กัณฑ์ที่ ๑๒๓       ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๕

บาปล้างไม่ได้

 

การทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ไหว้พระสวดมนต์  ไม่ใช่เป็นการล้างบาป  บาปเป็นสิ่งที่ล้างไม่ได้ บาปที่ได้ทำไปแล้วย่อมมีผลตามมา ไม่ช้าก็เร็ว  การทำบุญทำทาน การรักษาศีลไม่ใช่เป็นการชำระบาป  แต่เป็นการชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด  จิตใจที่สกปรก มีมลทินแปดเปื้อนด้วยกิเลสตัณหาทั้งหลาย คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ความอยากในกาม ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น เป็นสิ่งที่สร้างความแปดเปื้อน สร้างความเศร้าหมอง สร้างความทุกข์ สร้างความเสื่อมเสียให้กับใจ  ถ้าต้องการความสะอาดหมดจด ก็ต้องชำระสิ่งเหล่านี้ให้หมดไป  แล้วใจจะมีแต่ความสุข มีความอิ่ม มีความพอ  การทำบุญทำกุศลจึงไม่ใช่เป็นการชำระบาป แต่เป็นการชำระใจ  บาปชำระไม่ได้ เพราะเมื่อทำบาปไปแล้ว   ก็มีแต่ผลที่จะตามมา เหมือนกับแก้วที่แตกไปแล้ว เราไม่สามารถที่จะต่อกันให้เป็นเหมือนแก้วใบเดิมได้ มันแตกไปแล้ว มันเสียหายไปแล้ว   ฉันใดการกระทำบาป การกระทำความชั่ว ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี  เมื่อทำไปแล้วมันก็ส่งผลขึ้นมา 

ผลที่ส่งมามีอยู่ ๓ ลักษณะด้วยกัน ๑. ผลที่ปรากฏขึ้นในใจ เมื่อทำไปแล้วก็จะเกิดความไม่สบายอกไม่สบายใจ ๒. ผลที่เกิดจากภายนอก เกิดจากบุคคลอื่นที่จะตอบแทนสิ่งที่เราทำกับเขา เราสร้างความทุกข์ สร้างความเดือดร้อนให้กับเขา ย่อมสร้างความอาฆาตพยาบาท สร้างเวรสร้างกรรมไว้  เมื่อเขามีโอกาส เขาย่อมตอบแทนบาปกรรมที่เราทำไว้กับเขา  การตอบแทนนี้ อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หรือช้านาน ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย  บางอย่างอาจจะไม่เกิดขึ้นในชาตินี้เลย  แต่จะตามไปในภพหน้าชาติหน้า บาปที่เราเคยทำไว้แล้วในอดีต แต่ยังไม่ได้มีโอกาสแสดงผล ก็อาจจะตามมาปรากฏผลขึ้นในชาตินี้ก็เป็นได้  บางครั้งบางคราวเรายังแปลกใจว่า ชีวิตของเรามีแต่ทำแต่ความดี แต่ทำไมเราจึงรับผลกรรมต่างๆนานา ที่เราคิดว่าไม่ได้กระทำไว้เลย  แต่ความจริงแล้วเราเคยทำไว้แล้วในอดีต เพียงแต่ว่าเราจำไม่ได้เท่านั้นเอง  ผลของกรรมทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นในชาตินี้ ถ้าเราไม่ได้สร้างไว้ในชาตินี้ ก็ต้องถือว่าเป็นกรรมเก่า เป็นเวรเก่าที่ได้สร้างไว้ในอดีต  เมื่อถึงเวลา เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม เขาก็แสดงผลของเขาขึ้นมา  นี่แหละคือเรื่องของบาปกรรมและบุญกุศล  เป็นสิ่งที่เราหนีไม่ได้  ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว เป็นหลักตายตัว เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น  ๓. จะเป็นนิสัยไม่ดีติดตัวไป เวลาพูดปดมดเท็จ ลักเล็กขโมยน้อย ฯลฯ  ก็จะติดนิสัยนี้ไป  เวลาที่ต้องไม่พูดปดมดเท็จ ไม่ลักเล็กขโมยน้อย ฯลฯ ก็จะรู้สึกว่ายากลำบาก มันฝืน มันไม่ง่ายเหมือนกับการพูดปดมดเท็จ ไม่ง่ายเหมือนกับการลักเล็กขโมยน้อย ฯลฯ  นั่นเป็นเพราะว่าเวลาทำบาปไปแล้ว ก็จะติดนิสัย ทำให้ง่ายต่อการกระทำบาปในครั้งต่อไป  และทำให้ยากต่อการเลิกกระทำ 

เช่นเดียวกับการกระทำความดีหรือทำบุญ ก็มีผลแบบเดียวกับบาป  เพียงแต่ว่าเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือเป็นผลดี  เวลาทำดีในใจเราก็มีความสุข  เวลาทำดีต่อผู้อื่น  ผู้อื่นย่อมมีความชื่นชมยินดีในตัวเรา   เวลาเห็นเราเดือดร้อน มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือ เขาก็ยินดีที่จะช่วยเหลือเรา  เวลาเราทำความดี มันก็จะเป็นนิสัยติดตัวไป ทำให้ทำความดีได้ง่าย ทำความชั่วได้ยาก  นี่แหละคือเรื่องราวของการกระทำ ทั้งดีและชั่ว ไม่สามารถที่จะไปลบล้างได้  การทำความชั่วในวันนี้ ก็ไม่สามารถไปลบล้างผลของการกระทำความดีในอดีตได้  การกระทำความดีในวันนี้ ก็ไม่สามารถไปลบล้างผลของการกระทำความชั่วในอดีตได้ เพราะเป็นคนละอันกัน  ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ของกันและกัน ทำแล้วก็ต้องมีผลตามมา   เราจึงไม่ควรประมาท  ถ้าไม่อยากรับผลของการกระทำบาปทำกรรม ก็อย่าไปคิดว่าทำบาปไปแล้ว เดี๋ยวไปสารภาพบาป หรือไปทำบุญให้ทานแล้ว บาปนั้นจะถูกลบล้างไป  อย่างนี้เป็นความเข้าใจผิด  บาปเมื่อทำไปแล้ว จะต้องมีวิบากกรรมตามมา  ต้องมีเวรมีกรรมตามมา บุญทำไปแล้วย่อมมีผลของบุญตามมา ย่อมมีความสุขมีความเจริญตามมา ต่างกรรมต่างวาระกัน  ชีวิตของเราจึงผสมผเสไปกับผลของบุญและผลของบาป  บางคนอาจจะคิดว่า ตัวเองทำความดีอยู่เสมอ แต่ทำไมจึงต้องรับผลไม่ดีต่างๆนานา  นั่นก็เป็นเพราะว่าเวลาทำบาปไปแล้ว มักจะจำไม่ได้กัน ส่วนเวลาทำความดีนิดเดียว มักจะจำไปจนวันตายเลย  เวลาทำบาปแล้ว มักจะลืมกัน  แต่พอผลของบาปปรากฏขึ้นมา ก็โวยวาย หาว่าอุตส่าห์ทำความดีแทบเป็นแทบตาย กลับไม่ได้รับผลของความดีเลย  เลยพาลไปว่า ต่อไปนี้ไม่ไปทำความดีให้มันเสียเวลาแล้ว  ทำบาปให้มันสนุกสนาน ให้สมกับความต้องการของกิเลสตัณหาจะดีกว่า เลยมีความเห็นผิดไป  เห็นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วได้ดีมีถมไป 

นี่คือสิ่งที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอ ในวงของผู้ที่ไม่เคยเข้าวัด ผู้ที่ไม่เคยทำความดี หรือถ้าทำความดีก็ทำเพียงแต่เล็กน้อย  ส่วนใหญ่แล้วจะทำแต่บาปแต่กรรม  นี่คือลักษณะความเห็นของคนเหล่านี้  เราต้องไม่ให้เขามีอิทธิพล มาโน้มน้าวใจของเรา ให้เห็นตามที่เขาเห็นกัน เพราะจะฉุดลากเราไปสู่บาปสู่กรรม สู่นรกสู่อบายต่อไป  ถ้าเราต้องการความสุขความเจริญ สุขในชาตินี้และสุขในชาติต่อๆไป  ไปเกิดที่ดี เป็นมนุษย์  เป็นเทพ เป็นพรหม  เราต้องเชื่อพระพุทธเจ้า  ต้องเชื่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ต้องเชื่อพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ที่สั่งสอนให้เราทำแต่ความดี ละเว้นจากการกระทำชั่ว ชำระจิตของเราให้สะอาดหมดจด  ด้วยการละความโลภ ความโกรธ ความหลง  ละความอยากในกาม ละความอยากมีอยากเป็น ละความไม่อยากมีไม่อยากเป็นทั้งหลายเสีย  แล้วชีวิตของเรา จิตใจของเรา จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ สู่ความสุขความเจริญที่แท้จริง 

ถ้าอยากจะชำระก็ขอให้ชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจของเรา  อย่าไปชำระบาป  บาปนั้นชำระไม่ได้  ถ้าไม่อยากจะรับผลของบาป ก็อย่าไปทำบาปเสียตั้งแต่วันนี้ไป  ส่วนผลของบาปในอดีต ก็จะค่อยๆแสดงออกมาแล้วจะค่อยๆหมดไป เหมือนกับการใช้หนี้  เรามีหนี้ ถ้าเราไม่ไปสร้างหนี้ใหม่ หนี้เก่าเราก็ทยอยใช้คืนไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ผ่อนไปเดือนละเล็กเดือนละน้อย เดี๋ยวหนี้เก่ามันก็หมด  ต่อไปก็จะไม่มีหนี้เหลืออยู่  แต่ถ้ายังไปกู้หนี้ยืมสินอยู่ เช่นไปทำบาปทำกรรมอยู่อีก  หนี้ใหม่ก็จะเพิ่มขึ้นมาอีก  เวรใหม่ก็จะเกิดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ  ก็ไม่มีที่สิ้นสุดกัน  ถ้าไม่ต้องการรับผลบาปต่อไป  ก็ต้องละเว้นจากการกระทำบาปเสียตั้งแต่วันนี้  ทำแต่ความดี  แล้วความดีนี่แหละจะเป็นเครื่องพยุงรักษาใจให้มีพลัง ให้มีสติมีปัญญา ที่จะสามารถรับผลของบาปของกรรมได้ โดยไม่หวั่นไหว โดยไม่มีความสะทกสะท้านแต่อย่างใด  เช่นจิตของพระพุทธเจ้ากับจิตของพระอรหันต์  ท่านได้สร้างคุณงามความดีไว้เต็มเปี่ยม มีสติมีปัญญา มีความกล้าหาญ ไม่มีความหวั่นไหวกับวิบากกรรมต่างๆ ที่จะตามมา  เพราะใจของท่านได้หลุดพ้นจากกรรมทั้งหลายแล้ว 

มีแต่กายเท่านั้นที่ยังหนีไม่พ้นบ่วงกรรม  เกิดมาแล้วร่างกายก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เป็นธรรมดา  ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา  ต้องพลัดพรากจากของที่รักที่ชอบ  แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่ไปทำให้จิตของพระพุทธเจ้า จิตของพระอรหันต์หวั่นไหว  เพราะจิตของท่านได้ตัดออกจากเรื่องเหล่านี้แล้ว  เป็นเหมือนกับเกิดขึ้นกับคนอื่น ไม่ได้เกิดขึ้นกับท่าน  ท่านมองกายว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวของท่าน  เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับกายของท่าน หรือเกิดขึ้นกับสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆของท่านนั้น ท่านไม่ได้ยึดไม่ได้ติดว่าเป็นของๆท่านแล้ว  ท่านได้ตัด ได้ปล่อยวางอุปทานจนหมดสิ้นแล้ว  ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกายของท่าน หรือสมบัติของท่าน ท่านจะไม่มีความหวั่นไหว เพราะท่านมองว่ามันไม่ใช่เป็นของๆท่าน  เหมือนกับญาติโยม เวลาญาติโยมเห็นสมบัติของคนอื่นถูกทำลายไป เช่นบ้านเขาถูกไฟไหม้ รถเขาไปคว่ำ หรือถูกขโมยไป ญาติพี่น้องของเขาถึงแก่ความตายไป ญาติโยมจะไม่เดือดร้อนอะไรเลย  เพราะว่าใจของโยมไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นๆ หรือในบุคคลนั้นๆ ว่าเป็นของๆโยมเอง  ไม่ได้เป็นเรา ไม่ได้เป็นของๆเรา  เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ไม่มีความเดือดร้อนอะไร  นั่นเป็นเพราะว่าจิตไม่ได้ไปยึดไปติดกับสิ่งเหล่านั้น ว่าเป็นเรา เป็นของๆเรา 

ในทางตรงกันข้าม กับร่างกายของโยมเอง สมบัติข้าวของ ญาติสนิทมิตรสหาย พ่อแม่พี่น้องของโยม ถ้าไปยึดไปติด ไปหลงว่าเป็นของๆโยมแล้ว  เวลาเกิดการพลัดพรากจากกัน ก็จะเกิดความวุ่นวายใจ เกิดความทุกข์ใจ  ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะไปหลง ไปยึด ไปติด ว่าเป็นเรา เป็นของๆ เรานั่นเอง  ทั้งๆที่ความจริงแล้ว ไม่มีอะไรในโลกนี้เป็นของๆใครทั้งสิ้น  ทุกอย่างเป็นของธรรมชาติล้วนๆ   มีดวงจิตที่มีความหลง มีอวิชชาครอบงำอยู่ มายึดมาครอบครอง  ในเบื้องต้นก็มาครอบครองร่างกายนี้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ของแม่เรา เมื่อออกมาจากท้องแล้ว ก็เจริญเติบโต แล้วก็เริ่มสะสมสมบัติเงินทองข้าวของต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีสามี มีภรรยา มีบุตร มีธิดาเป็นสมบัติของตน แล้วก็มาทุกข์กับสิ่งเหล่านี้  เวลาที่จะต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้  เวลาที่สิ่งเหล่านี้ บุคคลเหล่านี้ ไม่ได้เป็นไปตามที่จิตของเราต้องการให้เป็นไป คืออยากให้สิ่งเหล่านี้ สมบัติเหล่านี้ บุคคลเหล่านี้ อยู่กับเราไปนานๆ แต่เราไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกสัตว์ ทุกบุคคลในโลกนี้ว่า อยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ทั้งนั้น  ไตรลักษณ์ก็คือลักษณะ ๓  ได้แก่อนิจจังความไม่เที่ยง  ทุกข์ไม่ใช่สุข  อนัตตาปราศจากตัวตน 

ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ล้วนมี ๓ ลักษณะนี้ทั้งนั้น  ไม่ว่าจะเป็นวัตถุข้าวของหรือบุคคลต่างๆ  เช่นบิดามารดา ปู่ย่าตายาย พี่น้อง ญาติสนิทมิตรสหาย บุตรธิดา ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้น  เราทุกข์เพราะอะไร  เราทุกข์เพราะว่าเราไม่รู้จักปล่อยวาง เราไม่เข้าใจถึงหลักของความเป็นอนิจจัง อนัตตา เราจึงทุกข์    แต่พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกท่านไม่ทุกข์กับสิ่งเหล่านี้ เพราะท่านเข้าใจในหลักของไตรลักษณ์ ในหลักของอนิจจัง ในหลักของอนัตตา  ท่านรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดและมีดับเป็นธรรมดา  ท่านรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เป็นสมบัติที่แท้จริงของตน เพราะไม่สามารถที่จะไปควบคุมบังคับให้อยู่ ให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนาได้  เขาจะต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา  ร่างกายของเรา เราไปบังคับไม่ได้  อยากจะให้ร่างกายเราหยุดเปลี่ยนแปลงในขณะนี้  เพราะตอนนี้เรากำลังสวย กำลังหนุ่มแน่น กำลังสาว ไม่อยากให้แก่ ไม่อยากให้เจ็บ ไม่อยากให้ตายไป นี่เราไปห้ามไม่ได้  เราไม่ช้าก็เร็วก็จะต้องแก่  หนังของเราก็จะต้องเหี่ยวย่น  ผมเผ้าของเราก็ต้องขาว หลังของเราก็ต้องค่อม  ร่างกายของเราต้องมีโรคภัยเบียดเบียน จะเดินจะเหินจะทำอะไร ก็รู้สึกว่ามันเมื่อย มันขัด มันลำบากไปหมด  และในที่สุดก็ต้องล้มลงนอนบนเตียง ไม่สามารถลุกขึ้นมาได้ เพราะถูกโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างปกติ  และในที่สุดก็ต้องหมดลมหายใจ ล้มตายไป 

นี่คือธรรมชาติของร่างกายของเราและของผู้อื่น ของทุกๆคน แม้กระทั่งร่างกายของเดรัจฉานก็เป็นแบบเดียวกัน ไม่มีข้อยกเว้น เป็นเหมือนกันหมด  ถ้าเป็นคนฉลาด  จะต้องมองให้เห็นความเป็นอนิจจัง  จะต้องมองเห็นความเป็นอนัตตาให้ได้  ถ้าเห็นแล้วก็จะไม่กล้าไปยึดไปติด จะปล่อยวาง  จะอยู่แบบเป็นเพื่อนกัน  อยู่ด้วยกันไป เมื่อถึงเวลาต้องจากกัน ก็ต้องจากกันไป เป็นเรื่องธรรมดา  เวลาอยู่ด้วยกันก็มีความเมตตาต่อกัน ดูแลกัน รักกัน มีความกรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สงเคราะห์ช่วยเหลือกัน มมุทิตา  ความยินดีในความสุขในความเจริญของผู้อื่น ไม่อิจฉาริษยา  และมีอุเบกขา ทำใจให้เป็นกลาง วางเฉย ปล่อยวาง เมื่อถึงเวลาที่จะต้องพลัดพรากจากกัน เมื่อไม่สามารถที่จะช่วยเหลือเขาได้ ก็ต้องทำใจเป็นกลาง คือไม่ไปเศร้าโศกเสียใจ ไม่ร้องห่มร้องไห้ ไม่มีความรู้สึกโกรธแค้นเกลียดชังใครทั้งสิ้น ถือว่าเป็นปกติของธรรมชาติ ถือเป็นเรื่องของกรรมของเวร  ใครทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว ก็ต้องรับผลของกรรมของเวรนั้นไป  ใครทำดีก็ต้องรับผลของการกระทำความดีไป 

เราต้องรักษาใจของเราให้เป็นปกติ คือต้องวางเฉยให้ได้  ถ้าเราเห็นสิ่งที่เราไม่พอใจ แล้วเกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา เช่นเวลาสูญเสียคนที่เรารัก คนที่เราชอบ แล้วเราก็ร้องห่มร้องไห้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ บางครั้งถึงกับไม่สามารถทนอยู่ต่อไปได้ จะต้องฆ่าตัวตาย  นี่ก็เป็นสิ่งไม่พึงกระทำอย่างยิ่ง เป็นความโง่เขลาเบาปัญญา ไม่เข้าใจในธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่าง ที่จะต้องมีการพลัดพรากจากกัน มีเกิดขึ้นแล้วก็ต้องมีการดับไปเป็นธรรมดา เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ภายใต้ความต้องการของเราได้  ดังนั้นจงอย่าไปอยาก อย่าไปต้องการกับอะไรทั้งสิ้น  เอาตามมีตามเกิดดีกว่า มีอย่างไรเป็นอย่างไรก็เอาอย่างนั้น  ขณะนี้เป็นอย่างนี้ก็เอาอย่างนี้ มันเย็นอย่างนี้ก็โอเค ถ้ามันร้อนก็โอเค ไม่ต้องไปดิ้นรน อย่าไปอยากว่าต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  เพราะถ้าปล่อยให้อยากแล้ว ความอยากมันจะหลอกเรา มันไม่มีความพอ ไม่มีที่สิ้นสุดของความอยาก  ได้อย่างนี้มา ก็อยากจะได้อย่างนั้น  ได้คนนี้มาอยู่ไปสักพักก็เบื่อแล้ว อยากจะได้คนนั้น  เมื่อก่อนนี้ชอบคนผมสั้น เดี๋ยวนี้ชอบคนผมยาว  เมื่อก่อนนี้ชอบคนเตี้ย เดี๋ยวนี้ชอบคนสูง

นี่คือความอยาก มันจะหลอกเราไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด  มันเหมือนกันทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น  เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้น  เวลาได้มาใหม่ๆ ก็มีความสุข  แต่เดี๋ยวก็เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความทุกข์แล้ว  หรือรักเขามากแต่เขาไม่รักเรา ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว อย่างนี้เป็นต้น  มันมีแต่เรื่องของความทุกข์ทั้งนั้นเลย  ไม่มีอะไรที่สุขแท้จริง  ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าเป็นสุข ก็สุขแบบยาขมเคลือบน้ำตาล  ใหม่ๆก็หวานดี  แต่พอน้ำตาลที่เคลือบยาขมละลายไปหมด ก็เหลืออยู่แต่ความขมขื่น  ชีวิตของคนเราก็เหมือนกัน  ชีวิตคู่เวลาอยู่ด้วยกันใหม่ๆก็หวานจ๋อย  แต่พออยู่กันไปสักพัก ความหวานก็หายไป เหลือแต่ความจืดชืด  ต่อไปก็กลายเป็นขมขื่นขึ้นมา  เราจึงควรทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ 

ถ้าเป็นคนฉลาด ก็ต้องต่อสู้กับความอยาก  พยายามอย่าไปอยากกับอะไร  เพราะความจริงแล้ว เราสามารถอยู่ตามลำพังของเราได้ ไม่ต้องมีอะไรก็อยู่ได้ ไม่ต้องมีสามี ไม่ต้องมีภรรยา ไม่ต้องมีสมบัติ ข้าวของ เงินทอง มากมายก่ายกองเราก็อยู่ได้  และอยู่ได้ด้วยความสุขที่มากกว่าด้วยซ้ำไป  ดูพระพุทธเจ้า  พระอรหันตสาวกเป็นตัวอย่าง  ท่านไม่มีอะไรเลย ท่านอยู่ของท่านตามลำพัง  เพียงแต่มีปัจจัย ๔ คอยเลี้ยงดูอัตภาพร่างกายของท่าน ก็พอเพียงแล้ว  แต่ใจของท่านเป็นใจที่มีปรมังสุขัง คือบรมสุข  เพราะท่านไม่ได้ไปยึดไปติดกับอะไร ไม่ได้อยากกับอะไรนั่นเอง  ถ้าเราอยากจะมีความสุขที่แท้จริง  ขอให้ต่อสู้กับความอยากของเรา  ความอยากมีอยากเป็น อยากไม่มีอยากไม่เป็น  ความอยากในกามทั้งหลาย เหล่านี้ล้วนเป็นต้นเหตุของความทุกข์  เราต้องชนะสิ่งเหล่านี้ให้ได้  ถ้าเราชนะสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว ใจของเราจะสบาย ใจของเราจะสุข ใจของเราจะเป็นอิสระ  ไม่มีใครจะมาสั่งการ ให้เราไปหาสิ่งนั้นสิ่งนี้ มาสร้างความสุขให้กับเรา  เพราะความสุขนั้นมีอยู่สมบูรณ์แล้ว ในใจที่ปราศจากตัณหาทั้งหลาย ปราศจากกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา 

นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง  นี่แหละคือจุดหมาย เป้าหมาย ที่พระพุทธศาสนาสอนให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายดำเนินไปถึง   ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ คือ ทำแต่ความดี ละการกระทำบาปทั้งหลาย ชำระจิตใจให้หมดจด ด้วยการปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา เพื่อชำระความอยากทั้งหลายให้หมดไปจากใจ  ให้เป็นใจที่สะอาดหมดจด เป็นใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความสุข  นี่แหละคือความเจริญที่แท้จริง  ขอให้ท่านทั้งหลายจงนำธรรมะที่ท่านได้ยินได้ฟังในวันนี้ไปประพฤติปฏิบัติ ตามกำลังสติปัญญาศรัทธาของท่าน  แล้วผลคือความสุขและความเจริญ ความปราศจากความทุกข์ทั้งหลาย ย่อมเป็นของท่านอย่างแน่นอน การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้