กัณฑ์ที่ ๑๐๗        ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๕

บัว ๔ เหล่า

 

นับตั้งแต่วันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา ด้วยการแสดงพระปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย คือ ๑. อัญญาโกณฑัญญะ  ๒. วัปปะ  ๓. ภัททิยะ  ๔. มหานาม  ๕. อัสสชิ  จนถึงวันนี้รวมกันก็เป็นเวลา ๒๕๙๐ ปี   พระพุทธศักราชนับเริ่มต้นจากวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็น ๒๕๔๕ ปีในปีนี้ บวกกับอีก ๔๕ พรรษาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้เวลาประกาศพระศาสนาให้กับสาธุชนทั้งหลาย รวมกันจึงเป็น ๒๕๙๐ ปี  นี่คืออายุของพระพุทธศาสนา ซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเลย  เพราะว่าในเบื้องต้นหลังจากที่พระพุทธเจ้า    ได้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วในวันเพ็ญเดือน ๖  ทรงมีความรู้สึกท้อพระทัยที่จะนำพระธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้มาถ่ายทอด มาเผยแผ่ให้กับสัตว์โลกทั้งหลาย เนื่องจากเห็นว่าธรรมที่จะสั่งสอนเผยแผ่ให้กับสัตว์โลกนั้น เป็นธรรมที่ยากยิ่งต่อสัตว์โลกจะเข้าใจได้  เพราะการที่จะสอนให้สัตว์โลกได้พบกับความสุขที่แท้จริงนั้น ต้องสอนให้เขาละสิ่งต่างๆ ที่เขาเห็นว่าเป็นความสุข คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ทั้งหลาย 

หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นด้วยญาณตามความเป็นจริงว่าลาภ ยศ สรรเสริญ และกามสุขนั้น หาเป็นสุขไม่  แต่กลับเป็นกองทุกข์อันใหญ่หลวง  เป็นเหมือนกับดักสัตว์โลก ให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร ไปไม่รู้จักจบจักสิ้น   หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว จึงค้นพบความสุขที่แท้จริง ว่ามีอยู่ในใจของเราทุกคน  คือความสุขที่เกิดจากความสงบ  ความสุขที่เกิดจากการระงับดับของกิเลสทั้งหลาย คือความสุขที่แท้จริง  เป็นความสุขที่ประเสริฐ  ไม่มีความสุขอันใดในโลกนี้จะดีเท่า กับความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ 

ในเบื้องต้นทรงรู้สึกไม่อยากจะสั่งสอนเลย  เพราะถ้าสั่งสอนไปก็เหมือนกับว่ายทวนน้ำ  คนทุกคนต่างแสวงหาความสุขจาก ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข กันทั้งนั้น  และในการที่จะไปสอนให้ปล่อยวาง เรื่องการแสวงหา ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุขนั้น เขาก็จะหาว่าพระพุทธองค์เป็นคนบ้า  จึงไม่อยากสอน เพราะการที่จะสอนให้คนอยู่แบบสมถะ อยู่แบบเรียบง่าย ให้มีความพอใจกับสิ่งที่ตนมีอยู่  ยินดีกับสิ่งที่ได้รับ คือให้มีพอเพียง   ดังที่ในหลวงทรงเคยตรัสเสมอว่าเศรษฐกิจพอเพียง  คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือมีสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพพอเพียง พอกิน พอใช้ พออยู่ ไม่ให้กายต้องเจ็บไข้ได้ป่วยหรือตายไป นี่คือลักษณะของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง  คือให้มีปัจจัย ๔ พอเพียงกับการดำรงชีพ เท่านี้ก็พอเพียงแล้วสำหรับความสุขของร่างกาย  ส่วนความสุขของจิตใจจะต้องเกิดจากความสงบของใจ  ถ้าใจไม่มีความสงบแล้ว  ต่อให้มีเงินทองกองเท่าภูเขา ให้เป็นถึงพระมหากษัตริย์ พระมหาจักรพรรดิ  ประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี  ก็จะไม่มีความสุข  เพราะว่าจิตจะมีแต่ความวุ่นวาย   จะมีแต่ความฟุ้งซ่านนั่นเอง 

นี่แหละคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้เห็น ในเบื้องต้นจึงทรงมีความรู้สึกท้อพระทัยที่จะประกาศพระศาสนา  แต่ต่อมาท้าวมหาพรหม ได้มาอาราธนาพระพุทธเจ้า ให้ทรงโปรดกรุณา สงสารสัตว์โลกทั้งหลายที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร ให้ได้มีโอกาสเห็นแสงสว่างแห่งธรรม  ได้มีโอกาสหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด  หลุดพ้นจากกองทุกข์อันใหญ่หลวงนี้บ้าง ถึงแม้จะไม่สามารถสอนให้ทุกคนเชื่อและนำไปปฏิบัติตามได้  อย่างน้อยก็มีคนบางคนที่มีความฉลาดพอที่จะรับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้  หลังจากที่ได้ทรงวินิจฉัยแล้ว  ทรงเห็นว่าสัตว์โลกมีอยู่ ๔ จำพวกด้วยกัน  เปรียบเหมือนกับบัว ๔ เหล่า  คือ

. อุคฆฏิตัญญู  เป็นคนที่ฉลาดมาก เพียงแต่ยกหัวข้อขึ้นมาก็เข้าใจแล้ว เปรียบเหมือนกับบัวที่อยู่เหนือน้ำ  พอได้รับแสงอาทิตย์ก็จะบาน . วิปจิตัญญู  เป็นผู้ที่จะรู้จะเข้าใจหลังจากได้ฟังการอธิบายขยายความ เปรียบเหมือนกับบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้  . เนยยะ คือผู้ที่พอสั่งสอนได้  ต้องใช้เวลานานหน่อย  ต้องสอนไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นเดือน เป็นปี ก็จะสามารถบรรลุธรรมได้  เปรียบเหมือนกับดอกบัวที่ยังอยู่ในน้ำ ยังไม่โผล่พ้นน้ำ  จักบานในวันต่อไป บุคคลทั้ง ๓ ประเภทที่กล่าวมา ยังพอสั่งสอนได้ . ปทปรมะ เป็นพวกมืดบอด  ได้แค่ตัวบทคือถ้อยคำเป็นอย่างยิ่ง ไม่อาจเข้าใจความหมาย เปรียบเหมือนกับบัวจมอยู่ในน้ำที่กลายเป็นอาหารของปลาและเต่า จะสั่งสอนอย่างไรก็ไม่เชื่อฟัง คิดว่าเป็นการหลอกลวง เช่นเรื่องนรก เรื่องสวรรค์  เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เห็นเป็นของโกหกหลอกลวง เป็นไปไม่ได้ที่ตายแล้วจะเกิดอีก  มีแต่ตายแล้วสูญ  เป็นลักษณะของคนมืดบอด ที่พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงสั่งสอน  สอนไปก็เปล่าประโยชน์  เปรียบเหมือนกับการสาดน้ำใส่หลังสุนัข  สุนัขจะสะบัดทิ้งทันทีฉันใด การสั่งสอนคนมืดบอดก็เสียเวลาเปล่าๆฉันนั้น

หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงวินิจฉัยแล้ว จึงเกิดมีความยินดีที่จะประกาศพระศาสนา  ถ้าไม่ได้ทรงวินิจฉัยในเบื้องต้น แล้วตัดสินพระทัยไม่ประกาศพระศาสนา  พระพุทธองค์ก็จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไป   คือได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว แต่ไม่นำธรรมมาประกาศสั่งสอนให้กับผู้อื่นได้ทราบ รู้แต่เฉพาะตน จึงเรียกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า  รู้จำเพาะพระองค์เอง ไม่สั่งสอนผู้อื่น  แต่ถ้าได้ประกาศพระธรรมคำสอนดังพระพุทธเจ้าของเรา   ก็จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ แล้วประกาศพระธรรมคำสอนให้แก่สัตว์โลก  หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงประกาศพระธรรมคำสอนแล้ว พระศาสนาก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว เพราะพระพุทธเจ้าเป็นคนที่ฉลาดมาก  รู้จักเลือกคนที่จะสั่งสอน  คือไม่สั่งสอนแบบปูพรม  รู้ว่าควรจะสั่งสอนคนไหนก่อน  ควรจะสั่งสอนคนไหนหลัง 

ในเบื้องต้นทรงเล็งไปถึงนักบวชทั้งหลาย เริ่มต้นตั้งแต่พระอาจารย์ ๒ รูปที่ทรงเคยไปศึกษาอยู่ด้วย คือ ๑. อาฬารดาบส ผู้ได้บรรลุฌานสมาบัติขั้นอากิญจัญญายตนะ หรือ อรูปฌานขั้นที่ ๓ และ  ๒. อุททกดาบส ผู้ได้บรรลุฌานสมาบัติขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ หรืออรูปฌานขั้นที่ ๔ แต่หลังจากเล็งญาณก็ทรงทราบว่าท่านทั้ง ๒ ได้มรณภาพไปแล้ว  เลยคิดถึงพระปัญจวัคคีย์ซึ่งเป็นพระสหาย หรือเป็นพระสาวกที่คอยติดตามพระพุทธเจ้ามาก่อนที่จะทรงตรัสรู้ จึงไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ก่อน  การแสดงธรรมครั้งแรกก็ทำให้หนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ คือ  อัญญาโกณฑัญญะ บรรลุเป็นพระโสดาบันขึ้นมา มีดวงตาเห็นธรรม เป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้น หลังจากนั้นได้ทรงแสดงธรรมอีกจนทำให้พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ บรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา  ต่อมาทรงสอนให้กับนักบวชของลัทธิต่างๆ จนปรากฏเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก  นี่คือความฉลาดของพระพุทธเจ้า ที่ทรงเลือกสอนคนที่สามารถรับรู้ได้ก่อน คือพวกบัวที่อยู่เหนือน้ำ  เมื่อเขาเหล่านั้นได้บรรลุธรรมแล้ว ต่อไปก็จะได้อาศัยเขาเป็นผู้ช่วยสั่งสอนต่อไป 

หลังจากที่ได้ทรงสั่งสอนให้บรรดาสาวกทั้งหลาย บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว  จึงทรงรับสั่งให้บรรดาสาวกเหล่านี้ ออกไปเผยแผ่พระธรรมคำสอนต่อ  โดยให้แยกกันไปคนละทิศคนละทาง ไม่ให้ไปด้วยกัน  ให้ไปเดี่ยว เพื่อจะได้มีโอกาสเผยแผ่พระศาสนา ให้ออกไปได้อย่างกว้างไกล  พระพุทธศาสนาของเราจึงมีอายุยืนยาวนานถึง ๒๕๙๐ ปี  ก็เป็นเพราะว่าพระพุทธองค์ได้ทรงวางรากฐานของพระศาสนาไว้เป็นอย่างดี  ทรงวางหลักธรรมหลักวินัยไว้ ให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตาม โดยแสดงไว้ว่า ธรรมวินัยนี่แหละ คือศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย  หลังจากที่พระศาสดา คือพระตถาคตได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว  ผู้ที่จะมาเป็นศาสดาแทนพระองค์ ก็คือธรรมวินัยที่ตถาคตได้ตรัสไว้ชอบแล้ว

นี่จึงเป็นที่มาของการเคารพใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  เพราะทั้ง ๓ องค์นี้ เป็นองค์แทนกัน  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ที่จะเห็นธรรมได้ต้องเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เรียกว่าสุปฏิปันโน ก็คือพระอริยสงฆสาวกนั่นเอง  ท่านทั้ง ๓ จึงเป็นศาสดาของพวกเรา เป็นผู้ที่สืบทอดพระศาสนาแทนพระศาสดา  เราจึงไม่ขาดพระศาสดา เพราะเรามีพระรัตนตรัยอยู่คู่กับศาสนาเรามาจนถึงทุกวันนี้ เพราะว่าพระพุทธองค์ได้ทรงวางรากฐาน คือวางหลักการในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สืบทอด ถ่ายทอด พระพุทธศาสนาไว้เป็นขั้นเป็นตอน ให้พุทธศาสนิกชนทุกยุคทุกสมัยที่นับถือพระพุทธศาสนา ได้นำไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ของพระศาสนา  หลักการที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้มีอยู่ ๕ ขั้นตอนด้วยกัน คือ ๑. การศึกษา  ๒. การปฏิบัติ  ๓. การบรรลุธรรม  ๔. การเผยแผ่  ๕. การแก้ปัญหา 

นี่คือขั้นตอนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้  เพื่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีอายุยืนยาวนานถึง ๒๕๙๐ ปี  และจะมีอายุยืนยาวนานต่อไปอีกนับไม่ถ้วน ถ้าพุทธศาสนิกชนประพฤติปฏิบัติตามแนวทางนี้  ในเบื้องต้นเมื่อมีความศรัทธา ความเชื่อ ในพระพุทธศาสนาแล้ว  ควรให้ความสนใจศึกษาเล่าเรียน พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พยายามหาหนังสือธรรมะมาอ่านอย่างสม่ำเสมอ  เข้าวัดอย่างสม่ำเสมอ  หาพระสงฆ์ผู้รู้ธรรม สนทนาธรรมกับท่าน  ฟังเทศน์ฟังธรรมกับท่าน  เรียกว่าเป็นการศึกษาเล่าเรียน    เมื่อได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษาแล้ว จงนำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาปฏิบัติ  ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนบรรลุธรรมขึ้นมา  เป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ คือ  ๑. พระโสดาบัน  ๒. พระสกิทาคามี  ๓. พระอนาคามี   ๔. พระอรหันต์ 

เมื่อได้บรรลุธรรมแล้ว  จะรู้อย่างถูกต้องแม่นยำในธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ก็จะรู้เหมือนกัน  เมื่อรู้เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นแล้ว  การที่จะนำไปเผยแผ่ให้กับผู้อื่น ย่อมนำไปเผยแผ่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ไม่มีความผิดพลาด ขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด มีแต่ความถูกต้องโดยถ่ายเดียว  ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ก็จะสามารถรับธรรมที่ถ่ายทอดได้ โดยไม่มีความขัดข้องสงสัย เพราะเป็นความจริง ที่จะไปลบล้างความหลง ความเห็นผิดได้  เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในศาสนา เช่นอาจมีการประพฤติปฏิบัติผิดๆถูกๆ ทำให้เกิดความสับสน ผู้ที่บรรลุธรรมแล้วจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ จะสามารถบอกได้ว่าวิธีการปฏิบัติ ที่ถูกต้องนั้นควรจะเป็นอย่างไร  ถ้ามีการปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนทุกๆคนแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง อยู่คู่กับพวกเราไปอีกเป็นเวลาอันยาวนาน 

แต่ถ้าพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ไม่ให้ความสนใจในหลักการทั้ง ๕ ประการนี้แล้ว  คือไม่สนใจที่จะศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่สนใจที่จะนำเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ  แต่กลับสนใจที่จะไปเผยแผ่ ไปสั่งสอนผู้อื่นแบบผิดๆถูกๆ ในลักษณะเหมือนกับคนตาบอดบอกทางให้ผู้อื่น  คนตาบอดจะบอกทางให้กับผู้อื่นได้อย่างไร  ในเมื่อตนเองยังไม่สามารถมองเห็นทางได้ ว่าทิศทางที่ควรจะไปนั้นเป็นอย่างไร  ก็จะสอนแบบผิดๆถูกๆ เมื่อผู้อื่นฟังแล้ว เชื่อเข้า ก็จะปฏิบัติไปแบบผิดๆถูกๆ เลยทำให้ศาสนาเกิดความเสื่อมขึ้นมา  จนไม่รู้ว่าอะไรคือคำสอนที่จริง อะไรคือคำสอนที่ไม่จริง  ศาสนาก็จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ จนไม่มีเหลืออยู่ต่อไป  เพราะการปฏิบัติแบบนอกลู่นอกทางของพุทธศาสนิกชน ที่ไปในทิศทางของกิเลสตัณหา 

กิเลสตัณหาจะเดินสวนทางกับทางของพระพุทธเจ้าเสมอ  พระพุทธเจ้าสอนให้ละบาป ทำความดี ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากจิตจากใจ  แต่กิเลสตัณหาจะไปในทางตรงกันข้าม  กิเลสจะทำเพื่อความโลภ ความโกรธ และความหลง  เช่นเวลาทำบุญ ก็ทำบุญเพื่อความโลภ ทำบุญเพื่อ ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข  เวลาทำบุญทีก็อธิษฐานขอให้ร่ำรวย ขอให้ได้เป็นนายพล ได้เป็นนายกฯ อย่างนี้เป็นต้น  ซึ่งไม่ใช่เป็นวิธีการทำบุญที่ถูกต้อง  การทำบุญที่ถูกต้องคือทำเพื่อขัดเกลาจิตใจ ขัดเกลากิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจ  ขัดเกลาความโลภ ความอยาก ขัดเกลาความตระหนี่ ขัดเกลาความเห็นแก่ตัวต่างหาก  เพราะว่านี่เป็นต้นเหตุของความไม่สบายใจ ของความทุกข์ใจ ของความหิวกระหายของจิตใจ  ถ้าชำระได้แล้วใจจะมีความอิ่ม มีความสุข มีความปีติ มีความพอ  นี้ต่างหากคือความสุขที่แท้จริง

ความสุขที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการมีเงินทองมากมาย มีลาภ มียศ มีตำแหน่งสูงๆ  มีคนมาคอยสรรเสริญเยินยอ มีกามสุข ความสุขที่เกิดจากการได้สัมผัสกามคุณทั้ง ๕ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย  สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความสุข  แต่เป็นเหมือนยาเสพติด  ยาเสพติดเราก็รู้ว่าเป็นอย่างไร  คนที่เสพกับคนที่ไม่เสพเราก็รู้ว่าเป็นอย่างไร  คนที่ไม่เสพยาเสพติด เขาสบาย เขาไม่เดือดร้อน เขาไม่ต้องไปคอยหายามาเสพอยู่เรื่อยๆ  ในทางตรงกันข้าม คนที่ติดยาเสพติด  ถ้าไม่มียาเสพติดในวันไหนแล้วจะต้องดิ้นรนทุรนทุรายลงแดง  ถ้าไม่มีเป็นวันๆเข้า อาจจะถึงตายได้  นี่คือโทษของยาเสพติด ฉันใด โทษของลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ก็เป็นเช่นนั้น  ถ้าไปติดในลาภ ยศ สรรเสริญ และกามสุขแล้ว  ใจจะอยู่ไม่สุข ใจจะไม่อิ่ม ใจจะไม่พอ ใจจะมีแต่ความหิว มีแต่ความอยาก ไม่มีที่สิ้นสุด  หามาได้เท่าไรก็ไม่พอ 

ความต้องการของตัณหาในเบื้องต้นคือ เมื่อเกิดมาแล้วก็ขอให้มีอาหารการกินพอเพียง ขอให้มีปัจจัย ๔ พออยู่ได้  เมื่อมีปัจจัย ๔ แล้ว ขั้นต่อไปก็อยากจะร่ำรวย  เมื่อร่ำรวยแล้ว ก็อยากจะมีเกียรติ มีหน้า มีตา  มีตำแหน่ง มียศถาบรรดาศักดิ์ เมื่อมีสิ่งเหล่านี้แล้ว ขั้นต่อไปก็อยากจะมีอายุยืนยาวนาน ไม่อยากตายเร็ว เพราะอยากจะอยู่กับสิ่งที่ตนได้หาไปนานๆ  ถ้าต้องตายไป ก็ขอให้ไปเกิดในสวรรค์ต่อไป  นี่คือความอยากของกิเลสตัณหาที่ไม่มีที่สิ้นสุด  แต่หารู้ไม่ว่า ความอยากเหล่านี้ ถ้าไม่ควบคุมไว้ ไม่ดูแล ปล่อยให้พาไปแบบไม่มีขอบเขต  แทนที่จะไปสู่สวรรค์  กลับจะพาไปสู่นรก  เพราะว่าถ้าต้องการอะไรแล้ว ไม่ได้หามาด้วยความสุจริต  ไม่ได้หามาด้วยศีลธรรม แต่หามาด้วยความทุจริต ด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ด้วยการลักทรัพย์  ด้วยการประพฤติผิดประเวณี  ด้วยการโกหกหลอกลวง  ถ้าประพฤติแบบนี้แล้ว แทนที่จะไปสวรรค์ เมื่อตายไป กลับต้องไปสู่อบาย คือภพใดภพหนึ่งทั้ง ๔ ภพ คือ เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นรก นี่คือที่ไปของผู้ที่ทำผิดศีลธรรมเป็นอาจิณ 

นี่แหละคือโทษของกิเลสตัณหา  ถ้าไม่คอยควบคุมไว้  ไม่คอยกำจัด ไม่คอยชำระแล้ว  กิเลสตัณหาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปเรื่อยๆ  ทุกครั้งที่เราสนองตัณหาความอยาก สนองความโลภความต้องการแล้ว  ความโลภความต้องการจะไม่เบาบางลงไป  แต่กลับจะเพิ่มมากขึ้น จะมีความต้องการที่รุนแรงเพิ่มขึ้นไป  ดังวลีที่ว่า ได้คืบก็จะเอาศอก ได้ศอกก็จะเอาวา คือความโลภจะเพิ่มพูนขึ้นไปเรื่อยๆ จะไม่ลดน้อยถอยลงไป จะทำให้เราเป็นทาส  จะคอยสั่งให้ไปเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาอยู่เสมอ  เมื่อได้มาแล้วแทนที่จะขอบอกขอบใจ จะบอกว่าพอ กลับบอกว่าไม่พอ ต้องเอามาอีก  นี่แหละคือเรื่องของความโลภ ได้มาเท่าไรก็ไม่พอ  เมื่อยังไม่มีความพอ  เราจะไปหาความสุขได้อย่างไร  นี่แหละคือโทษของความโลภ ของความอยาก ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เห็น  หลังจากที่ได้ชำระสิ่งเหล่านี้ออกไปจากใจแล้ว จึงทรงได้พบกับความสุขที่แท้จริง คือความอิ่ม ความพอ ซึ่งเกิดจากความสงบของจิตใจ  

พระพุทธเจ้าจึงทรงนำมาสั่งสอนพวกเรา ให้พวกเราละความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ให้ไปส่งเสริม  เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเหมือนกับอสรพิษ  เราก็รู้ว่าอสรพิษนั้นเป็นอย่างไร มีพิษมีภัยขนาดไหน  เวลาเจองู เราจะไม่จับมาเลี้ยงไว้ มีแต่จะตีให้ตาย  แต่ทำไมเวลาเจอความโลภ ความโกรธ ความหลง  เรากลับไม่ตีให้ตาย  เรากลับทะนุถนอมบำรุงรักษา กลัวจะเจ็บช้ำน้ำใจ  เวลาโลภก็ต้องพยายามวิ่งไปหาในสิ่งที่ต้องการมาให้  เวลาโกรธก็ต้องโกรธตาม ต้องไปทำร้าย ต้องไปด่า ไปว่าผู้อื่น เพื่อความโกรธจะได้ไม่โกรธเรา  นี่แหละคือความหลงของพวกเรา  ความหลงก็คือความเห็นผิดเป็นชอบ เห็นว่าความโลภ ความโกรธ เป็นสิ่งที่น่ารักษาไว้ น่าสนับสนุน  แทนที่จะเห็นว่าเป็นพิษเป็นภัย เป็นสิ่งที่จะต้องคอยทำลายล้าง คอยขจัดให้หมดไปจากจิตจากใจ  เรากลับไม่ทำกัน  เรากลับปล่อยให้ความโลภ ความหลงเจริญรุ่งเรืองด้วยการสนับสนุน  เวลาโลภก็โลภกับเขา  เวลาโกรธก็โกรธกับเขา  ชีวิตของเราเลยกลายเป็นชีวิตที่มีแต่ความรุ่มร้อน มีแต่ความทุกข์  หาความสงบหาความสุขไม่ได้  เพราะความหลงนี่เอง

พวกเราถือว่าโชคดี ที่ได้มาเจอพระพุทธศาสนา ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ที่สอนความจริงให้กับพวกเราว่า ถ้าต้องการความสุขแล้ว ต้องชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง  อย่าไปโลภ อย่าไปโกรธ อย่าไปหลง  การที่จะชำระความโลภ ความโกรธ ความหลงได้  ในเบื้องต้นต้องศึกษา  ฟังเทศน์  ฟังธรรม  เพราะเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว  จะได้นำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้ว ก็จะได้ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หลุดไป จนหมดสิ้นไปจากใจ ด้วยวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ คือ ให้ทำบุญให้ทาน ให้รักษาศีล และให้ภาวนา  นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา ทำอย่างนี้ไปอย่างต่อเนื่อง  แล้วกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลงในใจก็จะค่อยๆเบาบางไป และหมดไปในที่สุด  เมื่อกิเลสหมดไปจากใจแล้ว จะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป  ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป  เพราะถ้าไปเกิดอีก ก็ยังต้องไปแบกความทุกข์อยู่  แต่เราจะไม่ไปเกิดอีก เพราะเชื้อแห่งความเกิดหมดสิ้นไปแล้ว เหตุที่จะพาไปเกิดก็ไม่ใช่อะไร  ก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้เอง  ถ้าไม่มีเชื้อแล้ว ก็ไม่ไปเกิดอีกต่อไป  เหมือนกับรถยนต์ ถ้าไม่มีน้ำมันอยู่ในรถแล้ว รถก็จะไม่วิ่งอีกต่อไป  นี่แหละคือเรื่องราวของพวกเรา เรื่องราวของพระศาสนา  เราโชคดีที่ได้มาเจอพระศาสนา ขอให้น้อมใจเข้าหาพระศาสนา ด้วยศรัทธา  ความเชื่อ แล้วนำพระธรรมคำสอนที่ได้ยินได้ฟังมาปฏิบัติ ด้วยวิริยะ ความขยันหมั่นเพียร  ด้วยสติ ด้วยปัญญา แล้วความสุขที่แท้จริงที่เราทุกคนปรารถนา ก็จะเป็นของพวกเราในลำดับต่อไป  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้