กัณฑ์ที่
๑๑๓
เชื่อพระพุทธเจ้า
ท่านทั้งหลายได้มาวัดเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ
ตามแนวที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงทรงสั่งสอนไว้
ให้ผู้ที่มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาประพฤติปฏิบัติตาม
เพื่อความเป็นสิริมงคล
เพื่อความสุขและความเจริญของผู้ปฏิบัติ
การฟังเทศน์ฟังธรรม
เป็นการรับถ่ายทอดสัจธรรมความจริง
ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้เห็น
เป็นความจริงที่จะทำให้ผู้ได้ยินได้ฟัง
นำไปปฏิบัติเพื่อความเจริญรุ่งเรือง
เพื่อความปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง
เหตุที่พวกเราทั้งหลายยังต้องฟังเทศน์ฟังธรรมกันอยู่นั้น
เป็นเพราะว่าจิตใจของพวกเรายังเป็นปุถุชนอยู่
คำว่าปุถุชนนี้
หมายถึงเป็นผู้ที่ยังไม่มีความรู้ที่จะรักษาตนเอง
ให้พ้นจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวงได้
เพราะใจของปุถุชนยังเป็นใจที่มืดบอดอยู่
มีอวิชชาโมหะครอบงำจิตใจอยู่
จึงทำให้ใจมืดบอด
เปรียบเหมือนกับผู้ที่อยู่ในห้องมืด
หรืออยู่ในสถานที่ไม่มีแสงสว่าง
เช่นในยามค่ำคืน
จะเดินทางไปไหนมาไหนตามลำพัง
โดยไม่มีแสงสว่างพาไป
เช่นไฟฉายหรือตะเกียง
ก็จะเป็นการลำบากยากเย็น
เพราะไม่รู้ว่าสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเองนั้นมีอะไรบ้าง
มีอะไรที่เป็นพิษเป็นภัยบ้างหรือไม่
มีหลุมมีบ่อ มีขวากหนาม
มีอุปสรรคอะไรที่ขวางกั้นอยู่
เพราะไม่สามารถมองเห็นได้
แต่ถ้ามีแสงสว่างของไฟฉายก็ดี
หรือตะเกียงก็ดี ส่องทางไป
ย่อมสามารถเห็นสิ่งต่างๆ
ที่อยู่ข้างหน้าหรืออยู่ข้างๆรอบตัวได้
เมื่อเห็นแล้วก็จะสามารถที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายได้
ไม่ต้องไปประสบกับภัยทั้งหลาย
ที่มาสัมผัสกับตัวผู้เดินทางฉันใด
ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เปรียบเหมือนกับแสงสว่าง
ของไฟฉายหรือของตะเกียง
เพียงแต่ว่าธรรมนี้เป็นแสงสว่างของจิตใจ
ถ้าใจมีธรรมแล้ว
ใจจะสามารถแยกแยะได้ว่า
อะไรเป็นภัย อะไรไม่เป็นภัย
อะไรเป็นสุข อะไรเป็นทุกข์
อะไรเป็นนรก
อะไรเป็นสวรรค์
อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ
สิ่งเหล่านี้
ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะได้ทรงตรัสรู้เห็นมา
เป็นเวลานานถึง ๒๕๐๐
กว่าปีแล้วก็ตาม
แต่ความจริงทั้งหลาย
ที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นนั้น
ก็ยังเป็นความจริงอยู่ในสมัยปัจจุบันนี้
ความจริงเหล่านี้ท่านจึงแสดงว่าเป็นอกาลิโก
ไม่ขึ้นกับกาลกับเวลา
สิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น
เกี่ยวกับเรื่องสุขทุกข์ต่างๆ
เรื่องนรกเรื่องสวรรค์
เรื่องบุญเรื่องคุณ
เรื่องบาป เรื่องกุศล
เป็นความจริงในสมัยก่อนอย่างไร
ในสมัยนี้ก็ยังเป็นความจริงอยู่อย่างนั้น
เราจึงมีความเชื่อมั่นได้ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ยึดมาเป็นแนวทางดำเนิน
เป็นผู้นำพาเราไปสู่สิ่งที่ดีที่งาม
สู่จุดหมายที่ดี
คือความสุข สู่สภาพที่ไม่มีความทุกข์ได้
เราเชื่อได้อย่าง ๑๐๐
เปอร์เซ็นต์
เพราะสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น
ทรงสั่งสอนออกมาด้วยพระปัญญาคุณ
คือความเฉลียวฉลาด
ความถูกต้องแม่นยำ
ออกมาจากพระกรุณาคุณ
คือความสงสาร ออกมาจากพระบริสุทธิคุณ
คือความบริสุทธิ์ใจ
ใจที่ใสสะอาดหมดจด
ปราศจากความโลภ ความโกรธ
ความหลง สิ่งต่างๆ
ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนจึงออกมาด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ ไม่ได้สั่งสอนเพื่อหวังสิ่งตอบแทนจากผู้ที่ได้ยินได้ฟัง
มีแต่ความปรารถนาที่จะให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังได้รับประโยชน์อันสูงสุด
คือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลายนั่นเอง
นี่คือเจตนาหรือความปรารถนาของพระพุทธเจ้า
ที่ทรงประกาศพระศาสนาให้กับสัตว์โลก
ไม่ได้หวังอามิสสินจ้างผลตอบแทน
การสรรเสริญเยินยอ
หรือการเคารพนับถือ
กราบไหว้บูชาเลยแม้แต่นิดเดียว
เหตุที่พวกเรามีความเคารพนับถือ
กราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้านั้น
ไม่ใช่เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ให้เรากราบไหว้บูชาท่าน
แต่เป็นเพราะพระคุณอันใหญ่หลวงของท่าน
ที่มอบให้กับพวกเรา
ช่วยให้เราได้หลุดพ้นจากกองทุกข์
ทำให้มีความสำนึกในพระคุณอันใหญ่หลวงนี้
จึงได้ยกย่องพระพุทธองค์ให้อยู่เหนือเกล้าของพวกเราทั้งหลาย
พวกเรากราบไหว้บูชาได้อย่างสนิทใจ
เพราะพระพุทธองค์มีพระคุณอย่างยิ่งกับพวกเรานั่นเอง
เราไม่ได้กราบไหว้เพราะว่าเราถูกบังคับให้กราบไหว้
และการกราบไหว้บูชาของเรานั้น
ก็เป็นสิ่งที่ดี
เพราะเป็นการขัดเกลากิเลส
ความหลงที่มีอยู่ในใจเรา
ที่หลงยึดตัวตนว่าเราเป็นผู้สำคัญ
เป็นผู้ยิ่งใหญ่
ที่ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับเรา
นี่เป็นเรื่องของความหลง
เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว ในตัวเราหามีตัวตนไม่
ตัวตนนี้เกิดจากอวิชชา
ความไม่รู้จริง
เกิดจากโมหะความหลงผิด
ความเห็นผิดเป็นชอบ คือเห็นในสิ่งที่ไม่มีว่ามี
เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน
เห็นความเที่ยงแท้แน่นอนในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
เห็นความสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์
เมื่อเราเห็นกลับตรงกันข้ามแล้ว
ชีวิตของเราก็เลยวิ่งเข้าหาสิ่งที่ผิด
เมื่อวิ่งเข้าหาสิ่งที่ผิด
ก็เลยประสบแต่ความผิดหวัง
เราทุกคนเกิดมาก็ปรารถนาที่จะมีแต่ความสุขความเจริญ
ไม่มีใครต้องการความทุกข์เลยแม้แต่น้อยนิด
แต่ทำไมเราจึงยังมีแต่ความทุกข์ใจอยู่ตลอดเวลา นั่นก็เป็นเพราะว่าความมืดบอดของเรานั้น
พาให้เราวิ่งเข้าหาสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยนั่นเอง
แทนที่จะถอยออกจากสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย
แต่กลับวิ่งเข้าหา
เพราะความมืดบอดของเรานั่นเอง
แต่ถ้าเกิดมีแสงสว่างขึ้นมา
ทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆที่เราวิ่งเข้าหา
เป็นเหมือนอสรพิษ ที่คอยกัด
คอยทำลาย
เราก็จะไม่กล้าเข้าใกล้
แต่เราไม่รู้
เราจึงเข้าหาสิ่งเหล่านั้น
เมื่อเราเข้าหาสิ่งเหล่านั้นแล้ว
สิ่งเหล่านั้นก็ทำลายเรา
สร้างความทุกข์ให้กับเรา
เราจึงต้องเข้าหาพระศาสนา
เข้าหาพระธรรมคำสอน
ยึดเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
เป็นผู้นำพาเราไป
สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแบ่งไว้เป็น
๒ ลักษณะ เป็นความจริง
๒ ชนิดด้วยกัน คือความจริงที่เป็นเหตุ
และความจริงที่เป็นผล
เหตุและผลเป็นสิ่งที่สอดคล้องกัน
ผลจะเกิดขึ้นได้
ต้องมีเหตุเป็นผู้นำก่อน
เมื่อมีเหตุแล้ว
ผลก็จะเป็นสิ่งที่ตามมา
ทั้งเหตุและผลนั้น
เป็นความจริง เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ว่าเป็นเหตุที่สำคัญที่สุด
ที่เกี่ยวกับตัวเรามากที่สุดนั้นก็คือใจ ใจเป็นต้นเหตุของการกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง จะพูดก็ดี
จะทำอะไรก็ดี จะคิดอะไรก็ดี จะต้องมีใจเป็นผู้ริเริ่มก่อน
เมื่อมีใจเป็นผู้ริเริ่มแล้ว
ใจเริ่มคิดแล้ว
จึงเริ่มพูด เริ่มทำตามมา
เมื่อคิดแล้ว พูดแล้ว
ทำแล้ว ผลก็จะตามมา
ผลก็คือความรู้สึกในใจของเรานั่นแหละ
คือความรู้สึกสุขหรือทุกข์
เป็นผลที่จะตามมาต่อไป
สิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อตัวเรา
ต่อความสุขความทุกข์ของเรา
ก็คือใจของเรานั่นเอง และการที่จะทำให้ใจของเรามีสุขหรือมีทุกข์ได้
ก็ต้องอาศัยการอบรมสั่งสอนใจเรา
เพราะใจเราในขณะนี้ยังมืดบอดอยู่
ยังไม่รู้ตามความเป็นจริง
ยังหลงอยู่ ยังเห็นผิดเป็นชอบอยู่
เห็นตรงกันข้ามกับความเป็นจริง
เราจึงต้องเข้าหาพระศาสนา
ฟังเทศน์ฟังธรรม อย่างที่ท่านทั้งหลายได้มากระทำกันในวันนี้
มาศึกษาให้รู้ถึงเหตุและผลที่จะตามมา
ว่าเป็นอย่างไร
แล้วจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเหตุและผลนั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว
ผลที่เราปรารถนากัน
คือความสุขและความเจริญ
ความไม่มีทุกข์
ความไม่มีความเสื่อมเสีย
ก็จะเป็นสิ่งที่จะได้รับกัน
เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าเป็นเหตุที่สำคัญที่สุดก็คือใจ
ดังในพระบาลีที่ทรงแสดงไว้ว่า
มโนปุพพังคมา
ธัมมา มโนมยา มโนเศรษฐา
ใจเป็นประธาน ใจเป็นใหญ่
ใจเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา
ไม่ว่าจะเป็นความสุขก็ดี
ความทุกข์ก็ดี ไม่ว่าจะเป็นนรก
เป็นสวรรค์ก็ดี
ไม่ว่าจะเป็นการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารก็ดี หรือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด คือการเข้าสู่มรรคผลนิพพานก็ดี
ใจเป็นผู้กระทำ
ใจเป็นผู้พาไป
การดูแลอบรมจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ต้องสั่งสอนให้รู้ว่าการกระทำอย่างไร
คือความคิดแบบไหน
เป็นความคิดที่จะนำพาไปสู่ความสุข
ความเจริญรุ่งเรือง ความคิดแบบไหนนำพาไปสู่ความทุกข์ความหายนะ
ความคิดที่จะพาให้ไปสู่ความสุขความเจริญ
คือการคิดดี ความคิดดีนั้นคิดอย่างไร
ก็คิดเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
คิดเพื่อที่จะช่วยเหลือผู้อื่น
คือให้มีความเมตตา
มีความกรุณา มีมุทิตา
มีอุเบกขา
ไม่ให้คิดเบียดเบียนผู้อื่น
ความคิดอะไรที่เป็นการคิดเบียดเบียนผู้อื่น คือความคิดโลภ
คิดโกรธ คิดหลง
ถ้ามีเกิดขึ้นมาแล้ว
ก็จะทำให้เราต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น
เราจึงต้องคอยดูแลควบคุมจิตใจของเรา
ให้คิดดี เมื่อเราคิดดีแล้ว
คำพูดของเราก็จะดี
การกระทำของเราก็ดี
แต่ถ้าเราไม่ดูแล
ปล่อยให้ใจคิดไปในทางที่ไม่ดี เช่นคิดโกรธขึ้นมา
เมื่อโกรธแล้วคำพูดออกมาก็ไม่ดี
การกระทำก็ไม่ดี
เมื่อทำไปแล้วผลเสียก็จะตามมา
เวลาโกรธใจจะร้อน
จะวุ่นวาย แต่เวลาทำบุญ
เวลาสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น
ใจจะเย็น ใจจะสบาย
นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องคอยดูแลรักษาใจของเรา
ให้อยู่ในกรอบของการกระทำความดี
ละการกระทำความชั่วทั้งหลาย
ชำระใจของเรา
คือชำระความโลภ ความโกรธ
ความหลง ที่เป็นต้นเหตุของการกระทำความชั่วทั้งหลาย
เป็นต้นเหตุที่ปิดกั้นไม่ให้มีการกระทำความดีเกิดขึ้นได้
ถ้าเราไม่ได้กระทำความดี
มีแต่การกระทำความชั่ว
เราจะไปหาความสุขได้อย่างไร
เมื่อกระทำแต่ความชั่ว
ผลของความชั่วย่อมปรากฏขึ้นมา
คือความทุกข์ในปัจจุบัน
เมื่อตายไป
ก็จะต้องไปเกิดในภพภูมิที่ต่ำต่อไป
นี่เป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เห็นมาแล้ว
เห็นว่าพวกเรายังหลงทางกันอยู่
ก็สงสาร เพราะว่าถ้าไม่มีใครอบรม
ไม่มีใครสั่งสอน
พวกเราก็จะดำเนินไปตามวิถีทางเดิมๆของเรา
เพราะสิ่งที่เราไปชอบไปรักนั้น
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ให้ความสุขกับเราที่แท้จริง
เป็นความทุกข์มากกว่าความสุข
เป็นเพราะว่าเราไม่มีปัญญา
ที่จะแยกแยะได้ว่า
ความสุขที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร
เรามักจะเห็นความสุขที่ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงเป็นความสุขที่แท้จริง
เราจึงคว้าแต่ความสุขที่ไม่แท้จริง
ซึ่งเป็นเหมือนกับน้ำตาลที่เคลือบยาขม
เช่นเป็นเพราะอะไร
คนจึงเสพสุรากัน
เพราะเขามีความสุข
แต่มันเป็นความสุขที่เกิดขึ้นในชั่วขณะที่เขาเสพเท่านั้น
เวลาเสพเขาก็มีความสุข
แต่หลังจากที่เสพไปแล้ว
ก็มีความทุกข์ตามมาหลายประการด้วยกัน
ประการแรก ถ้าเสพสุรามากๆ
ก็จะทำลายร่างกาย
อวัยวะต่างๆจะเสื่อมเร็ว
ชีวิตจะสั้น อายุจะสั้น
ประการต่อมา
เมื่อเสพสุราไปแล้วจะไม่มีสติประคับประคองใจ
เวลาใจจะคิดอะไรขึ้นมา
ก็ไม่สามารถยับยั้งควบคุมได้
คนที่เสพสุราจึงมักจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีวาจาที่ไม่สุภาพ
หยาบคาย พูดฟังไม่ได้
กิริยาไม่เรียบร้อย
เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น
ประพฤติผิดประเวณี
ลักทรัพย์ของผู้อื่น
นี่ก็คือผลที่เกิดจากการเสพสุรายาเมา
เมื่อเสพไปแล้ว
ก็ไม่มีสติที่จะควบคุมใจ
ให้อยู่ในขอบเขตของความดีงามได้
เมื่อทำสิ่งที่ไม่ดีไป
ก็มีผลตามมา มีความวุ่นวายใจตามมา
จะต้องหลบ ต้องซ่อนตัว
ในที่สุดก็ถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง
ถูกลงโทษ
นี่เป็นเรื่องที่เกิดจากการที่ไม่รู้จักแยกแยะความสุข
ว่าชนิดไหนเป็นความสุขที่แท้จริง
ชนิดไหนเป็นความสุขที่ไม่แท้จริง
กลับเห็นความทุกข์ว่าเป็นความสุข
เช่นกรณีของการเสพสุรายาเมา
ส่วนความสุขที่เป็นความสุขที่แท้จริงนั้น
เรามักจะแยกแยะไม่ออก
เพราะความสุขที่แท้จริงมักจะมีความทุกข์ผสมไปด้วย
อย่างเวลาจะทำความดี
เราจะรู้สึกว่ามีความลำบาก
จะมาวัดวันนี้
ก็จะรู้สึกว่าลำบาก
ไหนจะต้องตื่นแต่เช้า
เพื่อเตรียมอาหารข้าวของต่างๆ
มาถวายพระ ไหนจะเจอฝนฟ้าที่กำลังตกลงมา
ก็เริ่มรู้สึกว่ามีความลำบากลำบน
ถ้าคนที่ไม่เข้าใจถึงผลของการกระทำความดี
ว่าการที่เราได้ทำความดี
ทำบุญให้ทานนั้นเป็นการชำระสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม
ที่มีอยู่ภายในใจของเรา คือความเห็นแก่ตัว
ความตระหนี่ ความโลภ
ซึ่งเป็นสิ่งที่คอยสร้างความทุกข์ความไม่สบายใจให้กับเรา
เวลาเราทำบุญทำทาน
ก็เท่ากับเราเอาชนะความเห็นแก่ตัว
เอาชนะความตระหนี่
เอาชนะความโลภ และเมื่อชนะสิ่งเหล่านี้แล้ว
ใจจะมีความสุข ความสงบ
มีความปีติ มีความอิ่ม
มีความพอ
แต่ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ได้
เราก็จะต้องฟันฝ่าอุปสรรค
ความยากลำบากในการกระทำสิ่งเหล่านี้
ไหนจะต้องต่อสู้กับเวลาที่จะต้องตื่นแต่เช้า
ต่อสู้กับฝนฟ้าอากาศ
แล้วเรายังต้องต่อสู้กับกิเลสภายในใจของเราอีก
คือจะต้องต่อสู้กับความตระหนี่
ต่อสู้กับความเห็นแก่ตัว
ต่อสู้กับความโลภที่จะพยายามกีดขวาง
สร้างความรู้สึกอึดอัด
สร้างความรู้สึกลำบากลำบนขึ้นมา
เป็นอุปสรรคกีดขวางเราไว้
แต่ถ้าใช้ปัญญาใคร่ครวญแล้ว
พิจารณาว่าการทำบุญให้ทาน
เป็นคุณและเป็นประโยชน์กับเราจริงๆ
เหมือนกับเวลาที่เรามีโรคภัยไข้เจ็บ
เราต้องไปรักษาตัว
เราก็ไม่อยากจะไปรักษาตัว
เพราะรู้ว่าจะต้องเจ็บ
ไหนจะต้องถูกหมอฉีดยา
หรือหมอผ่าตัด ไหนจะต้องรับประทานยาที่ขม
ยาที่เราไม่ชอบรับประทาน
แต่ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาว่า
ถึงแม้ว่าจะทรมาน
ถึงแม้ว่าจะเจ็บ ถึงแม้ว่าเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบทำ
แต่ถ้าไม่ทำแล้ว
โรคภัยที่มีอยู่กับตัวก็จะไม่หาย
นอกจากไม่หายแล้ว
ยังอาจจะทำให้ตายได้ด้วย
ถ้าได้ใช้ปัญญาแยกแยะแล้ว
เห็นว่าถ้าไปหาหมอ
ไปโรงพยาบาล ไปรักษาตัวแล้ว
โรคที่มีอยู่ในตัวก็จะหมดไปหายไป
เจ็บหน่อยก็ทนเอา
อย่างนี้ถ้าใช้ปัญญาแยกแยะแล้ว
ก็กล้าตัดสินใจ
เพราะว่าสิ่งที่จะทำไปในเบื้องต้น
ผลอาจจะไม่ดี แต่ในบั้นปลายผลจะดี
คือโรคภัยไข้เจ็บจะหายไป
ฉันใดพวกเราทุกคนนั้น
ดังที่ได้แสดงไว้ในเบื้องต้นแล้วว่า
มีความทุกข์ใจด้วยกันทุกคน
ไม่มีใครในศาลาหลังนี้จะไม่มีความทุกข์ใจอยู่เลย
ไม่ว่าจะมีฐานะแตกต่างกันขนาดไหนก็ตาม
บางคนมีฐานะดี ร่ำรวย
มีเงิน มีทอง มีทรัพย์สมบัติ
มีข้าวของ
ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมบริบูรณ์
อีกคนหนึ่งไม่ค่อยมีทรัพย์สินเงินทอง
ยังขาดนั่นขาดนี่อยู่
แต่ก็มีความทุกข์ในใจเหมือนกัน
นั่นก็เป็นเพราะว่าใจไม่รับการดูแลนั่นเอง
ใจไม่ได้รับการขัดเกลา
ชำระสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์
ที่มีอยู่ภายในใจ
ใจของเราทุกคนจึงมีความทุกข์เหมือนๆกัน
ทั้งๆที่มีฐานะต่างกัน
มีความรู้ความฉลาดต่างกัน
มีความสามารถในการที่จะทำมาหากินต่างกัน
แต่ถึงกระนั้นสิ่งที่ไม่ต่างกัน
ก็คือใจที่ยังมีความทุกข์อยู่
เพราะว่าในใจยังมีต้นเหตุของความทุกข์อยู่
คือความโลภ ความโกรธ
และความหลงนั่นเอง
การที่จะแก้สิ่งเหล่านี้ได้
เราจึงต้องเข้าหาพระศาสนา
เข้าหาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
เพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรกที่สามารถกำจัดความโลภ
ความโกรธ
ความหลงให้ออกไปจากจิตจากใจได้
เป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์
มีความสงบ มีความอิ่ม
มีความพอ เพราะอะไร
เพราะตัวหิวไม่มีนั่นเอง
ตัวหิวก็คือความโลภความอยาก
ได้ถูกทำลายไป เมื่อไม่มีความหิวแล้ว
ความอิ่มก็เข้ามาแทนที่
เมื่อมีความอิ่ม
ก็มีความสุข เมื่อมีความหิว
ก็มีความทุกข์
นี่แหละคือปัญหา
อยู่ที่ใจของเรา
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า
เรามีมากหรือมีน้อย
นั่นไม่ใช่เป็นปัญหา
เพราะว่าสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของเรานั้น
พวกเรามีกันทุกคน
เพราะถ้าไม่มีหรือมีไม่พอ
ชีวิตของเราก็จะอยู่ถึงวันนี้ไม่ได้
เมื่อชีวิตของเราอยู่มาถึงวันนี้ได้
ก็แสดงว่าสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของเรานั้น
เรามีพอเพียงแล้ว
เราจึงไม่มีความจำเป็น
ที่จะต้องไปหาอะไรเพิ่มขึ้นให้มากกว่านี้
เพียงแต่รักษาสิ่งที่เรามีอยู่
ไว้ดูแลรักษาชีวิตของเราให้อยู่ไปได้วันๆหนึ่งก็พอแล้ว
ต่อให้เรามีเพิ่มมากไปกว่านี้สักร้อยเท่าพันเท่า
มันก็ยังไม่ไปกำจัดความทุกข์ที่มีอยู่ในใจของเราให้หมดไปได้
เพราะการที่จะกำจัดความทุกข์ให้หมดไปจากใจนั้น
เราต้องกำจัดกิเลสตัณหา
คือกำจัดความโลภ ความโกรธ
ความหลง ให้ออกไปจากใจ
และการที่เราจะกำจัดสิ่งเหล่านี้ได้
เราก็ต้องอาศัยแสงสว่างแห่งธรรม
คือคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นผู้พาเราไป
เราจึงต้องศึกษาทำความเข้าใจ
ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง
ทางศาสนาสรุปไว้ว่า เราต้องทำ ๓
อย่างด้วยกัน คือ
๑. ต้องละความชั่วทั้งหลาย
๒. ต้องทำแต่ความดี
๓. ชำระจิตใจ
คือละความโลภ ความโกรธ
ความหลงให้หมดไป
นี่แหละคือวิถีทางที่จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญให้กับเรา
การที่จะละความโลภ
ความโกรธได้ ต้องมีปัญญา
เพราะว่าความโลภ
ความโกรธเกิดจากความหลงพาไป ความหลงที่เห็นว่าการได้อะไรมามากๆ
แล้วจะมีความสุข
ซึ่งมันก็มีความสุข
แต่มันเป็นความสุขที่เจือปนไปด้วยความทุกข์
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราแสวงหามานั้น
ไม่ว่าจะมาด้วยทางตา ทางหู
ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ในรูปของวัตถุสิ่งของต่างๆ
ในรูปของบุคคลต่างๆ
ในรูปของเครื่องบันเทิงต่างๆนั้น
ล้วนให้ความสุขกับเราในเบื้องต้น
แต่ให้ความสุขเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง หลังจากนั้นแล้วก็ทำให้เราติดอยู่กับสิ่งเหล่านั้น
เวลาใดที่เราขาดสิ่งนั้นไป
เราก็จะเกิดความไม่สบายใจขึ้นมา
เกิดความทุกข์ขึ้นมา
เหมือนกับผู้ที่เสพสุราที่ได้แสดงไว้ในเบื้องต้น เวลามีสุราเสพเขาก็มีความสุข
แต่พอวันไหนเขาไม่มีสุรา
เขาขาดสุรา
เขาก็จะเกิดความวุ่นวายใจ
เกิดความทุกข์ขึ้นมา
ดิ้นรนกวัดแกว่ง
จะต้องไปหาสุรามาเสพให้ได้
ถ้าไม่มีสุราเสพก็จะต้องดิ้นลงแดง
มีความทุกข์มากทีเดียว
นี่ก็เป็นเพราะว่าความสุขที่พวกเราแสวงหากันนั้น
เป็นความสุขส่วนน้อย
ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นความทุกข์ทั้งนั้น
เปรียบเหมือนกับยาขมเคลือบน้ำตาล
จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง
เพื่อจะได้ไม่หลง ไม่โลภ
ไม่โกรธ ต่อไป
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้