กัณฑ์ที่ ๑๒๕       ๓ สิงหาคม ๒๕๔๕

ชีเปลือย

 

เทศกาลเข้าพรรษาก็ผ่านมาได้ประมาณ ๑๐ วันแล้ว  ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา จะมีการถวายของพิเศษอยู่ ๒ รายการด้วยกัน คือถวายเทียนกับถวายผ้าอาบน้ำฝน  การถวายเทียนก็เพื่อที่จะให้พระภิกษุ ที่อยู่จำพรรษาในอาวาส ได้มีแสงสว่างไว้ใช้ในยามค่ำคืน  เพราะในสมัยโบราณไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงต้องอาศัยแสงเทียนเป็นเครื่องให้แสงสว่าง  จึงเป็นธรรมเนียมประเพณีที่พุทธศาสนิกชน ตั้งแต่ปู่ย่าตายายมาในครั้งก่อนๆ ได้ปฏิบัติกันมา ได้สืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ อีกรายการหนึ่งที่ถวายกันในช่วงเข้าพรรษา ก็คือผ้าอาบน้ำฝน  มีไว้เพื่อให้พระสงฆ์ใช้เวลาฝนตก แล้วท่านอยากจะอาบน้ำฝน ท่านจะได้มีผ้าไว้นุ่งอาบ  ไม่ต้องเปลือยกาย

เรื่องของการถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้น มีความเป็นมาตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล  คือมีนางวิสาขา เป็นอุบาสิกาที่มีความศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการสร้างวัดบุพพาราม ณ พระนครสาวัตถี ถวายให้กับพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา ดูแลทำนุบำรุงภิกษุสามเณรด้วยปัจจัย ๔ อย่างสม่ำเสมอ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ พระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาทายิกาทั้งปวง  อยู่มาวันหนึ่งเธอมีความปรารถนาที่จะทำน้ำปานะ คือน้ำผลไม้คั้น ไปถวายพระให้ท่านได้ฉันในตอนบ่าย  จึงได้ส่งสาวใช้ไปที่วัด เพื่อให้ไปดูว่ามีพระอยู่จำนวนเท่าไร  ขณะที่สาวใช้เดินทางไปที่วัด ก็เกิดฝนตกใหญ่มาก แรงมาก ช่วงนั้นพระที่อยู่ในวัดเห็นว่ามีฝนตก  ก็เลยอยากจะอาบน้ำฝนกัน  ทีนี้ในสมัยนั้นเป็นสมัยที่มีผ้าน้อย  ผ้าหาได้ยาก  พระท่านไม่มีผ้านุ่งไว้อาบน้ำฝน ท่านจึงเปลือยกายอาบน้ำฝนในกลางลานวัดกัน พอสาวใช้เดินเข้าไปในวัด เห็นพระอาบน้ำเปลือยกาย ก็ตกใจ ก็เลยกลับไปเล่าให้นางวิสาขาฟังว่า ที่วัดไม่มีพระเลย มีแต่พวกชีเปลือย นางวิสาขาเธอเป็นคนฉลาด มีปัญญา ก็ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีโอกาสอันเหมาะอันควร ก็เลยได้เข้าไปกราบทูลเล่าเรื่องนี้ให้พระพุทธเจ้าได้ทรงทราบ  และขอปวารณาถวายผ้าอาบน้ำฝน ให้กับพระภิกษุไว้ใช้สำหรับอาบน้ำฝน เวลาที่เกิดฝนตกลงมา  พระพุทธองค์ทรงวินิจฉัย ทรงอนุญาต จึงมีธรรมเนียมการถวายผ้าอาบน้ำฝนตั้งแต่กาลนั้นมา จนถึงปัจจุบันนี้ 

เรื่องของผ้านี้ พระในสมัยพุทธกาลจะอยู่ด้วยความแร้นแค้น เพราะสมัยที่บุกเบิกเริ่มต้นสร้างพระศาสนาใหม่ๆ ยังไม่มีผู้มีศรัทธามาก และไม่ทราบว่าจะถวายอะไรให้กับพระ  พระจึงต้องหาผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามป่าช้า  ผ้าที่ทิ้งไว้ตามกองขยะ เก็บได้ชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก็เอามาสะสมไว้  เมื่อได้จำนวนพอที่จะนำมาทำเป็นผ้าห่ม ผ้าจีวร ก็จะเย็บปะ แล้วก็ตัดให้ได้สัดส่วนตามที่ต้องการ แล้วจึงนำไปย้อมด้วยน้ำฝาด  ที่ทำมาจากน้ำที่ต้มกับแก่นไม้ ที่จะออกเป็นสีกาสาวพัสตร์  ผ้าในสมัยนั้นจึงมีความเป็นมาอย่างนี้  ผ้ามีน้อย พระจึงต้องหาเศษผ้าที่เขาทิ้งไว้  ในระยะแรกๆ ก็จะมีใช้เพียง ๒ ผืน คือผ้านุ่งที่เรียกว่าผ้าสบง และผ้าห่มคือผ้าจีวร  ต่อมามีพระไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า เวลาหน้าหนาว ผ้าห่มผืนเดียวไม่พอกันหนาว  พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้มีผ้าผืนที่ ๓ ขึ้นมา เรียกว่าผ้าสังฆาฏิ  เป็นผ้าที่ทำเป็น ๒ ชั้น เพื่อที่จะได้หนาพอไว้ห่มกันหนาว  ผ้าสังฆาฏินี้ ญาติโยมจะเห็นเวลาพระท่านประกอบพิธีกรรม ท่านจะพาดไว้บนบ่าของท่าน นั่นแหละคือผ้าสังฆาฏิ  ญาติโยมอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมท่านถึงต้องเอาผ้าพาดไว้บนบ่า  คือเนื่องจากในสมัยพุทธกาล พระท่านจะมีผ้า ๓ ผืน คือผ้าไตรจีวร  ได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ ไว้ใช้ประจำตัว เป็นสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับพระ  เวลาจะไปไหนมาไหน พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย ให้พระสงฆ์ต้องนำผ้าทั้ง ๓ ผืนนี้ ติดตัวไปด้วย  แม้กระทั่งเวลาออกบิณฑบาตก็ให้ซ้อนผ้าจีวรกับสังฆาฏิไป   เพราะว่าเวลาอยู่ในป่านั้น ไม่มีที่เก็บที่มิดชิด  ถ้าเกิดทิ้งผ้าผืนใดผืนหนึ่งไว้แล้ว เวลาไปบิณฑบาตกลับมาอาจจะไม่เจอผ้าผืนนั้นก็ได้ เพราะผ้าเป็นสิ่งที่หายาก  อาจจะมีขโมยมาลักไปก็ได้ จึงได้บัญญัติให้พระต้องรักษาผ้าครอง คือผ้าไตรจีวรทั้ง ๓ ผืนนี้ไว้  ให้อยู่ติดตัวเสมอ ไม่ว่าจะไปไหนก็ตาม จะต้องติดไปกับตัวเสมอ 

ดังนั้นเวลาท่านประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น การอุปสมบท การลงอุโบสถฟังปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน ก็จะต้องมีผ้าทั้ง ๓ ผืนนี้ติดตัวไว้เสมอ  นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ญาติโยมเห็นพระท่านมีผ้าผืนที่ ๓ พาดอยู่ที่บ่าของท่าน  อาจจะไม่ทราบความหมายว่า ทำไมจะต้องเอาผ้าผืนที่ ๓ นั้นพาดไว้  เนื่องจากเป็นธรรมเนียมที่จะต้องรักษาผ้าครองนั่นเอง  ส่วนผ้าอื่นๆ นอกเหนือจากผ้า ๓ ผืนนี้แล้ว เราเรียกว่าผ้าอติเรกจีวร  คือเป็นผ้าที่เกินความจำเป็น แต่ถ้ามีศรัทธาญาติโยม มีจิตศรัทธาที่จะถวายให้พระ  พระก็รับมาใช้ได้  แต่ไม่ต้องดูแลรักษาเหมือนกับผ้าครองทั้ง ๓ ผืน  นี่ก็คือเรื่องราวของความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องผ้าในสมัยพุทธกาล  พระในสมัยพุทธกาลนั้น ท่านอยู่ด้วยความลำบากยากเย็นเกี่ยวกับเรื่องปัจจัย ๔ เพราะในสมัยพุทธกาลยังไม่มีความเจริญทางด้านวัตถุนั่นเอง จึงไม่ค่อยมีเครื่องใช้ไม้สอยเท่าไร เหมือนกับในสมัยนี้  ที่มีความเจริญทางด้านวัตถุมาก มีเครื่องใช้ไม้สอย มีปัจจัย ๔ พร้อมบริบูรณ์  สภาพที่เป็นอยู่ในอดีตกับปัจจุบันจึงไม่เหมือนกัน เราจึงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องมีบทบัญญัติต่างๆให้พระท่านปฏิบัติตาม

เหตุที่พระยังต้องรักษาธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้อยู่ ก็เพราะว่าธรรมวินัยนี้เป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า คือหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ไม่ได้ทรงตั้งให้พระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดเป็นศาสดาแทน  แต่ทรงมอบไว้กับพระธรรมวินัย ที่ได้ทรงตรัสไว้ชอบแล้ว คือดีแล้ว เหมาะสมแล้ว  ถ้าผู้ใดยึดถือพระธรรมวินัย ปฏิบัติตามธรรมวินัยแล้ว จะมีแต่ความสุขและความเจริญ สามารถบรรลุถึงมรรคผลนิพพาน ได้อย่างแน่นอน  นี่เป็นเหตุที่ทำให้พระภิกษุในอดีตและในปัจจุบัน ยังคงรักษาพระธรรมวินัยไว้อย่างเคร่งครัด  ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ในอดีตกับเหตุการณ์ในปัจจุบันจะแตกต่างกันไปแล้ว  และข้อบัญญัติบางข้อ ดูไปก็เหมือนกับว่าไม่จำเป็นก็ตาม  แต่เพื่อเป็นการรักษาธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ให้อยู่ยืนยาวนาน เป็นสรณะเป็นที่พึ่งของพระ และเป็นสรณะเป็นที่พึ่งของพุทธศาสนิกชนทั่วๆไป 

บรรดาพระเถระทั้งหลายที่ได้ทำสังคายนาครั้งแรก ๓ เดือนหลังจากที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น มีอยู่ ๕๐๐ รูป ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พระพุทธบัญญัติคือธรรมวินัยทุกบททุกบาท ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ จะรักษาไว้ต่อไป ถึงแม้ว่าพระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวกับพระอานนท์ไว้ ก่อนที่จะเสด็จปรินิพพานไปว่า ธรรมวินัยข้อใดที่เป็นข้อเล็กข้อน้อย  ถ้าสงฆ์เห็นว่าต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง หรือต้องการจะยกเลิก ถ้าสงฆ์มีมติเป็นเอกฉันท์ ก็สามารถที่จะทำได้  แต่พระอานนท์เวลารับฟังจากพระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ทูลถามว่า บทบัญญัติที่เป็นข้อเล็กข้อน้อยนั้นมีอะไรบ้าง จึงเลยไม่ทราบว่าข้อไหน เป็นข้อที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ยกเลิกได้ ไม่ต้องปฏิบัติตามได้  เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงมีความเห็นว่า ถ้าไปเลิกข้อใดข้อหนึ่งที่เราคิดว่าเป็นข้อเล็กข้อน้อย  แต่พระพุทธเจ้ากลับเห็นว่าเป็นข้อใหญ่ข้อสำคัญ ถ้าไปเลิกเสียก็จะไม่ดี 

จึงมีมติให้รักษาพระวินัยทุกๆข้อ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้  เพราะขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระภิกษุสามเณรก็สามารถรักษาวินัยทุกบททุกบาท ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ได้  จึงเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นสิ่งที่สุดวิสัย ที่ผู้ที่จะมาบวชต่อไปในภายภาคหน้าจะไม่สามารถปฏิบัติตามได้  และเหตุผลอีกข้อหนึ่งก็คือ เพื่อเป็นการกันการครหาของผู้ที่นับถือลัทธิอื่น ที่จะตำหนิติเตียนพระภิกษุสามเณรของพระพุทธศาสนาได้ว่า พอศาสดาตายไปไม่กี่วัน ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ที่ศาสดาได้กำหนดไว้ ได้วางไว้ ก็เริ่มเสื่อมไปแล้ว  นี่เองจึงเป็นเหตุที่ทำให้มีการลงมติที่จะรักษาพระธรรมวินัยไว้ทุกข้อไป และได้มีการปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้  จึงเป็นเหตุที่ทำให้ไม่สามารถจะทำบางสิ่งบางอย่างได้  เช่นการบวชสตรีให้เป็นภิกษุณี เพราะในสายเถรวาทของไทยเรา ได้รับการสืบทอดมาจากประเทศอินเดีย โดยพระอรหันต์ ๒ รูป ที่ได้จาริกมาเผยแผ่พระศาสนาในประเทศไทยในอดีต ได้นำพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ และพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ได้ลงมติรับรองที่จะรักษาไปตลอด มาปฏิบัติตาม 

ซึ่งมีบทบัญญัติอยู่ข้อหนึ่งที่ว่า เวลาจะบวชภิกษุณี จะต้องมีสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นผู้บวชให้ คือต้องมีภิกษุสงฆ์ คือพระที่เป็นชาย และภิกษุณีสงฆ์ คือพระที่เป็นหญิง ต้องบวชทั้ง ๒ สงฆ์เสียก่อน  ถึงจะถือว่าการบวชเป็นภิกษุณีนั้น ถูกต้องตามหลักธรรมวินัย  แต่ภิกษุณีสงฆ์มีอายุได้ประมาณพันกว่าปี ก็หมดไป  คือไม่มีหญิงที่สนใจจะบวชเป็นภิกษุณีอีกต่อไป  ภิกษุณีสงฆ์จึงได้หมดไป  หลังจากนั้นแล้ว ถ้ามีหญิงหรือสตรีคนหนึ่งคนใด เกิดมีจิตศรัทธาที่จะบวชเป็นภิกษุณี ก็จะไม่สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้แล้ว เพราะไม่มีภิกษุณีสงฆ์ที่จะทำการบวชให้  ในประเทศไทยจึงไม่มีการบวชภิกษุณี มาตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้งศาสนาเลยทีเดียว  จึงต้องทำความเข้าใจให้ทราบว่า ทำไมจึงบวชภิกษุณีไม่ได้ เพราะถ้าไปบวชแล้ว เท่ากับไปขัดหลักธรรมหลักวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ไม่ควรบัญญัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ และไม่ควรยกเลิกในสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้แล้ว

ถ้าพุทธศาสนิกชน คือพุทธบริษัท ๔ ปรารถนาความเจริญในชีวิตของการเป็นนักบวช เป็นนักปฏิบัติ ก็จะต้องดำเนินตามธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้เท่านั้น ถึงจะหวังความสุขความเจริญได้ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเกิดมีปัญหาขึ้นมาต่างๆนานา ซึ่งเคยปรากฏขึ้นแล้วตั้งแต่หลังจากที่พระพุทธเจ้า ได้ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานไป ก็จะมีกลุ่มภิกษุบางกลุ่ม เกิดมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป จากพระธรรมวินัย  บ้างก็ว่าเป็นสิ่งที่ยากเย็นต่อการปฏิบัติ บ้างก็ว่าไม่จำเป็นสำหรับเวลานั้นแล้ว ก็เลยไม่ปฏิบัติตาม จึงเกิดความย่อหย่อนในการประพฤติปฏิบัติ ทำให้พระที่ปฏิบัติด้วยความเคร่งครัด เกิดมีความรังเกียจกัน เลยทำให้อยู่ร่วมกันไม่ได้ เพราะมีศีลไม่เท่ากันเสียแล้ว คนหนึ่งรักษา ๒๒๗ ข้อ แต่อีกคนหนึ่งรักษาไม่ครบ ๒๒๗ ข้อ ก็เลยทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ จึงเกิดมีการแตกออกไปเป็นนิกายต่างๆขึ้นมา พวกที่แตกออกไป ก็อยู่ได้ไม่นาน ก็สูญสลายหายไปหมด

นี่คือเรื่องราวความเป็นมาของพระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ให้พระภิกษุสงฆ์ปฏิบัติ ในประเทศไทยก็ยังมีการปฏิบัติตามธรรมตามวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้อยู่ จึงมีภิกษุสงฆ์อยู่กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ และจะอยู่ไปได้อีกตลอดอายุขัยของพระศาสนา คือ ๕๐๐๐ ปี ถ้าพุทธบริษัทมีความเคารพ มีความศรัทธา มีความเชื่อที่ปฏิบัติตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงพระธรรมวินัยแล้ว ต่อไปพระศาสนาก็จะไม่มีอะไรเหลือ เพราะโดยปกติแล้ว ใจของปุถุชนอย่างเราอย่างท่าน ล้วนมีกิเลส มีตัณหา ซึ่งไม่ชอบปฏิบัติตามธรรมวินัย เพราะธรรมวินัยมีไว้เพื่อปราบกิเลสตัณหานั่นเอง มีไว้เพื่อกำจัด มีไว้เพื่อชำระกิเลสตัณหา กิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจของปุถุชนอย่างพวกเรา จึงมีความรู้สึกอึดอัดใจ เวลาที่จะต้องปฏิบัติตามกฎ ตามระเบียบ กิเลสชอบทำอะไรตามอำเภอใจ ตามอารมณ์ นึกอยากจะกินก็กิน นึกอยากจะนอนก็นอน นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ โดยไม่คำนึงถึงว่าการกระทำนั้นๆ จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือไม่อย่างไร ซึ่งก็คล้ายๆ กับเดรัจฉานนั่นเอง

มนุษย์เป็นมนุษย์ได้เพราะมีศีลมีธรรม มีระเบียบมีวินัย ผู้ใดก็ตาม ถึงแม้จะมีรูปร่างเป็นมนุษย์ แต่ถ้าจิตใจขาดศีลขาดธรรม ขาดวินัย ก็ไม่ต่างกับเดรัจฉาน นึกอยากจะทำอะไรก็ทำตามอำเภอใจ จะสร้างความเดือดร้อน เบียดเบียนผู้อื่นสักเท่าไหร่ ก็ไม่สนใจ จึงควรทำความเข้าใจว่า ถึงแม้จะเกิดมามีรูปร่างเป็นมนุษย์ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมนุษย์เสมอไป ถ้าต้องการจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ก็ต้องมีศีล ๕ เป็นอย่างน้อย และปฏิบัติตามกฎ ตามระเบียบที่ดีที่งาม เพราะถ้าไม่มีศีล ๕ แล้ว จิตก็จะตกลงไปสู่ที่ต่ำ เป็นจิตของเดรัจฉาน ของเปรต ของอสุรกาย ของสัตว์นรก ถ้าต้องการที่จะรักษาความเป็นมนุษย์ รักษาความเป็นผู้ประเสริฐ เป็นคนดี ก็ต้องรักษาศีลทั้ง ๕ ข้อไว้ให้ดี คือ ต้องละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ละเว้นจากการลักทรัพย์ ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ และละเว้นจากการเสพสุรายาเมา ถ้ารักษาศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ได้แล้ว ถือได้ว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือเป็นมนุษย์ทั้งกาย และเป็นมนุษย์ทั้งใจ และเมื่อถึงเวลาที่ร่างกายนี้จะแตกดับจะสลายไป ใจก็ยังรักษาความเป็นมนุษย์ได้อยู่ ใจที่รักษาความเป็นมนุษย์ได้ ก็จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก แต่ถ้าไม่สามารถรักษาความเป็นมนุษย์ได้ ก็จะต้องไปเกิดในอบาย ภูมิใดภูมิหนึ่ง  ขึ้นอยู่กับศีลที่ขาดไปนั้น มีมากน้อยแค่ไหน 

จึงขอให้พวกเราทั้งหลายจงเชื่อเวรเชื่อกรรม นี่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเลยก็ว่าได้ ที่สอนเกี่ยวกับเรื่องเวรเรื่องกรรม กรรมคือการกระทำของเราในปัจจุบันนี้ และในอดีตที่ผ่านมา เมื่อทำไปแล้วก็จะมีผล คือวิบากตามมา ผลจะดีจะชั่ว จะสุขจะเจริญ จะทุกข์จะเสื่อม จะเกิดในสุคติหรือจะเกิดในอบาย ก็ขึ้นอยู่กับกรรมที่เราทำกันไว้ ทั้งในปัจจุบันและในอดีตที่ผ่านมา เพราะกรรมที่ทำไว้ในอดีต อาจจะยังไม่มีโอกาสได้ส่งผล เพราะยังไม่สุกงอมพอ เมื่อถึงเวลาถึงกาลของเขา ก็จะส่งผลตามมา  ถ้าทำดี รักษาศีลรักษาธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีแต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเมตตากรุณา มีจิตที่สงบระงับ ดับกิเลสและตัณหาอยู่เสมอๆ ไม่ปล่อยให้ใจถูกอำนาจของกิเลสตัณหาครอบงำพาไป ก็จะเป็นจิตที่ดี เมื่อตายไปก็จะได้ไปสู่สุคติ คือจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก หรือไม่เช่นนั้นก็จะได้เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคลอย่างพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านเหล่านี้ล้วนทำแต่สิ่งที่ดีที่งามทั้งสิ้น ท่านมีความเชื่อในกรรม ท่านรู้ท่านเห็นว่า ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว นี่เป็นหลักตายตัว จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ก็ไม่สามารถปฏิเสธหลักกรรม สัจธรรมความจริงอันนี้ได้ เมื่อได้ทำกรรมอันใดไว้แล้ว ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น  เราจึงไม่ควรประมาทในเรื่องกรรมเป็นอันขาด ควรเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ขอให้เชื่อพระพุทธเจ้าเหมือนกับเชื่อบิดามารดาของเรา ที่สอนเราด้วยความเมตตา ด้วยความกรุณา ด้วยความปรารถนาดี ต้องการให้เรามีแต่ความสุข มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง

ฉันใดพระพุทธเจ้าก็เปรียบเหมือนกับเป็นบิดามารดาของพวกเรา พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พวกเรากระทำความดี ไม่ให้กระทำความชั่ว ให้ละกิเลสทั้งหลาย คือความโลภ ความโกรธ ความหลงให้ออกไปจากจิตจากใจ เพราะเมื่อทำไปแล้ว จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญอย่างแท้จริง พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว ได้เห็นผลมาแล้วอย่างประจักษ์ ไม่สงสัยเลย จึงได้นำมาประกาศสอนให้กับพวกเราทั้งหลาย ผู้ใดที่มีความศรัทธา มีความเชื่อแล้ว ผู้นั้นย่อมจะได้รับประโยชน์โดยถ่ายเดียว จะไม่มีโทษตามมาเลย ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถเห็นถึงอดีตชาติที่ผ่านมา หรืออนาคตชาติที่จะตามมาก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุด ในปัจจุบัน เราก็เห็นกันแล้วว่า คนที่ทำดี มีศีลมีธรรม  ย่อมอยู่ด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีทุกข์ไม่มีภัย ไม่มีความเสื่อมเสียตามมา

อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้เรามองปัจจุบันชาตินี้ และเชื่อในการกระทำความดี ถึงแม้ว่าการกระทำความดีของเรา จะไม่ทำให้เราร่ำรวยหรือเจริญด้วยยศถาบรรดาศักดิ์อย่างรวดเร็ว แต่ขอให้ทำความเข้าใจว่า ความร่ำรวยก็ดี ยศถาบรรดาศักดิ์ก็ดี ไม่ใช่สรณะ ที่พึ่งของใจ เพราะไม่สามารถดับทุกข์ ดับความกังวลใจได้ แต่ความดีต่างหาก ถ้าทำไปแล้วจะทำให้จิตของเรามีแต่ความสงบ มีแต่ความสุข มีแต่ความสบายใจ เพราะนี่คือธรรมชาติของความดีกับใจ เปรียบเหมือนกับอาหารกับร่างกาย เวลารับประทานอาหารเข้าไปในร่างกาย ก็จะทำให้ร่างกายมีความอิ่มหนำสำราญ สบายกายสบายใจตามมาด้วย ซึ่งต่างกับยาพิษ ที่รับประทานเข้าไปแล้ว ก็จะต้องไปทำลายร่างกาย ฉันใดการกระทำความชั่ว ก็เปรียบเหมือนกับยาพิษ ที่จะสร้างความวุ่นวาย สร้างความทุกข์ให้กับเรา สังเกตดู คนที่ทำบาปทำกรรม จะไม่ค่อยมีความสุขเลย มีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเสื่อมเสียตามมา นี่เป็นเหตุ เป็นผล ที่เราเห็นได้ในปัจจุบันชาตินี้ เหตุผลก็คือกรรมและวิบากนั่นเอง

ถ้าพวกเราปรารถนาความสุขและความเจริญ เราก็จะต้องทำแต่ความดี ถ้าไม่ต้องการความทุกข์ ความเสื่อมเสีย ความหายนะทั้งหลาย ก็จะต้องละเว้นจากการกระทำบาป การกระทำความชั่วทั้งหลาย แล้วชีวิตของเราจะดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม มีแต่ความสุขความเจริญ ขอให้เราประพฤติปฏิบัติ ตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ซึ่งเปรียบเหมือนกับพระศาสดาแทนพระพุทธองค์ ถ้าเราปฏิบัติตามธรรมวินัย ก็ถือว่าเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ถ้าเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ก็ถือว่าได้บูชาพระพุทธเจ้า เมื่อได้บูชาแล้ว สิ่งที่เราหวังได้ก็คือ ความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตที่จะตามมา ดังในพระบาลีที่แสดงไว้ว่า ปูชา จ ปูชนียานัง เอตัมมัง กลมุตตมัง การบูชาบุคคลที่สมควรแก่การบูชา เป็นมงคลอย่างยิ่งแก่ชีวิต จึงขอฝากเรื่องราวเหล่านี้ให้ท่านทั้งหลายนำไปพินิจพิจารณา และปฏิบัติ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้