กัณฑ์ที่
๑๒๒
เข็นครกขึ้นภูเขา
วันนี้เป็นวันพระ
วันธรรมสวนะ วันฟังธรรม
เป็นวันประกอบคุณงามความดี
ท่านทั้งหลายผู้มีศรัทธาและปัญญา
ผู้รู้ถึงเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญอย่างแท้จริง
จึงได้เดินทางมาที่วัดเพื่อสร้างเหตุนั้นๆให้มีผลเกิดขึ้นมา
ด้วยการบูชาพระรัตนตรัย
ตักบาตร ถวายทาน
สมาทานศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม
และถ้ามีเวลาว่างเมื่อกลับไปที่บ้านก็จะปฏิบัติธรรมต่อ
นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา
นี่คือเหตุของความสุขและความเจริญ
เป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะทำให้กับใครได้
เป็นสิ่งที่ทุกๆคนจะต้องทำด้วยตัวของตัวเอง เหมือนกับการรับประทานอาหาร
ไม่มีใครจะรับประทานอาหารให้เราได้
เราต้องเป็นคนรับประทานอาหารเอง
และเมื่อเรารับประทานอาหารแล้ว
ความอิ่มย่อมตามมา
ความอิ่มนี้ก็ไม่ใช่เป็นของใคร
เป็นของคนที่รับประทานอาหารนั้นแหละ
คนอื่นจะมาอิ่มแทนไม่ได้
ฉันใดความสุขและความเจริญของเรา
ก็เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างกันขึ้นมา
ต้องทำกันขึ้นมา
ไม่มีใครจะมอบให้กับเราได้
นอกจากวัตถุข้าวของต่างๆ
ซึ่งหาเป็นความสุขความเจริญไม่
เขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้น
เขาเป็นวัตถุ
ไม่มีความเจริญในตัวของเขา
ความเจริญนั้นอยู่ในใจคน
อยู่ในใจของสัตว์โลกทั้งหลาย
ผู้ใดมีคุณธรรมความดีงามอยู่ในใจ
ผู้นั้นจึงจะเป็นผู้เจริญ
ผู้ใดไม่มีคุณธรรมที่ดีงามอยู่ในใจ
ผู้นั้นจะหาความเจริญไม่ได้
ถึงแม้จะมีฐานะร่ำรวย
มีฐานะสูงส่ง
เป็นถึงพระราชามหากษัตริย์
เป็นประธานาธิบดี
เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี
หรือเป็นนายพลนายพันก็ตาม
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเครื่องวัดความเจริญของมนุษย์
ไม่ใช่เป็นเครื่องวัดความประเสริฐของคน
ความประเสริฐ
หรือความเจริญของคนนั้นอยู่ที่คุณธรรมความดี
เช่นความกตัญญูกตเวที
มีสัมมาคารวะ มีความเมตตาโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
รู้จักให้อภัย อย่างนี้เป็นต้น
เรียกว่าคุณงามความดี
คุณงามความดีนี้แลเป็นเหตุที่จะทำให้บุคคลเป็นผู้ดี
เป็นผู้ประเสริฐ
ความประเสริฐของคนไม่ได้อยู่ที่ชื่อ
บางคนเกิดมาพ่อแม่ตั้งชื่อให้
ต่อมามีความรู้สึกว่าไม่ค่อยเจริญ
เลยไปหาหมอดู หมอดูบอกว่าต้องเปลี่ยนชื่อถึงจะเจริญ
เลยต้องใช้ชื่อใหม่
แต่ชื่อมันไม่ทำให้คนเจริญหรอก คนเราที่ชื่อดีๆ
อยู่ในคุกในตะรางก็มีตั้งเยอะแยะไป
นายบุญ นายวาสนา
อยู่ในคุกก็มี ถูกโทษประหารชีวิตก็มี
มันไม่ได้อยู่ที่ชื่อ
ชื่อเป็นเพียงสมมุติเท่านั้นเอง
สมมุติว่าเป็นอย่างนั้น
สมมุติว่าเป็นอย่างนี้
แต่ความเป็นจริงจะเป็นหรือไม่เป็นนั้น
อยู่ที่คุณสมบัติในตัวของเราต่างหาก
เช่นเขาจะมาสมมุติว่าเราเป็นเดรัจฉาน
เป็นสุนัข เป็นโค
เป็นกระบือ
แต่ถ้าเราไม่ได้มีคุณสมบัติของเดรัจฉาน
ของโค
ของกระบืออยู่ในใจของเรา
ต่อให้เขาเสกเขาเป่าอย่างไร
เขาก็ไม่สามารถทำให้เราเป็นสุนัข
เป็นโค เป็นกระบือได้ แต่ถ้าเรามีคุณสมบัติของเดรัจฉานอยู่ในใจของเรา
เขาไม่ต้องมาเสกมาเป่ามาว่าเราว่าเราเป็นสุนัข
เป็นโค เป็นกระบือ
เราก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว
เพราะเป็นความจริง
คุณสมบัติที่ทำให้สัตว์เป็นเดรัจฉาน
เป็นโค เป็นกระบือ
เป็นสุนัขก็คือการไม่มีศีลธรรมนั่นเอง
คือถ้ายังฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี
โกหกหลอกลวงอยู่
ต่อให้ใครมาตั้งให้เป็นเจ้าฟ้าเจ้าคุณ
ก็จะไม่ลบล้างความเป็นเดรัจฉานที่มีอยู่ในใจได้
การที่จะลบล้างความเป็นเดรัจฉานได้
จะต้องลบล้างเหตุที่สร้างความเป็นเดรัจฉานให้เกิดขึ้น
เหตุของความเป็นเดรัจฉานก็อย่างที่ได้แสดงไว้แล้ว
คือการไม่มีศีลธรรมนั่นเอง
ถ้ายังฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี
โกหกหลอกลวงอยู่
ก็ยังถือว่าเป็นเดรัจฉานอยู่
เพราะนี่คือเหตุที่ทำให้จิตของสัตว์โลกเป็นเดรัจฉาน
ไม่ใช่ชื่อเสียงเรียงนามที่ทำให้คนเราเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
เราจึงควรให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาให้เกิดมีคุณธรรมอันดีงามในใจของเรา
เพราะถ้ามีคุณธรรมที่ดีงามในใจแล้ว
จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ
ความประเสริฐเลิศโลกอย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ท่านเป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระอรหันตสาวก
ไม่ใช่เพราะท่านสมมุติตัวของท่านขึ้นมาเอง
ว่าท่านเป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระอรหันตสาวก
แต่เป็นผลที่เกิดจากความประพฤติที่ดีงามของท่านต่างหาก
ท่านไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ตั้งตนอยู่ในความดีงาม
มีสัมมาคารวะ
มีความกตัญญูกตเวที
มีความเมตตากรุณา
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
โอบอ้อมอารี มีมุทิตาจิต
มีอุเบกขา ซึ่งเป็นคุณธรรมที่จะส่งเสริมให้เป็นคนดี
เป็นผู้ประเสริฐ
เมื่อเป็นผู้ที่ประเสริฐแล้ว
ไปอยู่ที่ไหนย่อมสร้างแต่ประโยชน์
ย่อมสร้างแต่คุณ ย่อมเป็นบุคคลที่ทุกๆคนอยากจะเข้าใกล้
มีแต่คนสรรเสริญเยินยอ
ชื่นชมยินดี อันเกิดจากคุณสมบัติที่มีอยู่ในใจของบุคคลนั้นนั่นเอง
เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ถึงแม้ท่านจะได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปเป็นเวลายาวนานถึง
๒๕๐๐ กว่าปีแล้วก็ตาม
แต่คุณงามความดีของท่านยังปรากฏอยู่ในใจของพวกเรา
เวลาได้เห็นพระพุทธรูปก็อดที่จะกราบไหว้บูชาไม่ได้
นี่แหละคือพลังหรืออำนาจของคุณงามความดี
ซึ่งมีแต่จะให้คุณให้ประโยชน์
ให้ความสุข
เพราะเปรียบเหมือนกับน้ำเย็น
น้ำเย็นเวลารับประทานเข้าไปก็จะทำให้ร่างกายมีความสดชื่นเบิกบาน
ไม่เหมือนกับไฟซึ่งเปรียบเหมือนกับความชั่ว
เวลาทำความชั่วเข้าไปแล้ว
เปรียบเหมือนกับอมถ่านหินก้อนร้อนๆ
เข้าไปในร่างกาย
ที่จะสร้างแต่ความเจ็บปวดรวดร้าวให้กับร่างกาย
เวลาทำความชั่ว ทำไม่ดี
ทำบาป ใจจะมีความร้อนรน
มีแต่ความทุกข์
มีแต่ความกังวลใจ
แต่ถ้าทำแต่ความดี
ใจจะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข เช่นเวลาที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น
ได้ทำบุญให้ทาน
เสียสละทรัพย์ เสียสละเวลา
เสียสละความสุขให้กับผู้อื่น
เราจะเกิดความรู้สึกอิ่มเอิบใจ
มีความปีติ มีความสบายใจ
เพราะนี่เป็นธรรมชาติของความดีกับใจ
เหมือนกับน้ำกับต้นไม้
ถ้าต้นไม้ได้น้ำอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ต้นไม้ก็จะมีความชุ่มชื้นมีความเจริญงอกงาม
ในทางตรงกันข้าม
ธรรมชาติของไฟหรือความชั่วก็เปรียบเหมือนกับไฟ
ถ้าไปถูกกับต้นไม้
ก็จะเผาให้ต้นไม้ไหม้สูญสลายหายไป
กลายเป็นขี้เถ้าไปได้
ฉันใดความชั่วหรือบาปกรรมกับใจ
ก็เป็นเหมือนไฟกับต้นไม้
เวลาเราทำความชั่ว
ทำบาป เช่นเบียดเบียนผู้อื่น
โกหกหลอกลวงผู้อื่น โกงผู้อื่น
ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น
ประพฤติผิดประเวณี ผิดสามี
ผิดภรรยา ผิดลูกของผู้อื่น
เราจะมีความวุ่นวายใจตามมา ในเบื้องต้นเราอาจจะมีความสุข
ในขณะที่ได้เสพหรือได้กระทำในสิ่งนั้นๆ
เพราะว่าในขณะนั้นจิตกำลังเมามัน
กำลังมีความหลงครอบงำอยู่
เลยทำไม่ให้เห็นความทุกข์ที่จะตามมาต่อไปภายหลัง
แต่หลังจากที่ได้กระทำบาปนั้นแล้ว
เมื่อจิตสงบตัวลง
เราจะเริ่มมีความสำนึกผิดขึ้นมา
จะเกิดความไม่สบายอกไม่สบายใจขึ้นมา
มีความทุกข์ตามมา
ซึ่งเป็นผลที่ปรากฏขึ้นมาที่เห็นได้ทันทีทันใดในใจของเราทุกๆคน
ทำดีใจย่อมเย็นใจย่อมมีความสุข
ทำชั่วใจย่อมร้อนใจย่อมมีความทุกข์
นอกจากนั้นแล้วยังมีผลที่ตามมาจากภายนอกอีก
เวลาไปทำบาปทำกรรม
ก็จะต้องถูกเขาคอยจองล้างจองผลาญ
จองเวรจองกรรม จะต้องถูกเขามาเอาคืนไป
เราทำเขาอย่างไร
เขาก็จะต้องกลับมาทำเราอย่างนั้น
ถ้าให้ความสุขกับเขา
เขาก็จะให้ความสุขกับเรา ถ้าให้ความทุกข์กับเขา
เขาก็ต้องให้ความทุกข์กับเรา
นี่คือสิ่งที่จะตามมา
แต่สิ่งนี้อาจจะมาช้ามาเร็วก็ได้
ไม่แน่นอน
ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน
แต่จะต้องมาแน่นอน
ไม่ช้าก็เร็ว ถ้าไม่มาในชาตินี้ก็จะตามมาในชาติหน้า
เช่นเดียวกับสิ่งที่เราทำไว้ในชาตินี้
ไม่ว่าดีหรือชั่วก็ตาม
จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย
ที่จะส่งให้เราไปเกิดในชาติหน้าต่อไป
จะไปที่สูงหรือต่ำ ไปสู่สุคติหรือทุคติ
ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราในชาตินี้
ถ้าทำแต่บุญกุศล
ทำแต่คุณงามความดี
ถึงแม้ผลของความดียังไม่ปรากฏขึ้นมาในชาตินี้
ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย
ที่จะส่งให้ไปเกิดในชาติหน้า
ในภพชาติที่ดีต่อไป
ไปเกิดเป็นมนุษย์
เป็นเทวดา เป็นพรหม
เป็นพระอริยบุคคล
นี่คือที่ไปของผู้ที่กระทำความดี
ทำบุญทำกุศล ในทางตรงกันข้าม
ถ้ากระทำแต่บาปแต่กรรม
เบียดเบียนผู้อื่น
สร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่น
กลั่นแกล้งผู้อื่นด้วยวิธีการต่างๆ
เมื่อตายไป
เหตุปัจจัยของบาปของกรรม
ก็จะส่งให้ไปเกิดในทุคติ
เกิดในอบาย ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน
เป็นเปรต เป็นอสุรกาย
และเป็นสัตว์นรก
นี่แหละคือเรื่องชีวิตจิตใจของเรา
ไม่มีใครเป็นผู้สร้างสวรรค์สร้างนรกให้กับเรา
ไม่มีใครสามารถจะเสกจะเป่าให้เราเป็นพระอริยบุคคล
เป็นเดรัจฉานได้
เราเท่านั้นแหละที่จะเป็นผู้เสกผู้เป่า
ให้เป็นเดรัจฉาน เป็นเทวดา
เป็นสัตว์นรก
เกิดจากการกระทำของเราในปัจจุบันชาตินี้
ทางกาย วาจา ใจ ทางใจก็คือความคิด
ในเบื้องต้นใจจะต้องเป็นผู้คิดก่อน
เมื่อคิดแล้วถึงจะสั่งงานไปสู่วาจาและกายต่อไป
อย่างวันนี้ที่ท่านมาที่วัดนี้ได้
ในเบื้องต้นใจท่านจะต้องคิดเสียก่อน
ว่าพรุ่งนี้เป็นวันพระ
ควรจะไปทำบุญทำทานเสียบ้าง
ก็เลยสั่งการไปที่วาจา
ไปที่เพื่อนญาติสนิทมิตรสหาย
ชวนกันไปว่า
พรุ่งนี้เราไปทำบุญที่วัดกันไหม
และเมื่อเขาได้ยินได้ฟังแล้ว
เขาก็ตอบตกลงว่า
เออไปที่วัดไปทำบุญกันก็ดี
ไม่ได้ทำมาเสียตั้งนาน
มัวแต่ทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
เลี้ยงกิเลสตัณหาความอยากทั้งหลาย
จนลืมใจของเราไป
ทำให้ต้องไปพัวพันกับสิ่งต่างๆที่ไม่ดีไม่งาม
ฉุดลากให้ลงไปสู่ที่ต่ำ
พรุ่งนี้ไปวัดกันสักวันก็ดี
เพื่อจะได้ไปชำระกิเลสตัณหา
ชำระสิ่งสกปรกเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย
ที่มีอยู่ในใจ
เพื่อใจจะได้มีความสดชื่นเบิกบาน
หลังจากใจได้สั่งการไปแล้ว
วาจากับการกระทำทางกายก็จะตามมา
ก็จะมีการเตรียมข้าวของต่างๆ
เตรียมตัวเตรียมใจตั้งสติไว้ว่า
พรุ่งนี้เช้าต้องตื่นเช้าๆ
ตั้งนาฬิกาปลุกไว้
ถ้าเป็นคนที่มีความแน่วแน่มั่นคงต่อความคิดของตนแล้ว
เมื่อถึงเวลาที่จะตื่นก็จะลุกขึ้นมา
ไม่ว่าจะมีอะไรมาทำให้ไม่อยากจะตื่น
เช่นเมื่อคืนนี้อาจจะออกไปข้างนอกดึกไปหน่อย
นอนดึกไปหน่อย แต่เมื่อได้ตั้งใจไว้อย่างแน่วแน่แล้วว่าจะมาวัดให้ได้
ก็ต้องโงหัวขึ้นมาให้ได้
ตะเกียกตะกายขึ้นมาให้ได้
ไม่ปล่อยให้ความง่วงเหงาหาวนอนมาทำลายเจตนาที่ดีได้
ต้องพยายามทำให้ได้
เพราะรู้ว่าเราเท่านั้นแหละเป็นผู้ที่จะทำให้เราดีได้
ทำให้เราสุข ให้เราเจริญได้
และการที่จะทำได้
ก็ต้องมีความอดทน มีความขยัน
ต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ
ที่คอยขวางหน้า
เพราะการทำดี การทำบุญนั้น
เปรียบเหมือนกับเข็นครกขึ้นภูเขา
ไม่ใช่เป็นของง่าย
เพราะอะไรถึงเปรียบเหมือนกับเข็นครกขึ้นภูเขา
เพราะว่าโดยปกติใจของพวกเรานั้น
มีนิสัยที่ชอบไปในทางที่ไม่ดี
คือตรงกันข้ามกับความดีนั่นเอง
ดังนั้นเวลาจะต้องทำอะไรที่ฝืนนิสัยของเรา
จึงเปรียบเหมือนกับการเข็นครกขึ้นภูเขา
มันยาก ต้องใช้พลัง ใช้กำลัง
ใช้ความอดทน
ใช้ความพยายามอย่างมาก
ถึงจะสามารถเข็นครกขึ้นภูเขาได้
แต่ถ้าพยายามทำไปเรื่อยๆจนกลายเป็นนิสัยแล้ว การกระทำความดีต่อไป
ก็จะเปรียบเหมือนกับการเดินลงเขา
ถ้าได้เข็นครกขึ้นไปถึงยอดเขาแล้ว
ก็ไม่มีที่จะสูงกว่ายอดแล้ว
มีแต่การเดินลง มันก็สบาย
เพระฉะนั้นการที่จะทำความดีในเบื้องต้น
จึงรู้สึกยากลำบาก
เพราะว่าถ้าทำความดีได้ง่ายแล้ว
เราคงจะไม่ต้องมาเกิด
มาทรมาน
อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
เพราะจะเป็นคนที่มีบุญมีกุศล
ได้ทำบุญมามาก
ซึ่งเป็นส่วนน้อย
ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนที่ทำบุญมาไม่ค่อยมาก จึงมีความรู้สึกว่าการทำความดี
ทำบุญนั้น เป็นสิ่งที่ยาก
ที่พูดนี้หมายถึงคนส่วนใหญ่
แต่ก็มีคนที่ได้ทำบุญมามากแล้วเหมือนกัน
ซึ่งเป็นส่วนน้อย
การทำบุญของเขาจึงเป็นเรื่องปกติ
วันไหนถ้าเขาไม่ได้ทำความดี
เขาจะรู้สึกว่าขาดอะไรไปสักอย่าง
นี่คือลักษณะของคนที่ได้ทำบุญมามากแล้ว
ในทางตรงกันข้าม
สำหรับคนที่ยังทำความดี
ทำบุญมาไม่มากพอ
ถ้าวันไหนเขาไม่ได้ทำความชั่ว
ทำบาปแล้ว
เขาจะรู้สึกว่าไม่ปกติ
ถ้าวันไหนไม่ได้กินเหล้า
ไม่ได้โกหกหลอกลวง
ไม่ได้โกงคนอื่น
เขาจะมีความรู้สึกว่าไม่ปกติ
รู้สึกว่าไม่สบายใจ
นี่คือเรื่องใจของแต่ละคน
ใจที่ดีและใจที่ไม่ดี
จะมีลักษณะต่างกัน
จึงสรุปได้ว่า ใจที่ดีนั้น
ทำความดีง่าย
ทำความชั่วยาก
ใจที่ไม่ดีนั้น ทำความดียาก
แต่ทำความชั่วง่าย
ขอให้สังเกตดูใจของเราว่าเป็นลักษณะไหน
ถ้าเป็นลักษณะที่ทำความดียาก
ทำความชั่วง่าย
ก็ขอให้ระมัดระวัง
บอกตัวเราว่า
กำลังเข้าขีดแดง
คือใกล้นรกเข้าไป
ใกล้ความเป็นเดรัจฉาน
เป็นเปรต เป็นอสุรกายเข้าไป
ควรขวนขวายเข้าหาคุณงามความดีให้มาก
เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเกิดในที่ไม่ดี
มีใครอยากจะเกิดเป็นเดรัจฉานบ้าง
มีใครอยากจะเป็นเปรต
เป็นอสุรกาย
เป็นสัตว์นรกบ้าง
ไม่มีใครหรอก
ทุกๆคนก็อยากจะเป็นมนุษย์
เป็นเทพ เป็นพรหม
เป็นพระอริยบุคคลกันทั้งนั้น
แต่ความอยากเฉยๆนั้น
ไม่เป็นเหตุที่จะนำพามาซึ่งผล
ที่เราปรารถนา
ที่เราต้องการกัน
ผลที่เราปรารถนานั้น
ต้องเกิดจากเหตุ คือการกระทำของเรา เริ่มต้นที่ความคิด
เพราะก่อนที่เราจะพูดหรือกระทำอะไร
เราต้องคิดเสียก่อน ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว
ใจเป็นผู้สั่งการ
กายเป็นผู้รับคำสั่ง
ใจเป็นเจ้านาย
กายเป็นผู้รับใช้
เราจึงต้องอบรมใจให้คิดไปในทางที่ดี
ให้รู้จักผิดถูกดีชั่ว
เราจึงต้องเข้าหาพระศาสนา
เพราะไม่มีใครจะรู้เรื่องของบาปบุญคุณโทษ
เรื่องนรกเรื่องสวรรค์
เรื่องดีเรื่องชั่ว
ได้ดีเท่ากับพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
และไม่มีที่ไหนที่จะมีพระพุทธเจ้า
มีพระอรหันตสาวกอยู่
นอกจากในพระพุทธศาสนา
คือตามวัดวาอารามต่างๆ
เราจึงต้องมาวัดกัน
อย่างวันนี้เป็นวันธรรมสวนะ
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดไว้
เพื่อเป็นอุบายที่จะดึงให้พวกเรา
ได้เข้ามาฟังเทศน์ฟังธรรม
มาอบรมบ่มนิสัย
มาฟังเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ
นรก สวรรค์ จะได้รู้จักแยกแยะ ว่าอะไรคือนรก ถ้ารู้ว่าการกระทำนี้เป็นเหตุที่จะนำไปสู่นรก
ก็จะได้หลีกเลี่ยงเสีย
ไม่กระทำ ถ้ารู้ว่าการกระทำนี้เป็นเหตุที่จะนำไปสู่สวรรค์
ไปสู่ความสุขความเจริญ
เราจะได้ทำให้มากๆ
ขอให้มองผลในระยะยาว
อย่าเอาแต่ผลในระยะสั้น
คนบางคนชอบดูแต่ผลในระยะสั้น
คือทำอะไรขอให้ทำได้ดังใจ
ทำแล้วมีความสุขก็จะทำอย่างนั้น
โดยไม่คิดว่า
ผลระยะยาวที่จะตามมาภายหลังจะเป็นอย่างไร
เช่นเวลาอยากจะดื่มสุราขึ้นมา
ก็หามาดื่ม
โดยไม่คิดเสียก่อนว่าผลที่จะตามมาต่อไปในระยะยาวจะเป็นอย่างไร
จริงอยู่ในขณะที่ดื่มสุรา
ในขณะที่มีความอยาก
จะรู้สึกมีความสุข
เพราะดับความอยากได้ชั่วขณะหนึ่ง
แต่เป็นการดับไฟโดยเทน้ำมันเข้าไปในกองไฟ
เวลาเทน้ำมันเข้าไปในกองไฟ
ไฟก็ทำท่าจะดับลง
เพราะว่าน้ำมันยังไม่ได้ไหม้
ยังเป็นเหมือนน้ำอยู่
คล้ายๆไปช่วยดับไฟให้สงบตัวลงสักระยะหนึ่ง แต่พอน้ำมันเริ่มร้อนขึ้นมา
ไฟก็จะปะทุขึ้นมา
ทำให้ร้อนยิ่งกว่าตอนก่อนที่เทน้ำมันลงไปในกองไฟเสียอีก
ฉันใดก็ฉันนั้น
เวลาที่อยากเสพสุรา
แล้วได้เสพ
ในเบื้องต้นจะรู้สึกสบาย
โล่งอก
เพราะความอยากได้สงบตัวลงไป
แต่ต่อมาความอยากกลับจะเพิ่มทวีคูณขึ้นมา
ทำให้ต้องเสพสุรามากขึ้นไปเรื่อยๆ
ตอนต้นก็เสพวันละแก้วสองแก้ว
ต่อไปก็กลายเป็นวันละครึ่งขวด
ต่อไปก็กลายเป็นวันละขวด
นี่คือโทษของการเสพสุรายาเมาในระยะยาวที่จะตามมาต่อไป
ความสุขที่ได้ในเบื้องต้นนั้น
ไม่คุ้มค่ากับความทุกข์ความหายนะที่จะตามมาต่อไปในบั้นปลาย
คนที่เสพสุรายาเมาเป็นอาจิณ
จะมีสุขภาพไม่ดี
และจะต้องตายไปก่อนวัยอันควร
นี่คือผลที่เกิดจากการเสพสุรายาเมา
ไม่นับกับผลอย่างอื่นที่จะตามมาอีกมากมาย
เช่นเวลาเสพสุรายาเมาเข้าไปแล้ว
ก็จะไม่มีสติประคับประคองใจ
ใจคิดอะไรก็จะพูดออกมา
จะทำออกมา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นความคิดที่ไม่ดี
เวลาคิดไม่ดี พูดไม่ดี
ทำไม่ดี คนที่ต้องได้ยินได้ฟัง
ต้องรับผลจากการกระทำของคนนั้น
ก็จะต้องเดือดร้อนกันทั่วไปหมด
คนที่เสพสุรายาเมาจึงเป็นคนที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะเข้าใกล้
เป็นคนที่สังคมรังเกียจ
ทั้งๆที่สังคมเองก็ใช้สุราเป็นเครื่องเข้าหากัน
แต่เมื่อเกินความพอดี
เสพไปจนกระทั่งกลายเป็นสุรากินคน
ไม่ใช่คนกินสุรา
คนก็เลยไม่ใช่คนไป
เป็นเดรัจฉานไป
สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น
นี่ก็คือโทษของการเสพสุรา
ที่ผู้เสพไม่ได้คิดถึงโทษที่จะตามมาภายหลัง
คิดเพียงแต่ในระยะสั้นๆ
ว่ากินเข้าไปแล้วมันสนุก
มันสบาย แต่ไม่คิดถึงผลร้ายผลเสียที่จะตามมาต่อไป
เวลาที่จะทำอะไร
จึงขอให้คิดให้ดีเสียก่อนว่า
ความสุขที่ได้กับความทุกข์ที่จะตามมานั้น
คุ้มกันไหม จะเอาอย่างไหน จะเอาทุกข์เบื้องต้นแล้วสุขในบั้นปลาย หรือจะเอาสุขเบื้องต้นแล้วทุกข์ในบั้นปลาย
มีอยู่ ๒ อย่าง อย่างเวลาเราทำความดีนี้เหมือนกับเป็นความทุกข์ อย่างเมื่อเช้านี้กว่าจะตะเกียกตะกายตื่นขึ้นมาได้ก็ลำบากลำบน
แต่เมื่อเอาชนะความเกียจคร้านได้
ใจก็สบาย เพราะความเกียจคร้านไม่สามารถถ่วงความเจริญของเราได้
เวลาจะทำงานทำการ
ทำสิ่งที่ดี
ก็จะทำได้อย่างง่ายดายเพราะไม่มีความเกียจคร้านมาคอยถ่วง
ความเกียจคร้านเปรียบเหมือนกับมีคนขี่คอเราอยู่
คิดดูเวลาเราจะทำงานทำการ
แล้วมีคนมาขี่คอเรา
เราจะทำงานทำการได้สะดวกอย่างไร
แต่ถ้าเราสลัดคนที่ขี่คอออกไปได้
ตัวเราจะเบา เราจะทำอะไร
ก็จะทำได้อย่างสะดวกง่ายดาย
นี่แหละคือลักษณะของความเกียจคร้าน
เป็นเครื่องถ่วงความเจริญของเรา
ถ้าวันนี้เราชนะความเกียจคร้านได้
ในวันพรุ่งนี้การต่อสู้กับความเกียจคร้านก็จะง่ายขึ้น
และก็จะง่ายขึ้นต่อไปเรื่อยๆ
ถ้าเราต่อสู้แบบไม่ยอมแพ้
ในที่สุดจะไม่มีความเกียจคร้านเหลืออยู่เลย
แล้วการที่จะทำอะไรที่ดีที่งาม
ก็จะสะดวก ก็จะง่าย
จึงขอให้พิจารณาให้ดีทุกครั้งก่อนที่จะทำอะไร
ว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นสุขที่แท้จริงหรือเป็นทุกข์ที่แท้จริง
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้