กัณฑ์ที่ ๑๑๘     ๙ มิถุนายน ๒๕๔๕

กรรมลิขิต

 

เดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่ ๖ ของปี  แสดงว่าเวลาได้ผ่านมาเกือบครึ่งปีแล้ว จึงเป็นเวลาที่ดีที่จะได้มาทบทวนดูเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมา  ประเมินดูผลที่เกิดขึ้นกับเรา ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงวันนี้ ว่าเป็นไปอย่างไรบ้าง  การประพฤติ การปฏิบัติ การดำเนินชีวิตของเรา ได้เป็นไปตามความตั้งใจที่ได้ตั้งไว้ในตอนต้นปีหรือไม่ ได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร   ถ้าไม่เป็นไปตามที่ได้ตั้งใจไว้ จะได้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การปฏิบัติ การดำเนินชีวิตของเรา ให้เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น  เพราะทราบกันดีว่าผลที่ปรารถนากัน คือความสุขความเจริญ ความปราศจากทุกข์ภัยอันตราย  ความเสื่อมเสีย  ความหายนะทั้งหลายนั้น ขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา ทางกาย ทางวาจา และทางใจ  เราจึงเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของเรา  ไม่มีพรหมที่ไหนจะมาลิขิตชะตากรรมของเราได้   แต่ชะตากรรมของเราเกิดจากกรรมลิขิต กรรมก็คือการกระทำของเรา  ทางกาย วาจา ใจ เป็นเหตุที่จะสร้างผลที่จะตามมาต่อไป  ไม่ว่าจะเป็นผลที่ดี คือความสุขและความเจริญ หรือผลที่ไม่ดี คือความทุกข์ ความหายนะ ก็ล้วนเกิดจากกระทำของเราทั้งนั้น   เมื่อเรารู้ว่าผลเป็นสิ่งที่จะตามมาจากเหตุ  เราจึงต้องสร้างเหตุที่ดี ระงับเหตุที่ไม่ดี  เพราะเราไม่ต้องการผลของการกระทำความไม่ดี  เราต้องการผลที่เกิดจากกระทำความดี  เพราะผลที่เกิดจากการกระทำความดี ก็คือความสุขความเจริญนั่นเอง  และผลที่เกิดจากการกระทำความชั่ว ก็คือความทุกข์ ความเสื่อมเสีย ความหายนะทั้งหลาย 

เราจึงต้องถามตัวเราเองว่า ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงวันนี้  เราได้ทำตามเจตนารมณ์ที่ได้ตั้งไว้หรือเปล่า  เช่นในตอนต้นปีเราได้ตั้งใจไว้ว่า ต่อไปนี้จะทำบุญอย่างสม่ำเสมอ  มาวัดทุกวันพระ  ใส่บาตรทุกเช้า รักษาศีล อย่างน้อยก็ต้องให้ได้สักหนึ่งข้อ สองข้อ หรือสามข้อขึ้นไป สุดแท้แต่กำลังความสามารถที่จะทำได้  และจะพยายามทำให้มากยิ่งๆขึ้นไป  ตอนนี้เวลา ๖ เดือนก็ผ่านไปแล้ว  เราได้ทำตามที่เราต้องการจะทำหรือไม่  หรือยังปล่อยให้ชีวิตของเราเป็นไปตามแบบเดิมๆอยู่  เคยทำอะไร เคยคิดอะไร เคยพูดอะไร ก็ยังทำอย่างนั้นอยู่  ถ้ายังปล่อยให้การกระทำ  ความประพฤติของเรา วนเวียนตามรูปแบบเดิมอยู่  ผลที่ตามมาก็จะเป็นผลแบบเดิมอยู่  เพราะผลเป็นสิ่งที่ตามมาจากเหตุ คือการกระทำของเรา 

แต่ถ้าเราต้องการให้ผลดีขึ้นกว่าเดิม  เราก็ต้องแหวกแนวการประพฤติปฏิบัติแบบเดิมๆ   สิ่งไหนที่เราเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี  เป็นการหน่วงรั้งความเจริญ เราก็ต้องลดต้องละ สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมความสุขความเจริญ  เราก็ต้องพยายามทำให้มากยิ่งๆขึ้นไป  สิ่งที่รั้งความเจริญก็คือพวกอบายมุขทั้งหลาย  เช่นการเสพสุรายาเมา  การเล่นการพนัน  การเที่ยวเตร่ ความเกียจคร้าน คบคนชั่วเป็นมิตร  สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเครื่องถ่วงความเจริญ  เป็นเครื่องที่จะนำไปสู่ความเสื่อมเสีย  ถ้าลองได้พัวพันยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขแล้ว  ก็จะถูกฉุดเข้าสู่ความประพฤติที่เสื่อมเสียต่อไป  คือการพูดปดมดเท็จ  ประพฤติผิดประเวณี  ลักทรัพย์  ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  เพราะนี่คือผลที่จะตามมา   เมื่อเรารู้ว่าอบายมุขย่อมฉุดลากเราลงไปสู่ที่ต่ำ  ลงไปสู่ที่ไม่ปรารถนากัน คือความทุกข์ ความวุ่นวายใจ  เราก็ต้องฝืน ไม่กระทำสิ่งเหล่านี้  เช่นฝืนการเสพสุรายาเมา  ถ้าเคยเสพมากก็ลดลงมาให้น้อยลงไปก่อน  ถ้ายังไม่สามารถที่จะตัดได้โดยเด็ดขาด ก็พยายามลดลงมาเรื่อยๆ ลดมาทีละครึ่ง  เคยกินวันละ ๒ ขวดก็ลดลงมาเหลือขวดเดียว  ถ้าเคยกินวันละขวดก็ลดลงมาเหลือสักครึ่งขวด  แล้วก็ค่อยลดลงไปเรื่อยๆ แล้วมันก็จะหมดไปเอง 

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สุดวิสัย ที่เราจะทำกันไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยของเรา  ถ้าไม่อยู่ในวิสัยของเราแล้ว พระพุทธเจ้าจะไม่เอามาสั่งสอน  พระพุทธเจ้าไม่ได้สั่งสอนพวกเดรัจฉาน เพราะทรงรู้ว่ามันไม่อยู่ในวิสัยของเดรัจฉานที่จะกระทำได้   แต่มนุษย์นี้ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่มีวิสัย มีสติปัญญา ที่สามารถแยกแยะ อะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรชั่ว อะไรคือเหตุ อะไรคือผลได้  จึงนำมาสั่งสอนพวกเรากัน  อยู่ที่ว่าพวกเราพร้อมที่จะนำไปปฏิบัติหรือไม่ หรือว่ายังเสียดายชีวิตแบบเดิมๆอยู่  ยังเสียดายการเสพสุรายาเมา  ยังเสียดายการเล่นการพนัน  เสียดายการเที่ยวเตร่  เสียดายความเกียจคร้านอยู่ เสียดายมิตรชั่วทั้งหลายอยู่ ถ้ายังเสียดายอยู่ แล้วจะไปหวังเอาความสุขความเจริญมาได้อย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุของความเสื่อม ความเสียหายต่างหาก  เปรียบเหมือนกับหวังความเย็นจากไฟ ย่อมเป็นไปไม่ได้  เพราะไฟย่อมร้อนเสมอ  เวลาเราจุดธูปจุดเทียน แล้วนิ้วพลาดไปถูกเปลวไฟเข้า ไฟก็จะไหม้นิ้วเรา สร้างความเจ็บปวดให้กับเรา เพราะนั่นคือธรรมชาติของไฟ  ไฟต้องร้อน ต้องเผาผลาญเป็นธรรมดา

ฉันใดบาปกรรม อบายมุข ก็เป็นของร้อน เป็นสิ่งที่จะสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้กับเรา  ถ้าไม่ต้องการความทุกข์ความเดือดร้อนแล้วทำไมเรายังไปข้องเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้อยู่  ทำไมไม่ถอยออกให้ห่าง เหมือนกับเวลาเราเห็นไฟไหม้ เราจะไม่วิ่งเข้าไปในกองเพลิง เพราะเรารู้ว่า ถ้าวิ่งเข้าไปในกองเพลิง ไฟก็จะต้องเผาเราให้ไหม้เป็นจุลไป  เราก็ต้องถอยออกมา  ฉันใดบาปกรรม อบายมุขทั้งหลายก็เช่นกัน   เป็นเหตุที่นำมาซึ่งความเสื่อม  เป็นเหตุที่นำมาซึ่งความทุกข์ ความหายนะ เป็นสิ่งที่เราไม่ปรารถนากัน  เราก็ต้องถอยออกให้ห่าง  พยายามหลีกเลี่ยงจากสิ่งเหล่านี้  อย่าเข้าใกล้กับคนที่ชอบเสพ ชอบทำสิ่งเหล่านี้    เวลาคบคนท่านจึงสอนให้รู้จักเลือกคบคน  อย่าไปคบคนโง่  คนพาล คนชั่ว  ให้คบคนดี คนฉลาด   คนที่เสพสุรายาเมา เล่นการพนัน เที่ยวเตร่ มีความเกียจคร้าน ถือเป็นบุคคลที่ไม่น่าคบหาสมาคมด้วย  แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องไปรังเกียจเดียดฉันท์เขา  เราต้องเข้าใจเขา และสงสารเขา ว่าเขายังมืดบอดอยู่ ยังลุ่มหลงอยู่  แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เขาฉุดลากเราไป ในทิศทางที่เราไม่ต้องการจะไป  เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าจะคบกับเขา ก็ต้องคบแบบพอสมควร ให้มีประมาณไว้  คบกับคนทุกคน คบได้ เราไม่รังเกียจเดียดฉันท์ใครทั้งสิ้น  แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องสมาคมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน  อันนี้เราจะต้องใช้ปัญญาแยกแยะแล้ว  ถ้าเขาชวนไปกินเหล้าเมายา ไปเที่ยวเตร่  เราก็ต้องปฏิเสธเขาไป  เราไม่ต้องไปกลัวว่าเขาจะโกรธเรา หรือเกลียดเรา หรือจะเลิกคบกับเรา  ถ้าเป็นสิ่งที่เขาต้องการ เราก็ไม่เสียหายอะไร  เพราะความจริงแล้ว เราก็ไม่อยากจะคบกับเขาอยู่แล้ว  ถ้าคบกับคนแบบนี้ ก็จะมีแต่ขาดทุนอย่างเดียว  เพราะเขาจะชวนเราไปกระทำแต่สิ่งที่ไม่ดีไม่งามตลอดเวลา ถ้าไปทำกับเขาแล้ว เราก็ต้องรับเคราะห์กรรมไปกับเขาด้วย 

แต่ถ้าเรามีความแน่วแน่มั่นคงอยู่กับความดี  เราก็ต้องเลือกเอาความดีไว้ก่อน แทนที่จะเลือกคบกับเพื่อนที่ไม่ดี  เพื่อนไม่ดีนั้นมีเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน และเขาก็ไม่สามารถที่จะช่วยเหลืออะไรเราได้   มีแต่จะฉุดลากเราไปสู่กองเพลิง กองทุกข์เท่านั้น  แต่ความดีนี่แหละ จะเป็นสิ่งที่จะรักษาเรา  ดูแลเรา ให้อยู่ด้วยความสุขความเจริญ  เราจึงต้องยึดความดีไว้  ต้องยอมเสียสละ ยอมตัดสิ่งที่ไม่ดีให้ออกไปจากชีวิตของเรา  ถ้าเรามีความแน่วแน่มั่นคงแล้ว  ชีวิตของเราจะดำเนินไปในทิศทางที่ดี  ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงดำเนินมา  ที่พระอริยสงฆสาวกได้ปฏิบัติกันมา  นี่คือทางที่เราควรจะไปกัน   เพราะเป็นทางที่ประเสริฐ  เป็นทางที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญ  ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย เราจึงต้องเข้าหาพระศาสนา  ศึกษาพระประวัติของพระพุทธเจ้า  ศึกษาประวัติของพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย ว่าท่านดำเนินชีวิตอย่างไร  ชีวิตของท่านนั้นก็ดำเนินไปตามแนวทางที่ถูกต้อง ที่ควร ก็คือท่านทำแต่ความดีเสมอ  ความชั่วทั้งหลายท่านไม่กระทำ  ต้นเหตุของการกระทำความชั่ว  ต้นเหตุของความทุกข์ คือกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจของท่าน ท่านก็ตัด ท่านไม่ส่งเสริมให้มันเกิดขึ้น  เวลาเกิดความโลภท่านก็ไม่โลภตาม  เวลาเกิดความโกรธท่านก็ไม่โกรธตาม  เวลาเกิดความหลงก็ไม่หลงตาม  เวลาเกิดความอยากมีอยากเป็น ก็ไม่อยากมีอยากเป็นตาม  แต่จะพยายามต่อสู้ขัดขืนอยู่เสมอ   เพราะรู้ว่าถ้าลองได้ถูกเขาชักนำไปแล้ว เขาจะนำพาไปสู่ความหายนะในที่สุด  เพราะความโลภก็ดี ความอยากก็ดีนั้น มันไม่มีขอบ ไม่มีเขต  มหาสมุทรนั้นจะกว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหน ก็ยังมีฝั่ง มีขอบ มีเขตอยู่  แต่ความโลภ ความอยาก คือตัณหาทั้งหลายนั้น หาขอบหาเขตไม่ได้  อยากเท่าไร ได้มาเท่าไร ก็ไม่เคยมีคำว่าพอเกิดขึ้น 

เหมือนกับนั่งเรือไปในมหาสมุทรเพื่อจะไปสู่ฝั่ง  แต่นั่งเรือไปเท่าไร ก็จะไม่เจอฝั่งเลย เพราะฝั่งของตัณหาไม่มี  ฉันใดถ้าเรายังปล่อยใจของเราให้ไหลไปตามกระแสของความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากทั้งหลาย  เราก็จะโลภ เราก็จะโกรธ เราก็จะหลง เราก็จะอยากไปอยู่เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด  เพราะว่าความพอนั้น ไม่มีอยู่กับสิ่งเหล่านี้  แต่ความพอจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องเกิดจากการฝืนความโลภ ความโกรธ ความหลง ฝืนความอยากต่างหาก  ความอยากนี้ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่สุข ที่สบาย ที่เป็นปกติ  แต่เนื่องจากความหลงที่มีอยู่ในใจของเรา  เป็นเหตุที่สร้างความรู้สึกว่า ถ้าได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา  ถ้าได้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้แล้ว จะมีความสุข  ถ้าไม่ได้แล้ว จะรู้สึกมีความเวิ้งว้าง ขาดอะไรไป  ถ้าได้สิ่งต่างๆที่ใจอยากแล้ว จะเกิดความสุข  ความอิ่มขึ้นมา  แต่นี่คือความเข้าใจผิด เพราะเราทราบกันดีอยู่ว่า ตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันนี้ เราก็โลภ เราก็โกรธ เราก็หลง เราก็อยากกับอะไรมามากมายก่ายกอง ได้อะไรมามากมายก่ายกอง  แต่ความรู้สึกในใจของเรา ยังเป็นอย่างไรอยู่มันก็ยังเป็นเหมือนเดิมอยู่  มันก็ยังอยาก ยังโลภ ยังโกรธ ยังหลงอยู่  เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยาก มันไม่หายไปด้วยการตอบสนอง ด้วยการทำตาม  แต่จะหมด จะหายไปได้ ก็ต่อเมื่อเราฝืนมัน ต่อสู้กับมัน  เวลาโลภก็อย่าไปโลภตาม  เวลาโกรธก็อย่าไปโกรธตาม  เวลาหลงก็อย่าไปหลงตาม  เวลาอยากก็อย่าไปอยากตาม   ให้ใช้เหตุใช้ผล 

คนเรามีความจำเป็นที่จะต้องมีของบ้างเป็นธรรมดา  เพราะชีวิตของเราต้องดำเนินไป  ต้องมีเครื่องอาศัย เช่นปัจจัย ๔  ถ้ามีความต้องการอะไรให้ใชเหตุผล อย่าใช้อารมณ์  คือเราต้องถามว่า สิ่งที่ต้องการนั้น มีความจำเป็นหรือไม่  ถ้าไม่ได้มาแล้ว  ชีวิตของเราจะดำเนินไปได้หรือไม่ จะตายหรือไม่    ถ้าจะต้องตายถ้าขาดสิ่งนั้น ก็ไปเอาสิ่งนั้นมา เพราะมีความจำเป็น  อย่างเช่นอาหาร  ถ้าไม่ได้รับประทานอาหารหลายๆวัน ชีวิตก็ต้องหมดสิ้นไป จะต้องตายอย่างแน่นอน  หรืออากาศที่ใช้หายใจอยู่  ถ้าไม่มีลมหายใจ เราก็ต้องตาย อย่างนี้เราต้องมีแน่นอน  เราไม่มีไม่ได้  แต่สิ่งอย่างอื่นล่ะ  เช่น ลาภ ยศ เราจำเป็นต้องมีไหม  ต้องมีตำแหน่งสูงๆ เป็นนายพลนายพันไหม  จะต้องเป็นนายกๆ เป็นประธานาธิบดีหรือไม่  ไม่จำเป็นหรอก  แม้ไม่ได้เป็นสิ่งเหล่านี้ เราก็ยังสามารถมีความสุขได้  และจะมีความสุขมากกว่าการที่มีตำแหน่งสูงๆ เสียอีก  เพราะสัจธรรมความจริงนั้น ได้แสดงไว้แล้วโดยพระพุทธเจ้าว่า  ความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ใจที่เกิดจากความพอต่างหาก  เกิดจากใจที่ชนะความโลภ ความโกรธ ความหลง  เกิดจากใจที่ชนะกิเลสตัณหาความอยากทั้งหลาย  นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง  ใจของเราเวลาไม่อยาก ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงแล้ว ใจเราสบาย  อย่างในขณะนี้เรานั่งอยู่ที่นี่ เรามีความรู้สึกสบายใจ  เพราะขณะนี้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่แสดงตัวขึ้นมา   ความอยากไม่ได้แสดงตัวขึ้นมา  เราจึงอยู่เป็นสุข  นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง

ขอให้เราทำความเข้าใจไว้ว่า ความสุขนั้นมีอยู่พร้อมในตัวของเราแล้ว  เป็นความสุขที่ประเสริฐ เป็นความสุขที่วิเศษ เพียงแต่ว่าในขณะนี้ความสุขนี้ถูกกิเลสตัณหามากีดกั้นขวางไว้ มาสร้างปัญหาให้เกิดความรู้สึกว่าใจของเรานี้ไม่มีความสุขเลย  ต้องหาสิ่งต่างๆมาบำรุงบำเรอ เช่นออกไปเที่ยว ไปดูหนังดูละคร ไปหาเพื่อนหาแฟน หาคู่มาครอง หาสมบัติข้าวของเงินทองมาไว้เยอะๆ แล้วจะมีความสุข  แต่แทนที่จะเกิดความสุขก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา เพราะเมื่อมีอะไรแล้ว  ก็ต้องมีความรัก มีความห่วงใย มีความกังวล ว่าสิ่งที่เรารักที่เราชอบนั้น จะอยู่กับเราไปเสมอหรือไม่  จะตายจากเราไปเมื่อไรก็ไม่รู้  แทนที่จะมีความสุขกับสิ่งนั้นๆ  กลับกลายเป็นภาระทางด้านจิตใจขึ้นมา ทำให้เกิดความรู้สึกไม่แน่นอนใจเสียแล้ว ว่าคนที่เรารักนั้นจะซื่อสัตย์กับเราไปตลอดหรือไม่  เขารักเราวันนี้ พรุ่งนี้เขายังจะรักเราหรือไม่ นี่ก็เป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว เป็นทุกข์ขึ้นมาแล้ว  เพราะเราวิ่งไปหาปัญหาเอง  ถ้าเราเอาชนะความโลภ ความอยากได้  เราก็ไม่ต้องมีอะไร  อยู่เฉยๆคนเดียวเราก็มีความสุขได้  เป็นความสุขที่เลิศที่สุดด้วย  เพราะไม่ต้องไปห่วง ไม่ต้องไปกังวลกับสิ่งต่างๆ   ความสุขมันมีอยู่ในใจของเราแล้ว คือความสงบของใจ  แล้วใจของเราจะสงบได้ ก็ต่อเมื่อเราชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากทั้งหลายให้ออกไปจากใจของเรา 

จึงขอให้พวกเราจงมองที่ใจของเราเป็นสำคัญ  พยายามชำระใจของเราเถิด  นี่แหละเป็นงานที่พวกเราทุกๆคนจะต้องทำกัน  ไม่มีใครจะทำให้เราได้  เพราะว่าใจของเราเป็นสิ่งที่อยู่กับเราเอง  คนอื่นเขามาชำระให้เราไม่ได้  เราต้องชำระเอง  เวลาคนอื่นเขามาชำระให้เรา  เรากลับไปโกรธเขาเสียอีก  เวลาใครเขาบอกเรา สอนเรา ว่านิสัยเราไม่ดีนะ ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้  แทนที่เราจะยกมือไหว้ ขอบอกขอบใจ เรากลับไปโกรธเขาอีก  เพราะนี่คือลักษณะของกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจ  มันจะไม่ยอมให้ใครมาชำระสะสางได้ง่ายๆ  แต่จะมีคนเดียวเท่านั้นที่จะชำระสะสางได้ก็คือตัวเราเอง  เราสามารถชำระได้ ถ้าเรามีความพยายาม  ถ้าเรามีความเชื่อ มีความศรัทธา ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ว่าการชำระใจของเรานั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง  และจะเป็นสิ่งที่ให้ผลที่ดีกับเราอย่างยิ่งด้วย   ถ้าเรามีความเชื่อมั่นอันนี้แล้ว เราก็จะมีกำลังที่จะปฏิบัติ   ดังที่เมื่อสักครู่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า  เวลาต้นปีทีหนึ่ง เราก็มักจะคิดในสิ่งที่ดี ว่าเราอยากจะให้ชีวิตของเรานั้นดี  เมื่อมีปีใหม่แล้วก็อยากให้ชีวิตของเราเป็นชีวิตที่ใหม่  ทีนี้มันจะเป็นชีวิตที่ใหม่ที่ดีได้ ก็ต่อเมื่อเราเริ่มลงมือ กระทำการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา ด้วยการซักฟอกจิตใจของเรา  ชำระสิ่งที่สกปรก สิ่งที่เป็นมลทิน เป็นเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ให้ออกไปจากใจให้หมด  ถ้าเราทำได้มากน้อยแค่ไหน  ความรู้สึกสบายอกสบายใจ ความเบาใจ ความสุขใจที่มีอยู่ในตัวก็จะปรากฏขึ้นมาตามลำดับ เปรียบเหมือนกับแสงสว่างของดวงอาทิตย์ ที่ถูกเมฆหมอกไปหุ้มห่อไว้ ทำให้แสงสว่างไม่สามารถเล็ดลอดออกมาได้  แต่ถ้ามีลมมาพัด ให้เมฆหมอกเหล่านั้นลอยออกไปจากการบดบังดวงอาทิตย์  แสงอาทิตย์ก็จะโผล่ออกมา  ฉันใดความสุขอันเลิศอันประเสริฐที่มีอยู่ในใจของเรานั้น ก็มีโอกาสโผล่ขึ้นมาแสดงผลให้เราเห็น  ถ้าเราใช้ธรรมะของพระพุทธเจ้า มาชำระสะสาง ขจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆทั้งหลาย ให้ออกไปจากใจของเรา 

จึงขอให้พวกเราทั้งหลายจงหันมาดูงานที่สำคัญอันนี้  และพยายามทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  งานภายนอกนั้นขอให้ถือว่าเป็นงานรอง คืองานทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เมื่อเราทำพอสมควรแล้ว พอกินพอใช้แล้ว อย่าไปสะสมให้มากจนเกินไป  เอาเวลาที่เหลืออยู่ มาสร้างประโยชน์ที่แท้จริง ที่ให้ความสุขกับเราอย่างแท้จริงจะดีกว่า คือการมาขัดเกลาชำระจิตใจของเรา ด้วยการทำบุญให้ทาน ด้วยการรักษาศีล และด้วยการปฏิบัติธรรม  นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา นี่แหละเป็นงานที่แท้จริงของเรา  เป็นงานที่จะทำให้เรา ไปสู่จุดที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายดำเนินไปถึง คือการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด  การสิ้นสุดของความทุกข์ทั้งหลายนั้น อยู่ที่การชำระใจของเราเท่านั้น  จึงขอฝากเรื่องราวเหล่านี้ ให้ท่านทั้งหลายนำไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติ  เพื่อความสุขความเจริญที่แท้จริง ที่ท่านทั้งหลายปรารถนากัน จะได้เป็นของท่านอย่างแน่นอนต่อไป การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้