กัณฑ์ที่ ๑๒๖     ๘ สิงหาคม  ๒๕๔๕

ครึ่งผี ครึ่งคน 

 

การเข้าพรรษาสำหรับชาวพุทธเรานั้น  หมายถึงการเข้าวัดเข้าวา เข้าหาพระศาสนาเพื่อศึกษาปฏิบัติธรรม เป็นการทำนุบำรุง ดูแลรักษาจิตใจ  เปรียบเหมือนกับเวลาที่เข้าโรงพยาบาลเพื่อหาหมอ ให้หมอตรวจสุขภาพ รักษาร่างกายของเรา ถ้ามีความจำเป็นจะต้องรักษาด้วยยาก็ต้องรักษาด้วยยา   ถ้าต้องรักษาด้วยการผ่าตัด  ก็ต้องผ่าตัด  จิตใจของเราก็เปรียบเหมือนกับร่างกาย จำต้องเข้าโรงพยาบาลของจิตใจ ก็คือวัด หรือพระศาสนา เพื่อจะได้รักษาซ่อมแซมจิตใจที่บอบช้ำจากการทำมาหากิน  การดูแลรักษาผลประโยชน์ของตน  จนลืมดูแลรักษาประโยชน์ของจิตใจ  ทำให้ใจกลายเป็นทาส กลายเป็นคนใช้ ที่ต้องทำงานไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ก็เลยไม่มีความสุขทางด้านจิตใจ ถึงแม้จะมีพร้อมบริบูรณ์ด้วยปัจจัย ๔ พร้อมบริบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข  แต่ใจกลับมีแต่ความรุ่มร้อน มีแต่ความวุ่นวายใจ  เพราะไม่ได้เข้าโรงพยาบาลรักษาใจนั่นเอง

ดังนั้นเมื่อถึงเวลาเข้าพรรษา จึงถือเป็นเวลาที่สมควร ที่จะเอาใจเข้าวัด เข้าโรงพยาลบาลของใจ เพื่อจะได้ดูแลรักษาใจตามสมควรแก่ความจำเป็น  บางท่านก็อาจจะสมาทานลดละอบายมุขต่างๆ เช่นการเสพสุรายาเมา  การเล่นการพนัน  การเที่ยวกลางคืน ละเว้นจากความเกียจคร้าน  ละเว้นจากการคบคนชั่วเป็นมิตร  หรือละเว้นจากการกระทำบาปต่างๆ เช่นละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ละเว้นจากการลักทรัพย์  ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี  ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ  บางท่านก็อาจจะบวชเลย  เข้าวัดตลอดเวลา ๓ เดือน  บวชเป็นพระ  บวชเป็นเณร  บวชเป็นชี  เหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการที่จะดูแลรักษาจิตใจให้ดีงาม เป็นการสร้างคนให้สมบูรณ์ สร้างให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  คนเราถ้ายังไม่ได้บวช ยังไม่ได้เรียน  ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรม ยังถือว่าเป็นคนสุกดิบอยู่  คือจะว่าสุกก็ไม่สุก จะว่าดิบก็ไม่ดิบ จะว่าเป็นคนก็ไม่ใช่คน จะว่าเป็นผีก็ไม่ใช่ผี ลักษณะเป็นแบบครึ่งผีครึ่งคน เพราะว่าจิตใจยังอยู่ภายใต้อารมณ์ของความดีและความชั่ว  ถ้าวันไหนอารมณ์ดีวันนั้นก็จะเป็นพรหม เป็นพระ เป็นเทวดา  แต่ถ้าวันไหนอารมณ์ไม่ดีครอบงำ  ก็จะกลายเป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นเปรต เป็นผีไป 

นี่คือลักษณะของคนที่ไม่เคยเข้าวัดเข้าวา ไม่ได้รับการอบรมบ่มนิสัย  ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้ปฏิบัติ  ชีวิตก็เลยเป็นชีวิตที่ลุ่มๆดอนๆ  ยังไม่เป็นคนที่สมบูรณ์  ยังไม่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  มีร่างกายเป็นมนุษย์แต่จิตใจยังไม่แน่นอน ยังมีขึ้นมีลงตามอารมณ์ที่มาปรากฏ  ถ้าอารมณ์ดีวันนั้นก็จะเป็นมนุษย์  เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระ  ถ้าวันไหนอารมณ์ร้าย  อารมณ์ไม่ดีมาครอบงำจิตใจ วันนั้นก็จะกลายเป็นเดรัจฉาน เป็นยักษ์ เป็นมาร  นี่คือสภาพจิตใจ  แต่ถ้าเมื่อได้เข้ามาบวช ได้มาศึกษา ได้มาปฏิบัติธรรม ได้ลดละกระทำสิ่งที่ไม่ดี กระทำแต่สิ่งที่ดี ชำระจิตใจ ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากทั้งหลาย ที่เป็นเหตุของการกระทำบาป การกระทำความชั่วทั้งหลาย ให้เบาบางลงไป  จิตใจก็จะกลายเป็นมนุษย์ขึ้นมาตามลำดับ จนกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเป็นนักบวช หรือเป็นฆราวาส แต่ขึ้นอยู่กับจิตสำนึก ว่ารู้หรือไม่ ว่าอะไรคือสมบัติของความเป็นมนุษย์ อะไรคือสมบัติของการเป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นเดรัจฉาน  ถ้ารู้แล้วและปฏิบัติตามได้ ก็ถือว่าได้เป็นมนุษย์แล้ว 

อย่างพระโสดาบัน ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้น เป็นผู้ที่เห็นแล้วในเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ ในเรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เรื่องกรรม  ท่านจึงไม่สงสัยในเรื่องของกรรมเลยแม้แต่นิดเดียว  ท่านเห็นแล้วว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจึงตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ ได้อย่างสมบูรณ์  คือเป็นมนุษย์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม จะไม่ละเมิดศีล ๕ โดยเด็ดขาด ด้วยอานิสงส์ของการมีดวงตาเห็นธรรม คือเห็นหลักกรรม  เห็นว่าการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จึงทำให้ท่านรักษาศีล ๕ เป็นนิสัย เป็นธรรมชาติของจิต  คือจะสมาทานหรือไม่สมาทานก็ตาม  จะมาวัดในวันพระหรือไม่มาวัดในวันพระก็ตาม  จะเป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิตนักบวชก็ตาม  จะดำรงอยู่ในศีล ๕ นี้ อย่างแน่วแน่มั่นคง ไม่ละเมิดเลย ถึงแม้ชีวิตก็สามารถสละได้เพื่อรักษาธรรม  คือศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ไว้  ด้วยอานิสงส์แห่งการปฏิบัตินี้ จึงทำให้ท่านไม่ต้องไปเกิดในอบายอีกต่อไป  ถึงแม้ในอดีตจะเคยทำบาปทำกรรมมา มากมายก่ายกองนับไม่ถ้วน  แต่เมื่อได้บรรลุธรรม มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว  จะมีปัญญาที่สามารถยับยั้งจิตไม่ให้ไปสู่ที่ต่ำได้  ไม่ให้ไปสู่การไปเกิดในที่ต่ำได้  ด้วยอำนาจของปัญญา  ด้วยอำนาจของธรรมะที่ได้เห็นนั่นเอง  ภพชาติของท่านก็จะมีเหลือไม่เกินอีก ๗ ชาติเป็นอย่างมาก  คือถ้าชาตินี้ยังไม่ได้บรรลุธรรมที่สูงขึ้นไปกว่านี้ ก็จะกลับมาเกิดไม่เกิน ๗ ชาติ  และแต่ละชาตินั้นก็จะเกิดในสุคติ คือไม่กลับไปเกิดในอบายเป็นเด็ดขาด 

นี่แหละคืออานิสงส์ของผู้ที่เข้าหาพระศาสนา เข้าหาวัดหาวา ศึกษาปฏิบัติธรรม ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  ดังที่ท่านทั้งหลายได้มาปฏิบัติกัน ตามสมควรแก่กำลังแห่งสติปัญญาศรัทธา ว่าจะมีมากหรือน้อยแค่ไหน  บางท่านก็จะถือศีล ๘ ตลอดพรรษา  บางท่านก็จะใส่บาตรทุกวัน  บางท่านก็จะมาวัดทุกๆวันพระ เพื่อฟังเทศน์ฟังธรรม  บางท่านก็จะปฏิบัติธรรมอยู่ที่บ้าน ทุกวัน ทุกเช้า ทุกเย็น  อย่างน้อยจะต้องสวดมนต์ไหว้พระและนั่งสมาธิ ทุกเช้าทุกเย็นเป็นประจำ  เวลาว่างก็จะหาหนังสือธรรมะมาอ่าน  หาเทปธรรมะมาฟัง  จะไม่ดูเรื่องบันเทิงทั้งหลายที่ไม่มีคุณ ไม่มีสาระ ไม่มีประโยชน์กับใจ  นี่แหละคือสิ่งที่จะนำพาท่านไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  คือเป็นผู้ที่สามารถดำรงอยู่ ตั้งอยู่ในศีล ๕ อันเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ ของเทพ ของพรหม ของพระอริยบุคคลทั้งหลาย  ท่านเหล่านี้ล้วนมีศีล ๕ เป็นพื้นฐาน   และจะพัฒนาขึ้นไปสู่ศีล ๘  ศีล ๑๐  ศีล ๒๒๗  ต่อไป 

ศีลจึงเป็นธรรมที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต่อผู้ที่ปรารถนาการพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น ให้ดีขึ้น ให้เป็นผู้ประเสริฐ ให้ไปสู่จุดที่สูงสุดของมนุษย์ที่สามารถจะไปได้ นั่นก็คือ มรรค ผล นิพพาน  ดังที่พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ได้เดินทางไปถึงก่อนหน้าแล้ว  หลังจากที่ได้ไปถึงแล้ว ท่านจึงกลับมาสอนพวกเรา  ให้เห็นคุณอันวิเศษในการกระทำความดี  ในการรักษาศีล ว่าจะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญที่แท้จริง  จะนำมาซึ่งการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด   ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงที่มีในวัฏสงสาร ก็จะหมดสิ้นไปจากใจของผู้ที่ได้บรรลุถึงพระนิพพาน มีแต่บรมสุข ที่เรียกว่าปรมังสุขัง เป็นความสุขที่ไม่มีความทุกข์เจือปนอยู่เลย  ไม่เหมือนกับความสุขของปุถุชนอย่างพวกเรา ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้อยู่  เป็นความสุขที่ผสมกับความทุกข์  สลับกันไปสลับกันมา อยู่อย่างต่อเนื่อง 

จึงขอให้พวกเราจงอย่าประมาท  อย่าไปเห็นคุณค่าของความสุขเล็กๆ  น้อยๆ ที่ได้ประสบในภพนี้ ในชาตินี้  เพราะเป็นความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว  เปรียบเหมือนกับยาขมที่เคลือบน้ำตาล   เวลาน้ำตาลที่เคลือบถูกละลายออกไปหมดแล้ว ก็จะเหลือแต่ความขม  ฉันใดความสุขที่ได้รับจากลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ก็เปรียบเหมือนกับความสุขที่เคลือบความทุกข์ไว้  เวลาเจริญลาภ เจริญยศ ได้ยินคำสรรเสริญ ได้สัมผัสกับกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ถูกอกถูกใจ ก็มีความสุข  แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้เสื่อมหายไป  ความทุกข์ก็จะย่างกรายเข้ามา  จึงอยากจะขอให้เราคำนึงถึงสุขที่วิเศษ สุขที่ประเสริฐกว่านี้ ที่เราสามารถหาได้ไม่ยากเย็นเลย  เพราะมีอยู่ภายในใจของเราแล้ว เพียงแต่ถูกกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมองครอบงำอยู่  เปรียบเหมือนกับพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ที่มีความสว่างไสวอยู่ในตัว  แต่มีเมฆหมอกมาปกคลุมหุ้มห่อ จึงทำให้ดวงอาทิตย์หรือพระจันทร์มืดมิดไป  

ฉันใดความสุขอันวิเศษ ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้บรรลุถึงนั้น ก็ไม่ได้อยู่ที่ไหน  ไม่ได้อยู่ที่ภายนอก  ไม่ได้อยู่กับพระพุทธเจ้า  ไม่ได้อยู่กับพระอรหันตสาวก  ไม่ได้อยู่กับใครเลย  แต่อยู่ในใจของเราทุกๆคน  เพียงแต่ถูกปกปิดหุ้มห่ออยู่  เปรียบเหมือนกับทองคำที่ตกไปในตมในโคลน  แล้วโดนตมโคลนปกปิดเสีย จนมองไม่เห็น  อย่างพระพุทธรูปทองคำองค์หนึ่ง ที่มีอยู่ในเมืองไทย   เดิมทีก็เอาปูนมาฉาบมาโปะคลุมไว้ เลยไม่รู้ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำ  วันดีคืนดีเกิดมีอุบัติเหตุ ทำให้ปูนที่ฉาบพระพุทธรูปทองคำนั้น แตกหักออกมา  จึงทำให้เห็นเนื้อแท้ของพระพุทธรูป ว่าทำด้วยทองคำบริสุทธิ์  จิตใจของเราก็จะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อได้ชำระให้บริสุทธิ์ ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ครอบงำแล้ว  จะเป็นจิตที่มีความสุขอย่างยิ่ง  เป็นบรมสุข  เป็นจิตที่ไม่มีความทุกข์อยู่แม้แต่นิดเดียว  แต่เนื่องจากว่าจิตยังมีอุปกิเลส ซึ่งเปรียบเหมือนกับอาคันตุกะ เหมือนกับเมฆหมอก ที่ลอยมาปกปิดหุ้มห่อดวงจิต  จึงทำให้จิตสกปรกไป เป็นจิตที่มีมลทิน มีความเศร้าหมอง  จึงสร้างแต่เรื่องความทุกข์ เรื่องความหิวกระหาย ความอยากให้กับจิตไม่มีที่สิ้นสุด 

แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนา  ไม่ได้พบกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้พบกับพระอริยสงฆสาวก ผู้สามารถปฏิบัติชำระอุปกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหาความอยากทั้งหลาย ให้หมดไปจากจิตจากใจได้  แล้วนำเรื่องราวอันวิเศษนี้มาประกาศ มาสั่งสอนให้กับสัตว์โลกทั้งหลายให้ได้รู้กัน   ผู้มีปัญญาเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว  ย่อมเกิดศรัทธา  ย่อมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้  และย่อมปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน  เมื่อนำไปปฏิบัติแล้วผลจะค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาตามลำดับแห่งการปฏิบัติ  เหมือนกับเวลาที่ไม่สบายแล้วไปหาหมอ  หมอก็ให้ยามารับประทาน  การไปหาหมอแล้วรับยาจากหมอมารับประทาน แสดงว่าเป็นคนมีปัญญา  เชื่อว่าหมอมีความรู้ มีความสามารถ มียาที่จะรักษาโรคได้  จึงไปหาหมอ เล่าอาการของโรคให้หมอทราบ หมอก็วินิจฉัย แล้วก็จัดยาให้มารับประทาน  เมื่อนำยามารับประทาน อาการที่มีอยู่ในร่างกาย ก็จะค่อยทุเลาเบาบางลงไป ตามกำลังของยาที่รับประทานเข้าไป  จนในที่สุดโรคก็จะหายไป  อาการต่างๆที่เกิดจากโรคก็จะหายไป  เพราะยาได้เข้าไปทำลายเชื้อโรค ที่สร้างความไม่สบายให้กับร่างกาย  

ฉันใดใจก็มีเชื้อโรคเช่นกัน  เชื้อโรคที่สร้างความทุกข์ให้กับใจ ก็คือกิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากในกาม  ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น  ความอยากร้อยแปดพันประการ  ซึ่งล้วนเป็นเหตุที่จะสร้างความทุกข์ใจ ความไม่สบายใจให้กับเรา  อย่างในขณะนี้ ใจของเรามีความสงบ เพราะความอยากในใจยังไม่ปรากฏขึ้นมา ถึงแม้จะมีอยู่แต่กำลังนอนหลับ ยังไม่มีใครปลุกขึ้นมา  แต่ถ้ามีใครปลุกขึ้นมาแล้ว  เช่นเกิดนึกได้ว่า วันนี้มีนัดเวลาแปดโมงครึ่ง เมื่อมองนาฬิกา ก็เห็นว่าแปดโมงครึ่งแล้ว ก็จะเกิดอาการกระวนกระวายใจขึ้นมาทันที เพราะอยากจะไปตามที่ได้นัดไว้  ที่นี้จะไปตอนนี้ก็ยังไปไม่ได้ ยังต้องนั่งอยู่ที่นี่ ก็จะเกิดอาการกระสับกระส่าย ไม่สงบ ไม่นิ่ง  เพราะมีความอยากปรากฏขึ้นมาในใจ  นี่แหละคือโรคของใจ ที่เกิดจากกิเลสตัณหา  จะเกิดขึ้นทันทีทันใด และจะดับไปได้ทันทีทันใดเหมือนกัน ถ้ามีสติมีปัญญา  เช่นถ้ารู้ว่ามีนัด   แต่เมื่อใช้ปัญญาพินิจพิจารณา ก็รู้ว่ากว่าจะไปถึงที่นัดหมายได้ ก็จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีกครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงหนึ่ง  ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไปไม่ทัน ก็ไม่ไปเสียก็หมดเรื่อง ไหนๆก็ไปไม่ทันอยู่แล้ว  ถ้าตัดใจได้ ยอมรับสภาพความเป็นจริง ว่าอย่างไร ก็ไปไม่ทัน ไปไม่ทันก็ไม่ต้องไป  สู้นั่งอยู่ที่นี่ ฟังเทศน์ฟังธรรมต่อไปจะดีกว่า  ถ้าใจคิดได้อย่างนั้นแล้ว ก็สามารถปลง ระงับความอยากที่จะต้องไปตามนัดนั้นได้   เมื่อระงับได้แล้ว ใจก็กลับมาสู่ความสงบต่อไป 

นี่แหละคือธรรมะ ก็คือเหตุผลนั่นเอง  เวลาคิดอะไร ถ้ามีเหตุมีผลแล้ว  จะชนะตัณหาได้  ชนะความอยากได้  แต่ถ้าไม่มีเหตุไม่มีผลแล้ว จะต้องถูกตัณหาความอยาก เป็นตัวการสร้างความทุกข์ให้กับเรา ไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น  เพราะคำว่าตัณหานั้น ท่านสอนว่า ไม่มีขอบ ไม่มีฝั่ง ไม่มีคำว่าพอ ได้เท่าไรก็ไม่พอ  ได้มาแล้วจะต้องอยากได้เพิ่มขึ้นไปอีก  เพราะนี่คือธรรมชาติของตัณหาความอยากทั้งหลาย  วิธีที่จะระงับตัณหาความอยากได้ จึงต้องใช้เหตุผล คือปัญญา หรือธรรมะ เวลาต้องการอะไร  ก็ต้องถามว่า สิ่งที่ต้องการนั้นจำเป็นต่อการดำรงชีพหรือไม่  ถ้าไม่มีสิ่งนั้นแล้ว จะตายหรือไม่  เช่นขณะนี้ ต้องสูดอากาศใช่ไหม  ถ้าไม่มีอากาศหายใจ ก็จะต้องตายใช่ไหม  ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ต้องมีอากาศหายใจไว้สูด แต่ถ้าต้องการเสื้อผ้าสักชุดหนึ่ง  หรือรถยนต์คันใหม่อีกสักคันหนึ่ง หรือโทรศัพท์มือถืออีกสักเครื่องหนึ่ง  ก็ต้องถามว่ามีความจำเป็นที่ต้องใช้สิ่งเหล่านั้นหรือเปล่า  ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้วจะตายไปหรือไม่  อย่างนี้ก็จะสามารถระงับดับความอยากได้  ถ้ายังไม่มีความจำเป็น ถ้าไม่มีแล้วไม่ตาย ก็ไม่ต้องเอาให้เสียเวลาเปล่าๆ เสียเงินเสียทองโดยใช่เหตุ  

การมีอะไรมากๆนั้น อย่าไปคิดว่าจะมีความสุขนะ กลับจะต้องกลายเป็นนักโทษ เป็นคนใช้ เป็นยามที่จะต้องคอยดูแลรักษาสิ่งของต่างๆ ที่มีอยู่  มีมากก็จะต้องดูแลรักษามาก  มีน้อยก็ดูแลรักษาน้อย  ถ้าต้องดูแลรักษามาก ก็มีความทุกข์มาก  ดูแลรักษาน้อย ก็มีความทุกข์น้อย  นี่แหละคือเรื่องของกิเลส ของตัณหา ที่สร้างความหิว ความอยาก ความต้องการให้กับใจ แบบไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ  ได้มามากน้อยเท่าไรก็ไม่พออยู่นั่นแหละ  ลองถามตัวเองดูสิว่า ตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันนี้ ได้อะไรมามากน้อยแค่ไหนแล้ว เวลาเกิดมาจากท้องแม่ก็ไม่ได้มีอะไรติดตัวมา  มีแค่อาการ ๓๒ คือร่างกาย  แม้แต่เสื้อผ้าก็ไม่ได้มีติดตัวออกมาเลย แล้ววันนี้มีอะไรบ้าง ลองทบทวนดู   มีแทบทุกอย่าง เต็มบ้านช่องไปหมด  นอกจากตัวเราแล้ว ยังมีสามี มีภรรยา มีบุตร มีธิดา เพิ่มขึ้นมาอีกตั้งหลายคน  แล้วสภาพจิตใจของเราเป็นอย่างไร ดีขึ้นไหม สบายขึ้นหรือเปล่า  หรือกลับต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นอีกมากมายก่ายกอง  เมื่อเกิดมาแรกๆ ก็มีตัวเราคนเดียว แสนจะสบาย  ดูแลปากท้องอันเดียว  ตอนที่เป็นเด็กๆนั้น เป็นอย่างไร มีความสุขไหม  วันๆหนึ่งแทบจะไม่ทุกข์กับอะไรเลย  มีแต่เล่น มีแต่กิน มีแต่นอน มีแต่ไปโรงเรียน แสนจะสบาย  แต่พอจบจากโรงเรียนออกมาแล้ว  เริ่มทำมาหากิน ทีนี้กิเลสตัณหาก็เริ่มออกฤทธิ์ เริ่มแผลงฤทธิ์  สั่งการให้ไปหาสิ่งนั้นมา  ไปหาบุคคลนั้นมา  แล้วเป็นอย่างไร  เดี๋ยวนี้มีอะไรมากมายก่ายกอง มีกิจการมากมาย  มีเงินทองมากมาย  มีสมบัติมากมาย  มีอะไรมากมายไปหมด แต่ใจเป็นอย่างไร  ใจกลับมีแต่ความวุ่นวาย มีความทุกข์มากมาย ตามไปกับสิ่งที่มีนั่นแหละ 

เพราะนี่แหละคือเรื่องราวของสิ่งของต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับใจ  มันไม่ได้ให้ความสุขกับใจเลย เพราะอะไร เพราะไม่ได้ให้ความสงบกับใจนั่นเอง  เวลามีอะไรก็อดที่จะคิด อดที่จะห่วง อดที่จะกังวลไม่ได้ เพราะของต่างๆ สิ่งต่างๆที่มีอยู่  หรือบุคคลต่างๆที่มีอยู่ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่อยู่นิ่งเฉย  มีการเปลี่ยนแปลง มีการเสื่อมไปเรื่อยๆ  มีแต่ปัญหาตามมา ที่จะต้องคอยแก้อยู่เสมอ อย่างเวลาซื้อรถยนต์มาคันหนึ่ง ถึงแม้จะมีประโยชน์  รับใช้เรา พาเราไปไหนมาไหนได้  ในทางตรงกันข้าม เราก็ต้องเป็นคนรับใช้เขาเหมือนกัน ต้องคอยเติมน้ำมันให้ เติมน้ำให้ ทำความสะอาด เอาเข้าอู่เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ เพราะเมื่อใช้ไปแล้วย่อมต้องเกิดการสึกหรอขึ้นมา  ก็เลยกลายเป็นคนรับใช้รถยนต์คันนั้นไป  เขารับใช้เราแล้ว เราก็ต้องรับใช้เขา 

สมมุติว่ามีเงินที่จะซื้อรถยนต์ แต่ไม่ซื้อ  เวลาจะไปไหนมาไหน ก็ขึ้นรถสองแถว ขึ้นรถแท็กซี่  หรืออยู่ใกล้ๆ ก็เดินไปไม่ดีกว่าหรือ  เดินไปก็ได้ออกกำลังกาย  ร่างกายก็มีกำลังวังชา  คนเราเดี๋ยวนี้มีเงินมีทองมาก ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายกัน มีแต่นั่งรถ มีแต่ขึ้นลิฟต์กัน  ทำอะไรก็มีแต่เครื่องผ่อนแรง ไม่ต้องออกแรง  ทำไปทำมา สุขภาพร่างกายเลยย่ำแย่ เพราะขาดการออกกำลังกาย  เลยต้องไปเสียเงินตามสถานที่ออกกำลังกาย เพื่อจะได้ออกกำลังกาย  เมื่อก่อนนี้ออกกำลังกายโดยไม่ต้องเสียเงินเสียทอง  และได้ประโยชน์  อย่างเกษตรกร ทำนาทำไร่  ก็ต้องใช้กำลังกาย  ได้ทั้งงานและการออกกำลังกาย  แต่สมัยนี้เราทำงานแบบสบาย  นั่งโต๊ะ เวลาไปไหนมาไหนแทบจะไม่ต้องเดิน  มีรถนั่งตลอดเวลา  ไม่ได้ออกกำลังกาย  เลยต้องไปเสียเงินออกกำลังกาย  อย่างนี้เราโง่หรือเราฉลาดกันแน่ ลองคิดดูให้ดี  สิ่งต่างๆที่มีไว้เพื่อผ่อนแรง ก็ล้วนแต่เป็นภาระแก่จิตใจ   เพราะเวลาเสียก็ต้องเสียเงินซ่อม  และถ้าใช้ไม่ได้ก็ต้องหามาใหม่  เลยกลายเป็นสิ่งที่คอยกดดัน ให้ต้องออกไปหาเงินหาทอง เพื่อจะได้ซื้อสิ่งของเหล่านี้ มาบำรุงบำเรอชีวิตของเรา  ตลอดทั้งชีวิตเลยหาความสงบ หาความสุขไม่ได้   เพราะจิตจะต้องคอยคิดหาเงินหาทองอยู่ตลอดเวลา  เมื่อหาเงินหาทองมาแล้ว ก็ต้องคิดว่าจะใช้เงินอย่างไร  เมื่อได้สิ่งของมาแล้ว ก็ต้องคิดอีกว่าจะต้องใช้อย่างไร  ต้องดูแลอย่างไร  มีแต่เรื่องที่จะต้องคิดอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอันสิ้นสุด ก็เลยไม่มีความสงบ 

ตราบใดจิตไม่มีความสงบแล้ว อย่าไปหาความสุขเลย  เพราะความสุขที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อจิตนิ่ง จิตสงบนั่นเอง จิตจะนิ่ง จิตจะสงบได้ก็ต้องปฏิบัติธรรม  ก่อนจะปฏิบัติธรรม ก็ต้องศึกษาธรรมก่อน ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร  จะศึกษาก็ต้องเข้าวัดนั่นเอง  จึงต้องเข้าวัด มาทำบุญทำทาน ฟังเทศน์ฟังธรรม อย่างที่ได้มากระทำกันในวันนี้  นี่แหละคือจุดเริ่มต้น ที่จะนำพาไปสู่ความสุขที่แท้จริง คือสันติสุขที่จะปรากฏขึ้นมาภายในใจ  ในเบื้องต้นต้องขยันศึกษา หมั่นฟังเทศน์ฟังธรรม  หาหนังสือธรรมะมาอ่านมากๆ เพื่อจะได้รู้ถึงสาเหตุที่สร้างความทุกข์ความวุ่นวายใจ เมื่อทราบแล้ว จะได้ศึกษาถึงวิธีที่จะชำระ หรือกำจัดต้นเหตุของความทุกข์ความวุ่นวายใจ  เมื่อรู้แล้ว ก็นำไปปฏิบัติ  โดยสรุปแล้วพระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติ ๓ ข้อใหญ่ๆ  คือ ๑. ให้ละการกระทำบาปทั้งหลายเสีย  ๒. ให้กระทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม  ๓. ให้ชำระกิเลสตัณหาให้หมดไปจากจิตจากใจ  ถ้าปฏิบัติได้แล้ว  จิตก็จะสะอาด  เมื่อจิตสะอาดแล้ว  จิตก็จะมีแต่ความสุข  เมื่อมีความสุขแล้ว ก็ไม่ต้องมีอะไรอีกต่อไป  อย่างพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวก  ท่านไม่มีสมบัติอะไรภายนอกเลย  แต่ภายในใจของท่านมีสมบัติอันล้ำเลิศ คือโลกุตรธรรม ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง มีแต่ความสุข ความอิ่ม ความพอ อยู่ในใจ  เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว สมบัติภายนอกต่างๆ จึงไม่มีความหมายอะไรเลย  เปรียบเหมือนกับคนที่รับประทานอาหารอิ่มเต็มที่แล้ว  ต่อให้ใครเอาอาหารดีๆขนาดไหนมาตั้งไว้อยู่ข้างหน้า  ก็จะไม่มีความรู้สึกยินดีที่อยากจะรับประทานเลย ฉันใดอริยทรัพย์หรือโลกุตรธรรม  ที่ท่านทั้งหลายจะได้ประสบจากการปฏิบัติธรรม ก็จะเป็นเช่นนั้น  จึงขอฝากเรื่องการปฏิบัติธรรม  การละเว้นการกระทำความชั่ว  ละเว้นอบายมุขทั้งหลาย ตลอดเวลา ๓ เดือนในพรรษากาลนี้ ให้ท่านนำไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติ ตามสมควรแก่กำลังสติปัญญาศรัทธา  แล้วความสุข ความเจริญ ความเป็นสิริมงคล ที่ท่านทั้งหลายปรารถนา ก็จะเป็นของท่านอย่างแน่นอน การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้