กัณฑ์ ที่ ๙     ๓๐ กันยายน ๒๕๔๓

การทำบุญให้ทาน

เวลาที่ญาติโยมมาทำบุญกันนั้น ถ้าปรารถนาจะได้บุญมากๆ ต้องใช้ปัญญา  ต้องรู้จักแยกแยะ ว่าควรจะทำบุญกับใคร  ว่าควรจะให้อะไรกับใคร  และเจตนาของตัวเราเองนั้น เป็นอย่างไร  คือให้ดูทั้ง ๓ จุดนี้  คือ ๑  ดูที่ใจเรา ดูที่เจตนาของเรา ว่าเรามาทำบุญด้วยเรื่องอะไร   ๒ สิ่งของที่เราเอามาถวายพระนั้น  หรือของที่เอามาให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น    เป็นของชนิดไหน         ได้มาอย่างไร      บุคคลที่เราไปทำบุญด้วยนั้น   เป็นบุคคลแบบไหน   เป็นคนดีหรือไม่ดี  เป็นคนฉลาดหรือเป็นคนโง่    ทั้ง ๓ ประการนี้  จะมีอิทธิพลส่งให้ผลของการทำบุญ   ทำทานนั้น  มีอานิสงส์ มีผลประโยชน์มากน้อยไม่เท่าเทียมกัน

 

ประการแรก ให้ดูที่ตัวเรา เวลาเราทำบุญนั้น เราทำบุญเพื่ออะไร  เราทำบุญเพื่อหวังผลตอบแทน จากผู้ที่เราไปทำบุญด้วยหรือเปล่า เช่นเราทำบุญ ๑๐๐ บาท  แล้วเราอยากได้พระ ๑ รูป  ๑ องค์ อย่างนี้เป็นต้น  อันนี้ถือว่าเป็นการทำบุญแบบแลกเปลี่ยนกัน แบบซื้อขาย แบบยื่นหมูยื่นแมวให้กัน  เป็นการทำบุญที่ยังไม่บริสุทธิ์ ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์อย่างแท้จริงแล้ว ต้องเป็นการทำบุญที่ไม่ปรารถนาที่จะรับผลตอบแทนจากผู้ที่เราไปทำบุญด้วย เช่นถ้าให้ไปแล้ว แม้กระทั่งคำขอบคุณก็ไม่สนใจ ไม่ใยดี ไม่ปรารถนา เพราะอยากจะทำความดี   อยากจะให้โดยไม่มีข้อแม้ใดๆทั้งสิ้น อย่างเช่นเวลาทำบุญสร้างกุฏิ ถวายแท็งก์ น้ำให้แก่วัดแก่วา  ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีชื่อนาย ก  นาย ข 

 

แต่การเขียนชื่อก็ไม่ผิดอะไร  เพียงแต่ได้บุญน้อยลงไป   มันน้อยลงไปที่ตรงไหน   มันน้อยลงไปที่จิตใจเรา  เพราะจิตใจของเรายังยึดติดอยู่กับตัวเรา ทำอะไรก็อยากให้คนอื่นเขารู้ว่าเราทำบุญ   ส่งเสริมอัตตา  อัตตานี้ตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นของปลอม  เป็นของไม่จริง  เป็นของไม่มีอยู่  เป็นของที่เกิดจากอวิชชา  ความหลงสร้างขึ้นมา ถ้าผู้ใดไปยึดติดกับตัวอัตตามากน้อยแค่ไหน ผู้นั้นย่อมมีความทุกข์มากน้อยตามไปด้วย เพราะอัตตานี้เป็นต้นเหตุ  ที่จะนำมาซึ่งความปรารถนา   คือความอยากต่างๆ นาๆ เมื่อมีตัวตนแล้วก็อยากมีตัวตนที่ดี ที่วิเศษ อยากจะเป็นนายกฯ อยากจะเป็นรัฐมนตรี  อยากจะเป็น  .. อย่างนี้เป็นต้น   อันนี้เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งอัตตาตัวตน  จะทำอะไร ก็อยากให้คนอื่นเขารู้  เพราะว่าต่อไปจะได้รับผลตอบแทน  เวลาไปหาเสียง จะได้ให้คนอื่นเขารู้ว่า อ้อ คนนี้นะ  ได้มาช่วยเหลือหมู่บ้านนี้ สร้างถนน  สร้างสะพาน เพื่อที่เขาจะได้ลงคะแนนเสียงให้  เขาจะได้เลือกบุคคลนั้นเข้ามา  ให้ไปเป็นตัวแทนของเขา    อันนี้  ตามหลักศาสนานั้น ไม่ถือว่าเป็นการทำบุญ ถือว่าเป็นการค้าขายในเชิงพาณิชย์ เป็นการยื่นหมู ยื่นแมวให้แก่กัน ฉันให้เธอแล้ว เธอต้องให้ฉันมา  แล้วก็ทำให้จิตใจมีแต่ความโลภ มีความอยากเกิดขึ้น ทำให้จิตใจมีความไม่สบายใจ   มีความหิว   มีความกระหาย   มีความทุกข์นั่นเอง

 

แต่ถ้าเราทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ คือทำบุญโดยที่ไม่หวังผลตอบแทนจากผู้รับ เราจะมีความสบายใจ  มีความอิ่มใจ  มีความสุขใจ มีความภูมิใจ เป็นผลตอบแทนที่ได้รับ จากการทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ เหมือนปิดทองหลังพระ ได้บุญยิ่งกว่าปิดทองหน้าพระ คือการทำบุญโดยไม่มีอัตตา ไม่มีตัวตน ไม่ต้อง การให้คนอื่นรู้ว่าเราทำบุญ ไม่ได้ทำเพื่อให้คนอื่นเขาขอบอก ขอบใจเรา  เพื่อแสดงความยินดีกับเรา แต่เราก็ไม่ปฏิเสธ เมื่อทำไปแล้วถ้าคนอื่นรู้ จะอนุโมทนาบุญ  แสดงความยินดี ก็เป็นเรื่องของเขา  เขาอนุโมทนาบุญ  เขาก็ได้รับความสุขใจนั้นด้วย แต่ถ้าเขาไม่อนุโมทนาบุญ เขาก็ไม่ได้รับความสุขใจนั้น  เวลาเราทำบุญเราจึงไม่ปฏิเสธ  ถ้าคนอื่นจะขอร่วมทำบุญด้วย  อย่างการทอดผ้าป่า หรือทอดกฐิน  ถ้าเราเป็นเจ้าภาพ  แต่เขาเป็นคนที่ไม่มีทรัพย์มากมายอะไร   และอยากจะได้บุญ จากการทำความดีนั้นด้วย เราก็ให้เขาร่วมบริจาค   เขาก็จะได้อานิสงส์ เขาก็จะได้บุญด้วย บุญที่เราทำก็ไม่ได้สูญเสียไปไหน ยังมีครบเต็มร้อยอยู่ ตราบใดที่เราไม่ได้แจกซองให้ผู้อื่น ไม่ได้บอกเรี่ยไรให้มาช่วยทำบุญ  ซึ่งเป็นเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์  เพราะทำให้เกิดความโลภ  อยากจะทำให้ได้มากๆ  เกินกำลังฐานะของตัวเอง  การทำบุญควรทำตามกำลังฐานะของตัวเอง  มีมากมีน้อยแค่ไหน ก็ทำไป  บอกคนอื่นได้  แต่ไม่ให้ขอเขา  ไม่ให้เรี่ยไร  จะไปทำบุญที่ไหน ก็บอกได้ แต่อย่าไปเรี่ยไร  อย่าไปบังคับกัน  แต่ถ้าเขาทราบ เขามีศรัทธา เขาอยากจะร่วมทำบุญด้วย  ก็เป็นบุญของเขา  เป็นการได้ช่วยให้ผู้อื่นได้ทำบุญ 

 

การทำบุญที่แท้จริงแล้ว  ควรทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ  โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆทั้งสิ้น หวังผลอย่างเดียว ก็คือผลที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ  จิตใจมีความบริสุทธิ์ใจเราได้ชนะกิเลส  คือความโลภ ความตระหนี่  ความหวงแหน   ข้าวของต่างๆ  นั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนรัก ทุกคนหวงแหน ไม่มีใครที่อยู่ดีๆ จะต้องการสูญเสียเงินทอง ข้าวของต่างๆที่มีค่าไป  การที่เราสามารถเสียสละทรัพย์สินเงินทอง  เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นได้นั้น แสดงถึงความสูงส่งของจิตใจ  เป็นการแสดงถึงคุณธรรมที่มีอยู่ในจิตใจ ที่สามารถเอาชนะความตระหนี่  ความหวงแหนได้นั่นเอง   

 

ตราบใดที่ยังมีความตระหนี่   ความหวงแหนอยู่ในจิตใจ  จิตใจจะมีแต่ความไม่สบายใจ  เพราะจิตใจจะต้องห่วง ต้องกังวลกับข้าวของต่างๆ เวลาไปไหน ก็ห่วงบ้าน ห่วงทรัพย์สินเงินทอง ไม่ค่อยกล้าออกไป  กลายเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ไป  มีทรัพย์มาก แต่ไม่กล้าใช้  เสียดาย รัก หวงแหนทรัพย์สมบัติต่างๆ  ซึ่งความจริงแล้ว มีไว้เพื่อที่จะรับใช้เรา  เพื่อที่จะให้ความสุขกาย  สุขใจกับเรา  ทรัพย์สมบัติเหล่านั้น กลับไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน แต่กลับกลายเป็นภาระ เป็นผู้ที่สร้างความไม่สบายใจให้กับตัวเจ้าของ ซึ่งเกิดจากความโง่เขลา  เบาปัญญาของบุคคลนั้นๆ  เพราะไม่เคยเข้าวัดเข้าวาไม่เคยได้ยิน ได้ฟังธรรมะ  เลยคิดว่า มีทรัพย์สมบัติข้าวของ เงินทองมากแล้ว ตนเองจะมีความสุข  แต่กลับกลายเป็นยามเฝ้าสมบัตินั้นไป แทนที่จะให้เงินทองเป็นผู้รับใช้ตน กลับกลายเป็นผู้รับใช้ข้าวของเงินทองเสียเอง

 

หลวงพ่อองค์หนึ่งท่านบอกว่า   เงินทองมีไว้ใช้  ไม่ใช่ไปรับใช้มัน  ใช้มันเข้าไป  ไม่ต้องไปปราณีมัน  เพียงแต่เวลาใช้  ขอให้มันเกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวเราและต่อผู้อื่น คือถ้าเราเอาเงินไปช่วยเหลือผู้อื่น  ผู้อื่นจะได้รับประโยชน์ เราจะได้ความสุขใจ สบายใจ  ได้ธรรมะ  ได้บุญกุศลนั่นเอง  แต่ถ้าเสียดาย  มัวแต่นั่งเฝ้าทรัพย์สมบัติ จะไม่ได้รับประโยชน์ จากเงินทองที่มีอยู่มากมายก่ายกอง  ตายไปก็ไม่ได้รับประโยชน์  เงินทองที่มีอยู่ ไม่สามารถส่งเราไปสู่สุคติ  สู่ภพภูมิที่ดีได้ เพราะไม่ได้ใช้เงินไปในทางที่ถูกที่ควรนั่นเอง

 การทำบุญจึงควรดูที่ตัวเราเป็นขั้นต้น ให้ดูที่จิตใจเรา ว่าเราทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือเปล่า ถ้าทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้ว จะมีความสุขอย่างยิ่ง   เราทำบุญ เรารู้คนเดียวก็พอ คนอื่นจะรู้หรือไม่ ไม่ใช่เป็นเรื่องสำคัญ   สำคัญที่ตัวเรารู้หรือเปล่า เมื่อรู้แล้ว เราชมตัวเองได้ ยินดีกับตัวเองได้   ทุกครั้งที่เรานึกถึงการทำบุญนี้ เราก็จะมีความสุข แม้กระทั่งบุญที่เคยทำไปแล้ว ผ่านมาหลายเดือน หลายปีก็ตาม  พอนึกถึงการกระทำนั้น  เราก็มีความสุขกับมัน  การทำบุญจึงให้ดูที่ใจ จะได้บุญเยอะๆ

 ประการที่ ๒  ให้ดูสิ่งของที่จะใช้ทำบุญ ว่าเป็นของที่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์หรือเปล่า หรือเป็นสิ่งของที่ไปขโมยเขามา  ถ้าเอาของๆคนอื่นเขามาทำบุญ  เราจะไม่ได้บุญ  เพราะเป็นของๆคนอื่นเขา  เขาต่างหากที่จะได้บุญ  ถ้าเขาทราบแล้วเขาอนุโมทนา  เขาก็จะได้บุญ  เช่น เวลาไปขโมยข้าวของเขามา  พอเจ้าของรู้เข้าก็เกิดความเสียใจ แต่พอมาทราบภายหลัง ว่าเราเอาไปทำบุญ เขาอนุโมทนาเขายินดีด้วย  เขาก็จะเป็นผู้ได้บุญอันนี้ไป  เพราะว่าของอันนั้นเป็นของๆเขา  ตอนต้นเขาเศร้าโศกเสียใจ  อาลัยอาวรณ์กับของที่หายไป  แต่พอมาทราบภายหลัง  ว่าของที่หายไปนั้น   ได้เอาไปทำบุญ   เขาตัดใจได้   เขาอนุโมทนา   เขาก็มีความสุข เพราะบุญเป็นเครื่องดับทุกข์นั่นเอง 

 ควรจะพิจารณาด้วยทุกครั้ง ว่าสิ่งที่เราเอาไปทำบุญนั้น มีคุณประโยชน์หรือไม่ อย่างไร  เช่นเวลาที่จะถวายของให้กับพระภิกษุสงฆ์ ให้ถวายปัจจัย ๔   คือ  จีวรเครื่องนุ่งห่ม  ยารักษาโรค  อาหารบิณฑบาต  ที่อยู่อาศัย   สิ่งเหล่านี้เป็นคุณ เป็นประโยชน์กับผู้รับ ถ้าให้ไปแล้ว จะทำให้เขาอยู่ได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  อย่างวันปีใหม่  เราจัดกระเช้าไปให้กัน  มักจะมีสุราอยู่ในกระเช้านั้นด้วย  เราควรจะเปลี่ยนประเพณีนี้เสีย อย่าให้สุรากัน คือแทนที่จะให้สุรา ก็เอาหนังสือธรรมะดีๆสักเล่ม ใส่เข้าไปแทน   การให้ธรรมะนี้  คือการให้แสงสว่างแก่ชีวิต  ทำให้รู้จัก ถูก ผิด ดี ชั่ว   ทำให้มีดวงตาเห็นธรรม   ทำให้มีปัญญา   ทำให้เป็นคนฉลาด ทำให้สามารถดำเนินชีวิตไปได้ ด้วยความราบรื่นดีงาม มีแต่ความผาสุก ความเจริญโดยถ่ายเดียว

 

 ดีกว่าให้สุรา  เพราะสุรานั้น  เมื่อกินเข้าไปแล้ว   ก็เกิดอาการมึนเมา  ขาดสติ  เมื่อไม่มีสติแล้ว  ก็จะกระทำผิดศีลข้อต่างๆ เช่น  พูดจาหยาบคาย ทะเลาะวิวาท  มีเรื่องมีราว  ชกต่อย  ฆ่ารันฟันแทงกัน   ประพฤติผิดประเวณี ล่วงเกินสามีภรรยาของผู้อื่น  ลักทรัพย์เอาข้าวของๆผู้อื่น    คนไม่มีสตินั้น เป็นคนไม่มียางอาย  ปกติแล้ว  เวลาไม่ได้ดื่มสุรายาเมา  จะเป็นคนเรียบร้อย สุภาพ แต่พอเสพสุราเข้าไปแล้ว ไม่มีสติควบคุมจิตใจ  สันดานหยาบต่างๆ ก็จะโผล่ขึ้นมา  จะแสดงออกมา  วาจาต่างๆ ก็เป็นวาจาที่หยาบคาย   พูดจาสกปรกเลอะเทอะ ไม่มีใครอยากจะเข้าใกล้  เพราะกระทำในสิ่งที่ไม่ดี  ไม่งาม  ทางกาย  ทางวาจา  และทางจิตใจ เวลาที่จะให้ข้าว ให้ของกับใคร  ควรพิจารณาถึงผลที่จะตามมา   ว่าจะนำมาในสิ่งที่ดี หรือสิ่งที่ไม่ดี  ให้หนังสือธรรมะแล้วมีแต่ดี  จะทำให้คนไม่เสพสุรายาเมา จะทำให้คนไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน  

 ประการสุดท้าย การให้ของนั้น ต้องดูบุคคลที่เราให้ ว่าเป็นคนชนิดไหน โดยปกติแล้ว ควรทำบุญกับคนดี  ให้กับคนดี  เพราะคนดีนั้น  สร้างความดี สร้างประโยชน์ให้กับตัวเขาเอง ให้กับผู้อื่น ให้กับสังคม อย่าไปช่วยเหลือคนที่ไม่ดี  เพราะคนที่ไม่ดีนั้น  มักจะไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  ให้กับสังคม  เช่นถ้าเราไปช่วยเหลือพวกโจร พวกขโมย  พวกชอบกินเหล้าเมายา เสพสิ่งเสพติดทั้งหลาย ก็จะมีแต่ไปสร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้กับสังคม  แต่ถ้าช่วยคนดี  อย่างเช่นเวลามาวัด มาทำบุญกับพระสงฆ์องค์เจ้า พระสงฆ์ท่านตั้งอยู่ในศีล ในธรรม ท่านไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อน ให้กับผู้หนึ่งผู้ใด ท่านมีแต่ทำประโยชน์ เพราะท่านศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรม เมื่อท่านรู้ ท่านเข้าใจธรรมะแล้ว  ท่านก็เอามาอบรม เอามาสั่งสอน  เผยแผ่ให้กับพวกเรา  ทำให้พวกเรารู้จัก ผิด ถูก ดี ชั่ว   เมื่อพวกเรารู้จักสิ่ง ผิด ถูก ดี ชั่ว แล้ว พวกเราก็จะทำแต่สิ่งที่ดี ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย เมื่อทุกคนทำแต่สิ่งที่ดี  ไม่ทำความชั่ว  สังคมก็จะมีแต่ความสงบสุข

 ทุกวันนี้ สังคมของเรานั้น  มีความวุ่นวาย เพราะเหตุไร ก็เพราะว่า คนเราชอบทำความชั่ว มากกว่าชอบทำความดี  เราคงได้อ่านตามหน้าหนังสือพิมพ์เสมอ เรื่องฆ่ารันฟันแทง เรื่องข่มขื่น เรื่องการลักทรัพย์ เรื่องปล้น เรื่องจี้ เรื่องคด เรื่องโกง เรื่องเหล่านี้นั้น มันเกิดขึ้นได้ เพราะจิตใจของคนเหล่านั้น ไม่มีธรรมะนั่นเอง ไม่มีศีล ไม่มีธรรม ไม่มีคนบอก ไม่มีใครมาสั่งสอน หรือเมื่อมีคนบอก คนสั่งสอนแล้ว กลับเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว คิดว่าทำอะไรก็ได้ ขอให้ได้ดั่งใจ เมื่อได้ดั่งใจ ตัวเองจะมีความสุข  คนอื่นจะทุกข์ จะยากลำบากอย่างไร ก็ไม่สนใจ  แต่หารู้ไม่ว่าเมื่อทำไปแล้ว  ตัวเองนั้นแหละ  จะต้องเป็นผู้ที่รับผลกรรม รับทุกข์ต่อไป   ถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมือง  จับเข้าคุก เข้าตะราง เอาไปประหารชีวิตในที่สุด เรื่องเหล่านี้ มีเกิดขึ้นในสังคมเรา  เพราะฉะนั้นเวลาเราจะทำบุญ ควรทำกับคนดี อย่างพระสงฆ์องค์เจ้า เพราะท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ท่านมีธรรมะมาสอนเรา  ทำให้พวกเราอยู่ในสังคม     ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข

                

 โดยหลักแล้วบุคคลต่างๆนั้น มีความสำคัญ มีประโยชน์มากน้อยแตกต่างกันไป  ยกตัวอย่างเช่นเวลาให้ทานกับพวกเดรัจฉาน ให้ข้าวสุนัข  สมมุติว่าจะได้บุญสิบบาท ถ้าทำกับมนุษย์ ก็จะได้ร้อยบาท  ถ้าทำกับพระอริยบุคคล เช่นพระโสดาบัน ก็จะได้พันบาท  กับพระสกิทาคามี  ก็จะได้หมื่นบาท  กับพระอนาคามี ก็จะได้  แสนบาท ทำกับพระอรหันต์  ก็จะได้ล้านบาท ทำกับพระปัจเจกพุทธเจ้า  ก็จะได้เป็นสิบล้านบาท  และถ้าทำกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะได้เป็น หมื่นล้าน แสนล้านบาทขึ้นไป ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ความสามารถของแต่ละบุคคลนั้นไม่เท่าเทียมกัน  อย่างพระพุทธเจ้าของเรานี้    ท่านทำคุณประโยชน์   ให้กับโลกเราอย่างมากมาย  ถึงแม้พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานถึงสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้วก็ตาม พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ก็ยังมีคุณ  มีประโยชน์กับสัตว์โลกอย่างนับไม่ถ้วน ไม่ใช่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น  เดี๋ยวนี้เกือบทุกประเทศทั่วโลก มีพระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปถึงหมดแล้ว ไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็จะพบผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เพราะเขาเหล่านั้นเห็นคุณ เห็นประโยชน์ในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้นเอง

       

 การทำบุญจึงควรเลือกดูบุคคลด้วย ว่าควรทำกับบุคคลใดบ้าง เช่นการทำบุญกับพระเป็นต้น  แต่ถ้าไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าวัด เข้าวา ท่านก็สอนให้ทำกับพระที่บ้าน  พระที่บ้านก็มีอยู่ ๒ รูปด้วยกัน คือพ่อและแม่ของเรา   พ่อแม่ของเรานั้น  ท่านแสดงไว้ว่าเป็นพระพรหมของบุตรธิดา  เป็นพระอรหันต์ของลูกๆ  ไม่ควรมองข้ามบิดามารดาไป   เวลาอยู่บ้าน คอยช่วยเหลือพ่อแม่  เห็นพ่อแม่ทำอะไรก็ช่วยเหลือท่าน  ล้างถ้วย  ล้างจาน  กวาดถูบ้าน  ซักเสื้อผ้า  อย่าให้พ่อแม่ทำให้เรา ถ้าทำแทนท่านได้  ก็ควรทำแทนท่าน หากท่านเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย หรือชราภาพ ไม่สามารถดูแลตัวท่านเองได้   เราก็ควรดูแลท่าน  หาข้าวปลาอาหาร  หา

 หยูก หายา มารักษา ดูแลท่านอย่างดี ให้เหมือนกับที่ท่านได้เลี้ยงดูเรามาอย่างดี อันนี้ถือว่าเป็นการทำบุญที่ถูกต้อง  เป็นการเลือกบุคคลที่ถูกต้อง  เวลาที่จะไปทำบุญข้างนอก  ไปทำบุญกับพระข้างนอก  ก็ควรจะทำบุญกับพระในบ้านเสียก่อน อย่ามองข้ามพระในบ้านเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นคนทรพี เป็นคนไม่มีความกตัญญูกตเวที  จะหาความเจริญไม่ได้ หาความสุขไม่ได้

 เวลาทำบุญ จึงควรพิจารณาเหตุปัจจัยทั้ง ๓ ประการนี้ คือ ให้ดูใจเรา  ว่ามีเจตนาที่บริสุทธิ์หรือเปล่า ให้ดูของที่ให้ไป ว่าเป็นของที่หามาได้ด้วยความสุจริตหรือเปล่า เป็นสิ่งที่มีคุณ มีประโยชน์หรือเปล่า  และให้ดูบุคคลที่ทำบุญด้วย  ว่าเป็นคนดีหรือคนไม่ดี ถ้าสามารถเลือกเหตุปัจจัยทั้ง ๓ ประการนี้ได้ดีแล้ว  บุญที่ทำจะเป็นบุญที่มีอานิสงส์มากมายอย่างยิ่ง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้