กัณฑ์ ที่ ๔     ๓ กันยายน ๒๕๔๓

บุญ ๑๐ ประการ

       

หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ อัตตาหิ อัตตะโน นาโถ นี้ เป็นคำสอนที่สำคัญอย่างยิ่ง ในพระพุทธศาสนาเรา ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน ให้พวกเรา เป็นที่พึ่งของตัวเราเอง เพราะเหตุที่ว่า ความดีก็ตาม    ความชั่วก็ตามนั้น เราเป็นผู้สร้างขึ้นมา ความสุข ความทุกข์ จึงเป็นผลจากการกระทำของเรา องค์ประกอบที่สร้าง ความสุข ทุกข์ ดี ชั่ว นี้ มันอยู่ที่ตัวเรา นรก สวรรค์ ก็เกิดขึ้นที่ตัวเรา เกิดขึ้นจากจิตใจของเรา จิตใจเป็นผู้กระทำ พระพุทธองค์จึงแสดงว่า ใจนี้เป็นใหญ่ ใจนี้เป็นต้นเหตุ ใจเป็นผู้สร้างเหตุ และใจเป็นผู้รับผล ดังคำบาลีที่ทรงแสดงไว้ว่า  มโนปุพพังคะมา มโนมะยา มโนเสฏฐา คือ ใจนี่แหละเป็นผู้กระทำ  ทำแล้วก็สั่งการไปที่กาย และที่วาจา

 

การกระทำจึงมีอยู่สามอย่าง เรียกว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เมื่อกระทำทั้งสามสิ่งนี้แล้ว ในทิศทางใด ทิศทางหนึ่ง ก็จะมีผลตอบกลับมา     ถ้าไปในทางกุศล ที่เรียกว่าบุญ ก็จะมีแต่ความสุข ความเจริญตามมา      สวรรค์ก็จะตามมา แต่ถ้าเราทำในทางอกุศลกรรม คือไปทำบาป ผลก็คือ ความทุกข์ ความร้อนใจ ความหายนะ ความเสื่อมเสียก็ตามมา ถ้าตายไปก็ไปสู่อบาย ไปสู่นรก  อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนว่า เราจะต้องเป็นที่พึ่งของเราเอง เราจะคอยให้คนอื่นเขามาสร้างสวรรค์นิพพานให้กับเราไม่ได้ สร้างความสุข ความความเจริญ ให้กับเราไม่ได้        เราจะต้องเป็นผู้ สร้างความสุข ความเจริญให้กับเราเอง

 

เรากราบพระ ไหว้พระ แล้วเราก็อธิฐาน ขอให้พระท่านเสก ท่านเป่า ให้เรามีความเจริญ รุ่งเรือง อย่างนี้ ไม่ใช่หลักธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้น เป็นแต่เพียง ผู้ที่ชี้บอกทางกับเรา บอกถึงเหตุที่จะนำมาซึ่งความผาสุก ความเจริญรุ่งเรือง บอกถึงเหตุ ที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ ความหายนะ ทั้งหลาย ดังนั้น ท่านจึงสอน ให้พวกเรา พยายามสร้างเหตุที่ดี คือพยายามทำบุญ ทำกุศล ให้มาก และพยายามหลีกเลี่ยงบาป อกุศล ทั้งหลาย เพราะว่า บาป อกุศล ทำไปแล้ว จะมีแต่ความทุกข์ตามมา       

 

 ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยปัจจุบันนี้ การทำบุญ ก็เหมือนกับเอาเงินไปฝากไว้ในธนาคาร ถ้านำเอาไปฝากธนาคารอยู่เรื่อยๆ เราก็จะมีเงินมากขึ้นๆ  เรื่อยๆ ดอกผลก็จะมีเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ต่อไปเราก็จะกลายเป็นเศรษฐี ฉันใด การทำบุญ ก็เหมือนกับการสะสม คุณงาม ความดี ที่จะเป็นที่พึ่งของเราต่อไป ตรงกันข้าม ถ้าเราทำบาป ก็เหมือนกับการที่เราไปกู้หนี้ ยืมสิน จากทางธนาคาร เมื่อเรากู้หนี้ ยืมสิน มาแล้ว เราก็ต้องจ่ายเงินดอกให้กับเขา นอกจากนั้นแล้ว ยังจะต้องจ่ายเงินต้น ที่เราไปกู้เขามาด้วย เป็นภาระอย่างยิ่ง คนเรานั้น เวลามีหนี้มีสินแล้ว เราจะรู้สึกอย่างไร มีความทุกข์ มีความกังวลใจ อยู่ตลอดเวลา ไม่เหมือนกับคนที่มีเงินฝากอยู่ในธนาคาร เวลาที่เขาเอาสมุดไปที่ธนาคาร เขาก็จะมีแต่ความยิ้มแย้ม เพราะเขารู้ว่าเงินที่ฝากนั้น มีแต่จะงอกงามขึ้นไปเรื่อยๆ

 

ฉันใด การทำบุญ ก็ฉันนั้น ทำบุญไปแล้ว จะทำให้จิตใจของเรา มีความเบิกบาน มีความสงบ มีความสุข มีความสบายใจ มีความอิ่มเอิบ     แต่ถ้าทำบาปแล้ว ก็ทำให้จิตใจของเรา มีความรุ่มร้อนใจ มีความกังวลใจ     มีความทุกข์ อันนี้เราเห็นได้ เราสังเกตได้ที่ตัวเรา อยู่ที่ใจเรา ผลอันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทันที ทันตาเห็น เกิดขึ้นทันที ทันใด  ไม่ต้องรอไปถึงภพหน้า ชาติหน้า อันนี้เราสามารถเห็นได้ ในปัจจุบันนี้  ดังนั้น ถ้าพวกเราอยากจะมีความผาสุก มีความเจริญรุ่งเรือง กินได้นอนหลับอย่างสบาย     ไม่ต้องมีความทุกข์ ก็พยายามทำแต่บุญ อย่าไปทำบาป

 

บุญที่พระพุทธองค์ทรงสอน ให้พวกเราทำนั้น มีอยู่ถึง ๑๐ ประการด้วยกัน อย่างที่วันนี้ ญาติโยมได้มาทำกันนั้น เรียกว่าทาน ทานก็คือการให้     อันนี้ก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง การให้ทานนี้ถ้าให้ไปแล้ว จิตใจเราจะมีแต่ความอิ่มเอิบ เพราะว่าจิตใจเราได้ชนะความเห็นแก่ตัว ชนะความโลภชนะความตระหนี่ ถ้าเรามีความเห็นแก่ตัว มีความโลภ มีความตระหนี่อยู่ในจิตใจของเรา จิตใจของเราจะมีความหิว มีแต่ความกระหาย  แต่ถ้าเราเอาชนะ ๓ ตัวนี้ได้ จิตใจของเราก็จะมีแต่ความ อิ่มเอิบใจ เกิดความ ปิติขึ้นมา อันนี้เป็นบุญอย่างหนึ่ง

 

ประการที่สอง ท่านบอกให้เรามีศีล ศีลหมายถึงว่า ให้เราละเว้นจากการกระทำ ที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น ทางกาย และ ทางวาจา เช่น การฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต การลักทรัพย์ การประพฤติผิดประเวณี การพูดปดมดเท็จ       และการดื่มสุรายาเมา นี่เป็นการกระทำ ที่ทำแล้ว สร้างความเดือดร้อนให้เรา และ ให้กับผู้อื่น ถ้าเราไม่ทำ เราก็เป็นผู้มีศีล ศีลก็จะระงับดับทุกข์ที่เกิดจาก การประพฤติผิดศีลนั่นเอง คนที่ไปลักขโมย ก็จะมีความรู้สึกวิตกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะมาจับเข้าคุก เข้าตะราง คนที่ไปโกหกเขา      ก็จะต้องคอยระแวง ว่าคนอื่นเขาจะจับได้ ว่าเราเป็นคนพูดปด มดเท็จ     อย่างนี้เป็นต้น ความทุกข์เหล่านี้จะไม่มี ถ้าเรามีศีล  เราก็จะมีแต่ความสบายใจ

 

ประการที่สาม ท่านบอกให้เราทำภาวนา ภาวนานี้แปลว่า การซักฟอกจิตใจ จิตใจของเรานั้น ไม่ค่อยมีความสุขกัน ก็เพราะว่า จิตใจมีเครื่องเศร้าหมองอยู่ในใจเรา เครื่องเศร้าหมองนี้ท่านเรียกว่า  กิเลสตัณหา     ความอยากต่างๆ นาๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง อันนี้ เวลามันแสดงตัวขึ้นมาแล้ว มันทำให้จิตใจเรา มีความเศร้าหมอง มีความไม่สบายใจ     ดังนั้น ท่านจึงบอก ให้เราเจริญจิตตะภาวนา การภาวนาคือ  การสร้างฐาน  ๒ อย่าง เพื่อที่จะไปซักฟอกจิตใจ เวลาเราซักเสื้อผ้า   เราจะต้องมีน้ำ มีสบู่ มีผงซักฟอก ไว้สำหรับซักเสื้อผ้า เวลาเราซักฟอกจิตใจของเรา เราก็ต้องมีผงซักฟอก คือมีน้ำ คือธรรมะ คือจะต้องมีสมาธิ ต้องมีปัญญา      ถ้าเรามีสมาธิ และ มีปัญญาแล้ว เราจะสามารถชำระ หรือซักฟอก       ความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหา ความอยากทั้งหลาย ให้ออกไปจากจิต จากใจได้  เหมือนกับจิตของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์    

 

หลังจากที่ พระพุทธองค์ทรงเจริญจิตภาวนา จนกระทั้งเกิดมีสมาธิ      เกิดมีปัญญาขึ้นมา ก็สามารถทำจิตใจของท่าน ให้สะอาดบริสุทธิ์     เมื่อจิตของพระพุทธองค์บริสุทธิ์แล้ว ก็กลายเป็นจิตของพระพุทธเจ้า จิตของพระอรหันต์ขึ้นมา เป็นผู้ไม่มีความเศร้าหมอง อยู่ในจิตใจ มีแต่ความเป็นผู้เบิกบาน เป็นผู้ตื่น  เป็นผู้รู้ เป็นผู้ที่สิ้นแล้ว ซึ่งเหตุที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ใจ ความเศร้าใจ เหตุที่จะนำมาซึ่งการเวียนว่าย ตายเกิด ก็ได้ถูกชำระออกไปจากจิตจากใจ จิตก็เป็นจิตพุทธะ คือจิตบริสุทธิ์    ไม่ต้องเวียนว่าย ตายเกิดอีกต่อไป เป็นจิตที่มีแต่ความสุขอย่างเดียว ที่เรียกว่า       ปรมัง สุขขัง เป็นความสุขที่ประเสริฐอย่างยิ่ง สุขนี้เป็นความสุข ที่ไม่มีอะไรในโลกนี้ สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ ในจิตใจ ไม่ว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่สามารถจะสร้างสุขแบบนี้ได้     และการที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ก็จากการทำจิตภาวนา บำเพ็ญให้เกิดสมาธิ และเกิดปัญญาขึ้นมา แล้วจะทำให้จิตของเราเป็นจิตวิมุตติ หลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย

 

ประการที่ ๔ ท่านบอกว่า หลังจากที่เราทำบุญแล้ว ท่านก็บอกให้เราอุทิศส่วนบุญของเรา ให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว บุญที่เราทำนี้ เราสามารถจะแบ่งปันให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้ แต่ผู้ที่มีชีวิตอยู่ เราไม่สามารถอุทิศบุญให้ได้     ผู้มีชีวิตอยู่นั้น จะต้องสร้างบุญ สร้างกุศลของเขาเอง ผู้ล่วงลับไปแล้ว มีพวกหนึ่ง ที่เราเรียกว่าพวกเปรต เปรตนี้เป็นพวกที่จะต้องคอยรับผลบุญ เพราะตัวเขาเองไม่สามารถ ที่จะสร้างบุญให้เกิดขึ้นกับตัวเขาเองได้ ส่วนภพภูมิอื่นนั้น ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดา เป็นเทพ    เป็นพรหม บุคคลเหล่านี้ เขามีบุญพอที่จะอยู่ได้ ด้วยลำแข้ง ลำขาของตัวเขาเองได้ ส่วนพวกที่ไปสู่นรก ก็ไม่สามารถรับส่วนบุญนี้ได้ เพราะตกอยู่ในกองเพลิงแห่งความทุกข์นั่นเอง

 

มีพวกเดียวเท่านั้น ที่เรียกว่า สัมภเวสี หรือพวกเปรต พวกนี้มีแต่ความหิว มีแต่ความกระหาย จะต้องคอยบุญที่เขาอุทิศให้ เปรียบเหมือนกับเป็นขอทาน บุญที่เขาอุทิศให้ ก็ไม่ได้มีมากมายนัก มีเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้นเอง ที่เราทำไปในวันนี้  บุญที่เราอุทิศให้กับเขาได้ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับเป็นเงิน ค่ารถ ค่ารา หรือเป็นค่าอาหาร มื้อหนึ่งเท่านั้นเอง ดังนั้น เวลาเราทำบุญแล้ว ถ้าเราคิดถึงญาติ พี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหายของเรา เผื่อเขาจะรอบุญอุทิศส่วนนี้อยู่  เราก็อุทิศให้เขาไป     แต่พวกเราที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น  เราไม่ควรประมาท อย่าไปคิดว่า ตายไปแล้ว จะมีคนเขาอุทิศบุญให้กับเรา เพราะว่าบุญที่อุทิศนั้น เป็นเพียงบุญส่วนน้อย บุญส่วนใหญ่กว่านี้ เราสามารถทำได้ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่    อย่างวันนี้ ท่านมาเข้าวัดเข้าวา มาทำบุญให้ทาน มาฟังเทศน์ ฟังธรรม    อันนี้เป็นบุญที่ยิ่งใหญ่กว่า แต่ถ้ามีการทำบุญแล้ว เราอุทิศส่วนกุศลนี้ไป เผื่อผู้ที่ยังรออยู่  เขาก็จะได้รับส่วนกุศลนี้ เราเองก็จะได้รับบุญเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ที่เกิดจากการอุทิศบุญนั้นเอง

 

ประการที่ ๕ ท่านสอนให้มีการอนุโมทนาบุญ     การอนุโมทนาบุญนั้น  คือ การแสดงความยินดี หรือชื่นชม กับการกระทำความดี ของผู้อื่น    เวลาเราเห็นคนอื่นเขาทำความดี    เราควรที่จะชื่นชมยินดีไปกับเขาด้วย   เพราะจะทำให้เราเกิดความสุขใจ เวลาที่คนเขาทำความดีนั้น เขาไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ใคร ความดีนั้นมีแต่คุณ มีแต่ประโยชน์โดยถ่ายเดียว ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รับผลของความดีอันนั้นก็ตาม เราก็ไม่ควรที่จะไปแสดงอาการอิจฉาริษยา เพราะว่าการอิจฉาริษยานั้น เป็นกิเลส เป็นเครื่องเศร้าหมอง เวลาเกิดความอิจฉาริษยานั้น เกิดความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจ แต่ถ้าเราแสดงความยินดี อนุโมทนาบุญกับเขาแล้ว      เราก็จะมีความสุขไปกับเขาด้วย เพราะว่าเมื่อทำความดีไปแล้ว มันก็เหมือนกับคลื่นที่มากระทบฝั่ง ไม่ช้าก็เร็ว มันก็จะกลับมาหาเรา เมื่อคนในสังคมทำความดีกันแล้ว มันก็จะทำให้สังคมนั้น เป็นสังคมที่ดี เป็นสังคมที่มีความสงบ เมื่อสังคมมีความสงบ เราเป็นคนอยู่ในสังคม เราก็จะได้รับผลประโยชน์ของสังคมนั้นด้วย ดังนั้น เวลาที่เราเห็นผู้อื่นเขาทำ ความดี   ก็ขอให้เราช่วยกันให้กำลังใจกับเขา ด้วยการอนุโมทนาบุญ  ในการทำความดีของเขา

 

ประการที่ ๖ ท่านสอนให้เรา ช่วยเหลือ รับใช้ผู้อื่น

       

ประการที่ ๗ ท่านสอนให้เรา เป็นผู้มีความอ่อนน้อม ถ่อมตน   ความเป็นผู้อ่อนน้อม ถ่อมตนนี้ ไปอยู่กับใคร ก็จะเป็นที่รักใคร่ ของผู้อื่น               เป็นผู้ที่มักจะได้รับการอนุเคราะห์ช่วยเหลือ ได้รับการประคับประคอง     เป็นประโยชน์กับผู้นั้นโดยตรง แต่ถ้าเราเป็นคนที่หยิ่งผยอง เป็นคนที่ถือเนื้อ ถือตัว ทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครอยู่เหนือเราได้ ถ้าเราเป็นคนอย่างนี้แล้ว เราจะเป็นคนที่จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ  การสงเคราะห์จากผู้อื่น และจะไม่มีใครเขาอยากคบค้า สมาคมด้วย  เพราะเป็นคนเจ้าอารมณ์ ดังนั้น ถ้าเราไม่อยากจะเป็นคน ที่อยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย ยังต้องพึ่งพาผู้อื่นอยู่ เราต้องทำตัวให้เป็นผู้น้อย เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน อยู่กับใคร ก็จะได้รับความอนุเคราะห์จากท่านเหล่านั้น อันนี้ เป็นบุญกุศลอย่างหนึ่ง

 

ประการที่ ๘   ท่านสอนให้เรา ทำความเห็นให้ถูกต้อง คำว่า ทำความเห็นให้ถูกต้องก็คือ เราต้องรู้จักกฎของธรรมชาติ     กฎของความถูก     ความจริง อย่างเมื่อกี้นี้ ได้แสดงเบื้องต้นไว้ว่า อัตตาหิ  อัตตะโน  นาโถ      ตนเป็นที่พึ่งของตน สุข ทุกข์ ดี ชั่วนั้น อยู่ที่ตัวเรา  อันนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าเราเข้าใจได้อย่างนี้แล้ว เราก็จะสามารถดำเนินชีวิตของเราให้เป็นไปได้ด้วยดี เพราะเรารู้ว่า ถ้าเราอยากจะได้ความสุข ความเจริญ     เราก็ต้องพยายามทำความดี ถ้าเราไม่ต้องการ ความทุกข์   ความหายนะ        เราก็ต้องหลีกเลี่ยง การทำบาป ทำกรรมทั้งหลาย ถ้าเราทำตาม เราก็จะได้รับประโยชน์ อันนี้เป็นกฎตายตัว เป็นกฎธรรมชาติ ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม กฎนี้มีอยู่

 

คนเชื่อแล้วทำความดี  ก็จะได้รับผลของความดี คนที่ไม่เชื่อ แต่ทำความดี ก็จะได้รับผลของความดี เหมือนกัน คนไม่เชื่อ  เมื่อทำความชั่ว ก็จะต้องรับผลของความชั่ว  แต่คนเชื่อย่อมไม่กล้าทำความชั่วอย่างแน่นอน         ดังนั้น คนเชื่อต้องได้รับประโยชน์มากกว่าคนไม่เชื่อ   เพราะคนไม่เชื่อนั้น มักจะชอบทำสิ่งที่ไม่ดี ชอบทำบาป เพราะเหตุใด  เพราะว่าจิตใจนั้นมีกิเลส คือความโลภ  ความโกรธ  ความหลง ซึ่งมีอำนาจมากอยู่ในจิตใจของเขา จึงชอบที่จะทำในสิ่งที่ไม่ดี ชอบทำความชั่วนั่นเอง ยิ่งเขามีความเชื่ออยู่แล้ว จะทำให้เขาทำความชั่วได้อย่างสบาย เพราะคนไม่เชื่อนั้น     ย่อมคิดว่าเมื่อตายไปแล้ว ก็จะสูญไป ไม่มีอะไรตามมา บาป บุญ คุณโทษ นรก สวรรค์ นั้น ไม่มีตามมา มีอยู่แต่ภพนี้ชาตินี้เท่านั้น  

 

อันนี้เป็นลักษณะของคนที่มีความเห็นผิด ที่เราเรียกว่ามิจฉาทิฐิ        เกิดมากี่ภพกี่ชาติ ก็จะต้องเวียนว่ายอยู่กับความทุกข์ ด้วยการกระทำบาปอยู่เสมอ เพราะจิตใจนั้น ไม่สามารถที่จะชำระความโลภ ความโกรธ     ความหลง ออกไปได้นั้นเอง แต่ถ้าเป็นคนที่มีความเชื่อ มีความเห็นที่ถูกต้อง ว่าบาปกรรมนั้นอยู่กับเรา อยู่ที่ตัวเรา ผลของวิบากกรรมก็คือตัวเราต้องเป็นผู้รับ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เราก็จะพยายามทำแต่ความดี     เพราะเราไม่ต้องการ ที่จะรับผลของกรรมทั้งหลายนั้นเอง     และเมื่อเราทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ    จิตใจของเรา    ก็จะค่อยพัฒนาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุด     เราก็จะได้ไปอยู่ ในสถานภาพเดียวกัน กับของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์สาวก อันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราพัฒนา จิตใจ  จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีความเห็นชอบนั้นเอง

 

ประการที่ ๙  ท่านตรัสว่า การได้ยินได้ฟังธรรมนี้ เป็นเป็นประโยชน์อย่ายิ่ง เพราะว่าธรรมะนั้น เปรียบเหมือนแสงสว่าง จิตใจของพวกเรานั้น เปรียบเหมือนกับคนตาบอด  คนตาบอดถ้าไปคบกับคนตาบอด    มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นคนตาบอด ต้องไปหาคนตาดี   คนตาดีในทางพระพุทธศาสนา  ก็หมายถึง พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ พระอริยะสงฆ์สาวกทั้งหลาย ท่านเหล่านี้ท่านมีดวงตาเห็นธรรม        ท่านมีแสงสว่าง ท่านรู้จักว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรดี  อะไรชั่ว   ถ้าเราไปฟังเทศน์ ฟังธรรม กับท่านเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ จิตใจของเรานั้นจะได้รับความรู้ ได้ปัญญา ได้วิปัสสนา แล้วเราก็จะสามารถพัฒนาตัวเรา ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นคนที่ฉลาดขึ้น ทำแต่สิ่งที่ดี เมื่อทำแต่สิ่งที่ดี     ผลที่ดีก็จะตามมา  อันนี้เรียกว่า การฟังธรรมเป็นบุญอย่างหนึ่ง 

 

ประการสุดท้ายคือ การให้ธรรมะกับผู้อื่น   ถ้าเรารู้ธรรมะ ถึงแม้จะไม่มากเท่าไร ถ้าเรามี  เราก็สามารถจะให้คนอื่นเขาได้ เพราะว่าคนเรานั้น    บางครั้ง บางคราว เวลาตกทุกข์ ได้ยาก บางที่มันมืดแปดด้าน ไม่รู้จะไปหาใคร บางทีเขามาปรึกษากับเรา  ถ้าเรามีธรรมะ  เราก็พูดให้กำลังใจกับเขาได้ คนเราทุกวันนี้ขาดธรรมะ เวลาเกิดความเศร้าโศก เสียใจ     ไม่รู้จะไปทางไหน  เพราะขาดการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน     เพราะขาดการเข้าวัด เข้าวา ขาดการฟังเทศน์ ฟังธรรม อบรม บ่มนิสัย     ประพฤติ ปฏิบัติธรรมกัน พอไปประสบปัญหาขึ้นมา ก็ไม่รู้จักวิธีแก้       

 

ปัญหานั้นมันมีทางแก้ ที่ง่ายมาก  เพียงแต่เราบอกตัวเองว่า อะไรมันจะเกิดก็เกิด   เตรียมพร้อมยอมรับความเป็นจริง อะไรมันจะเกิดก็เกิด        เราทำอะไรไว้    มันก็ต้องเกิดขึ้นกับตัวเรา     ผิดแล้วก็ผิด     เราต้องยอมรับให้มันเกิด     ถึงเวลาอะไรมันหมด     มันก็ต้องหมด    ถ้าคิดได้อย่างนี้แล้ว มันก็ไม่เกิดการฆ่าตัวตาย   แต่คนเราส่วนใหญ่นั้น    สมัยนี้     พอเวลาเจอสภาพ ที่ตัวเองรับไม่ได้ ไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยคิดจะหนีมันด้วยการฆ่าตัวตาย    แต่ฆ่าได้ก็เพียงแต่ร่างกาย  จิตใจที่มีความทุกข์นั้น    มันก็ไม่หายไปไหน มันก็จะมีทุกข์ต่อไปในนรก และเมื่อได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก มันก็จะมาฆ่าตัวตายอีก ท่านตรัสบอกว่า การฆ่าตัวตายแต่ละครั้ง ทำให้ฆ่าตัวตายอีกห้าร้อยครั้ง เพราะมันจะเป็นนิสัย  เป็นความเคยชิน เวลามีความทุกข์ใจ  ความไม่สบายใจ  เคยแก้ปัญหาอย่างไร    มันก็จะต้องแก้ปัญหาอย่างนั้น ถ้าชาติก่อนเคยฆ่าตัวตาย  ชาตินี้เวลามีปัญหาก็จะฆ่าตัวตายอีก  

 

วิธีที่เราจะตัดวงจรอุบาทว์นี้ได้ คือเราต้องเข้าหาธรรมะ    ต้องใช้ธรรมะ เข้ามาต่อสู้กับปัญหา  ให้เอาขันติ  ความอดทน  ความอดกลั้น  เข้าต่อสู้    ถึงแม้จะทุกข์ยาก ลำบาก ขนาดไหน    ก็พยายามประคับ ประคองมัน ไป อย่าหนีมัน ถึงแม้จะต้องเข้าคุกเข้าตะราง ถึงแม้จะถูกเขาด่าว่ากล่าว  ประนามต่างๆ นาๆ ก็ปล่อยให้เขาว่าไป อันนี้เป็นเรื่องของวิบากกรรมที่ เราทำเอาไว้   เมื่อเราใช้มันไปแล้ว…..ก็หมด เราก็ไม่ต้องทุกข์กับมันอีก ต่อไป นี่คือเรื่องของบุญทั้งหลายที่เรียกว่า บุญญะกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ

 

ญาติโยมส่วนใหญ่เข้าใจว่า การทำบุญในพุทธศาสนา ก็คือการให้ทานอย่างเดียวเท่านั้นเอง ไม่ทราบหรอกว่า ยังมีบุญอีกเยอะแยะ ที่เราต้องทำกัน  เหมือนกับการรับประทานอาหาร  เราไม่ได้กินข้าวอย่างเดียว   เราต้องกินผัก กินผลไม้ กินอาหารให้ครบ    หมู่  ร่างกายของเราจึงจะมีความผากสุก ไม่มีความทุกข์ ไม่มีโรคภัย ไข้เจ็บ ฉันใด จิตใจคนเราก็เช่นกัน จิตใจของเรา จะเจริญรุ่งเรืองได้ ก็ต่อเมื่อได้ทำบุญทั้ง ๑๐   ประการนี้  จึงขอฝากการทำบุญ ๑๐ ประการนี้ ให้กับท่านทั้งหลาย    นำไปคิด พินิจ พิจารณา และประพฤติปฏิบัติ เพื่อความผาสุก  ความเจริญรุ่งเรืองต่อไป การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้