กัณฑ์ที่ ๑๐๒      ๑๑ กุมภาพันธ์  ๒๕๔๕

ปัจจัย ๔ ของใจ

 

ธรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง  คือ ทาน ศีล ภาวนา เพราะธรรมทั้ง ๓  เป็นปัจจัย ๔ ของใจ ร่างกายต้องมีปัจจัย ๔  คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ไว้ดูแลรักษาร่างกายให้อยู่เป็นปกติ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ขัดสน ไม่หิว ไม่ลำบาก   ฉันใด ใจก็เหมือนกับร่างกาย ต้องมีปัจจัย ๔ เช่นกัน  คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ไว้เป็นเครื่องดูแลรักษา  ปัจจัย ๔ ของใจก็คือธรรมที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา  ถ้าใจได้รับการดูแลรักษาด้วยทาน ศีล ภาวนา อย่างต่อเนื่องแล้ว  ใจจะเป็นใจที่มีความสุข มีอาหารหล่อเลี้ยง  มีอาภรณ์ที่สวยงามไว้สวมใส่  มีที่พึ่ง ที่หลบภัย  ที่อยู่อาศัย มียาไว้คอยรักษาในยามเจ็บไข้ได้ป่วย  โรคเจ็บไข้ของใจก็คือความทุกข์นั่นเอง เป็นโรคของใจ  ถ้ามี ทาน ศีล ภาวนา คอยบำรุงดูแลอยู่อย่างต่อเนื่องแล้ว  ใจจะไม่ทุกข์กับอะไร จะไม่ล้มป่วย ไม่เจ็บไข้ ไม่หิว ไม่กระหาย  เป็นใจที่สวยงาม มีที่พึ่ง   พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ชาวพุทธทุกๆคนปฏิบัติธรรมทั้ง ๓ นี้อย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง ถ้าปรารถนาความสุข ความเจริญที่แท้จริง จะต้องบำเพ็ญธรรมทั้ง ๓ นี้ 

ทาน คือการให้  มีอยู่ ๔ชนิดด้วยกัน คือ ๑. วัตถุทาน  ๒. วิทยาทาน  ๓. อภัยทาน  ๔. ธรรมทาน เป็นสิ่งที่เราสามารถให้ผู้อื่นได้  จะให้ได้มากน้อยแค่ไหน  ก็ขึ้นอยู่กับศรัทธาฐานะของผู้ให้  วัตถุทาน ได้แก่วัตถุต่างๆ เช่นปัจจัย ๔ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค หรือจะเป็นตัวแทนของสิ่งเหล่านี้ก็ได้ คือปัจจัยเงินทอง  ดังที่เรามาวัดเราก็มาถวายวัตถุทานกัน  บางทีก็เป็นในรูปของอาหารที่ใส่บาตร  จีวรที่ถวายให้พระนุ่งห่ม  เภสัชยารักษาโรค  หรือช่วยสร้างกุฏิวิหาร ที่อยู่อาศัยให้กับพระ  ถ้าไม่สะดวกที่จะนำสิ่งเหล่านี้มา  เราก็เอาปัจจัยเงินทองใส่ตู้บริจาค หรือใส่ซองมอบให้ไว้กับไวยาวัจกรของวัด  โดยแจ้งให้ไวยาวัจกรทราบว่ามีเจตนาที่จะถวายเพื่อสิ่งใด  จะถวายเพื่อค่าน้ำค่าไฟ  ถวายเพื่อการบำรุงดูแลรักษาวัด เราก็กำหนดไป เขียนไว้ในซอง  อย่างนี้เรียกว่าการทำวัตถุทาน เป็นการให้วัตถุ

วิทยาทาน คือการให้วิชาความรู้  วิชาความรู้ในที่นี้หมายถึงความรู้ทางโลก ไม่ใช่ความรู้ทางธรรม ให้วิชาความรู้กับผู้อื่นโดยไม่คิดสตางค์  เช่นเป็นครูสอนหนังสืออยู่ในโรงเรียน แล้วมีฐานะดี มีเงินทองพอกินพอใช้ ก็สอนโดยไม่รับเงินรับทอง ไม่รับเงินเดือน อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นวิทยาทาน  หรือเวลาว่างวันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุด  มีคนมาเชิญให้ไปให้ความรู้แก่ผู้อื่น ไปอบรมผู้อื่น  มีความรู้อย่างไรก็ให้ความรู้ไปโดยไม่คิดเงินคิดทอง  ถ้าเป็นทหารก็ให้วิชาความรู้เกี่ยวกับเรื่องการทหาร  ถ้าเป็นแพทย์ เป็นหมอ ก็ให้วิชาความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย  ถ้าเป็นชาวนาชาวไร่ ก็ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีเพาะปลูกพืชพรรณต่างๆ โดยไม่รับเงินทองผลตอบแทนต่างๆ เรียกว่าเป็นการให้วิทยาทาน ให้ความรู้แก่ผู้อื่น

อภัยทาน คือการให้อภัย  หมายถึงการยกโทษ ไม่ถือโทษ กับผู้ที่สร้างความปวดร้าวใจ  สร้างความทุกข์  สร้างความเสียหายให้กับเรา  เช่นขับรถไปเขาอาจจะมาเบียดรถเราทำให้รถเรามีรอยขูดขีด  แต่เพราะเป็นคนใจบุญใจกุศล ชอบทำทาน ก็ไม่เอาเรื่องเอาราวกับเขา ให้อภัยทานไป  หรือพระเจ้าแผ่นดินให้อภัยโทษ เวลามีคนยื่นฎีกาขออภัยโทษ ก็ลดหย่อนผ่อนโทษลง จากโทษประหารให้เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต โทษจำคุกให้เหลือ ๒๐ ปี อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการให้อภัยทาน  หรือไถ่ชีวิตของผู้อื่น ด้วยการซื้อสัตว์ที่กำลังจะถูกฆ่า เช่น วัว ควาย แล้วปล่อยให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไปตามธรรมชาติ  หรือเวลา่ไปตลาดเห็นปลา เต่า หรือสัตว์ชนิดอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่เขาขายในตลาด สงสารอยากจะไถ่ชีวิตเขา  ก็ซื้อสัตว์เหล่านี้มาปล่อย เพื่อให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไป  อย่างนี้ก็เรียกว่าอภัยทาน  ให้อภัย ให้ชีวิตกับผู้อื่น  หรือเวลาใครมาทำอะไรให้เราโกรธเคือง เราก็ระงับด้วยการให้อภัยทาน ไม่ถือโทษโกรธเคือง   ถือว่าเป็นโอกาสดี เมื่อก่อนอยากจะไปทำบุญที่วัด อยากจะทำบุญกับพระอรหันต์ พระสุปฏิปันโน แต่ไม่มีโอกาสได้ไปสักที  จู่ๆวันนี้มีคนมาสร้างความทุกข์ใจให้กับเรา  ก็เลยถือโอกาสนี้ทำบุญกับเขาไปเลย ให้อภัยเขาไปเลย อย่างนี้ก็ได้บุญมากเหมือนกัน เพราะว่าทำให้ใจเราสงบ ไม่มีเวร ไม่มีกรรมกับใคร

ธรรมทาน คือ การให้ธรรมะ  เวลาเห็นคนมีปัญหา มีความทุกข์ใจ  แล้วมาขอคำปรึกษา  เราก็สอนธรรมะให้กับเขาไป  สอนเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เรื่องการปล่อยวาง เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปัญหาของคนเราส่วนใหญ่เกิดจากการไปยึดไปติดกับสิ่งใด สิ่งหนึ่ง และอยากให้สิ่งนั้นเป็นไปตามปรารถนา  ถ้าไม่เป็นไปดังที่ต้องการ ก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นทุกข์ ปลงไม่ตก วางไม่ลง  ถ้าเขามาปรึกษา ก็บอกเขาว่าปัญหาของความทุกข์นั้น อยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่เราไปยึดไปติดด้วย  สิ่งที่เราไปยึดไปติด ที่ไปมีปัญหาด้วย เขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้นแหละ  เราไปบังคับเขาไม่ได้ เปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้  แต่สิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงได้ก็คือใจของเรา  ถ้าใจเราไม่ถือสา ไม่เอาเรื่องเอาราวแล้ว  ปล่อยเขาไปตามเรื่องตามราวของเขา  เขาจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา เท่านี้ใจเราก็จะสงบ จะสบาย คืออย่าไปหวัง อย่าไปอยากกับอะไร เพราะเวลาไปหวัง ไปอยาก เวลาได้มาก็ดีไป แต่ถ้าไม่ได้แล้ว จะทำอย่างไร ก็มีแต่จะกลุ้มอกกลุ้มใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ เกิดความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้ามีคนคอยแนะนำเรา ให้ธรรมทานกับเรา เราก็จะเป็นคนที่ไม่มีความทุกข์ เพราะดับทุกข์ได้ด้วยธรรมะ ในบรรดาทานทั้ง ๔ นี้ พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่า การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง เพราะว่าการให้ธรรมะเป็นการให้ธรรมโอสถ  ให้ยารักษาโรคใจนั่นเอง  คนบางคนเป็นถึงมหาเศรษฐี มีเงินทองเป็นร้อยล้าน พันล้าน  แต่ใจกลับมีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเครียด หาความสุขไม่ได้เลย ก็เพราะว่าใจไม่มีธรรมะนั่นเอง  ถ้าใครให้ธรรมะกับเขาได้  และเขาสามารถรับธรรมะไปใช้กับตัวของเขาได้แล้ว  เขาก็จะดับทุกข์ภายในใจของเขาได้  แสดงว่าธรรมะมีคุณค่ายิ่งกว่าเงินร้อยล้านพันล้านเสียอีก  พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องว่าการให้อะไรไม่มีอะไรจะเลิศยิ่งกว่าการให้ธรรมะ 

ศีล คือการประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เรียบร้อย เป็นปกติ ไม่สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อน ให้กับผู้อื่น  เช่น ๑. การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ๒. การไม่ลักทรัพย์ ๓. การไม่ประพฤติผิดประเวณี ๔. การไม่พูดปดมดเท็จ ๕. การไม่เสพสุรายาเมา อย่างนี้เรียกว่าศีล เป็นการประพฤติทางกาย และวาจา ที่เป็นปกติ  อย่างที่ญาติโยมนั่งฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ในขณะนี้ ก็ถือว่าเป็นปกติ เพราะไม่ได้ไปฆ่าสัตว์ ไม่ได้ไปลักทรัพย์ ไม่ได้ไปประพฤติผิดประเวณี ไม่ได้ไปพูดปดมดเท็จ ไม่ได้เสพสุรายาเมา อย่างนี้เรียกว่าศีล  ศีลมีหลายระดับด้วยกัน  อย่างศีล ๕ ก็เป็นระดับพื้นฐาน  มีศีลที่มากขึ้นไปอีก คือ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗  ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคลจะปฏิบัติ  ถ้าปฏิบัติศีลได้มากเท่าไร บุคคลนั้นก็จะเป็นบุคคลที่สวยงามมากขึ้นไปเท่านั้น  เพราะศีลคืออาภรณ์ของจิตใจนั่นเอง 

ความสวยงามที่แท้จริงของคนเราไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตา  ไม่ได้อยู่ที่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวมใส่ แต่อยู่ที่ศีลธรรมภายในใจ จริงอยู่ทางโลกเขาถือรูปร่างหน้าตา เสื้อผ้าอาภรณ์เป็นเครื่องวัดความสวยงาม เป็นสิ่งที่ทำให้คนสวยงามได้ในระดับหนึ่ง  แต่สิ่งที่มีคุณค่ากว่า  ที่สวยงามกว่าคือศีลธรรมนี่เอง  เพราะเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวมใส่ ถึงแม้จะทำให้ดูสวยงามขนาดไหนก็ตาม รูปร่างหน้าตาจะดีขนาดไหนก็ตาม  ถ้าจิตใจไม่งาม  จิตใจขาดศีลธรรมแล้ว ก็จะไม่มีความหมายอะไร ไม่สร้างความประทับใจให้ได้เลย คนที่รู้จักเราในเบื้องต้น เขามักจะชื่นชมยินดีในรูปร่างหน้าตา เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามของเรา  แต่พอได้คบค้าสมาคมกับเรา เริ่มรู้จักนิสัยของเรา เริ่มรู้จักธาตุแท้ของเราแล้ว  ถ้าเราเป็นคนที่ไม่มีศีลธรรม  เขาก็จะไม่ชอบเรา ไม่ชื่นชมเราอีกต่อไป 

ถ้าไปคบกับคนที่มีวาจาสกปรก  พูดจามีแต่คำหยาบ มีแต่คำเท็จ  เวลาโกรธก็ด่าเขาทั่วไปหมด ด่าพ่อ ด่าแม่ อย่างนี้ก็ไม่มีใครอยากจะอยู่ด้วย  ต่อให้เป็นถึงนางงามจักรวาลก็ตามเถิด  อยู่ไปแล้วเจอแต่คำผรุสวาทอยู่ตลอดเวลา สามีจะรักขนาดไหนก็ทนอยู่ไม่ได้  ดังที่เราก็ทราบกันอยู่ คนบางคนเป็นถึงนางงามจักรวาล แต่ก็ต้องมีการหย่าร้างกัน  เป็นเพราะอะไร ก็เป็นเพราะว่าความสวยงามทางรูปร่าง ทางเสื้อผ้าอาภรณ์อย่างเดียวไม่เพียงพอ  สิ่งที่จะยึดใจคนได้ ให้คนรัก ชื่นชมยินดี ต้องอยู่ที่ความประพฤติทางกายและทางวาจา  นั่นก็หมายถึงว่าต้องมีศีลนั่นเอง มีศีลมากเท่าไร  รักษาศีลได้มากเท่าไร ก็เป็นบุคคลที่มีคนชื่นชมยินดี เคารพนับถือ  ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้าและอรหันตสาวกทั้งหลาย  ท่านเหล่านี้เป็นผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์  ถึงแม้ท่านจะสิ้นไปแล้ว ๒๕๐๐ กว่าปี  แต่ความดี ความสวยงามของท่าน ยังอยู่ในใจของพวกเราอยู่ทุกวันนี้  พวกเรากราบท่านเหล่านี้ได้ด้วยความเต็มใจ ไม่มีความข้องใจ สงสัยอยู่ในใจของเราเลย  เพราะศีลธรรมของท่านนั่นเอง 

ธรรมที่เราพึงปฏิบัติอยู่เสมอ  นอกจากการให้ทาน และรักษาศีลแล้ว ก็คือการภาวนา หมายถึงการพัฒนาจิตใจ การชำระจิตใจ  ทำไมถึงต้องมีการชำระจิตใจของเรา  ก็เพราะว่าจิตใจของเรายังมีมลทินเครื่องเศร้าหมองอยู่ คือ กิเลสตัณหาทั้งหลาย ได้แก่ โลภ โกรธ หลง ความอยากในกาม อยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น  สิ่งเหล่านี้มีมากน้อยอยู่ในจิตใจเท่าไร ก็จะสร้างความทุกข์ ความไม่สบายใจ  แล้วก็จะทำให้ไม่สามารถรักษาศีลได้ ไม่สามารถทำทานได้  ถ้ามีสิ่งเหล่านี้แล้วไม่กำจัด  ใจจะไม่สามารถอยู่อย่างสงบสุขได้  จะไม่มีความอิ่ม  จะไม่มีความสวยงามด้วยศีล  จะมีแต่ทุกข์รุมเร้าใจอยู่เสมอ  เราจึงต้องบำเพ็ญภาวนา  ภาวนามีอยู่ ๒ แบบด้วยกัน คือ ๑. สมถภาวนา ๒.วิปัสสนาภาวนา สมถะก็คือ สมาธิ ความสงบตั้งมั่นของจิต  วิปัสสนาก็คือ ปัญญา ความรู้ ความฉลาด ธรรมทั้ง ๒ นี้ เป็นเครื่องมือชำระโลภ โกรธ หลง กิเลสตัณหา ให้หมดไปจากจิตจากใจ  เหมือนกับเวลาซักเสื้อผ้าที่ต้องมีผงซักฟอก  ถ้าซักเสื้อผ้าโดยไม่ใช้ผงซักฟอก คราบสกปรกที่ติดอยู่ในเสื้อผ้าก็จะไม่หลุดออกไป  น้ำเปล่าๆอย่างเดียวยังไม่พอเพียงกับการซักฟอกสิ่งสกปรก ต้องมีผงซักฟอกด้วย  ถ้ามีผงซักฟอกชนิดดีๆ มีพลังซักฟอกสูง ก็จะทำให้คราบสกปรกที่ติดอยู่ในเสื้อผ้าหลุดออกไปได้อย่างง่ายดาย ฉันใด  การซักฟอกจิตใจ การบำเพ็ญภาวนาก็จำต้องอาศัยทั้งสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา  คือ จะต้องมีทั้งสมาธิและปัญญา เพราะธรรมทั้ง ๒ นี้ เปรียบเหมือนกับผงซักฟอกนั่นเอง  ถ้ามีแล้วจะสามารถกำจัดคราบสกปรกในใจให้หมดสิ้นไปได้  ทานและศีลที่ปฏิบัติเป็นเหมือนกับน้ำที่ใช้ซักฟอกเสื้อผ้า ช่วยซักฟอกกิเลสตัณหา เครื่องเศร้าหมองที่มีอยู่ในจิตใจให้เบาบางลงไปได้ จากหนักให้เป็นเบาได้  แต่ไม่สามารถทำลายให้หมดแบบถอนรากถอนโคนได้  ต้องอาศัยการภาวนา คือ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา 

สมถภาวนา หมายถึงการทำใจให้สงบ  ใจไม่สงบเพราะอะไร  เพราะกิเลสตัณหานั่นเอง ทำให้ใจคิดปรุงอยู่ตลอดเวลา  เห็นอะไรก็อยากจะได้  เห็นอะไรไม่พอใจก็เกิดความโกรธขึ้นมา อย่างนี้เป็นต้น  เราจึงต้องทำใจให้สงบ  ถ้าใจไม่สงบ ใจจะไม่มีความสุข ไม่มีเหตุไม่มีผล  ก่อนที่จะสอนใจด้วยวิปัสสนาปัญญา  ให้ใจรู้จักความผิดถูกดีชั่วทั้งหลาย  ในเบื้องต้นจึงต้องทำใจให้สงบก่อน  ถ้าใจไม่สงบแล้ว จะสอนใจไม่รู้เรื่อง  ใจจะไม่ฟัง  จะมีกิเลส ตัณหา มาคอยคัดค้านอยู่เสมอ  สอนให้ทำดีก็จะบอกว่า ทำดีไปทำไม  คนทำชั่วได้ดีมีถมไป อย่างนี้เป็นต้น  นี่คือลักษณะของใจที่ยังไม่สงบ   แต่ถ้าใจที่สงบแล้วจะไม่มีกิเลสตัณหามาขัดขวาง เพราะในขณะที่ใจสงบ กิเลสตัณหาจะสงบตัวลงอยู่ชั่วคราว พร้อมกับความสงบนั้น 

แต่ความสงบโดยลำพังยังไม่พอเพียงกับการทำลายกิเลส ไม่สามารถที่จะถอนรากถอนโคนกิเลสได้  เพราะกิเลสตัณหาเกิดจาก โมหะ ความหลง อวิชชา ความไม่รู้จริง  และสิ่งที่จะแก้โมหะกับอวิชชาได้ ต้องเป็นปัญญาคือความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงเท่านั้น  กิเลสจะตายได้จะต้องใช้ปัญญา  ปัญญาจะสอนให้รู้ว่าทำไมไม่ควรไปยินดีกับสิ่งต่างๆ    เวลาที่คิดว่าถ้ามีเงินมีทองมากๆ จะมีความสุข  เป็นเพราะไม่เข้าใจธรรมชาติของเงินทองว่าเป็นอย่างไร  มีแต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกเท่านั้นที่จะเข้าใจถึงธรรมชาติของเงินทอง ว่าเงินทองไม่สามารถซื้อความสุขใจได้  ดังที่ได้แสดงไว้เมื่อสักครู่นี้ว่า ขนาดมหาเศรษฐี มีเงินเป็นร้อยล้านพันล้าน ยังมีความทุกข์ใจเลย  ยังมีความไม่สบายใจ ยังมีความกังวลใจ  นั่นก็เป็นเพราะว่าเงินทองไม่ได้ทำให้ใจมีความสุขได้อย่างแท้จริง   เพราะโดยธรรมชาติของเงินทองแล้วมันก็เป็นทุกข์ เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นของๆเรา  เงินทองมาวันนี้ พรุ่งนี้ก็อาจจะหมดไปได้  เวลามีก็มีความสุข ดีอกดีใจชั่วขณะหนึ่ง  พอเวลาไม่มีขึ้นมาก็จะมีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเสียใจ 

แต่เราไม่รู้กันว่าใจของเราถูกความหลงครอบงำอยู่ ทำให้ เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว  เห็นสิ่งที่เป็นของไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง  เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข  เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆเรา ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของๆเรา  เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็เลยไปกอดอยู่กับกองทุกข์  อยู่กับกองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ชีวิตของพวกเราทุกคนจึงไม่มีความสุข ไม่พ้นทุกข์กันสักที เพราะไม่มีปัญญาที่จะสอน ที่จะบอก ให้ปล่อยวาง ให้ตัดสิ่งเหล่านี้ให้ออกไปจากใจ  ใจของเรายังมีความยินดีกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข โดยที่ไม่รู้จักธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นทุกข์  ทุกข์เพราะเป็นของไม่เที่ยง  ทุกข์เพราะไม่ใช่เป็นสมบัติที่แท้จริงของเรา  อยู่กับเราวันนี้ พรุ่งนี้ก็ต้องจากเราไป  เวลาจากไป เราก็ทุกข์ เราก็ร้องห่มร้องไห้ อย่างนี้เราก็เห็นกันอยู่ รู้กันอยู่  แต่ทำไมเราถึงไม่ตัด เราถึงไม่ปล่อย เราถึงไม่วาง เพราะใจของเราไม่สงบนั่นเอง  ใจของเรายังไม่มีความสุขในตัวของมันเอง  แต่ถ้าได้ทำใจของเราให้สงบด้วยสมถภาวนาแล้ว ใจจะมีความอิ่ม ใจจะมีความสุข ใจจะมีความพอ  

ในเบื้องต้นจึงต้องสร้างความสุขให้เกิดขึ้นที่ใจก่อน ด้วยการเจริญสมถภาวนา  วิธีเจริญสมถภาวนาในเบื้องต้นอย่างง่ายๆ ก็คือการไหว้พระสวดมนต์  ด้วยการนั่งขัดสมาธิ หลับตา แล้วก็สวดมนต์ไปภายในใจของเรา  สวดไปเรื่อยๆ สวดไปให้มากๆ สวดไปนานๆ ขณะที่สวดก็อย่าไปคิดถึงเรื่องอะไร ให้มีสติระลึกรู้อยู่กับบทสวดมนต์  สวดไปเรื่อยๆ นานๆ แล้วใจจะค่อยๆสงบ ใจจะค่อยๆเย็น สวดไปจนรู้สึกไม่ค่อยอยากจะสวดก็หยุด แล้วกำหนดดูลมหายใจต่อไป ดูลมหายใจเข้า ดูลมหายใจออก ดูไปเรื่อยๆ ด้วยสติ แล้วลมหายใจนี้จะพาใจเข้าสู่ความสงบ เข้าสู่ความนิ่ง เมื่อใจสงบ ใจนิ่งแล้ว ใจก็จะปล่อยลมหายใจไปเองโดยปริยาย  ใจก็จะอยู่กับสักแต่ว่ารู้ มีอารมณ์เดียวเท่านั้นคืออุเบกขา คือรู้อยู่ตามลำพังของรู้  ใจเป็นผู้รู้ รู้อยู่กับความรู้นั้นเท่านั้นเอง  ในขณะนั้นจะมีความสุข มีความสบายใจ  แล้วจะรู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้น ไม่ได้อยู่ที่ภายนอกแต่อยู่ที่ภายในใจ ไม่ได้อยู่ที่ลาภ ไม่อยู่ที่ยศ ไม่ได้อยู่ที่สรรเสริญ ไม่ได้อยู่ที่กามสุข  ถ้าได้พบกับสุขแบบนี้แล้ว  เราจะพยายามรักษาสุขแบบนี้ให้มีอยู่ไปเรื่อยๆ  แต่มันจะไม่อยู่ไปเรื่อยๆ เพราะจะอยู่ในสมาธิ ในความสงบนี้ได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้นเอง  หลังจากนั้นแล้วใจก็จะต้องถอนออกมาจากความสงบ  เมื่อถอนออกมาแล้ว กิเลสที่สงบตัวไปกับความสงบของใจ ก็จะออกมาเพ่นพ่านอีก  เพราะว่าความสงบหรือสมาธินี้ ไม่สามารถทำลายฆ่ากิเลสให้หมดไปได้  สมาธิเปรียบเหมือนกับหินที่ทับหญ้าไว้  เวลาที่หินทับหญ้าอยู่ หญ้าก็ไม่สามารถเจริญงอกงามได้  แต่ถ้ายกหินออกไป ทิ้งไว้สักวันสองวัน หญ้าก็จะเจริญงอกงามกลับขึ้นมาอีก  เพราะยังไม่ได้ถอนรากถอนโคนของหญ้านั่นเอง 

กิเลสก็เช่นกันขณะที่เราทำสมาธิทำใจให้สงบ กิเลสก็สงบตัวไปด้วย แต่กิเลสยังไม่ตาย  สิ่งที่จะทำลายกิเลสให้ตายได้ต้องเป็นปัญญา คือความรู้ว่าเราไม่ควรโลภ  เพราะเหตุใดเราจึงไม่ควรโลภ ไม่ควรอยาก เพราะว่าสิ่งที่เราโลภ เราอยาก ไม่ได้ให้ความสุขกับเราอย่างแท้จริง  เพราะสิ่งต่างๆที่เราอยากทั้งหมด คือสภาวธรรมทั้งหลายนั้น เป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด เป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปราศจากตัวตน เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมบังคับให้อยู่กับเราไปตลอดได้  ให้เป็นไปดังที่เราปรารถนาได้ตลอดเวลานั่นเอง  ถ้าเราเข้าใจหลักนี้แล้วเราก็จะไม่กล้าไปยึดไปติดกับสิ่งเหล่านี้  เพราะเวลาไปยึดไปติด ใจก็จะมีความทุกข์  ถ้าไปยึดติดกับลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข  เวลาสิ่งเหล่านี้เสื่อมไป คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ เกิดนินทา เกิดความทุกข์ขึ้นมา  ใจก็จะมีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ  บางทีอาจจะอยู่ต่อไปไม่ได้ ถึงกับฆ่าตัวตายก็มี ดังที่ได้ยินได้ฟังกันทุกวันตามข่าวคราวในหน้าหนังสือพิมพ์ก็ดี ในวิทยุโทรทัศน์ก็ดี สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ  นั่นก็เป็นเพราะว่าบุคคลเหล่านั้นขาดธรรมะ  ไม่ปฏิบัติธรรม คือไม่ทำบุญทำทาน ไม่รักษาศีล ไม่บำเพ็ญภาวนานั่นเอง  จึงทำให้เวลามีปัญหาขึ้นมาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะไม่มีที่พึ่ง ไม่มีเครื่องมือที่จะระงับดับความทุกข์เหล่านี้ 

คนฉลาดจึงเข้าหาพระศาสนา เข้าหาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์  เพราะพระท่านจะสอนให้ปฏิบัติธรรม ทำบุญให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาอย่างสม่ำเสมอ  เมื่อนำเอาไปปฏิบัติแล้ว ชีวิตจะดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม  จนเป็นเศรษฐีที่แท้จริง คือเป็นเศรษฐีธรรม เป็นเศรษฐีทางด้านจิตใจ  คือใจจะเต็มเปี่ยมด้วยความสุข จะไม่มีความทุกข์อยู่ในใจเลย  เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายท่านได้ประพฤติปฏิบัติจนกระทั่งถึงจุดสูงสุด กลายเป็นมหาเศรษฐีธรรม  เป็นมหาเศรษฐีของความสุข คือบรมสุขนั่นเอง ได้แก่พระนิพพาน นิพพานัง ปรมัง สุขัง ไม่มีความสุขอะไรจะวิเศษเท่ากับความสุขของพระนิพพาน  จึงขอฝากเรื่องราวการปฏิบัติ ทาน ศีล ภาวนา  ที่เป็นปัจจัย ๔ ของใจ ไว้รักษาใจ ให้อยู่ด้วยความสงบ ด้วยความสุข ด้วยความเจริญที่แท้จริง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้