กัณฑ์ที่ ๑๐๘       ๕ เมษายน ๒๕๔๕

เส้นทางชีวิต

 

ชีวิตของพวกเราเปรียบเหมือนกับการเดินทาง  มีจุดหมายปลายทางที่จะไปอยู่ ๒ จุดด้วยกัน  เพราะว่าตัวเราประกอบขึ้นด้วยสิ่งที่แตกต่างกันอยู่ ๒ ส่วน คือกายและใจ กายมีจุดหมายปลายทางไปทางหนึ่ง  ใจมีจุดหมายปลายทางไปอีกทางหนึ่ง เมื่ออยู่ด้วยกันก็อาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเครื่องช่วยสนับสนุนพาให้ใจ เดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางที่ปรารถนากัน   จุดหมายปลายทางของกายมีอยู่จุดเดียว ไม่มีทางเลือก คือความตาย มีความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นทางผ่าน  เป็นวิถีทางของร่างกายของพวกเราทุกๆคน ไม่มีใครสามารถแก้ไขดัดแปลง ให้เป็นอย่างอื่นไปได้  ส่วนจุดหมายปลายทางของใจไม่ใช่มีทางเดียว  เป็นทางที่มีทางเลือก จะไปสูงก็ได้ ไปต่ำก็ได้ ไปสว่างก็ได้ ไปมืดก็ได้ ไปสวรรค์ก็ได้ ไปนรกก็ได้ ไปดีก็ได้ ไปชั่วก็ได้ ไปสุขก็ได้ ไปทุกข์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับใจจะเลือกเอาว่า จะไปทางไหน   ไปทางสูงก็ไปสู่ความสุขความเจริญ  ไปทางต่ำก็ไปสู่ความทุกข์ ความเสื่อมเสีย ความหายนะ

การไปสู่จุดสูงต่ำดีชั่วนี้ ขึ้นอยู่กับใจเองเป็นผู้เลือก  ใจมีสิทธิ์ที่จะเลือกได้   ถ้าใจไม่มีความรู้ ไม่มีปัญญา เป็นใจที่ยังมีโมหะอวิชชาครอบงำอยู่ ใจก็จะถูกหลอกให้เลือกไปตามทางของโมหะอวิชชา ซึ่งจะพาใจไปสู่ที่ต่ำ เพราะโมหะอวิชชาไม่รู้ทิศทางที่สุขที่เจริญ  หลงคิดว่าทางสู่ที่ต่ำเป็นทางที่นำไปสู่ความสุขความเจริญ  การที่ใจจะเดินทางไปสู่ที่ดีที่งามได้  ไปสู่ที่สุขที่เจริญได้ จึงต้องมีปัญญาพาไป  ต้องเป็นปัญญาของผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  ท่านเป็นผู้รู้จริง เห็นจริง  รู้ถึงจุดหมายปลายทางทั้ง ๒ จุด  จุดที่ดี ที่เจริญ ที่มีแต่ความสุข ก็ทรงรู้ทรงเห็น  จุดที่ไม่ดี ที่เสื่อมเสีย ที่มีแต่ความทุกข์ ก็ทรงรู้ทรงเห็นเหมือนกัน  จึงได้นำเรื่องราวของจุดหมายปลายทางทั้ง ๒ จุดนี้มาสอนสัตว์โลก  ผู้ที่มีโชควาสนาได้มาได้ยินได้ฟังแล้วเกิดศรัทธา ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีบุญ มีวาสนา มีความฉลาดที่เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทรงสั่งสอนได้  เมื่อเชื่อแล้วจึงนำเอาไปประพฤติปฏิบัติ จนนำตนเองไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดีได้  

แต่สำหรับพวกที่มีความมืดบอด มีโมหะอวิชชาครอบงำจิตใจอยู่ จะไม่สามารถเข้าถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้  กลับจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ความจริง  ผู้ที่มีโมหะอวิชชา มีความมืดบอดครอบงำจิตใจอยู่ จึงต้องไปในทิศทางที่ต่ำ  ไปสู่จุดหมายปลายทางที่มีแต่ความเสื่อมเสีย มีแต่ความทุกข์รุมเร้าจิตใจอยู่ตลอดเวลา  เพราะกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรนั่นเอง แทนที่จะดับความทุกข์ กลับไปเติมความทุกข์ให้มีมากยิ่งๆขึ้นไปในใจ ด้วยความหลงผิด เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นผิดเป็นชอบนั่นเอง  เห็นความสุขว่าเป็นความทุกข์  และเห็นความทุกข์ว่าเป็นความสุข  เลยกระทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง  ผู้ที่ฉลาดถ้าปรารถนาความสุขความเจริญที่แท้จริง จึงควรเห็นโทษของความหลงที่มีอยู่ในใจของปุถุชนทุกๆคน  แล้วแสวงหาแสงสว่างแห่งธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศไว้ให้กับสัตว์โลก ด้วยการเข้าหาพระศาสนา  เข้าหาวัดเพื่อที่จะได้มีโอกาสฟังเทศน์ฟังธรรม  เข้าหาหนังสือธรรมะต่างๆ ที่เขียนไว้หรือแสดงไว้ โดยพระสุปฏิปันโนทั้งหลาย  การศึกษาพระธรรมคำสอน ก็เปรียบเหมือนกับการดูแผนที่ของทางที่จะเดินไป  คนที่มีแผนที่กับคนที่ไม่มีแผนที่จึงมีความแตกต่างกัน  โอกาสของคนที่มีแผนที่จะหลงทางย่อมเป็นไปได้ยาก  แต่โอกาสของคนที่ไม่มีแผนที่ย่อมเป็นไปได้ง่าย  จะคอยหลงทางอยู่เสมอ 

ในเบื้องต้นการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะคนที่มีความมืดบอดย่อมไม่สามารถนำพาตนเองไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ จำต้องอาศัยผู้ที่มีดวงตาสว่าง  ผู้ที่ไม่มีความมืดบอดพาไป  นี่แหละเป็นสาเหตุที่เราต้องเข้าหาพระศาสนากัน   เพราะว่าพระศาสนาจะนำเราไปสู่จุดที่ดี ที่งาม ที่สุข ที่เจริญ  ในเบื้องต้นพระศาสนาสอนให้พวกเรามีสติ จะทำอะไรก็ตาม ต้องมีสติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา  รู้ว่ากำลังจะทำอะไร จะพูดอะไร กำลังคิดอะไร  เพราะก่อนที่จะพูดก็ดี จะทำก็ดี จะต้องคิดก่อน  ถ้าคิดดี ก็จะพูดดี ทำดี  ถ้าคิดไม่ดี ก็จะพูดไม่ดี ทำไม่ดี  เมื่อทำไปแล้ว ผลก็จะตามมา  ถ้าคิดดี พูดดี ทำดี ความสุขความเจริญก็จะตามมา  ถ้าคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี ความทุกข์ ความเสื่อมเสียก็จะตามมา 

นี่เป็นหลักความจริงตายตัว ไม่ขึ้นกับกาลกับเวลา  เป็นความจริงในสมัยพระพุทธเจ้าฉันใด ก็ยังเป็นความจริงในสมัยนี้อยู่ฉันนั้น  เป็นอกาลิโก ไม่ได้ขึ้นกับกาลกับเวลา  สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแม้จะมีอายุผ่านมาถึง ๒๕๙๐ ปีแล้วก็ตาม  ไม่ได้ผิดแปลกไปจากความจริงในสมัยปัจจุบันนี้เลย  ความจริงในสมัยพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร  ความจริงในสมัยนี้ก็เป็นอย่างนั้น เราสามารถน้อมเอามาปฏิบัติด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่เลยว่า สิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ในอดีตนั้น เป็นความจริงเหมือนกับที่พระพุทธเจ้านั่งอยู่ต่อหน้าเรา  แสดงเรื่องราวต่างๆ ให้เราฟังในวันนี้  ทุกครั้งที่เราได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าจากพระอาจารย์ทั้งหลายก็ดี หรือจากหนังสือที่เราอ่านก็ดี เปรียบเหมือนกับพระพุทธเจ้านั่งอยู่ที่ข้างหน้าของเรา แล้วพูดคุยกับเรา สั่งสอนเรา เป็นความจริงล้วนๆ ขอให้เชื่อได้อย่างเต็มที่ว่า ถ้าปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง จะไม่มีความทุกข์มารุมเร้าจิตใจเลย 

เราจึงควรมีสติในขณะที่ศึกษาฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ควรมีสติกับการอ่านหนังสือ มีสติอยู่กับการฟังธรรม อย่าปล่อยให้ใจไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่ใช่การฟังธรรมหรือการอ่านหนังสือธรรมะ เพราะถ้าเราฟังไปหรืออ่านหนังสือธรรมะไป แล้วใจของเราก็คิดไปกับเรื่องราวต่างๆ นานา  เราจะไม่สามารถรับประโยชน์จากการอ่านหนังสือธรรมะหรือจากการฟังเทศน์ฟังธรรมได้  เพราะใจไม่ได้อยู่กับการฟังหรือการอ่านนั่นเอง เปรียบเหมือนกับการเทน้ำใส่แก้ว ก็เหมือนกับคว่ำแก้วไว้รองรับน้ำ  น้ำที่เทใส่เข้าไปในแก้วก็จะไม่เข้าไปในแก้วแม้แต่หยดเดียว เพราะไม่ได้หงายแก้วขึ้นมารองรับน้ำฉันใด  การฟังธรรมก็เปรียบเหมือนกับการหงายใจของเรา ให้รับกระแสธรรมที่ปรากฏในตัวหนังสือก็ดี    เป็นเสียงของผู้แสดงธรรมก็ดี จึงควรมีสติกำกับใจให้รับกระแสธรรมที่แสดงอยู่  เพื่อใจจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่  เพราะจะได้ฟังสิ่งต่างๆที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน  เช่นเรื่องพระอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เราจะไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกัน   เรื่องไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราก็จะไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกัน  เรื่องสัมมาทิฏฐิ การมีความเห็นที่ถูกต้อง เราก็ไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกัน  เรื่องของความสุขที่แท้จริงกับความสุขที่ไม่แท้จริง เราก็จะไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกัน  เพราะในชีวิตประจำวันของเรา จะอยู่ท่ามกลางกระแสของโลก กระแสของความหลง กระแสของความโลภความอยากทั้งหลาย  ซึ่งจะฉุดกระฉากลากให้ผู้ที่อยู่ท่ามกลางกระแสไปสู่ที่ต่ำ ไปสู่กองทุกข์ ไปสู่การเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏสงสาร ไม่มีที่สิ้นสุด  ในทางตรงกันข้าม การได้ยินได้ฟังธรรม เป็นการเข้าสู่กระแสที่จะพาเราสู่ความสุข ความเจริญ สู่การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด  การฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ศึกษาธรรมอยู่เรื่อยๆ จึงเป็นการนำพาตัวเราให้เข้าสู่กระแสที่จะพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดี  ไปสู่ความสุขความเจริญ 

หลังจากได้ยินได้ฟังธรรมแล้ว ก็ควรนำมาปฏิบัติกับกายวาจาใจของเรา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ทรงสอนให้ตั้งสติไว้ก่อน  ก่อนที่จะลุกขึ้นไปทำอะไร ให้มีสติรู้อยู่กับความคิดของเราก่อน ว่าขณะนี้กำลังคิดจะทำอะไร  ก่อนที่จะลุกขึ้นมาได้ ต้องคิดก่อนว่าจะลุกขึ้นมา  เมื่อคิดแล้วถึงจะสามารถสั่งให้ร่างกายลุกขึ้นมาได้  ถ้ามีสติคอยควบคุมความคิดอยู่  เราจะรู้อยู่ทุกขณะ ว่าเรากำลังจะไปในทิศทางไหน  ถ้าไม่มีสติก็จะถูกอารมณ์ต่างๆพาไป เช่นเวลาตื่นขึ้นมาปั๊บก็เริ่มมองนาฬิกา แล้วก็เริ่มคิดว่าจะต้องรีบทำอะไรบ้าง  เช่นจะต้องไปทำงาน ไปโรงเรียน หรือทำอะไรอย่างอื่น ก็จะปล่อยให้ความคิดเหล่านั้น เป็นตัวกำหนดลากพาไป  แต่ถ้ามีสติ  เราจะทบทวนความคิดเหล่านั้นก่อนว่า อันไหนเป็นสิ่งที่ควรกระทำในเบื้องต้น  อันไหนเป็นสิ่งที่ควรกระทำในลำดับต่อมา คือจะสามารถควบคุมการดำเนินกิจกรรมของเราได้อย่างดี  แต่ถ้าไม่มีสติแล้ว ถ้าใจมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง อารมณ์นั้นก็จะเป็นตัวกำหนดพาเราไป  ถ้ามีอารมณ์หยาบก็จะพาเราไปในทางหยาบ  ถ้ามีอารมณ์โกรธก็จะพาเราไปในทางโกรธ  ถ้ามีอารมณ์หลงก็จะพาเราไปในทางหลง  แต่ถ้ามีสติเราจะสามารถยับยั้งได้ ถ้าเรารู้ว่าเรากำลังถูกความโลภพาไป เราก็ระงับได้  ถ้าเรารู้ว่าเรากำลังถูกความโกรธ ความหลงพาไปเราก็จะระงับได้ เพราะเรามีสติ  แล้วเราก็จะใช้ปัญญาเป็นผู้วินิจฉัยแยกแยะอีกที ว่าการกระทำที่เราจะทำต่อไปนั้น เป็นคุณหรือเป็นโทษอย่างไร  ถ้าพิจารณาเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นโทษ เราก็ระงับการกระทำนั้นได้  ถ้าเราพิจารณาเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นคุณเป็นประโยชน์ เราก็ทำไป

ถ้าเรามีสติควบคุมใจของเราอยู่เสมอแล้ว  ก็เปรียบเหมือนกับคนขับรถที่มีสติ เป็นคนที่ไม่ได้เสพสุรายาเมาเข้าไป จะรู้ว่าถนนนั้นเป็นอย่างไร  เป็นถนนที่ขรุขระ เป็นถนนที่ราบเรียบ มีรถมากรถน้อยวิ่งอยู่บนถนน มีทางโค้ง มีทางแยก ตรงไหนบ้าง ก็จะสามารถควบคุมรถยนต์ให้ไปได้ด้วยความปลอดภัย นำเราไปสู่จุดหมายปลายทางที่เราต้องการได้ ใจก็เปรียบเหมือนกับคนขับรถ  ใจจะขับแบบคนมีสติก็ได้ หรือจะขับแบบคนเมาไม่มีสติก็ได้  ถ้าขับแบบคนเมาแล้วผลที่จะตามมาก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่ มีแต่จะต้องไปชนกันบ้าง  ไปตกเหว วิ่งแหกโค้งออกนอกทางบ้าง คือจะมีแต่ภัยตามมา เป็นภัยที่เกิดจากการไม่มีสติควบคุมรถยนต์นั่นเอง  ชีวิตของเราก็เหมือนกัน  มีภัยที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเรา เนื่องจากไม่มีสติคอยดูแลใจของเรานั่นเอง  เช่นเวลาเราจะไปทำอะไร แล้วไม่ได้พิจารณา คือขาดโยนิโสมนสิการ ไม่ใคร่ครวญให้รอบคอบเสียก่อน ว่าสิ่งที่จะไปทำนั้น เป็นคุณหรือเป็นโทษ แต่ปล่อยให้ความอยากพาไป เช่นเวลาอยากจะได้อะไรแล้วก็ต้องเอามาให้ได้ ไม่สำคัญว่าจะได้มาด้วยวิธีใด  จะได้มาด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตก็ดี  จะได้มาด้วยการลักขโมยก็ดี    จะได้มาด้วยการประพฤติผิดประเวณีก็ดี    จะได้มาด้วยการโกหกหลอกลวงก็ดี  ก็จะทำ  เพราะว่าเมื่อใจคิดแล้ว มีอารมณ์แล้ว ก็ต้องทำตามอารมณ์นั้น  นี่คือลักษณะของผู้ที่ไม่มีสติควบคุมใจ  เมื่อไม่มีสติควบคุมใจแล้ว  เมื่อเกิดกิเลสตัณหาชักพาไป  กิเลสตัณหาก็จะพาไปสู่การกระทำที่เป็นโทษทั้งกับตนเองและกับผู้อื่น  เมื่อทำสิ่งที่เป็นโทษกับตนเองและกับผู้อื่นแล้ว ผลที่ตามมาก็คือ จะต้องถูกผู้ที่เราไปทำร้ายกลับมาจัดการกับเรา  ไม่ได้ด้วยวิธีใดก็ต้องวิธีหนึ่ง  ส่วนทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองผู้รักษากฎหมายก็ต้องทำหน้าที่ของเขา คือตามจับเราเข้าคุกเข้าตะราง  ใจของเราจะมีแต่ความความว้าวุ่นขุ่นมัว มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความกลัว อันเป็นผลของการกระทำในสิ่งที่ไม่ได้ใคร่ครวญไว้ก่อนเพราะขาดสติ  ขาดปัญญานั่นเอง 

สติเป็นตัวรู้ ส่วนปัญญาเป็นตัวที่ชี้บอกว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรอะไรไม่ควร  อะไรจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ  อะไรจะนำมาซึ่งความวิบัติความหายนะ  ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้ศึกษาเล่าเรียน  จากผู้อื่น เช่นพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก หรือจากการใคร่ครวญของเราเอง  ถ้าเรามีความสามารถแยกแยะความผิดความถูกได้ เราก็สามารถสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นในตัวของเราได้ โดยที่ไม่ต้องอาศัยผู้อื่น แต่มีบางอย่างที่ละเอียด มากกว่าความสามารถของปัญญาของเราที่จะแยกแยะได้ เราก็ต้องพึ่งอาศัยคนอื่น  ถ้าได้พบคนอย่างพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ก็เป็นโอกาสดีที่เราไม่ต้องมานั่งขบคิดให้เสียเวลาเปล่าๆ เหมือนกับเวลาเรามีปัญหาแล้วไม่สามารถแก้ไขได้  ถ้ามีคนที่เคยผ่านปัญหานั้นมาแล้ว  ถ้าเราถามเขา เขาก็จะบอกเราได้ ว่าวิธีแก้ไขปัญหานั้นแก้ไขอย่างไร  ถ้าเราแก้ไขเอง ดีไม่ดีเราอาจจะไม่ได้แก้ก็ได้   แทนที่จะแก้เราอาจจะผูกปัญหาให้แน่นขึ้นไปอีก 

อย่างวิธีการแก้ปัญหาของคนบางคน  เวลามีปัญหาแล้วแทนที่จะแก้ด้วยความถูกต้อง  กลับไปแก้ด้วยความผิด  เช่นเวลาทำอะไรไปแล้วแทนที่จะยอมรับผิดหรือขอโทษกลับไม่ยอมทำ กลับโกหกหลอกลวงเขาต่อไปอีก เลยสร้างความผิดให้เป็นสองเท่าขึ้นมา  เช่นเวลาเขาถามว่าคุณเอาสิ่งนี้ไปหรือเปล่า  ถ้าเอาไปก็ตอบว่าเอาไปเสียก็หมดเรื่อง ยอมรับผิดเสีย  เขาจะเอาโทษกับเราอย่างไร เราก็ยอมรับใช้โทษนั้นไป เรื่องก็จบ  เพราะส่วนใหญ่แล้ว เวลายอมรับผิด ก็ไม่มีใครเขาอยากจะเอาโทษเพราะเห็นใจ  คนเราย่อมมีการผิดพลาดได้ สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง  แล้วปุถุชนธรรมดาอย่างเราอย่างท่าน ทำไมจะไม่ผิดพลาดกันบ้าง ข้อสำคัญเมื่อเกิดการผิดพลาดแล้ว อย่าทำผิดพลาดซ้ำเติมด้วยการปฏิเสธ ด้วยการโกหก ควรยอมรับผิด แล้วยอมรับใช้โทษที่จะตามมา  โทษหนักก็จะเป็นเบา  โทษเบาก็จะถูกยกเลิกไปเลยก็ได้  แต่ถ้าไปแก้ตัวด้วยการพูดปดมดเท็จ ก็จะทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่น่าเชื่อใจ  เป็นคนที่ไม่น่าให้อภัย  เพราะจะโกหกไปเรื่อยๆ  ดังภาษิตที่ว่า เป็นไปไม่ได้ที่คนที่พูดปดแล้ว จะไม่ทำความชั่วอย่างอื่น 

ถ้าอยากเป็นคนดี ไม่เป็นคนชั่ว เราจึงควรยอมรับผิด เมื่อทำผิดพลาดไป  เพราะเรายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังมีกิเลส ยังมีตัณหาอยู่  ในบางเวลาเราอาจจะแพ้อำนาจของกิเลสตัณหา ที่มาสร้างความเย้ายวนกวนใจกับเรา  จนกระทั่งต้องทำในสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรมไป  แต่เมื่อทำไปแล้ว ถ้ามีจิตสำนึกขึ้นมา ก็ควรแก้ไขเสีย  ถ้าไปขโมยของเขามา ก็เอาไปคืนเขาเสีย  จะคืนต่อหน้าเขาก็ได้หรือจะคืนลับหลังเขาก็ได้  อย่างน้อยมันก็จะทำให้เรามีความสบายใจขึ้น  ที่ได้แก้ไขความผิดนั้น  แต่ถ้าไม่แก้ไข   กลับไปปกปิด ก็จะติดเป็นนิสัยขึ้นมา   ในโอกาสต่อไปเมื่อเกิดมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำใจอีก  ก็จะไม่สามารถต่อสู้ขัดขืนได้   แต่ถ้าเคยยอมรับผิดมาแล้ว  การยอมรับผิดก็จะเป็นบทเรียนสอนเรา  จะเป็นเหมือนกับเบรก ที่จะคอยบอกเราว่าอย่าทำเลย  ทำไปแล้วจะมีความรู้สึกไม่สบายใจขึ้นมา  แล้วก็ต้องกลับมาสารภาพผิดอีก  อย่างนี้แหละเป็นวิธีที่ดี ที่ถูกต้อง ต้องยอมรับความจริงว่าเรายังไม่ใช่เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เรามีโอกาสที่จะทำอะไรผิดพลาดได้ จึงต้องมีสติระมัดระวังอยู่เสมอ พิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบเสียก่อน แล้วค่อยทำ เมื่อทำอะไรผิดพลาดไปแล้ว ก็ยอมรับผิด แล้วเอาการกระทำที่ผิดพลาดนี้มาเป็นบทเรียนสอนตัวเรา  เพื่อจะได้ไม่ทำผิดอีก  ถ้าจะให้ดีทุกครั้งที่ทำผิด  ควรมีการทำโทษตัวเราเองบ้าง  ต้องดัดนิสัยบ้าง เช่นวันนี้จะไม่กินข้าวเย็นเป็นต้น เป็นการดัดนิสัย จะได้เข็ดหลาบ  ถ้าทำความผิดแล้วไม่มีโทษตามมา ก็จะไม่เข็ดหลาบ  แล้วจะทำผิดไปเรื่อยๆ 

จึงขอให้เราเป็นคนที่มีความจริงใจต่อความดีงามทั้งหลาย และให้เป็นคนที่มีความกลัว ความอายในการกระทำความชั่วทั้งหลาย  ขอให้เห็นว่าการกระทำความชั่ว เปรียบเหมือนกับคนที่มีเสื้อผ้าที่สกปรกหรือไม่สวยงามใส่  ธรรมดาเวลาเราออกจากบ้าน เราจะต้องหาเสื้อผ้าที่สะอาดที่สวยงามใส่  เราจะไม่กล้าใส่เสื้อผ้าที่เก่า ที่ขาด ที่สกปรกใส่ไปข้างนอกฉันใด  เราควรคำนึงเสมอว่าการกระทำความชั่วทั้งหลาย การกระทำบาปทั้งหลายนั้น เปรียบเหมือนกับใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สกปรก หรือไม่มีเสื้อผ้าอาภรณ์ใส่เลย  เป็นสิ่งที่น่าอับอายขายหน้าแก่ผู้อื่นเป็นอย่างมาก  เราจะต้องพยายามหาเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามใส่ คือการประพฤติตนตามกรอบของศีลธรรมที่ดีงามนั่นเอง   เวลาจะพูด จะคิด จะทำอะไร ขอให้ถามว่าเป็นศีลเป็นธรรมหรือไม่  ถ้าเป็นศีลเป็นธรรมก็ทำไปได้เลย เช่นถามว่าเป็นความกตัญญูกตเวทีหรือเปล่า  มีสัมมาคารวะหรือไม่ เป็นการเสียสละเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นหรือเปล่า  เป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นหรือไม่  เป็นความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาหรือเปล่า  ควรจะถามตัวเราเองอยู่เสมอ ทุกครั้งที่จะทำอะไร  เมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่งาม เป็นคุณเป็นประโยชน์ เป็นศีลเป็นธรรมแล้ว ก็ทำไปได้เลย ไม่ต้องกลัว เพราะว่าผลดีจะตามมา คือจะได้ธรรมที่มีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใดในโลกนี้  ถึงแม้ทำไปแล้วจะต้องสูญเสียของที่รักที่ชอบไป ก็ไม่ต้องกังวล เพราะของทั้งหลายโดยธรรมชาติที่แท้จริงแล้ว ก็ไม่ใช่เป็นของๆเรา  ของทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่นี้ แม้กระทั่งชีวิตของเรา  มันก็ไม่ใช่เป็นของๆเรา  ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่เป็นของๆเรา  สักวันหนึ่งก็ต้องคืนธรรมชาติไป ท่านจึงทรงสอนให้เราสละได้แม้แต่ชีวิตเพื่อรักษาธรรม เพราะถ้าเรารักษาธรรมแล้ว  ธรรมจะคุ้มครองใจเราไม่ให้ไปสู่ที่ต่ำ  ธรรมนี่แหละเป็นตัวผลักดันให้เราไปสู่ที่สิ้นสุดของการเวียนว่ายตายเกิด ไปสู่บรมสุข  สุขที่ประเสริฐ สุขที่แท้จริง  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้