กัณฑ์ที่ ๑๑๔       ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๕


ปัญหาอยู่ที่ใจ

 

วันนี้ท่านทั้งหลายได้มาที่วัดกัน เพื่อประกอบคุณงามความดี ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน  คือ ละการทำบาปทั้งปวง  ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม  ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด  นี่เป็นพระโอวาทที่พระพุทธองค์ได้ทรงมอบไว้ ให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตาม  อันเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ  เป็นเหตุที่จะดับทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลาย    ไม่ให้มารบกวน ทำลายชีวิตจิตใจของพวกเราทุกๆคน  ถ้าพวกเราทุกคนปรารถนาความสุข ความเจริญ  ความไม่มีทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง  เราก็ต้องน้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ ด้วยการมาวัดอย่างสม่ำเสมอ  เพราะเมื่อเรามาวัดแล้ว  เราก็จะได้มาละบาปกัน ด้วยการสมาทานศีล  มีศีล ๕ ศีล ๘ เป็นต้น  ได้กระทำความดีกัน  ด้วยการทำบุญให้ทาน  บูชาพระรัตนตรัย  มีสัมมาคารวะ  มีความกตัญญูกตเวที  ชำระใจของเราให้สะอาดหมดจด ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม 

ใจของเรามีปัญหา  เพราะใจยังไม่มีความสุข  ใจยังมีความทุกข์ มีความเศร้าหมองอยู่  ทั้งนี้เป็นเพราะว่ายังมเครื่องเศร้าหมองอยู่ภายในใจ  เครื่องเศร้าหมองนี้ได้แก่อะไร  ก็ได้แก่กิเลสตัณหาทั้งหลาย  คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ  สิ่งเหล่านี้ทำให้ใจมีความทุกข์  ทำให้ใจต้องไปทำบาปทำกรรม  ทำเรื่องต่างๆที่รู้ว่าไม่ดี  แต่ไม่มีกำลัง ไม่มีอำนาจที่จะฝืนได้  เพราะไม่เคยฝึกตน  ไม่เคยสร้างกำลัง ให้ต่อสู้  ให้ทำลายกิเลสตัณหา ที่มีอยู่ในใจ  เพราะไม่รู้จักวิธี  เพราะไม่ศึกษา ไม่เข้าหาพระศาสนา  เราจึงไม่รู้จักวิธีที่จะเอาชนะกิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลงที่มีอยู่ในใจของเรา  แต่ถ้าได้เข้าสู่วัดวาอาราม ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ  เราจะได้ยินได้ฟังวิธีการ ที่จะชำระหรือกำจัดกิเลสตัณหา   เครื่องเศร้าหมองทั้งหลายภายในใจ ให้หมดสิ้นไปได้  ถ้าไม่กำจัดกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมองเหล่านี้ให้ออกไปจากจิตจากใจ  ต่อให้เป็นมหาเศรษฐี เป็นพระเจ้าแผ่นดิน  หรือเป็นอะไรก็ตาม ที่คนทั้งหลายในโลกนี้อยากจะเป็นกัน  ก็จะหาความสุขไม่เจอ 

เพราะว่าความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเป็นมหาเศรษฐี เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นอะไรทั้งหลายทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถมากำจัด  ขจัดความเศร้าหมอง  ความทุกข์ที่เกิดจากความเศร้าหมองให้หมดไปจากจิตจากใจได้  นอกจากไม่กำจัดแล้ว ยังจะเพิ่มความเศร้าหมองให้มีมากขึ้นไปอีก  เราจึงต้องอาศัยพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องชี้ทาง  บอกวิธีที่จะทำให้เราได้มีความสุขอย่างแท้จริง  พระพุทธองค์จึงสอนให้ทำความดี  ละความชั่ว กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยวิธีการที่ท่านทั้งหลายได้มาปฏิบัติกันในวันนี้  คือ ทำบุญให้ทาน  รักษาศีล  ปฏิบัติธรรม  ทำจิตให้สงบในเบื้องต้น  เมื่อมีความสงบแล้ว จึงอบรมสั่งสอนจิต ให้รู้จักเรื่องราวต่างๆ  เรื่องของความดี  เรื่องของความชั่ว เรื่องของเหตุที่ทำให้เกิดความสุข  เรื่องของเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์  เมื่อเห็นตามความเป็นจริงแล้ว  ก็จะทำลายเหตุของความทุกข์ และสร้างเหตุของความสุข

จะสังเกตได้ว่า คนเราเวลาปกติ จิตใจไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง จะมีความรู้สึกสบาย มีความโอบอ้อมอารี  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มองใครก็มองด้วยไมตรีจิต แต่เวลาเกิดความโลภขึ้นมา  เกิดความโกรธขึ้นมา  เกิดความหลงขึ้นมา  จะมีความรุ่มร้อนใจ  การแสดงออกมาทางวาจา ทางกาย ทางสีหน้า  จะเป็นไปในทางที่ไม่ดี  คนเวลาโกรธ จะเป็นคนที่ไม่น่าชื่นชมยินดีเลย  การพูดจาการกระทำของเขา ก็จะพูดและกระทำแต่สิ่งที่ไม่ดี  สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและตัวของเขาเอง  เพราะในขณะที่มีความโลภ  มีความโกรธ  มีความหลงอยู่ในใจ  ใจของเขาเปรียบเหมือนกับมีไฟเผาอยู่  ทำให้ไม่มีความสบายอกสบายใจ มีแต่ความวุ่นวายใจ นี่แหละจึงเป็นเหตุที่ ทำไมเราจึงต้องดูแลใจของเรา ต้องชำระใจของเรา  กำจัดความโลภ  ความโกรธ  ความหลง เพราะถ้าไม่กำจัดแล้ว  ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง จะฉุดลากพาเราไปสู่ความทุกข์ ความหายนะ

ความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นต้นเหตุของการกระทำอกุศลกรรมทั้งหลาย  คืออกุศลกรรมทางกายและทางวาจา  เวลามีความโลภ  ความโกรธ  ความหลง ก็จะนำพาไปสู่การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  การลักทรัพย์  การประพฤติผิดประเวณี  การพูดปดมดเท็จ  การพูดคำหยาบ  การพูดเพ้อเจ้อ  และการพูดส่อเสียด  เมื่อทำไปแล้วก็จะนำความทุกข์มาให้ผู้กระทำ  อย่างเวลาเราไปทำอะไรไม่ดีไว้ เราจะมีความรู้สึกไม่สบายใจ ความไม่สบายใจนี้แหละคือความทุกข์  เวลาไปโกหก ไปหลอกลวง  ไปโกง ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร  เราจะมีความไม่สบายอกไม่สบายใจ  เพราะรู้ว่าจะต้องถูกจับมาทำโทษ ไม่ช้าก็เร็ว  เราไม่อยากให้ใครรู้ว่าเรากระทำสิ่งเหล่านี้  เพราะจะไม่มีใครยกย่องชื่นชมยินดี มีแต่จะประณาม  ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี ไปอยู่กับใครที่ไหน ก็จะไม่มีใครอยากจะคบค้าสมาคมด้วย  เพราะเป็นคนที่มีพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่มีศีล ไม่มีสัตย์  ไม่น่าไว้วางใจ เปรียบเหมือนกับอสรพิษ  ที่ไม่มีใครอยากจะเข้าใกล้  ถ้าจำเป็นจะต้องอยู่กับงูพิษ  ก็จะต้องจับขังไว้ในกรง ไว้ในที่ปลอดภัย  จะไม่ให้งูพิษออกมาเพ่นพ่านในบ้าน ฉันใดคนที่ไม่มีศีล  ก็เปรียบเหมือนกับอสรพิษ  ไม่มีใครอยากจะเข้าใกล้  มีแต่จะต้องคอยจับเอาเข้าคุกเข้าตะราง  เพื่อที่จะได้ไม่มาสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  

เมื่อถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง  ก็จะรู้ว่าคุกตะรางเป็นอย่างไร  ความสุขในคุกในตะรางแทบจะหาไม่ได้เลย  มีแต่ความทุกข์ เพราะไม่มีอิสรภาพ  ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ ตามความต้องการ จะกินจะนอนจะทำอะไร ก็จะต้องถูกบังคับ ถูกควบคุม  ไม่สามารถที่จะเลือกอาหารรับประทานได้  ทุกสิ่งทุกอย่าง ถูกจัดการให้หมด  นี่แหละคือความทุกข์ที่เห็นได้จากการที่ประพฤติผิดศีลผิดธรรม  ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่ทำผิดศีลผิดธรรม  คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ไม่ลักทรัพย์   ไม่ประพฤติผิดประเวณี   ไม่พูดปดมดเท็จ  เราก็จะอยู่ได้อย่างปกติ  ไม่มีใครจับไปเข้าคุกเข้าตะราง  ไม่มีใครรังเกียจเดียดฉันท์  นอกจากไม่รังเกียจแล้ว  ยังชื่นชมยินดี  อยากจะคบค้าสมาคมด้วย  เพราะคนที่มีศีลเป็นคนที่ปลอดภัย เพราะไม่สร้างเวรสร้างกรรม  ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไปอยู่กับใครที่ไหน มีแต่ให้ความร่มเย็น ความสบายใจ

นี่แหละคือผลที่เกิดจากการมีศีลและการไม่มีศีล  ถ้ามีศีลแล้วก็จะอยู่ได้อย่างปกติสุข  มีความเป็นอิสระ สามารถไปไหนมาไหนได้  ไม่ต้องถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง ขังไว้ในห้องขัง  แต่ถ้าไม่มีศีลแล้ว ก็จะไม่มีใครอยากเข้าใกล้  ถ้าเห็นหน้าก็จะต้องรีบไปแจ้งความกับตำรวจ  เพื่อจะได้กำจัด ควบคุมไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน  มาสร้างความเดือดร้อนกับตัวเองและผู้อื่น  นี่แหละทำไมเราจึงต้องรักษาศีลกัน  เพราะว่าทุกคนที่เกิดมา ล้วนต้องการความสุข  ไม่ต้องการความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น  ความสุขและความทุกข์นั้นมันเกิดขึ้นจากการกระทำของเราเอง  มันไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้อื่น  การกระทำของผู้อื่นเป็นเหมือนชนวนเท่านั้นเอง  เป็นตัวกระตุ้นให้เราทำความดีหรือทำความชั่วได้  แต่การกระทำความดีหรือการกระทำความชั่วนั้น เราเป็นผู้กระทำ  อย่างเวลาเราเห็นคนอื่นหรือได้ยินคนอื่นเขาพูดอะไร หรือทำอะไรที่ไม่ถูกใจเรา  ถ้าเราไม่ไปสนใจ  คือเห็นเขาทำอะไรหรือพูดอะไร  ถึงแม้จะมีความไม่พอใจ  เราก็ทำใจให้นิ่งเฉยเสีย  ไม่ไปสนใจ  ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้  เราก็จะสามารถรักษาความดีของเราไว้ได้อยู่   แต่ถ้าไม่ยับยั้งใจไว้  ปล่อยให้แสดงออกมาทางกาย ทางวาจา  ก็จะนำไปสู่การกระทำที่ไม่ดีได้  เช่นพูดคำหยาบ  ทะเลาะเบาะแว้งกัน  ต่อสู้ทุบตีกัน    เมื่อทำไปแล้ว ใครเป็นคนรับผลล่ะ   ผู้ที่กระทำนั้นแหละเป็นคนรับ  คนที่ทำในสิ่งที่เราไม่พอใจ  เขาไม่ได้ทำอะไร  ก็ไม่มีผลอะไรเกิดขึ้นกับเขา   แต่ผลจะเกิดจากการกระทำของเรา   

เวลาเห็นอะไร ได้ยินอะไรที่ไม่ถูกใจ  ต้องใช้สติปัญญาเตือนสติ  เตือนใจเราว่า  สิ่งที่เขาทำนั้น เราไปห้ามเขาไม่ได้   เขาจะทำอย่างไรมันก็เป็นเรื่องของเขา   เราต่างหากที่จะต้องห้ามใจเรา   ห้ามตัวเรา ไม่ให้ไปกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  ไม่ดีงาม  ต้องระมัดระวัง ไม่ไปทำอะไรที่ผิดศีลผิดธรรมเป็นอันขาด   ถ้ารักษาการกระทำของเราได้  คือไม่ไปกระทำความชั่วแล้ว  ผลของบาปกรรมทั้งหลายคือความทุกข์ ย่อมไม่เกิดตามมา เพราะนี่เป็นหลักของเหตุและผล  เหตุก็คือการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ  ผลที่ตามมาก็คือความไม่สบายอกไม่สบายใจ การไปใช้กรรมด้วยวิธีการต่างๆ ไปติดคุกติดตะราง  ก็จะไม่เกิดขึ้นกับเรา  เวลาเห็นอะไร ได้ยินอะไร  สัมผัสอะไร  แล้วมีปฏิกิริยาตอบโต้ บางครั้งก็เป็นปฏิกิริยาที่ดี  บางครั้งก็เป็นปฏิกิริยาที่ไม่ดี  ก็ต้องระมัดระวัง คอยดูใจ  เวลาเกิดความโกรธขึ้นมา ก็ต้องระงับ  อย่าปล่อยให้ความโกรธระบายออกมาทางกาย ทางวาจา  ถ้ารักษาความเป็นปกติของ กาย วาจา ใจได้  ชีวิตของเราก็จะดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม  ไม่มีปัญหาตามมา  แต่ในทางตรงกันข้าม เวลาได้ยิน ได้เห็นอะไรที่ไม่พออกพอใจ  สร้างความโกรธ  ความคับแค้นใจ  แล้วไม่ระงับ  ไม่ควบคุม ปล่อยให้ระบายออกมาทางวาจา ทางกายแล้ว ปัญหา ความวุ่นวาย เรื่องราวต่างๆก็จะตามมา ความทุกข์ก็จะต้องตามมาอย่างแน่นอน จึงขอให้ทำความเข้าใจไว้ว่า เรื่องของความสุขและความทุกข์ ความเจริญ ความเสื่อมนั้น ไม่ได้อยู่กับใครที่ไหน  แต่อยู่ที่ตัวเราเอง

ตัวเราเป็นเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง  เราเป็นคนขับรถยนต์  เวลาขับรถยนต์ ต้องมีความสามารถควบคุมรถยนต์ให้ไปในทิศทางที่ต้องการให้ไปได้  เมื่อถึง ๔ แยกไฟแดง ต้องบังคับให้รถหยุดได้  จะไปทางซ้าย ไปทางขวา เดินหน้า ถอยหลัง  ต้องควบคุมบังคับให้ไปตามที่ต้องการได้  ถ้าควบคุมรถยนต์ได้  การขับรถยนต์ของเราก็จะปลอดภัย  ไม่มีอุบัติเหตุ  ชีวิตของเราก็เป็นเช่นนั้น  ชีวิตของเราก็เปรียบเหมือนกับรถยนต์ คันหนึ่ง เราก็เป็นเหมือนกับคนขับรถยนต์   เราต้องดูการเคลื่อนไหวของชีวิตเรา   การเคลื่อนไหวของชีวิตเรา ก็คือการกระทำทางกาย  ทางวาจาและทางใจนั่นแหละ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำทางใจ  เพราะการกระทำทางใจ คือความคิดปรุง ความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ  เป็นตัวริเริ่ม เป็นตัวที่จะทำให้เกิดการกระทำทางวาจา  ทางกายตามมา   ถ้ามีสติคอยดู คอยควบคุมการเคลื่อนไหวของความคิดปรุง  ของอารมณ์ ไม่ปล่อยให้ความคิดและอารมณ์ พาไปในทิศทางที่ไม่ดี ที่ไม่ถูกต้องแล้ว  ชีวิตก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี  พาไปสู่จุดหมายปลายทางที่ปรารถนา  คือความสิ้นทุกข์ ความปราศจากภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง  ซึ่งอยู่ในความสามารถของพวกเราที่จะทำได้

เพียงแต่เราต้องรู้จักดูแลชีวิตของเรา  เหมือนกับเวลาขับรถยนต์   ถ้าขับรถยนต์ไม่เป็น จะต้องทำอะไรก่อน  ก็ต้องไปเรียนก่อน  เรียนวิธีการขับรถยนต์ว่า จะขับเคลื่อนไปได้อย่างไร  จะต้องทำอย่างไรถึงให้เดินหน้าได้  ให้ถอยหลังได้  ให้เลี้ยวซ้าย  เลี้ยวขวาได้  ให้หยุดได้   ต้องเรียนรู้ก่อน  ก่อนที่จะไปขับรถยนต์  ถ้าไม่เรียนแล้วไปขับ  เวลารถวิ่งไป แล้วไม่รู้จักวิธีหยุดรถๆก็จะต้องไปชนกับสิ่งนั้นสิ่งนี้อย่างแน่นอน  ชีวิตของเราก็เช่นกัน   การดำเนินชีวิตก็คือการกระทำ  ทางกาย วาจา ทางใจ  ต้องรู้จักว่า เมื่อทำไปแล้วมีผลดี  ผลเสียอย่างไร  การกระทำที่มีผลเสีย  ก็ต้องหยุด คือไม่กระทำ  ส่วนการกระทำที่มีแต่ผลดีตามมา ก็พยายามทำให้มากๆขึ้นไป  นี่แหละคือวิธีการดำเนินชีวิตของเรา  ถ้าควบคุมการกระทำให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม อยู่ในกรอบของความดีแล้ว ชีวิตของเราจะมีแต่ความสุขความเจริญโดยถ่ายเดียว   

ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้าของเรา   พระพุทธองค์ทรงมีสติปัญญาคอยเฝ้าดูแลการกระทำของพระองค์ ทางกาย วาจา ใจตลอดเวลา  จึงทรงนำพาชีวิตของพระองค์ไปสู่จุดสูงสุดที่มนุษย์จะสามารถดำเนินไปได้ นั่นก็คือการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด  การพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย   พวกเรายังไม่เป็นเหมือนกับพระพุทธเจ้า  เพราะยังไม่สามารถดำเนินไปถึงจุดนั้นได้   ชีวิตของพวกเราจึงเป็นชีวิตที่มีทั้งความสุข  มีทั้งความทุกข์ ลุ่มๆดอนๆ ส่วนใหญ่จะมีแต่ความทุกข์รออยู่ข้างหน้าเสมอ  เพราะเหตุใด  เพราะเรายังเดินเข้าหากองทุกข์  แทนที่จะเดินถอยออกจากกองทุกข์  เรายังเดินเข้าสู่กองทุกข์อยู่  เพราะอะไรเราจึงเดินเข้าหากองทุกข์  ก็เพราะว่าเรายังเห็นทุกข์ว่าเป็นสุขอยู่ ยังเห็นตรงข้ามกับความเป็นจริง  ไม่เห็นตามความเป็นจริง  เราจึงเป็นเหมือนกับคนตาบอด  คือมองไม่เห็นอะไรเลย ก็เลยคว้าโน่นคว้านี่มา คิดว่าสิ่งที่จับมา คว้ามานั้น เป็นสิ่งที่ดี  แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่คว้ามานั้น คืออสรพิษ  เมื่อคว้าเอาอสรพิษมา ก็ต้องถูกมันกัด  เมื่อถูกกัด ก็ต้องเจ็บปวดรวดร้าว แล้วในที่สุดก็ถึงกับตายได้

ฉันใดชีวิตของพวกเราก็เป็นลักษณะนั้น  เพราะยังไม่มีความรู้ความฉลาดมีปัญญาที่จะมองเห็นความเป็นจริงของสภาวธรรมทั้งหลายได้   ยังเห็นตรงกันข้ามอยู่ เพราะอะไร   ก็เพราะความหลงผิดที่ เรียกว่าโมหะนี้เอง   ยังครอบงำใจอยู่   เลยทำให้มีความโลภ  มีความโกรธอยู่  เราจึงต้องอาศัยพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง  พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรายึดเราติดกันอยู่ในโลกนี้  ล้วนเป็นสิ่งที่ให้ความทุกข์กับเราทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลก็ดี  เป็นวัตถุก็ดี  ไม่เป็นความสุขเลย  เป็นแต่ความทุกข์   แต่พวกเรายังเห็นดีเห็นชอบกับบุคคลต่างๆ  เราจึงอยากจะมีแฟนกัน   ยังอยากจะมีสามี มีภรรยากัน  แทนที่จะอยู่ตัวคนเดียวเหมือนกับพระพุทธเจ้า  เรายังทำอย่างนั้นไม่ได้   เพราะว่าเรายังคิดว่าการมีแฟน มีสามี มีภรรยา จะทำให้เรามีความสุข  แต่เมื่อมีแล้ว เรามีความสุขจริงหรือเปล่า  เราเคยถามตัวเราเองบ้างไหม  หรือว่ายังมีความทุกข์อยู่  และดีไม่ดีกลับมีความทุกข์มากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป  เพราะเมื่อเรามีแฟนแล้ว  เราก็ต้องมาทุกข์กับแฟนเรา  ต้องมาห่วงแฟนเรา ห่วงสามี ห่วงภรรยาเรา  อย่างนี้มันเป็นความสุขหรือเป็นความทุกข์กันแน่

ถ้าเราอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีสามี  ไม่มีภรรยา  เราก็ไม่ต้องห่วงสามี  ไม่ต้องห่วงภรรยา  และก็ยังมีความสุขได้   เพราะความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า จะต้องมีสิ่งนั้นสิ่งนี้  มีบุคคลนั้นบุคคลนี้  แต่ความสุขนั้นเกิดจากการไม่โลภ  ไม่โกรธต่างหาก  และการที่จะไม่โลภ ไม่โกรธได้  ก็ต้องมีความรู้ คือปัญญา เพื่อที่จะเอาชนะความหลง  ความหลงจะสอนให้เราคิดว่า  ถ้าเรามีสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วเราจะมีความสุข  แต่ความจริงแล้วกลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม    ถ้ามีสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วเรากลับจะมีความทุกข์  เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นกองทุกข์ทั้งสิ้น   มีอะไรก็ต้องเป็นทุกข์กับสิ่งนั้น  ไม่มีเสียได้จะดีกว่า  นี่แหละคือเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจ  แล้วพยายามเอาชนะความหลงตัวนี้ให้ได้  พยายามฝึกหัดอยู่แบบไม่มีอะไรดู  อย่างที่มาอยู่วัดกันนี้ ก็เป็นการมาฝึกหัดอยู่แบบไม่มีอะไร  เวลามาอยู่วัด ก็ไม่ได้เอาสามี เอาภรรยามา  ไม่ได้เอาทรัพย์สมบัติ ไม่ได้เอาอะไรมา  เอาแต่ตัวมา  มาฝึกหัดอยู่แบบง่ายๆ ให้มีเครื่องเลี้ยงชีพก็พอ  มีอาหารกิน มีที่อยู่อาศัย มีเสื้อผ้าใส่ มียารักษาโรค เท่านี้ก็พอแล้ว  แล้วจะพบกับความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อน  จะไม่มีความทุกข์  ไม่มีความกังวลกับอะไรเลย 

นี่แหละคือเรื่องที่เราควรคำนึงถึง  คิดถึง  ถ้ายังมีอะไรอยู่ ก็ขอให้ทำความเข้าใจว่า  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกองทุกข์ทั้งนั้น  ถ้าไม่มีเสียได้ จะดีกว่า  ถ้าต้องสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไปก็อย่าไปเสียอกเสียใจ  ควรจะดีอกดีใจว่า  กองทุกข์ได้ค่อยหมดไป ทีละเล็กทีละน้อย  เพราะความสุขที่แท้จริงนั้น มันเกิดจากความสบายใจ ความที่ไม่ต้องไปวิตก  ไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องราวต่างๆ ไม่ต้องไปวิตกกับบุคคลนั้นบุคคลนี้   ถ้าไม่มีอะไร เราก็จะไม่มีความวิตกกังวล  นี่แหละทำไมจึงทำให้พระพุทธเจ้าถึงต้องสละราชสมบัติ  จากการเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน มาเป็นนักบวชสมณะเพศ  อยู่แบบตามมีตามเกิด  นั่นก็เป็นเพราะว่าทรงเห็นสัจธรรมความจริงนั่นเอง ว่าความสุขที่แท้จริงนั้น  ไม่ต้องอาศัยอะไรให้ความสุขกับเรา   ถ้าตราบใดยังอาศัยสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ความสุขกับเราอยู่  เราก็จะต้องมีแต่ความทุกข์  เพราะสิ่งที่เราอาศัยอยู่นั้น  จะไม่อยู่กับเราไปตลอด  จึงต้องสละทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้