กัณฑ์ที่
๑๑๐ ๑๙
เมษายน ๒๕๔๕
พุทธมามกะ
พุทธมามกะ
แปลว่าผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน
ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา
ถือพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง
ประกอบด้วย ๑.อุบาสก
๒.อุบาสิกา
๓.ภิกษุ
๔.ภิกษุณี
๕.สามเณร ๖.แม่ชี
การถือพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
หมายถึงการประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
และทรงประพฤติปฏิบัติมา
หลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา
สอนให้เชื่อหลักกรรม
คือให้เชื่อในการกระทำ ทางกาย
วาจา ใจ ว่าเป็นเหตุ
ที่จะนำผลที่เราปรารถนาหรือไม่ปรารถนา
คือ ๑.สุข ๒.ทุกข์ ให้เกิดขึ้นตามมา
ถ้าปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
คือคิดดี พูดดี ทำดี
ผลคือความสุขความเจริญก็จะตามมา
ถ้าทำความชั่ว ทำบาป ทำกรรม
ผลคือความทุกข์ความหายนะก็จะตามมา
ดังในภาษิตที่ได้ยินกันเสมอว่า
ทำดีได้ดี
ทำชั่วได้ชั่ว นี่คือหลักของพระพุทธศาสนาที่สอนให้พุทธมามกะทุกคน
เชื่อและปฏิบัติตาม
เรื่องอื่นจะเชื่อก็ได้
ไม่เชื่อก็ได้
ไม่สำคัญเท่ากับหลักกรรมนี้
เรื่องอื่นจะเชื่อหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับกาลเทศะ
ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
ถ้าไม่เชื่อก็ไม่ต้องลบหลู่ แต่ความเชื่อนั้นต้องไม่ขัดกับหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ที่สอนว่า ทำดีได้ดี
ทำชั่วได้ชั่ว
ถ้าเชื่อในฤกษ์ยาม
แล้วก็ไปดูหมอ
ให้ดูฤกษ์ดูยามให้
ว่าจะไปขโมยข้าวของ
เวลาไหนถึงจะดี ถึงแม้ฤกษ์ยามดี
แต่การกระทำไม่ดี
ถ้าทำไปผลก็ไม่ดี
ถึงแม้จะขโมยข้าวของมาได้
แต่ทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นผลเสีย
จะนำมาซึ่งความทุกข์และความหายนะ
ไม่ใช่จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ
ต้องถือการกระทำเป็นหลัก
ถ้าฤกษ์ยามดี
แต่การกระทำไม่ดี ก็ต้องไม่ทำ
ถ้าการกระทำดีแต่ฤกษ์ยามไม่ดี
ทำไปแล้วผลก็ยังดีอยู่
เพราะผลขึ้นอยู่ที่การกระทำ
การกระทำความดีจึงไม่ขึ้นกับกาลกับเวลา
ทำเวลาไหนก็ดีเสมอ
เพียงแต่ว่าในบางกรณี
เวลาจะทำอะไร
ก็ต้องคำนึงถึงยามถึงเวลาเหมือนกัน
เพื่อจะได้สำเร็จหรือบรรลุผลที่ดีเลิศ
เช่นเวลาจะมาทำบุญถวายอาหารให้กับพระวัดนี้
ก็ต้องรู้ว่าเวลาไหนเป็นเวลาที่เหมาะ
เวลาไหนเป็นเวลาที่ไม่เหมาะ
เพราะว่าพระวัดนี้ท่านฉันเช้า
ท่านถือธุดงควัตร คือฉันมื้อเดียว
ถ้ามาหลังจากตอนนี้ไปแล้ว
หลังจากที่พระท่านฉันไปแล้ว
จะนำอาหารคาวหวานมาถวายพระ
ท่านก็จะรับประเคนฉันให้ไม่ได้
นอกจากว่าถ้าเป็นของไม่เสีย
ของที่เก็บไว้ในวันรุ่งขึ้นก็สามารถฝากไว้กับลูกศิษย์
เพื่อลูกศิษย์จะได้จัดนำมาถวายในวันรุ่งขึ้นต่อไป
นี่ก็คือการดูฤกษ์ดูยาม
ก็มีความจำเป็นเหมือนกัน
แต่ฤกษ์ยามไม่ใช่เป็นตัวชี้ขาด
ตัวที่ชี้ขาดถึงผลอันดีเลิศ
หรือผลที่เลวที่ไม่น่าปรารถนานั้น
ขึ้นอยู่กับการกระทำทางกาย
วาจา ใจ
เป็นหลักสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พุทธศาสนิกชนเชื่อในหลักกรรมเป็นสำคัญ
เวลาจะทำอะไร
จึงต้องคำนึงเสมอว่า
สิ่งที่จะทำนั้น
ทำไปแล้วเกิดผลดีหรือไม่
หรือเป็นผลร้ายตามมา การทำดีคือการกระทำทางกาย
วาจา ใจ ที่เมื่อทำไปแล้ว
เกิดคุณเกิดประโยชน์
ไม่เกิดโทษ กับตนก็ดี
กับผู้อื่นก็ดี
หรือทั้งกับตนและกับผู้อื่นก็ดี
ถือว่าเป็นการกระทำความดี
ทำไปแล้วจะมีผลดีตามมา ส่วนการทำความชั่วหมายถึงการกระทำทางกาย
วาจา ใจ ที่เมื่อทำไปแล้ว
ไม่เกิดคุณ ไม่เกิดประโยชน์
มีแต่โทษ กับตัวเราก็ดี
กับผู้อื่นก็ดี
หรือทั้งกับตนและกับผู้อื่นก็ดี
เช่นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
การลักทรัพย์
การประพฤติผิดประเวณี
การพูดปดมดเท็จ
การเสพสุรายาเมา
การเล่นการพนัน
การเที่ยวยามค่ำคืน
การคบคนชั่วเป็นมิตร
ความเกียจคร้าน
เมื่อกระทำไปแล้วจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียให้กับผู้ที่กระทำ
และกระทบไปถึงผู้อื่นด้วย
เป็นการทำความชั่ว ทำบาป
ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้ทำ
ถึงแม้ว่าฤกษ์ยามจะดีขนาดไหนก็ตาม
ก็ไม่พึงกระทำ
อุบาสก
อุบาสิกา
คือคฤหัสถ์ชายและหญิงที่ใกล้ชิดพระศาสนา
โดยประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
มีคุณสมบัติ ๕ ประการคือ
๑.มีศรัทธา ๒.มีศีลบริสุทธิ์
๓.ไม่ถือมงคลตื่นข่าว
เชื่อกรรม ๔.ไม่แสวงหาบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา
๕.ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา
ศีลของอุบาสกและอุบาสิกาได้แก่ศีล
๕ และศีล ๘
ศีล
๕
ประกอบด้วย ๑.ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
๒.ละเว้นจากการลักทรัพย์
๓.ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี
๔.ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ
๕.ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา
ศีล
๘
ประกอบด้วย
๑.ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
๒.ละเว้นจากการลักทรัพย์
๓.ละเว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์
๔.ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ
๕.ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา
๖.
ละเว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล
คือหลังเที่ยงวันไปแล้ว
๗. ละเว้นจากการฟ้อนรำ
ขับร้อง บรรเลงดนตรี
ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์
การทัดทรงดอกไม้
ของหอมและเครื่องลูบไล้
ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง ๘.ละเว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่หรูหราฟุ่มเฟือย
ศีล ๘
นี้มีไว้สำหรับฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไป
โดยรักษาในบางโอกาส
หรือรักษาประจำอย่างแม่ชี
เพราะความสุขที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการกินนอนอย่างสุขสบาย
การเสพกามไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
การเสพกามเปรียบเหมือนกับการเสพยาเสพติด
เมื่อเสพกามแล้วต้องเสพไปเรื่อยๆ
ต้องหามาเรื่อยๆ
หามาเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักอิ่ม
ไม่รู้จักพอ มีภรรยาหรือสามีคนเดียวก็ไม่พอต้องหามาเพิ่มเป็น
๒ เป็น ๓ เป็น ๔ ฯลฯ
ไม่มีที่สิ้นสุด
นี่คือลักษณะของการแสวงหาความสุขจากการเสพกาม
ซึ่งเมื่อเสพไปแล้วก็จะติด ถ้าไม่ได้เสพก็จะมีแต่ความทุกข์ความทรมานใจ
แต่คนที่ฉลาด
คนที่ได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว
จะเห็นโทษของการเสพกาม
แล้วก็หันมารักษาพรหมจรรย์
คือถือศีล ๘ หาความสุขจากการทำจิตใจให้สงบ
ด้วยการเข้าวัด
ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ
ฟังเทศน์ ฟังธรรม
เป็นวิธีการหาความสุขภายในใจ
เป็นความสุขที่ประเสริฐ
เป็นความสุขที่ไม่มีพิษ
ไม่มีภัย
เป็นความสุขที่มีอยู่ในตัวเรา
เป็นความสุขที่ไม่ต้องไปหาสิ่งหนึ่งสิ่งใดภายนอกตัวเรา
มาบำรุงบำเรอ
นี่คือลักษณะของพุทธมามกะ
ที่มีความสนใจ
มีความปรารถนาที่จะปฏิบัติธรรมให้ยิ่งขึ้นไป
เพื่อการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
เพราะเห็นว่าการเวียนว่ายตายเกิดเป็นกองทุกข์อันใหญ่หลวง
เกิดมาก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ
ต้องตาย
จึงปรารถนาที่จะไม่เกิด
ด้วยการออกบวช เป็นภิกษุ
ภิกษุณี สามเณร แม่ชี
ในปัจจุบันนี้ภิกษุณีได้สูญไปแล้ว
คือขาดการสืบทอดมาหลายร้อยปีแล้ว
ภิกษุณีในประเทศไทยจึงไม่มี
สุภาพสตรีที่ปรารถนาจะบวชจึงบวชเป็นแม่ชี
แม่ชีก็เป็นเหมือนกับอุบาสิกา
คือถือศีล ๘
เหมือนกับอุบาสิกา
ต่างกันตรงทีปลงผม
นุ่งขาวห่มขาว
แล้วก็ออกจากบ้าน
จะไม่อยู่ในบ้าน
จะอยู่ที่วัดหรืออยู่ตามสำนักของแม่ชี
และนอกจากการถือศีล ๘
แล้วยังปฏิบัติตามศีลของพระบางข้อ
เช่นหลังจากตอนกลางวันไปแล้ว
ถ้าจะรับประทานอะไร
ก็ต้องรับประทานในสิ่งที่พระท่านฉันได้
จะไม่รับประทานพวกนม
อาหารเสริมทั้งหลาย
เพราะพระท่านไม่ฉันกัน
แต่ฉันในสิ่งที่พระท่านฉันกัน
จะไม่อยู่สองต่อสองตามลำพังในที่ลับหูลับตากับผู้ชาย
จะไม่รับของจากมือของผู้ชาย
ถ้าจะรับของก็ให้ผู้ชายเขาเอาไว้บนผ้า
เหมือนกับเวลาที่พระรับของจากญาติโยมที่เป็นสีกา
ก็จะให้วางไว้บนผ้าแทนที่จะรับกับมือ
อย่างนี้เป็นต้น
นี่คือข้อวัตรปฏิบัติของแม่ชี
ของสตรีที่ออกบวชปฏิบัติธรรม
ส่วนผู้ชายถ้าออกบวชก็มีอยู่
๒ ลักษณะ ถ้าอายุไม่ครบ ๒๐
ก็บวชเป็นสามเณรก่อน
ถือศีล ๑๐
และปฏิบัติตามข้อวัตรบางข้อ
ที่พระท่านปฏิบัติเหมือนกับที่แม่ชีปฏิบัติ
ส่วนผู้ชายที่มีอายุครบ ๒๐
ขึ้นไป ก็จะบวชเป็นพระภิกษุ
ถือศีล ๒๒๗ ข้อ
ศึกษาปฏิบัติธรรม คือ ศีล
สมาธิ ปัญญา เช่นเดียวกับสามเณรและแม่ชี
เพื่อมรรค ผล นิพพาน
อันเป็นผลที่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะพึงได้รับ
ไม่ขึ้นอยู่กับเพศและวัย
ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี
สามเณร แม่ชี อุบาสก หรือ
อุบาสิกา
เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า
ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตราบนั้นพระอรหันต์จะไม่หมดไปจากโลก
จึงไม่ขึ้นอยู่กับการบวชหรือไม่บวช
แต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่างหาก
นอกจากนั้นแล้วพุทธมามกะยังแยกเป็น
๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ ๑.ปุถุชน
๒.อริยบุคคล
ปุถุชนก็หมายถึงผู้ยังมีกิเลส
มีความโลภ ความโกรธ
ความหลงอยู่
ยังไม่มีดวงตาเห็นธรรม
ส่วนพระอริยบุคคล
เป็นผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม
มีอยู่ ๔ ประเภท ด้วยกัน คือ ๑.พระโสดาบัน
๒.พระสกิทาคามี
๓.พระอนาคามี ๔.พระอรหันต์
ท่านเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่ได้ชำระกิเลสไปตามลำดับแห่งการปฏิบัติธรรมของท่าน
ในเบื้องต้นถ้าชำระกิเลสที่เรียกว่าสังโยชน์
๓ ตัวแรกได้ คือ ๑.สักกายทิฎฐิ
ความเห็นว่ามีตัวตน
๒.วิจิกิจฉา
ความลังเลสงสัยในพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ ๓.สีลัพพตปรามาส
ความลูบคลำในศีล ทั้ง ๓
นี้พระโสดาบันจะเป็นผู้ที่ละได้
สักกายทิฎฐิ
คือการเห็นว่าร่างกายเป็นตัวตน
แทนที่จะเห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมชาติ
เป็นสภาวธรรมที่ประกอบขึ้นจากธาตุ
๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เกิดขึ้น
ตั้งอยู่
แล้วในที่สุดก็ต้องสลายดับไป
ไม่มีตัวไม่มีตนในร่างกาย
เรียกว่าสักกายทิฎฐิ
วิจิกิจฉา
คือความลังเลสงสัยในพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ สำหรับพระโสดาบัน
ท่านจะไม่สงสัยในพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์
เพราะเหตุใด
เพราะท่านได้ปฏิบัติธรรมจนจิตของท่านได้หยั่งลงสู่กระแสธรรม
ได้เห็นพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์
อันเป็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม
ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
เช่นทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
คือเห็นหลักกรรม
เห็นว่าผู้ที่กระทำบาปจะต้องรับความทุกข์
และก็ไม่ใช่ใครที่ไหน
ก็คือใจนั่นแหละเป็นผู้ที่กระทำบาป
ก่อนที่จะพูดปดมดเท็จก็ดี
หรือลักขโมยก็ดี
ในเบื้องต้นใจต้องคิดเสียก่อน
เมื่อใจคิดแล้วว่าวันนี้จะไปขโมยของ
ก็เลยไปขโมยของ
เมื่อขโมยของเสร็จแล้ว
ใจก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา
ทุกข์เพราะอะไร
เพราะกลัวจะต้องถูกเขาจับเข้าคุกเข้าตะรางนั่นเอง
นี่แหละคือสิ่งที่พระโสดาบันเห็น
คือธรรมที่ปรากฏขึ้นในใจ
คือความสุขและความทุกข์
ถ้าไม่ลักขโมยใจก็ไม่มีความทุกข์
ถ้าลักขโมยใจก็มีความทุกข์
เมื่อเป็นเช่นนั้นพระโสดาบันก็จะไม่กระทำบาป
คือ จะรักษาศีล ๕
ไว้ตลอดชีวิต จะรักษาศีล ๕
ยิ่งกว่าชีวิต
เพราะเห็นว่าการทำผิดศีลเป็นความทุกข์
เป็นความไม่สบายใจ
ทำไปแล้วไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้มา
ท่านจึงละสีลัพพตปรามาสได้
คือการลูบคลำในศีลนั่นเอง
คือยังไม่มั่นใจว่ารักษาศีลไปทำไม
รักษาศีลแล้วโง่หรือเปล่า
คนอื่นเขาไม่รักษาศีล
เขาร่ำเขารวย
เขาสนุกสนานเฮฮา
เขาอยากจะกินเหล้าเขาก็กินได้
เขาอยากจะไปผิดสามีภรรยาของผู้อื่น
เขาก็ทำได้ เขาทำไปแล้ว
เขามีความสนุก
เขามีความสุขกัน
แต่เรานี่โง่หรือเปล่าที่มาหลงถือศีล
๕ นี่คือลักษณะของผู้ที่มีสีลัพพตปรามาสอยู่ในใจ
แต่ถ้าได้ปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว
จนกระทั่งจิตหยั่งลงสู่พระธรรมเห็นอย่างชัดแจ้ง
ว่าการทำผิดศีลทำให้เกิดความทุกข์ใจ
ไม่ได้เป็นความสุขเลย
และก็ไม่มีอะไรที่จะทรมานยิ่งกว่าความทุกข์ใจ
นี่แหละคือสิ่งที่พระโสดาบัน
พระอริยบุคคลขั้นที่ ๑
จะบรรลุเห็น
เมื่อเห็นแล้วท่านก็จะไม่สงสัยใน
พระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์
ท่านจะไม่กลัวความตายที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายของท่าน
เพราะท่านเห็นว่าร่างกายของท่านไม่ใช่ตัวตน
ไม่ใช่เป็นตัวของท่าน
เป็นสิ่งที่เกิดมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป
อาหารก็ไม่ได้มาจากที่ไหน
ก็มาจากดิน น้ำ ลม ไฟ
เราปลูกข้าว
เราปลูกไว้ที่ไหน
เราก็ปลูกในดินไม่ใช่หรือ
มันก็ต้องมาจากดิน จากน้ำ
จากลม จากไฟ
และเมื่อกินเข้าไปในร่างกายของ
มันก็กลายเป็นอาการ ๓๒
และเมื่อมันแก่ มันตายไป
มันก็แตกสลายกลับคืนสู่ธาตุ
๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ
นี่คือสิ่งที่พระโสดาบันจะเห็นได้อย่างชัดแจ้งจากการปฏิบัติธรรมของท่าน
เมื่อท่านเห็นแล้วท่านก็ไม่มีความหวั่นไหวกับการเป็นการตาย
รู้ว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา
ธรรมอันใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
ธรรมอันนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา
ต่อจากนั้นพระโสดาบันจะปฏิบัติต่อไป
เพื่อบรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่
๒ คือพระสกิทาคามี
ด้วยการทำให้ ปฏิฆะ
กับ กามราคะ เบาบางลงไป
ปฏิฆะคือความหงุดหงิดใจ
กามราคะคือความยินดีในกาม
คือยังยินดีในหญิง ในชายอยู่
ถ้าเป็นผู้หญิงก็ชอบผู้ชาย
ถ้าเป็นผู้ชายก็ชอบผู้หญิง
ถ้าเป็นกะเทยก็ยินดีในเพศเดียวกัน
อย่างนี้เรียกว่ายังมีกามราคะอยู่
เพราะยังเห็นรูปร่างหน้าตาของคนว่ายังสวยงามอยู่
เพราะเห็นแต่เพียงผิวเผินนั่นเอง
เห็นแต่เพียงภายนอก
ยังไม่เห็นภายใน
ที่อยู่ภายใต้ผิวหนังว่าร่างกายของคนเรานั้นมีถึง
๓๒ อาการด้วยกัน
ที่เห็นๆกันนั้น
เราเห็นเพียง ๕ อาการภายนอก
คือ ผม ขน เล็บ ฟัน
หนัง เท่านั้นเอง
แต่ยังไม่เห็นอาการที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวหนัง
เช่น เนื้อ เอ็น กระดูก
อวัยวะต่างๆ ตับ ไต ปอด หัวใจ
ลำไส้น้อย ลำไส้ใหญ่
เยื่อในสมอง
อาหารที่รับประทานเข้าไป
ที่อยู่ในลำไส้
ที่จะต้องถูกขับออกมาต่อไป
น้ำเลือด น้ำหนอง ฯลฯ
นี่แหละคือสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ผิวหนังของร่างกาย
ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมมาก่อน
ก็จะไม่รู้ว่ายังมีสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ผิวหนังอยู่
ถ้าใช้ปัญญาแยกแยะดูอยู่เรื่อยๆ
ต่อไปก็จะเกิดความเบื่อหน่าย
ไม่มีความยินดีในร่างกายนี้
ซึ่งเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่
ก็ต้องเริ่มมีการแก่ลงไป
ผมเผ้าก็จะร่วงโรย
จากสีดำก็จะกลายเป็นสีขาว
เนื้อหนังก็จะเหี่ยวย่นลงไป
และเมื่อตายไป
ก็จะขึ้นอืดเน่าเฟะ
เป็นสิ่งที่ไม่น่าดูเสียเลย
นี่แหละคือสภาพของร่างกายของมนุษย์เราทุกๆคน
ที่จะต้องเป็นไปอย่างนี้
และนี่ก็คือธรรมที่พระโสดาบันจะต้องเจริญ
คือจะต้องพิจารณาอยู่อย่างต่อเนื่องจนเห็นอยู่แจ่มแจ้งทั้งในใจและนอกใจ
คือหลับตาก็เห็นลืมตาก็เห็น
เมื่อเห็นสภาพของร่างกายเป็นอย่างนี้แล้ว
กามราคะก็จะถูกทำลายไป
ปฏิฆะคือความหงุดหงิดใจคือความไม่พอใจในบุคคลต่างๆก็จะดับไปด้วย
ถ้าทำให้กามราคะ
กับ ปฏิฆะ
เบาบางลงไปก็จะบรรลุเป็นพระสกิทาคามี
พระอริยะบุคคลขั้นที่ ๒ ถ้าทำให้กามราคะ
กับ ปฏิฆะ
หมดสิ้นไปจากใจ
ก็จะบรรลุเป็นพระอนาคามี
พระอริยะขั้นที่ ๓
พระอนาคามีเป็นผู้ที่จะไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีกต่อไป
ถ้าปฏิบัติธรรมจนบรรลุถึงขั้นพระอนาคามีแล้ว
แต่ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์
เกิดมีอันเป็นไปที่จะต้องตายไปก่อน
เมื่อตายไปแล้วก็จะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นสุทธาวาส
คือพรหม ๕
ชั้นที่สูงสุดในขั้นรูปาวจร
ได้แก่ ๑.อวิหา
๒. อตัปปา ๓.สุทัสสา
๔.สุทัสสี ๕.อกนิฏฐา
แล้วจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ในชั้นสุทธาวาสนั้นๆไป
แต่ถ้ายังมีชีวิตอยู่แล้วปฏิบัติธรรมต่อไปก็ยังจะต้องทำลายสังโยชน์เบื้องบนอีก
๕ ตัวด้วยกัน ได้แก่
๑.รูปราคะ ๒.อรูปราคะ
๓.อุทธัจจะ ๔.มานะ
๕.อวิชชา นี่คือสังโยชน์เบื้องบน
ซึ่งเป็นธรรมอันละเอียดที่จะไม่นำมาขยายความในที่นี้
เพราะยากแก่การเข้าใจของญาติโยม
และยากแก่การแสดงด้วย
เพียงอยากแสดงให้ทราบว่า
นี่คือกิเลสที่พระอนาคามีจะต้องทำลาย
เพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์
ถ้าสามารถทำลายได้หมด
ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์
บรรลุถึงพระนิพพาน
ใจก็จะกลายเป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์
ไม่มีความโลภ ความโกรธ
ความหลง ความอยาก
คือตัณหาทั้งหลายเหลืออยู่ในใจเลย
เมื่อไม่มีกิเลสตัณหาแล้ว
ใจก็จะไม่เดินทางอีกต่อไป
จะไม่ไปเกิดอีกต่อไป
เปรียบเหมือนกับรถยนต์
เมื่อน้ำมันหมดถังแล้ว
ก็ไม่มีเชื้อเพลิงที่จะขับให้รถยนต์วิ่งต่อไปได้
รถยนต์ก็ต้องจอดอยู่กับที่
ฉันใดใจก็เช่นกันเมื่อใจไม่มีเชื้อเพลิงแห่งภพแห่งชาติแล้ว
ใจก็ไม่ไปเกิดอีกต่อไป
แต่การไม่ไปเกิดของใจ
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าเสียใจ
หรือไม่น่ายินดี
กลับเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง
เพราะใจที่ไม่มีการไปไหนมาไหนแล้วนั้นแหละเป็นใจที่นิ่ง
เป็นใจที่สงบ
เป็นใจที่มีความสุขที่ประเสริฐ
ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า
ไม่มีความสุขอันใดในโลกนี้จะเสมอเท่า
หรือประเสริฐเท่า
กับความสุขที่เกิดจากความสงบนิ่งของใจ
เมื่อถึงพระนิพพานแล้ว
ก็เท่ากับได้เดินทางถึงจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยแล้ว
เป็นบ้านที่แท้จริงของเรา
เป็นบ้านที่มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมบริบูรณ์
พร้อมที่จะให้ความสุขกับเรา
พร้อมที่จะให้ความอิ่มเอิบกับเรา
พร้อมที่จะให้ความพอกับเรา
ไม่มีความทุกข์แม้แต่นิดเดียวแฝงอยู่ในบ้านหลังนี้เลย
นี่แหละก็คือความประเสริฐของพระนิพพาน
ที่บรรดาพุทธมามกะทั้งหลายผู้มีจิตศรัทธา
ได้น้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ
จนกระทั่งชำระใจของตนให้สะอาดหมดจด
จนกลายเป็นพระนิพพานขึ้นมาในใจของท่านเหล่านั้น
นี่แหละก็คือสิ่งที่ประเสริฐที่สุด
เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนาสอนให้พุทธมามกะทั้งหลายปฏิบัติตาม
เพราะไม่มีอะไรจะดีได้เท่ากับการปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้า
ที่สรุปลงใน ๓ หัวข้อใหญ่ว่า ๑.ละการทำบาปทั้งปวง
๒.ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม
๓.ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจดปราศจากกิเลสตัณหาทั้งหลาย
เป็นวิถีทางที่พุทธมามกะทุกๆคนพึงประพฤติปฏิบัติกัน
เพราะเป็นการนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล
ความสุข ความเจริญที่แท้จริง
ถึงแม้ว่าในขณะที่ปฏิบัติ
ใจยังไม่สามารถบรรลุถึงพระนิพพานได้
แต่ภพชาติที่จะเกิดตามมาย่อมเป็นสุคติภพทั้งนั้น
เช่นพระโสดาบันจะมีสุคติภพเหลืออยู่เพียง
๗ ชาติเป็นอย่างมาก
ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหันต์ก่อนหน้านั้น
ท่านก็จะกลับมาเกิดอีกไม่เกิน
๗ ชาติ
แต่จะเกิดอยู่ในสุคติภพเท่านั้น
คือจะเกิดอยู่ในภพของมนุษย์
ของเทวดา ของพรหมเท่านั้น
ท่านจะไม่ไปเกิดเป็นเดียรัจฉาน
เป็นเปรต เป็นอสุรกาย
หรือเป็นสัตว์นรก
เพราะท่านมีธรรมของพระพุทธเจ้าคอยเหนี่ยวรั้งไว้
คอยปกป้องไม่ให้ไปเกิดในอบายทั้ง
๔ นั่นเอง
นี่คืออานิสงส์ของผู้ปฏิบัติตามทางของพระพุทธเจ้า
ถ้าปฏิบัติขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งจนบรรลุเป็นพระสกิทาคามี
ภพชาติในสุคติภพก็จะเหลือเพียงชาติเดียว
ถ้าบรรลุเป็นพระอนาคามี
ตายไปก็จะไม่กลับมาเกิดในกามภพ
คือไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์
ไม่กลับมาเกิดเป็นเทวดา
แต่จะไปเกิดเป็นพรหม
อยู่บนสวรรค์ชั้นสุทธาวาส ๕
ชั้น
แล้วจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ไปในที่สุด
ถ้าปฏิบัติจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาติปัจจุบัน
เมื่อตายไปก็จะไม่เกิดอีกต่อไป
เพราะได้บรรลุถึงพระนิพพาน
นี่แหละคือเรื่องราวของพุทธมามกะผู้ปฏิบัติธรรมตามพระพุทธเจ้า
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้