว้ว่า คนเรานั้นจะดี จะชั่ว จะสุข  จะทุกข์ จะเจริญ หรือไม่เจริญ ก็อยู่ที่ตัวเราเอง ส่วนประกอบ ที่จะเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขก็ดี นำมาซึ่งความทุกข์ก็ดี มีอยู่ ๓ คือ   กายกรรม      วจีกรรม และ มโนกรรม  คือ  การกระทำ ทางกาย ทางวาจา   และทางจิตใจ รวมกันเรียกว่ากรรม กรรมนี้เป็นคำกลางๆ เป็นคำที่ไม่เป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว กรรมดีเรียกว่า กุศลกรรม หรือ บุญ  กรรมชั่ว คือการกระทำที่ไม่ดี ท่านก็เรียกว่า อกุศลกรรม หรือ บาป สองตัวนี้ เป็นตัวสำคัญ ที่จะพาเราไป ยังทิศทางใด ทิศทางหนึ่ง เหมือนกับเวลาที่เรามาถึงสามแยก มีทางให้เลี้ยวซ้าย กับเลี้ยวขวา เราจะไปทางไหน  ถ้าออกจากวัดญาณฯไปถนนสุขุมวิท  เลี้ยวซ้ายก็ไปสัตหีบ ถ้าเลี้ยวขวาก็ไปพัทยา หรือไปกรุงเทพฯ        

 

ฉันใด กรรม หรือการกระทำของเรา ทางกาย ทางวาจา ก็ฉันนั้น  ถ้าเราไปทางกุศลกรรม มันก็จะพาเราไปสู่สุคติ พาเราไปสู่ความสุข  พาเราไปสู่สวรรค์ พาเราไปสู่ มรรค ผล นิพพาน ถ้าเราไปทางอกุศลกรรม คือ   บาปกรรม มันก็จะพาเราไปสู่อบาย พาเราไปสู่นรก พาเราไปสู่ความทุกข์ ความยาก ความลำบากทั้งหลาย อันนี้เป็นของตายตัว ถึงแม้จะมีพระพุทธเจ้า มาตรัสรู้ สั่งสอนโลก เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ หรือ ไม่ ก็ตาม            เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องตายตัว มันมีอยู่ เป็นอยู่  ของมันตามกฎของธรรมชาติ เหมือนกับเรื่องของดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์มันจะต้องขึ้นในตอนเช้า แล้วก็ต้องตกตอนเย็น จะมีใครมาบอก มาเล่าให้เราฟัง หรือไม่      ว่าดวงอาทิตย์นั้น ขึ้นตอนเช้า ตกตอนเย็น ก็ไม่สำคัญ เพราะว่า เรื่องของดวงอาทิตย์ มันก็จะต้องเป็นไปตามเรื่องของมัน

 

ฉันใด เรื่องของกรรม  คือการกระทำของเรา กับเรื่องของวิบาก คือผลของการกระทำของเรา มันก็จะเป็นเช่นนั้น  มันก็จะตามมา เหมือนกับเงาตามตัว ถ้าเราทำดี ความสุข ความเจริญ ก็จะตามมา ตายไป ก็ไปสู่สวรรค์ ไปสู่นิพพาน เป็นต้น ทำบาป ทำอกุศล ตายไปจะต้องไปสู่อบาย ไปสู่นรก     อันนี้ไม่มีใครสามารถที่จะมาช่วยเราได้ เพราะว่า คนที่จะช่วยเราได้นั้น ก็คือ กาย วาจา ใจ ของเราเท่านั้น    พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า  ตนเป็นที่พึ่งของตน   อัตตาหิ อัตตะโน นาโถ   หมายถึงว่า ตัวเรานั่นแหละ การกระทำของเรานั่นแหละ จะเป็นตัวที่จะช่วย ให้เราดีขึ้นก็ได้ ให้เลวลงก็ได้ พระพุทธองค์ทรงช่วยบอก ช่วยแนะ ได้เท่านั้นเอง      แต่ถ้าบอกแล้ว ชี้แล้ว แนะแล้ว ยังทำเป็นหูทวนลม ทำเป็นไม่สนใจ       ไม่เชื่อ ไม่ฟัง อันนั้นก็ช่วยไม่ได้    

 

มีพราหมณ์มาเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลถามว่า  พระองค์ท่าน เป็นผู้สั่งสอน ให้คนไปสู่สวรรค์ ไปสู่มรรค ผล นิพพาน แต่ทำไมสาวกทั้งหลายที่พระองค์ท่านทรงสั่งสอนนั้น บางท่าน บางองค์ ก็ไปสู่ มรรค ผล นิพพานกัน แต่บางท่าน   บางองค์ก็ไปไม่ถึง  พระพุทธเจ้าก็เลยย้อนถามกลับไปที่พราหมณ์ คนที่ถามปัญหานั้นว่า พราหมณ์ คุณก็เป็นคน ที่รู้จักทิศทางต่างๆ เวลามีคนเขามาถามว่า เวลาจะไปกรุงเทพฯ จะไปทางไหน คุณก็บอกเขาว่า ไปทางนี้ ให้เลี้ยวซ้าย ไปทางนั้น ให้เลี้ยวขวา ถึงตรงนี้ให้ตรงไป และในที่สุด ก็จะไปถึงกรุงเทพฯเอง  แต่ทำไม คนที่คุณบอกทางไปนั้น บางคนไปถึง บางคนไปไม่ถึง พราหมณ์ก็ตอบว่า อันนี้มันไม่ได้อยู่ในวิสัยของเรา เราเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้นเอง แต่คนที่เขามาถามทางนั้น เขาจะไปทางที่เราบอกหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับเขา ถ้าเขาไปตามทางที่เราบอก เขาก็จะต้องไปถึงจุดหมาย ปลายทาง อย่างแน่นอน     พระพุทธเจ้าทรงตรัส ตอบว่า ฉันใดก็ฉันนั้น บุญก็ดี สวรรค์ก็ดี     มรรค ผล นิพพาน ก็ดีนั้น ก็เป็นของที่มีอยู่ และวิธีที่จะดำเนินไป เราก็บอกกับเขาไปแล้ว แต่เขาจะไปถึง หรือไม่ไปถึงนั้น ก็ขึ้นอยู่กับตัวของเขาเอง เขาเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เขาเป็นคนดำเนิน เขาเป็นที่พึ่งของเขา     เราเป็นแต่ผู้ชี้บอก เป็นผู้ที่รู้ทาง ก็บอกทางเขาไป ถ้าเขาไปไม่ผิดทาง      ไม่เลี้ยวผิดทาง ไม่หลงผิดทาง  เขาก็จะไปถึงยังจุดหมาย ปลายทางอย่างแน่นอน นี่แหละคือเรื่องของมนุษย์เรา    

 

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า กรรมเป็นเครื่องจำแนกแยกสัตว์ คือมนุษย์เรานี้มีความแตกต่างกัน มีสูง มีต่ำ มีฉลาด มีโง่ มีขยัน มีขี้เกียจ มีดี มีชั่ว ไม่เหมือนกัน ก็เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เรากระทำกันมาไม่เท่ากัน อย่างพวกเราในอดีต อาจจะทำบุญไว้มาก มีความขยันมาก มีความฉลาดมาก     ขยันศึกษาเล่าเรียน  คบหาผู้รู้  ชอบฟังธรรมะอยู่เสมอๆ พอมาเกิดในชาตินี้      ก็จะเป็นคนที่ขยัน มีความเก่ง มีความฉลาดอย่างนี้ เป็นต้น แต่ถ้าชาติก่อนๆ เราชอบสะสมความเกียจคร้าน ไม่ชอบทำอะไร  ชอบงอมืองอเท้า   ชอบอาศัยกินของคนอื่นเขา ไม่ชอบไปโรงเรียน เวลาไปเรียนหนังสือก็ไม่สนใจ  ครูอาจารย์พูดก็ใจลอย คิดไปต่างๆ นาๆ  หรือไม่ก็วาดการ์ตูนเล่นไปเรื่อยๆ  สิ่งที่ครูอาจารย์สอน อาจารย์สั่งก็ไม่รู้เรื่อง ฟังเข้าหูซ้ายออกทางหูขวา เมื่อไม่ได้รับความรู้  ความฉลาดก็ไม่เกิดขึ้น พอมาเกิดในภพนี้ชาตินี้  ก็เลยเป็นคนที่ไม่ฉลาด เป็นคนที่ไม่ค่อยมีปัญญาเท่าไร       อันนี้ก็เป็นเพราะว่า บุญกรรมของเรา ที่เรากระทำกันมาในอดีตนั้น     ไม่เท่าเทียบกันนั่นเอง

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น มันผ่านไปแล้ว เราแก้ไขมันไม่ได้  สิ่งที่เราจะแก้ไขได้ก็คือ ในปัจจุบันนี้ เราสามารถที่จะแก้ไขได้ ถ้าเราเป็นคนขี้เกียจ     ตอนนี้ เราก็จะมาฝึกเป็นคนขยัน เอาความขยัน ชนะความขี้เกียจ  ถ้าเราเป็นคนโง่ เราก็พยายามศึกษาหาความรู้  เข้าหาผู้รู้ คบบัณฑิต อย่าไปคบคนพาล บัณฑิตเขาฉลาดกว่าเรา เขาก็จะสั่งจะสอนเรา จะบอกเรา     เรื่องราวต่างๆ ทีเราไม่รู้ เราก็จะได้รู้จากเขา ถ้าไปคบคนพาล คนโง่  เขาก็ไม่สามารถที่จะสอนอะไรที่แปลก ที่ใหม่  ให้กับเราได้ คบกับเขาก็ไม่เกิดประโยชน์ ไม่เกิดความรู้อะไร อย่างนี้เป็นต้น เราต้องพยายามคบบัณฑิต คบผู้รู้ คบคนดี คนดีชอบเข้าวัด เข้าวา ชอบทำบุญ ชอบรักษาศีล     เขาจะชวนให้เราไปทำความดี อย่างนี้เป็นต้น อดีตเราแก้ไม่ได้ แต่ปัจจุบันเราแก้ได้ เราทำใหม่ขึ้นมาได้  ดังนั้นเมื่อเราทำขึ้นมาใหม่มากๆแล้ว ต่อไปผลก็จะตามมาในอนาคตนั้นเอง ภพหน้า ชาติหน้า แม้กระทั่งพรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้า มันก็จะดีขึ้นกว่านี้   เพราะเราได้ใช้ชีวิตของเรา ไปในทิศทางที่ดีขึ้นนั้นเอง

 

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คนเรามีความแตกต่างกัน ไม่เสมอกัน  อย่างลูกที่มาเกิด ในครอบครัวเดียวกัน มีพ่อแม่เดียวกัน แต่จะมีความแตกต่างกัน บางคนก็ฉลาด บางคนก็ไม่ค่อยฉลาด บางคนก็โง่ บางคนก็ขยัน บางคนก็ขี้เกียจ บางคนก็ดี บางคนก็ไม่ค่อยดี พระพุทธองค์จึงทรงจำแนกลูกไว้อยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน ลูกที่มาเกิดในครอบครัวของพ่อแม่มีอยู่  ๓ แบบ คือ ลูกที่เก่ง ที่ดี ที่ฉลาด กว่าพ่อกับแม่ อันนี้พวกหนึ่ง ลูกที่เก่ง ที่ดี ที่ฉลาดเท่ากับพ่อกับแม่ พวกนี้ก็อีกพวกหนึ่ง แล้วพวกที่ ๓ พวกที่เก่ง ที่ดี ที่ฉลาด น้อยกว่าพ่อกับแม่ อันนี้มีอยู่ ๓ พวกด้วยกัน   

 

เวลาพ่อแม่มีลูก ที่ดี ก็ดีไป คือเป็นลูกที่ฉลาด ที่เก่ง กว่าพ่อ กว่าแม่ ถ้ามีลูกแบบนี้แล้ว พ่อแม่แทบไม่ต้องสั่งสอน ไม่ต้องบอกอะไรเลย          พวกนี้เขาจะรู้ของเขาเอง เพราะเขารู้มาก่อนแล้ว อย่างพระพุทธเจ้าเป็นต้น พระพุทธเจ้านี้ เป็นตัวอย่างของลูกที่ฉลาดกว่าพ่อแม่ พ่อแม่นี่จะไปสั่งสอนอะไรท่านไม่ได้ แม้กระทั่งครูอาจารย์ต่างๆ ที่พระราชบิดาหามา เพื่อสั่งสอนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านกลับรู้มากกว่าครูที่มาสั่งสอนท่านเสียอีก อย่างนี้เป็นต้น ส่วนลูกที่ฉลาดน้อยกว่าพ่อแม่  ดีน้อยกว่าพ่อแม่ พ่อแม่ก็ต้องอาศัยความอดทน อาศัยขันติ พยายามสั่งสอนเขา พยายามบอกเขาไป เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องบาป เรื่องบุญ เรื่องคุณเรื่องโทษ ถ้าพ่อแม่มีเงิน มีทอง ก็พยายามส่งเสีย ให้เขาได้รับการศึกษา     ได้เรียนหนังสือ ถ้าเขามีความขยันหมั่นเพียร ชอบร่ำเรียน เขาอาจจะมีความรู้มากกว่าพ่อ กว่าแม่ ก็ได้ 

 

แต่ถ้าเขาเป็นคนไม่เอาถ่าน เป็นคนไม่ชอบเรียน ชอบแต่เที่ยวเตร่ ชอบกินเหล้า เมายา เล่นการพนัน ไปโรงเรียน ก็ไม่เรียนหนังสือ เรียนก็เรียนไม่เก่ง พ่อแม่ก็อย่าไปทุกข์กับเขา พ่อกับแม่ต้องรู้จักแยกแยะ     ว่าเขาเป็นเขา เราเป็นเรา ดังภาษิตที่ว่า สัตว์ทั้งหลายนั้น มีกรรมเป็นของตน จะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้ได้รับผล ของกรรมนั้น ลูกถึงแม้จะออกมาจากท้องของเรา เป็นลูกของเรา แต่ก็เป็นลูกแต่เพียงร่างกาย คือเขาอาศัยร่างกาย ของพ่อ ของแม่เท่านั้นเอง แต่จิตใจของเขานั้น ไม่ได้มาจากพ่อ จากแม่ จิตใจของเขานั้น มาจากกรรมในอดีต คือ กรรมที่เขาทำไว้ในอดีต เวลาที่พ่อแม่มีลูก ที่ไม่ค่อยเอาถ่าน เป็นลูกที่แย่ พ่อแม่ก็ทุกข์ใจไปกับลูก     อันนี้ไม่ถูก พ่อแม่ไม่ต้องทุกข์ใจไปกับเขาหรอก  เราทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ก็แล้วกัน เลี้ยงดูเขา ให้ความรู้เขา พยายามสอนเขา บอกเขา ให้เขาเป็นคนดี แต่ถ้าเขายังไปหาสิ่งที่ไม่ดี  อันนี้ก็ถือว่าเป็นกรรม อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครช่วยใครได้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า อัตตาหิ อัตตะโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน   

 

ดังนั้น พวกเราทั้งหลาย ถ้าอยากมีความผาสุก ความเจริญรุ่งเรือง ไม่อยากที่จะไปพบกับความทุกข์ ความหายนะ ความเสื่อมเสียทั้งหลาย  ก็ขอให้เราบำรุงกาย วาจา และใจ ของเราให้ดี คอยสังเกตดูว่า กาย     วาจา และใจ เรานั้น ไปทางกุศลกรรม หรือเปล่า หรือไปทางอกุศลกรรม     ถ้าไปทางกุศลกรรม ก็พยายามส่งเสริม ให้มีมากยิ่งๆขึ้นไป ถ้าไม่รู้ว่ากุศลกรรมคืออะไร ก็ให้เข้าหาผู้รู้ เข้าหาพระสงฆ์องค์เจ้า หาพระสุปฏิปันโน หาครูอาจารย์ ที่รู้ในเรื่องเหล่านี้ และพยายามศึกษากับท่าน      เราก็จะรู้เรื่องกุศลกรรมทั้งหลาย เราก็จะสามารถเอาไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อที่จะสร้างความสุข ความเจริญ รุ่งเรือง ให้กับเรา     

 

แต่ถ้าจิตใจของเรา เป็นไปในทิศทางของอกุศลกรรม ก็พยายามฝืน  พยายามต่อสู้ อย่าให้มันไป เช่น ถ้าเราชอบกินเหล้าเมายา ชอบเที่ยวเตร่     ชอบเล่นการพนัน อย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี หรือชอบผิดศีล ชอบโกหก      ชอบลักเล็ก ขโมยน้อย ชอบยิงนกตกปลา สิ่งเหล่านี้ก็พยายามฝืนเสีย     อย่าไปทำ ถ้าคบกับคน ที่เขาชอบทำสิ่งเหล่านี้ ก็พยายามปลีกตัวออกไปจากเขา อย่าไปคบกับเขา ถ้าอยู่กับเขา เขาก็จะชวนเราไป ทำในสิ่งเหล่านี้ แล้วเราก็จะต้องรับผลกรรม คือความทุกข์ ความหายนะ ความเสื่อมเสีย นั่นเอง

 

จึงขอฝากเรื่อง  อัตตาหิ  อัตตะโน  นาโถ  คือ การกระทำทางกาย     ทางวาจา และทางจิตใจ ไว้ให้กับท่านทั้งหลาย เอาไปพินิจพิจารณา     เพื่อจะได้นำเอาไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อความถูกต้องดีงามต่อไป การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้