กัณฑ์ที่
๑๑๑ ๒๖
เมษายน ๒๕๔๕
ใจเป็นนาย
กายเป็นบ่าว
วันนี้ท่านสาธุชนทั้งหลายได้ตั้งใจมาวัด
เพื่อประกอบคุณงามความดี เสริมสร้างสิริมงคลให้กับชีวิต
คนเราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้
ล้วนปรารถนาความสุขความเจริญ
ความเป็นสิริมงคลด้วยกันทั้งนั้น
สำหรับผู้ที่มาวัดอย่างสม่ำเสมอ
ย่อมรู้ว่าความสุข ความเจริญ
ความเป็นสิริมงคล
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้อื่น
ไม่มีใครจะหยิบยกความสุข
ความเจริญ
ความเป็นสิริมงคลให้กันได้
เพราะว่าความสุข ความเจริญ
ความเป็นสิริมงคล
เป็นผลที่เกิดจากการกระทำของแต่ละคน
ที่ทำกันทางกาย
ทางวาจาและทางใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำทางใจ
เพราะการกระทำทางใจ
เป็นต้นเหตุของการกระทำทางกายและทางวาจา
ถ้าไม่มีการกระทำทางใจเกิดขึ้น
การกระทำทางวาจาและทางกายย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
เพราะ ใจเป็นนาย
กายเป็นบ่าว
ยกตัวอย่างเวลาคนตายไปแล้ว
ร่างกายไม่มีใจสถิตอยู่
ไม่มีการทำงานของใจ
ที่จะไปสั่งการให้ร่างกายพูดหรือทำอะไร
ร่างกายจึงต้องนอนอยู่เฉยๆ
แล้วก็ต้องแปรสภาพไปตามความเป็นจริงของเขา
คือเมื่อร่างกายหยุดการสืบต่อ
ไม่มีลมหายใจแล้ว
ก็จะมีแต่การแตก การแยก
การสลายของธาตุ ๔
ที่มารวมกัน
ทำให้เกิดเป็นร่างกายขึ้นมา
เมื่อไม่มีใจที่จะควบคุมดูแล
คอยสั่งให้ร่างกายทำสิ่งต่างๆแล้ว
ร่างกายก็ต้องเสื่อมสลายกลับคืนสู่
ดิน น้ำ ลม ไฟ เพราะร่างกายมาจากดิน
น้ำ ลม ไฟ
ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องกลับคืนสู่
ดิน น้ำ ลม ไฟ ดังที่เห็นกันในคนตาย
เมื่อเอาไปเผาไฟ
น้ำก็แห้งหายไป ลมก็หมดไป
ไฟก็หมดไป เหลือแต่ขี้เถ้า
ขี้เถ้าก็เป็นธาตุดิน
ถ้าทิ้งศพไว้เฉยๆ
ไม่ได้เผา
ต่อไปก็จะผุสลายกลายเป็นดินไปหมด
แต่ถ้าร่างกายยังมีใจสถิตอยู่
อย่างร่างกายของพวกเรา ขณะที่เรากำลังฟังเทศน์
ฟังธรรมอยู่นี้
เราทราบหรือไม่ว่าใครเป็นผู้ฟังเทศน์
ฟังธรรม เราอาจจะคิดว่าร่างกายเป็นผู้ฟังเทศน์
ฟังธรรม
แต่ความจริงแล้วร่างกายฟังเทศน์
ฟังธรรมไม่ได้
เพราะร่างกายไม่รู้เรื่อง
เหมือนเวลาไปเทศน์ให้คนตายฟัง
เทศน์ไปจนคนตายสลายกลายเป็นขี้เถ้าไป
คนตายก็ไม่รู้เรื่อง
เพราะร่างกายไม่มีธาตุรู้อยู่ในร่างกาย
ผู้ที่รู้นี้เราเรียกว่าใจ
คือธาตุรู้
โดยอาศัยร่างกายเป็นสื่อถ่ายทอด
เป็นเครื่องมือรับเสียงจากผู้แสดง
ผ่านหูของร่างกาย
เพื่อเข้าไปสู่ใจอีกทีหนึ่ง
ใจเป็นผู้รู้
ใจเป็นผู้รับฟัง
แล้วใจเป็นผู้คิด
ผู้สั่งการต่างๆ ให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ
ให้ลุกขึ้น ให้เดินไป เดินมา
ให้มาที่วัด ให้ไปที่โน่น
มาที่นี่ ให้พูดอย่างนั้น
อย่างนี้
เหล่านี้ใจเป็นผู้สั่งการ
ใจเป็นผู้ทำงานก่อน
ใจต้องคิดก่อน
ว่าจะพูดอะไรจะทำอะไร
ถึงจะพูดได้ ถึงจะทำได้
ในทางพระพุทธศาสนา
จึงถือใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
เป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลอบรม
เพราะว่าใจที่ได้รับการอบรมดีแล้ว
จะนำความสุขมาให้
แต่ใจที่ไม่ได้รับการอบรม
ก็จะนำมาแต่ความทุกข์
ความวุ่นวายใจ
เพราะใจเปรียบเหมือนกับเด็กๆ
เวลาเกิดมาใหม่ๆ ต้องให้พ่อแม่คอยอบรมสั่งสอน
เพราะยังไม่รู้เรื่องผิดถูกดีชั่ว
ไม่รู้ว่าอะไรควร
อะไรไม่ควร
ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุของความสุข
ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุของความทุกข์
ถ้าไม่มีใครสั่งสอนแล้ว
ก็จะทำไปตามความไม่รู้ของตน
เมื่อทำไปแล้วก็จะสร้างปัญหาต่างๆตามมา
มากมายก่ายกอง
ดังที่เห็นกันอยู่ทุกๆ
วันนี้ในสังคม
คนที่ไม่ได้เข้าวัด เข้าวา
ฟังเทศน์ ฟังธรรม ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้จักเรื่องผิดถูกดีชั่ว
เรื่องคุณ เรื่องโทษ
ก็จะทำสิ่งต่างๆ
ที่เป็นไปตามความอยากของตน
ซึ่งมีความหลงครอบงำอยู่
คือจะเห็นผิดเป็นชอบ
เห็นสิ่งที่เป็นคุณว่าเป็นโทษ
เห็นสิ่งที่เป็นโทษว่าเป็นคุณ
เมื่อทำไปแล้วก็เลยต้องรับโทษตามมา
เพราะคิดว่าการกระทำนั้นๆเป็นคุณ
คือตนเองมีความสุข
แต่หารู้ไม่ว่ามันเป็นความสุขเพียงชั่วระยะสั้นๆ
หลังจากนั้นแล้วโทษอันใหญ่หลวงก็จะตามมา
อย่างคนที่ไปคดโกง
ไปลักทรัพย์
ไปประพฤติผิดประเวณี
เขาก็คิดว่าเขาทำแล้ว
เขามีความสุข
เพราะเมื่อเขาไปโกงมา
เขาก็ได้เงินมาแบบที่ไม่ต้องเหนื่อยแรง
ไม่ต้องเสียเวลามากกับการทำมาหากินโดยสุจริต
กว่าจะได้เงินมาสักบาทหนึ่ง
ก็เหนื่อยแทบแย่
ถ้าไปโกงเขามาหรือไปขโมยเขามา
จะได้เงินมาทีละมากๆ
และได้มาอย่างรวดเร็ว
เมื่อได้เงินมาแล้ว
ก็เอาไปใช้จ่ายซื้อสิ่งต่างๆที่ตนต้องการได้
ก็มีความสุขในขณะที่ได้ใช้เงินนั้น
แต่การกระทำผิดศีล ผิดกฎหมาย
ย่อมมีโทษตามมา
ทางบ้านเมืองก็ต้องตามจับ
ทางใจๆก็ไม่มีความสุข
เพราะจะไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ
เป็นปกติได้
ต้องคอยหวาดระแวง
มองไปข้างหน้า
มองไปข้างหลังอยู่เสมอ
ว่าจะมีใครมาตามจับ
เอาเข้าคุกเข้าตะรางหรือเปล่า
นี่ก็เป็นเพราะว่าเวลาจะทำอะไร
ไม่ได้คิดอย่างรอบคอบ
ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา
คือใจไม่ได้รับการอบรมมาก่อนนั่นเอง
ถ้าได้รับการอบรมแล้ว
จะรู้ว่าการกระทำอันใดเป็นคุณ การกระทำอันใดเป็นโทษ
เมื่อรู้แล้วก็จะทำแต่สิ่งที่เป็นคุณ
สิ่งที่เป็นโทษก็จะไม่ทำ
เมื่อไม่ทำในสิ่งที่เป็นโทษแล้ว
ความทุกข์ความหายนะทั้งหลายก็จะไม่ตามมา
ถ้าทำแต่สิ่งที่เป็นคุณอย่างเดียว
ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญตามมา
นี่คือเรื่องสำคัญที่ใจจะต้องศึกษา
จะต้องรู้ สาเหตุที่เราต้องเข้าวัดกัน
ก็เป็นเพราะว่า
วัดเป็นสถานที่อบรมสั่งสอนใจ ให้รู้จักเรื่องผิดถูกดีชั่ว
ให้รู้จักเรื่องนรก
เรื่องสวรรค์
แต่ใจของเราโดยปกติเป็นใจที่มีความรีบร้อน
เป็นใจที่ชอบชิงสุกก่อนห่าม
คืออยากจะได้อะไรเร็วๆ
โดยไม่คำนึงถึงเหตุ
ว่าการที่จะได้อะไรมาต้องใช้เวลา
ไม่ใช่อยู่ๆอยากจะได้อะไร
ก็จะได้มาทันที เช่นความสุข
ความเจริญ
ความเป็นสิริมงคลนี้
เป็นสิ่งที่จะตามมาต่อเมื่อเราประพฤติตนในทางที่ดี
คือทำแต่บุญ
ทำแต่กุศลนั่นเอง
และก็ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
ทำแบบใช้เวลานานพอสมควร
กว่าผลที่ดีจะปรากฏขึ้นมา
ดังที่เราได้ยินได้ฟังเสมอว่า
ระยะทางเป็นเครื่องพิสูจน์ม้า
เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์คน คนเราก่อนจะดีได้
จะต้องทำความดีมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน
จนเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น
จะทำความดีแค่ครั้ง สองครั้ง
แล้วหวังให้คนอื่นเขายกย่อง
ว่าเป็นคนดี
ย่อมเป็นไปไม่ได้
เพราะเขายังไม่แน่ใจ
ว่าคนที่ทำความดีเพียงครั้งสองครั้ง
จะทำความดีไปตลอดหรือไม่
แต่ถ้าทำความดีไปเรื่อยๆ
เป็นปีๆ เป็นสิบๆปีไป
จนไปที่ไหน
เขาก็รู้ว่าเป็นคนดี
ก็จะได้รับการยกย่อง
ได้รับการสรรเสริญ
ได้รับการสนับสนุน
อย่างพระพุทธศาสนาที่ได้ปรากฏขึ้นมาเป็นเวลาถึง
๒๕๐๐ กว่าปี
เป็นศาสนาที่สอนให้คนทำความดี
เป็นศาสนาที่ไม่สร้างความเดือดร้อน
ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
อยู่ที่ไหนก็มีแต่สร้างความร่มเย็นเป็นสุข
ทำให้ทุกคนตายใจได้กับพระพุทธศาสนา
เชื่อได้เต็มที่ว่าพระพุทธศาสนาไม่เป็นพิษเป็นภัย
มีแต่คุณ
มีแต่ประโยชน์อย่างเดียว
แต่ถ้าพระพุทธศาสนาไปปรากฏขึ้นที่อื่น
ที่ยังไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน
ก็ต้องใช้เวลากว่าจะเป็นที่ยอมรับกัน
อย่างสมัยนี้มีพระนำพระศาสนาไปเผยแผ่ตามประเทศต่างๆ
คนต่างชาติที่ยังไม่เคยได้สัมผัสกับพระพุทธศาสนา
ก็ยังไม่มีความแน่ใจ
ยังมีความสงสัยอยู่
ว่าศาสนานี้เป็นศาสนาที่ดีจริงหรือไม่
แต่ถ้าได้สัมผัสกับศาสนาไปเรื่อยๆ
อยู่กับศาสนาไปเรื่อยๆ
ต่อไปก็จะเห็นเองว่า
ศาสนาเป็นคุณ เป็นประโยชน์
ไม่มีโทษเลยแม้แต่นิดเดียว
เพราะศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี
สอนให้ละเว้นจากการกระทำความชั่ว
สอนให้มีความเมตตากรุณา
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน
สอนให้มีความกตัญญูกตเวที
เป็นผู้มีความรู้คุณของผู้อื่น
และตอบแทนคุณของผู้อื่น
สอนให้มีสัมมาคารวะ
รู้จักที่สูงที่ต่ำ
อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ประเสริฐ
มนุษย์เรานี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐ
เพราะรู้จักที่สูงที่ต่ำ
ต่างกับเดรัจฉานๆ
ที่ไม่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐ
เพราะไม่รู้จักที่สูงที่ต่ำ
ไม่รู้จักผู้มีพระคุณ
เช่นบิดามารดา
เดรัจฉานรู้อยู่อย่างเดียวคือกำลัง
ใครมีกำลังถือว่าเป็นใหญ่
มนุษย์ไม่ได้อยู่แบบเดรัจฉาน
แต่อยู่กันด้วยความสงบ
ด้วยสันติสุข
ด้วยการเคารพในสิทธิของกันและกัน
รู้ว่าคนเราทุกๆคนต้องการความสุขด้วยกันทุกคน
ไม่มีใครต้องการความทุกข์
ไม่ต้องการให้ใครเบียดเบียนตนฉันใด
มนุษย์ก็ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันฉันนั้น
นี่คือฐานะของมนุษย์
มนุษย์มีสติ มีปัญญา
สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรถูก
อะไรผิด อะไรดี อะไรชั่ว
จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้
จึงต้องอาศัยพระพุทธศาสนาอบรมสั่งสอน
ถ้าไม่มีศาสนาคอยอบรมสั่งสอน
ก็จะไม่เป็นมนุษย์กัน
จะเป็นเดรัจฉานกันเสียส่วนใหญ่
เพราะไม่รู้จักกฎแห่งกรรม
จึงประพฤติผิดศีลผิดธรรมเป็นว่าเล่น
เช่น ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี
พูดปดมดเท็จ ซึงไม่ใช่ฐานะของมนุษย์จะทำกัน
เพราะมนุษย์รู้ว่าการกระทำเหล่านี้
นำโทษมาให้กับตนและกับผู้อื่น
จึงไม่ทำกัน
มนุษย์เป็นผู้ประเสริฐ
เพราะมีสติ มีปัญญา
สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรถูกและอะไรผิด
การที่สามารถแยกแยะได้
ก็เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง
ถ้าไม่มีคำสอนก็จะไม่สามารถแยกแยะได้
ถ้าไม่เคยได้รับการอบรมมาก่อนในอดีตชาติ
ถ้าเคยได้รับการอบรมมาแล้ว
ก็จะเป็นสิ่งที่ติดมากับใจ
เมื่อมาเกิดในโลกนี้
ถึงแม้จะไม่มีศาสนาสอนให้รู้จักผิดถูกดีชั่วก็ตาม
แต่ในใจจะรู้ว่าอะไรผิด
อะไรถูก อะไรดี อะไรชั่ว
แล้วก็จะไม่ทำในสิ่งที่ชั่ว
จะทำแต่สิ่งที่ถูก ที่ดี
ซึ่งเป็นมงคลอย่างหนึ่ง
สำหรับผู้ที่ได้รับการอบรมมาในอดีตชาติ
ได้ทำบุญมาในอดีตชาติ
ได้ยินได้ฟังธรรม
ได้รู้จักเรื่องบุญกุศล
นรกและสวรรค์
เมื่อได้รับการอบรมมาแล้ว
ก็จะติดมากับใจ
เมื่อตายไปจากชาติก่อน
ก็ทิ้งร่างกายไป
ไม่ว่าจะเป็นร่างกายชนิดไหนในอดีต
ก็ทิ้งไป แล้วก็มาเกิดใหม่
แต่ใจที่มาเกิดใหม่
ไม่ได้เปลี่ยนไปจากชาติที่แล้ว
ใจเคยเป็นอย่างไร
เคยรู้สึกนึกคิดอย่างไร
เคยชอบทำอะไร
ก็จะติดเป็นนิสัยมา
ถ้าเคยเป็นคนดี
ก็จะเป็นคนดี
ถ้าเคยเป็นคนไม่ดี
ก็จะเป็นคนไม่ดี
ถ้าเป็นครึ่งๆกลางๆ
ดีบ้างไม่ดีบ้าง
ก็จะเป็นในลักษณะนั้น ดีบ้าง
ไม่ดีบ้าง สลับกันไป
นี่คือลักษณะของใจ
บุญกุศล บาปกรรมต่างๆ
ที่ทำไว้ ไม่สูญหายไปไหน
ถูกฝังอยู่ในใจ
เหมือนกับปลูกต้นไม้
เอาเมล็ดพันธุ์ใส่ลงไปในดิน
เมื่อดินได้รับน้ำ รับแดด
รับลม
เมล็ดพันธุ์ก็จะงอกออกมาเป็นต้น
และออกดอกออกผลในเวลาต่อมา
บุญกุศล
บาปกรรมที่ทำในชาติก่อนๆ
ก็เป็นเช่นนั้น
เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์พืชที่ฝังอยู่ในใจ
จะค่อยเจริญงอกงาม
จนออกดอกออกผล
ทำให้เมื่อมาเกิดในแต่ละภพแต่ละชาติ
มีนิสัยใจคอเป็นไปตามบุญกรรมที่ได้ทำมาในอดีต
คนเราเกิดมาจึงมีนิสัยใจคอไม่เหมือนกัน
ถึงแม้จะมาจากพ่อแม่เดียวกันก็ตาม
ถึงแม้จะเป็นฝาแฝดก็ตาม
แต่นิสัยใจคอจะไม่เหมือนกัน
ถ้ามีเหมือนกันบ้าง
ก็เป็นเหตุบังเอิญที่ใจทั้งสองมีนิสัยคล้ายคลึงกัน
พี่น้องในครอบครัวเดียวกัน
จะมีนิสัยใจคอไม่เหมือนกัน
เพราะใจของแต่ละคนไม่ได้เกิดมาจากพ่อจากแม่
ใจเป็นสิ่งที่มีอยู่ดั้งเดิม
เรียกว่าธาตุรู้
ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร
จากภพนี้ก็ไปสู่ภพหน้า ไปตามกำลังของบุญของกรรมพาไป
ในแต่ละภพแต่ละชาติ
ก็จะสะสมบุญ
สะสมกรรมไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นนิสัยดีบ้าง
นิสัยไม่ดีบ้าง
เมื่อโคจรมาเกิดในท้องแม่เดียวกัน
คลอดออกมาเป็นพี่เป็นน้องกัน
เหมือนกับญาติโยมที่อยู่ในศาลานี้
ก็มาจากที่ต่างๆกัน
มาเจอกันที่ศาลานี้
เราก็รู้ว่าเราไม่ได้เป็นพี่เป็นน้องกันฉันใด
พี่น้องของเราก็เป็นแบบนั้น
เป็นพี่น้องกันเพียงแต่ร่างกายเท่านั้น
เพราะเกิดจากพ่อแม่เดียวกัน
จึงมีหน้าตาคล้ายคลึงกัน
แต่นิสัยใจคอไม่เหมือนกัน
เพราะเป็นเรื่องของใจ
ที่ไม่ได้มาจากพ่อจากแม่
แต่มาจากชาติก่อน
เป็นดวงวิญญาณที่ล่องลอยหาที่เกิด
เมื่อมีเหตุปัจจัยทำให้ปฏิสนธิได้
ก็จะเกิดการปฏิสนธิขึ้นมา
คือเมื่อมีธาตุของพ่อและของแม่มาผสมกัน
ก็เป็นปัจจัยพร้อมที่จะให้มีการปฏิสนธิได้
ถ้ามีใจผ่านมาในขณะนั้น
หรือจ้องรออยู่แล้ว
ก็จะสามารถเข้าไปปฏิสนธิในครรภ์นั้นได้ทันที
นี่คือเรื่องของใจกับกาย
ต้องเข้าใจและแยกแยะให้ออกว่า
ใจและกายเป็นคนละส่วนกัน ใจเป็นนาย
กายเป็นบ่าว
ร่างกายเปรียบเหมือนเสื้อผ้าอาภรณ์
ที่เราสวมใส่
ไม่มีความสำคัญอะไร
มากกว่าเป็นเครื่องรับใช้ใจ ใจต่างหากที่เป็นตัวสำคัญ
ใจเป็นผู้สร้างความสุขและสร้างความทุกข์
ใจเป็นผู้สร้างนรก
ใจเป็นผู้สร้างสวรรค์
ถ้าใจคิดดีใจก็มีความสุข
ถ้าใจคิดร้าย
ใจก็มีความทุกข์
ปัญหาทั้งหมดจึงอยู่ที่ใจ
พระพุทธศาสนาจึงสอนให้ดูใจของเรา
รักษาใจของเรา
อบรมใจของเราให้ดี
ด้วยการเข้าหาผู้รู้คือพระพุทธเจ้า
พระอรหันตสาวกทั้งหลาย
เข้าหาพระธรรมคำสอน
เพราะเรายังไม่รู้จักวิธีรักษาใจของเรา
ยังไม่รู้จักแยกแยะ
ว่าอะไรดีสำหรับใจ
อะไรไม่ดีสำหรับใจ
เราจึงต้องอาศัยพระพุทธเจ้าเป็นผู้นำ
เป็นผู้สอน
เมื่อได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว
ก็จะรู้ว่า อะไรผิด อะไรถูก
อะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นคุณ
อะไรเป็นโทษ เมื่อรู้แล้ว
ก็จะได้นำสิ่งที่รู้มาปฏิบัติกับใจของเรา
พยายามดำเนินตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ให้ทำความดี
ละความชั่ว
ชำระใจให้บริสุทธิ์
ด้วยการกำจัดโลภ โกรธ หลง
กำจัดตัณหา ความอยากทั้งหลาย
ให้ออกไปจากใจ
เป็นวิธีที่จะทำให้เราเจริญรุ่งเรือง
ทำให้เรามีความสุข
ถ้าปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว
ความสุขและความเจริญ
ความเป็นสิริมงคลทั้งหลาย
ย่อมเป็นผลตามมาอย่างแน่นอน
เพราะว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงพิสูจน์มาแล้ว
ได้ปฏิบัติมาแล้ว
ถ้าเปรียบเหมือนกับคนไข้
ก็เคยได้ทดลองยามาแล้ว
รู้ว่าเวลามีโรคนี้เกิดขึ้นแล้ว
ถ้ากินยาชนิดนี้เข้าไปก็จะรักษาให้โรคนี้หายไปได้
ฉันใดโรคของใจก็คือความทุกข์
ความวุ่นวายใจ
ความว้าวุ่นขุ่นมัว
ความเศร้าโศกเสียใจ
ความวิตกกังวลใจ
ความหวาดกลัวต่างๆ
จะถูกรักษาให้หายได้ด้วยธรรมโอสถ
คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
โดยอาศัยพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง
เราเชื่อพระพุทธเจ้าได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์
เพราะว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงทดลองยาเหล่านี้มาแล้ว
จึงทรงนำมาเผยแผ่สั่งสอนให้กับพวกเรา
ในอดีตก็มีคนอย่างพวกเรา
ที่ได้ยินได้ฟังสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
แล้วเกิดมีศรัทธาความเชื่อในพระพุทธเจ้า
นำสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไปปฏิบัติ
คือ ทำแต่ความดี
ละความชั่ว ชำระใจ
ด้วยการฝึกหัดนั่งทำสมาธิ
เดินจงกรม เจริญวิปัสสนา
จนชำระกิเลสตัณหา โลภโกรธหลง
ความอยากต่างๆ ให้หมดไปจากใจ
กลายเป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา
เป็นพระอรหันตสาวกขึ้นมา
เป็นผู้รับรองคำสอนของพระพุทธเจ้า
เป็นผู้รับรองธรรมโอสถของพระพุทธเจ้า
ว่ายารักษาโรคใจที่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบนั้น
เป็นยาที่วิเศษจริงๆ
สามารถรักษาใจให้อยู่เหนือความทุกข์ได้
เมื่อได้รู้
ได้เห็น
ได้พิสูจน์อย่างเต็มที่แล้วว่า
สิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ล้วนแต่เป็นความจริง
ท่านเหล่านั้นจึงกลายเป็นผู้รับรองพระพุทธเจ้า
และช่วยพระพุทธเจ้าสั่งสอนผู้อื่นต่อไป
พระพุทธศาสนาจึงได้รับการสืบทอดมาในแนวนี้
คือจากผู้รู้สู่ผู้ไม่รู้ ผู้ไม่รู้ก็รับมาด้วยความศรัทธา
รับมาแล้วก็ลองปฏิบัติดู
เมื่อปฏิบัติดูก็เห็นจริงเห็นจัง
เพราะเป็นอย่างนั้นจริงๆ
เหมือนกับเวลาไปหาหมอ
หมอเขาบอกว่าเป็นโรคอย่างนี้
ต้องรับประทานยาอย่างนี้
หมอให้ยามา
ก็รับประทานตามหมอสั่ง
เป็นคนไข้ก็เชื่อหมอ
ไม่มีคนไข้คนไหนที่ไม่เชื่อหมอ
ถ้าไม่เชื่อหมอก็คงจะไม่ไปหาหมอ
ทุกคนเวลาเป็นไข้ไม่สบาย
ก็จะไปหาหมอกันทั้งนั้น
เมื่อไปหาหมอ หมอให้ยาอะไรมา
ก็รับยามารับประทานตามที่หมอสั่งทุกประการ
ผลที่ปรากฏตามมาก็คือ
หายจากโรคภัยไข้เจ็บ
นี่แหละคือเรื่องราวของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
เป็นเหมือนยารักษาโรค
รักษาโรคใจของเรา
ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าใจของตนไม่มีโรคไม่มีภัย
โรคภัยของใจก็คือ
ความว้าวุ่นขุ่นมัว
ความทุกข์ ความกังวลใจ
นี่แหละคือโรคของใจ
และไม่มีอะไรที่จะรักษาโรคของใจได้
นอกจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
นี่แหละคือเหตุที่ต้องมาวัดกันอย่างสม่ำเสมอ
มาทำบุญทำทาน มารักษาศีล
มาฟังเทศน์ฟังธรรม
เป็นทางที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้
ให้ปฏิบัติกัน
การทำบุญก็เป็นการกระทำความดี
การรักษาศีลก็เป็นการละเว้นจากการกระทำความชั่ว
การฟังเทศน์ฟังธรรม
ก็เป็นการชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจนั่นเอง
เพราะว่ากิเลสตัณหาเกิดจากความหลง
ความหลงก็คือความไม่รู้
ไม่รู้ผิดถูกดีชั่ว
ไม่รู้ว่าอะไรทำให้ใจเป็นสุข
ไม่รู้ว่าอะไรทำให้ใจเป็นทุกข์
แต่เมื่อได้ยินได้ฟังธรรมแล้ว
ก็จะรู้ว่าอะไรทำให้ใจมีความสุข
อะไรทำให้ใจมีความทุกข์
ใจสุขเพราะใจปล่อยวาง
ใจทุกข์เพราะใจยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ
การที่ใจจะปล่อยวางได้
ใจจะต้องรู้ว่าสิ่งที่ตนไปยึดไปติดอยู่
เป็นสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย
เป็นเหมือนกับอสรพิษ
คนเราถ้ารู้ว่าสิ่งต่างๆที่เราไปยึดไปติดเป็นงูพิษ
เราก็จะไม่ยึดไม่ติดกัน
เพราะรู้ว่างูพิษจะต้องกัดเรา
ฉันใดสิ่งต่างๆที่เราไปยึดไปติด
ก็เป็นเหมือนกับงูพิษ
เพราะเป็นของไม่เที่ยงหนึ่ง
เป็นสิ่งที่เราไปครอบครองเป็นเจ้าของไม่ได้
ไปควบคุม
ไปบังคับให้เป็นไปดังที่เราต้องการไม่ได้
เช่นสามีเรา ภรรยาเรา
ลูกของเรา บิดามารดาของเรา
เพื่อนฝูงของเรา
เราไปควบคุมเขาไม่ได้
เขาก็จะไม่อยู่กับเราไปตลอด
เพราะเป็นของไม่เที่ยง
เขาจะต้องไปตามเรื่อง ตามบุญ
ตามกรรมของเขา
เมื่อถึงเวลาที่เขาจะต้องจากเราไป
เขาก็ต้องจากเราไป
ถ้าเรามีปัญญา เราเข้าใจ
เราก็จะไม่ไปยึดไปติด
เราจะเห็นเขาเหมือนกับเป็นอสรพิษ
จะอยู่กับเขาแบบเป็นเพื่อนกัน
อยู่ไปตามมี ตามเกิด
ตามอัตภาพ
เมื่อถึงเวลาจะต้องจากกัน
ก็ต้องรู้ว่าเป็นเรื่องปกติ
เป็นเรื่องธรรมดา
นี่แหละคือปัญญา
นี่แหละคือธรรมะ
ที่จะสอนให้เราปล่อยวาง
เมื่อปล่อยวางได้
ใจก็จะไม่ทุกข์กับอะไร การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้