กัณฑ์ที่  ๑๒๘       ๒๓  สิงหาคม  ๒๕๔๕

ความฝัน

วันนี้เป็นวันพระ เป็นวันที่ศรัทธาญาติโยมร่วมใจกันเดินทางมาที่วัด เพื่อประกอบคุณงามความดี  เติมน้ำมันให้กับชีวิต  คือบุญและกุศล  บุญคือความสุข  กุศลคือความฉลาด  ทั้งสองมีความจำเป็นต่อชีวิต  เพราะคนเราเกิดมาทุกคน ปรารถนาความสุขด้วยกันทั้งนั้น  จึงต้องมีการเติมความสุขอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะความสุขไม่ใช่อากาศ ลมหายใจ ที่มีอยู่รอบตัวเรา  แต่เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมา  ต้องทำขึ้นมา  เราจึงต้องมาวัดเพื่อมาทำบุญกัน ด้วยการใส่บาตร ถวายทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม บุญจึงจะเกิดขึ้นมา  ฟังเทศน์ฟังธรรมก็จะทำให้เกิดกุศล คือความรู้ความฉลาด  เมื่อมีความรู้ความฉลาดแล้ว เราก็จะสามารถดำเนินชีวิตของเราไปได้ด้วยความถูกต้องดีงาม  นำมาซึ่งความสุข ความเจริญ

เหตุที่คนเราส่วนใหญ่มีความทุกข์กัน ก็เพราะขาดกุศล ขาดปัญญา ขาดธรรมะ  จึงไม่รู้เหตุของความสุขว่าเป็นอะไร  เลยไปคว้าเอาแต่เหตุของความทุกข์มา จึงเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา  เพราะความลุ่มหลงนั่นเอง ทำให้ไม่สามารถเห็นสุขและทุกข์ได้ ตามความเป็นจริง  เราจึงต้องอาศัยพระพุทธเจ้า  อาศัยพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย ผู้มีดวงตาเห็นธรรม  ผู้รู้จริงเห็นจริง เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย  ให้รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรส่งเสริมพัฒนาให้เกิดขึ้น  อะไรควรลดละให้หมดไป ไม่ไปเกี่ยวข้องด้วย  เพราะสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นโทษ สิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา  เราควรถอยห่าง ไม่ควรเข้าใกล้  แต่สิ่งที่สร้างความสุขความเจริญให้กับเรา  เราควรเข้าหา ควรเข้าใกล้ ควรสร้างให้เกิดขึ้นมามากๆ   เพราะเมื่อสิ่งที่ดีที่งาม ที่ให้ความสุขความเจริญ ได้ถูกสร้างขึ้นมามากๆแล้ว  เราจะได้มีความสุขมากๆขึ้นไปนั่นเอง  จึงขอให้เราทำความเข้าใจไว้ว่า ความสุขและความทุกข์นั้น เป็นเรื่องของเราโดยตรง  เราเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา ทั้งความสุขและความทุกข์  ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใด สร้างให้เราได้  เรื่องความสุขและความทุกข์ทั้งหลาย เราเท่านั้นเป็นผู้สร้าง  ขึ้นอยู่กับว่า เราจะรู้หรือไม่รู้ เท่านั้นแหละ ว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความสุขขึ้นมา อะไรเป็นเหตุทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา เราจึงต้องเข้ามาหาพระศาสนา  ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้เข้าถึงสัจธรรมของชีวิต ว่าเป็นอะไรกันแน่ 

พวกเราทุกคนคงคิดกันว่า ชีวิตของเรานี้เป็นความจริง  แต่ตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น ท่านกลับว่า ชีวิตของเรานั้นเป็นความฝัน  ไม่ใช่ความจริง แต่ในขณะที่เราฝันอยู่ เราจะไม่รู้ว่าเรากำลังฝัน  เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเราตื่นขึ้นมาแล้ว เราจึงจะรู้ว่าเราฝันไป  อย่างเมื่อคืนนี้เวลาที่เรานอนหลับไป แล้วฝันว่าไปทำสิ่งนั้นทำสิ่งนี้  ไปเห็นสิ่งนั้นเห็นสิ่งนี้  มีทั้งความสุขและมีความทุกข์ สุดแท้แต่ว่าจะฝันดีหรือฝันร้าย  ถ้าฝันดี ก็จะมีความสุข  ถ้าฝันร้าย ก็จะมีความทุกข์ มีความตื่นเต้นหวาดเสียว หวาดกลัว  แต่เมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว เราก็รู้ว่าเหตุการณ์ที่ผ่านไปเมื่อสักครู่นั้นเป็นความฝัน  แต่ถ้าเราหลับไปตลอด  ฝันไปตลอด โดยที่ไม่ตื่นเลย เราก็จะไม่รู้ว่าเรากำลังฝันหรือไม่ฝัน  เช่นเดียวกับชีวิตของเรา ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา  เราอยู่กับชีวิตนี้ตลอดเวลา  เราเลยไม่รู้ว่าเรากำลังฝันอยู่ หรือว่ากำลังอยู่กับความจริง  เราจะไม่รู้เลย ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ มาสั่งสอนพวกเรา ให้รู้ถึงความจริงของชีวิตของเราว่า  เป็นความฝัน  เพราะพระพุทธเจ้าตื่นแล้ว  ท่านเป็นพุทโธ แปลว่าผู้ตื่น ผู้เบิกบาน  ท่านตื่นจากอะไร ก็ตื่นจากโมหะความหลง  ตื่นจากอวิชชาความไม่รู้นั่นเอง 

พวกเรายังอยู่ภายใต้อำนาจของโมหะความหลง อวิชชาความไม่รู้  เราจึงไม่รู้ว่าเรากำลังฝันกันอยู่  เพราะเหตุใดชีวิตเราจึงเป็นความฝัน   ก็เพราะว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น มันไหลไปอยู่ตลอดเวลา  มันไหลไปเหมือนกับกระแสน้ำ  ถ้าเรานั่งอยู่ที่ท่าน้ำ แล้วดูน้ำที่ไหลผ่านหน้าเราไป  เราก็จะรู้ว่าน้ำมันไหลไปเรื่อยๆ ไหลไปแล้วไม่ไหลกลับ  อะไรที่ลอยอยู่บนน้ำ ก็ไหลไปกับน้ำ ไหลไปๆ  สิ่งที่เราเห็นแล้ว สัมผัสแล้ว ก็ผ่านไป  เมื่อมองไปอีกทีหนึ่ง ก็เป็นอดีตไปแล้ว  จึงเป็นเหมือนกับความฝัน  เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เช่นในขณะนี้เรากำลังนั่งฟังเทศน์ฟังธรรมกันอยู่  เมื่อครู่นี้เราได้ใส่บาตรกัน  เราได้สมาทานศีลกัน  เหตุการณ์นั้นก็ผ่านไปแล้ว  เปรียบเหมือนความฝันแล้ว  เพราะเป็นอดีตไปแล้ว  ปัจจุบันก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ ที่ไหลอยู่ไปตลอดเวลา ไม่อยู่นิ่ง  เพียงชั่วขณะหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา ก็ผ่านไปแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว 

เช่นเดียวกับอารมณ์ที่ผุดขึ้นมาในขณะนี้  มีความรู้สึกหงุดหงิดใจ  ถ้ามีสติรู้อยู่ปั๊บ อารมณ์หงุดหงิดนั้น ก็ดับไป  แล้วก็ผ่านไป  แต่ถ้าไม่มีสติ  เวลาเกิดอารมณ์หงุดหงิดขึ้นมา  ใจก็จะปรุงแต่งไปกับอารมณ์นั้น  สร้างความหงุดหงิดเพิ่มขึ้นไปอีก ต่อเนื่องขึ้นไปอีก  เพราะเราคอยจะคิดถึงเรื่องที่สร้างความหงุดหงิดให้กับเรา  เช่นในขณะนี้เราพยายามนั่งฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่  แต่คนที่นั่งอยู่ข้างๆเรา เขาขยับไปขยับมา เขาไม่นิ่ง  เขาส่งเสียงกุ๊กกิ๊ก ก๊อกแก๊ก ก็ทำให้เราเกิดอารมณ์หงุดหงิดขึ้นมา  แล้วเราก็ส่งจิตของเราไปหาเขา ไปที่การกระทำของเขา  ความหงุดหงิดก็จะไม่หายไป  แต่จะมีต่อเนื่องไป เพราะไปเหนี่ยวรั้งเขาไว้  แต่ถ้ามีสติ พอรู้ว่าคนข้างๆไม่นิ่ง ไม่สงบ กำลังทำสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ ทำเสียงดังกุ๊กกิ๊ก ก๊อกแก๊ก  ถ้ามีสติรู้อยู่  แล้วไม่ไปสนใจ  อารมณ์นั้นก็จะผ่านไป ไหลไป  เหมือนกับกระแสน้ำ  เพราะเราไม่ดึงเขากลับมา ให้อยู่ในปัจจุบันนั้นเอง   แต่ถ้าไม่มีสติ  ไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ใจจะยึดกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่เสมอ 

ถ้าเราประสบกับอะไรที่ถูกอกถูกใจเรา  เราก็พยายามที่จะเกาะติดอยู่กับสิ่งที่ถูกอกถูกใจเรา  ถึงแม้สิ่งนั้นกำลังเคลื่อนย้ายไป  ตาเราก็พยายามหันไปดู  ถ้าเราเดินตามไปได้ เราก็จะเดินตามไป อย่างนี้เป็นต้น  เพราะเรามีความหลง  เราเห็นสิ่งที่ถูกอกถูกใจ แล้วก็เกิดอุปาทานยึดมั่น อยากยึดติดอยู่กับสิ่งนั้น  อยากจะให้สิ่งนั้นอยู่กับเราไปตลอด  เราก็เลยผูกใจของเราให้ติดอยู่กับสิ่งนั้น ทั้งๆที่สิ่งนั้นก็พ้นไปจากสายตาของเราแล้ว ผ่านไปแล้ว  แต่ใจเราก็ยังอยู่กับสิ่งนั้นอยู่  ยังคิดถึงสิ่งนั้นอยู่  เลยทำให้รู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นของจริงขึ้นมา  แทนที่จะเป็นความฝัน  แต่ถ้าใจเรานิ่ง ใจเราอยู่ที่ปัจจุบัน ไม่ไหลตามกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  เพราะเหตุการณ์ต่างๆ พอเกิดขึ้นปั๊บ มันก็ผ่านไปแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว  ถ้าเราไม่ตามสิ่งนั้น มันก็หายไปแล้ว  มันจึงเป็นความฝัน   ถ้าคิดถึงเรื่องอนาคต  อนาคตก็ยังไม่เกิดขึ้น  มันก็เป็นเรื่องที่จิตเราส่งไปเกาะ  ส่งไปติดอยู่นั่นแหละ เหมือนกัน  ถ้าเราไม่ส่งจิตไปในอดีต หรือส่งไปในอนาคต  แต่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้น  เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป  อย่างเสียงที่กำลังพูดอยู่นี้ก็เช่นกัน  พอพูดปั๊บ เข้าหูเราปั๊บ  สัมผัสรับรู้แล้ว มันก็หายไป  แล้วก็มีเสียงใหม่ปรากฏขึ้นมาแทนที่อยู่ตลอดเวลา  ถ้ามีสติอยู่ในปัจจุบัน  เราก็จะเห็นการเคลื่อนไหวของเสียง 

แต่ถ้าเราเคลื่อนไหวไปกับเสียง คือเขาพูดอะไรแล้ว เราก็ไปเอาคำพูดของเขา มาขบมาคิดต่อ  คำพูดของเขา ก็เลยไม่หายไป หมดไป  เพราะเรายังนำมาคิดอยู่ในใจของเรา  ความคิดนั้นก็เลยยังอยู่กับเราอยู่  เช่นกันกับเรื่องราวต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเรา  ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ต่างๆ เป็นวัตถุสมบัติข้าวของต่างๆ บุคคลต่างๆ ยังอยู่ในใจของเราอยู่  เพราะใจของเรายังยึดติดกับสิ่งนั้นๆอยู่  เรายังนึกถึงสิ่งเหล่านั้นอยู่  ถึงแม้เรามานั่งอยู่ตรงนี้  แต่เราก็ยังอดที่จะคิดไปถึงที่บ้านไม่ได้ คิดถึงคนที่อยู่ที่บ้านไม่ได้ คิดไปถึงที่ทำงาน คิดถึงคนที่ทำงานอยู่   คิดถึงสมบัติข้าวของต่างๆ  กิจการต่างๆ ที่เราเป็นเจ้าของอยู่ มีหน้าที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย  จิตของเราจะวิ่งไปหาสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอๆ  วิ่งไปวิ่งมา   กลับไปกลับมา อยู่อย่างต่อเนื่อง  เลยทำให้รู้สึกว่าสิ่งต่างๆเหล่านั้น ยังอยู่กับเรา ทั้งๆที่ในปัจจุบันนี้ สิ่งต่างๆเหล่านั้น ไม่ได้อยู่กับเราเลย  เพียงแต่ว่าใจของเรานึกถึงเขา  ก็เลยทำให้รู้สึกว่าสิ่งนั้นๆ ยังอยู่กับเราอยู่  ทั้งๆที่เราไม่รู้หรอกว่าขณะนี้ ได้มีอะไรเกิดขึ้นกับสิ่งต่างๆเหล่านั้นหรือไม่อย่างไร  อาจจะสูญสลายแตกดับไปแล้วก็ได้  หรือกลายเป็นอย่างอื่นไปแล้วก็ได้  เราไม่รู้  แต่ใจของเรายังคิดว่ายังเป็นเหมือนเดิมอยู่  นี่เป็นเพราความหลงทำให้เราคิดอย่างนั้น  

แต่ถ้าเรามีปัญญาเราเข้าใจถึงสภาวธรรม  เข้าใจถึงธรรมชาติของเขาว่า เขาเป็นสิ่งที่หมุนเวียนไปอยู่อย่างตลอดเวลาทุกขณะทุกวินาที  ไม่มีอะไรอยู่นิ่งเลย  เช่น ร่างกายของเรานี้มีการเจริญเติบโตและมีการเสื่อมไปพร้อมๆ กัน  ในขณะที่เรากำลังเป็นเด็ก การเจริญเติบโตก็จะมีมากกว่าการเสื่อม  เลยเกิดเป็นภาพว่าเรากำลังเจริญเติบโตกัน  แต่พอเราเข้าถึงวัยกลางคนแล้ว การเจริญเติบโตก็จะช้าลงและน้อยลงไป  การเสื่อมก็จะมีมากขึ้น  แล้วก็จะมีอย่างต่อเนื่อง  เลยทำให้เราเริ่มเห็นว่าร่างกายของเรานั้นเริ่มชราภาพลง  แต่เราจะไม่สามารถมองเห็นได้ทุกขณะ เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปด้วยความช้าคือไม่รวดเร็ว  เราจึงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้วินาทีต่อวินาที  หรือชั่วโมงต่อชั่วโมง หรือวันต่อวัน  เราต้องรอถึงเวลา ๕ ปี ๑๐ ปี เรามองหน้าของเราสักที  เช่น เราถ่ายรูปไว้เมื่อ ๕ ปี หรือ ๑๐ ปีก่อน  เราไปเอาภาพเหล่านั้นที่เราถ่ายไว้ขึ้นมาดูแล้วเปรียบเทียบกับหน้าตาของเราในปัจจุบัน  เราก็จะรู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว  แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด  มันเป็นการสะสมกันไปทุกวินาทีทุกขณะ  มันค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย  จะเจริญมากหรือเสื่อมมากก็สุดแท้แต่  ถ้าเจริญมากก็เป็นการเติบโต  ถ้าเสื่อมมากก็เป็นการแก่เฒ่าลงไปนั่นเอง 

นี่คือลักษณะของสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเรา หรือวัตถุต่างๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน  เสื้อผ้าของเรา ข้าวของต่างๆ ที่เรามีอยู่  วัตถุต่างๆ ก็เสื่อมไป แต่ไม่เสื่อมอย่างรวดเร็ว เสื้อผ้าของเราที่ซื้อมาใหม่ๆ เราใส่ไปๆ ต่อไปก็จะบางลงๆ สีจางลงๆ ในที่สุดก็จะขาดไป  แต่ไม่ได้เป็นไปแบบทันทีทันใด จึงอำพรางตาเรา ทำให้คิดว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ถาวร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง  ถ้าไม่ใช้สติ ไม่ใช้ปัญญาพิจารณา  เราจะไม่เห็นภาพนี้ จะไม่เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านี้  เราจึงต้องสอนใจอยู่เสมอ ให้มองทุกสิ่งทุกอย่าง ว่าเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  เพียงแต่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมันช้า  มันไม่รวดเร็วเท่านั้นเอง  แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็มีอยู่  อย่างในใจของเรานี้ มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา  แต่เราไม่ค่อยรู้กัน  เพราะเราไม่ได้มองเข้ามาที่ใจของเรา  เพราะไม่มีใครสอนให้เรามองนั่นเอง  เช่นอารมณ์ของเรานี้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  เดี๋ยวก็ดีอกดีใจ  เดี๋ยวก็รำคาญใจ  เดี๋ยวก็เบื่อหน่าย  เดี๋ยวก็อยากจะทำสิ่งนั้น  เดี๋ยวก็อยากจะทำสิ่งนี้ 

เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  แต่ที่รู้สึกว่าไม่ดับไป ก็เพราะว่า เวลาเกิดอารมณ์ที่ดีขึ้นมา จิตก็จะดึงอารมณ์นั้นไว้  อยากจะให้อารมณ์นั้น อยู่ไปนานๆ หรือเวลาเกิดอารมณ์ไม่ดี ก็พยายามที่จะผลักให้หายไป  ยิ่งไปผลักเท่าไร ก็เท่ากับเหนี่ยวรั้งไว้เท่านั้น  วิธีที่จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติของเขานั้น  ใจต้องเป็นกลาง  เป็นอุเบกขา วางเฉย  มีสติรู้อยู่เฉยๆเท่านั้น  อะไรเกิดขึ้นมาก็รู้ว่าเกิดขึ้นมา  ตั้งอยู่ก็รู้ว่าตั้งอยู่  ดับไปก็รู้ว่าดับไป  ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เขาจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปอย่างรวดเร็ว  แต่ถ้าไปหลงไปยึดไปติดแล้ว   สิ่งที่เกิดขึ้นมาจะไม่หายไป เพราะเราไปดึงเขาไว้  เวลาเกิดอารมณ์ที่ดีเราก็จะดึงเขาไว้  เวลาเกิดอารมณ์ที่ไม่ดีเราก็จะดึงเขาไว้ ด้วยความพยายามผลักดันเขาไป การผลักดันก็เป็นการดึงเขาไว้เหมือนกัน  เพราะยังไปเกี่ยวข้องกับเขาอยู่  ยังไปคิดถึงเขาอยู่นั่นเอง  แต่ถ้าไม่ไปคิดถึงเขา  เพียงแต่ดูเฉยๆ รู้ว่าเขามาก็มา  ถ้าไม่ยินดียินร้าย  เขาจะอยู่ก็อยู่ไป  เขาจะไปเขาก็ไปของเขาเอง  อย่างนี้ก็จะไม่มีปัญหาในใจของเรา 

แต่ถ้าเรายังหลงอยู่ เวลาเห็นสิ่งใดแล้วเกิดชอบขึ้นมา  อยากให้อยู่กับเรา  เราก็ต้องหาวิธีการต่างๆมาล่อใจเขา ชวนเขาคุย หาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาให้เขา ให้เขาดู ให้เขาสัมผัส เพื่อเขาจะได้อยู่กับเรา  เป็นการดึงเขาไว้ด้วยความผูกพัน  หรือเวลาที่อยากจะให้เขาไป  เราก็ต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพื่อให้เขาเกิดความรำคาญใจ แล้วเขาจะได้หนีจากไป  แต่แทนที่จะทำให้เขาไป  กลับทำให้เขาเกิดอาการฮึดสู้ขึ้นมา  ยิ่งไล่ กลับยิ่งยุให้เขาอยู่ นี่คือลักษณะของการไม่รู้จักวิธีจัดการกับสิ่งต่างๆ ที่มาสัมผัสกับใจ  เพราะไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของเขานั่นเอง  แต่ถ้าได้ศึกษาธรรมแล้ว  จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนออกมาจากสิ่งเดียวกัน คือออกมาจากธาตุทั้ง ๕ นั่นเอง  คือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ และธาตุที่ ๕ ก็คือธาตุรู้  หรือใจ เมื่อมารวมกันก็กลายเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นหญิง เป็นชาย แต่ก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน  แล้วในที่สุดธาตุทั้ง ๕ นี้  ก็ต้องแยกทางกันไป  ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็กลับคืนสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ ไป  ธาตุรู้ก็เดินทางต่อไป  ไปหาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก้อนใหม่  เพื่อที่จะรวมตัวขึ้นมาใหม่  เพื่อจะมาเป็นสัตว์ เป็นบุคคลใหม่  ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด  ผู้ใดไปหลงไปยึดไปติดกับธาตุเหล่านี้ ก็จะมีแต่ความวุ่นวายใจ  เพราะธาตุเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  ไม่สามารถอยู่ตามสภาพที่เราชอบได้เสมอไป  สักวันหนึ่งก็จะต้องกลายเป็นอีกอย่างหนึ่งไป 

ในขณะที่ยังหนุ่มยังสาว  ยังมีกำลังวังชา  ยังมีรูปร่างหน้าตาที่ดี  เราก็จะยึดติดกับร่างกายนี้ อยากจะให้ร่างกายนี้เป็นอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไปนานๆ  แต่เขาไม่อยู่นิ่ง  ในที่สุดก็จะต้องแก่ลงไป  หน้าตาก็จะต้องเหี่ยวย่น  ผมเผ้าก็จะต้องหงอก  สุขภาพร่างกายก็เริ่มเจ็บไข้ได้ป่วย  เป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้  ถ้าเรารู้ เราเข้าใจไว้ก่อนแล้ว เราก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้  คือปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด  พอเขามีการเป็นไป ใจของเราก็จะไม่เดือดร้อน  เพราะใจไม่ใช่ธาตุทั้ง ๔ ใจไม่ใช่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มารวมตัวกัน เป็นร่างกายมีอาการ ๓๒ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น  เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบของร่างกาย มาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ  ส่วนใจธาตุรู้นั้น เป็นอีกธาตุหนึ่ง  เป็นผู้ที่มาครอบครองธาตุทั้ง ๔ นี้  แต่เนื่องจากว่าไม่มีใครสั่งสอนให้ธาตุรู้นี้ รู้ตามความเป็นจริง  ธาตุรู้นี้เลยไปหลงคิดว่าร่างกายนี้เป็นเรา  เป็นตัวเรา เป็นของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เกิดความยึดติดอยู่กับร่างกายนี้  เวลาเกิดภัยขึ้นกับร่างกาย ใจก็เกิดความหวาดกลัวขึ้นมาอย่างเต็มที่  และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องพลัดพรากจากร่างกายนี้ ก็จะทุกข์อย่างมาก  เพราะไปหลงคิดว่า ใจจะต้องตายไปกับร่างกายนี้นั่นเอง 

แต่ถ้าได้ศึกษาธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนแล้ว จะเข้าใจถึงธรรมชาติของชีวิตของเราว่า เป็นกายและใจ  คือเป็นธาตุทั้ง ๕ ธาตุ ๔ คือส่วนประกอบของร่างกาย ส่วนใจคือธาตุรู้ ธาตุทั้ง ๕ เป็นสิ่งที่ไม่สูญสลาย  ธาตุดินก็จะต้องเป็นดินอยู่อย่างนั้น  ธาตุน้ำก็จะต้องเป็นน้ำอยู่อย่างนั้น  ธาตุลมก็จะต้องเป็นธาตุลมอยู่อย่างนั้น  ธาตุไฟก็จะต้องเป็นธาตุไฟอยู่อย่างนั้น  ธาตุรู้ก็จะต้องเป็นธาตุรู้อยู่อย่างนั้น ไม่มีทางที่จะเป็นอย่างอื่นไปได้  นอกจากว่าเวลาที่มารวมตัวกัน ก็จะกลายเป็นรูปร่างต่างๆขึ้นมา  เป็นหญิง เป็นชาย เป็นสัตว์ เป็นคนขึ้นมา  แล้วก็หลงยึดติดกันว่าเป็นตัวเป็นตน  เป็นเราเป็นเขาขึ้นมา  เมื่อมีความหลงขึ้นมา  มีการยึดติดขึ้นมา ก็เลยมีความทุกข์ขึ้นมา  แต่ถ้าเรารู้ เราก็จะไม่ยึดไม่ติด  เพราะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เขาเป็นของเขาอยู่อย่างนั้น  เป็นธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีตัวตนอยู่ในสิ่งเหล่านั้นเลย ในธาตุดินก็ไม่มีตัวตน  ในธาตุน้ำก็ไม่มีตัวตน  ในธาตุลมก็ไม่มีตัวตน  ในธาตุไฟก็ไม่มีตัวตน  ในธาตุรู้ก็ไม่มีตัวตน  ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธาตุทั้งนั้น  เป็นธรรมชาติ  เพียงแต่ว่าเราไม่รู้  ใจไม่รู้  ธาตุรู้นี้ไม่รู้  จึงหลง จึงทำเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา  เลยเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา 

มีเรื่องอะไรแทนที่จะปล่อยวาง  ปล่อยให้เขาเป็นไปตามธรรมชาติของเขา เราก็ต้องมาเจ้ากี้เจ้าการ  ต้องมาจัดการ ให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้  เช่นเวลามีลูก  ก็ต้องมาคอยเจ้ากี้เจ้าการ จัดการกับลูกของเรา  ถ้าลูกของเราไม่เป็นอย่างนี้  เราก็จะต้องพยายามบังคับเขาให้เป็นอย่างนี้ให้ได้  ซึ่งบางทีเขาก็ไม่เป็นอย่างที่เราต้องการได้  เพราะมันเป็นธรรมชาติของเขา ที่เขาจะต้องเป็นอย่างนั้น  อย่างมากที่เราทำได้ ก็เพียงแต่บอกเขา ชี้ทางให้กับเขา  ให้เขารู้ถึงความจริงของชีวิต ว่าเป็นอย่างไร  แล้วให้เขาดำเนินไปเอง  ถ้าเขาฉลาด เขาก็จะดำเนินชีวิตของเขาไปในทิศทางที่ถูกต้อง ที่ดีงาม  แต่ถ้าเราไม่สอนเขา  เขาก็จะไม่รู้  ถ้าเราไม่รู้เราก็ต้องพาเขาเข้าหาผู้รู้  แล้วให้ผู้รู้สอนเขาสอนเรา  พวกเราก็พอจะรู้กันบ้าง  แต่รู้ไม่มากพอ  ที่จะนำพาชีวิตของเราให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้  เราจึงต้องเข้าหาพระพุทธเจ้า  ต้องเข้าหาพระอริยสงฆสาวก  เพราะท่านสอนให้เข้าใจถึงความจริงของชีวิตได้ ว่าชีวิตของเรานั้นเป็นการประกอบขึ้นของธาตุทั้ง ๕ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และใจ  และในธาตุทั้ง ๕ นี้ไม่มีตัวตนเลย เราควรปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา  ไม่ช้าก็เร็วร่างกายของเราก็ต้องแตกสลาย ต้องกลับคืนสู่ธาตุทั้ง ๔ คือต้องคืนสู่ ดิน น้ำ ลม ไฟ  ไม่มีใครหยุดยั้งได้  แม้แต่ใจธาตุรู้นี้ ก็ไม่สามารถไปยับยั้งให้ธาตุทั้ง ๔ กลับคืนสู่สภาพเดิมของเขาได้  แต่ถ้าใจรู้แล้วปล่อยวาง ใจก็จะไม่วุ่นวาย  ใจก็จะไม่ทุกข์  ใจก็จะไม่เดือดร้อน  แต่ถ้าไม่รู้ก็จะยึดติด ก็จะเกิดความวิตก เกิดความกังวล เกิดความกลัว  ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงความฝัน แต่เราไม่รู้ว่าเรากำลังฝัน เราจึงพยายามต่อสู้ทุกวิถีทาง เพื่อจะรักษาสิ่งต่างๆที่เรารัก เราสงวน เราชอบไว้  แต่พอเราตื่นขึ้นมา  เราจึงจะรู้ว่า  มันเป็นความฝัน 

มีแต่พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกเท่านั้น ที่รู้ว่าชีวิตเป็นความฝัน เพราะท่านตื่นแล้ว ท่านรู้ถึงธรรมชาติของสภาวธรรมทั้งหลาย ว่าเป็นธาตุ ไม่มีตัวตน  ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปยึดไปติด  ไม่ต้องไปหวงแหน ไม่ต้องไปเหนี่ยวรั้งไว้ เขาจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา  เราเพียงแต่ทำใจของเราให้นิ่งเฉย เป็นอุเบกขาเท่านั้นแหละ  แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จะผ่านไปได้ด้วยดี  ถ้าใจของเรานิ่ง  ใจของเราสงบเป็นอุเบกขาแล้ว  ใจของเราจะไม่เดือดร้อนกับอะไรทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเราก็ดี  หรือร่างกายของผู้อื่นก็ดี  หรือสมบัติข้าวของต่างๆ ที่เป็นของเราหรือเป็นของผู้อื่นก็ดี  โดยความเป็นจริงเราก็รู้อยู่ว่ามันไม่ใช่เป็นของๆใครทั้งนั้น  มันเป็นของที่มีอยู่ในโลกนี้  และจะมีอยู่ต่อไปหลังจากที่เราได้จากไปแล้ว 

แต่ถ้าเรายังมีความหลงอยู่  เราก็ยังจะเวียนว่ายกลับมาเจอสิ่งเหล่านี้อีก  แล้วก็จะดำเนินชีวิตของเราไปในแบบเดิมๆอย่างนี้อีกไปเรื่อยๆ  ชีวิตของเราก็จะเป็นความฝันไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด  จนกว่าเราจะเข้าใจถึงธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้  เข้าใจถึงชีวิตของเรา ว่าประกอบขึ้นด้วยอะไร  แล้วปล่อยวาง ให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเรื่องของเขา  เราถึงจะหยุดจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่างๆ เมื่อเราหยุดแล้ว  ชีวิตเราก็จะไม่มีการไปเกิดอีกต่อไป  ธาตุรู้ก็รู้อยู่อย่างนั้น  ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เป็นไปตามเรื่องของเขา  แต่ภายในธาตุรู้นั้น จะไม่มีความทุกข์เหลืออยู่เลยแม้แต่นิดเดียว  นี่แหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการรักษาให้ธาตุรู้ปราศจากความทุกข์ ไม่ต้องไปทุกข์กับอะไร เพราะรู้แล้ว  เพราะตื่นแล้ว  ดังที่พระพุทธองค์ทรงเรียกพระองค์ว่า พุทโธ คือผู้ตื่น  ผู้รู้ถึงธรรมชาติของสภาวธรรมทั้งหลายว่า เป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด    เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน  ถ้าไปยึดไปติด ก็จะทุกข์กับสิ่งเหล่านั้น ถ้าไม่ยึดไม่ติด ก็จะไม่ทุกข์  จึงขอให้พวกเราทั้งหลายจงพยายามน้อมเอาสิ่งต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ มาเตือนสติสอนใจอยู่เสมอ เวลามองอะไร ก็จงมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่อยู่กับเราไปตลอด  เราไม่ต้องไปหวง ไม่ต้องไปห่วง  ถ้าเขาจะอยู่กับเราเขาก็อยู่กับเรา  ถ้าเขาจะไปเขาก็ไป  ถ้าเขาจะดีมันก็เรื่องของเขา  ถ้าเขาจะเลวมันก็เรื่องของเขา  เพราะใจของเขาเราไปบังคับ ไปห้ามเขาไม่ได้  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้