กัณฑ์ที่ ๑๐๐      กุมภาพันธ์  ๒๕๔๕

สมุทัยสัจ

ในพระอริยสัจข้อที่ ๒ คือ สมุทัยสัจ ต้นเหตุของความทุกข์  พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่า สมุทัยต้นเหตุของความทุกข์ได้แก่ตัณหา ๓ คือ ๑. กามตัณหาวามอยากในกาม  . ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น   . วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น   ตัณหาทั้ง ๓ นี้เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ ใครก็ตาม ใจดวงใดก็ตาม ถ้ามีตัณหาทั้ง ๓ นี้อยู่ภายในใจแล้ว ย่อมหนีความทุกข์ไปไม่พ้น  จะต้องมีความทุกข์อยู่เสมอ ทุกครั้งที่เกิดตัณหาความอยาก ความทุกข์ก็จะตามมา  เปรียบเหมือนกับการเปิดสวิทซ์ไฟ   เวลาเราเปิดสวิทซ์ไฟ ไฟก็จะเปิดขึ้นมา  ถ้าเราดับ สวิทซ์ไฟ ไฟก็จะดับ ฉันใดความทุกข์จะดับได้ก็ต้องละตัณหาคือความอยาก  ตัณหาถ้ามีมากภายในใจความทุกข์ก็จะมีมาก  ถ้ามีตัณหาน้อยความทุกข์ก็จะมีน้อย  ถ้าไม่มีตัณหาเลยความทุกข์ก็จะไม่มีเลย 

นี่เป็นอริยสัจ เป็นความจริงที่ประเสริฐ  เป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้วนำมาสั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลาย  เนื่องจากทรงเห็นว่าสัตว์โลกนั้นยังหลงอยู่กับตัณหาทั้ง ๓ นี้อยู่  ยังไม่เคยเห็นโทษของตัณหาทั้ง ๓ นี้ ว่าเป็นต้นเหตุของความทุกข์  เป็นเหมือนกับไฟที่เผาผลาญใจของสัตว์โลกทั้งหลายไม่ให้มีความสุข ความสงบได้เลย  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าที่ทรงมีความสงสารต่อสัตว์โลกทั้งหลาย  มีความปรารถนาที่จะให้สัตว์โลกทั้งหลายหลุดพ้นจากความทุกข์ ซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยากเย็นลำบากเหลือวิสัยของสัตว์โลกทั้งหลายที่จะปฏิบัติกันได้  พระพุทธองค์จึงได้สละเวลาตลอด ๔๕ พรรษา  ชีวิตที่เหลืออยู่หลังจากการตรัสรู้ของพระองค์แล้ว มาสั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลายให้เข้าใจ ให้เข้าถึงพระอริยสัจนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอริยสัจข้อที่ ๒  คือสมุทัยสัจที่แสดงไว้ว่า  ความทุกข์เกิดขึ้นจากตัณหา คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา 

ผู้ที่ปรารถนาความสิ้นทุกข์จำต้องละตัณหา  ตัณหาเป็นสิ่งที่ละได้  เครื่องมือที่จะใช้ละก็คือมรรคสัจ เป็นอริยสัจองค์ที่ ๔   ถ้ามีมรรคสัจแล้ว  มรรคสัจก็จะไปชำระตัณหาทั้ง ๓ ให้สลายออกไปจากจิตจากใจ   เมื่อตัณหาทั้ง ๓ ถูกสลายด้วยมรรคสัจแล้ว  นิโรธคือความดับทุกข์ซึ่งเป็นสัจจะข้อที่ ๓ คือนิโรธสัจก็จะปรากฏขึ้นมาในจิตในใจของบุคคลนั้นๆ ที่ได้เจริญมรรคโดยสมบูรณ์แล้ว อย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  ที่ได้ทรงเจริญมรรคสัจถึงพร้อมบริบูรณ์แล้ว  จึงมีอำนาจที่จะละสมุทัยสัจ ต้นเหตุของความทุกข์ได้   เมื่อต้นเหตุของความทุกข์ถูกทำลายไปหมดแล้ว  นิโรธคือความดับทุกข์ก็ปรากฏขึ้นมาในใจของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  

ความทุกข์นี้เปรียบเหมือนกับไฟที่เราจุดไว้ในเตา  เวลาจุดไฟเราต้องมีเชื้อไฟ คือต้องมีฟืน  ถ้าในสมัยปัจจุบันนี้เราใช้เตาแก๊ส เราก็ต้องมีแก๊สเป็นเชื้อไฟ   เวลาจุดไฟไฟก็จะเผาไหม้แก๊สหรือฟืนไปเรื่อยๆ  ถ้าต้องการให้ไฟดับเราก็ต้องเอาฟืนออกจากกองไฟหรือปิดแก๊ส ไฟก็จะดับได้ ฉันใดความทุกข์ใจที่เกิดกับพวกเราทุกๆคน ก็เกิดจากตัณหาทั้ง ๓ นี้  ความทุกข์เหล่านี้จะไม่หมดไปจากจิตจากใจของพวกเรา ถ้าเราไม่ละตัณหาทั้ง ๓ นี้ให้ออกไปจากจิตจากใจ  คนที่ฉลาด ที่ปรารถนาความสุข ความไม่มีทุกข์  จึงต้องคำนึงถึงหลักเหตุผล หลักของพระอริยสัจทั้ง ๔ นี้  ว่าทุกข์นั้นเกิดจากสมุทัย  ความดับทุกข์นั้นเกิดจากมรรค  ถ้าเจริญมรรคให้มาก  นิโรธการดับทุกข์ก็จะดับได้มาก  ถ้าเจริญได้เต็มที่  นิโรธการดับทุกข์ก็จะดับได้อย่างเต็มที่ 

การเจริญมรรคจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน  เพื่อจะได้นำมรรคมาละตัณหาทั้ง ๓   กามตัณหาคืออะไร  กามตัณหาก็คือความยินดี ความอยากในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ของชายและหญิง ที่เป็นสิ่งยั่วยวนกวนใจทำให้เกิดมีความอยาก ที่จะเข้าใกล้ชิด  ผู้หญิงก็อยากจะเข้าใกล้ชิดผู้ชาย   ผู้ชายก็อยากจะเข้าใกล้ชิดผู้หญิง  วิธีที่จะต่อสู้กับกามตัณหา  จึงต้องใชอินทรียสังวร  การสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้อยู่ห่างจาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่จะกระตุ้นกามารมณ์ให้เกิดขึ้น  ให้ถอยห่างจาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านั้น ถ้าสามารถปลีกตัวเข้าวัดที่มีการปฏิบัติธรรม มีความสงบได้ก็ดี  หรือปลีกตัวไปตามป่าตามเขาได้ก็ยิ่งดีใหญ่   เพราะสถานที่เหล่านั้นเป็นสถานที่ๆ ห่างไกลจาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่จะทำให้เกิดกามารมณ์ขึ้นมา 

เมื่อได้อยู่ห่างไกลจากกามคุณ ๕ แล้ว ขั้นต่อไปเราต้องเจริญสมถภาวนาทำจิตให้สงบ เวลาอยู่ห่างไกลจากกามารมณ์แล้ว  การทำจิตให้สงบจะเป็นไปได้ง่าย  พยายามเจริญสติให้รู้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องผูกใจ เช่น พุทธานุสติ การบริกรรม พุทโธๆๆ อยู่ในใจไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา โดยไม่ให้ใจไปคิดเรื่องราวต่างๆ  ให้มีความรู้อยู่กับคำว่า พุทโธๆๆ อย่างเดียว  หรืออานาปานสติ การกำหนดดูลมหายใจเข้าออก มีสติรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็จะเป็นอารมณ์ที่สามารถผูกใจไว้ได้ ดึงใจให้เข้าสู่ความสงบได้  ข้อสำคัญขณะที่เจริญพุทธานุสติก็ดี หรืออานาปานสติก็ดี ต้องมีสติจริงๆ จะต้องมีความรู้อยู่กับคำว่า พุทโธๆๆ หรือลมหายใจเข้าออกเท่านั้น  ไม่ให้ใจลอยไปสู่อารมณ์อื่น  ไม่ให้ใจไปคิดถึงเรื่องอื่น เรื่องที่เกิดขึ้นมาในอดีตก็ดี  เรื่องที่จะเกิดในอนาคตก็ดี หรือเรื่องที่เกิดในปัจจุบันก็ดี  อย่างในขณะนี้ท่านกำลังฟังเทศน์อยู่ ก็ให้มีสติอยู่กับการฟังเทศน์  ถึงแม้จะมีเสียงอื่นเข้ามารบกวนบ้าง  เช่นเสียงสุนัขเห่า  ถ้าเราไม่ไปสนใจ เสียงสุนัขเห่าก็ไม่สามารถเข้ามาทำลายสมาธิเราได้  แต่ถ้าเราไม่มีสติใจก็จะคิดเรื่องสุนัขเห่า มีการคิดปรุงขึ้นมาว่าทำไมสุนัขตัวนี้จึงต้องมาเห่าตอนนี้ด้วย ทำไมไม่มีใครไปห้าม  ถ้าคิดอย่างนี้ก็แสดงว่าเราเผลอสติแล้ว  สติไม่ได้อยู่กับงานที่เรากำหนดให้ทำอยู่  ถ้ามีสติใจจะอยู่กับการฟังธรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน ไม่เถลไถลไปสู่เรื่องอื่น

ถ้าอยู่ตามลำพัง  เราก็กำหนดให้รู้อยู่กับการบริกรรมพุทโธๆๆ หรือรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้  ให้รู้อยู่เพียงเท่านี้ก็พอ  ถ้าทำได้อย่างต่อเนื่องแล้ว  จิตจะค่อยๆรวมตัวลงเข้าสู่ความสงบ    เมื่อจิตรวมตัวลงเข้าสู่ความสงบแล้ว  จิตจะมีความอิ่ม มีความสุข มีปิติ  เป็นจิตที่ตั้งมั่น  ในขณะนั้นจิตจะไม่ลอยไปไหนมาไหน  ไม่ต้องมีสติ ไม่ต้องมีพุทโธๆๆ ไม่ต้องมีลมหายใจไปควบคุมจิตในขณะนั้น  ในขณะที่จิตรวมลงอยู่นั้น จิตจะนิ่งอยู่กับที่ เรียกว่าจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ  ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ เป็นสมถะ เป็นความสงบ  นี่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ปฏิบัติมรรคสัจ เมื่อได้ความสงบแล้ว หลังจากที่จิตถอนออกจากความสงบ  จิตจะเริ่มคิดปรุง  ท่านก็สอนให้นำจิตคิดปรุงไปในสัจธรรมความจริงทั้งหลาย เช่นพิจารณาดูร่างกายของคนเรา ไม่ว่าชายหรือหญิง ว่าเป็นร่างกายที่สวยงามอย่างที่กิเลสตัณหาปรุงแต่งไปหรือไม่ หรือเป็นอย่างอื่น   ให้พิจารณาดูอาการ ๓๒ ของร่างกาย  เพราะว่าคนเราไม่ใช่มีแต่เพียง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ภายนอก เป็นส่วนที่เราเห็นกัน  แต่ร่างกายนี้ยังมีอีก ๒๗ อาการด้วยกัน ที่อยู่ภายใน  อยู่ใต้ผิวหนังลงไป เช่น  เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ  ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร เป็นส่วนประกอบของร่างกายของคนเรา ไม่ว่าหญิงหรือชาย  ถ้าพิจารณาดูเข้าไปแล้ว จะเห็นว่าความสวยงามของร่างกายอยู่ที่ผิวหนังเท่านั้นเอง 

ความจริงแล้วร่างกายมีทั้งส่วนที่สวยงามและส่วนที่ไม่สวยงาม  ถ้ามองแต่ส่วนที่สวยงามอย่างเดียว ก็จะทำให้เกิดกามารมณ์เกิดขึ้นมา  ถ้าต้องการที่จะดับกามารมณ์ จึงต้องดูส่วนที่ไม่สวยงามด้วย คือส่วนที่อยู่ภายในอยู่ใต้ผิวหนังลงไป  เราจึงต้องพิจารณาดูอาการ ๓๒ ของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ  ฝึกให้เป็นนิสัย  เดินไปไหนมาไหน ทำอะไรอยู่ หรือว่างอยู่ไม่รู้จะทำอะไร ก็ให้พิจารณาดูร่างกายของเรา  ดูความเป็นของไม่สวยไม่งามของร่างกายบ้าง  ดูความเป็นปฏิกูลของร่างกายบ้าง  ร่างกายมีการขับถ่ายสิ่งของต่างๆ ออกจากทวารต่างๆด้วยกันทุกๆคน  สิ่งที่ขับถ่ายออกมา เป็นปฏิกูลของสกปรก  ร่างกายนี้จึงเป็นของสวยงามได้อย่างไร เป็นของสะอาดได้อย่างไร ในเมื่อมีสิ่งปฏิกูลถูกถ่ายออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา  นอกจากความสกปรกแล้ว  ขณะที่เป็นอยู่เรายังเห็นว่าไม่สวยไม่งาม เวลาตายไปแล้วจะเป็นอย่างไร  ขณะที่แก่เฒ่าลงไปจะเป็นอย่างไร  หนังที่เคยเต่งตึงก็จะเหี่ยวย่น  ผมที่เคยดำก็จะกลายเป็นสีขาว  และเมื่อตายไปร่างกายก็จะต้องขึ้นอืด เน่าเฟะ และในที่สุดก็จะย่อยสลายกลับคืนสู่ ธาตุ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ  

นี่คือสัจธรรมความจริงของร่างกายนี้  เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เจริญให้มาก  เป็นมรรคสัจ เป็นความจริง เป็นปัญญานั่นเอง  ถ้ามองตามความจริงแล้ว จะเห็นว่าร่างกายนี้ไม่เป็นสิ่งที่น่ายินดี น่ากำหนัด น่ามีตัณหาความอยาก น่ามีกามารมณ์กับร่างกายนี้เลย  แต่เพราะขาดความฉลาด  ขาดโยนิโสมนสิการ คือการไตร่ตรอง ใคร่ครวญ โดยรอบคอบ กับสิ่งที่เราไปยึดไปติด ว่าสวยว่างามว่าเป็นอย่างไรอย่างแท้จริง  ถ้าได้เจริญตามแนวที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้แล้ว จะเห็นได้ว่าร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่สวยไม่งามเลย  เป็นปฏิกูลของสกปรก  เป็นอสุภ เป็นของไม่สวยไม่งาม  ถ้าเห็นตามความเป็นจริงแล้ว  จะไม่มีความอยาก  มีกามารมณ์เลย ทุกครั้งที่มองเห็นบุคคล ไม่ว่าชายหรือหญิง จะไม่เห็นแต่อาการ ๕ อย่างที่อยู่ภายนอกคือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เท่านั้น แต่จะมองเห็นทั้ง ๓๒ อาการ   จะมองเห็นสภาพที่จะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายของร่างกายนี้  เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ความอยาก ความยินดีในร่างกายก็จะหมดไป  เพราะไม่มีใครอยากจะยินดีกับสิ่งที่ไม่สวยไม่งาม สิ่งสกปรก สิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว  ถ้าเจริญได้อย่างต่อเนื่องแล้ว กามตัณหาที่มีอยู่ภายในใจก็จะค่อยๆหมดไป นี่เป็นวิธีละกามตัณหา

ส่วนภวตัณหาและวิภวตัณหานั้นเป็นอย่างไร ภวตัณหา คือความอยากมีอยากเป็น  อยากมีอยากเป็นอะไร  ก็อยากมี ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข นั่นเอง คนเราทุกคนเกิดมาก็อยากจะร่ำรวย อยากมีเงินมีทอง อยากจะมียศถาบรรดาศักดิ์ อยากจะมีตำแหน่งสูงๆ  ทำงานก็อยากจะเป็นเจ้านายคนอื่น ไม่มีใครอยากจะเป็นคนใช้  ไม่มีใครอยากจะให้คนอื่นมาสั่งเราให้ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้  เราอยากจะเป็นใหญ่เป็นโตด้วยกันทั้งนั้น    สรรเสริญก็คือการอยากให้คนยกย่องเรา  กามสุขก็อย่างที่เมื่อสักครู่ได้แสดงไว้แล้ว  เราก็ยังอยากมีความสุขทางกามอยู่  แต่เราไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นอย่างไร   พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เห็นว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข เป็นของไม่เที่ยง  เป็นของที่มีการเจริญได้ มีการเสื่อมได้  มีการเจริญลาภ ก็มีการเสื่อมลาภเป็นธรรมดา  มีการเจริญยศ ก็มีการเสื่อมยศเป็นธรรมดา  มีสรรเสริญก็มีนินทาเป็นธรรมดา  มีกามสุขก็มีกามทุกข์เป็นธรรมดา  ด้วยเหตุที่เป็นของไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ควรยินดี มีความอยากกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข 

ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่มีวิภวตัณหาความกลัว ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น คืออยากไม่จน ไม่เสื่อมลาภ ไม่เสื่อมยศ ไม่อยากฟังเสียงนินทา  ไม่อยากเจอความทุกข์ ซึ่งเป็นธรรมชาติของโลกนี้ ที่ใครๆก็ตามที่เกิดมาในโลกนี้ทุกคนจะต้องประสบ จะต้องเจอด้วยกันทุกคน หนีไม่พ้นโลกธรรม ๘ นี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายดี หรือฝ่ายเลวก็ตาม ฝ่ายดีก็คือการเจริญลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข  ฝ่ายเลว ก็คือการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์  โลกธรรมทั้ง ๘ นี้ เป็นปกติ เป็นธรรมดาของโลกนี้  ใครก็ตามที่เกิดมาในโลกนี้จะต้องสัมผัส จะต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้กันทุกคน  เราจึงควรทำความเข้าใจและพร่ำสอนใจเราอยู่เสมอ ให้รู้ว่าลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข เป็นของไม่เที่ยง  อย่าไปยินดี อย่าไปยึด อย่าไปติด  ถ้ามีความจำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ ก็ขอให้ใช้สติ ใช้ปัญญา  เหมือนกับหมองูที่เขามีความจำเป็นจะต้องจับงูพิษมาเพื่อจะรีดพิษเอามาทำยา  เขาก็ต้องมีความระมัดระวังในการจับงูนั้น  เขาต้องรู้จักวิธีจับ  เขาต้องมีเครื่องมือป้องกันไม่ให้งูกัดเขาได้  เขาจึงสามารถรีดเอาพิษออกมาเพื่อเอามาทำประโยชน์ได้

ฉันใดพวกเราที่เกิดมาในโลกนี้พร้อมกับร่างกายนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ก็ยังต้องอาศัยลาภคือยังต้องอาศัยเงินทอง  ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องดูแลรักษาชีวิตร่างกายของเรา  เราก็ต้องมีความระมัดระวัง  ถ้ามีลาภ มีเงิน มีทองขึ้นมา ต้องรู้จักธรรมชาติของเงินทองนี้ว่า  อยู่กับเราวันนี้อาจหมดไปในวันข้างหน้าก็ได้  จึงอย่าหลงติด อย่าเอาเงินทองมาเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง  อาศัยเงินทองเพียงแต่มาดูแลรักษาร่างกายของเราก็พอแล้ว  ความสุขส่วนอื่นๆไม่ควรใช้เงินทองเป็นเครื่องบำรุงบำเรอ  ถ้าเผื่อในวันข้างหน้าเกิดไม่มีเงินทองขึ้นมา เราจะทำอย่างไร  จะมีแต่ความทุกข์  ถ้ามีความทุกข์มากๆ อาจจะไม่สามารถอยู่ต่อไปได้  ทุกๆวันนี้เราได้ยินข่าวเสมอว่า เวลาคนเราเกิดความทุกข์ขึ้นมา เวลาตกอับยากจนขึ้นมา จะไม่สามารถรับกับสภาพนั้นๆได้ ถึงกับต้องฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่โง่เขลาเบาปัญญา  ชีวิตของตนนั้นมีค่าขนาดไหน ไปทำลายมันทำไม  เพราะความหลงที่ไปยึดติดกับความร่ำรวย กับเงินทอง  พอหมดเงินหมดทองไปแล้ว ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ไม่สามารถทนอยู่กับความทุกข์นั้นได้  นี่แหละคือผลที่จะตามมาถ้าไปหลงยึดติดกับโลกธรรม คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข 

สิ่งเหล่านี้มีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย  เช่นกามสุข เราจะเห็นได้ว่าเวลาคนเขาแต่งงานกันใหม่ๆ  จะมีข่าวลงหน้า ๑ เสมอว่า บ่าวสาวคู่นี้มีความสุขมาก   แต่อยู่ไปได้สักพักหนึ่งไม่กี่ปีต่อมา เราก็จะได้ยินข่าวว่าคู่นี้เกิดการหย่าร้างกันแล้ว มีการแตกแยกกันแล้ว หรืออาจถึงกับฆ่ากันตายไปแล้วก็มี  เป็นเรื่องของกามสุขและกามทุกข์ เป็นของคู่กัน  ได้อย่างหนึ่งก็ต้องมีอีกอย่างหนึ่งตามมา  เป็นเหมือนกับเหรียญ  ซึ่งมีอยู่ ๒ ด้านเสมอ  มีหัวและมีก้อย ฉันใดโลกธรรมทั้ง ๘ ก็มีทั้งหัวและก้อย การเจริญ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นด้านหนึ่ง  การเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ก็เป็นอีกด้านหนึ่ง  ถ้าไปหลงติดอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข แล้ว  เมื่อถึงเวลาที่ ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข เสื่อมลงไป  เราก็จะมีแต่ความทุกข์  แต่ถ้าไม่ไปยึดไปติดกับสิ่งเหล่านี้ จะไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมาภายในใจ เมื่อสิ่งเหล่านี้จากเราไป เพราะเราได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว  เปรียบเหมือนกับคนขึ้นเครื่องบินที่มีร่มชูชีพเตรียมไว้แล้ว  ถ้าเครื่องบินเสีย จะตกเราก็ไม่เดือดร้อน  เราก็กระโดดจากเครื่องบิน แล้วใช้ร่มชูชีพประคับประครองให้ลงสู่พื้นดินได้ด้วยความปลอดภัย

ฉันใดการเจริญปัญญา คือมรรคสัจ โดยพิจารณาว่าโลกธรรมทั้ง ๘ นี้  เป็นสิ่งที่ทุกๆคนที่เกิดมาในโลกนี้ต้องสัมผัสกัน  เวลาเจริญก็อย่าไปหลง อย่าไปยินดี อย่าไปติดกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข  เพราะเวลาเสื่อมจะได้ไม่ทุกข์นั่นเอง  ถ้ายินดีก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา  ถ้าไม่ยินดีก็ไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมา นี่คือเรื่องของภวตัณหาและวิภวตัณหา ความอยากมี อยากเป็น และความอยากไม่มี อยากไม่เป็น  ถ้ามีธรรมะแล้วเราจะไม่กลัวความยากจน  จะไม่กลัวกับการที่จะต้องอยู่แบบคนธรรมดาสามัญ  ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์อะไร  จะไม่หวั่นไหวกับเสียงนินทากาเลทั้งหลาย  จะไม่เดือดร้อนกับการที่ไม่มีเครื่องบำรุงบำเรอกามสุข  จะสามารถอยู่ได้ตามลำพังของเรา  เพราะมีสิ่งที่ประเสริฐกว่านั้น มีสิ่งที่ดีกว่านั้น นั่นก็คือนิโรธสัจ การดับทุกข์ภายในใจ  ดับเพราะว่าใจเอาชนะตัณหาทั้ง ๓ ได้ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา  ถ้าตัณหาดับไปแล้ว ใจจะสงบ ใจจะเย็น ใจจะอิ่ม ใจจะไม่มีความหิวกระหายกับกามารมณ์ทั้งหลาย ไม่มีความอยากกับตำแหน่ง กับเงินทองทั้งหลาย  ไม่มีความกลัวว่าจะยากจะจน ไม่มีตำแหน่งอะไรทั้งสิ้น  เพราะใจสะอาดบริสุทธิ์แล้ว  ใจชนะตัณหาทั้ง ๓ นี้แล้ว 

ปัญหาของคนเราทุกวันนี้ ที่วิ่งหาตำแหน่ง หาเงินหาทอง หาสรรเสริญ หากามสุขกัน ก็เป็นเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา  ความไม่เข้าถึงพระอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้นั่นเอง  ถ้าใครได้ศึกษาหรือได้ยินได้ฟังเรื่องอริยสัจ ๔ แล้วนำเอาไปปฏิบัติกับตนได้  บุคคลนั้นจะเป็นคนที่ประเสริฐ  เพราะจะเป็นคนที่ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ  ตั้งมั่นอยู่ในความพอ จะไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร จะไม่ไปเบียดเบียนใคร  นี่แหละคือความประเสริฐของคนเรา อยู่ที่ความประพฤติของเราที่เรียกว่าสุปฏิปันโน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ ไม่เบียดเบียน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร ดังพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านไม่เคยไปสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร ไม่เคยเบียดเบียนใคร  นอกจากไม่เบียดเบียน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับใครแล้ว ยังมีแต่ทำคุณและประโยชน์  นำความรู้อันประเสริฐนี้ คือ อริยสัจ ๔ มาสั่งสอนสัตว์โลกที่ยังหูหนวกตาบอด ไม่เคยคิด ไม่เคยพิจารณา  ก็เลยไม่รู้ถึงสุขทุกข์ที่แท้จริงว่าเกิดขึ้นจากอะไร 

พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกจึงต้องนำอริยสัจ ๔ มาสั่งสอนพวกเรา  พวกเราจึงถือว่าเป็นผู้ที่มีโชควาสนามาก ที่ได้มาเกิดและได้มาเจอพระพุทธศาสนา มาเจอพระธรรมคำสอน คือพระอริยสัจ ๔ นี้  ถ้าเราเป็นคนฉลาดเราจะมีศรัทธา มีความเชื่อ มวิริยะ ความขยันหมั่นเพียรที่จะน้อมนำเอาพระอริยสัจ ๔ มาศึกษามาปฏิบัติกับตัวของเรา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมรรคสัจ  การปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา  หรือ ทาน ศีล ภาวนา นี่แหละคือมรรคสัจ เครื่องมือที่จะทำลายสมุทัยสัจ ต้นเหตุของความทุกข์ให้เกิดนิโรธการดับทุกข์ขึ้นมา  นี่เป็นสิ่งที่พวกเราควรน้อมเข้ามาศึกษาและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง  แล้วเราจะได้ไม่ต้องไปหาความวิเศษเลิศโลกจากอะไรภายนอก   เพราะภายนอกไม่มีอะไรที่จะวิเศษอย่างแท้จริง   เพชรนิลจินดาก็เป็นของที่ขุดมาจากพื้นดิน มันจะมีคุณค่าอะไร มันก็คือวัตถุชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง  คำสรรเสริญก็เป็นสิ่งที่สมมุติขึ้นมา พูดออกมาจากปากเท่านั้นเอง  ยศถาบรรดาศักดิ์ก็ตั้งขึ้นมา 

คนเราถ้ามีปัญญาแล้ว จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีสาระที่แท้จริง  สิ่งที่เป็นสาระที่แท้จริง คือสุขหรือทุกข์ที่มีอยู่ภายในใจ   สุขเกิดขึ้นได้ถ้ามีธรรมะ มีมรรค การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ดังที่ท่านทั้งหลายได้มากระทำกันในวันนี้ คือมาทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม  กลับไปบ้านก็ไปเจริญสมถะวิปัสสนาต่อ  ถ้าเจริญอย่างนี้ได้อย่างต่อเนื่องแล้ว  กิเลสทั้งหลาย ตัณหาทั้งหลายที่มีอยู่ภายในใจก็จะค่อยๆหมดไป จนกระทั่งหมดสิ้นไป  เมื่อหมดสิ้นไปแล้วก็จะกลายเป็นมหาเศรษฐีขึ้นมา เป็นผู้มีอริยทรัพย์ คือทรัพย์อันประเสริฐในใจ  เพราะอริยทรัพย์ทำให้เราถึงเมืองพอ ถึงเมืองอิ่ม ถึงความไม่หิวอีกต่อไป  ไม่ดีหรือที่คนเราอยู่เฉยๆ ไม่ต้องไปหาอะไรก็มีความสุขแล้ว พอแล้ว อยู่เป็นสุขแล้ว กับอีกคนหนึ่งที่ยังมีความหิว มีความอยาก ถึงแม้จะมีเงินทองเป็นร้อยล้านพันล้านก็ยังไม่อิ่ม ยังไม่พอ การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้