กัณฑ์ที่
๑๑๙
ทดแทนคุณ
เหลือเวลาอีกประมาณเดือนเศษๆ
ก็จะเป็นช่วงเทศกาลเข้าพรรษา
ตามธรรมเนียมประเพณีของชาวพุทธ
เมื่อถึงเวลาเข้าพรรษาก็จะมีการปฏิบัติธรรมกันเป็นกรณีพิเศษ
ผู้ชายที่มีอายุ ๒๐
ปีขึ้นไป
ก็จะหาเวลาว่างลาพักงาน
เพื่อออกบวชเป็นพระภิกษุตลอดพรรษา
คือตลอดเวลา ๓ เดือน นี่เป็นประเพณีของชาวพุทธไทย
ที่ได้มีการปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล
โดยมีความเชื่อว่าการได้บวชเป็นพระภิกษุ
ได้ศึกษา ได้ปฏิบัติธรรม
ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนนั้น
ถือว่าเป็นการทดแทนบุญคุณบิดามารดา
ผู้มีพระคุณอย่างยิ่งต่อบุตร
เพราะเมื่อบวชแล้วก็จะได้ศึกษาปฏิบัติ
ตามแนวไตรสิกขา คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นเหตุ
เป็นมรรคาปฏิปทา
ที่จะนำผู้ปฏิบัติไปสู่การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
เข้าสู่มรรคผลนิพพาน
อันเป็นผลที่ประเสริฐอย่างยิ่งที่มนุษย์จะสามารถปฏิบัติถึงได้
เมื่อได้ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลแล้ว
ก็จะมีปัญญา มีความรู้
ที่จะนำมาอบรมสั่งสอนผู้อื่น
เช่นบิดามารดาผู้มีพระคุณอย่างยิ่ง
ถ้าบิดามารดามีจิตศรัทธา
มีปัญญาพอที่จะรับธรรม
ที่กุลบุตรนำมาสั่งสอน
และนำไปประพฤติปฏิบัติ
จนบรรลุมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา
บรรลุเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้น
คือพระโสดาบัน
ก็จะเป็นผู้ที่ไม่ต้องไปเกิดในอบายต่อไป พระโสดาบันจะมีภพชาติเหลือไม่เกิน
๗ ชาติ และแต่ละภพแต่ละชาตินั้น
ก็จะไม่เกิดในอบาย
ไม่ต้องไปเป็นเดรัจฉาน
เป็นเปรต เป็นอสุรกาย
หรือเป็นสัตว์นรก
และจะปฏิบัติธรรมต่อไปเรื่อยๆ
จนบรรลุเป็นพระอรหันต์
บรรลุพระนิพพาน
อันเป็นผลอันสูงสุดแห่งการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นจุดที่ประเสริฐที่สุด
เพราะเป็นจุดที่ไม่มีการเกิด
แก่ เจ็บ ตายอีกต่อไป
มีแต่บรมสุข เป็นความสุขที่แท้จริง
เป็นความสุขที่ไม่มีความทุกข์เจือปนอยู่เลย
ถ้าจะบวชเพื่อทดแทนบุญคุณบิดามารดา
ก็ต้องศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจัง
ตามอย่างพระพุทธเจ้า
ที่ได้ทรงออกผนวช
ศึกษาปฏิบัติธรรม
จนได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
หลังจากนั้นแล้วก็ได้ทรงเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดาในพระราชวัง
ทรงอบรมสั่งสอนจนได้บรรลุเป็นพระโสดาบันขึ้นมา
ถือได้ว่าการที่บุตรได้อบรมสั่งสอนบิดามารดาให้มีดวงตาเห็นธรรม
ให้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล
ตั้งมั่นอยู่ในธรรมปฏิบัติที่ดีที่งาม
คือทำบุญให้ทานอย่างสม่ำเสมอ
รักษาศีล ๕ โดยไม่ขาด
และปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิ
และวิปัสสนาอย่างต่อเนื่อง
ก็ถือว่าได้ชดใช้บุญคุณอันใหญ่หลวงของบิดาและมารดา
เพราะโดยปกติแล้ว
บุญคุณของบิดามารดานั้น
เป็นบุญคุณที่มากกว่าที่บุตรและธิดาจะสามารถตอบแทนได้
พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า
ต่อให้บุตรและธิดาเลี้ยงดูบิดามารดาอย่างดี อุ้มท่าน
แบกท่านไว้บนบ่าทั้งสองข้าง ให้ท่านขับถ่ายรดร่างกายของตน
ก็ยังไม่สามารถที่จะทดแทนบุญคุณอันยิ่งใหญ่ของบิดามารดาได้
ยกเว้นเสียแต่ว่า
สามารถทำให้บิดามารดา
บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมาได้เท่านั้น
จึงจะถือว่าบุญคุณได้ทดแทนหมดสิ้นแล้ว
เพราะถ้าสามารถส่งให้บิดามารดาเข้าสู่กระแสพระนิพพานได้
ก็จะไม่ต้องไปเกิดในอบายอีกต่อไป
มีแต่จะไปเกิดในสุคติภพ
เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา
เป็นพรหม
เป็นพระอริยบุคคลเท่านั้น
นี่คือฐานะของพระอริยบุคคลเบื้องต้นที่เรียกว่าพระโสดาบัน
พระโสดาบันมีความแน่วแน่มั่นคงกับพระพุทธศาสนา
ไม่มีความสงสัยในพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์
ไม่สงสัยในเรื่องกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่ามีจริง
กรรมคือการกระทำ ทำดีได้ดี
ทำชั่วได้ชั่ว ทำบุญได้ไปสวรรค์
ทำบาปย่อมไปนรก
นี่เป็นสิ่งที่พระโสดาบันเห็นได้ด้วยปัญญาของท่าน
เมื่อเห็นแล้วก็จะไม่กล้ากระทำบาป
จะรักษาศีล ๕ อย่างมั่นคง
ยิ่งกว่าชีวิตของตนเสียอีก
ระหว่างชีวิตกับศีลแล้ว
ท่านจะเลือกศีล
ดังในธรรมบทที่แสดงไว้ว่า
ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ
ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต
ให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม
นี่แหละคือเรื่องที่พระโสดาบันสามารถปฏิบัติได้
ท่านจะรักษาธรรมยิ่งกว่าชีวิตของท่าน
เรื่องที่ท่านจะไปทำผิดศีลผิดธรรม
ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ไปลักเล็กขโมยน้อย
ไปโกหกหลอกลวง
ไปประพฤติผิดประเวณี
ไปเสพสุรายาเมา
จะไม่อยู่ในฐานะของพระโสดาบันที่จะทำได้
ในเมื่อท่านมีศีลอันบริสุทธ์อย่างนี้แล้ว
เมื่อท่านตายไปย่อมไปสู่สุคติโดยถ่ายเดียว ไม่มีกรรมอันใดที่เคยทำไว้ในอดีต
จะมีอำนาจพอที่จะส่งให้ท่านไปเกิดในอบายอีกต่อไป
ถ้าผู้ใดสามารถทำให้บิดามารดามีความเลื่อมใส
มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย
คือ พระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์
ตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕
ตั้งมั่นอยู่ในการปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอแล้ว บุคคลนั้นถือว่าได้ทดแทนบุญคุณให้กับบิดามารดาอย่างบริบูรณ์แล้ว
นี่แหละทำไมจึงเป็นธรรมเนียมของชาวพุทธเรา
เมื่อมีอายุครบบวช
จะบวชเพื่อทดแทนบุญคุณให้กับบิดามารดา
เพราะว่าเมื่อได้บวชแล้วก็จะรู้จักธรรม
รู้จักเรื่องบาปบุญคุณโทษ
รู้จักเรื่องนรกเรื่องสวรรค์
จากการปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติเท่านั้นที่จะทำให้เห็นสิ่งต่างๆ
ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนได้
สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังนั้น
เป็นการศึกษา
คือเหมือนกับมีคนบอกทางเราว่า
ถ้าเราต้องการที่จะเดินทางจากจุดนี้ไปสู่จุดนั้น
เราจะต้องไปอย่างไร
คนที่เขาเคยไปมาแล้วเขาก็จะบอกเราได้
เช่นบอกว่าให้เดินตรงไป
พอถึงสี่แยกก็ให้เลี้ยวขวา
และให้ตรงไปอีก
ถึงสี่แยกก็ให้เลี้ยวซ้ายอีกที
ก็จะถึงจุดหมายปลายทางนั้น
แต่การรับฟังเฉยๆ
โดยไม่เดินไป
ก็จะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่เขาบอก
ถ้าเขาบอกว่าให้ไปทางนั้นๆ
แต่เราไม่ไป
กลับนั่งอยู่เฉยๆ
จนวันตายเราก็จะไปไม่ถึงจุดหมายที่ต้องการจะไป
แต่ถ้าเขาบอกเราแล้ว
เราก็เดินไปตามที่เขาบอก ในที่สุดเราก็จะต้องไปถึงจุดหมายปลายทางนั้นอย่างแน่นอน
ถ้าเดินไปตามที่เขาบอก
ไม่มีการแวะ
หรือไปในทิศทางอื่น
ในที่สุดเราก็จะต้องไปถึงจุดหมายปลายทางนั้น
ยกเว้นเสียแต่ว่า
คนที่บอกนั้น บอกผิดทาง
ถ้าเขาบอกผิดเราก็จะไปไม่ถึง
อย่างคนที่ศึกษาธรรมะอย่างเดียว
แต่ไม่ปฏิบัติ
แล้วมาสั่งสอนผู้อื่น
อย่างนี้อาจจะสอนให้คนไปผิดทางได้
เพราะคนที่ศึกษาอย่างเดียว
แล้วไม่ปฏิบัติ
ย่อมไม่รู้จริงเห็นจริง
ย่อมไม่สามารถที่จะบอกความจริง
ให้กับผู้ที่ต้องการที่จะไปในจุดที่เขาต้องการจะไปได้
ต้องเป็นผู้ที่ได้ศึกษา
แล้วปฏิบัติ
ปฏิบัติไปจนกระทั่งบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง
ผู้นั้นแหละจะเป็นผู้ที่จะบอกได้อย่างชัดเจน
อย่างถูกต้อง
ว่าทิศทางที่จะไปนั้น
ไปอย่างไร
การศึกษาเล่าเรียนอย่างเดียว
จึงไม่เพียงพอกับการที่จะทำให้มีดวงตาเห็นธรรม
บรรลุธรรมขึ้นมา มีปัญญาเห็น
ดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายเห็นได้
จำต้องปฏิบัติตามแนวทางแห่งไตรสิกขาคือศีล
สมาธิ และ ปัญญา ต้องรักษาศีลอย่างเคร่งครัด
ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ก็ดี ศีล ๘
ก็ดี ศีล ๑๐
ก็ดี หรือศีล
๒๒๗ ก็ดี ต้องรักษาอย่างเคร่งครัด
สมาธิก็ต้องปฏิบัติต้องเจริญ
ต้องหาที่สงบสงัด
ปลีกวิเวก ห่างไกลจาก รูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งหลาย
ที่เป็นเครื่องยั่วยวนกวนใจ
ให้เกิดความโลภ ความอยาก
เกิดตัณหาขึ้นมา
มีสติควบคุมจิตใจ
ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน
ไม่ให้ลอยไป ลอยมา
ในอดีตหรือในอนาคต
ไม่ให้คิดถึงเรื่องใกล้หรือเรื่องไกลทั้งหลาย
ให้ใจอยู่ในปัจจุบัน
ให้มีสติอยู่กับการกระทำต่างๆ
เช่นกำลังเดินบิณฑบาต
ก็ให้รู้ว่ากำลังเดินบิณฑบาตอยู่
ถ้ากำลังนั่งขบฉัน
ก็ให้รู้ว่ากำลังนั่งขบฉันอยู่
ถ้ากำลังปัดกวาด
ทำความสะอาด
ก็ให้รู้ว่ากำลังปัดกวาด
ทำความสะอาดอยู่
ถ้านั่งขัดสมาธิหลับตา
ก็ให้กำหนดดูรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก
ให้จิตรู้อยู่กับการหายใจเข้า
หายใจออก ไม่ต้องไปบังคับลมหายใจ
ลมหายใจจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้ลมหายใจเป็นไปตามธรรมชาติของเขา
หายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว
หายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น
ถ้าลมหยาบก็รู้ว่าลมหยาบ
ถ้าลมละเอียดก็รู้ว่าลมละเอียด
ถ้าลมหายไปจากความรู้สึก
ก็ให้รู้ว่าลมหายไปจากความรู้สึก
แต่ไม่ต้องเกิดความวิตก
เกิดความกลัวขึ้นมา
โดยมากผู้ปฏิบัติอานาปานสติ
รู้ลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์แห่งการควบคุมจิตใจ
ให้เข้าสู่ความสงบนั้น
เวลาไปถึงขั้นที่ลมหายใจหายไป
ก็จะเกิดความวิตก
เกิดความกลัวขึ้นมา
เริ่มคิดว่า เอ๊ะลมหายใจหายไปแล้วเราจะไม่ตายหรือ
คนเราต้องหายใจถึงจะอยู่ได้ไม่ใช่หรือ
ถ้าลมหายใจหายไปแล้วเราจะไม่ตายหรือ
ก็เลยรีบถอนจิตออกมา
เข้าหาลมหายใจ
ที่เป็นส่วนหยาบซึ่งยังมีอยู่
ความจริงแล้วในขณะที่จิตได้รวมตัวเข้าสู่ความสงบ
จิตจะไม่รับรู้ลมหายใจ
แต่เมื่อจิตเกิดมีความวิตกกังวลขึ้นมา
ความวิตกกังวลนี้เลยดึงจิตให้ถอนออกมา
สู่ระดับจิตที่หยาบเพื่อจะได้รับรู้ลมต่อไป
ถ้าปฏิบัติแบบนี้แล้ว
ปฏิบัติไปกี่ครั้ง
ก็จะไม่เข้าสู่ความสงบ
ไม่เข้าสู่สมาธิ
คือการรวมตัวของจิตเป็นหนึ่ง
ที่เรียกว่าเอกัคตารมณ์
สักแต่ว่ารู้ รู้อยู่ตามลำพังของตน
โดยไม่รับรู้กับเรื่องอะไรทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นความคิดปรุงแต่งก็ดี
รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะก็ดี ในขณะที่จิตรวมลงเป็นสมาธิแล้ว
จะไม่รับรู้เรื่องราวเหล่านี้
แต่จิตจะไม่รวมลงไป
ถ้าจิตเข้าสู่จุดที่ละเอียดแล้ว
กำลังจะรวมลงสู่ความสงบ
สู่ความเป็นหนึ่ง
เกิดมีความวิตกขึ้นมา
ว่าลมหายไปไหน แล้วคิดว่าต้องคว้าหาลมให้ได้
ถึงจะอยู่ได้ กลัวตายนั่นเอง
กลัวว่าจะตาย ถ้าคิดอย่างนั้นแล้ว
จิตก็จะถอนออกจากความละเอียด
กลับสู่ความหยาบ
เพื่อจะรับรู้ลมที่ยังมีอยู่
เพราะเวลาที่จิตละเอียดมากๆแล้ว
การรับรู้ลมจะหายไป
จึงขอให้ทำความเข้าใจไว้ว่า
ถ้าใช้อานาปานสติ
คือการกำหนดดูลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์แห่งสมถะ
เป็นอารมณ์แห่งความสงบ
เราไม่ต้องกังวล
ตราบใดถ้ามีผู้รู้อยู่
ตราบนั้นจะไม่ตาย
ถ้ามีผู้รู้อยู่
จะไม่ตายอย่างแน่นอน
เพราะว่าขณะนั้นผู้รู้กำลังจะปล่อยวางกายนั่นเอง คือกายกับใจจะแยกออกจากกัน
ในขณะที่ใจรวมลงสู่ความสงบเป็นหนึ่ง
เป็นเอกัคตารมณ์ เหลือสักแต่ว่ารู้เท่านั้น
จึงขอให้ทำความเข้าใจว่า
การทำอานาปานสติ
ไปจนถึงเวลาที่ไม่มีลมหายใจ
คือไม่รับรู้ลมหายใจแล้ว
ไม่ต้องกลัวว่าจะตาย
ไม่ตาย เพราะนี่เป็นลักษณะของการรวมลงของจิต
จิตเมื่อละเอียดแล้ว
จิตจะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่เป็นส่วนหยาบ
ส่วนหยาบที่พูดถึงนี้ก็คือรูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
คือกามคุณทั้ง ๕
รวมถึงลมหายใจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโผฏฐัพพะ
เป็นสัมผัสที่สัมผัสได้ด้วยร่างกาย
อันนี้มันจะหายไปจากใจ
เราไม่ต้องกังวล ให้มีสติกำหนดรู้อยู่กับตัวรู้นั่นแหละ ถ้าลมไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนแล้ว
ก็ไม่ต้องไปสนใจลมจะเหลือแต่ตัวรู้อย่างเดียว
ให้รู้อยู่กับผู้รู้นั้น
ผู้รู้นั้นก็จะรวมลงเข้าสู่ความสงบ
แล้วก็จะนิ่ง จะตั้งอยู่นานหรือไม่นาน
ก็สุดแท้แต่การปฏิบัติ
เมื่อตั้งอยู่ได้สักระยะหนึ่งแล้วก็จะถอนออกมาสู่จิตปกติ
การตั้งอยู่นั้นก็เป็นอยู่
๒ ลักษณะ ถ้าตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่งไม่นาน
เรียกว่า ขณิกสมาธิ
คือสงบอยู่
ตั้งอยู่ได้สักพักหนึ่งก็ถอนออกมา
ถ้าตั้งอยู่ได้นานเป็นชั่วโมง
เรียกว่าอัปปนาสมาธิ
สมาธินี้ก็มีอยู่ ๓
ลักษณะ คือ
ขณิกะ อัปปนา
อุปจาระ อุปจารสมาธิเป็นสมาธิที่รวมลงแล้ว
แต่ไม่ตั้งอยู่ในขณิกะหรืออยู่ในอัปปนา
เมื่อสงบตัวรวมตัวอยู่สักครู่หนึ่ง
ก็จะถอนออกมาหน่อย
แต่ไม่ถอนออกมาเต็มที่
คือไม่ถอนออกมาสู่จิตปกติ
อย่างขณะนี้จิตของพวกเราเป็นจิตปกติ
จิตที่รับรู้เรื่องราวต่างๆ
ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น
กาย นี่เป็นจิตปกติ
แต่จิตที่รวมลงไปแล้ว
ถอนออกมาหน่อย
แล้วไปรับรู้เรื่องราวที่ละเอียดต่างๆ
เช่น รูปทิพย์ เสียงทิพย์
หรือรู้เรื่องราวต่างๆ
ของตนเองก็ดี
หรือของผู้อื่นก็ดี
อย่างนี้เรียกว่าอุปจารสมาธิ
เป็นสมาธิที่จะไปรู้เรื่องราวต่างๆ
ที่จิตปกติจะไม่สามารถรู้ได้
เช่นระลึกชาติได้
ระลึกว่าในอดีตชาตินั้นเคยทำอะไรมา
เคยเป็นอะไรมา ชาติก่อนนั้นเป็นอะไรมาอย่างนี้เป็นต้น
หรือเห็นกายทิพย์
ได้ยินเสียงทิพย์
เห็นสิ่งต่างๆที่ในจิตธรรมดาจะไม่สามารถเห็นได้
นี่ก็คือลักษณะของอุปจารสมาธิ
อุปจารสมาธินี้
ไม่เป็นประโยชน์
ต่อการเจริญวิปัสสนา
เพื่อชำระขัดเกลากิเลสเครื่องเศร้าหมอง
ตัณหาความอยากทั้งหลาย
ให้หมดไปจากจิตจากใจ
เพื่อบรรลุ มรรค ผล
นิพพาน อุปจารสมาธิจะไม่ช่วยส่งเสริมในการปฏิบัติวิปัสสนา
แต่ขณิกสมาธิกับอัปปนาสมาธิเป็นสมาธิที่จะช่วยส่งเสริม
เพราะจิตที่สงบอยู่ในขณิกสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ
แล้วถอนออกมา จะมีความสดชื่น
มีความอิ่ม มีความสบาย
มีความเบา ในขณะนั้นกิเลสต่างๆ
ความอยากต่างๆ
จะถูกตัดทอนกำลังลงไป
ไม่ให้มีกำลังมาก
ที่จะคอยผลักไสให้จิต
ไปแสวงหาสิ่งต่างๆภายนอก
จะเป็นจิตที่ตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน
พร้อมที่จะศึกษาเรื่องราวต่างๆ
ที่ควรรู้
เพื่อจะได้เข้าใจถึงธรรมชาติของสิ่งต่างๆ
ที่จิตหลงไปยึด ไปติดอยู่
ว่าเป็นอย่างไร
ว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษ
ว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ถ้ามีสมาธิแบบนี้แล้ว
ก็จะสามารถเจริญวิปัสสนา
ได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
ทำให้เข้าอกเข้าใจถึงเรื่องราวต่างๆ
สิ่งต่างๆ บุคคลต่างๆ
ที่จิตไปเกี่ยวข้อง ไปรัก
ไปชอบ ไปยินดียินร้าย
ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดียินร้าย
ไม่เป็นสิ่งที่น่ารักน่าชังเลย
แต่เพราะโมหะความหลง
อวิชชาความไม่รู้
จึงทำให้จิตมัวไปหลงติดพันอยู่กับสิ่งต่างๆ
เห็นอะไรเป็นสิ่งที่ชอบอกชอบใจ
ก็อยากจะได้ อยากจะมี
อยากจะเป็นเจ้าของ
ครอบครองสิ่งนั้น
และอยากให้สิ่งนั้นอยู่กับตนไปนานๆ
เห็นอะไรเป็นสิ่งไม่ชอบ
ไม่ปรารถนา ไม่ยินดี
ก็อยากให้สิ่งนั้นหายไปจากหูจากตาเร็วๆไวๆ
แต่สิ่งเหล่านี้เขามีอยู่
เป็นอยู่ ตามเหตุ
ตามปัจจัยของเขา เขามี
เขาเป็นไป ตามธรรมชาติของเขา
เขาไม่ได้มีอยู่เพื่อความต้องการของเรา
หรือหมดไปเพราะความไม่ต้องการของเรา
เขามี เขามา เขาไป
ตามเรื่องของเขา
เราต้องเข้าใจหลักนี้
ถ้าเรามีจิตที่เป็นสมาธิตั้งมั่น
มีปัญญาคอยอบรมพร่ำสอนให้รู้ว่า
สิ่งเหล่านี้ที่เรียกว่าสภาวธรรมนั้น
ล้วนไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะไปควบคุม
ไปบังคับให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้
เขามีการเปลี่ยนแปลง
หมุนเวียน เปลี่ยนไป
เป็นปกติของเขา
เขามีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่
แล้วในที่สุดเขาก็จะต้องดับไป
จิตที่มีปัญญาเข้าใจถึงหลักของไตรลักษณ์
คืออนิจจัง ทุกขัง
อนัตตาแล้ว ย่อมไม่กล้าที่จะไปมีความผูกพัน
ไปยึดมั่นถือมั่น
ผูกติดอยู่กับสิ่งนั้นๆ
ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องเกี่ยวข้องกับเขา
เช่นเมื่อเกิดมาแล้ว
ก็ต้องมีพ่อแม่ มีพี่น้อง
มีเพื่อนฝูง แต่ผู้มีปัญญาจะไม่หลงติดอยู่กับบุคคลเหล่านี้
เพราะรู้ว่าล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงทั้งนั้น เขาเกิดมาแล้ว
เขาต้องแก่ ต้องเจ็บ
และในที่สุดเขาก็ต้องตายจากไป
เป็นเรื่องปกติธรรมดา
แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ฝึกสมาธิ
ไม่มีปัญญาอบรมสั่งสอน
จะไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้
เพราะจะไม่เคยคิด
จะไม่เคยพิจารณา
ก็เลยถูกอำนาจของโมหะความหลง
อวิชชาความไม่รู้ครอบงำไป
คิดว่าสิ่งที่ชอบนั้นจะอยู่กับเราไปตลอด
คิดว่าบุคคลต่างๆที่อยู่ร่วมกัน
จะอยู่กับเราไปตลอด
พอเกิดเหตุการณ์ที่เขาจะต้องจากเราไปอย่างกะทันหัน
เช่นประสบอุบัติเหตุ
หรือเป็นโรคร้ายขึ้นมา
เราก็จะเกิดความวุ่นวายใจ
เศร้าโศกเสียใจ
กินไม่ได้นอนไม่หลับ
เพราะอะไร เพราะว่าจิตใจของเราไม่ได้ถูกขัดเกลา
ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน
อย่างต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ
การอบรมสั่งสอนทางด้านธรรมะ
เป็นสิ่งที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง
ตลอดเวลาเลย
ถ้าจะว่าทุกลมหายใจเข้าออกก็ว่าได้
ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์
ให้พิจารณาความตายอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ทุกลมหายใจเข้าออก
ถ้าพิจารณาเพียงแต่วันละนิดวันละหน่อย
วันละครั้ง สองครั้ง สามครั้ง
พระพุทธองค์ทรงถือว่ายังประมาทอยู่
เพราะว่าเวลาที่ไม่พิจารณา
เราก็จะลืม จะเผลอ
จะไปคิดเรื่องอื่นต่อไป
คิดเรื่องงานเรื่องการ
เรื่องหาเงินหาทอง
ลืมไปว่าสักวันหนึ่งเราจะต้องตาย
อุตส่าห์เสียเวลาไปหาเงินหาทองหาสมบัติต่างๆมาเพื่ออะไร
เพื่อทิ้งมันไปในที่สุดนั่นเอง
ถ้าพิจารณาอยู่อย่างสม่ำเสมอ
แทบทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว
เราจะไม่กล้าไปหาเงินหาทอง
มากเกินความจำเป็น
หาเงินทองพอมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
อัตภาพร่างกายก็พอแล้ว
จะได้มีเวลาเหลือไว้มากๆ
เพื่อจะได้มาปฏิบัติธรรม
รักษาศีล นั่งสมาธิ
พร่ำสอนใจให้รู้ถึงธรรมชาติของสิ่งต่างๆ
ที่ใจไปเกี่ยวข้องด้วย
เพื่อใจเมื่อรู้แล้วจะได้ปล่อยวาง
จะได้ตัดใจไม่ผูกกับเขา
และพร้อมที่จะจากเขาไป
เมื่อเหตุการณ์หรือเวลามาถึง
ก็จะไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ
ไม่มีความรู้สึกว่า
จะอยู่ไม่ได้ต่อไปในโลกนี้
แต่ในทางตรงกันข้าม
ถ้ามัวแต่วุ่นวาย
ใช้เวลาทุ่มเทไปกับการทำมาหากิน
หาเงินหาทอง เมื่อได้เงินทองมาแล้ว
ก็เอาเงินทองนี้ไปจับจ่ายใช้สอย
ตามอำนาจของกิเลสคือความโลภ
ความอยากแล้ว
ชีวิตของเราจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว
ผ่านไปแบบคนตาบอด
คือจะไม่รู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา
จะไม่มีอาวุธหรือมียา
คอยรักษาจิตใจ
เวลาที่จะต้องไปเจอกับสิ่งที่สร้างความทุกข์
ความปวดร้าวให้กับใจ
ก็จะต้องทุกข์ทรมานกับความทุกข์
ความปวดร้าวของใจ
จนกระทั่งมันหมดฤทธิ์ของมันไปเอง
หรือถ้าทนไม่ไหว
ก็ต้องถึงกับฆ่าตัวตายไป
นี่ก็เป็นเพราะว่าไม่ได้เรียนรู้ทางด้านพระศาสนา ไม่ได้เรียนรู้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเลย
มัวแต่ทุ่มเทเวลาไปกับการหาเงินหาทอง
แล้วก็ใช้เงินใช้ทองนั้นไป
พอถึงเวลาประสบความทุกข์
ก็มีแต่ความทุกข์เผารนจิตใจไป
จนไม่สามารถจะทนอยู่ได้
แต่ถ้าได้เข้าวัดอย่างวันนี้ที่ท่านมากัน
ท่านก็จะได้ยินได้ฟังเรื่องราวที่ได้แสดงนี้
ก็อาจจะทำให้ท่านฉุกคิดขึ้นมาว่า
ชีวิตของเรานี้
เราน่าจะปรับแผนเสียใหม่
ควรพิจารณาดูว่า
อะไรเป็นสิ่งที่สำคัญ
อะไรเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ
อะไรเป็นที่พึ่งที่แท้จริง
และอะไรไม่ใช่เป็นที่พึ่งที่แท้จริง
แล้วนำเอาไปประพฤติปฏิบัติ
ต่อไปชีวิตของเราก็จะมีแต่ความสดชื่นเบิกบาน
มีแต่ความสุข ทั้งๆที่ไม่มีสมบัติข้าวของเงินทอง
มากมายก่ายกอง
เหมือนสมัยก่อนเลย
ก็เพราะว่าข้าวของเงินทองไม่ใช่เป็นที่พึ่งของใจ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งความสุข
ความสดชื่น ความเบิกบาน
ปราศจากความทุกข์
ความกลัวทั้งหลาย
แต่การศึกษา
ประพฤติปฏิบัติธรรม
ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ต่างหาก
ที่ทำให้ใจของเรามีที่พึ่ง
มีอาวุธต่อสู้กับความทุกข์ทั้งหลาย
ที่มารุมเร้าจิตใจ
จึงขอฝากให้ท่านทั้งหลาย
จงพิจารณาถึงคุณค่าของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ขอให้เห็นว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะวิเศษ
ที่จะดีเลิศ
เท่ากับธรรมะของพระพุทธเจ้า
เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องน้อมเอาธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติ
เพราะธรรมะเป็นเหมือนกับอาหาร
ถ้าตั้งอยู่เฉยๆ
ไม่รับประทาน
ก็จะไม่รู้จักรสชาติของอาหาร
และจะไม่ได้รับประโยชน์จากอาหารนั้น
คือความอิ่มของร่างกาย
ฉันใดธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เช่นกัน
ถ้าเพียงแต่ได้ยินได้ฟัง
พอกลับไปจากวัด
ก็ลืมเสียแล้ว
ไม่ได้นำเอาไปพินิจพิจารณา
นำเอาไปปฏิบัติต่อ
ประโยชน์ที่จะได้รับจากธรรมะก็ไม่เกิด
ดังนั้นหลังจากที่ได้ยินได้ฟังแล้ว
ขอให้นำเอาไปคิดอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อประโยชน์สุขที่จะตามมาต่อไป
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้