กัณฑ์ที่ ๑๑๖
๓
มิถุนายน ๒๕๔๕
ทัพพีในหม้อแกง
วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
คือวันวิสาขอัฏฐมีบูชา
เป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบรมศาสดา
คือหลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานไปในวันวิสาขบูชา
ที่ผ่านมา ๘ วันแล้ว
ได้มีการเก็บพระบรมศพไว้
ให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้
สักการบูชาเป็นครั้งสุดท้าย
ก่อนที่จะมีการถวายพระเพลิง
ซึ่งตรงกับวันนี้
พวกเราชาวพุทธจึงถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง
ที่จะมารำลึกถึงเหตุการณ์อันมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในอดีตอีกครั้งหนึ่ง
เพื่อเป็นการเตือนสติให้รู้ว่า
เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว
มีมหาบุรุษผู้วิเศษได้ปรากฏขึ้นมาในโลกนี้
ได้ปฏิบัติตนจนบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้นำสิ่งที่ทรงตรัสรู้มาเผยแผ่ให้กับสัตว์โลก
สร้างคุณสร้างประโยชน์อย่างใหญ่หลวง
ธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้
เป็นธรรมที่ไม่มีใครจะรู้ได้นอกจากพระโพธิสัตว์เท่านั้น
พระโพธิสัตว์อย่างพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ธรรมได้
นานๆจะมีมาปรากฎสักครั้งหนึ่ง
จึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่ง
เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้
เป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลาย
ที่เป็นปุถุชน มีความหลง
มีโมหะอวิชชาครอบงำจิตใจ
จะไม่สามารถรู้ได้เลย
ต้องมีคนอย่างพระพุทธเจ้ามาบอกมาสอนเท่านั้น
ถึงจะรู้ได้ เมื่อมีพระพุทธเจ้ามาปรากฏขึ้นแล้ว
ได้อุทิศเวลาทั้งหมดที่เหลืออยู่ในชีวิตของพระพุทธองค์
ไว้สั่งสอนสัตว์โลกทุกๆวัน
เพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงถึงสัจธรรมความจริงของชีวิต
ว่าเป็นอย่างไร ควรดำเนินด้วยวิธีใด
เพื่อนำพาชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทางที่ปรารถนากัน
คือความสุขความเจริญ
ความปราศจากความทุกข์
ความเสื่อมเสียทั้งหลาย
เราจึงควรน้อมเอาพระธรรมคำสอนอันประเสริฐ
มาศึกษาปฏิบัติด้วยศรัทธาที่แน่วแน่
ด้วยวิริยะที่หนักแน่น
ถ้าไม่มีคนอย่างพระพุทธเจ้ามาสั่งสอนแล้ว
ชีวิตพวกเราก็จะดำเนินไปแบบลุ่มๆดอนๆ
ไม่มีโอกาสที่จะเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางอันประเสริฐ
อันวิเศษได้ คือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
หลุดพ้นจากกองทุกข์อันใหญ่โตที่เรียกว่าวัฏสงสาร
ไม่มีใครจะทำได้นอกจากพระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรก แต่หลังจากที่ได้ทรงปฏิบัติจนสำเร็จแล้ว ดิ้นรนจนสุดเหวี่ยง
จนพ้นจากกองทุกข์ของวัฏสงสารแล้ว
จึงทรงนำเอาวิธีการปฏิบัติที่ได้ทรงปฏิบัติมาสั่งสอน
เผยแผ่ให้กับผู้ที่สนใจ
ผู้ที่มีความศรัทธาเลื่อมใส
เมื่อได้นำพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ไปปฏิบัติกับกาย วาจา ใจแล้ว
ผลที่ตามมาก็คือการหลุดพ้นจากกองทุกข์เหมือนกับที่พระพุทธองค์ได้ทรงหลุดพ้น
กลายเป็นผู้รับรองพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า รับรองการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
รับรองความวิเศษของพระพุทธเจ้า
เป็นผู้สืบทอด เผยแผ่
พระพุทธศาสนามาจนถึงทุกวันนี้
พวกเราผู้มาเกิดภายหลังจึงเป็นผู้มีโชควาสนา
ที่ได้มาเจอพระพุทธศาสนา
ที่ยังอยู่ในสภาพครบถ้วนบริบูรณ์
สามารถยังประโยชน์ให้กับพวกเราได้อย่างเต็มที่
เหมือนกับในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่
เพราะไม่ได้ทรงฝากพระธรรมคำสอนที่วิเศษของพระพุทธองค์ไว้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด
แต่ทรงมอบไว้กับพระธรรมวินัย
ธรรมวินัยนี้แล
จะเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย
หลังจากที่เราได้ผ่านไปแล้ว
นี่เป็นคำสั่งที่พระพุทธองค์ทรงสอน
ภิกษุสามเณรให้ทราบไว้ว่า
พระพุทธเจ้ากับพระธรรมวินัยที่ได้ทรงตรัสไว้ชอบแล้ว
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เป็นตัวแทนกันได้
ทดแทนกันได้
ดังในบทธรรมที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม
ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ถึงแม้ในปัจจุบันนี้
พระสรีระร่างกายของพระพุทธองค์
ได้สลายกลายเป็นพระบรมสารีริกธาตุไปหมดแล้ว
แต่พระธรรมอันวิเศษ
ยังอยู่กับพวกเราอยู่
พระบรมศาสดาก็ยังอยู่กับพวกเราอยู่
อยู่ในร่างของพระธรรมวินัยนี่เอง
พวกเราจึงไม่ได้อยู่โดยปราศจากพระศาสดาเลยแม้แต่นิดเดียว
ขณะใดที่เราระลึกถึงพระธรรมคำสอน
ก็ถือว่าเราได้ใกล้ชิดพระบรมศาสดาแล้ว
ต่างกับบุคคลที่แม้จะได้เกาะชายผ้าเหลือง
ได้อยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธองค์
แต่ไม่เคยสนใจคำสอนของพระพุทธองค์เลย
ก็เปรียบเหมือนกับอยู่ห่างไกลเป็นร้อยเป็นพันโยชน์
เปรียบเหมือนกับทัพพีในหม้อแกง
ทัพพีถึงจะอยู่ในหม้อแกง
สัมผัสกับแกงอยู่ตลอดเวลา
แต่ทัพพีจะไม่รู้จักรสชาติของแกงเลย
ว่าเป็นแกงชนิดไหน
เป็นแกงเผ็ด แกงจืด แกงหวาน
หรือแกงอะไร ซึ่งต่างกับลิ้นที่สัมผัสกับรสของอาหาร
แม้แต่อาหารเพียงหยดเดียว
ลิ้นก็สามารถรู้ได้ทันทีว่าอาหารชนิดนั้นเป็นอะไร
นี่คือลักษณะของพุทธศาสนิกชนที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธองค์
ใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา
ขอให้ใกล้ชิดแบบลิ้นกับแกง
อย่าใกล้ชิดแบบทัพพีในหม้อแกง
ถึงแม้จะมีพระพุทธรูปสร้างไว้เต็มวัด
เต็มบ้านเต็มเมือง
แต่ใจไม่เคยระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เลยแม้แต่ครั้งเดียว
ก็สู้คนที่อยู่ต่างประเทศ
อยู่ไกลแสนไกลจากศาสนา
อยู่ในสถานที่ๆไม่มีแม้แต่พระพุทธรูปแม้แต่องค์เดียว
แต่ในใจของเขากลับระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่อย่างสม่ำเสมอ
เพราะเขามีหนังสือธรรมะ
เขาศึกษาธรรมะ
นั่นแหละคือวิธีอยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า
ต้องอยู่ใกล้ชิดด้วยการเข้าหาพระธรรมวินัย
พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ด้วยการศึกษาเล่าเรียนอย่างสม่ำเสมอ
จะด้วยวิธีการฟังเทศน์ฟังธรรมดังที่ท่านทั้งหลายกำลังทำกันอยู่ขณะนี้ก็ได้
หรืออ่านหนังสือธรรมะที่มีอยู่ตามสถานที่ต่างๆ
หรือฟังเทศน์ที่อัดไว้ในเทป
หรือเผยแผ่ผ่านทางสื่อต่างๆ
ทางวิทยุ โทรทัศน์
หนังสือพิมพ์ก็ได้
ถ้ารู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์
ก็จะเป็นเหมือนลิ้นกับแกง
แต่ถ้าไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์
ก็จะเป็นเหมือนกับทัพพีในหม้อแกง
จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย
นี่แหละคือเรื่องของพระพุทธศาสนา
ที่เน้นอยู่ที่การศึกษาเป็นหลัก
เน้นอยู่ที่การศึกษาและนำสิ่งที่ได้ศึกษามาปฏิบัติกับกาย
วาจา ใจ ของตน การศึกษาทางพระพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ
เปรียบเหมือนกับการอ่านหนังสือเกี่ยวกับอาหารชนิดต่างๆ
แต่ไม่เคยได้ลิ้มรส
ไม่ได้รับประทานอาหารที่ได้อ่านจากหนังสือนั้นเลย จะไม่รู้ว่าอาหารต่างๆที่ได้อ่านนั้น
มีรสชาติอย่างไร
มีคุณมีประโยชน์อย่างไร
เช่นเดียวกับการได้ศึกษา
ได้ยินได้ฟังเรื่องบาปบุญคุณโทษ
เรื่องนรกเรื่องสวรรค์
เรื่องการทำตนให้เป็นคนดี
เรื่องการพยายามละเว้นจากการกระทำความชั่วทั้งหลาย
เรื่องการเอาชนะกิเลสชนะใจของตน
เมื่อได้ปฏิบัติไปแล้วผลจะเป็นอย่างไร
ถ้าไม่นำมาปฏิบัติกับตัวเรา
ก็จะไม่รู้
จะไม่เห็นคุณค่าของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
เราจึงต้องเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ที่ได้ยินได้ฟังได้ศึกษามาประพฤติปฏิบัติกับกายวาจาใจของเรา
แล้วกายวาจาใจของเราจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี นำความสุขและความเจริญอย่างแท้จริงมาให้ ชีวิตของเราเปรียบเหมือนกับการเดินทาง
เป็นพาหนะอย่างหนึ่ง
เหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง
เวลาที่จะขับรถยนต์ ในเบื้องต้นจะต้องรู้จักองค์ประกอบของรถยนต์เสียก่อนว่ามีอะไรบ้าง
คือต้องรู้จักวิธีขับรถนั่นเอง
ต้องรู้ว่าพวงมาลัยมีไว้ทำอะไร
เบรกมีไว้ทำอะไร คันเร่งมีไว้ทำอะไร
เกียร์มีไว้ทำอะไร
ต้องรู้จักใช้อุปกรณ์เหล่านี้
นอกจากนั้นแล้ว
ยังต้องรู้จักกฎกติกามารยาทของการขับรถ
รู้จักกฎจราจร รู้จักเครื่องหมายต่างๆ
ที่ติดไว้ตามทาง เวลาไปถึงสี่แยกเห็นไฟเขียวไฟแดงไฟเหลือง ต้องรู้ว่าไฟเขียวมีความหมายอย่างไร ไฟแดงมีความหมายว่าอย่างไร
ถ้าขับรถไปโดยที่ไม่รู้เรื่องเหล่านี้
โอกาสที่จะไปชน
ไปประสบอุบัติเหตุย่อมเป็นไปได้มากทีเดียว
แต่ถ้ารู้กฎกติกา กฎจราจร
รู้วิธีการขับรถยนต์แล้ว
การขับรถยนต์จากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง
ย่อมเป็นไปด้วยความปลอดภัยราบรื่น
ฉันใดชีวิตของเราก็เปรียบเหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง
มีองค์ประกอบหลายอย่าง
ที่จะต้องศึกษา
ทำความเข้าใจ
ทำความรู้ให้ถูกต้อง
แล้วรู้จักวิธีปฏิบัติกับองค์ประกอบต่างๆ
ที่มาเกี่ยวข้องกับชีวิต
เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต
สิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับชีวิตนั้น
พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้มีอยู่
๗ ประการด้วยกันคือ ๑.
เหตุ ๒.
ผล ๓.
ตน ๔.
บุคคล
๕. สังคม
๖. การประมาณ ๗.
กาลเทศะ
การดำเนินชีวิตให้เป็นไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม
มีแต่ความสุขความเจริญ
จึงต้องทำความเข้าใจ
ทำความรู้จักสิ่งที่ได้กล่าวมานี้
คือต้องรู้เหตุ
รู้ผล รู้ตน
รู้บุคคล รู้สังคม
รู้ประมาณ และรู้กาลเทศะ
ซึ่งเปรียบเหมือนอุปกรณ์ของรถยนต์
และเครื่องหมายจราจรต่างๆ
ที่จะกำกับการเคลื่อนไหวของรถยนต์ให้เป็นไป
โดยไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมา
ให้รถยนต์ทุกคันที่อยู่บนถนนวิ่งด้วยความปลอดภัย
เราจึงต้องรู้สิ่งทั้ง ๗
ประการนี้ว่ามีอะไรบ้าง
๑.
รู้เหตุ ๒.
รู้ผล
เหตุในที่นี้หมายถึงการกระทำที่เรียกว่ากรรม
การกระทำในชีวิตมีอยู่ ๓
คือกระทำทางกาย
เรียกว่ากายกรรม กระทำทางวาจา
เรียกว่าวจีกรรม
กระทำทางใจ เรียกว่ามโนกรรม
กรรมทั้ง ๓ นี้
เมื่อทำไปแล้วย่อมมีผลตามมา
มีสุขบ้าง
ทุกข์บ้าง
ไม่สุขบ้างไม่ทุกข์บ้าง
ขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำ
มีอยู่ ๓ ชนิด คือกรรมดี
กรรมชั่ว กรรมที่ไม่ดีไม่ชั่ว
ทำกรรมดี ผลที่ตามมา
คือความสุขความเจริญ
ทำกรรมชั่ว ผลที่ตามมา
คือความทุกข์ความเสื่อมเสีย
ทำกรรมที่ไม่ดีไม่ชั่ว
ผลที่ตามมาคือไม่สุขไม่เจริญ
นี่คือเรื่องของเหตุและผล
เป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับตัวเราทุกๆคน
เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องทำกันทุกคน
ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา
พอลืมตาขึ้นก็เริ่มทำกรรมกันแล้ว
การลืมตาถือว่าเป็นการกระทำกรรมอย่างหนึ่งแล้ว
เพียงแต่ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ใช่เป็นกรรมดีและกรรมชั่ว เมื่อลืมตาขึ้น
ใจก็เริ่มคิดแล้ว
มโนกรรมก็ปรากฏขึ้นมาแล้ว
ตอนต้นก็ต้องคิดว่า เอ๊ะตอนนี้เราอยู่ที่ไหน
มองไปรอบตัวก็รู้ว่าอยู่ในห้องนอน
เรานอนอยู่
แล้วก็นึกต่อไปว่า
วันนี้วันอะไร ตอนนี้เวลากี่โมง
ต้องทำอะไร มีธุระอะไร
นั่นเป็นเรื่องของมโนกรรมแล้ว
เมื่อคิดแล้วก็สั่งงานต่อไปที่กายและวาจา
เช่นเมื่อรู้ว่าวันนี้จะต้องออกไปทำมาหากิน เมื่อตื่นแล้วก็ต้องสั่งให้ลุกขึ้นมา เมื่อลุกขึ้นมาก็ทำกิจธุระส่วนตัว
ล้างหน้าล้างตา อาบน้ำอาบท่า
แต่งกายเพื่อที่จะได้เตรียมตัวไปทำงาน
หาข้าวหาอาหารรับประทาน
นี่ก็เป็นเรื่องกรรมทั้งนั้นที่เราทำอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งเราต้องรู้ว่าการกระทำอะไร
ทำไปแล้วไม่เกิดปัญหาขึ้นมา
ไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมา
ทำไปแล้วทำให้เกิดแต่ความสุขความเจริญ
จึงต้องศึกษา ต้องรู้จักการกระทำว่าอันไหนทำไปแล้วเป็นสิ่งทีดี
อันไหนทำไปแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ดี
อันไหนทำไปแล้วดี
นำมาซึ่งความสุขความเจริญ
ก็ทำไป อันไหนทำไปแล้ว
นำมาซึ่งความทุกข์ความเสื่อมเสีย
ก็อย่าไปทำ ผลก็ต้องศึกษาเช่นกัน
เนื่องจากเรามีปัญญาน้อย
อาจจะเห็นเพียงแต่ผลในระยะสั้นๆ
ไม่มองผลในระยะยาว ผลที่ให้ความสุขในระยะสั้นๆ
แต่กลับมีทุกข์ตามมาในระยะยาว
ก็ต้องเข้าใจว่านั่นไม่ใช่ความสุขแล้ว
แต่เป็นความทุกข์ เช่นเวลาเสพสุรายาเมา
เล่นการพนัน เที่ยวเตร่กัน
จะรู้สึกมีความสุข แต่มันเป็นความสุขในเบื้องต้น
เป็นความสุขที่ไม่ยาวนาน
สุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว
หลังจากนั้นก็จะมีปัญหา
มีความทุกข์ตามมา
เวลาดื่มสุรา ก็ดื่มกันไป
สนุกสนานเฮฮากันไป
ก็ดื่มกันแบบไม่รู้จักประมาณ
พอเวลากลับบ้านกลับช่องกัน
ต่างคนก็ต่างขับรถกลับกัน
แต่ไม่มีสติที่จะประคับประคองควบคุมการขับรถยนต์
ก็อาจจะต้องไปประสบอุบัติเหตุเจ็บไข้ได้ป่วย
พิกลพิการ หรือเสียชีวิตไป
ก็เป็นได้ นี่ก็เป็นผลที่ตามมา
จากการเสพสุรายาเมา
ที่เราคิดว่าเป็นความสุข
แต่หารู้ไม่ว่ามีความทุกข์ตามมา
ที่มีความทุกข์มากกว่าความสุข
เราจึงต้องเข้าใจว่าความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร
ความทุกข์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร
เพราะสุขกับทุกข์บางทีไปด้วยกัน
เราทำอะไรจึงมีผลทั้ง ๒
อย่าง มีทั้งสุขและมีทั้งทุกข์
เราจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสุขกับทุกข์
ว่าอันไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน
ถ้าความทุกข์มีน้ำหนักมากกว่า
อย่างเวลาเสพสุรายาเมา
เล่นการพนัน หรือออกไปเที่ยวเตร่
ในเบื้องต้นจะมีความสุข
แต่ผลที่เป็นความทุกข์ที่จะตามมามีมากกว่า
มีน้ำหนักมากกว่า
เราก็ต้องสรุปว่ามันเป็นความทุกข์
เมื่อเป็นเช่นนั้น
เราก็ต้องละเว้นจากอบายมุขทั้งหลาย
ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา
ละเว้นจากการเล่นการพนัน
ละเว้นจากการเที่ยวเตร่
เพราะเป็นทุกข์ ไม่ใช่สุข
ส่วนเวลาที่เรามาทำบุญให้ทานที่วัดก็ดี
หรือสงเคราะห์ผู้อื่นก็ดี
เอาข้าวของไปเลี้ยงดูผู้อื่น
ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรารักเราชอบ
เรามีความเคารพ เช่นบิดา
มารดา ปู่ ย่า
ตา ยาย เพื่อนสนิท
มิตรสหาย หรือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก
เรามีความรู้สึกสงสาร
เมตตาอยากจะช่วยเหลือบุคคลนั้นให้ได้มีความสุข เราก็ต้องสละเวลา
สละทรัพย์ เงินทอง เวลาที่จะควักเงินออกมาซื้อของ
เวลาที่จะต้องเจียดเวลาที่มีค่า
จากการที่จะเอาเวลานั้นไปเที่ยวไปหาความสุข
ก็ต้องเจียดเวลานี้มาให้กับผู้อื่น
มันก็เกิดความรู้สึกทุกข์
เกิดความยากลำบากขึ้นมา
แต่ความทุกข์ความยากลำบากนี้
จะน้อยเมื่อเปรียบถึงผลที่จะได้รับจากการที่ได้ไปช่วยเหลือผู้อื่น
เพราะเวลาที่ไปพบเห็นคนที่ตกทุกข์ได้ยากลำบากลำบน
แล้วได้ช่วยเหลือให้เขาได้มีชีวิตที่ดีขึ้น จะรู้สึกว่ามีความปลาบปลื้ม
มีความสุขใจ มีความอิ่มใจ
ถ้าคิดว่าถ้าเขาเป็นเราและเราเป็นเขา
แล้วเขาทำอย่างที่เราทำกับเขา
เราจะรู้สึกอย่างไรบ้าง
เช่นวันนี้เกิดเราเจ็บไข้ได้ป่วย
ไม่มีเงินทองที่จะรักษา
ไม่มีข้าวรับประทาน แล้วอยู่ดีๆก็มีคนมาช่วยเหลือ
พาไปโรงพยาบาล ไปหาหมอ
หาอาหารมาเลี้ยงดู
อย่างนี้เราจะเกิดความรู้สึกที่มีความสุขมาก เช่นเดียวกับคนที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ก็เป็นความรู้สึกที่ดี
เป็นความรู้สึกที่มีสุขเป็นสุข
นี่ก็คือการรู้จักผล
รู้จักสุข รู้จักทุกข์
ว่าอันไหนเป็นสุขที่แท้จริง
อันไหนเป็นทุกข์ที่แท้จริง
เมื่อรู้แล้ว
ต่อไปก็จะทำแต่สิ่งที่เป็นสุข
อันไหนที่เป็นทุกข์แต่มาในคราบของความสุข
เราก็จะไม่หลงกับมันอีกต่อไป
๓.
รู้ตน
คือรู้จักตัวเราเอง
ว่าเราเป็นคนหรือเป็นอะไร
เป็นหญิงหรือเป็นชาย
ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องประพฤติตัวแบบหนึ่ง
ถ้าเป็นชายก็ต้องประพฤติตัวอีกแบบหนึ่ง
การประพฤติตนต้องเป็นไปตามฐานะของตน
ไม่ใช่เป็นผู้หญิงแล้วไปทำตัวเป็นผู้ชาย
หรือเป็นผู้ชายแล้วไปทำตัวเป็นผู้หญิง
ก็จะกลายเป็นคนที่สังคมรังเกียจ
เพราะจะคิดว่าสติไม่ดี
ไม่รู้จักตน ไม่รู้จักว่าตัวเองควรวางตัวอย่างไร
แสดงว่าเป็นคนไม่มีสติ
ไม่มีปัญญา
เลยเป็นคนที่ไม่มีใครอยากจะคบค้าสมาคมด้วย
นอกจากต้องรู้ว่าเราเป็นหญิงหรือเป็นชายแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างในฐานะของเราต่อสังคม คือเป็นผู้ใหญ่
เป็นเด็ก การทำตัวก็ต่างกัน
เป็นผู้ใหญ่ก็ต้องวางตัวอย่างหนึ่ง
เป็นเด็กก็ต้องวางตัวอย่างหนึ่ง
เป็นฆราวาสหรือเป็นนักบวชก็วางตัวไม่เหมือนกัน
นักบวชก็ต้องวางตัวอย่างหนึ่ง
เป็นฆราวาสก็ต้องวางตัวอย่างหนึ่ง
ถ้าเป็นนักบวชแล้วไปวางตัวเป็นฆราวาสจะไม่มีใครเขาให้ความเคารพนับถือ
แต่ถ้าเป็นฆราวาสแล้วไปทำตัวเป็นนักบวช
คนเขาก็จะหาว่าทะลึ่ง
ไม่รู้จักฐานะของตัวเอง
ถ้าต้องการให้คนเขามองเราดี
มองเราด้วยความนับถือ
ด้วยความเลื่อมใส
ด้วยความมั่นใจว่า
เราไม่ใช่เป็นคนเสียสติเสียสตัง
ก็ต้องรู้จักตัวว่าเป็นอะไร
แล้วประพฤติตนให้เหมาะสมกับฐานะของตน
๔.
รู้บุคคล
เราอยู่ในโลกนี้เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว
แต่อยู่กับคนหลายคนด้วยกัน
เกิดมาปั๊บเราก็มีพ่อมีแม่แล้ว
เราก็ต้องรู้จักคนที่เกี่ยวข้องกับเรา
เพราะแต่ละคนที่เกี่ยวข้องกับเรามีฐานะไม่เหมือนกัน
มีคุณกับเราไม่เหมือนกัน
อย่างพ่อแม่นี้
เป็นบุคคลสองคนในโลกที่มีพระคุณอย่างยิ่งกับเรา
เป็นคนที่เรากราบไหว้ได้ด้วยความตายใจ
เป็นคนที่เราเชื่อได้ด้วยความตายใจ
เพราะท่านมีแต่ให้เราอย่างเดียว
มีแต่สงเคราะห์เราอย่างเดียว
มีแต่ความเมตตา
ความกรุณาให้กับเรา
ฉะนั้นเวลาที่ท่านสั่งสอนเรา
บอกอะไรเรา เราก็ต้องฟังด้วยความเคารพ
แม้ว่าสิ่งที่ท่านสอน
ที่ท่านบอกเรานั้น
อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกอกถูกใจเรา
เราก็ต้องฟังไว้ก่อน
แล้วนำไปคิดพิจารณาทีหลัง
ไม่ควรจะแสดงอาการไม่เคารพออกมา
เช่นเถียงพ่อแม่
หรือด่าพ่อแม่กลับไปอย่างเสียๆหายๆ
ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว
แสดงว่าเราไม่รู้จักบุคคล
พวกที่ไม่รู้จักบุคคลก็เหมือนพวกเดรัจฉาน
เดรัจฉานเขาไม่รู้จักพ่อรู้จักแม่เขา
ฉันใดถ้าเรา
ยังอยากจะเป็นมนุษย์อยู่
ก็ควรรู้จักบุคคลที่เราเกี่ยวข้องด้วย
รู้ว่าเขาสูงกว่าเรา
เท่าเรา หรือต่ำกว่าเรา
แล้ววางตัว ปฏิบัติตัว
ให้ถูกต้องตามฐานะของเขากับของเรา
ถ้าประพฤติได้แล้ว
ก็จะเป็นคนที่ไม่ทำในสิ่งที่ผิด
จะทำแต่ในสิ่งที่ดีที่งาม
เป็นคนน่ารักน่าเอ็นดู
เป็นที่ชื่นชอบของคนทั้งหลายที่ได้มาเกี่ยวข้องกับเรา
๕.
รู้สังคม
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม
ไม่ได้อยู่กันตามลำพังคนเดียว
หรือสองคน หรือครอบครัวเดียว
แต่อยู่ในสังคม
ต้องร่วมทำกิจกรรมกับผู้อื่น เวลาไปในสถานที่ต่างๆ
เขามีกฎมีระเบียบ มีประเพณีที่ปฏิบัติกันมา
เขาทำอย่างไรเราก็ต้องทำแบบนั้น
ถ้าเราไม่ทำแบบนั้นเราก็จะไม่สามารถอยู่ในสังคมของเขาได้
เราก็จะลำบาก เพราะคนเราต้องอยู่ด้วยกัน
ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
ก็ต้องรู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามและปฏิบัติตาม
อย่างคนไทยเวลาเราเจอกันก็จะยกมือไหว้
แต่ถ้าเป็นฝรั่งเขาก็จะยื่นมือมาจับกัน
เราจึงต้องรู้จักขนบธรรมเนียม
เวลาเราไปอยู่ในสังคมใด
เขาปฏิบัติอย่างไร
เราก็ต้องทำตามสังคมนั้น
ถือว่าเป็นการให้ความเคารพต่อกันและกัน
ถ้าเราให้ความเคารพต่อขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมเขาแล้ว
เขาก็จะให้ความเคารพ
ให้การต้อนรับเรา
แต่ถ้าเข้าไปในสังคมเขาแล้ว
ไม่ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของเขา
เขาก็จะไม่รับเราเข้าไปในสังคมของเขา
๖.
รู้ประมาณ
คือรู้จักความพอดีในการจับจ่ายใช้จ่ายใช้สอยในปัจจัย
๔ ทุกสิ่งทุกอย่างมีความพอดีของเขาอยู่
กินมากเกินไปก็ทำให้อ้วน
เป็นโรคอ้วน ถ้ากินน้อยเกินไป
ก็ทำให้เป็นโรคผอมแห้งแรงน้อย
ต้องกินให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย
อย่ากินตามอารมณ์ กินให้พอดี
ถ้ากินให้พอดีแล้ว
ร่างกายก็จะดำเนินไปได้ด้วยความปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย
คนเราที่เจ็บไข้ได้ป่วยกันนี้
ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการไม่รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหารนั่นเอง
รับประทานอาหารมากจนเกินไป
จึงเกิดโรคต่างๆตามมา
รับประทานอาหารน้อยไปก็กลายเป็นคนผอมแห้งแรงน้อย
มีโรคภัยเบียดเบียน
จึงต้องรู้จักประมาณในการใช้ปัจจัย
๔ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร
การใช้เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย
ยารักษาโรค ต้องใช้ให้เหมาะกับความจำเป็น
ถ้ารู้จักใช้แล้ว ปัจจัย ๔
ก็จะเป็นคุณ แทนที่จะเป็นโทษ ช่วยดูแลรักษาชีวิตร่างกายให้อยู่ไปยาวนาน
๗.
รู้กาลเทศะ
คือรู้จักเวลาและสถานที่
เวลาไปงานศพต้องแต่งกายแบบหนึ่ง
มีกิริยาอาการอย่างหนึ่ง
เวลาไปงานมงคลสมรสก็ต้องแต่งกายและมีกิริยาอาการที่เหมาะกับงาน
จึงจะถือว่าเป็นผู้รู้จักกาลเทศะ
โดยสรุป
ถ้าต้องการชีวิตที่มีแต่ความสุขความเจริญ
ก็ต้องรู้เหตุ
รู้ผล รู้ตน
รู้บุคคล รู้สังคม
รู้ประมาณ และรู้กาลเทศะ
เมื่อรู้แล้วจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้