กัณฑ์ที่ ๑๒๔       ๑ สิงหาคม ๒๕๔๕

สติ

 

ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เจริญให้มาก ให้ปฏิบัติให้มาก และทรงแสดงว่าเป็นธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือสติ ทรงเปรียบสติเหมือนกับรอยเท้าช้าง  ซึ่งเป็นรอยเท้าที่ใหญ่กว่ารอยเท้าของสัตว์อื่นๆทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรอยเท้าของเสือ สิงห์ กระทิง แรด  ก็จะไม่ใหญ่เท่ากับรอยเท้าช้าง  รอยเท้าช้างจะครอบรอยเท้าของสัตว์อื่นๆทั้งหมด  ฉันใดสติก็เปรียบเหมือนกับรอยเท้าช้าง  มีความสำคัญ มีความยิ่งใหญ่กว่าธรรมอื่นๆทั้งหมด  ไม่ว่าจะเป็นธรรมชนิดใดก็ตาม จะต้องมีสติเป็นผู้นำเสียก่อน  ธรรมอื่นๆถึงจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล ภาวนา สมาธิ ปัญญา วิมุตติหลุดพ้น ธรรมเหล่านี้ล้วนต้องมีสติเป็นผู้นำ  จึงไม่มีธรรมอันใดที่จะมีความสำคัญเท่ากับสติ  ถ้าไม่มีสติแล้ว  จะทำอะไรอย่างอื่นย่อมเป็นไปไม่ได้   อย่างคนที่เสียสติ จะไม่รู้จักผิดถูกดีชั่ว  ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่  คนที่ไม่มีสติที่เราเรียกว่าคนบ้า  ก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้อื่น ของคนที่มีสติ  ต้องคอยเลี้ยงเขา ต้องอาบน้ำให้เขา ต้องดูแลเขาเหมือนกับเป็นเด็กทารก เพราะเขาไม่มีสติ  ไม่มีความสามารถที่จะทำอะไรได้ด้วยตนเอง

ถ้าปราศจากสติแล้ว ย่อมไม่สามารถเจริญคุณธรรมความดีทั้งหลายได้  จึงควรให้ความสำคัญกับสติเป็นอย่างยิ่ง  ควรเจริญสติอยู่ทุกเมื่อ ทุกกรณี  ดังในพระบาลีที่ทรงแสดงไว้ว่า  สติมีความสำคัญในทุกกรณี ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม จะคิดก็ดี จะพูดก็ดี จะทำอะไรก็ดี ล้วนต้องมีสติเป็นผู้กำกับ เป็นผู้ดูแล เป็นผู้นำ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วการกระทำจะไปในทิศทางที่ไม่ดี  อย่างเวลาที่เสพสุรายาเมา ก็จะขาดสติ  ไม่มีสติควบคุมความคิด การพูด การกระทำ  ความคิด การพูด และ การกระทำ จึงไปในทิศทางที่ไม่สวยงาม ไม่เรียบร้อย เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น  แต่ถ้ามีสติแล้วจะมีความยับยั้งชั่งใจ จะคิดดูก่อนว่าควรจะทำอะไร  ควรจะพูดอะไรหรือไม่  สิ่งที่คิดเป็นสิ่งที่ดี หรือเป็นสิ่งที่ไม่ดี  ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ระงับความคิดนั้นเสีย  ถ้าระงับความคิดนั้นได้ การที่จะต้องไปกระทำ หรือไปพูดตามความคิดนั้นก็หมดไป อย่างเวลาโกรธคนอื่น ก็คิดว่าจะต้องไปทุบตีเขา ไปด่าว่าเขา  แต่ถ้ามีสติระลึกรู้อยู่  ว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เพราะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น และกับตัวเอง  ก็จะระงับความคิดนั้นได้  เมื่อความคิดนั้นถูกระงับไปแล้ว ก็ไม่มีตัวที่จะสั่งการ ไปสู่การกระทำทางวาจาและทางกาย ก็เลยไม่มีการพูดจาด่าว่าคนอื่น ด้วยคำพูดต่างๆนานาที่ไม่น่าฟัง  เช่น คำผรุสวาทเป็นต้น  ก็จะไม่ออกมาจากปากของผู้ที่มีสติ  การที่จะไปทุบตี  ไปทะเลาะ ไปมีเรื่องมีราว ทำร้ายร่างกายของกันและกัน  ย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะมีสติระงับ ดับที่ต้นเหตุ คือที่ใจ

ใจเป็นผู้คิด  ถ้ามีสติดูอยู่ที่ใจอยู่ตลอดเวลาแล้ว จะเห็นสิ่งต่างๆที่ปรากฏขึ้นมาในใจ  แล้วจะสามารถแยกแยะได้ว่า  สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดี  สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ไม่ดี  สิ่งที่ดีก็ส่งเสริมให้เกิดขึ้น ให้เป็นไป  อย่างวันนี้ญาติโยมก็คิดกันว่า  จะมาทำบุญกัน  เพราะวันนี้เป็นวันพระ จะมาไหว้พระสวดมนต์ รักษาศีล ถวายทาน ฟังเทศน์ฟังธรรม อย่างนี้เป็นความคิดที่ดี ควรส่งเสริมให้คิดอยู่บ่อยๆ ให้คิดอยู่แต่เรื่องเหล่านี้ เมื่อคิดอยู่บ่อยๆแล้ว ก็จะไม่หลงลืม แล้วก็จะนำไปสู่การกระทำและการพูดที่ดีต่อไป  เมื่อได้ทำสิ่งที่ดี  พูดในสิ่งที่ดี  คิดในสิ่งที่ดี ผลที่จะตามมาก็คือความสุขความเจริญ    ในทางตรงกันข้าม ถ้าปล่อยให้ความคิดที่ไม่ดีออกมาเพ่นพ่านอยู่เรื่อยๆ   ไม่ช้าก็เร็ว  ก็ต้องถูกความคิดที่ไม่ดี  ส่งไปสู่การกระทำทางวาจา และทางกาย ทำให้ไปพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด เช่น พูดปด พูดคำผรุสวาท พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด เป็นต้น   เมื่อพูดไปแล้วก็จะเกิดปัญหาตามมา เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน เกิดการลงไม้ลงมือกัน  ในที่สุดถ้าไม่รู้จักยับยั้งก็จะนำไปสู่การฆ่ากัน แล้วก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมือง จับเข้าคุกเข้าตะราง จับลงโทษ  ถ้าโทษหนักก็ถึงกับประหารชีวิตเลย 

สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการที่ไม่มีสติยับยั้งนั่นเอง  ถ้ามีสติคอยดูความคิดของใจแล้ว ก็จะยับยั้งได้ ถ้ารู้ว่าเป็นความคิดที่ไม่ดี ออกมาจากอารมณ์ที่ไม่ดี เช่น ออกมาจากความโกรธ ก็ต้องระงับเสีย  ไม่ว่าจะพูดหรือจะทำอะไรในเวลาโกรธ ถึงแม้ว่าจะถูกอย่างไรก็ตาม ก็ไม่ถูกอยู่นั่นแหละ  เพราะความโกรธเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี  เป็นอกุศลกรรม ที่จะนำไปสู่คำพูดที่เป็นบาป การกระทำที่เป็นบาป   เวลามีความโกรธจึงควรระงับความโกรธให้หมดไปเสียก่อน ให้จิตกลับเป็นปกติเสียก่อน แล้วจึงค่อยพูด ค่อยทำไป   อย่างจิตของท่านทั้งหลายในขณะนี้ เป็นจิตที่ปกติ มีความสงบ ไม่มีอารมณ์ ไม่มีอคติต่างๆมาครอบงำ ไม่มีความรัก ความชัง ความหลง ความกลัวครอบงำอยู่ ถ้าจิตเป็นจิตที่ว่างจากอคติแล้ว เวลาจะพูด จะทำอะไรก็จะเป็นไปด้วยเหตุและผล  เวลาพูดด้วยเหตุด้วยผล คนที่ฟังก็จะสามารถรับได้ เพราะเป็นเหตุเป็นผล  แต่ถ้าพูดออกมาจากอารมณ์โกรธ อารมณ์ที่อยากจะเอาชนะผู้อื่น พูดไปแทนที่คนฟังจะเชื่อ กลับมีปฏิกิริยาตอบโต้ ต่อต้านขึ้นมา เพราะรู้ว่าไม่ได้พูดตามหลักเหตุและผล  พูดแบบมีอคติ เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง จะต้องเอาชนะผู้อื่นให้ได้

ถ้าต้องการที่จะพัฒนาชีวิตให้เจริญรุ่งเรือง มีแต่ความเป็นสิริมงคล มีแต่ความสุข มีแต่ความเจริญ จึงต้องเจริญสติอย่างสม่ำเสมอ ควรฝึกเจริญสติอยู่อย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเลย  พอตื่นขึ้นมาปั๊บนี่ ขอให้ตั้งสติไว้ก่อน ให้ดูก่อนว่ากำลังคิดอะไร  กำลังจะไปทำอะไร  แล้วก็แยกแยะดูว่าควรหรือไม่ควรอย่างไร  ดีหรือไม่ดีอย่างไร ถ้าดีก็ทำไป ถ้าไม่ดีก็ต้องระงับ แล้วก็ดูต่อไปเรื่อยๆ  เฝ้าดูกิริยาอาการของใจ ของวาจา ของกาย ไปตลอดทั้งวันเลย  อย่าส่งใจไปสู่ที่อื่น ถ้าควบคุมดูแลความประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางใจด้วยสติแล้ว  ชีวิตในวันนั้น จะดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม  เปรียบเหมือนกับคนขับรถที่มีสติ  คนที่มีสติกับคนที่ไม่มีสติ เวลาขับรถจะรู้เลยว่าขับไม่เหมือนกัน  คนที่ไม่มีสติก็เหมือนกับคนที่กินเหล้าเมาแล้ว ไปขับรถ  ก็จะขับแบบสวี๊ดสว๊าด ขับแบบไม่มีความระมัดระวัง ไม่รู้จักว่าควรจะช้าหรือควรจะเร็วอย่างไร  อย่างนี้ก็จะต้องสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น กับรถคันอื่นอย่างแน่นอน  ฉันใด  ชีวิตของเราก็เช่นกัน  ก็เหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง ที่เราต้องขับ ต้องดูแล   เวลาที่เราตื่นขึ้นมา ก็เท่ากับเราได้สตาร์ทรถแล้ว  เวลาลุกขึ้นจากเตียงนอน ก็เท่ากับได้ขับรถออกไปแล้ว  เดินไปทำโน่น ไปทำนี่  ก็ต้องมีสติ  ถ้าไม่มีสติ เดี๋ยวก็เดินไปชนโน่น ชนนี่ เหยียบโน่น เหยียบนี่เข้าได้  บางคนเวลาตื่นขึ้นมา ก็พรวดพราดลุกขึ้นมา รีบทำโน่นทำนี่ โดยไม่ใช้สติ   บางทีก็ไปเตะโน่น ทำสิ่งนั้นตก ไปเหยียบสิ่งนั้น ทำสิ่งนั้นเสียได้  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เกิดจากการไม่มีสตินั่นเอง 

เราจึงควรฝึกสติไว้ให้ดี  เมื่อมีสติแล้ว การจะทำอะไรทั้งหลาย จะไม่ผิดพลาด เพราะรู้อยู่ทุกย่างก้าวว่า กำลังจะเดินไปตรงไหน  จะเหยียบอะไรที่อยู่ข้างหน้าหรือไม่   เป็นลักษณะของการมีสติ  ควรมีสติอยู่กับตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำอะไร ในอิริยาบถใด  จะนั่งก็รู้ว่ากำลังนั่งอยู่  ยืนก็รู้ว่ากำลังยืนอยู่  เดินก็รู้ว่ากำลังเดินอยู่   นอนก็รู้ว่ากำลังนอนอยู่  กำลังทำอะไรอยู่ ก็ให้รู้อยู่กับการกระทำนั้นๆ  เช่น  กำลังรับประทานอาหาร ก็ให้รู้อยู่กับการรับประทานอาหาร  อย่ารับประทานไป  ใจก็นึกคิดเรื่องอื่นๆไป บางทีก้างติดคอโดยไม่รู้สึกตัว   บางคนถึงกับสำลักข้าวตายไปก็มี  เพราะกินไป ก็คุยไป หัวเราะไป  ข้าวที่อยู่ในปากก็เลยไปสำลักติดคอ ทำให้หายใจไม่ออก  ตายไปได้ทันที  นี่ก็เป็นเพราะว่าไม่มีสตินั่นเอง  แต่ถ้ามีสติแล้ว อาหารทุกคำที่เอาเข้าไปในปาก เราจะรู้  และรู้อยู่ขณะที่กำลังเคี้ยว และขณะที่กำลังกลืนเข้าไป  นี่คือลักษณะของการมีสติ  ถ้ามีสติอย่างนี้แล้ว จะสามารถควบคุมชีวิตให้ดำเนินไปในทิศทางที่ดีที่งามได้  เวลาที่ใจจะคิดอะไรไม่ดี  ก็หักห้ามเสีย  ระงับเสีย สอนตัวเองว่าความคิดที่ไม่ดีนั้น นำไปสู่โทษ นำไปสู่ภัย นำไปสู่ความเสื่อมเสีย  ถ้าไม่ต้องการความเสื่อมเสีย ไม่ต้องการความทุกข์ ก็ต้องฝืน  ต้องระงับความคิดที่ไม่ดีนั้น อย่าปล่อยให้เป็นตัวชักจูงเราไป เพราะเมื่อปล่อยให้ชักจูงไปแล้ว ก็จะพาไปสู่เรื่องราวปัญหาต่างๆ ไม่มีที่สิ้นสุด  

ปัญหาของคนเราทุกวันนี้ ก็อยู่ที่มีสติมากหรือน้อยนี้เอง  คนที่มีสติมากปัญหาก็น้อย  คนที่มีสติน้อยปัญหาก็มาก อย่างเวลาเกิดความอยากขึ้นมา  อยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด บุคคลหนึ่งบุคคลใด โดยไม่มีสติยับยั้ง  ทั้งๆที่ตัวเองก็มีพออยู่แล้ว  เนื่องจากว่าใจยังมีกิเลส มีตัณหาอยู่ เช่น  มีสามีอยู่คนแล้ว มีภรรยาอยู่คนแล้ว แต่พอไปเห็นอีกคนหนึ่งเข้า ก็เกิดชอบขึ้นมา อยากจะได้เขามาครอบครอง ถ้าไม่มีสติคอยยับยั้ง บอกว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ดี  ทำไปแล้วเป็นบาป  ทำไปแล้วจะนำมาซึ่งปัญหาเรื่องราวต่างๆไม่มีที่สิ้นสุด ความสุขที่ได้อาจจะมีบ้าง ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น  แต่ความทุกข์ที่จะตามมาจะมีมากกว่าหลายเท่า  เมื่อคนหนึ่งมี ๒ ภรรยา หรือมี ๒ สามี ย่อมมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน ดังที่เราได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ ถึงเรื่องปัญหาต่างๆของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นการประพฤติผิดประเวณีก็ตาม หรือการไปโกหกหลอกลวงต้มตุ๋นผู้อื่นก็ตาม หรือไปลักทรัพย์ ไปลักขโมย หรือไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ซึ่งล้วนเกิดจากการกระทำที่ขาดสติ ไม่มีสติยับยั้งชั่งใจ คอยดึงใจไว้ คอยบอกใจไว้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าทำไปแล้วจะมีแต่โทษ มีแต่ปัญหาตามมาไม่มีที่สิ้นสุด

ถ้ามีสติแล้วก็จะยับยั้งได้ เมื่อยับยั้งแล้ว การกระทำที่สร้างปัญหาเหล่านั้น ก็จะไม่เกิดตามมา เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่เราทุกคนสามารถทำกันได้ แต่ที่ไม่ทำกัน ก็อาจจะเป็นเพราะ ๒ สาเหตุด้วยกัน คือ  ๑. การไม่รู้โทษของการกระทำบาปทั้งหลาย   . รู้แต่ไม่มีสติ คือเมื่อใจคิดอะไรขึ้นมา ก็ไม่สามารถยับยั้งเบรกใจได้ เปรียบเหมือนกับรถยนต์ที่ไม่มีเบรก ขับไปถึงสี่แยกไฟแดง เห็นไฟแดงก็รู้อยู่ว่าต้องหยุด แต่รถไม่มีเบรกจะทำอย่างไร  เมื่อรถไม่มีเบรก  ก็ต้องฝ่าไฟแดงไป  เมื่อฝ่าไฟแดงไปแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อมีรถสวนทางมาจากอีกด้านหนึ่ง  ก็ต้องไปชนกันที่สี่แยกนั้น นี่ก็เปรียบเหมือนกับใจของคนที่ไม่มีสตินั่นเอง  คนไม่มีสติก็เปรียบเหมือนกับรถที่ไม่มีเบรก ไม่มีใครกล้าขับรถที่ไม่มีเบรกออกไปกลางถนน  เพราะรู้ว่าถ้าขับไปก็จะต้องมีเรื่องอย่างแน่นอน  ฉันใดคนที่ไม่มีสติก็ฉันนั้น  เวลากินเหล้าเมาแล้ว ก็อย่าออกไปนอกบ้าน  นอนเสีย  ก็ไม่มีปัญหาอะไร  แต่ถ้ากินแล้วยังอยู่นอกบ้านอยู่  เดี๋ยวก็ต้องมีเรื่องมีราวกับคนนั้นคนนี้  เวลาจะขับรถกลับบ้านก็ต้องมีอุบัติเหตุ  ไปชนกับรถคันนั้นรถคันนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เพราะนี่แหละคือเรื่องของการไม่มีสติ  สติจึงเป็นธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง  ที่เราทุกคนควรจะให้ความสนใจดูแล  เพราะคุณงามความดีทั้งหลาย ไม่ว่าทานก็ดี ศีลก็ดี สมาธิ ปัญญา วิมุตติการหลุดพ้นก็ดี  ล้วนมีสติเป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้นำพาไป  

ถ้าเราดูใจเรา เวลาเกิดความโกรธขึ้นมา เรามีสติระลึกรู้อยู่ ว่าความโกรธนี้ไม่ดี เราก็ไม่ควรโกรธ ควรให้อภัย สัพเพสัตตา อะเวราโหนตุ ขอให้สัตว์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่มีเวรเถิด  หมายถึงว่า เราจงอย่าไปมีเวรกับสัตว์กับคนทั้งหลายนั่นเอง เมื่อเรามีสติ  เราจะนึกถึงธรรมบทนี้  แล้วก็จะระงับความโกรธได้ นี่ก็เท่ากับมีอภัยทานแล้ว เท่ากับว่าได้ให้ทานแล้ว ไม่ต้องไปเสียเงินเสียทองซื้อข้าวของมาให้คนนั้นคนนี้  เพียงแต่ให้อภัยเขา ก็เหมือนกับได้ให้ทานแล้ว ให้อภัยนั้นไง  การให้อภัยมีคุณ มีประโยชน์ ทั้งกับผู้ที่ถูกเราโกรธและตัวผู้โกรธเอง  ผู้ที่ถูกเราโกรธ ก็ไม่ต้องรับเคราะห์จากคำพูดที่ดุดันของเรา หรือจากการกระทำอันดุร้ายของเรา เขาก็ไม่ต้องรับอันนั้นไป ส่วนเราผู้เกิดความโกรธ ก็จะสบายใจ  ก็จะเย็นใจ เพราะเมื่อเราระงับความโกรธแล้ว ความร้อนรนใจที่เกิดจากความโกรธนั้น ก็หายไป กลับมาคือความเย็น ความสงบของใจ นี่ก็เกิดจากการที่เรามีสติดูใจเรา

หรือเวลาที่เกิดความโกรธ แล้วอยากจะไปฆ่าเขา หรือจ้างให้คนอื่นไปฆ่าเขา เพราะนายคนนี้สร้างความโกรธแค้นให้กับเรามาก เขาไม่ควรที่จะอยู่ในโลกนี้ต่อไป นี่ก็เป็นความคิดของความโกรธที่เกิดขึ้นมา แต่ถ้าเรามีสติระลึกได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรามีเมตตา  สัพเพ สัตตา อัพพะยาปัชฌา โหนตุ  ขอให้สัตว์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกันเถิด  ถ้าเราไปฆ่าเขา ก็เท่ากับเป็นการไปเบียดเบียนกัน เป็นการขาดความเมตตา ถ้าเรามีสติรู้ว่า เป็นการกระทำที่เลวร้าย ที่โหดร้ายแล้ว เราระงับได้ ก็เท่ากับมีศีลขึ้นมา  การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็เป็นศีลข้อหนึ่งในศีลห้า และศีลอื่นๆทั้งหลาย รวมไปถึงศีล ๒๒๗ ข้อ ก็มีข้อห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเหมือนกัน ถ้าเป็นพระภิกษุแล้วไปฆ่าผู้อื่น  จ้างให้ผู้อื่นฆ่าก็ดี  สั่งให้ผู้อื่นฆ่าก็ดี  เป็นโทษหนักมาก  เรียกว่าปาราชิก  ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที  ปิดทางสวรรค์และนิพพาน  แต่ถ้ามีสติระลึกรู้อยู่  เวลาใจเกิดความโกรธขึ้นมา เพราะมีคนทำอะไรให้เราไม่พอใจ ด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เราก็จะระงับความโกรธนั้นได้  ด้วยความเมตตา ไม่ทำอะไรเขา  คิดเสียว่าเป็นการใช้เวรใช้กรรมกันไปก็แล้วกัน  ในอดีตเราอาจจะเคยไปสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจ สร้างความเคียดแค้นให้กับเขามา  เมื่อเขามีโอกาสเขาก็เลยขอทวงคืน  ก็คิดเสียว่าใช้หนี้เก่าไป  อีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่เขาทำไปแล้ว พูดไปแล้ว มันก็ผ่านไปแล้ว ถ้าทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เสีย มันก็ไม่เห็นมีอะไร  มันก็ผ่านไป แต่ถ้ารู้แล้ว เกิดความโกรธขึ้นมา ก็ต้องเอาสติมาเบรกใจให้ได้  เบรกใจว่าอย่าไปโกรธ  โกรธไม่ได้  ทำอย่างนี้ได้เราก็มีศีลแล้ว  

ถ้ารู้สึกว่ายังไม่มีเบรก คือสติยังไม่ดีพอ เวลาเกิดอารมณ์ขึ้นมาแล้ว ยังเบรกใจไม่ได้   ยังไหลไปสู่วาจา ไหลไปสู่การกระทำทางกาย  เราก็ต้องฝึกตั้งสติบ่อยๆ  วิธีที่จะช่วยทำให้มีสติมากที่สุดก็คือ การหามุมไหน มุมหนึ่งในบ้านของเรา ที่สงบ ปิดประตูห้องแล้วก็นั่งขัดสมาธิหลับตา กำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ จะเป็นเรื่องราวในอดีตก็ดี  เรื่องราวในอนาคตก็ดี  เรื่องของคนนั้น  เรื่องของคนนี้  ที่อยู่ที่ใกล้หรือที่ไกลก็ตาม  ในขณะนั้นขอให้ลืมเรื่องราวต่างๆทั้งสิ้นในโลกนี้  ขอให้มีสติอยู่กับกรรมฐาน  คืออารมณ์ผูกจิต บทใดบทหนึ่ง ถ้าชอบพุทโธ  ก็กำหนดรู้อยู่กับคำว่าพุทโธ  ถ้าชอบดูลมหายใจเข้าออก ก็กำหนดดูลมหายใจเข้า หายใจออก ถ้าชอบใช้ทั้งพุทโธ และลมหายใจควบคู่กันไป  เราก็บริกรรมคำว่าพุทธ เวลาหายใจเข้า  โธเวลาหายใจออก  หรือหายใจเข้าก็ว่าพุทโธ  หายใจออกก็ว่าพุทโธ   กำกับไปก็ได้

วิธีที่ใช้ควบคุมจิตใจนั้น มีหลากหลายวิธีด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงแสดงกรรมฐานไว้ถึง ๔๐ ชนิดด้วยกัน แต่เวลาใช้ ควรใช้เพียงชนิดเดียว ชนิดไหนที่ถูกกับจริตของเรา เราทำแล้วรู้สึกสบายใจ จิตเกาะอยู่กับอารมณ์นั้น ก็ให้ใช้อารมณ์นั้นเป็นเครื่องผูกใจไว้  ให้มีสติคือการระลึกรู้  ให้รู้อยู่กับอารมณ์นั้นๆ รู้อยู่ไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปสติก็จะพัฒนาขึ้นไป  เราก็จะมีกำลังที่จะเบรกใจให้อยู่ได้  ถ้าทำมากๆแล้ว  ต่อไปเราจะสามารถควบคุมความคิดปรุง  ควบคุมอารมณ์ของเราได้ เวลามีอารมณ์โกรธขึ้นมาก็ระงับได้  เวลามีอารมณ์โลภขึ้นมาก็ระงับได้  เวลามีอารมณ์หลงขึ้นมา ก็จะระงับได้  เพราะเรามีเบรก  เหมือนกับรถยนต์เวลาเราขับรถไป ถ้าเรารู้ว่าเบรกของรถเรานี้  เริ่มไม่มีประสิทธิภาพแล้ว  ไม่สามารถหยุดตามที่เราต้องการได้  สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ต้องนำรถเข้าอู่ให้ช่างเขาซ่อมให้  ถ้าเบรกเก่าหมดสภาพ  ก็ต้องเปลี่ยนเบรกใหม่

ฉันใดสติก็เป็นเหมือนกับเบรกของใจเรา  ถ้าเราไม่พัฒนาให้มีขึ้น ไม่มีเบรกใจแล้ว  ชีวิตของเราก็จะต้องวุ่นวายไปไม่มีที่สิ้นสุด  เพราะว่าอารมณ์ของเรามีหลากหลาย และส่วนใหญ่จะเป็นอารมณ์ที่จะฉุดลากเราไปในทางที่ไม่ดี  จะฉุดลากให้ไปกระทำในสิ่งที่เสื่อมเสีย  ในสิ่งที่เราทุกคนไม่ปรารถนากัน  แต่เราหักห้ามใจของเราไม่ได้  เพราะขาดเบรกนั่นเอง  การนั่งสมาธิจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งทีเดียว  เพราะว่าสมาธิจะทำใหปัญญา ความรู้ของเรานั้น เป็นปัญญาที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่ตัดกิเลสตัณหาได้ ในขณะนี้พวกเราทุกคนก็รู้อยู่ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ผิด อะไรเป็นสิ่งที่ถูก  อะไรดี อะไรชั่ว แต่เรายังไม่สามารถละความชั่วทั้งหลายได้ และทำความดีทั้งหลายได้ ก็เพราะว่า ความรู้ที่เรารู้อยู่นี้ ขาดการสนับสนุนของสมาธิ  ใจไม่มีกำลังที่จะทำในสิ่งที่ดี และละในสิ่งที่ไม่ดี  เพราะขาดกำลัง  ปัญญาเปรียบเหมือนกับมีดที่คม แต่คนที่จะใช้มีด กลับไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง  ก็ไม่สามารถที่จะเอามีดไปตัดไม้ให้ขาดได้  เพราะไม่มีแรง  แต่ถ้าเอาคนที่ไม่มีเรี่ยวแรงนี้ มารับประทานอาหาร  มาพักผ่อนหลับนอน มาออกกำลังกาย ฝึกให้มีกำลังเสียก่อน  เมื่อมีกำลังแล้ว ทีนี้เอามีดไปฟันกับอะไร ก็จะขาดทันทีเลย เพราะว่าคนฟันก็มีกำลัง มีดก็คม 

ปัญญาทางพุทธศาสนา เราได้ยินได้ฟังกันอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่เราเกิดมา เพราะเราอยู่ในเมืองพุทธ เราได้ยินได้ฟังเสมอว่า อะไรคือบาป อะไรคือบุญ แต่ทำไมเราจึงไม่สามารถปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราปฏิบัติกันได้  นั่นก็เป็นเพราะว่าใจของเราไม่มีกำลังนั่นเอง ขาดกำลังที่จะต่อสู้กับความชั่วร้ายทั้งหลาย  ขาดกำลังที่จะทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม  เพราะไม่ได้สร้างพลังให้เกิดขึ้นมา  พลังนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราฝึกทำสมาธิกัน  จึงควรฝึกทำสมาธิกันอย่างสม่ำเสมอทุกๆวัน อย่างน้อยวันหนึ่งต้องมีแล้ว ๒ เวลา เช้าและเย็น  วันละชั่วโมงก็จะดี ในเบื้องต้นเราก็ไหว้พระสวดมนต์ไปก่อน  การไหว้พระสวดมนต์ก็เป็นการทำสมาธิในเบื้องต้น ทำให้ใจเราลืมเรื่องราวต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมา  เมื่อสวดมนต์ไปสักระยะหนึ่งแล้ว  เรารู้สึกว่าใจเราค่อยสบาย ค่อยว่าง ค่อยเบา เราก็หยุดสวด แล้วก็นั่งกำหนดดูลมหายใจเข้าออก  หรือบริกรรมคำว่าพุทโธ พุทโธ ด้วยสติระลึกรู้อยู่กับอารมณ์นั้นๆ  ถ้าจะใช้ลมก็ให้อยู่กับลม  เช่นลมเข้าก็ให้รู้ว่าลมเข้า  ลมออกก็รู้ว่าลมออก  หายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น  หายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว  ลมหยาบก็รู้ว่าลมหยาบ  ลมละเอียดก็รู้ว่าลมละเอียด  ลมหายไปจากความรู้สึก ก็ให้รู้ว่าลมหายไปจากความรู้สึก  โดยที่ไม่ต้องไปกลัวว่า  เมื่อไม่มีลมหายใจแล้วจะตาย  ตราบใดมีสติระลึกรู้อยู่  จะไม่ตาย  ขอให้รู้ไว้อย่างนี้  แล้วจิตจะสงบ  จิตจะนิ่ง เมื่อจิตนิ่งแล้ว  จิตจะมีความสุข มีความอิ่ม มีความสบายใจ อารมณ์ต่างๆ  ความโลภโมโทสันจะสงบตัวลง  ในขณะที่จิตมีสมาธิ มีความสงบ 

นี่แหละจะทำให้จิตมีพลังที่จะเบรกใจต่อไป  หลังจากที่จิตออกมาจากสมาธิแล้ว เวลาเกิดอารมณ์อยากขึ้นมาก็จะระงับได้ง่าย  เกิดอารมณ์โกรธขึ้นมาก็จะระงับได้ง่าย จะไม่ไปตามอารมณ์นั้นๆ เพราะจิตเคยถูกเบรกอยู่แล้ว  เรามีกำลังที่จะเบรกใจของเราแล้ว  เราสามารถระงับกิเลสตัณหาได้  ในขณะที่เราดำเนินชีวิตของเราไปตามปกติ  เวลาใจของเราคิดไปในทางที่ดี เราก็ส่งเสริม  เวลาคิดไปในทางที่ไม่ดีเราก็ระงับได้   ต่อไปชีวิตของเราจะมีแต่สิ่งที่ดีที่งาม   สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ก็จะถูกระงับ ถูกตัดไปเรื่อยๆ จนในที่สุด สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายที่มีอยู่ในใจของเรา ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ว่าจะเป็นตัณหาความอยากต่างๆ ก็จะหมดไปจากใจ  เมื่อใจไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มีตัณหาความอยากต่างๆแล้ว  ใจจะสงบ มีแต่ความสุข  เพราะว่าสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับใจนั้น ไม่ใช่เรื่องราวภายนอก ไม่ใช่สิ่งของภายนอก  แต่สิ่งที่มีอยู่ในใจของเรานั่นแหละ ก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆนั่นเอง  ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้ว ใจก็จะอยู่เป็นสุข  ไม่หิวไม่อยากกับอะไร  นี่แหละคือผลที่จะตามมา จากการเจริญสติอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง  การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้