กัณฑ์ที่ ๑๒๗        ๑๖  สิงหาคม  ๒๕๔๕

ทวนกระแสจิต

 

วันนี้เป็นวันพระ เป็นวันที่ท่านทั้งหลาย ได้กำหนดไว้ในใจ ตั้งแต่วันก่อนว่า เมื่อถึงวันนี้จะมาวัด เพื่อประกอบคุณงามความดี ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ตามสมควรแก่กำลังศรัทธา สติปัญญา ความสามารถ ความพากเพียร เป็นการกระทำที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญ  จึงเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำอย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นการให้อาหารกับจิตใจ  ทำนุบำรุงรักษาจิตใจ ไม่ให้ความทุกข์ต่างๆมารุมเร้าสร้างความเจ็บปวด สร้างความไม่สบายอกไม่สบายใจให้กับเรา เพราะความทุกข์เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ดับได้ ไม่จำเป็นจะต้องมีอยู่ในชีวิตของเรา ถ้าเรารู้จักเหตุของความทุกข์ว่าเกิดมาจากอะไร  แล้วระงับเหตุนั้นเสีย ความทุกข์ก็ย่อมไม่ปรากฏขึ้นมา  เหมือนกับรู้จักเหตุที่จะทำให้ไฟไหม้  ถ้ามีเชื้อเพลิง มีไฟ แล้วอยู่ติดกัน ก็ทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นมาได้  ถ้าต้องการดับไฟ ก็ต้องเอาเชื้อเพลิงออกจากไฟ แยกออกจากกัน  วิธีหนึ่งที่ทำกันก็คือเอาน้ำมาราดมาดับ  เมื่อน้ำดับไฟแล้ว ถึงแม้เชื้อเพลิงจะมีเหลืออยู่ ก็จะไม่ไหม้ต่อไป  นี่คือเรื่องของไฟที่ไหม้ แล้วก็ดับไปด้วยน้ำ 

ฉันใดใจของเราก็เป็นสิ่งที่ถูกเผาไหม้ได้ ก็คือความทุกข์นั่นเอง  แล้วสิ่งที่จะดับความทุกข์ได้ ก็คือน้ำแห่งธรรมะ  พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ถ้านำเอาพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้ามาประพฤติ มาปฏิบัติแล้ว  เราก็จะดับความทุกข์ที่มีอยู่ในใจของเราได้ เพราะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จะสอนให้รู้ว่าความทุกข์เกิดจากอะไร  และจะทำอย่างไรถึงจะดับความทุกข์ได้   ความทุกข์ที่เกิดในใจเรา เกิดจากความอยาก คือตัณหา  มีอยู่ ๓ ได้แก่ กามตัณหา ความอยากในกาม   ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น  วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น  หรือความกลัวนั่นเอง  ถ้าตราบใดใจยังมีความอยากทั้ง ๓ ประการอยู่  ก็จะมีความทุกข์เกิดขึ้นมาไม่มีที่สิ้นสุด  แต่ถ้าระงับดับความอยากทั้ง ๓ นี้ได้แล้ว ก็จะไม่มีความทุกข์เหลืออยู่ในใจเลย 

บางท่านอาจจะคิดว่า คนเราถ้าไม่มีความอยากแล้ว  จะอยู่ได้หรือ  เพราะชีวิตของเราทุกวันนี้ ที่อยู่ก็อยู่เพราะความอยากนี้ ไม่ใช่หรือ เพราะความอยากนำความสุขมาให้กับเรา   จริงอยู่เวลาอยาก แล้วได้สิ่งที่อยากมา เราก็มีความสุข  แต่เราไม่เคยสังเกตดูเลยว่า ความสุขที่ได้มานั้น เป็นความสุขแบบไหน  เป็นความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็จางหายไป  ทิ้งเหลืออยู่แต่ความหิว ความอยาก ที่จะได้สัมผัสกับความสุขอย่างนั้นอีก  เลยสร้างความอยากให้เพิ่มขึ้นมาอีก  เมื่อมีความอยากแล้ว เราก็อยู่เฉยๆไม่ได้  ต้องออกไปแสวงหาในสิ่งที่อยาก  เป็นวงจรอยู่อย่างนี้ไป ไม่มีที่สิ้นสุด  ตั้งแต่วันเกิดมาจนถึงปัจจุบันนี้ เราก็ยังมีความอยากอยู่เหมือนเดิม  เมื่อมีความอยาก ก็ต้องออกไปแสวงหาสิ่งที่อยาก  เมื่อได้มาแล้ว ก็สงบตัวอยู่ระยะหนึ่ง  หลังจากนั้นความอยากก็เกิดขึ้นมาอีก เพราะความสุขที่ได้จากสิ่งที่หามานั้น มันหมดไป  ความหิวความอยากก็เกิดขึ้นมาอีก 

ความหิวความอยากนี่แหละคือความทุกข์  การที่ไม่สามารถจะอยู่เฉยๆ ได้ ทั้งที่ร่างกายก็มีครบถ้วนบริบูรณ์ทุกอย่าง มีอาหารรับประทาน  มีเสื้อผ้าใส่  มีบ้านอยู่  ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยอะไร  ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็มียารักษา แต่ทำไมเราถึงอยู่เฉยๆไม่ได้  ทำไมจึงต้องไปหาสิ่งนั้นสิ่งนี้ มาให้ความสุขกับเรา  ทำไมต้องไปหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาโผฏฐัพพะ ชนิดต่างๆ มาให้ความสุขกับเรา นั่นก็เป็นเพราะว่าใจของเรายังมีความอยากอยู่  และเราก็ไม่รู้ว่า อะไรทำให้ใจอยากอยู่เรื่อยๆ  แล้วจะทำอย่างไรถึงให้ใจไม่อยาก  ก็มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ที่หลังจากได้ปฏิบัติธรรม ทดสอบการดับทุกข์ด้วยวิธีการต่างๆ จนในที่สุดก็ค้นพบสัจธรรมความจริงว่า  จิตจะหายอยากได้ ก็ต่อเมื่อจิตหยุดนิ่ง รวมลงสู่ความสงบ  ถ้าตราบใดจิตไม่นิ่ง จิตไม่สงบ จิตก็จะมีความหิว มีความกระหาย มีความอยากไปเรื่อยๆ อยู่อย่างนั้นไปตลอด  แต่ถ้าจิตสงบได้แล้ว จิตก็จะไม่หิวไม่อยาก  เพราะขณะที่จิตสงบนิ่งอยู่นั้น จิตมีความสุข จิตมีความอิ่ม จิตมีความพอ 

ตัณหาความหิวความอยากนั้น ต้องอาศัยการทำงานของจิตถึงจะเกิดขึ้นมาได้  ถ้าจิตไม่ทำงาน จิตนิ่งอยู่ ไม่คิดไม่ปรุงกับอะไร ตัณหาความอยากก็ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ พระพุทธเจ้าทรงพบความจริงนี้ จึงนำมาสั่งสอนพวกเรา ให้เข้าใจ ให้รู้จัก ว่าอย่าไปหาความสุขจากภายนอกเลย  ไม่ว่าจะเป็นความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือความสุขที่เกิดจากการเจริญลาภ ยศ สรรเสริญก็ตาม เหล่านี้ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง  เพราะไม่ทำให้จิตสงบ  สิ่งที่จะทำจิตให้สงบได้ก็คือธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้า  คือการกระทำความดี  ละการกระทำความชั่ว   ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด ด้วยการปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา  ที่จะเข้าไปชำระความอยากต่างๆที่มีอยู่ในใจ ให้หมดไปได้  ถ้าปรารถนาความสุขที่แท้จริง ที่ถาวร ที่ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหิว ไม่มีความกระหายปนอยู่เลย  ก็ต้องหันมาชำระจิตของเรา  แทนที่จะใช้เวลาในชีวิตของเรา มัวแต่ขวนขวายหาข้าวของ ทรัพย์สมบัติเงินทอง  สิ่งของต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ มาเพื่อให้ความสุขกับเรา  ถ้าทำอย่างนี้ก็แสดงว่าเรายังหลงอยู่ ยังไม่เข้าใจถึงความสุขที่แท้จริง ว่าเป็นอย่างไร  เพราะดังที่ได้แสดงแล้วว่า สิ่งต่างๆที่มีอยู่ภายนอกกาย ภายนอกใจเรานี้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะให้ความสุขกับจิตของเราได้ เพราะไม่สามารถทำจิตให้สงบ ให้นิ่งได้  มีแต่จะทำให้จิตกลับมีความอยาก เพิ่มพูนมากขึ้นไป  สังเกตดูเวลาที่เกิดมาใหม่ๆ เรามาตัวเปล่าๆ ไม่ได้มีอะไรติดตัวมาเลยแม้แต่ชิ้นเดียว  แต่เมื่อโตขึ้นแล้ว  เรามีความสามารถ ที่จะทำมาหากิน  หาเงินหาทอง  หาสิ่งของต่างๆ  หาบุคคลต่างๆมาครอบครอง  จาก ๑ ชิ้น ก็เป็น ๒ ชิ้น จาก ๒ ชิ้นก็เป็น ๓ ชิ้น ๔ ชิ้น เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ  หาบุคคลแรกมาแล้ว ก็ได้เพิ่มมาอีก เป็น ๒ เป็น ๓ เป็น ๔  คือตอนต้นเราก็อยู่ตัวเปล่าๆ  แล้วหลังจากนั้น เราก็มีสามี มีภรรยา แล้วก็มีบุตร มีธิดาตามมา 

เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความอยากทั้งสิ้น  เมื่อได้สิ่งเหล่านี้มาแล้ว  ความอยากที่มีอยู่ในใจ มีน้อยลงไปหรือไม่  ลดน้อยลงไปหรือไม่  หรือยังมีอยู่เหมือนเดิม  ดีไม่ดี มีมากขึ้นไปกว่าเดิมเสียอีก  นอกจากนั้นแล้ว ยังเพิ่มภาระให้มากดดันจิตใจอีก คือความทุกข์ที่เกิดจากความผูกพัน  เกิดจากความห่วงใย ในวัตถุสิ่งของ ในบุคคลต่างๆ ที่มีไว้ในครอบครอง  เพราะเรารู้ว่า โดยธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน  อยู่กับเราในวันนี้ แต่อาจจะไม่อยู่กับเราในวันพรุ่งนี้ก็ได้  ไม่รู้ว่าอะไรจะหมดไปก่อน ไม่เขาก็เรา อย่างหนึ่งอย่างใด จะต้องมีการพลัดพรากจากกัน  และถ้าตราบใดใจยังมีความผูกพัน ยังมีอุปาทาน มีความยึดมั่น มีตัณหาความอยาก  อยากให้บุคคลเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้น อยู่กับเราไปอีกนานๆ เราก็จะเกิดความกังวลใจ  เกิดความไม่สบายใจ  เวลาที่ไม่ได้เห็นบุคคลนั้น หรือไม่ได้เห็นสิ่งของต่างๆ ในที่ๆควรจะอยู่ ที่ควรจะเป็น เราก็จะเกิดความวิตกกังวลขึ้นมา อย่างเวลาที่ภรรยาหรือสามีของเรา หรือบุตรธิดาของเรา จะต้องกลับมาบ้านในเวลานั้นๆ  แต่เมื่อถึงเวลานั้น เขาไม่ได้กลับมา  เราก็เกิดความวิตก เกิดความกังวลขึ้นมาแล้ว 

นี่แหละก็คือความทุกข์ที่เกิดจากความอยากต่างๆนานา อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนี้  สิ่งนี้เป็นอย่างนั้น  แต่เมื่อไม่เป็นไปดังปรารถนา เราก็มีความทุกข์ มีความไม่สบายใจ  นี่แหละคือโทษของความอยากต่างๆ ที่เราไปติด ไปหลง ไปมีเข้า  ถ้าฉลาดเราจะต้องพยายามลดละความอยากต่างๆ ที่มีอยู่ในใจ ให้น้อยลงไปตามลำดับ จนกระทั่งหมดไปในที่สุด  ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหลือวิสัยที่พวกเราจะทำกันได้  เพราะพระพุทธเจ้าได้ทำมาแล้ว  พระพุทธเจ้าทรงสามารถชนะตัณหาทั้งหลาย ที่มีอยู่ในพระทัยของพระองค์ได้  หลังจากที่ได้ทรงชนะความอยากต่างๆแล้ว ก็ทรงนำวิธีที่ได้ทรงปฏิบัติมาสั่งสอนผู้อื่น  ผู้ที่ได้ยินได้ฟังแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ ก็สามารถเอาชนะความอยากต่างๆได้  กลายเป็นพระอรหันตสาวกขึ้นมาเป็นจำนวนมากมาย  ล้วนเกิดจากการได้ยินได้ฟัง พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  แล้วนำไปปฏิบัติตามนั่นเอง  ถ้าพวกเราเห็นโทษของความอยาก  เห็นว่าเป็นเหตุที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา  เราก็ต้องพยายามลดละความอยากให้น้อยลงไป 

ในเบื้องต้นก็พยายามลด ในสิ่งที่ไม่มีความจำเป็น ต่อการดำรงชีพของเรา  สิ่งใดก็ตามที่เราอยากได้ ถ้าไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ต่อการทำมาหากิน ก็ตัดใจเสียเถิด อย่าไปเอามัน อย่าไปมีมัน คิดเสียว่าไม่มีก็ไม่ตาย ก็ใช้ได้  ถ้าคิดอย่างนี้ได้แล้ว เราก็จะค่อยๆสามารถตัดความอยากในสิ่งต่างๆลงไปได้ จนกระทั่งเหลือแต่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้น  สิ่งที่จำเป็นก็ไม่มีอะไรมากมาย ก็แค่ปัจจัย ๔ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค  ถ้ามีสิ่งเหล่านี้แล้ว ชีวิตของเราก็จะสามารถดำเนินไปได้ตามปกติ และอยู่ไปจนถึงวัยอันสมควร  เมื่อสามารถลดละสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้แล้ว  ในขั้นต่อไป เรายังต้องเข้าไปทำลายความอยาก ที่มีอยู่ภายในใจของเรา  เพราะถึงแม้จะได้ลดละไปแล้ว  ก็เป็นเพียงการเบรกความอยากเท่านั้น  ยังไม่ได้เข้าไปทำลายความอยาก ที่มีอยู่ภายในใจของเรา ที่จะสูญสลายหายหมดไปได้ ก็ต้องเกิดจากการปฏิบัติธรรม  คือทำสมาธิ เจริญปัญญา วิปัสสนา  เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง ในสภาวธรรมทั้งหลาย  ถ้าไม่ปฏิบัติธรรมทั้ง ๒ ประการนี้  คือสมาธิและปัญญาแล้ว   จะไม่มีทางตัดตัณหาความอยากทั้งหลาย ที่มีอยู่ภายในใจให้หมดไปได้  

การปฏิบัติธรรมจึงเป็นกิจที่สำคัญ ที่จำเป็น สำหรับผู้ปรารถนาความสิ้นทุกข์ หมดทุกข์ในจิตใจ  จะต้องขวนขวายปฏิบัติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เจริญปัญญา เจริญวิปัสสนา ในเบื้องต้นให้ทำจิตให้สงบก่อน  คือนั่งสมาธินั่นเอง  จิตโดยปกติจะไม่อยู่นิ่งๆเฉยๆ  ทรงเปรียบจิตเหมือนกับลิงตัวหนึ่ง  สังเกตดู  ลิงจะไม่อยู่นิ่งกับที่  จะโหนไปตามกิ่งไม้ต่างๆ จากกิ่งนี้ก็ไปกิ่งนั้น  จากกิ่งนั้นก็ไปกิ่งโน้น  ไปอยู่เรื่อยๆ   จิตของเราก็เช่นกัน  จะไม่อยู่นิ่งเฉย  จะคิดไปเรื่อยๆ คิดเรื่องนั้น คิดเรื่องนี้ แล้วก็คิดเรื่องโน้นต่อไปอยู่เรื่อยๆ  วันๆหนึ่งถ้านั่งอยู่เฉยๆ แล้วสังเกตดูจิต  เราจะเห็นว่าจิตมีแต่คิดอยู่เรื่อยๆ  ไม่เคยนิ่งอยู่เฉยๆเลย แม้แต่สักครู่หนึ่ง  เพราะว่าเราไม่เคยฝึกสอนจิตให้อยู่นิ่งๆนั่นเอง  แม้กระทั่งเด็กๆที่เพิ่งเกิดมา ก็อยู่ไม่นิ่งเหมือนกัน  ลองจับให้เด็กนั่งอยู่เฉยๆสักครู่เดียว เขาก็จะนั่งอยู่ไม่ได้  สาเหตุที่นั่งอยู่ไม่ได้ ก็เพราะจิตของเขาไม่นิ่งนั่นเอง  จิตถูกความอยากคอยผลัก ให้คิดให้อยากสิ่งนั้นสิ่งนี้  ถ้านั่งอยู่ตรงนี้ก็อยากจะลุก  ถ้าลุกก็อยากจะไปทางโน้น  ถ้าอยู่ทางโน้นก็อยากจะมาทางนี้  นี่คือลักษณะของจิต ที่มีตัณหาคอยเป็นเครื่องผลักดันอยู่ 

เราจึงต้องมาทวนกระแสจิต ที่ชอบคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ด้วยการทำสมาธิ คือกำหนดจิตให้รู้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ที่ถูกจริตกับเรา  อารมณ์ที่ใช้ผูกจิตนี้ อาจจะเป็นบทสวดมนต์ก็ได้  เช่นสวดบท อิติปิโสฯ อรหังสัมมาฯ สวากขาโตฯ สุปฏิปันโนฯ  ก็สวดไป  แต่ในขณะที่สวด ขอให้ตั้งใจสวดจริงๆ คือให้ใจอยู่กับบทสวดนั้นๆ  จะสวดออกเสียงก็ได้ ไม่ออกเสียงก็ได้  ลืมตาก็ได้ ไม่ลืมตาก็ได้  จุดธูปเทียนก็ได้ ไม่จุดธูปเทียนก็ได้  นั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบก็ได้  ไม่สำคัญ  สำคัญที่ต้องมีสติรู้อยู่กับบทที่สวด  ไม่ใช่สวดไปแล้ว ในขณะเดียวกัน ก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ควบคู่ไปด้วย  ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ก็จะไม่ทำให้จิตสงบ  ไม่ทำให้จิตหยุดนิ่งได้  แต่ถ้าสวดอย่างเดียว มีสติรู้อยู่กับการสวด ไม่มีความคิดเข้ามาแทรก ไม่ไปคิดเรื่องราวต่างๆนานา  ให้รู้อยู่อย่างนั้นแล้ว  ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะค่อยๆ เข้าสู่ความสงบ  อารมณ์ต่างๆที่เกิดจากความคิดปรุงต่างๆ ก็จะค่อยสงบตัวลงไป 

อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง ความวุ่นวายใจ  ความว้าวุ่นขุ่นมัวต่างๆ  ล้วนเกิดจากการคิดปรุงของจิต  คิดถึงเรื่องนั้น คิดถึงเรื่องนี้  แล้วก็เกิดความห่วง เกิดความวิตก  เกิดความกังวลใจ  ถ้าสวดมนต์ไปเรื่อยๆแล้ว  เรื่องราวต่างๆที่เคยคิดถึงอยู่  เคยวิตก  เคยกังวลอยู่ ก็จะหายไปจากใจ เมื่อเรื่องราวต่างๆหายไปจากใจแล้ว  อารมณ์ต่างๆที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง ความว้าวุ่นขุ่นมัว ก็จะหายไป  จิตก็จะค่อยๆใสขึ้นมา สะอาดขึ้นมา  ค่อยๆสงบ ค่อยๆนิ่งขึ้นมา  ถ้าสวดไปได้นานพอสมควรแล้ว  เกิดรู้สึกว่าไม่อยากจะสวดต่อไป  ก็ลองกำหนดดูลมหายใจต่อ   เวลาหายใจเข้าก็ให้รู้ว่าหายใจเข้า  เวลาหายใจออกก็ให้รู้ว่าหายใจออก  โดยกำหนดดูตรงจุดที่ลมสัมผัส บริเวณปลายจมูก เหนือริมฝีปากขึ้นมา  ให้รู้อยู่ตรงนั้น  รู้อยู่ไปเรื่อยๆ  ให้รู้ลม แต่ไม่ต้องตามลมเข้าไป  ไม่ต้องตามลมออกมา  ให้รู้อยู่ที่จุดเดียว  ถ้าตามลมเข้าตามลมออก  จิตก็จะทำงาน จิตก็จะไม่นิ่ง  ต้องเพ่งอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ที่เราสังเกตได้ชัด  ถ้าไม่สามารถกำหนดที่ปลายจมูก หรือที่บริเวณเหนือริมฝีปากขึ้นมา แต่รู้สึกว่าลมอยู่ที่กลางอก  ก็กำหนดอยู่ที่กลางอกก็ได้  พอลมเข้าก็จะรู้สึกว่าพองขึ้นมา  เวลาลมออกก็จะยุบลงไป อย่างนี้ก็ใช้ได้   ขอให้มีสติรู้อยู่กับอาการเข้าออกของลมก็พอ โดยที่ไม่ต้องไปคิดอะไร 

เมื่อถึงเวลาที่จิตจะรวมลงสู่ภวังคจิต  คือรวมลงเป็นหนึ่ง เป็นสมาธิ  ก็จะลงโดยอัตโนมัติ  เราไม่สามารถผลักดันบังคับให้ลงได้  วิธีที่จะทำให้รวมลงเป็นหนึ่ง เป็นสมาธิได้นั้น ก็เกิดจากการมีสติระลึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออกนั่นแหละ  ขอให้รู้อยู่เท่านั้น แล้วอย่าส่งจิตไปสู่เรื่องอื่น  ถ้าจิตเริ่มคิด เริ่มพิจารณาขึ้นมาอีก  ก็ใช้การสวดมนต์เข้าไประงับความคิดนั้นเสีย  ทำอย่างนี้สลับไปสลับมา จนกว่าจิตจะรวมลงเป็นหนึ่ง  ขณะที่จิตรวมลงเป็นหนึ่ง  ความคิดปรุงต่างๆก็จะสงบตัวลงไป  การรวมลงของจิต อาจจะลงไปลึก หรือไม่ลึกก็ได้  ถ้าลงไปลึกความสัมผัสรับรู้ร่างกายนี้ ก็หายไปเลย  ขณะนั้นเหมือนกับโลกนี้ไม่มีอะไรเลย  มีแตสักแต่ว่ารู้อยู่เท่านั้น  มีจิตอยู่ตามลำพัง เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอุเบกขานิ่งเฉยอยู่    ในขณะนั้นไม่รู้เรื่องราวอะไรภายนอกของร่างกายเลย  ไม่รับรู้เรื่องของร่างกายเลย  นี่เป็นการรวมลงอย่างเต็มที่ของจิต  แต่ถ้ารวมลงไม่เต็มที่  ก็จะได้ยินเสียง จะรู้สึกว่ามีร่างกายอยู่  แต่ในขณะนั้นจิตไม่สนใจกับเรื่องอะไร  จิตมีความพอใจที่จะนิ่งอยู่เฉยๆอย่างนั้น  ในขณะนั้นจิตจะมีแต่ความสุข มีแต่ความสบาย มีแต่ความเบา 

เวลาที่จิตอยู่ในสภาพอย่างนั้น ขอให้อย่าไปยุ่งกับจิต  เพราะเป็นสภาพที่ต้องการให้จิตอยู่ไปนานๆ อยู่ได้นานเท่าไรจิตก็จะยิ่งมีพลัง มีความสามารถที่จะต่อต้าน ต่อสู้กับอารมณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นมาภายหลังได้  ดังนั้นขณะที่จิตรวมลงสู่ความสงบเต็มที่แล้ว  อย่าไปกังวลว่า แล้วจะไปเจริญวิปัสสนาเมื่อไรดี  การเจริญวิปัสสนาหรือปัญญานี้ ต้องรอให้จิตถอนออกมาก่อน  จิตต้องออกมาจากสมาธิ ออกมาจากความนิ่ง ความสงบเสียก่อน  จึงค่อยเริ่มเจริญวิปัสสนา  การเจริญวิปัสสนาสามารถทำได้ในอิริยาบถทั้ง ๔  ในขณะที่นั่งอยู่ก็ทำก็ได้  หรือจะลุกขึ้นมาเดินจงกรมก็ได้  หรือยืนอยู่เฉยๆแล้วพิจารณาไปก็ได้  หรืออยู่ในอิริยาบถนอนก็สามารถทำได้  เพียงแต่ว่าอิริยาบถที่จะให้ผลดีที่สุด ควรเป็นอิริยาบถนั่งหรือเดินจงกรมจะให้ผลที่ดีกว่า  เพราะถ้ายืนอยู่เฉยๆ ก็จะเกิดอาการเมื่อยขึ้นมาได้  หรือนอนก็อาจจะเผลอหลับไปได้ 

การเจริญวิปัสสนาจะต่างกับการทำสมาธิ  เพราะจุดหมายของการทำสมาธิ คือให้จิตหยุดนิ่ง ไม่คิดอะไร  จึงต้องผูกจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง  แต่การเจริญวิปัสสนากลับเป็นตรงกันข้ามกับสมาธิ  เพราะการเจริญวิปัสสนา คือการทำความรู้แจ้งในสภาวธรรมทั้งหลาย ว่าเป็นอย่างไร  ความจริงของเขาเป็นอย่างไร  ธรรมชาติที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไร  จึงต้องพิจารณา  ต้องค้นต้องคิด  การเจริญวิปัสสนาจึงไม่ใช่การหยุดจิตให้นิ่ง  แต่ต้องการให้จิตคิดพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย ตามความเป็นจริงของเขา  พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย ให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของเขา คือให้เห็นไตรลักษณ์นั่นเอง  ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้  ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกกายกับใจ  หรือแม้กระทั่งกายและใจ ล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น  มีลักษณะอยู่ ๓ ประการ  ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด  ไม่มีตัวตน 

นี่คือสภาพความเป็นจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย  ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือธรรมารมณ์ ที่มาสัมผัสกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  ล้วนเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น  หรือลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุขทั้งหลาย  ก็ล้วนเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น  ถ้าไปยึดไปติดแล้ว ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา  เกิดตัณหาขึ้นมา  ถ้าไม่อยากจะทุกข์ ก็ต้องให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่ไปยึดไปติดไม่ได้  เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  แม้แต่ร่างกายของเรา ในที่สุดก็ต้องแตกสลายกลับไปสู่สภาพเดิม  มาจากอะไรมันก็กลับไปสู่สิ่งนั้น  เพราะสิ่งที่มาก็ไม่ใช่อะไรที่ไหน  ก็คือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ  นั่นเอง  ส่วนใจเป็นธาตุรู้ก็แยกออกจากธาตุ ๔ ถ้าไม่มีกิเลส ไม่มีตัณหา ไม่มีความอยากแล้ว  ใจก็ไม่ไปแสวงหาร่างใหม่อีกต่อไป เป็นใจที่บรรลุถึงพระนิพพาน  เป็นใจของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  ท่านได้ตัดตัณหาความอยากหมดสิ้นไปแล้ว  ก็ไม่มีสิ่งที่จะผลักดันให้ใจไปเกิดอีกต่อไป  แต่ถ้ายังมีตัณหาหลงเหลืออยู่ ก็ยังต้องไปเกิดอีกต่อไป  นี่แหละก็คือเรื่องราวของสภาวธรรมทั้งหลาย  ที่เราจะต้องพิจารณาอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอว่า ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราไปตลอด มีการมาเจอกัน มารวมกัน  แล้วไม่ช้าก็เร็วก็ต้องแยกจากกัน  ถ้าฉลาดก็จะไม่ยึด ไม่ติด ไม่อยาก  แล้วก็จะไม่ทุกข์ จะพ้นทุกข์ไปในที่สุด  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้