กัณฑ์ที่ ๑๒๑     ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕

หยดน้ำบนใบบัว

 

ทุกๆวันพระ ซึ่งเป็นวันธรรมสวนะ วันฟังธรรม จะมีศรัทธาญาติโยม ผู้มีจิตใจแน่วแน่มั่นคงกับพระพุทธศาสนา  เดินทางมาที่วัดเพื่อประกอบศาสนกิจ ที่พุทธศาสนิกชนพึงกระทำอย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอ คือการทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน สมาทานศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมตามแต่สมควรแก่ฐานะของแต่ละท่าน ที่จะสามารถจะปฏิบัติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจที่สำคัญที่สุด ที่พึงกระทำอย่างสม่ำเสมอ คือการฟังธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พระพุทธองค์จึงได้กำหนดวันธรรมสวนะขึ้นมาทุกๆ ๗ วัน ๖ วันหรือ ๘ วัน ญาติโยมควรปล่อยวางภารกิจทางโลก การทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง หาเวลามาวัดเพื่อประกอบกิจที่สำคัญอันนี้ คือการฟังธรรม ถ้าไม่สามารถมาที่วัดได้ ก็ขอให้ฟังธรรมที่บ้านก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้มีการแสดงธรรมผ่านทางสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางวิทยุ ทางโทรทัศน์ มีการอัดบันทึกไว้ในหลายรูปแบบด้วยกัน มีทั้งเทปเสียง แผ่นซีดี แผ่นวีซีดีเป็นต้น

จึงไม่ควรที่จะห่างไกลจากธรรม เพราะธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีพ ธรรมเป็นแสงสว่าง ถ้าไม่มีแสงสว่างแล้ว ชีวิตของเราก็จะถูกความมืดบอดครอบงำ จะไม่สามารถเห็นสิ่งที่ถูกหรือผิดได้  เปรียบเหมือนกับตาที่ไม่มีแสงสว่าง ยามค่ำคืนถ้าไม่มีแสงไฟ จะไม่สามารถเห็นสิ่งต่างๆในที่มืดได้  ฉันใดใจก็เช่นกัน ถ้าไม่มีแสงสว่างแห่งธรรม ใจจะไม่สามารถแยกแยะ ความผิดถูกดีชั่วบาปบุญคุณโทษนรกสวรรค์ได้  แต่ถ้ามีแสงสว่างแห่งธรรมแล้ว ย่อมสามารถแยกแยะได้ ย่อมรู้ได้ว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นสุข อะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุของความสุข และอะไรเป็นเหตุของความทุกข์  แสงสว่างแห่งธรรมนี้จึงเปรียบเหมือนกับแสงสว่างที่สายตาใช้อาศัยดูสิ่งต่างๆ ดังวลีที่ว่า ตาสว่างด้วยแสงไฟ ใจสว่างด้วยแสงธรรม ถ้าไม่มีธรรมะอยู่ในใจแล้ว ใจจะเป็นใจที่มีความมืดบอด มืดบอดด้วยโมหะความหลง  มืดบอดด้วยอวิชชาความไม่รู้จริง เมื่อมีความมืดบอดครอบงำแล้ว ใจจะมีแต่ความลุ่มหลง เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

อย่างคนที่เห็นว่าการเสพอบายมุขทั้งหลายเป็นความสุข เป็นสิ่งที่น่ากระทำ เช่น เสพสุรายาเมา เที่ยวค่ำคืน เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร มีความเกียจคร้านในการทำมาหากิน สิ่งเหล่านี้ถ้าใครไปเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี  แล้วไปเสพ ไปกระทำในสิ่งเหล่านี้ แสดงว่าใจของคนนั้นเป็นใจที่มืดบอด เป็นใจที่ไม่รู้จักเหตุและผล  ไม่รู้ว่าเหตุคือการกระทำของเรา อันใดเมื่อทำไปแล้ว นำมาซึ่งความเสื่อมเสีย ความทุกข์ความหายนะ อันใดเมื่อทำไปแล้ว นำมาซึ่งความสุขความเจริญ คนที่ยังลุ่มหลงอยู่กับการเสพอบายมุขทั้งหลาย กระทำความชั่วทั้งหลาย กระทำบาปทั้งหลาย เช่น ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ลักทรัพย์  ประพฤติผิดประเวณี  พูดปดมดเท็จ  โกหกหลอกลวง ซึ่งล้วนเป็นผลที่เกิดจากใจ ที่มีความมืดบอดครอบงำอยู่ ขาดแสงสว่างแห่งธรรม ที่จะคอยชี้บอกว่า อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ และเมื่อทำไปแล้ว ผลก็ย่อมตกกับผู้ที่กระทำนั้นๆ

ผู้ที่กระทำบาปก็ดี หรือเสพอบายมุขทั้งหลายก็ดี ย่อมหาความเจริญรุ่งเรืองไม่ได้  ชีวิตจะมีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เพราะนี่คือสัจธรรมความจริง ความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้เห็น แล้วจึงนำเอามาสั่งสอนให้กับสัตว์โลกทั้งหลาย ผู้ที่ฟังแล้วเกิดความเชื่อหรือเห็นตาม  แสดงว่าเป็นผู้มีบุญมีกุศล สามารถรับธรรมของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ เพื่อพัฒนาจิตใจให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไป จนกระทั่งกลายเป็นจิตของพระอรหันต์ จิตของพระพุทธเจ้าขึ้นมา หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย อันเกิดจากความมืดบอด  ที่จะสูญสลายไปได้ ก็ต่อเมื่อมีแสงสว่างแห่งธรรมเข้าไปสู่ใจ เปรียบเหมือนความมืดกับความสว่าง ถ้ามีแสงสว่างอยู่ที่ไหน  ความมืดตรงนั้นก็จะหายไปหมด ถ้าไม่มีแสงสว่าง ความมืดก็จะเข้ามาแทนที่ เพราะความมืดกับความสว่าง เป็นของตรงกันข้าม อยู่ด้วยกันไม่ได้ ถ้ามีแสงสว่างก็ไม่มีความมืด ถ้ามีความมืดก็ไม่มีแสงสว่าง ถ้ามีความหลงก็แสดงว่าไม่มีธรรมะ ถ้ามีธรรมะก็แสดงว่าไม่มีความหลง

นี่แหละคือเหตุผล ที่ทำไมเราจึงต้องฟังเทศน์ฟังธรรมกัน อย่างสม่ำเสมอ  เพราะใจของพวกเราทุกคนยังเป็นใจของปุถุชนอยู่ คำว่าปุถุชนนี้หมายถึงใจที่ยังมีกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมองครอบงำอยู่  คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากทั้งหลาย  ที่เปรียบเหมือนกับดวงอาทิตย์ที่มีเมฆหุ้มห่อ จนแสงสว่างของดวงอาทิตย์ไม่สามารถฉายทะลุออกมาได้  ฉันใดใจที่มีกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมองอยู่ ก็เป็นใจที่มืดบอด ที่ไม่สามารถประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีที่งามได้ เพราะไม่เห็นว่าสิ่งที่ดีที่งามนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่งามนั่นเอง กลับเห็นว่าเป็นสิ่งที่ลำบากยากเย็น เป็นสิ่งงมงาย เป็นสิ่งที่ไม่มีผลตามมา ดังที่คนสมัยนี้มักจะปฏิเสธกัน เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เรื่องเวียนว่ายตายเกิด เพราะอะไร ก็เพราะใจของเขาไม่มีปัญญา ไม่มีแสงสว่างแห่งธรรม เขาจึงไม่สามารถมองทะลุมิติต่างๆได้เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น

พระพุทธเจ้ามีดวงตาเห็นธรรม จึงทรงสามารถเห็นย้อนไปในอดีตก็ได้  มองไปในอนาคตก็ได้ จึงเห็นทั้งอดีตคือชาติก่อน เห็นทั้งอนาคตคือชาติหน้าที่จะตามมา ว่าจะเป็นอย่างไร ผลที่จะเกิดขึ้นในชาติหน้านั้น มันก็เกิดจากการกระทำของเราในปัจจุบันและในอดีตชาติ เป็นเหตุที่จะส่งผลตามมาต่อไปในอนาคต สิ่งเหล่านี้พวกเราผู้เป็นปุถุชนไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะยังมืดบอดอยู่ เปรียบเหมือนคนตาบอด คนตาบอดจะมารู้ จะมาเห็นเหมือนกับคนที่ตาไม่บอดได้อย่างไร ไม่เชื่อลองหลับตาดูก็ได้ วันไหนว่างๆลองเอาผ้าพันตา ปิดตาให้มิด แล้วลองเดินไปทำอะไรต่างๆ  ดำเนินชีวิตไปตามปกติ  ดูซิว่าจะสามารถดำเนินไปตามปกติได้หรือไม่  สามารถเห็นสิ่งต่างๆเหมือนกับคนที่ตาไม่มืดมิดเห็นได้หรือไม่ นั่นแหละคือความแตกต่างระหว่างปุถุชนกับพระอรหันต์ พระอรหันต์ท่านเป็นคนตาดี ท่านเห็นทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวของท่านหมด คำว่ารอบนี้หมายถึง ทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต อดีตชาติก็รู้  ปัจจุบันชาตินี้ก็รู้ อนาคตชาติหน้าก็รู้ ไม่มีอะไรจะมาปิดบังผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรมได้

ผู้ที่มีความมืดบอดย่อมไม่สามารถเห็นได้ เพราะว่าตาของเขามีสิ่งปกคลุมหุ้มห่ออยู่ คือโมหะอวิชชาความไม่รู้ความหลงทั้งหลาย มันมาครอบงำใจ เลยไม่รู้ไม่เห็น เมื่อไม่รู้ไม่เห็นก็เลยปฏิเสธไป ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มี  คนในสมัยปัจจุบันนี้จึงไม่ค่อยเชื่อเรื่องนรก เรื่องสวรรค์ ไม่ค่อยเชื่อเรื่องอดีตชาติ ไม่เชื่อเรื่องชาติหน้าที่จะตามมาต่อไป  เลยไม่มีความเชื่อในเรื่องกรรม ไม่คิดว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว แต่กลับคิดว่าทำชั่วได้ดีมีถมไป เราจึงเห็นคนในสมัยนี้ทำบาปทำกรรมกันมาก มีการคด มีการโกงกันเป็นปกติวิสัย เพราะต้องการความสุขในปัจจุบัน เวลาทำมาหากินโดยสุจริตนั้น รายได้จะไม่เป็นกอบเป็นกำเหมือนกับคนที่ทำมาหากินโดยทุจริต เช่น ค้ายาเสพติด หรือคอรัปชั่น เมื่อทำไปแล้วจะได้เงินมาเป็นกอบเป็นกำ เมื่อได้เงินมาเป็นกอบเป็นกำแล้ว ก็เอามาใช้อย่างสนุกสนาน เพราะเงินทองนี้สามารถซื้อความสุขได้ในระดับหนึ่ง ความสุขที่เรียกว่ากามสุข เช่น อยากจะไปเที่ยว ไปดูหนังดูละคร มีสามี มีภรรยาสักกี่ร้อยคน ก็สามารถหามาได้ด้วยเงินทองนี้แหละ

แต่ความสุขเหล่านี้เป็นความสุขที่มีโทษตามมา มีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ เปรียบเหมือนกับเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด เวลาฮุบเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ดเข้าไป ก็ต้องฮุบเบ็ดไปด้วย เมื่อฮุบเบ็ดไปแล้ว   เวลาที่เขากระตุกเบ็ดแล้ว จะรู้สึกเจ็บปวดทรมานอย่างยิ่ง นั่นแหละคือเรื่องของกามสุข เวลามีเสพก็มีความสุข แต่ถ้าเกิดวันใดไม่ได้เสพดังใจขึ้นมา ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาอย่างใหญ่หลวง อย่างเคยกินเหล้าอยู่ทุกวัน ทุกเย็น ทุกค่ำ พอเย็นวันไหนเกิดไปอยู่ในสภาพ ที่ไม่สามารถจะหามาเสพได้ หามาดื่มได้ ก็จะเกิดความหงุดหงิดใจ การสูบบุหรี่ก็เช่นกัน ถ้าได้สูบอยู่ทุกขณะ ทุกเวลาที่ต้องการสูบ ก็มีความสุข แต่ถ้าวันใดเวลาใด ที่ต้องการจะสูบ แล้วไม่ได้สูบขึ้นมา ก็จะเกิดความอึดอัด เกิดความทุกข์ขึ้นมา นี่แหละคือทุกข์หรือโทษของกามสุข  มันไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นความสุขที่ทำให้หลุดพ้น แต่เป็นความสุขที่ทำให้กลายเป็นทาส  เราอยากจะเป็นทาสหรืออยากจะเป็นคนที่มีอิสรภาพ  พระพุทธเจ้าทรงชี้ไว้ว่า ในโลกนี้มีความสุขอยู่ ๒ ชนิดด้วยกัน คือ ๑.ความสุขที่ติดอยู่ เป็นทาสของสิ่งต่างๆ  ๒. ความสุขที่หลุดพ้น ไม่เป็นทาสกับอะไร เป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพาสิ่งใด เป็นเครื่องทำให้เกิดความสุขขึ้นมา ความสุขนี้ก็คือสันติสุข คือความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ ใจจะสงบได้ก็ต้องขัดเกลา ชำระสิ่งที่สร้างความไม่สงบให้กับใจ คือกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย อันมีโมหะความหลง มีอวิชชาความไม่รู้เป็นต้นเหตุ ทำให้โลภ ทำให้โกรธ ทำให้อยาก ไม่มีที่สิ้นสุด และสิ่งที่จะทำลายความหลง ความไม่รู้ได้ ก็คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

นี่แหละทำไมพวกเราจึงต้องเข้าหาพระศาสนา ทำไมจึงต้องเข้าวัดกันทุกๆวันพระ ก็เพราะที่วัดมีการแสดงพระธรรมเทศนา พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้เราได้ยินได้ฟังกันทุกๆวันพระ เพื่อจะได้รู้ถึงเรื่องราวต่างๆที่เราไม่รู้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอดีตชาติ เรื่องชาติหน้า เรื่องกรรม เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ว่าการทำกรรมอะไรไว้นั้น ถึงแม้ชาตินี้จะไม่ได้ใช้กรรมนั้น แต่อย่าไปคิดว่ากรรมนั้นจะไม่มีผล เพราะยังมีชาติหน้าที่จะตามมาต่อไป เช่นเดียวกับชาตินี้ ชีวิตของพวกเราก็มีความแตกต่างกัน บางคนทำแต่ความดี แต่ทำไมมักจะถูกเคราะห์ต่างๆรุมเร้าอยู่เสมอ นั่นก็เป็นเพราะว่ามันเป็นผลของกรรมไม่ดี  ที่ได้ทำไว้ในอดีตชาตินั่นเอง มันตามมาถึงชาตินี้ได้ ถึงแม้ว่าชาตินี้จะอุตส่าห์ทำความดี รักษาศีลปฏิบัติธรรม แต่ก็ยังต้องประสบกับเคราะห์กรรมต่างๆ ความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งหลาย เพราะไม่มีดวงตาเห็นธรรม ที่จะย้อนระลึกกลับไปในอดีตชาติได้ ว่าไปทำอะไรมา จึงต้องมาเจอปัญหาเหล่านี้ มาเจอคนเหล่านี้ มารับเคราะห์กรรม รับทุกข์กับคนแบบนี้  ต้องให้เขามาทำร้าย ให้เขามาสร้างความทุกข์ให้กับเรา แต่ถ้าปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ เอาธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมาปฏิบัติแล้ว ต่อไปใจก็จะเกิดแสงสว่างขึ้นมา เข้าอกเข้าใจในเรื่องของกรรม  เข้าใจในเรื่องของวิบาก คือผลของกรรม ว่าเป็นสิ่งคู่กัน หนีกันไปไม่ได้ แยกกันไม่ได้  มีเหตุก็ต้องมีผล  เป็นเรื่องปกติ  มีกรรมก็ต้องมีวิบาก

กรรมและวิบากมีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี  ฝ่ายดีเรียกว่าการทำบุญทำกุศล  ผลของการทำบุญทำกุศล ก็คือความสุขความเจริญ ตายไปก็ได้ไปเกิดที่ดี ไปสู่สุคติ ไปเป็นมนุษย์อีก  เป็นเทพ เป็นพรหม  เป็นพระอริยบุคคล  ถ้าทำความชั่ว ทำบาป ทำกรรม  เช่นเสพสุรายาเมา เสพพวกอบายมุขทั้งหลาย แล้วก็ไปทำผิดศีลผิดธรรม ตายไปก็จะต้องไปเกิดในอบาย เป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก นี้คือที่ไปของผู้ที่กระทำบาป ในปัจจุบันชีวิตก็มีแต่ความวุ่นวายใจ มีแต่ความทุกข์ใจ หาความสงบในจิตใจไม่ได้ เพราะจิตใจจะว้าวุ่นกับเรื่องที่ตนไปสร้างมา คือความชั่วทั้งหลาย  เวลาทำไปแล้ว ใจจะมีความวิตก  มีความกังวล   เปรียบเหมือนกับวัวสันหลังหวะ เวลาอะไรมาแตะมาต้องหน่อย ก็จะเกิดความรู้สึกเจ็บปวดขึ้นมา นั่นแหละคือลักษณะของผู้ที่กระทำบาป

เวลากระทำบาปไปแล้ว ใจจะไม่มีความสบายใจ มีแต่ความวิตก ความเกรงกลัว ว่าใครจะมารู้เข้า และเมื่อรู้แล้วจะตำหนิเรา ประณามเรา  จับเราไปลงโทษ จับเราเข้าคุกเข้าตะราง  จึงสร้างความวิตก  ความกังวลใจขึ้นมา ใจจึงไม่มีความสุข ในทางตรงกันข้ามคนที่ไม่ได้ทำผิด ไม่ได้ทำบาปทำกรรม ใจจะไม่มีความรู้สึกวิตกกังวล ใจจะนิ่งสบาย นี่แหละคือเรื่องของกรรมและวิบาก กรรมก็คือเหตุ  วิบากก็คือผล  กรรมคือการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ทำอะไรไปแล้ว ผลที่จะตามมาก็จะปรากฏขึ้นมา ถ้าคิดดี พูดดี ทำดี ใจจะเย็น ใจจะสบาย มีแต่สิ่งที่ดีตามมาภายหลัง ถ้าคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี  ก็จะเกิดความวุ่นวายใจ เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา อย่างเวลาเราเห็นใครเขาทำอะไร  แล้วเราเกิดความไม่พอใจขึ้นมา เกิดความโกรธขึ้นมา นี่ก็แสดงว่าใจเราคิดไม่ดีแล้ว เราไปโกรธเขา เวลาเกิดความโกรธขึ้นมา จะเกิดความร้อนใจขึ้นมา 

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเห็นอะไรที่ถูกใจ หรือไม่ถูกใจก็ตาม ถ้าเรามีสติ มีปัญญา มีแสงสว่างแห่งธรรม คอยกำกับใจอยู่ ก็จะสอนใจไม่ให้ไปโกรธ ไม่ให้ไปยุ่งกับเขา  ชีวิตของเขาไม่ใช่ชีวิตของเรา  เขาจะทำดีมันก็เป็นความดีของเขา  เขาจะทำความชั่ว มันก็เป็นความชั่วของเขา เราไม่ต้องไปยินดียินร้ายกับการกระทำของเขา  ถ้าทำได้ ใจของเราจะเป็นอุเบกขา  เป็นกลางวางเฉย ใครดีเราก็อนุโมทนาด้วย ใครไม่ดีเราก็กรวดน้ำให้เขาไป  สงสารเขา อย่าไปโกรธเขา  เพราะอะไร  เพราะเรารู้ว่า คนที่ทำไม่ดี ไม่ช้าก็เร็ว ผลของการกระทำไม่ดีของเขา  ย่อมตามมาอย่างแน่นอน ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง  เช่นเดียวกับผลของการกระทำความดี เราก็ไม่ต้องไปเชียร์เขา ไม่ต้องไปอยากให้เขาได้ดิบได้ดีทันทีทันใด เพราะไม่ช้าก็เร็ว ผลของการกระทำความดีของเขา ก็จะตามมาอย่างแน่นอน มันเป็นธรรมชาติ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่างที่เวลา  ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง  แต่ผลอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้ทันที ก็คือผลที่เกิดขึ้นในใจ เวลาทำความดีใจจะมีความสุข  ถึงแม้จะไม่มีใครเห็นก็ตาม เหมือนปิดทองหลังพระ  เราทำความดี  แต่ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครมาสรรเสริญเยินยอยกย่อง ไม่มีใครให้รางวี่รางวัลกับเรา ก็ไม่เห็นแปลกอะไร เพราะใจของเรามีความสุขแล้ว  ทำไปแล้วเกิดความสุขขึ้นมา นี่เป็นผลที่เกิดขึ้นทันที อะยัมพะทันตา เห็นทันทีทันใด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ต้องรอถึงภพหน้าชาติหน้า นี่เป็นผลแรกที่จะได้รับจากการกระทำความดี ส่วนผลอย่างอื่นนั้น ทีหลังก็จะตามมาเอง ถ้าทำดีไปเรื่อยๆ ไม่ช้าก็เร็ว สวรรค์หรือเทวดาหรือมนุษย์หรือคนที่มีดวงตา ย่อมเห็นการกระทำความดีของเรา และในที่สุด ความสรรเสริญ หรือลาภสักการะทั้งหลาย ก็จะตามมาเอง

แต่คุณค่าของสิ่งเหล่านี้นั้น เทียบไม่ได้กับความสุขที่เกิดขึ้นภายในใจของเรา เพราะความสุขในใจ ทำให้เกิดความอิ่ม เกิดความพอ เมื่อเกิดความอิ่ม เกิดความพอแล้ว ก็ไม่หิวกับลาภสักการะทั้งหลาย ใครจะให้อะไรมา ใครจะสรรเสริญเยินยอ ก็ไม่เห็นสำคัญอะไร หรือไม่ให้อะไร ไม่สรรเสริญ หรือจะตำหนิ  จะประณาม ก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไร  ถ้าสิ่งที่เขาตำหนิ สิ่งที่เขาประณาม ไม่เป็นความจริงเสียอย่าง ถ้าเราไม่ได้ทำสิ่งที่เขาตำหนิ สิ่งที่เขาประณาม เราจะไปเดือดร้อนทำไม เหมือนกับเขาบอกว่าเราเป็นสุนัข  แต่เราไม่ได้เป็นสุนัข  เราจะไปเดือดร้อนทำไม เราไปห้ามปากเขาได้หรือเปล่า เราไปห้ามเขาไม่ได้  เขาจะว่าเราเป็นสุนัข เป็นวัว เป็นควาย มันก็เป็นสิทธิของเขา  แต่มันเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องรู้จักว่าอะไรเป็นอะไร รู้จักความจริง ต้องแยกแยะได้ ความจริงจากความเท็จ ถ้าเราเป็นมนุษย์ แล้วเขาจะมาว่าเราเป็นสุนัข มาเสกมาเป่าให้เราเป็นสุนัขได้อย่างไร นอกจากเราโง่เองต่างหาก เมื่อเราโง่นั่นแหละ เวลาเขาว่าเราเป็นสุนัข แล้วเราก็โกรธขึ้นมา เห่ากลับไป นั่นแหละเราเป็นสุนัขขึ้นมาแล้ว ทั้งๆที่ร่างกายของเรายังเป็นมนุษย์อยู่ แต่เพราะความโกรธนี้แหละ ที่ทำให้เรากลายเป็นสุนัขไป

มนุษย์หรือคนดีย่อมไม่โกรธ  ย่อมรักษาจิตให้เป็นปกติได้  ไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางการสรรเสริญเยินยอ หรือการตำหนิติเตียน เพราะถือว่าเป็นโลกธรรม  ไม่ว่าใครก็ตามที่เกิดมาในโลกนี้แล้ว ย่อมจะต้องสัมผัสด้วยกันทุกคน ตั้งแต่พระอรหันต์ลงมาจนถึงปุถุชนธรรมดา และสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย  ต้องสัมผัสกับสรรเสริญและนินทาเป็นธรรมดา  แต่อยู่ที่ใจของแต่ละบุคคล ที่จะปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร ผู้ที่ฉลาดอย่างพระพุทธเจ้าพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านก็ทำใจของท่านเป็นปกติ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย เพราะว่าใจของท่านนั้นอิ่มแล้ว เต็มแล้ว ถ้าเป็นน้ำในแก้วก็เต็มแล้ว  จะเทน้ำเข้าไปอีก ก็จะล้นออกมา จะไหลออกมา ใจของท่านอยู่เหนือสรรเสริญและนินทาแล้ว ใจไม่ซึมซาบ ไม่รับทั้งสองอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสรรเสริญหรือนินทา เปรียบเหมือนกับหยดน้ำบนใบบัว จะกลิ้งไปกลิ้งมา จะไม่ซึมซับเข้าไปในใบบัว

ต่างกับใจของปุถุชน  ซึ่งเปรียบเหมือนกระดาษซับกระดาษซึม  เวลาหยดน้ำลงไปบนกระดาษซับกระดาษซึม น้ำก็จะซึมเข้าไปในกระดาษเลย  ใจของปุถุชนเวลาได้สัมผัสกับสรรเสริญ  ก็จะมีอาการดีอกดีใจทั้งที่ตนเองไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูดเลย  เขาชมเราสวยอย่างกับนางงามจักรวาล แค่นี้ก็ยิ้มแป้นไปแล้ว ทั้งๆที่เราไม่ได้เป็นนางงามจักรวาลสักหน่อย และชาตินี้ทั้งชาติก็คงจะไม่ได้เป็น  แต่ถ้ามีใครมาพูดอย่างนั้น  ก็เกิดความดีอกดีใจขึ้นมา  ในขณะเดียวกัน  ถ้าเกิดใครมาตำหนิ  มาว่าเรา ว่าหน้าตาเหมือนกับวัว เหมือนกับควาย เราก็เกิดความโกรธแค้นโกรธเคืองขึ้นมา ทั้งๆที่เราก็ไม่ได้เป็นวัวเป็นควายแต่อย่างไร แต่เพราะความหลงของเรานั่นเอง การไม่มีสติไม่มีปัญญา ไม่สามารถแยกแยะเสียงคำพูดของคน  ว่าเป็นคำพูดเฉยๆ  คำพูดไม่ใช่เป็นความจริง คำพูดจะมาเสกให้ความจริงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้  จะมาทำให้ก้อนกรวดก้อนทราย กลายเป็นเพชรนิลจินดาขึ้นมาไม่ได้ เราจึงไม่ควรไปวิตก ไม่ควรไปกังวล ไม่ควรไปยินดียินร้ายกับคำพูดของคนอื่น  เขาจะสรรเสริญมันก็ปากของเขา เขาจะตำหนิมันก็ปากของเขา แต่เราควรฟังด้วยปัญญา คือควรพิจารณาดูว่าสิ่งที่เขาพูดนั้น เท็จจริงอย่างไร  ถ้าเป็นความจริง เราก็บอกว่า เออคนนี้เขาพูดดี  มีเหตุมีผล  เป็นความจริง  เราควรแก้ไข ถ้าเป็นสิ่งที่บกพร่อง  ถ้าฟังแบบนี้  ก็จะได้รับคุณ  ได้รับประโยชน์ แต่ถ้าฟังแบบใช้อารมณ์  ดีอกดีใจหรือโกรธแค้นโกรธเคืองขึ้นมา อย่างนี้เป็นความคิดที่ผิด เป็นความคิดที่จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา

เราจึงต้องใช้ปัญญาตลอดเวลา ถ้าไม่มีปัญญา ก็ต้องศึกษาจากผู้อื่น ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม  ด้วยการอ่านหนังสือธรรมะ  ดังที่ท่านทั้งหลายได้มากระทำกันในวันนี้  นี่คือการเสริมสร้างปัญญาขึ้นมา  และเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ก็อย่าลืม  ต้องเอาไปคิดต่อ ต้องเอาไปใคร่ครวญต่อ พินิจพิจารณาต่อ  เหมือนกับท่องสูตรคูณ  ถ้าไม่ท่อง ทิ้งไว้สักพักหนึ่ง  ก็ลืมได้ การฟังเทศน์ฟังธรรม  เรื่องราวต่างๆที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้  ถ้าไม่เอาไปคิดต่อ  เดี๋ยวก็ลืมได้  พอลืมแล้ว เวลาใครสรรเสริญ  ก็จะดีอกดีใจ   เวลาใครด่า  ก็จะโกรธแค้นโกรธเคืองขึ้นมา แต่ถ้าเอาไปคิด  เอาไปเตือนตนอยู่เสมอๆว่า  ต่อไปนี้ใครจะชม  ก็ต้องวางเฉย   ใครจะด่า  ก็ต้องวางเฉย เพราะห้ามเขาไม่ได้  ปากของเขา  แต่เราห้ามใจของเราได้  ห้ามไม่ให้ดีอกดีใจได้  ห้ามไม่ให้โกรธแค้นโกรธเคืองได้  ต้องมีสติไว้คอยเตือนใจอยู่เสมอ  ถ้าคอยเตือนคอยสอนอยู่เสมอแล้ว ต่อไปใจจะไม่เดือดร้อนกับคำพูดของใครทั้งสิ้น ใครจะพูดยังไง  มันก็เรื่องของเขา แต่ใจของเราจะอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้  จึงขอฝากเรื่องราวของการเข้าวัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อฟังเทศน์ฟังธรรม ให้เกิดปัญญาความรู้ความฉลาด  ที่จะได้นำเอาไปปฏิบัติ ให้คิดดี พูดดี ทำดี   ละความคิดที่ไม่ดี  การพูดที่ไม่ดี  การกระทำที่ไม่ดี  เมื่อได้ทำอย่างนี้แล้ว ชีวิตของเราก็จะดำเนินไปในทิศทางที่ดี  สู่ความสุขความเจริญอย่างแท้จริง  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้