กัณฑ์ที่ ๖ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๓
อกุศล ๑๐
พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายนั้น มีกรรมเป็นของของตน จะทำกรรมอันใดไว้ ดี หรือ ชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เพราะว่า ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ความชั่วก็ดี ความดีก็ดีนั้น พระพุทธองค์ทรงเห็นแล้วว่า มันเกิดจากการกระทำ ของพวกเราเอง คือ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจ ถ้าทำดี ทำบุญ ทำกุศล ก็จะนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ แต่ถ้าทำบาป ทำกรรม ทำความชั่ว ก็จะนำมาซึ่งความทุกข์ ความเสื่อมเสีย ความหายนะทั้งหลาย
พระพุทธองค์ทรงรู้ ทรงเห็นว่า สัตว์โลกทั้งหลายนั้น มีแต่ปรารถนาความสุขด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครปรารถนาความทุกข์ พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอน ให้สัตว์โลกทั้งหลาย ทำแต่ความดี ทำบุญ ทำกุศลให้ถึงพร้อม ละบาปกรรมทั้งหลาย อย่าไปกระทำกัน เพราะการทำความดีนั้น นำความสุข ความสบาย มาให้กับเรา บุญกุศล ความดีทั้งหลายนั้น เป็นของเย็น ทำไปแล้ว จะเกิดความเย็น ทั้งผู้ที่กระทำ และผู้ที่ได้รับการกระทำ ส่วนบาปนั้นเป็นของร้อน เมื่อทำไปแล้ว ก็สร้างความร้อนรนจิตใจ ให้ทั้งผู้ที่กระทำ และ ผู้ที่ถูกกระทำ
ถ้าพวกเราไม่สามารถจะทำความดี ทำบุญกันได้ อย่างน้อยก็อย่าไปทำบาป เวลาเราไม่ได้ทำบุญ ทำกุศล ทำความดี จิตใจเราจะไม่เย็น แต่อย่างน้อย จิตใจเราก็ไม่ร้อน บาปกรรมนั้นทำได้ ๓ ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจ เรียกว่า อกุศลกรรม หมายถึง การกระทำที่ตรงข้ามกับกุศลกรรม อกุศลกรรมทำแล้ว นำมาซึ่งความร้อนรน กระวนกระวาย ความทุกข์เผารนจิตใจ
อกุศลกรรมทางกายมี
๓ ประการ ประการแรกคือ
การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ประการที่ ๒
คือการลักทรัพย์ ประการที่ ๓
คือ การประพฤติผิดประเวณี
ทั้ง ๓ ประการนี้
คือ อกุศลกรรมทางกาย
ถ้าทำไปแล้ว
ก็เกิดความทุกข์ความร้อนรน
ตามมา ส่วนทางวาจา มี ๔
ประการด้วยกัน
คือ ๑ การพูดปดมดเท็จ
๒ การพูดคำหยาบ
๓ การพูดส่อเสียด ๔ การพูดเพ้อเจ้อ
นี่คืออกุศลกรรมทางวาจา
พูดไปแล้ว
ก็นำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ผู้พูด
ทำความไม่สบายใจ
ให้แก่ผู้ฟัง อกุศลกรรมทางใจ
มี ๓ ประการด้วยกัน คือ
ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง
ทั้งหมดนี้เรียกว่า อกุศลกรรม
๑๐ ประการ
พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน
ให้พวกเรา ลด ละ อกุศลกรรม
ทั้ง ๑๐ ประการ
อย่าไปทำกัน
เพราะว่าทำแล้ว
จะมีแต่ผลเสียเกิดขึ้นกับตัวเรา
และกับผู้ที่ถูกกระทำ เช่น
การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนี้
ถ้าเราทำไปแล้ว ผู้ถูกกระทำ
จะมีความทุกข์มาก
เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่ทุกคนรัก
ทุกคนหวงแหน
ไม่มีใครอยากจะสูญเสียชีวิตของตัวไป
แม้แต่ชีวิตของสัตว์เล็ก
สัตว์น้อย
ก็มีคุณค่าเท่าเทียมกัน
การรักชีวิตของสัตว์
ของบุคคลนั้น
มีความเท่าเทียมกัน
คุณค่าชีวิต ของแต่ละบุคคล
ก็เท่าเทียมกัน
ถ้าเราไม่อยากถูกผู้อื่นเขาทำลายชีวิตเรา
เราก็อย่าไปทำลายชีวิตผู้อื่น
ประการที่
๒ อย่าไปลักทรัพย์
เพราะการลักทรัพย์นั้น
เมื่อทำไปแล้ว
นำความทุกข์
ให้กับผู้ที่สูญเสียทรัพย์
ผู้ที่ลักทรัพย์
จะมีความไม่สบายใจ
เพราะกลัวจะถูกจับไปทำโทษ
ประการที่ ๓
อย่าประพฤติผิดประเวณี
สามี ภรรยา บุตร ธิดา
เป็นของมีเจ้าของ
เป็นของรัก ของหวงแหน
ถ้าเราไปละเมิดในเรื่องเหล่านี้
จะสร้างความไม่สบายใจ
สร้างความทุกข์ใจ
สร้างความโกรธแค้น
ให้กับผู้ที่ถูกกระทำ
วิธีที่จะต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้
ท่านสอนให้เรามีเมตตา
รักกัน อย่าเบียดเบียนกัน
ผู้มีความเมตตา
ย่อมเป็นผู้ไม่ฆ่า
ไม่ทำลายชีวิตผู้อื่น
เพราะมีเมตตา
มีการให้อภัยกัน ไม่จองเวร
จองกรรมกัน
การที่เราสามารถฆ่าผู้อื่นได้นั้น
เพราะมีความโกรธแค้น
เกิดความพยาบาท
อยากให้เขาตายจากไป
แต่ถ้าเรามีความเมตตา
เราจะให้อภัย
เมื่อให้อภัยแล้ว
เขาก็ปลอดภัย เราก็ปลอดภัย
ถ้าไม่มีความเมตตาแล้ว
เราจะละการเข่นฆ่ากันไม่ได้
จึงขอให้พวกเราเจริญเมตตาให้มากๆ
พยายามมองทุกคน
เหมือนเป็นพี่ เป็นน้องกัน
ให้คิดว่าเป็นเพื่อนเกิด แก่
เจ็บ ตาย ในวัฏฏะสงสารด้วยกัน
ความทุกข์ของเรามีมากกันอยู่ทุกคนแล้ว
อย่าเพิ่มความทุกข์ให้กับผู้อื่น
ด้วยการกระทำของเราเลย
การลักทรัพย์นั้น
ท่านสอนให้เราละด้วยการมีสัมมาอาชีพ
คือให้มีอาชีพที่สุจริต
เลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง ถ้าเราทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว
การที่เราจะไปลักขโมย
ไปเบียดเบียนผู้อื่นย่อมไม่มี
ส่วนการประพฤติผิดประเวณี
ท่านก็สอนให้เราละ
ด้วยการมีความสำรวมในกาม
คือให้ รู้จักประมาณ
รู้จักพอดี ให้มีความพอใจ
กับสิ่งที่มีอยู่
ให้พอใจกับสามีของเรา
ให้พอใจกับภรรยาของเรา
ถ้าเรามีความพอใจในสิ่งเหล่านี้แล้ว
ความอยากจะมีเพิ่ม
มันก็จะไม่มี ความอยากจะมีเพิ่มนี้
เป็นความหลงของจิตใจ
คิดว่าได้คนนี้แล้วจะดีขึ้น
แต่แทนที่มันจะดี
กลับมีปัญหาตามมาอีกมากมาย
วิธีที่จะตัดปัญหาความทุกข์ด้านจิตใจเกี่ยวกับเรื่องการพระพฤติผิดประเวณีนี้
เราต้องมีความสำรวมในกามอารมณ์
อย่าปล่อยให้เป็นไปตามความอยาก
ความต้องการ ถ้าปล่อยไปแล้ว
จะไม่มีความพอ
บางคนมีภรรยาเป็นร้อยก็มี
เพราะขาดการควบคุมจิตใจนั่นเอง
ถือว่ามีเงินชะอย่าง
ซื้อได้ ก็ซื้อ
แต่ไม่มีความสุขหรอก
เพราะไม่อิ่ม ไม่พอนั้นเอง
จึงขอให้พวกเรา
มีความพอใจกับสามี
กับภรรยาของเรา
มีคนเดียวก็พอแล้ว
จะมีความสุขยิ่งกว่ามีเป็นสิบๆคน
เพราะจะไม่มีปัญหาบ้านเล็ก
บ้านน้อย ทะเลาะกัน
ตีกันวุ่นวาย
คนที่อยู่ตรงกลางกินไม่ได้
นอนไม่หลับ
รักพี่เสียดายน้อง
ไม่รู้จะทำอย่างไร
ควรตัดใจเสีย รักหนึ่ง
รักเดียว ใจหนึ่ง ใจเดียว
คือความสุขที่แท้จริง
อกุศลกรรมทางวาจา
คือ การพูดปดมดเท็จ
ท่านสอนให้ละด้วยการเจริญสัจจะ
คือ ให้พูดความจริง
พูดแต่สิ่งที่เป็นจริง
อย่าพูดโกหกหลอกลวงกัน
ทุกครั้งก่อนที่จะพูดอะไรออกไป
ขอให้คิดก่อนว่า
สิ่งที่เราจะพูดนั้นเป็นความจริงหรือเปล่า
ถ้าเป็นเรื่องไม่จริง
ก็อย่าไปพูด ให้นิ่งเสีย
ถ้าจะพูด
ขอให้เป็นความจริง
แล้วการโกหก ก็จะไม่เกิดขึ้น
เวลาพูดปดเรื่อยๆนั้น
ต่อไปคำพูดจะไม่มีความหมาย
ไม่มีค่าไม่มีราคา พระพุทธเจ้าทรงสอนพระราหุล
ซึ่งเป็นพระโอรส
สมัยที่พระราหุลบวชเป็นสามเณร
ท่านทรงสอนเกี่ยวกับเรื่องการพูดว่า
คุณค่าของคนเราก็อยู่ที่สัจจะวาจา
พระพุทธเจ้าทรงยกตัวอย่าง
โดยการตักน้ำใส่ขันให้เต็ม
แล้วทรงเทน้ำออกจากขันทีละนิด
ที่ละหน่อย
แล้วตรัสกับพระราหุลว่า
ทุกครั้งที่เธอพูดเท็จ
คุณค่าของเธอจะลดลงไปเรื่อยๆ
เหมือนกับน้ำที่ถูกเทออกจากขันนี้
ถ้าเธอพูดเท็จไปเรื่อยๆ
ต่อไปคุณค่าของเธอจะหมดไป
เหมือนกับน้ำในขันที่ถูกเททิ้งหมด
การพูดเท็จจึงเป็นการทำลายคุณค่าของเธอนั่นเอง
ทุกครั้งที่เธอพูดปด
ความน่าเชื่อถือในตัวเธอ
ก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ
ถ้าพูดปด พูดเท็จ
จนเป็นนิสัย
ต่อไปจะไม่มีใครเชื่อคำพูดของเธอ
เธอจะกลายเป็นคนไม่มีคุณค่า
ไปในที่สุด
เหมือนเด็กเลี้ยงแกะ
ครั้งแรกที่ตะโกนขอความช่วยเหลือ
คนก็วิ่งมาช่วย
แต่พอมาถึงก็พบว่าถูกหลอก
ครั้งต่อไป
เกิดเหตุการณ์จริงๆขึ้น
พอร้องขอความช่วยเหลือออกไป
ก็ไม่มีใครมาช่วยเหลือ
เพราะว่าคำพูดไม่มีค่าไม่มีราคาอะไรแล้ว
ดังนั้น
ขอให้เราเห็นคุณค่าของสัจจะ
เห็นคุณค่าของคำพูด
เห็นโทษของการพูดโกหกมดเท็จ
แล้วละเสีย เลิกเสีย
ถ้าพูดความจริงไม่ได้
ก็ขอให้นิ่งไว้ จะดีกว่า
หรือเลี่ยงไปพูดเรื่องอื่นเสีย พูดเรื่องฝน
พูดเรื่องฟ้า พูดเรื่องแดด
พูดเรื่องลม
พูดอะไรก็พูดไป
จะดีกว่าไปพูดโกหก
ประการต่อมา
อย่าพูดคำหยาบ
เมื่อพูดไปแล้ว
จะทำให้เราเป็นคนหยาบคาย
เป็นคนไม่สวยงาม
ความสวยมีอยู่สองแบบ รูปสวย
และ วาจาสวย
ถ้ารูปสวย
แต่เวลาพูดแล้วฟังไม่ได้
จะไม่มีใครอยากอยู่ด้วย
คนแบบนี้ เวลามีสามี มีแฟน
จะอยู่กันไม่ยืด
ต้องเลิกร้างกันไป
เพราะพูดจาหยาบคาย
เวลาโกรธขึ้นมา
ก็ด่าพ่อล่อแม่
อย่างนี้สามีจะอยู่ด้วยได้ยังไง
ต่อให้สวยเหมือนนางงามจักรวาล
ก็ไม่สามารถที่จะลบล้างความหยาบคายนั้นได้
ถ้าอยากเป็นที่รักใคร่ ยินดี
ของผู้อื่น
ก็ขอให้สวยทั้งรูป
สวยทั้งวาจา ถ้ารูปไม่สวย
ก็ขอให้สวยด้วยวาจา
เพราะปากเป็นต่อ
รูปเป็นรองนั้นเอง
วาจาที่ไพเราะ
ใครได้ยินก็อยากฟัง
อยากเข้าหา
เวลาฟังเทศน์
ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า
รู้สึกมีความอิ่มอกอิ่มใจ
เพราะพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์นั้น
สวยทั้งเบื้องต้น
สวยทั้งเบื้องกลาง
สวยทั้งเบื้องปลาย
ฟังแล้วไพเราะหู ฟังแล้วเกิดปีติ
มีความสุข มีสาระ มีปัญญา
ดังนั้น ขอให้ตรวจตราดูคำพูด
เหมือนกับเวลาที่เราจะออกจากบ้าน
เรายังส่องกระจก ดูหน้า ดูตา
ตรวจตรา ดูความเรียบร้อย
ทุกครั้งที่จะพูด
ขอให้ใช้ธรรมะ ใช้สติ
สอดส่อง ดูการพูดของเรา
ว่าพูดไปในทิศทางใด
ไปในทางที่สุภาพเรียบร้อย
หรือพูดไปทางหยาบคาย
ประการต่อมา
อย่าไปพูดส่อเสียด
การพูดส่อเสียดนั้น
ไม่ได้หมายถึงการพูดเสียดสี
แต่การพูดส่อเสียดนี้แปลว่า
คำพูดที่ทำให้เกิดการแตกแยกกัน
เช่นพูดยุแหย่ ให้สามี
ภรรยาที่รักกัน ให้แตกแยกกัน
บอกภรรยาว่า
สามีไปยุ่งกับคนนี้
บอกสามีว่า
ภรรยาไปยุ่งกับคนนั้น
อย่างนี้เป็นต้น
ทำให้เกิดความแตกแยก
สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น
เมื่อเขามารู้ทีหลัง
ว่าเราเป็นคนอย่างนี้
เราก็จะเป็นคนที่ไม่มีใครเขาอยากคบค้าสมาคมด้วย
อยู่ที่ไหนกับใครมีแต่จะสร้างความแตกแยก
เวลาพูดอะไร
ให้พูดด้วยความเมตตา
คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ฟัง
ถ้าพูดแล้ว
ไม่เกิดประโยชน์ก็อย่าไปพูด
นักปราชญ์
เวลาพูดเรื่องของตัวเองมักจะพูดเรื่องความไม่ดีของตน
แม้จะมีน้อยนิด
ส่วนความดีของตนนั้น
ถึงแม้จะมีมากมายเท่าภูเขา
ก็จะไม่ค่อยพูดเท่าไร
ในทางกลับกันเวลาพูดถึงผู้อื่น
มักจะพูดแต่ความดีของเขา
แม้จะมีไม่มาก
เพราะเมื่อพูดไปแล้ว
มีแต่จะดี
แต่ถ้าพูดถึงความไม่ดีของเขา
มีแต่จะเสีย คนเรานั้น
มีทั้งดีและไม่ดี
ทำไมถึงพูดแต่สิ่งที่ไม่ดี
ทำไมไม่พูดในสิ่งที่ดี
ถ้าพูดสิ่งที่ดีแล้ว
ทุกคนจะมีความสุข ทั้งคนพูด
ทั้งคนที่ถูกพูดถึง
ฉะนั้น เวลาพูดอะไร
ขอให้ระมัดระวัง
พูดแต่สิ่งที่ดี ที่งาม
อย่าพูดทำลายล้างกัน มันไม่เกิดประโยชน์อะไร
ประการต่อมา
อย่าพูดเพ้อเจ้อ
เพราะคำพูดเพ้อเจ้อนั้น
ไม่มีสาระ ไม่มีประโยชน์
เรื่องนินทากาเล
เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เวลาพูด
ควรพูดเรื่องที่มีประโยชน์
มีสาระ เช่น
พูดเรื่องทำไร่ ทำนา ทำมา
หากิน หรือพูดเรื่องศีล
เรื่องธรรม
ฟังแล้วได้ความรู้ มีสาระ
มีประโยชน์ ให้ระวังคำพูด
อย่าพูดเพ้อเจ้อ
หาสาระประโยชน์ไม่ได้
ส่วนอกุศลกรรมทางจิตใจ
มีอยู่ ๓ คือ ความโลภ
ความโกธร ความหลง
ความโกรธก็เช่นกัน
เวลามีความโกรธ
จิตใจจะร้อนรน กระวนกระวาย
เกิดความอาฆาต
เกิดความพยาบาท
เกิดความแค้นขึ้นมา
อยากจะให้เขานั้นตายไปต่างๆ
นาๆ อย่างนี้เป็นต้น
เราต้องให้อภัย
มีความเมตตา ให้อภัยอยู่เสมอ
แล้วเราจะเอาชนะตัวเอง เวลาชนะผู้อื่น
ก็จะสร้างความเคียดแค้นให้กับเขา
เวลาผู้อื่นชนะ
ก็จะทำให้เกิดความเคียดแค้นในตัวเรา
แต่ถ้าชนะตัวเราเองได้
คือ ชนะความโกรธ
จิตใจของเราก็จะเย็น
จะสบาย อย่างในขณะนี้
ญาติโยมนั่งอยู่นี่ ไม่มีความโกรธ
มีแต่ความสบายใจ
แต่ถ้ามีความโกรธเกิดขึ้นมา
จะรู้สึกอย่างไร
มันก็จะร้อนรนกระวนกระวายใจ
ดังนั้น
เวลามีความโกรธ
ขอให้ตั้งสติไว้ให้มั่น
แล้วบอกตัวเองว่า
ปล่อยเขาไปเกิด
สิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาทำไปแล้ว
มันผ่านไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้
จะให้เขาทำให้ถูกใจเราเสียทุกเรื่องนั้น
ย่อมเป็นไปไม่ได้
แต่เรื่องที่ทำได้ก็คือ
การให้อภัย
เมื่อให้อภัยแล้วมันจะเย็น
เพราะได้ขับสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย
ออกไปจากจิต จากใจ เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แต่ถ้าไปด่าเขา
หรือไปคิดถึงเขาอยู่เรื่อยๆ
ยิ่งคิดก็ยิ่งรุ่มร้อนใจ
คิดโกรธ คิดแค้น
คิดไปเรื่อยๆ นี่คือ
ความไม่สบายใจ
เวลาเราโกรธ
ก็เหมือนกับเอาค้อนมาทุบหัวเรา
อย่าคิดว่า เวลาเราโกรธแล้ว
คนอื่นจะทุกข์ไปกับเราด้วย คนที่เราโกรธ
เขาไม่รู้เรื่องหรอก
เขาสบาย
แต่ผู้ที่เดือดร้อน
ก็คือใจเรานั้นเอง ฉะนั้น
เวลาเราเกิดความโกรธ
พยายามให้อภัย
อย่าไปถือโทษโกรธเคืองเขา
แล้วจิตใจเราจะเย็น
ประการสุดท้าย
คือ ความหลง ความหลงคืออะไร
ก็คือความเห็นผิดเป็นชอบ
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
เห็นบุญเป็นสิ่งที่ไม่น่ากระทำ
กลับเห็นบาปเป็นสิ่งที่น่ากระทำ
เป็นเพราะเหตุใด
ก็เป็นเพราะว่า
คนเรายังไม่เคยเห็นผลของบุญนั้นเอง
เวลาทำบุญแล้ว
ยังไม่เห็นผลบุญ
มันก็ไม่มีกำลังใจที่อยากจะทำ
สู้การทำบาปไม่ได้
เช่น
เวลาจะเอาเงินไปทำบุญนี้
สู้เอาเงินไปกินเหล้า
เอาไปเที่ยว สนุกกว่า
เห็นผลทันที
เพราะในขณะนั้นเราจะมีความสุข
ไม่เห็นความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ในความสุขนั้น
เพราะเวลาที่เราไม่มีเงิน
เกิดอยากไปเที่ยวขึ้นมา
จะทำอย่างไร มันก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา
อย่างนี้เป็นต้น
ดังนั้น
เราต้องพยายามศึกษาธรรมะ
ให้เห็นว่าบุญคือบุญ
บาปคือบาป ทำบุญแล้ว
จะทำให้สุขใจ ทำบาปแล้ว
จะทำให้ร้อนใจ
เมื่อเราเห็นผลบุญที่เกิดขึ้นในใจแล้ว
ต่อไปเราจะมีกำลังใจในการทำบุญ
คนชั่วชอบทำบาป ไม่ชอบทำบุญ
เพราะไม่เห็นผลของบุญและบาป
คนดีชอบทำบุญ ไม่ชอบทำบาป เพราะเห็นผลของบุญและบาป
วิธีที่จะทำให้เห็นผลของบุญและบาป
คือการศึกษา ฟังเทศน์ ฟังธรรม
อยู่เรื่อยๆ เข้าหาผู้รู้
ศึกษาธรรมะ แล้วจะเกิดปัญญา
แล้วจะรู้ว่าการทำบุญ ทำกุศล
เป็นสิ่งที่ดีสำหรับเรา
รู้ว่าการทำบาป ทำกรรม
เป็นอันตราย
เป็นโทษกับตัวเรา
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่า
ทำดี ได้ดี ทำชั่ว
ได้แต่ความหายนะ ดังนั้น
ขอให้ท่านทั้งหลาย
จงทำแต่ความดี
ละความชั่วทั้งหลาย
แล้วท่านจะมีแต่ความผาสุข
ความเจริญรุ่งเรืองโดยถ่ายเดียว
การแสดงธรรมเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้