กัณฑ์ที่ ๑๑๒     ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๕

ข้อวัตรปฏิบัติ

 

วันนี้เป็นวันหยุดไม่ต้องทำงาน และก็เป็นวันพระด้วย เป็นวันธรรมสวนะ วันฟังธรรม  ญาติโยมจึงได้มาที่วัดเพื่อประกอบคุณงามความดี มีการบูชาพระรัตนตรัย ทำบุญให้ทาน ตักบาตร ถวายภัตตาหาร ถวายสังฆทาน สมาทานศีล ฟังเทศน์ฟังธรรมกัน  ซึ่งเป็นวิถีทางปฏิบัติที่ดี ที่งาม ของพุทธศาสนิกชนทุกๆคน ที่พึงกระทำกันอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง  ทุกๆครั้งที่ท่านมาที่วัดนี้ ท่านก็มักจะมากันในเวลานี้  ท่านก็จะพบกับพระที่นั่งอยู่ในบริเวณศาลาแห่งนี้เป็นประจำ  แต่ตอนเวลาอื่นที่ท่านไม่ได้มาที่วัด ท่านก็คงอยากจะทราบว่าพระเณร นอกจากที่มาปฏิบัติกิจที่ศาลานี้แล้ว ท่านปฏิบัติกิจอย่างอื่นบ้างหรือเปล่า  วันๆหนึ่งท่านทำอะไรกันบ้าง  วันนี้เลยขอถือโอกาสบอกให้ทราบว่ากิจวัตรของทางวัดนี้มีอะไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ ๔ นาฬิกา คือตี ๔  ก็จะมีการเปิดพระอุโบสถ สำหรับผู้ที่มีความต้องการจะเข้าไปนั่งสมาธิในโบสถ์ ก็จะเข้าไปได้ตั้งแต่ตอนตี ๔ แล้วก็จะนั่งถึงตี ๕  เวลาตี ๕ ก็จะเป็นเวลาร่วมกันไหว้พระสวดมนต์ ทำวัตรเช้า ไปจนกระทั่งถึงเวลาประมาณตีห้าครึ่ง ก็เตรียมตัวออกบิณฑบาต  หลังจากบิณฑบาตเสร็จกลับมาที่วัดแล้ว ก็มารวมกันที่ศาลาแห่งนี้  ดังที่ท่านได้เห็น มารวมกันฉันอาหารที่ศาลาแห่งนี้  อาหารที่ได้มาจากบิณฑบาตก็มาจ่ายแจกแบ่งปันกัน  ส่วนญาติโยมที่มาทีหลังก็นำอาหารคาวหวานมาตักบาตรเพิ่มอีก จนกระทั่งถึงเวลานี้ ก็มีการสมาทานศีล และฟังเทศน์ฟังธรรม  เสร็จจากนี้แล้วพระสงฆ์ก็จะอนุโมทนาให้พร แล้วญาติโยมก็จะร่วมกันรับประทานอาหารตามอัธยาศัย   พระท่านก็จะฉันอาหารตามกิจวัตรของท่าน จนกระทั่งท่านฉันเสร็จแล้ว ท่านก็จะนำภาชนะต่างๆ ที่ท่านใช้ฉันเช่นบาตร ฝาบาตร ช้อน แก้ว กระโถน นำไปล้างทำความสะอาด แล้วก็กลับมาเช็ดให้สะอาดให้แห้ง  แล้วก็นำบาตรเข้าสู่ถลกบาตร  เสร็จกิจเหล่านี้แล้วก็ช่วยกันเก็บกวาดถูศาลาให้เสร็จเรียบร้อย ปิดหน้าต่าง ปิดประตู ปิดไฟ ปิดพัดลม แล้วก็กลับสู่ที่พัก

เมื่อถึงที่พักก็เป็นเวลาว่างที่จะพักผ่อนตามอัธยาศัย  ศึกษาอ่านหนังสือธรรมะ ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรม จนกระทั่งถึงเวลาประมาณบ่าย ๒ โมง ก็จะมีการร่วมกันฉันน้ำปานะ คือน้ำผลไม้หรือน้ำที่ฉันได้ในตอนบ่าย เช่นน้ำชากาแฟ น้ำอัดลมต่างๆ เสร็จแล้วประมาณบ่าย ๓ หรือบ่าย ๔ โมง ก็จะช่วยกันปัดกวาดลานวัด บริเวณรอบกุฏิ ทางเดิน ให้สะอาดเรียบร้อย  เสร็จแล้วก็สรงน้ำเตรียมตัวเพื่อจะลงศาลาในตอนค่ำ ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรค่ำ นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรม ไปจนกระทั่งถึงเวลาประมาณทุ่มครึ่ง ก็จะแยกกันกลับสู่ที่พัก   แล้วก็ปฏิบัติธรรมกันต่อตามอัธยาศัย เดินจงกรม นั่งสมาธิ อ่านหนังสือธรรมะไปจนกระทั่งถึงเวลาประมาณ ๔ ถึง ๕ ทุ่มก็พักผ่อนหลับนอน  ประมาณ ตี ๓  ตี ๔ ก็ลุกขึ้นมาเพื่อปฏิบัติกิจต่อไป

นี่คือกิจกรรมหรือข้อวัตรปฏิบัติ ที่พระสงฆ์และสามเณรที่อยู่ที่วัดนี้ปฏิบัติกันเป็นประจำ ตั้งแต่มีการตั้งวัดนี้ขึ้นมา  เป็นการปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ คือไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ไตรสิกขาแปลว่าการศึกษา ๓ วิชา   ไตรแปลว่า ๓   สิกขาแปลว่าการศึกษา  ศึกษาศีล ศึกษาสมาธิ  ศึกษาปัญญา  ในเบื้องต้นก็ศึกษาจากหนังสือก่อน  จากครูบาอาจารย์ที่ท่านสั่งสอน แล้วนำสิ่งที่ได้ศึกษามาปฏิบัติ  เช่นศีลของพระมีอยู่ ๒๒๗ ข้อ  ก็ต้องควบคุมดูแลไม่ให้ละเมิดศีลเหล่านี้  ส่วนสมาธิก็คือการทำจิตใจให้สงบ ด้วยการนั่งไหว้พระสวดมนต์ นั่งกำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ที่เป็นเครื่องผูกจิต ให้จิตเข้าสู่ความสงบ เช่นกำหนดบริกรรมคำว่า พุทธโธๆๆ หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออก โดยมีสติควบคุมจิต  ไม่ให้จิตลอยไปที่อื่น  ให้รู้อยู่กับงานที่จิตกำลังทำอยู่  แล้วจิตก็จะค่อยๆสงบตัวลงเข้าสู่ความสงบ 

เมื่อสงบแล้วจิตก็จะสบาย  มีความสุข มีความอิ่ม มีความปีติ เป็นความสุขที่มหัศจรรย์ เป็นความสุขที่เลิศกว่าความสุขทั้งหลาย ที่เราเคยได้สัมผัสกัน  ไม่ว่าจะเป็นความสุขจากการเที่ยวเตร่ จากการรับประทานอาหารอันเลิศหรู หรือมีความสุขกับเพื่อนๆ  เมื่อเทียบกับความสุขที่เกิดจากความสงบสุขของจิตใจแล้ว ไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบกันได้  พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่า  ไม่มีความสุขอันใดในโลกนี้ จะเสมอเท่ากับความสุขอันเกิดจากความสงบของใจ คือความสุขที่เกิดจากการไหว้พระสวดมนต์ นั่งทำสมาธิ จนกระทั่งจิตนิ่ง ไม่คิด ไม่ปรุงอะไร  จะนิ่งอยู่ได้นานสักแค่ไหนก็สุดแท้แต่เหตุปัจจัย คือการปฏิบัติของจิตแต่ละดวง

หลังจากที่จิตออกจากความสงบแล้ว  ท่านทรงสอนให้เจริญวิปัสสนา   เจริญปัญญาเป็นลำดับต่อไป  คือพิจารณาให้เห็นสภาพความเป็นจริงของทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไปเกี่ยวข้องด้วย  ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ ข้าวของ เงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุขทั้งหลาย  บุคคลต่างๆที่เราไปเกี่ยวข้องด้วย  จะเป็นพ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย ลูก หลาน เพื่อนสนิทมิตรสหาย บุคคลเหล่านี้และสิ่งต่างๆที่ได้กล่าวมานี้ ล้วนเป็นของที่มีการเจริญขึ้น  ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถไปห้ามได้  เมื่อเกิดแล้วก็ต้องมีการแก่ มีการเจ็บไข้ได้ป่วย มีการตายเป็นธรรมดา  มีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา  ถ้าพิจารณาสิ่งเหล่านี้อยู่เรื่อยๆแล้ว ก็จะเกิดความเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ ที่พิจารณาอยู่นี้กับผู้ที่พิจารณานั้น หาเป็นสิ่งอันเดียวกันไม่  คือเราจะเห็นว่าร่างกายของเรา ที่เรากำลังพิจารณาอยู่นี้ ต่างกับผู้ที่พิจารณา  ผู้ที่พิจารณาคือใจ คือผู้รู้ ส่วนผู้ที่ถูกพิจารณาก็คือกาย กายกับใจเป็นคนละส่วนกัน  กายต้องเป็นไปตามสภาพของเขา  แต่ใจไม่ได้เป็นไปกับกาย  ใจก็เป็นไปตามเรื่องของใจ  เมื่อกายแตกสลายไปแล้ว  ใจก็ต้องไปตามสภาพของใจ  ตามบุญตามกรรมที่ได้สะสมไว้  ถ้าสะสมบุญไว้มาก และเป็นวาระของบุญที่จะแสดงผล  ก็จะได้ไปเกิดที่ดี สู่ที่ดี เรียกว่าไปสู่สุคติ ไปสู่ภพของมนุษย์ ของเทวดา ของพรหม ของพระอริยะเจ้าทั้งหลาย  ถ้าทำกรรมไว้มาก  และถึงวาระของกรรมที่จะแสดงผล ก็จะต้องไปสู่ทุคติ ไปสู่อบาย ไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก 

นี่คือเรื่องราวของกายและใจ  เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว ใจก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา  จะเห็นโทษของการไปยึดไปติดกับสิ่งต่างๆในโลกนี้  ถ้าเห็นว่าเป็นโทษ ก็จะปล่อยวาง เมื่อปล่อยวางใจก็จะหลุดจากเครื่องพันธนาการทั้งหลาย มีกิเลสตัณหาเป็นตัวผูกมัดให้อยู่กับสิ่งต่างๆ  แต่เมื่อใจได้พิจารณาเห็นตามสภาพความเป็นจริงว่า สิ่งต่างๆทั้งหลายเป็นสิ่งที่ไม่น่ายึด ไม่น่าครอบครองไว้เป็นของๆตน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้น หาเป็นตัวเป็นตนไม่  หามีเจ้าของไม่  ล้วนเป็นธรรมชาติทั้งนั้น  ธรรมชาติย่อมอยู่ตามธรรมชาติของเขา  ใจผู้รู้เมื่อเข้าใจแล้วก็จะปล่อยวาง  ถ้าไม่เข้าใจ ก็จะไปหลงยึดติดกับธรรมชาติทั้งหลาย ดังที่พวกเราทั้งหลายหลงยึดติดกัน  เพราะใจของพวกเราไม่ได้รับการอบรม ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ฟังเทศน์ฟังธรรม  เมื่อเกิดมามีร่างกายอันนี้  ก็ยึดติดกับร่างกายอันนี้ว่าเป็นตัวเป็นตน  ว่าเป็นเราเป็นของๆเรา  และเมื่อโตขึ้น มีข้าวของ เงินทอง มีทรัพย์สมบัติ มีสามี มีภรรยา มีลูก ก็ไปครอบครอง ไปยึด ไปติดกับสิ่งเหล่านี้อีก ว่าเป็นเรา เป็นของๆเรา ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้เป็นของธรรมชาติล้วนๆ  ธรรมชาติเป็นผู้สร้างขึ้นมา  ธรรมชาติเป็นผู้เอากลับคืนไป  เมื่อถึงเวลาที่สิ่งเหล่านี้จะถูกธรรมชาติเอาคืนไป  ถ้าผู้ที่ไปยึดไปติดอยู่ไม่เข้าใจ มีความหลงครอบงำอยู่ ก็จะเกิดความเศร้าโศกเสียใจ  กินไม่ได้นอนไม่หลับ ร้องห่มร้องไห้  

แต่ถ้าได้ศึกษา ได้ยิน ได้ฟังธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน ให้พวกเราคอยเจริญสติอยู่เสมอ  เจริญปัญญาอยู่เสมอ  เตือนตัวเราว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา  ร่างกายนี้เป็นของธรรมชาติ   เขาให้เรามาอาศัยอยู่เหมือนกับบ้านที่เราเช่าอยู่หลังหนึ่ง  บ้านนั้นไม่ใช่เป็นของๆเรา  เจ้าของเขาให้เราอาศัยอยู่  เช่าอยู่  เราก็จ่ายค่าเช่าไป  เมื่อถึงเวลาที่เขาจะมาเอาคืนไป  เขาจะมารื้อไป  เราก็คืนให้เขาไป  ถ้ารู้อยู่ตั้งแต่เริ่มต้นว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นของๆเรา  เป็นของที่เขาให้เรายืมมาใช้ อยู่ไปวันๆหนึ่ง เราก็คอยเตรียมตัวเตรียมใจอยู่เสมอ ว่าวันใดวันหนึ่ง  วันดีคืนดีเขาจะมาเอาคืนไป  เมื่อพร้อมที่จะคืนให้เขาไปแล้ว  เราก็ไม่เดือดร้อนอะไร  เพราะรู้มาแต่ต้นแล้วว่า เรามาตัวเปล่าๆ   ในที่สุดเราก็ต้องไปตัวเปล่าๆ คือเรานี้หมายถึงใจของเรานี่แหละ  ไปตัวเปล่าๆ  สิ่งที่เอาไปได้ก็คือบุญกับบาปเท่านั้นเอง  ส่วนสิ่งของต่างๆภายในโลกนี้ ย่อมอยู่ในโลกนี้   เพราะโลกนี้ไม่ใช่เป็นของๆเรา  เป็นของธรรมขาติ  เราเพียงแต่มาอาศัยอยู่ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้นเอง 

ถ้าเราเข้าใจความจริงอันนี้แล้ว เราก็จะเตรียมตัวเตรียมใจไว้  เมื่อถึงเวลาที่จะต้องคืนสิ่งเหล่านี้ให้เขาไป เราก็จะไม่เดือดร้อน  เหมือนกับเวลาเราไปยืมข้าวของๆใครเขามา  เราก็รู้ว่าเราต้องคืนเขาไป  เช่นวันนี้เราจะหุงข้าว หม้อข้าวของเรารั่ว  เราก็ต้องไปยืมหม้อข้าวของเพื่อนบ้านมาเพื่อที่จะใช้หุงข้าว  แต่เราก็รู้ว่าเมื่อเราใช้หุงข้าวเสร็จแล้ว  เมื่อเราไปหาซื้อหม้อข้าวใบใหม่มาแทนแล้ว  เราก็ต้องเอาหม้อข้าวใบนี้ไปคืนเขา ฉันใดก็ฉันนั้น  ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้มันไม่ได้เป็นของๆ เราอย่างแท้จริง  แต่เป็นของธรรมชาติให้เรายืมมาใช้ ขณะที่เรายังอยู่ในโลกนี้  และเมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องจากโลกนี้ไป  เราก็ต้องคืนทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ในโลกนี้ คืนกลับสู่ธรรมชาติ  เราก็ต้องคืนอยู่เรื่อยๆ  เราได้เงินมา  เราก็ต้องใช้เงินไป  มันมีการไหลเข้า ไหลออกอยู่ตลอดเวลา  สิ่งไหนที่เรายอมให้มันไป เราก็ไม่เสียใจ  แต่ถ้าสิ่งไหนเราไม่ยอมให้มันไป เราก็จะเสียใจ    อย่างเช่นเงินทอง  ถ้าเรายินดีให้มันไป เช่นเราเอาเงินไปซื้อข้าวซื้อของ  เราก็ไม่มีความรู้สึกเสียอกเสียใจอย่างไร  หรือเอาเงินมาถวายทำบุญ เราก็ไม่มีความรู้สึกเสียใจ เพราะเรายินดีที่ให้มันไปจากเรา  แต่ถ้าเราไม่ยินดี เช่นเงินทองของเราถูกขโมยไป เราวางไว้แล้วมันหายไป อย่างนี้เราก็จะเกิดความเสียใจ 

ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่การไปหรือการมาของสิ่งของต่างๆ  มันอยู่ที่ใจของเรา ว่าเรายินดีที่จะให้เขาไป หรือไม่ให้เขาไปต่างหาก  ถ้าเรายินดี เราพร้อมที่จะให้สิ่งเหล่านี้ไปจากเรา  เราก็จะไม่มีความรู้สึกเสียอกเสียใจ   เราก็จะไม่มีความทุกข์ใจ  แต่ถ้าเราไม่ยินดี  เรายังต้องการให้สิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่กับเราอยู่  แต่ต้องจากเราไป  เราก็จะเกิดความเศร้าโศกเสียใจเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา  ดังนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การไปและการมาของสิ่งต่างๆ สิ่งต่างๆเขามีมา มีไปอยู่ตลอดเวลา  ปัญหามันอยู่ที่ใจของเราต่างหาก  ว่าเป็นใจที่โง่หรือเป็นใจที่ฉลาด ถ้าเป็นใจที่ฉลาดก็ต้องรู้ว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะถือว่าเป็นของเรา และจะให้อยู่กับเราไปโดยตลอดนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้  นี่เป็นคนฉลาดที่คิดอย่างนั้น  เมื่อคิดอย่างนั้นแล้วก็เตรียมตัวเตรียมใจที่จะคืนสิ่งต่างๆที่มีอยู่กับเรา ให้กับธรรมชาติเขาไป  จะไปแบบไหนก็สุดแท้แต่  แต่ในที่สุดมันก็ต้องไป  ถ้าไปด้วยความยินดีให้ไป เราก็ไม่มีความเสียใจ  ถ้าไปโดยไม่ยินดี ก็จะมีแต่ความเศร้าโศกเสียใจตามมา

เราจึงควรตรวจดูใจของเราอยู่เสมอ ว่าขณะนี้เราพร้อม เรายินดีที่จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ในตัวของเรา รวมทั้งร่างกายของเรานี้ ไปหรือไม่  ถ้าเราพร้อมเราก็จะสบายอกสบายใจ  อยู่กับเราๆก็มีความสบายใจ  เวลาจากเราไป ก็มีความสบายใจ  เพราะเราไม่ได้ผูกใจไว้กับสิ่งต่างๆ นั่นเอง  แต่ถ้าเรายังมีความหลง มีความอยากที่จะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ บุคคลนั้นบุคคลนี้ หรือตัวของเรา  ร่างกายของเรา อยู่กับเราไปตลอด  เราก็จะอยู่ด้วยความทุกข์ใจ  และเมื่อเกิดการพลัดพรากจากกันไป เราก็จะมีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทุกข์มาก ทรมานมาก  เวลาเราต้องจากสิ่งที่เราไม่อยากให้สิ่งนั้นจากไป  แต่เราต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ เราไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับ ไปรั้ง ไปเหนี่ยวเขาไว้ได้  เมื่อถึงเวลาที่เขาจะต้องจากเราไป  เราห้ามเขาไม่ได้ สิ่งที่เราห้ามได้ก็คือใจของเรา  เราห้ามใจของเราไม่ให้ทุกข์ได้  ห้ามใจของเราไม่ให้เศร้าโศกเสียใจได้ 

ถ้าเราเริ่มทำความเข้าใจตั้งแต่บัดนี้ไปว่า เราจะต้องพลัดพรากจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ ที่เราถือว่าเป็นของๆเรา  ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ หรือบุคคลต่างๆ  ล้วนจะต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา   ถ้าเราทำความเข้าใจ แล้วเตือนสติเตือนใจเราอยู่อย่างสม่ำเสมอ เราก็จะไม่ทุกข์กับการพลัดพรากจากกัน ต้องสอนใจอยู่เรื่อยๆ  ถ้าไม่คิด ไม่สอนอยู่เรื่อยๆแล้ว เราจะลืม แล้วก็จะไปหลง ไปยึด ไปติดอีก   แต่ถ้าคอยสอนใจอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งหลับเลย ทำอะไรกับอะไร ก็บอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นของชั่วคราว  เป็นของที่อยู่กับเราไปเพียงสักระยะหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วในที่สุดก็ต้องมีการจากกันไป  ต้องสอนอยู่เรื่อยๆ  ถ้าไม่สอนแล้วมันเผลอ มันลืม  แล้วมันก็จะไปยึดไปติดอีก  เมื่อไปยึดไปติดมันก็มีความกังวลใจ  ถ้าเรารักสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  ใจของเราก็จะพะวักพะวงถึงสิ่งนั้นบุคคลนั้น  เวลาไม่เห็นหน้าเห็นตา ก็เริ่มเกิดความกังวลใจแล้วว่า เอ๊ะหายไปไหน  เป็นอะไรไปหรือเปล่า อย่างนี้เป็นต้น  

แต่ถ้าไม่ได้ไปยึดไปติด คิดว่าเราทำหน้าที่ของเราดีที่สุดแล้ว  เราดูแลรักษาสิ่งต่างๆ หรือบุคคลต่างๆ ให้ดีที่สุด ตามกำลังความสามารถของเราแล้ว  ถ้าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องมีอะไรเกิดขึ้นกับเขา อย่างใดอย่างหนึ่ง  มันก็เป็นสิ่งที่สุดวิสัย เป็นสิ่งที่เราไม่ควรที่จะมานั่งกังวล กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะการกินไม่ได้นอนไม่หลับ กังวลใจก็ไม่สามารถไปเปลี่ยน แปลงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ ดังที่เราได้ยินเสมอว่า อะไรมันจะเกิด มันก็ต้องเกิด  เราไปกังวลใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็ไม่สามารถที่จะห้ามไม่ให้มันเกิดได้  อันไหนถ้าเราห้ามได้เราก็ห้ามเสีย  อันไหนเราป้องกันได้เราก็ป้องกันเสีย  แต่อันไหนที่เราห้ามไม่ได้ ป้องกันไม่ได้  เราก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ  เป็นกฎของธรรมชาติ   ที่จะต้องมีการเป็นไป อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นกฎของกรรม 

แต่ละบุคคลมีกรรมเป็นผู้พาไป  บางทีเราอยากจะให้บุคคลนั้นบุคคลนี้อยู่ในกรอบของความดีงาม  แต่ใจของเขานั้นไม่สามารถอยู่ได้ นั่นก็เป็นเพราะว่าใจของเขามีกรรมเป็นเจ้านาย เป็นผู้สั่งการ  เราไม่อยากให้คนที่เรารักไปเสพยาเสพติด  แต่บางทีเขาก็ไปเสพยาเสพติด นั่นก็เป็นเพราะว่ากรรมสั่งให้ใจของเขาไปกระทำสิ่งนั้นๆ  เราไม่ปรารถนาให้เขาเป็นคนเกียจคร้าน ไม่ให้เขาเล่นการพนัน ไม่ให้เขาเที่ยวเตร่  แต่เขาก็จะไปแบบนั้นๆ  นั่นก็เป็นเพราะว่าเขาเคยสะสมนิสัยแบบนั้นมาในแต่ละภพแต่ละชาติ  ก็จะต้องเป็นไปตามนิสัยของเขา  เรามีหน้าที่เพียงแต่สอนเขา  บอกเขา  ห้ามเขาเท่านั้นเอง  แต่เราไม่สามารถที่จะไปควบคุมเขาได้ตลอดเวลา  บางทีเมื่อลับจากสายตาของเราแล้ว สิ่งต่างๆที่เราบอกเขา  เขาอาจจะไม่ทำตามก็ได้  เพราะใจของเขาไม่สามารถที่จะต่อสู้กับกรรมที่เขาทำไว้ในอดีตได้นั่นเอง  กรรมจะผลักดันให้เขาไปทำในสิ่งต่างๆที่เขาเคยชอบ เขาชอบทำอะไรอย่างไร เขาก็จะทำอย่างนั้น   ถ้าเขาเคยสะสมคุณงามความดี ชอบทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม  มีความขยัน ชอบเรียนหนังสือ  ชอบช่วยเหลือผู้อื่น  ชอบทำบุญทำทาน  ไม่ชอบเสพสุรายาเมา ไม่ชอบเล่นการพนัน  เขาก็จะทำตามจริตนิสัยของเขา  ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือลับหลัง นี่แหละคือเรื่องของหลักกรรม 

ชีวิตของพวกเราอยู่ภายใต้กฎ ๒ ชนิดด้วยกัน  คือกฎของธรรมชาติ และกฎของกรรม กฎของธรรมชาติก็คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงนั่นเอง  ชีวิตของเรา ร่างกายของเราไม่นิ่งอยู่เฉย มันเคลื่อนไปเรื่อยๆ  เกิดมาแล้วมันก็ต้องเจริญเติบโต  เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ก็เริ่มชราภาพลง เสื่อมลงไป และในที่สุดก็ต้องแตกสลายดับไป  นี่คือลักษณะของสิ่งต่างๆที่ใจมาเกี่ยวข้อง  ถ้าเราเข้าใจกฎทั้ง ๒ กฎนี้แล้ว คือกฎแห่งกรรมและกฎของธรรมชาติ แล้วไม่ไปฝืน ไม่ไปขัด ไม่ไปต่อสู้แล้ว  เราจะอยู่ได้อย่างสุขสบายใจ  เพราะใจจะสุขหรือจะทุกข์ก็อยู่กับว่า รู้จักกฎทั้ง ๒ กฎนี้หรือเปล่า  ถ้ารู้จักกฎทั้ง ๒ กฎนี้แล้ว ก็จะไม่ฝ่าฝืน แล้วก็จะอยู่ได้ด้วยความสงบร่มเย็น  อะไรเป็นอะไรก็รับได้ทั้งนั้น  มาก็รับได้ ไปก็รับได้ 

แต่ถ้าไม่เข้าใจกฎของธรรมชาติ  ใจของเราจะถูกความหลงครอบงำ  เมื่อเกิดความหลงแล้ว ก็จะเกิดความอยากต่างๆขึ้นมา  อยากให้สิ่งนั้นอยู่กับเรานานๆถ้าเป็นสิ่งที่เราชอบ  อยากจะให้สิ่งนั้นหายไปเร็วๆ จากเราไปเร็วๆ ถ้าเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ  นี่ก็เป็นเพราะว่าเราไม่เข้าใจถึงกฎของธรรมชาตินั่นเอง  และเมื่อเราต้องการให้สิ่งที่เราไม่ชอบ จากเราไปเร็วๆ  ถ้าเขาไม่ไปเร็วๆ เราก็เกิดความวุ่นวายใจ หรือถ้าสิ่งที่เราชอบ เราอยากให้เขาอยู่กับเราไปนานๆ แต่เขาจากเราไปเสียก่อน นี่ก็จะทำให้เราไม่สบายใจ  ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้เขาก็จะเป็นของเขาอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ   ตั้งแต่ก่อนที่เราจะเกิดมา สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็เป็นอยู่อย่างนี้  และหลังจากที่เราตายไปแล้ว สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็ยังเป็นอย่างนี้อีก  เขาจะต้องหมุนไปตามกฎแห่งกรรมและกฎของธรรมชาติ  เราเป็นผู้ที่มาเกิด มาสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้  ถ้าไม่ฉลาด ไม่รู้จักปฏิบัติ ก็จะมีแต่ความทุกข์ใจ  เหมือนกับที่เราไม่รู้ว่าไฟนี้มีโทษอย่างไร มีความร้อนอย่างไร  เราเอามือไปจับไฟเข้า  ไฟก็จะต้องเผามือของเรา ฉันใดก็ฉันนั้น 

การกระทำอะไรต่างๆ จึงต้องมีปัญญา มีความรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้องกับสิ่งต่างๆ ที่ใจเราไปเกี่ยวข้องด้วย  ถ้ารู้ตามที่ได้แสดงไว้ คือรู้จักกฎของธรรมชาติ คือทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลง  เป็นสิ่งที่เอามาครอบครองเป็นตัวเรา เป็นของเราไม่ได้  แต่เป็นของธรรมชาติแท้ๆ นี่อย่างหนึ่ง  อีกอย่างหนึ่งก็คือกฎแห่งกรรม ใครทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่วก็ต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น กรรมในอนาคตเรากำหนดได้ แต่กรรมในอดีตเราไปแก้ไม่ได้ เราเคยทำกรรมดีกรรมชั่วอย่างใดไว้ มันก็จะต้องส่งผลของมัน เป็นสุขเป็นทุกข์ให้กับผู้กระทำกรรมนั้นๆ แต่ผลของกรรมในอนาคตสามารถกำหนดได้ด้วยการกระทำกรรมในปัจจุบัน  ถ้าเรากระทำกรรมดี ผลที่จะตามมาในอนาคต ย่อมเป็นความสุขและความเจริญ  ถ้าเรากระทำความชั่ว ผลที่จะตามมาก็คือความทุกข์ ความหายนะ ความเสื่อมเสียทั้งหลาย

นี่เป็นหลักตายตัว เป็นหลักที่เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง และพยายามประพฤติปฏิบัติ ด้วยการอบรมสั่งสอนใจของเราอยู่เสมอ  ถ้าเราไม่สามารถสอนใจเราได้  เราก็ต้องคอยเข้าวัดอยู่อย่างสม่ำเสมอ  ฟังเทศน์ฟังธรรม เพื่อเป็นเครื่องพร่ำสอน ถ้าไม่มีโอกาส ไม่มีเวลาว่างที่จะเข้าวัด ก็ขอให้เอาวัดมาไว้ที่บ้านของเรา  ด้วยการเปิดหนังสือธรรมะอ่าน เปิดวิทยุฟังเทศน์ฟังธรรมตามสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ หรือหาเทปธรรมะที่ได้มีการอัดไว้มาฟัง ต้องฟังอยู่เรื่อยๆ  เพราะถ้าเราไม่ฟังปุ๊บ เดี๋ยวใจก็ไปคิดเรื่องอื่นปั๊บ เราก็ลืมแล้ว  สิ่งที่ได้ฟังวันนี้พอญาติโยมออกจากศาลานี้ไป ก็จะลืมเรื่องที่ได้พูดกันในวันนี้แล้ว  เพราะเดี๋ยวเรื่องอื่นก็จะเข้ามาแทนที่  คนนั้นก็จะมาพูดเรื่องนั้น  คนนี้ก็จะมาพูดเรื่องนี้ให้ฟัง  เราก็จะมัวยุ่งกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ  จนลืมเรื่องที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้

ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายจงนำสิ่งต่างๆ ที่ท่านได้ยินได้ฟังในวันนี้ นำไปพินิจพิจารณาอยู่อย่างสม่ำเสมอ  คิดอยู่เรื่อยๆ   เวลาอยู่ว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไร ก็ลองนึกว่าวันนี้เราจะคิดอะไรดี  เราคิดธรรมะบ้างหรือยัง เรื่องที่เราได้ยินได้ฟังที่วัด เรื่องกฎของธรรมชาติ  เรื่องกฎของกรรม เราเอามาคิดเสีย  คิดอยู่เรื่อยๆ เตือนสติเราอยู่เรื่อยๆ แล้วเราจะได้ปล่อยวาง  เมื่อปล่อยวางแล้วใจเราจะสบาย  ทุกวันนี้ที่เราว้าวุ่นขุ่นมัว วุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ ก็เพราะว่าเราไม่ปล่อยวางนั่นเอง  เรายังมีความอยากอยู่   ยังอยากให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นไปตามที่เราต้องการ  แต่เราไม่เข้าใจว่าเราไปบังคับธรรมชาติไม่ได้ เหมือนกับฝนกับแดด  เราไปบังคับเขาได้ไหม   ฝนกับแดด เขาก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติของเขาฉันใด  เรื่องราวต่างๆ รอบตัวเรา  ส่วนใหญ่เราก็ไปบังคับเขาไม่ได้เหมือนกัน  ส่วนไหนที่เราพอจะบังคับได้ ดูแลได้ เราก็ดูแลไป แต่ถ้าไม่อยู่ในวิสัย เราก็ต้องปล่อยวาง  ถ้าปล่อยวางได้แล้ว ชีวิตของเราก็จะมีแต่ความสุข  ความสดชื่น ด้วย ความเบิกบาน ท่ามกลางการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย การเกิดการดับของสิ่งต่างๆ  ใจของเราจะไม่มีความกังวล  ไม่มีความวุ่นวาย  เพราะใจเราปล่อยวาง  เพราะใจเราเข้าใจว่า มันเป็นสิ่งที่เราต้องให้เป็นไปตามเรื่องของเขา  เหมือนกับการขึ้นกับการตกของตะวัน  เราก็อยู่กับเขาได้  เราก็ไม่เดือดร้อนอะไร จึงขอฝากเรื่องราวของการฟังเทศน์ฟังธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา  ให้เกิดความรู้ที่แท้จริง มาพร่ำสอนใจของเรา  เมื่อเราฟังแล้ว ก็เอาสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาสอนเรา สอนไปเรื่อยๆ  เตือนสติเราไปเรื่อยๆ   แล้วจะได้ไม่หลง  ไม่ลืม  เมื่อไม่หลงไม่ลืม ก็จะไม่ยึดไม่ติด  จะปล่อยวาง  เมื่อปล่อยวางแล้ว ใจจะสุข ใจจะสบาย ใจจะหลุดพ้นจากความทุกข์ความกังวลทั้งหลาย การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้