กัณฑ์ที่ ๕     ๙ กันยายน ๒๕๔๓

การเจริญสมาธิ กับ การเจริญปัญญา

 

การที่ท่านได้เข้าวัดเข้าวา มาประพฤติ ปฏิบัติธรรม มาทำบุญให้ทานรักษาศีล และ เจริญจิตตะภาวนานี้ ถือว่าเป็นการมาหาความสุขให้กับตัวเอง เป็นความสุขที่เราเรียกว่า ความสุขของจิตใจ  ความสุขนั้นก็มีอยู่  ๒ แบบด้วยกัน สุขกายและสุขใจ สุขกายนั้นเป็นของหาได้ไม่ยาก     ถ้าเรามีปัจจัยสี่ไว้คอยบำรุง คือ อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค    ร่างกายก็จะสามารถดำเนินไปได้ ด้วยความเป็นปกติสุข ร่างกายไม่เจ็บ   ไม่ไข้ ไม่หิว ไม่กระหาย ไม่อยาก เพราะมีปัจจัย ๔ ไว้คอยดูแลบำรุงรักษาร่างกาย  อันนี้ก็ถือว่าเป็นความสุข แต่สุขกายนั้น ก็ยังถือว่าเป็นความสุขส่วนย่อย หรือเป็นสุข ที่ยังเป็นรองความสุขของใจ  ใจนั้นสำคัญกว่า ความสุขของใจนี้สำคัญกว่าความสุขของกาย    

 

ถึงแม้ร่างกายจะเป็นปกติ แต่จิตใจเรากลับไม่สบาย   จิตใจเรามีความทุกข์ เวลาจิตใจเรามีความทุกข์ ความทุกข์มันก็จะไปกดความสุขทางด้านร่างกาย ความสุขทางด้านร่างกายก็จะหายไป เพราะมีความทุกข์ทางด้านจิตใจมาครอบงำ ในทางตรงกันข้าม ร่างกายเราอาจจะไม่ค่อยสุข คืออาจจะมีโรคภัยไข้เจ็บ เจ็บตรงนั้น ปวดตรงนี้ แต่ถ้าใจเรานั้นมีความสุข ความสุขของจิตใจ ก็สามารถทำให้ความเจ็บ ความทุกข์ของร่างกายนั้นบางเบาลงไป มันไม่รุนแรง มันไม่สามารถทำให้จิตใจของเราหวั่นไหวได้ พระพุทธองค์จึงชี้ไปที่การดูแลส่วนที่สำคัญ ก็คือจิตใจ     

 

กายนั้น ถึงแม้จะทุกข์บ้าง จะเจ็บบ้าง ก็ไม่เป็นไร ขอให้ใจสบายก็พอแล้ว ใจอยู่เหนือความทุกข์ทางด้านร่างกายได้ ถ้าเราเกิดทุกข์ใจขึ้นมา ถึงแม้ร่างกายจะสุขสบาย จะเป็นปกติ ไม่เจ็บ ไม่ปวดตรงไหน แต่ถ้ามีความทุกข์ ทางด้านจิตใจเกิดขึ้น มันก็จะไปกดความสบาย ความสุขทางร่างกายให้หมดไป จะมีแต่ความทุกข์ใจ ไม่สบายใจครอบงำจิตใจของเรา พระพุทธองค์จึงตรัสบอก ให้เราดูแลจิตใจของเราให้มาก ให้มากยิ่งกว่าดูแลกาย การดูแลกายนั้นดูไม่ยาก อย่างที่บอก ขอให้มีปัจจัย ๔  ก็พอเพียงแล้ว มีอาหารรับประทาน มีบ้านพักอาศัย มีเครื่องนุ่งห่ม และมียารักษาโรคไว้ในกรณีที่เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายก็สามารถที่จะดำเนินไปได้ ด้วยความเป็นปกติสุข

 

 แต่ทางด้านจิตใจนั้น จะต้องมีธรรมะ มีบุญกุศล ที่จะทำให้จิตใจของเรามีความสุข ถ้าไม่มีธรรมะ ไม่มีบุญ ไม่มีกุศลแล้ว เราจะหาความสุขทางจิตใจไม่ได้เลย อย่างที่ญาติโยมมาวันนี้ ญาติโยมเข้ามาประพฤติปฏิบัติ     เอาธรรมะเข้าสู่จิตใจ ธรรมะนี่เปรียบเหมือนยารักษาโรค รักษาโรคความทุกข์ใจ ความไม่สบายใจ ซึ่งเกิดจากกิเลส เครื่องเศร้าหมอง     กิเลส เครื่องเศร้าหมองนี้ มันฝังลึกอยู่ในจิตใจของมนุษย์ ของสัตว์โลกทั้งหลาย มาตั้งนมนานแล้ว  มันติดมากับเราทุกภพ ทุกชาติ  ถ้าเราไม่ใช้ธรรมะ ไม่ใช่บุญ ใช่กุศล เข้าไปชำระสะสางแล้ว  มันก็จะไม่หายขาดไปจากจิต จากใจ ถ้าตราบใด จิตใจเรามีกิเลส เครื่องเศร้าหมอง อยู่ในจิตใจแล้ว กิเลสมันก็จะสร้างความเศร้าหมอง ความไม่สบายใจ ความทุกข์ใจให้กับเรา

 

การที่พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรมะนั่น เป็นสิ่งที่เลิศ เป็นสิ่งที่วิเศษ    เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก สำหรับสัตว์โลก  เพราะว่ามีเพียงพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ที่จะรู้ถึงเคล็ดลับ ว่าความสุขของจิตใจนั้นเกิดขึ้นได้อย่าไร ความสุขของจิตใจ จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีบุญ มีกุศล มีธรรมะเข้าไปซักฟอกจิตใจ ให้ปราศจาก ความเศร้าหมอง ก็คือกิเลสตัณหาทั้งหลายนั่นเอง  กิเลสก็เหมือนกับเชื้อโรค ที่อยู่ในร่างกายของเรา ถ้าร่างกายมีเชื้อโรคขึ้นมา มันก็เจ็บไข้ได้ป่วย บางทีอาจจะถึงแก่ความตาย อย่างในสมัยนี้ มีโรคร้ายแรงที่เราเรียกว่าโรคเอดส์  โรคเอดส์นั้น ถ้าใครได้รับเชื้อเข้าไปในร่างกายแล้ว ก็มีแต่จะตายลูกเดียว ยังไม่มีใครหายามารักษาโรคนี้ให้หายได้ ฉันใด กิเลสก็เป็นเหมือนกับเชื้อโรคเอดส์ ที่เกิดขึ้น     ในจิตใจของสัตว์โลกทั้งหลาย ถ้าตราบใด ยังไม่มียามารักษาโรคนี้ได้       มาทำให้กิเลสออกไป จากจิตจากใจของสัตว์โลกอย่างพวกเรา  พวกเราก็จะต้องอยู่กับความทุกข์ไปตลอดเวลา       

 

แต่เรามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเหมือนกับเป็นหมอ เป็นผู้ค้นคว้า  ยารักษาโรคนี้ขึ้นมาได้  ยารักษาโรคจิตใจ ก็คือธรรมะ  ถ้ามีใครสามารถค้นคว้ายารักษาโรคเอดส์ได้  ให้คนที่เป็นโรคเอดส์กินเข้าไป โรคเอดส์ก็จะหาย     แต่ตอนนี้ยังไม่มียามารักษาโรคเอดส์  เมื่อได้รับเชื้อ ก็มีแต่จะตายถ่ายเดียว  ทางด้านจิตใจของพวกเรานั้น  โชคดีที่เรามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ มารู้จักวิธีรักษาโรค ทางจิตใจมาปราบ มาสะสางกิเลส คือ เครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ให้หมดไปจากจิตจากใจของเรา การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐ  เป็นสิ่งที่วิเศษสำหรับสัตว์โลก

 

ก่อนหน้านี้ ไม่มีใครสามารถบอกเราได้ว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้จิตใจของเรานั้น มีแต่ความสุข  แต่พอพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้   เรามีท่านมาบอกเราแล้วว่า ความสุขทางด้านจิตใจของเรานั้น เกิดจากการชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากจิตจากใจของเรานั่นเอง และสิ่งที่จะชำระ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้นได้ ก็มีสิ่งเดียว    ก็คือธรรมะ หรือ บุญและกุศลนั้นเอง พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมคำสอน ให้แก่สัตว์โลกมาตลอดเวลา ๔๕ พระพรรษา ก็ทรงสอนวิธีเจริญธรรมะ วิธีเจริญบุญ เจริญกุศลนั้นเอง

       

การที่ญาติโยมทั้งหลาย ได้เข้ามาสู่วัดสู่วาในวันนี้     เพื่อที่จะมาเจริญบุญ เจริญกุศล เจริญธรรม ระดับต่างๆกัน สุดแท้แต่ภูมิจิต ภูมิธรรม     สุดแท้แต่กำลัง แห่งสติปัญญา ของแต่ละบุคคล แต่ละท่าน บางคนก็ทำได้แต่การให้ทาน เช่นมาทำบุญตักบาตร ถวายข้าว ถวายของให้กับพระสงฆ์องค์เจ้า บางคนก็ทำได้มากกว่านั้น คือทำบุญแล้ว ยังรักษาศีลได้อีก     สามารถรักษาศีล ข้อหนึ่ง ข้อใดใน ๕ ข้อ หรือใน ๘ ข้อ หรือหมดทั้ง ๕  ข้อ ทั้ง ๘ ข้อ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับอินทรีย์พละ ของแต่ละคน ว่าจะมีมากแค่ไหน ถ้ามีอินทรีย์พละมาก ก็สามารถที่จะรักษาศีลให้มากขึ้น ถ้ามีอินทรีย์พละมากยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ก็สามารถที่จะเจริญธรรม เจริญจิตตะภาวนา คือ การพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น ให้เป็นจิตใจทีมีความสะอาด  ให้มีความสงบ  เพราะว่าความสุขนั้น เกิดจากความสงบ ความสะอาดของจิตใจ จิตใจที่ไม่มีความสุข เพราะว่าจิตใจ มีเครื่องเศร้าหมองนั้นเอง         เครื่องเศร้าหมองจะออกไป จากจิต จากใจของเราได้ ก็ต้องอาศัยการเจริญจิตตะภาวนา จิตตะภาวนาก็คือการชำระจิตใจ ชำระกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ให้ออกไปจากจิตจากใจ นั้นเอง

 

ท่านสอนว่า ให้ทำจิตใจให้สงบเสียก่อน จิตใจเรานั้นวุ่นวาย ไม่รู้จักเหนือ จักใต้     ไม่รู้จักเหตุ จักผล ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูก  อะไรเป็นสิ่งที่ผิด อะไรคือบุญ อะไรคือบาป  อะไรคือความสุขที่แท้จริง     อะไรคือความทุกข์ที่แท้จริง เวลาจิตใจมีความวุ่นวายใจ  มีความทุกข์ครอบงำอยู่ จิตใจจะมีแต่ความหลง เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว     เห็นกามสุข ว่าเป็นความสุขอันแท้จริง อย่างนี้เป็นต้น    ความจริงกามสุขนั้น ก็คือความทุกข์นั้นเอง ผู้ใดติดอยู่ในกามสุข ผู้นั้นก็จะมีแต่ความทุกข์ เช่น คนที่เสพสุรายาเมาก็คิดว่าตนเองมีความสุข แต่ผู้ที่ไม่เสพสุรายาเมาก็จะรู้ว่า คนที่เสพสุรายาเมานั้น มีแต่ความทุกข์ เพราะเวลาที่ไม่ได้เสพสุรา ก็จะมีแต่ความกระวนกระวายใจ มีความหิว มีความกระหาย     มีความอยาก  เทียบกับคนที่ไม่เสพสุรา อยู่เฉยๆ ก็มีความสุขแล้ว

 

ฉันใด คนที่มีกิเลส มีความหลงครอบงำอยู่ จิตใจจะมีแต่ความเห็นผิดเป็นชอบ  ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เรา ทำจิตให้สงบก่อน ให้ระงับอารมณ์ทั้งหลาย ที่ครอบงำจิตใจ ให้มันตกตะกอนลงไป     เหมือนกับน้ำขุ่นที่อยู่ในตุ่ม เราเอาสารส้มเข้าไปแก่วง สารส้มก็จะทำให้พวกอนุมูลทั้งหลาย ที่อยู่ในน้ำเกาะตัวกัน แล้วก็ตกตะกอน แยกออกจากน้ำ     เมื่อพวกอนุมูลทั้งหลายที่อยู่ในน้ำ แยกตัวออกไป ตกตะกอนลงไป  น้ำก็จะใสขึ้นมา เราก็สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในน้ำ อยู่ในตุ่มได้      

 

ฉันใด จิตใจของเราก็เหมือนกัน ขณะที่จิตของเรา มีความเศร้าหมอง       จิตใจของเรา จะมีความขุ่นมัว ไม่มีความผ่องใส ไม่สะอาด มองอะไรไม่เห็น ไม่สมารถแยกแยะได้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ปิดบังจิตใจอยู่     แต่ถ้าจิตสามารถเข้าสู่ความสงบได้แล้ว จิตใจจะเป็นจิตใจที่สะอาด เพราะขณะที่จิตสงบตัวลงนั้น พวกกิเลส พวกอารมณ์ความเศร้าหมองต่างๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ต่างๆ นั้น จะตกตะกอน จะสงบตัวลงไป จะแยกออกไป ชั่วขณะหนึ่ง ในขณะนั้น จิตใจจะเป็นจิตใจ ที่มีความสะอาด   มีความสุข มีความเบิกบาน มีความผ่องใส สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในจิตใจว่า อะไรคือความสุข อะไรคือความทุกข์  จิตใจมองเห็นแล้วว่า     ความสุขนั้น เกิดขึ้นจากความสงบ ของจิตใจ นั้นเอง

 

ขั้นต่อไป เราก็ใช้ปัญญาแยกแยะ กรองออก  เหมือนกับเรากรองน้ำ      เมื่อน้ำกับตะกอน มันแยกตัวออกไปแล้ว ตะกอนมันอยู่ตรงก้น   น้ำลอยอยู่  เราก็เอาน้ำที่สะอาดไปใส่อีกตุ่ม  ส่วนตะกอนที่เหลือ  เราก็ทิ้งมันไป     ฉันใด กิเลสที่ตกตะกอน คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้ เราจะเห็นได้ชัดว่า มันเป็นพิษ เป็นภัย เพราะว่าขณะที่จิตใจของเรา  มีความสงบนั้น กิเลสจะหดตัวลงไป เราจะมีแต่ความสบายใจ แต่พอกิเลสเริ่มขยับตัว คือมีความโลภเกิดขึ้น  มีความโกรธเกิดขึ้น เราจะเห็นพิษ เห็นภัยของมันทันที เพราะว่าเวลาเกิดความโลภ มันจะร้อนวูบขึ้นมา เวลาเกิดความโกรธ จะร้อนวูบขึ้นมา อันนี้จะเห็นได้ชัด ถ้าจิตเป็นจิตที่มีความสงบ มีสมาธิ จิตได้แยกออกจากกิเลสแล้ว เวลากิเลสแสดงตัวออกมานั้น จะเห็นได้ชัดเลยว่า อ้อ……นี่คือพิษภัย นี่คือต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลาย ถึงแม้เราจะไม่รู้จักชื่อของมัน ว่ามันชื่อโลภ ชื่อโกรธ ชื่อหลง แต่เราจะรู้ โดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอกเรา ว่าไอ้ตัวนี้ เป็นตัวร้อน ไอ้ตัวนี้เป็นพิษ เป็นภัย เวลามันแสดงตัว แสดงอาการออกมาแล้ว มันสร้างความทุกข์ ให้กับจิตใจเราอย่างไร

 

เมื่อเราได้เห็นอย่างนี้แล้ว เราก็ใช้ปัญญาตัดมันออกไป ปัญญาที่ใช้ คือ ปัญญาในอริยสัจ หรือปัญญาในไตรลักษณ์  คือสติปัญญาที่เห็นสิ่งต่างๆ ในโลก ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นสุข ของทั้งหลายที่มันไม่เที่ยงนั้น ถ้าเราไปยึดไปติดกับมัน เวลามันเปลี่ยนแปลงไป แปรปรวนไป หรือสูญเสียไป ซึ่งเกิดจากสภาพความเป็นจริงของมันนั้น มันก็จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา อันนี้เราเห็นได้ชัด อย่างร่างกายของเรานี้      เราก็รู้อยู่ว่า เกิดแล้วมันก็แก่  แล้วมันก็เจ็บ แล้วมันก็ตาย       ถ้าเราไปยินดี ไปยึดไปติดในร่างกาย เท่ากับเรามีความโลภในร่างกาย อยากให้ร่างกายอยู่กับเราไปนานๆ อยากให้ร่างกายเป็นของของเรา แต่ความเป็นจริงพระพุทธองค์ทรงแสดงว่า รูปังอนิจจัง รูปังทุกขัง รูปังอนัตตา         รูปเป็นของไม่เที่ยง รูปเป็นทุกข์ รูปเป็นอนัตตา นี้เป็นสัจธรรม เป็นความจริง ที่เราจะต้องเอามาใช้สอนจิตใจของเรา เพื่อที่จะได้ระงับความยินดี  ความโลภ  ความยึดติดในร่างกายนั้นเอง

 

ถ้าเรามีธรรมะ สั่งสอนตัวเราเองแล้ว เราก็สามารถ ดับความโลภได้      เพราะเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นสุข ร่างกายมันเหมือนก้อนฟืนก้อนไฟ ถ้าเราไปจับก้อนฟืนก้อนไฟ มันก็จะไหม้มือเรา      แต่ถ้าเราเพียงแต่มองดูมัน มันก็ไม่สามารถ สร้างความเดือดร้อน ให้กับเราได้      ฉันใด  ร่างกายของเราก็เช่นกัน  ร่างกายของเราเป็นธาตุ ๔  ดิน น้ำ ลม  ไฟ ที่จิตใจของเราไปยึด ไปครอบครอง เหมือนกับไปยึด ไปครอบครอง ที่ดินผืนหนึ่ง เดิมที  ที่ดินในโลกนี้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่พอเราเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เราก็ไปจับจองที่ดิน ๕ ไร่  ๑๐ ไร่ แล้วก็ไปออกโฉนดกัน กลายเป็นของของเราขึ้นมา  พอมีใครมาแย่งไป มาโกงไป เราก็เกิดทุกข์ขึ้นมา เพราะเราไปยึดติดกับของ ที่ไม่ใช่ของของเรา เราไปยึด ไปติด กับของที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ฉันใดร่างกายเรา ก็เปรียบเหมือนกับที่ดินผืนหนึ่ง ที่เรามายึด มาครอบครองไว้ แล้วก็เรียกว่ามันเป็นของของเรา ไปยินดีกับมัน ไปโลภกับมัน  เวลามันเจ็บ เวลามันแก่ เวลามันตาย    ก็เศร้าโศกเสียใจ ก็เกิดทุกข์ขึ้นมา  นี่แหละ…คือลักษณะของการขาดปัญญา

 

ถ้าเราเจริญปัญญา  เจริญวิปัสสนาอยู่เรื่อยๆ  สอนตัวเราเองให้เข้าใจตามหลัก อนิจจัง  ทุกขัง อนัตตา จนเราเข้าใจว่าทุกอย่าง เป็น อนิจจัง       ทุกขัง  อนัตตา แล้ว  เราก็จะไม่กล้า ไปยึด ไปเกาะไปติด     ไปโลภ     ไปอยาก     เราจะปล่อยวางตามสภาพความเป็นจริง     ถึงแม้เราจะมีสิ่งของเหล่านี้ครอบครองอยู่ เมื่อถึงเวลาของมัน  ยินดีที่จะให้มันพลัดพรากจากเราไป ถ้าเราทำใจให้ได้ในระดับนี้  จิตใจของเราก็จะไม่มีความทุกข์     เพราะจิตใจของเรามีปัญญา จิตใจของเรามีวิปัสสนา จิตใจของเราสามารถตัดกิเลสออกไป จากจิตจากใจของเราได้ เมื่อไม่มีกิเลสอยู่ในจิตใจของเราแล้ว มันก็จะไม่มีเรื่อง ที่จะสร้างความเศร้าหมอง ความทุกข์       ความฟุ้งซ่านให้แก่จิตใจเรา จิตใจเราก็จะเป็นจิตใจ ที่มีแต่ความสงบ          มีแต่ความสุข  อันนี้เป็นความสุขที่แท้จริง ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า สุขใดที่จะเหนือกว่าความสุข ที่เกิดจากความสงบของจิตใจนั้นไม่มี และการสงบของจิตใจ ที่จะเป็นความสงบที่ถาวร ก็ต้องเป็นความสงบที่เกิดจากการชำระกิเลส ให้หมดไป จากจิต จากใจ อันนี้เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขของสมาธิ       

 

ความสุขของสมาธินั้น เป็นความสุขชั่วคราว เมื่อจิตออกจากสมาธิแล้ว      กิเลสที่ถูกกด ถูกทับอยู่ ด้วยกำลังของสมาธิ  ก็จะออกมาเช่นกัน มาสร้างความทุกข์ ความเศร้าหมองให้แก่เราอีก ต่างกับความสุข ความสงบที่เกิดจากปัญญา ที่ได้ตัดกิเลส ให้หมดออกไป จากจิตใจ จากใจแล้ว     ถ้ามีปัญญาตัดกิเลส ให้ออกไปจากใจได้แล้ว กิเลสจะไม่สามารถกลับมาเกิดใหม่ได้อีก เหมือนจิตของพระพุทธเจ้า จิตพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย จิตใจท่านนั้น ไม่มีทางที่กิเลสจะกลับฟื้นขึ้นมาได้อีก  เพราะถูกปัญญาตัดขาดไปหมดแล้ว ถูกทำลายไปหมดสิ้น

 

ดังนั้น พวกเราชาวพุทธทั้งหลาย ที่ปรารถนาความสุขที่แท้จริง ขอให้เราเจริญกุศลธรรมทั้ง ๒ ระดับ คือธรรมะขั้นสมาธิ  และ ธรรมะขั้นปัญญา    อย่าไปหยุดแค่สมาธิ  พอทำจิตให้สงบแล้ว จิตมีสมาธิแล้วก็พอ อันนี้ยังไม่พอ เพราะว่าสมาธินั้น เปรียบเหมือนกับหินทับหญ้า     เวลาที่เราเอาหินไปทับหญ้าไว้  หญ้ามันก็ไม่งอกออกมา แต่พอเอาหินออกจากหญ้า     พอหญ้ามันได้แดด ได้น้ำ ได้ฝน สักพักหนึ่ง มันจะเจริญงอกงามขึ้นมาอีก เพราะว่ารากมัน ไม่ได้ถูกทำลาย ฉันใด รากเหง้าของกิเลสก็เช่นกัน     มันไม่ได้ถูกทำลายด้วยสมาธิ มันจะถูกทำลายได้ ก็จากปัญญา วิปัสสนาเท่านั้นเอง 

 

ฉะนั้น หลังจากเราได้สมาธิแล้ว ได้ความสงบแล้ว ท่านสอนให้เจริญวิปัสสนา เจริญปัญญาให้มาก ให้พิจารณาธาตุขันธ์  พิจารณาขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้เห็นว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์     เป็นอนัตตา อยู่อย่างต่อเนื่อง ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ปัญญานี้  จะพัฒนาจากจินตะมะยะปัญญา ขึ้นไปสู่ภาวนามะยะปัญญา มันจะคอยดู คอยบอก คอยสอน ให้คอยดู ให้คอยคิดอยู่เรื่อยๆ อันนี้เป็นจินตะมะยะปัญญา แล้วถ้าคิดบ่อยๆ เข้า ก็เหมือนกับว่ามันจำได้ พอมันเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา เวลาร่างกายเจ็บไข้ ได้ป่วย มันก็จะคิดปั๊บ  และบอกเราว่า      ที่เราเป็นทุกข์ เพราะเราไปยึดมัน ถ้าเราปล่อยวาง เราก็เป็นปกติ        อันนี้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามกันมา เพราะฉะนั้นอย่าประมาทในการพิจารณาธรรมะ พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอน ให้พวกเราพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ให้เจริญปัญญา หลังจากที่เราออกจากสมาธิแล้ว    

 

เวลาเจริญปัญญานี้  จิตจะต้องเหนื่อย เราก็พักจิต หยุดพักจิต กลับเข้าสู่สมาธิ พักผ่อนจิต เมื่อพักพอแล้ว ก็ออกมาพิจารณาธรรมะต่อไป นี่คือธรรมขั้นสมาธิและปัญญา ที่จะต้องทำควบคู่กันไป  เหมือนกับการเดิน     เราต้องใช้ ทั้งเท้าซ้ายและเท้าขวา เราย่างเท้าซ้ายแล้ว เราก็ต้องย่างเท้าขวา  เราก้าวเท้าซ้ายแล้ว เราก็ก้าวเท้าขวา สลับกันไป  สมาธิกับปัญญาก็เช่นเดียวกัน ต้องไปควบคู่กัน อย่าไปฟังคนที่เขาบอกว่า สมาธิไม่ต้องทำหรอก  ให้เจริญปัญญาเลย  อันนี้ไม่ถูก   บางคนก็บอกว่า  เจริญสมาธิ

แล้ว จะเกิดปัญญาขึ้นมาเอง อันนี้ไม่ถูกอีกเหมือนกัน  แต่เป็นธรรมที่ต้องเจริญทั้งสองอย่าง  เพียงแต่การกระทำ ต่างหน้าที่กัน สมาธิให้ความสงบ ให้กำลัง ให้การพักผ่อน ของจิตใจ ส่วนปัญญานั้น เปรียบเหมือนกับมีด     สำหรับใช้ฟัน ใช้ตัดสิ่งต่างๆ ที่มารบกวนในจิตใจ ให้หมดไป

 

พวกเราทั้งหลายที่เป็นนักปฏิบัติ ขอให้พึงสังเกตว่า จิตใจของเรานั้นติดอยู่กับธรรมะขั้นไหน ถ้าเราติดสมาธิ  ก็ขอให้เราหันมาเจริญปัญญา     ถ้าเราติดปัญญา  พิจารณาอย่างเดียว  พิจารณามากไป  เกิดอารมณ์ฟุ้งซ่าน กลายเป็นวิปัสสนูขึ้นมา  เกิดความเครียดทางวิปัสสนา ก็ขอให้เราหันมาเจริญสมาธิ สลับไปกับการเจริญปัญญา      บางคนพิจารณาทางปัญญาแล้ว เกิดอาการติดวิปัสสนา หลงตน คิดว่าตัวเองรู้จริงขึ้นมา อันนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น  ต้องอาศัยธรรม ทั้ง ๒  อย่าง    เป็นเครื่องถ่วงดุลกัน  เป็นเครื่องสนับสนุนกัน  แล้วการเดินทางสู่ มรรค ผล นิพพาน จะเป็นไปด้วยความราบรื่นดีงาม จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งธรรม คือพระนิพพานนั้นเอง ดังนั้น จึงขอฝากธรรมบทนี้ ให้ไว้กับญาติโยม ผู้เป็นนักปฏิบัติทั้งหลายได้นำไปพินิจ พิจารณา   เพื่อความเจริญ รุ่งเรือง  ก้าวหน้าในทางธรรม ต่อไป การแสดงธรรมเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้