กัณฑ์ที่ ๑๐     ๑ ตุลาคม ๒๕๔๓

อิทธิบาท ๔

 

คงเป็นที่ทราบกันดีว่า ในระยะนี้มีการแข่งขันกีฬาระดับโลก ระดับนานาชาติ มีนักกีฬาจากประเทศต่างๆทั่วโลก ได้มารวมกันแข่งขันกีฬา   เพื่อพิสูจน์ความสามารถของแต่ละคน ในกีฬาชนิดต่างๆ  การแข่งขันกีฬานี้ เราเรียกว่ากีฬาโอลิมปิค เป็นมหกรรมกีฬาที่พิสูจน์ความยอดเยี่ยมของนักกีฬาแต่ละประเภท ที่จะต้องเข้าไปแข่งขันกัน ดูว่าผู้ใดจะสามารถคว้าชัยชนะ ได้เหรียญทอง เป็นคนที่มีความสามารถเลิศที่สุด ในกีฬานั้นๆ

ในการที่จะประสบความสำเร็จได้เหรียญทองขึ้นมานั้น ต้องอาศัยเหตุและปัจจัย  คือไม่ได้เกิดจากความปรารถนา  ความอยากที่จะได้เหรียญทองแต่เพียงอย่างเดียว  ยังต้องอาศัยเหตุปัจจัยอย่างอื่นด้วย  คือความพร้อมของร่างกายและจิตใจ ร่างกายต้องมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง  ไม่พิกลพิการ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย มีการรับประทานอาหารอย่างครบถ้วน  มีกำลังวังชาที่สมบูรณ์ แข็งแรง   จึงจะสามารถพาร่างกายอันนี้   ไปแข่งขันในกีฬาประเภทต่างๆได้  อันนี้เป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง เรียกว่า ทางด้านร่างกาย

เหตุปัจจัยที่สำคัญมากเท่าๆกัน  ก็คือทางด้านจิตใจ   จิตใจที่จะสามารถทำอะไร  หรือสามารถบรรลุผล ให้ประสบกับความสำเร็จ  เป็นที่หนึ่งได้นั้น  ต้องมีคุณธรรมอยู่ ๔ ประการด้วยกัน เรียกว่า อิทธิบาท ๔   ประกอบด้วย  . ฉันทะ คือ ความชอบใจ  ความรัก  ความพอใจในงาน   ในสิ่งที่เราจะกระทำ  . วิริยะ  คือความขยันหมั่นเพียร   ความอุตสาหะพยามยาม   กระทำงานของเราให้สมบูรณ์   . จิตตะ  แปลว่า  ความจดจ่อ ใส่ใจ หรือความตั่งมั่นของจิตใจ คือการมีสมาธิในการทำงานนั้นๆ หรือทำสิ่งนั้นๆ ด้วยความจดจ่อ เอาใจใส่ และ ๔. วิมังสา คือ ความใคร่ครวญ การใช้เหตุผล ใช้สติ ใช้ปัญญา

ถ้ามีคุณธรรมทั้ง ๔  ประการนี้แล้ว   ไม่ว่าจะทำอะไร กิจอันใดก็ตาม  จะเป็นทางโลกก็ดี  เช่น  การแข่งขันกีฬา หรือว่าการประกอบอาชีพ  ทำมาหากิน  ทำมาค้าขาย  หรือการเรียนหนังสือ   อยากจะเรียนให้จบ  ก็ต้องอาศัยคุณธรรมเหล่านี้ หรือในทางธรรม  จะประพฤติปฏิบัติตน  เพื่อให้บรรลุถึง มรรค  ผล  นิพพาน ได้นั้น   ก็ต้องอาศัยอิทธิบาท ๔ นี้  คือต้องมี ฉันทะ คือ มีความรัก ความชอบ ในสิ่งที่เราปรารถนา   วิริยะ  มีความขยันเหมั่นเพียร ที่จะทำหน้าที่การงานของเรา   ให้บรรลุล่วงไปได้    จิตตะ มีความตั้งมั่น อยู่ในการงานของเรา ไม่ปล่อยให้จิตใจของเราลอยไปลอยมา   คิดจะทำแต่เรื่องโน้น เรื่องนี้ งานหลักที่ควรลงมือทำ  กลับไม่ทำ ถ้าไม่ทำแล้ว ก็จะไม่สามารถบรรลุถึงผลที่ปรารถนาได้   และวิมังสา คือ ความเฉลียวฉลาด  รู้ว่าสิ่งต่างๆที่กำลังทำอยู่นั้น  ถูกหรือผิดอย่างไร ถ้ามีคุณธรรมทั้ง ๔  ประการนี้แล้ว  ไม่ว่าจะทำอะไร  ย่อมจะประสบความสำเร็จ  เพราะ อิทธิ แปลว่าความยิ่งใหญ่  บาท แปลว่าทางเดิน   อิทธิบาท  จึงแปลว่าทางเดินที่จะนำไปสู่ความยิ่งใหญ่นั่นเอง  ถ้าเราปรารถนา จะประสบความสำเร็จในชีวิต  ไม่ว่าจะเป็นการงานก็ดี   การศึกษาก็ดี  หรือกิจการงานใดๆก็ตาม  เราต้องใช้ อิทธิบาท ๔ 

สิ่งแรก  เราต้องถามตัวเองเสียก่อน  ว่าเราชอบอะไร  เรารักอะไร   เพราะว่าการที่เราจะไปทำอะไร  ถ้าทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ  เราไม่รักแล้ว   บางทีมันจะทำให้เราไม่มีความยินดี   ไม่มีความพออกพอใจ   มันก็จะทำให้เราไม่มีความขยันหมั่นเพียร  ที่จะประกอบภารกิจ   การงานนั้นๆ  ดังนั้น   ให้เราถามตัวเองเสียก่อน ว่าเราชอบอะไร   บางคนชอบเล่นกีฬา   บางคนอยากเป็นหมอ  บางคนชอบเป็นพยาบาล   บางคนชอบเป็นดารา   นักร้อง   นักแสดง  หรือบางคนชอบเป็นนักเรียน   อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องถามตัวเองดูเสียก่อน ให้เรามีความมั่นใจ ถ้าเรารู้แล้วว่า  เราชอบอะไร เราจะมีความขยันหมั่นเพียร  มันจะง่าย  ถ้าเราไปเลือกทำในสิ่งที่เราไม่ชอบแล้ว   มันจะฝืนตัวเอง   เมื่อฝืนตัวเองแล้ว   จะไปทำมันก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

บางครั้ง พ่อแม่มีลูก อยากให้ลูกเป็นหมอ เป็นทนายความ  เป็นครู   แต่บางทีลูกกลับไม่ชอบเป็นครู ไม่ชอบเป็นหมอ หรือไม่ชอบเป็นทนายความ   พ่อแม่ก็ไม่ควรไปบังคับลูก  เพราะว่าถ้าไปบังคับลูกแล้ว  ลูกไม่สามารถจะทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบได้  เพราะไปฝืนใจเขา  ทำไปแล้วก็ไม่เกิดผลดีอะไร ควรเปิดโอกาส ให้ลูกเลือกทำในสิ่งที่เขาชอบ  เพราะว่าสิ่งที่เขาชอบ  ทำไปแล้ว   มันง่าย   มันสนุก  แล้วเขาจะมีความพากเพียร มีความขยัน  มีความตั้งอก ตั้งใจ  และจะพยายามทำในสิ่งนั้นๆ จนประสบความสำเร็จขึ้นมาได้

ยกเว้นสิ่งที่เขาชอบนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูก ไม่ควร  เช่น เขาชอบอาชีพการทำงาน เปิดบาร์  เปิดผับ  เปิดโรงเหล้า  โรงยา   อย่างนี้เป็นต้น   ถือว่าเป็นอาชีพที่ไม่เหมาะสม เป็นอบายมุข ไม่ควรกระทำ  เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องห้ามลูก ไม่ควรส่งเสริม  เพราะทำไปแล้ว จะมีแต่ความเสื่อมเสียตามมา  มีแต่ความวุ่นวาย  มีแต่เรื่องราวต่างๆ  อันนี้ พ่อแม่ต้องบอกเขา สอนเขา ให้เขาเปลี่ยนใจ ให้เขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง  ทำอาชีพที่สุจริต  เป็น สัมมาอาชีวะ พ่อแม่ควรส่งเสริมลูกให้ไปในทิศทางนี้ นี่คือเรื่องของฉันทะ ความชอบใจ ความพอใจ ถ้าคนเรานั้น ได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบแล้ว เวลาจะทำอะไรก็ง่าย  ความขยันหมั่นเพียรก็จะตามมา เป็นเหตุที่จะทำให้ประสบกับความสำเร็จในที่สุด

เหตุปัจจัยที่     ก็คือ  วิริยะ  ความขยันหมั่นเพียร  ถ้าเราชอบอะไรแล้ว ไม่ต้องมีคนบอก ไม่ต้องมีคนใช้ ถึงเวลาเราก็จะทำเองเลย เพราะเราชอบ จิตใจจะอยู่กับสิ่งนั้นๆ  การกระทำจะเป็นไปได้อย่างดี ผลต่างๆที่ ปรารถนาก็จะตามมา เช่น ถ้าอยากจะได้ปริญญาตรี โท เอก  ก็ต้องชอบเรียนหนังสือ ถ้าชอบแล้ว ก็จะขยันเรียนหนังสือ ขยันเข้าห้องเรียน  ขยันฟังอาจารย์  ขยันดูหนังสือ ขยันทำการบ้าน  อย่างนี้เป็นต้น   ถ้าเราขยันแล้ว ผลที่ปรารถนาก็จะต้องตามมาอย่างแน่นอน เพราะว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น นั่นเอง  ตรงข้ามกับคนที่มีแต่ความเกียจคร้าน ถึงแม้จะไปโรงเรียน ก็ไม่ชอบเรียน เวลาเรียนก็ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ตั้งใจฟัง การบ้านก็ไม่ทำ หนังสือก็ไม่อ่าน อย่างนี้ยากที่จะเรียนจบได้ หรือเรียนได้ก็ไม่ดี เพราะขาดวิริยะ ความขยันหมั่นเพียร นั่นเอง   ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ว่าจะทำธุรกิจการงานอะไรก็ตาม ทางโลกหรือทางธรรม เราต้องมีวิริยะ  ความขยันหมั่นเพียร

เหตุปัจจัยที่    คือ จิตตะ  แปลว่าความใส่ใจ ความจดจ่อ   ทำใจให้อยู่กับหน้าที่การงาน ไม่เถลไถลนั่นเอง ทำแต่หน้าที่ของเราอย่างเดียว  เวลาทำงาน ก็ต้องทำอย่างเต็มที่  ไม่เถลไถลไปนั่งอ่านหนังสือพิมพ์บ้าง  นั่งกินกาแฟบ้าง คุยกับคนโน้น คุยกับคนนี้  ผลงานก็ไม่มี  ต่อไปบริษัทก็เจ๊ง ก็ต้องตกงาน ต้องออกจากงาน ถ้าเป็นเจ้าของบริษัทก็ต้องลำบาก  ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีจิตตะ  ความใส่ใจ  มีความจดจ่อ   มีสมาธิ ความแน่วแน่กับการทำงาน จะไม่เกียจคร้าน ไม่หนีเที่ยว ไม่เถลไถลไปไหน   ผลงานก็จะเกิดขึ้น มีรายได้ มีความเจริญรุ่งเรือง ประสบกับความสำเร็จในชีวิต  

เหตุปัจจัยที่ ๔ คือ วิมังสา การใคร่ครวญ การใช้สติปัญญา รู้จักคิด   รู้จักอ่าน  ว่าสิ่งที่ทำไปนั้น ถูกหรือผิดอย่างไร  ถ้าสิ่งที่ทำไปได้ผลดี ก็ควรจะทำให้มากขึ้น  ถ้าสิ่งไหนผิด ก็ควรจะแก้ไข อย่างเช่น  การค้าขาย บางทีอาจจะขายไม่ได้ ก็ต้องถามตัวเองก่อนว่า ทำไมของถึงขายไม่ออก   เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะของไม่ดี ไม่มีคุณภาพหรือเปล่า   ถ้าเป็นเช่นนั้น  ก็ควรพัฒนาคุณภาพ พัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น หรือถ้าสินค้าดี มีคุณภาพ   แต่ไม่มีใครซื้อ ก็ต้องเปลี่ยนสินค้าใหม่ เรียกว่าใช้วิมังสา ใช้สติ ใช้ปัญญา ใช้ความฉลาดนั่นเอง คือ ต้องรู้จักคิด  ไม่ใช่ทำแบบ หลับหูหลับตา  ไม่รู้ว่า อะไรผิด อะไรถูก  ไม่ใช้สติ  ไม่ใช้ปัญญา   ผลที่จะเกิดตามมา  จะไม่ดีอย่างที่อยากจะให้เป็น แต่ถ้าใช้สติปัญญา รู้จักเลือก รู้ว่า   สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ  มันก็จะนำไปสู่ผล คือความสำเร็จนั่นเอง

ถ้าพวกเราทุกคน  ปรารถนาที่จะประสบกับความสำเร็จในชีวิต  ไม่ว่าจะเป็นในหน้าที่การงาน การเรียน การกีฬา การกระทำอะไรต่างๆ ขอให้ใช้คุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้คือ  ฉันทะ วิริยะ  จิตตะ วิมังสา  คือหนึ่งต้องมีความรัก ความชอบใจ  ในสิ่งที่ทำ  สอง ต้องมีความขยัน  สาม  ต้องมีความจดจ่อ มีความใส่ใจ  จิตใจต้องมีสมาธิ  ไม่เถลไถลไปทำอย่างอื่น  และสี่  ต้องมีความฉลาด   ถ้าไม่รู้   ก็ต้องไปศึกษาจากผู้รู้ หรือหาหนังสือมาอ่าน หรือจ้างผู้ที่มีความรู้ มาเป็นที่ปรึกษา อย่างนี้เป็นต้น   แล้วเราก็จะมีความรู้ มีสติปัญญา สามารถที่จะดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางที่เราปรารถนาได้ ไปสู่ความสำเร็จ  ไปสู่ความยิ่งใหญ่ได้

ขอฝากคุณธรรมทั้ง ๔  ประการนี้   ให้กับญาติโยมนำไปพินิจพิจารณา ถ้าปรารถนาความสำเร็จในชีวิต ก็ขอให้มี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หรือ อิทธิบาท ๔  แล้วความสำเร็จจะเป็นของทุกท่านอย่างแน่นอน การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้