กัณฑ์ที่ ๑๑๗       ๘ มิถุนายน ๒๕๔๕

ทำบุญให้ทาน

 

วันนี้เป็นวันเสาร์ เป็นวันที่ท่านทั้งหลายว่างจากภารกิจการงาน การทำมาหากิน หาเงินหาทอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ แต่ก็รู้ว่าเงินทองไม่ใช่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด  นอกเหนือจากเงินทองที่ต้องอาศัยไว้ดูแลรักษาอัตภาพชีวิตร่างกายแล้ว เรายังต้องมีที่พึ่งทางใจด้วย เพราะคนเราประกอบขึ้นด้วย ๒ ส่วนด้วยกัน  คือกายและใจ  กายต้องอาศัยปัจจัย ๔ อาศัยเงินทองเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน เพื่อจะได้มาซึ่งอาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค  เครื่องนุ่งห่ม  ถ้ามีปัจจัย ๔ ครบสมบูรณ์ การอยู่เป็นปกติสุขของร่างกายย่อมเป็นไปได้ด้วยดี  แต่ถ้าขาดปัจจัย ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งไป การอยู่เป็นปกติของร่างกายย่อมเป็นไปได้ด้วยความยากเย็น ด้วยความลำบาก เราจึงต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ของเรา ทุ่มเทไปในการทำมาหากิน เพื่อจะได้เงินทองมาซื้อข้าวของ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ คือปัจจัย ๔ ให้มีครบบริบูรณ์

แต่นี่เป็นเพียงครึ่งเดียวของการดูแลรักษาตัวเรา เพราะนอกจากร่างกายแล้ว ยังมีจิตใจที่ต้องดูแลด้วย จิตใจนี้ต่างกับร่างกาย สิ่งที่จะต้องดูแลจิตใจ ไม่เหมือนกับสิ่งที่ไว้ใช้สำหรับดูแลร่างกาย สิ่งที่จะใช้ดูแลจิตใจเรียกว่าบุญกุศล บุญกุศลนี้แลเป็นที่พึ่งของใจ ถ้ามีบุญมีกุศลแล้ว ใจจะเป็นปกติสุข จะมีความอิ่ม มีความสบายใจ แต่ถ้าขาดบุญ ขาดกุศลแล้ว ใจจะมีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัว มีความทุกข์ใจ ความกังวลใจ ไม่สบายอก ไม่สบายใจด้วยเหตุต่างๆนานัปการ แต่ถ้าเราพยายามดำเนินตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือให้ทำบุญอย่างสม่ำเสมอแล้ว ใจของเราจะมีเครื่องดูแลรักษาให้อยู่เป็นปกติสุข จึงมีความจำเป็นที่ในวันเวลาที่ว่างจากภารกิจการงาน การทำมาหากิน ก็ต้องมาวัดเพื่อแสวงบุญ มาทำบุญกัน การทำบุญมีหลายวิธีด้วยกัน การให้ทานก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง  บุญนั้นมีอยู่หลายประเภท เปรียบเหมือนกับอาหารที่รับประทาน มีหลายรูปแบบ มีทั้งข้าว มีทั้งผัก มีทั้งผลไม้ มีทั้งเนื้อสัตว์ มีทั้งน้ำ มีทั้งขนมหวานต่างๆ  อาหารของใจคือบุญก็มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ส่วนใหญ่ที่รู้จักกันคือการทำบุญให้ทาน การให้ทานเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง เรามักจะได้ยินคำว่าทำบุญให้ทาน พูดติดกันเสมอ แล้วเราก็ไปเข้าใจว่า การทำบุญเป็นการถวายของให้กับพระ ส่วนการให้ข้าวของกับผู้อื่น เช่นญาติโยม เรียกว่าเป็นการทำทาน

ความจริงแล้วเป็นทั้งบุญ เป็นทั้งทาน้วยกันทั้ง ๒ อย่างนั่นแหละ คือการทำทานก็คือการให้  ให้สิ่งของแก่บุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นพระหรือไม่ก็ตาม เป็นฆราวาส เป็นพระ ก็ถือว่าเป็นทานเหมือนกัน ทานก็คือการให้ อย่างที่วันนี้ท่านทั้งหลายนำกับข้าวกับปลา อาหารคาวหวาน เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆมาถวายพระ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นทานอย่างหนึ่ง เป็นวัตถุทาน  ทานเป็นเหตุให้เกิดบุญขึ้นมา บุญคือความสุขใจ เวลาเราได้ช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกทุกข์ยากลำบาก ให้ได้มีความสุข มีความสบาย ก็ทำให้เราเกิดความสุขใจ สบายใจขึ้นมา ความสุขใจสบายใจนี้เรียกว่าบุญ ดังนั้นเวลาที่เราให้ทาน จึงเป็นการสร้างเหตุที่จะทำให้เกิดบุญขึ้นมา การให้ทานจึงเป็นเหตุ บุญก็คือผลที่จะตามมาจากการให้ทาน การให้ไม่ได้เลือกว่าจะต้องให้กับพระถึงจะเป็นบุญ ให้กับบุคคลอื่นหรือแม้กระทั่งเดรัจฉานเช่น นก ปลา  ก็เป็นบุญด้วยกันทั้งนั้น เพราะการได้ช่วยเหลือผู้อื่น จะเป็นใครก็ตาม แม้กับพวกเดรัจฉาน ก็เป็นบุญ เวลาให้อาหารเขา เราก็มีความสุขใจ สบายใจ นั่นแหละคือบุญ การทำบุญจึงไม่ได้หมายความว่า จะต้องทำกับนักบวชผู้ทรงศีลเท่านั้นถึงจะได้บุญ การทำบุญนั้น ทำกับใครก็ได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ใจ ว่าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่ ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็นบุญร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าทำไปด้วยความไม่บริสุทธิ์ใจ คือยังมีความปรารถนาอามิสสิ่งตอบแทนจากผู้รับ  อย่างนี้เรียกว่าไม่บริสุทธิ์ใจ เช่นเวลาจะให้ของใคร แล้วยังต้องการให้เขามีความสำนึกในบุญคุณ หรือต้องการให้เขากล่าวคำขอบอกขอบใจ หรือต้องการให้เขาเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย เวลาเราบอก เราสอน เราสั่งอะไรเขา ก็อยากจะให้เขาทำตามคำสั่งคำสอนของเรา เราจึงให้ของเขาไปเพื่อเป็นเครื่องล่อใจ

ถ้าอย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นการทำบุญ อย่างนี้เป็นการค้าขายมากกว่า เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนกัน เรายื่นหมูให้เขา เขาก็ยื่นแมวให้เรา อย่างนี้ไม่ใช่เป็นการทำบุญ ถ้าทำแบบนี้ใจจะไม่ได้รับบุญเต็มที่ เพราะรอการตอบสนองจากผู้รับ ถ้าเขาไม่ตอบสนองตามความต้องการของเรา แทนที่จะเกิดความสุข กลับเกิดความทุกข์ขึ้นมา เกิดความไม่พอใจ เกิดความเสียใจขึ้นมา อย่างนี้แสดงว่าทำบุญไม่ถูก คือไม่ได้ทำบุญนั่นเอง แต่กำลังทำการแลกเปลี่ยน ค้าขายกัน ถ้าปรารถนาความสุขที่เป็นบุญจริงๆแล้ว เราต้องไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทนอะไรจากผู้รับ เราให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีพันธะอันใดผูกพัน ติดไว้กับการให้ของเราเลย ถ้าให้แบบนี้แล้ว จะมีความสุขใจ เพราะไม่หวังอะไรจากคนรับ เขาจะขอบอกขอบใจเราหรือไม่ เขาจะแสดงกิริยาอาการเคารพเราหรือไม่ก็ไม่สำคัญอะไร เพราะได้พิจารณาเห็นแล้วว่า การให้เขานั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเขาเดือดร้อน เขามีความทุกข์ เขามีความลำบาก เราก็อยากจะสงเคราะห์เขา อยากจะช่วยเขา ให้เขาได้มีความสุขบ้าง นี่คือสิ่งที่เราต้องการจากการให้ทาน คือต้องการให้เขามีความสุข

ถ้าให้เขาไปแล้ว เขาด่ากลับมา ถ้าเป็นความสุขของเขา เราก็ยินดีให้เขาด่าไป เพราะหลักของการให้ก็คือการให้เขามีความสุขนั่นเอง ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว แสดงว่ามีเจตนาที่บริสุทธิ์จริงๆ ไม่ได้หวังอะไรจากการให้เลยแม้แต่นิดเดียว ถ้าให้แบบนี้แล้วจะมีความสุขมาก แต่พวกเราส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ให้แบบนี้กัน เวลาให้อะไร มักอยากจะให้คนรับ ตอบสนองในทางที่ดี ถ้าไม่ตอบสนองในทางที่ดี  ก็เกิดความเสียใจ อย่างนี้เรียกว่าไม่ใช่เป็นการทำบุญ เรียกว่าเป็นการทำบาปก็ว่าได้ เพราะมีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น มีตัณหา ความอยาก อยากให้เขาเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ อยากจะให้เขาปฏิบัติกับเราอย่างนั้น อย่างนี้ ถ้าไม่ปฏิบัติ ก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา นี่แหละความทุกข์ก็คือผลของบาป บาปก็คือความอยากความต้องการต่างๆ

ดังนั้นเวลาทำบุญ ขอให้ยึดหลักการให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ให้โดยที่ไม่หวังผลตอบแทนจากผู้รับ แล้วการให้ของเรา จะเป็นการให้ที่พร้อมสมบูรณ์ด้วยบุญที่แท้จริง ถ้าให้แบบนี้แล้วใจจะมีความสุข ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่เราให้สิ่งของไป ถ้าเขาแสดงกิริยาอาการที่ไม่น่าดู แสดงความไม่มีความสำนึกในบุญคุณ มันก็เป็นเรื่องของเขา มันก็เป็นกรรมของเขา แสดงว่ายังต้องพัฒนาตัวเองอีกมาก ยังต้องใช้เวรใช้กรรมอีกมากอยู่ แต่ถ้าเป็นคนที่สำนึกในบุญคุณ พยายามทำตัวให้ดี ประพฤติตัวเองไม่ให้เสื่อมเสีย ทำแต่สิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ มันก็เป็นบุญเป็นกุศลของเขาอีกนั่นแหละ เพียงแต่ว่าเราเป็นผู้มีส่วนที่ได้ช่วยสนับสนุนให้เขาได้ประกอบทำคุณงามความดี เราก็ได้บุญ ๒ ต่อ คือบุญต่อแรกก็เกิดจากการที่ได้ช่วยเขาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังผลตอบแทนอะไรจากเขา แต่เมื่อเขานำสิ่งที่เราให้เขาไปใช้ ทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นมาอีก มันก็ทำให้เรามีความสุขใจเพิ่มขึ้นไปอีก ที่เห็นว่าเราได้ช่วยสนับสนุนคนดี

อย่างเวลาศรัทธาญาติโยมมาทำบุญกับพระที่วัด ญาติโยมจะมีความรู้สึกมีความสุข มากกว่าไปทำบุญให้ทานกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เป็นพระ  นั่นก็เป็นเพราะว่าบุคคลที่เราไปช่วยที่ไม่ใช่เป็นพระนี้ เขายังเป็นคนที่ไม่มีศีล หรือยังไม่ได้พัฒนาตัวเองให้ดีเท่ากับพระ เมื่อไปช่วยเหลือเขา เขาก็ยังไปประพฤติตนในทางที่มิดีมิชอบได้ ถ้าเราได้ยินหรือเห็นความประพฤติของเขา ก็ทำให้เรามีความรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ แต่ถ้าได้ไปทำบุญกับพระ พระที่เป็นพระจริงๆ หมายถึงท่านที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้ที่มีศีลไม่ด่างพร้อย  เวลาเห็นท่านแล้ว เราก็จะเกิดความสบายอกสบายใจ เห็นท่านประพฤติตนในทางที่ดีที่งาม ทำตนให้เป็นคุณเป็นประโยชน์กับผู้อื่น ก็ทำให้เรามีความสุขใจ แม้กระทั่งเวลาผ่านไปแล้ว ทุกครั้งที่ได้นึกถึงการที่ได้ทำบุญกับท่าน หรือนึกถึงท่าน  ก็ทำให้เรามีความสุขใจ  แล้วยังทำให้เกิดมีกำลังจิตกำลังใจ ที่อยากจะทำบุญให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

นี่แหละคือเรื่องของการทำบุญ ที่จะให้ได้บุญเต็มที่ มากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับใจของเราเอง ว่ามีความบริสุทธิ์มากน้อยแค่ไหน ถ้าใจมีความบริสุทธิ์มาก เราก็จะมีความสุขมาก ถ้าใจยังมีความอยากได้อามิสสิ่งตอบแทน จากผู้ที่เราไปทำบุญด้วย เราก็จะประสบกับความไม่สบายใจขึ้นมาก็ได้ ถ้าไม่ได้รับตอบสนองตามที่ต้องการ ถ้าต้องการทำบุญให้เป็นบุญครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ขอให้ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ ให้เขาไปแล้ว เขาจะไปทำอะไร ก็ถือว่าเป็นเรื่องของเขา ของที่เราให้ไปนั้นไม่ใช่เป็นของๆเราแล้ว เป็นของๆเขาไปแล้ว เมื่อเป็นของๆเขา  เขาก็มีสิทธิ์เต็มที่ ที่จะทำอะไรกับสิ่งของนั้นก็ได้  ถ้าเขานำเอาไปทำเป็นคุณเป็นประโยชน์มันก็ดี  ถ้านำเอาไปทำให้เกิดเป็นโทษขึ้นมา มันก็เป็นโทษกับเขา มันไม่ได้มาเกิดเป็นโทษกับเราแต่อย่างใด  แต่ถ้าเราเอาใจไปคอยกังวล ไปคอยห่วง  ว่าสิ่งที่เราให้เขาไปนั้น เขาจะเอาไปทำอะไรอย่างไร ดีหรือไม่ ก็ทำให้เราเกิดมีความกังวลใจ ไม่สบายอก ไม่สบายใจ ยิ่งถ้าได้ยินว่าเขานำไปทำในทางที่เสื่อมเสีย ก็ทำให้เราเกิดความสงสัยขึ้นมาเสียอีก ว่าบุญที่เราทำไปนั้น เป็นบุญหรือเปล่า

จึงขอให้ทำความเข้าใจว่า เวลาที่เราทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ว่าจะทำกับใคร แล้วเขาจะเอาไปทำอะไรต่อ  มันก็ยังเป็นบุญอยู่นั่นเอง เพราะบุญคือการชนะใจเรา ชนะสิ่งที่ต่ำ สิ่งที่คอยฉุดลากให้ไปสู่ความทุกข์ สู่ความไม่สบายใจ  คือความตระหนี่ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว เวลาที่ได้ให้ทาน แสดงว่าได้ชนะความโลภ ได้ชนะความตระหนี่ เราได้ชนะความเห็นแก่ตัวแล้ว นี่แหละคือผลที่เราได้  เป็นบุญแล้ว บุญนั้นเกิดขึ้นในใจของเรา เราได้ชนะสิ่งที่ไม่ดี ได้ชำระขัดเกลาใจของเราให้สะอาดขึ้น เมื่อได้ชำระขัดเกลาสิ่งเหล่านี้ ให้เบาบางลงไป ก็ทำให้ใจของเรามีความสุขมากขึ้น  เหตุของความไม่สบายใจ ก็คือกิเลสตัณหา เครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย มีความโลภ มีความตระหนี่ มีความเห็นแก่ตัวเป็นต้นนั่นเอง ถ้าชำระสิ่งเหล่านี้ออกไปจากใจแล้ว  ก็จะทำให้ใจมีความสุข ความสุขนี้ ก็คือบุญนั่นเอง จึงขอให้ทำความเข้าใจทุกครั้ง ที่ทำบุญให้ทานว่า เราทำเพื่อชำระเครื่องเศร้าหมองที่มีอยู่ภายในใจของเรา โดยอาศัยความเดือดร้อนของผู้อื่นเป็นเหตุ ให้เราได้มีโอกาสได้ทำบุญ  ถ้าไม่มีคนเดือดร้อน ถ้าทุกคนมีแต่ความสุขความสบาย เราก็ไม่รู้ว่าจะไปทำบุญช่วยเหลือใครได้อย่างไร เราจึงต้องเห็นคุณของคนที่มีความเดือดร้อน ที่เป็นเหตุให้เราได้มีโอกาสทำบุญ หรือจะมองว่า เขาเป็นคนไม่เดือดร้อนแต่เป็นคนดี เราอยากจะสนับสนุนในการประพฤติที่ดีของเขา อย่างนี้ก็ได้บุญ อย่างเวลาที่เราสนับสนุนพระสงฆ์องค์เจ้า ช่วยเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างนี้ก็เป็นโอกาสได้ทำบุญเช่นกัน คือได้ช่วยส่งเสริมให้คนได้ประกอบคุณงามความดี

เวลาที่ทำบุญจึงต้องเลือกคนเหมือนกัน เพราะคนมีคุณภาพไม่เหมือนกัน คนดีมากๆก็มี  คนเลวมากๆก็มี  คนครึ่งดีครึ่งเลวก็มี เวลาทำบุญสนับสนุนช่วยเหลือคนดี  ก็เท่ากับช่วยส่งเสริมให้คนดีทำประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป ถ้าไปช่วยเหลือสนับสนุนคนเลว ก็เท่ากับสนับสนุนให้คนเลวไปสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม เวลาที่จะทำบุญให้เกิดคุณเกิดประโยชน์เต็มที่  จึงต้องเลือกทำบุญกับคนที่ดีมากๆที่สุดในโลกนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า บุคคลที่มีความดีมากที่สุดก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า รองลงมาก็คือพระปัจเจกพุทธเจ้า รองลงมาก็คือพระอรหันต์ และพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ จนกระทั่งถึงบุคคลธรรมดาที่มีศีล ๒๒๗  ศีล ๑๐  ศีล ๘  ศีล ๕ ตามลำดับ จนถึงคนที่มีศีลน้อย มีศีลขาดตกบกพร่อง ไปถึงคนไม่ดีและเดรัจฉาน ถ้าจะทำบุญให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จึงต้องทำกับพระพุทธเจ้า ถ้าไม่สามารถทำกับพระพุทธเจ้าได้ พระพุทธเจ้าก็บอกให้ทำกับสงฆ์ คือถวายสังฆทาน

การถวายสังฆทานเป็นการทำบุญให้ทานกับสงฆ์ สงฆ์นี้หมายถึงพระภิกษุที่อยู่รวมกันในอาวาสใดอาวาสหนึ่ง อย่างน้อยต้องมี ๔ รูปขึ้นไปจึงจะครบองค์สงฆ์ คือไม่ได้ถวายให้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด ไม่ได้ถวายให้กับพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด แต่ถวายให้เป็นสมบัติส่วนกลางของพระสงฆ์ ของวัด ของศาสนา เพราะศาสนาจะเจริญได้  ก็ต้องอาศัยพระสงฆ์เป็นหลัก เป็นผู้ช่วยเผยแผ่พระศาสนา เวลาที่จะบวชกุลบุตร พระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด ไม่สามารถทำพิธีบวชตามลำพังได้ การบวชต้องมีพระภิกษุ ๑๐ รูปขึ้นไป คือจะต้องมีสงฆ์นั่นเอง ถ้าไม่มีสงฆ์ก็ไม่สามารถบวชได้ สมมุติว่าโลกเรานี้เหลือพระอยู่เพียงรูปเดียว แล้วมีศรัทธาญาติโยมต้องการจะบวช ก็ไม่สามารถบวชได้อีกแล้ว เพราะว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดไว้อย่างนั้น เวลาจะบวชพระจะต้องมีพระภิกษุ ๑๐ รูปขึ้นไป ถ้าอยู่ในที่ๆเจริญ  ที่มีพระมากก็ต้องใช้ ๑๐ รูป แต่ถ้าไปอยู่ในที่ๆกันดารที่ห่างไกลจากพระ  ก็อนุโลมให้มีเพียง ๕ รูป ก็บวชได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นความสำคัญของการทำนุบำรุงสงฆ์ เน้นให้สนับสนุนสงฆ์  มากกว่าสนับสนุนพระรูปหนึ่งรูปใด  เพราะว่าสงฆ์จะทำประโยชน์ให้กับศาสนาให้กับโลก ได้มากกว่าพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด  ญาติโยมเวลามาวัด จึงนิยมถวายสังฆทานกัน คำว่าสังฆทานก็คือทานที่ถวายให้กับสงฆ์  สงฆ์นี้ต้องมีพระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ถึงจะเป็นสงฆ์ได้ แล้วของที่ถวายนั้น ไม่ใช่เป็นสมบัติของพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด ต้องเป็นของพระภิกษุทุกๆรูป  นั่นแหละคือเจตนารมณ์  คือมีให้เอามาแบ่งกัน มีอะไรก็ให้เอามาแบ่งกัน เพื่อจะได้อยู่ด้วยกันด้วยความผาสุก ถ้าคนหนึ่งมีมาก อีกคนหนึ่งมีน้อย  คนที่มีน้อยก็จะอยู่ด้วยความยากลำบาก คนที่มีอยู่มากก็อยู่ด้วยความสบาย ก็ไม่มีความสม่ำเสมอกัน  คนที่อยู่ยาก อยู่ลำบากก็อาจจะทนอยู่ไม่ได้ ก็อาจจะต้องลาสิกขาไปก็ได้

เวลาดูแลทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จึงควรทำนุบำรุงสงฆ์ทั้งหมด พระภิกษุทุกรูป ไม่สำคัญว่าจะมีของมากน้อยแค่ไหน มีเท่าไหร่ก็ทำไปตามกำลัง ถวายให้เป็นส่วนกลางของสงฆ์ไป อย่างเวลาถวายปัจจัยให้กับทางวัด ก็ไม่ได้ถวายให้กับพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด แต่ถวายให้กับกองกลางสงฆ์ อย่างนี้เป็นต้น เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดมีความจำเป็น ที่จะต้องใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม เช่นไม้กวาดหรือผงซักฟอก ที่จะต้องใช้ดูแลความสะอาด กุฏิ วิหาร ศาลา อย่างนี้ก็เอาปัจจัยที่ญาติโยมถวายเป็นกองกลางสงฆ์ หาซื้อมาใช้ได้ แต่ถ้าจะเอาไปใช้ส่วนตัว ย่อมทำไม่ได้ เพราะปัจจัยนี้ถวายไว้สำหรับส่วนกลางเท่านั้น  ถ้าใครต้องการอะไร แล้วมาขอเบิกไปใช้ส่วนตัวได้ อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นของส่วนกลาง เช่นต้องการซื้อบุหรี่ ซื้อขนมมาฉัน ก็มาขอเบิกเงินกองกลางไปใช้ อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะเอาเงินนี้ไปใช้ส่วนตัว อย่างนี้ก็ไม่เป็นสังฆทาน เจตนารมณ์ของสังฆทาน ก็เพื่อทำนุบำรุงศาสนา บำรุงส่วนรวมของสงฆ์  ถ้าศาสนามีสงฆ์อยู่ ก็จะมีการศึกษา มีการปฏิบัติธรรม มีการบรรลุธรรม หลังจากบรรลุธรรมแล้ว ก็มีการเผยแผ่ธรรม สั่งสอนญาติโยม ที่ไม่รู้จักเรื่องราวทางศาสนา ไม่รู้จักเรื่องราวของบาปบุญคุณโทษ นรกสวรรค์ เรื่องของกรรม เรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด ให้รู้จัก ถ้ามีคนคอยสั่งคอยสอนอยู่อย่างนี้  คนที่ไม่รู้ เมื่อได้ยินได้ฟัง ก็เกิดความเข้าอกเข้าใจ  สามารถนำสิ่งที่ดีที่งาม คือธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ไปประพฤติปฏิบัติกับตัวของเขา ทำให้ชีวิตของเขาดำเนินไปด้วยความร่มเย็นเป็นสุข

ทุกวันนี้เหตุที่พวกเรา ไม่ค่อยมีความสบายอกสบายใจกันนั้น ก็เป็นเพราะว่าเราไม่รู้จักวิธีดำเนินชีวิตให้ถูกต้องนั่นเอง  แทนที่จะทำในสิ่งที่ให้เกิดความสุข เราก็กลับไปทำในสิ่งที่เกิดความทุกข์กัน  เช่นเล่นการพนัน เที่ยวเตร่ เสพสุรายาเมา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา แต่เรากลับไปคิดว่าเป็นความสุขกัน เราก็เลยไปติดกับการเที่ยวเตร่ ไปติดกับการเล่นการพนัน ไปติดกับการเสพสุรายาเมา เมื่อทำไปแล้วเป็นอย่างไร  ก็เงินทองที่เราหามาได้ด้วยความลำบากยากเย็น ก็ต้องค่อยๆหมดไป  จนหมดไปในที่สุด และเมื่อหมดไปแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ถ้ายังติดการพนันอยู่ ยังติดการเสพสุรายาเมาอยู่ ยังติดการเที่ยวเตร่อยู่ ก็ต้องไปหาเงินมาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ในเบื้องต้นก็อาจจะไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น ไปขอยืมเงินผู้อื่นเขามา ทั้งๆที่รู้ว่าไม่มีปัญญาจะเอาไปใช้เขาได้ นี่ก็เป็นการเริ่มทำผิดศีลข้อที่ ๔ แล้ว คือการพูดคำเท็จ เมื่อหลังจากที่ไปโกหกหลอกหลวงเขาแล้ว ครั้งต่อไปจะไปหลอกเขาอีกย่อมหลอกไม่ได้  แล้วจะหาเงินมาอีกอย่างไร  ขั้นต่อไปก็ต้องไปลักเล็กขโมยน้อย คอยดูว่าใครเผลอวางข้าวของเงินทองไว้ ก็ฉกฉวยเอา  เวลาใครไม่อยู่บ้านก็เข้าไปงัดแงะ เพื่อจะขโมยข้าวของไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินทอง เพื่อจะได้เอาไปซื้อเหล้ากิน ไปเที่ยวเตร่  ไปเล่นการพนัน  เป็นการสร้างความทุกข์ ความเสื่อมเสียให้กับตน ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็มีแต่ความรุ่มร้อนใจ  ตายไป ก็ไปสู่อบาย  เราจึงต้องยึดหลักธรรมคำสอนพระพุทธเจ้า เป็นเครื่องพาดำเนิน เพื่อความสุขความเจริญที่แท้จริง เราจึงต้องทำนุบำรุงสงฆ์  เพราะสงฆ์จะได้ทำหน้าที่ศึกษา ปฏิบัติ เผยแผ่พระธรรมคำสอน เพื่อประโยชน์สุขของโลกต่อไป  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้