กัณฑ์ที่
๑๓ ๑๔
ตุลาคม ๒๕๔๓
ปล่อยวาง
วันนี้
ท่านคงจะทราบกันดีแล้ว
ว่าเป็นวันแรม ๑ ค่ำ
เดือน ๑๑
ซึ่งตรงกับวันตักบาตรเทโวฯ
พิธีตักบาตรเทโวฯนี้
ทางวัดได้จัดไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว
หนึ่งวัน คือจัดตั้งแต่เมื่อวานนี้
คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เนื่องจากศรัทธาญาติโยม
ที่มาที่วัดนี้จำนวนมาก
มีความปรารถนา
ที่จะไปตักบาตรทั้ง ๒
วัดด้วยกัน คือ
อยากจะมาตักบาตรที่วัดญาณฯ
และอยากจะไปตักบาตรที่วัดใกล้บ้านด้วย
ถ้าจัดพร้อมกันแล้วญาติโยมจะไม่สามารถไปตักบาตรทั้ง
๒ วัดได้ ดังนั้น
ทางวัดญาณฯ
เลยมีธรรมเนียมถือปฏิบัติมา
ตั้งแต่สร้างวัดขึ้นมา
ให้จัดพิธีตักบาตรเทโวฯขึ้นก่อนหนึ่งวัน
คือวันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ
คือเมื่อวานนี้
เมื่อวานนี้ญาติโยมส่วนใหญ่
ได้มาตักบาตรไปแล้ว
ถ้าท่านมาเมื่อวานนี้
ท่านจะไม่สามารถเข้ามานั่งในที่ศาลาแห่งนี้ได้
เพราะมีคนล้นศาลา
แต่สำหรับวันนี้กำลังพอดีๆ
ได้นั่งสบายๆ
ไม่ต้องเบียดเสียดกัน
เพราะการทำบุญที่แท้จริงแล้วไม่ได้ขึ้นกับเวลา
ไม่ได้ขึ้นกับสถานที่เป็นหลัก
หลักใหญ่แล้ว อยู่ที่จิตใจของเราว่าปล่อยวางหรือเปล่า
หรือยังยึดมั่น ถือมั่นอยู่
ถ้าจิตใจปล่อยวางได้แล้ว
จิตใจจะมีแต่ความสบายใจ
แต่ถ้าจิตใจยังยึดมั่น
ถือมั่น ว่าสิ่งนี้
จะต้องเป็นอย่างนี้ สิ่งนั้น
จะต้องเป็นอย่างนั้น
เมื่อสิ่งเหล่านี้
ไม่ได้เป็นไปตามที่เราปรารถนา
จิตใจก็จะมีแต่ความทุกข์
มีแต่ความไม่สบายใจ
แต่ถ้าปล่อยวางได้ เช่น
วันนี้เราเอาข้าวของ
เอาอาหาร มาถวายพระ
เราก็ปล่อยวาง คือ
ข้าวของที่เอามาทำบุญนั้น
เรายกให้คนอื่นเขาไปแล้ว
เขาจะเอาไปทำอะไรก็เรื่องของเขา
เรามีของเหลือกิน
เหลือใช้แล้ว
ก็แบ่งปันให้คนอื่นไป
เก็บไว้ก็มีแต่ความหวงแหน
มีแต่ความเสียดาย
มีแต่ความทุกข์
เวลาโดนขโมยลักของไปก็จะเสียใจ
แต่ถ้าได้ยกให้คนอื่นเขาไปแล้ว
ก็จะเกิดความสบายใจ
ของเรานี้ไม่มีความหมายอะไร
มันอยู่ที่ใจเราต่างหาก
ถ้าพร้อมที่จะสละแล้ว
ใครจะเอาไปทำอย่างไร
เราก็ไม่ทุกข์ใจ
แต่ถ้าเรายังไม่ปล่อย
ยังยึดติดอยู่
ว่าเป็นของของเรา
พอมีคนอื่นหยิบเอาไปเสียก่อน
เราก็จะเสียใจมาก
พระพุทธเจ้าทรงรู้
ทรงเห็น
เรื่องของความทุกข์ในจิตใจของพวกเรา
จึงสั่งสอนพวกเรา
ไม่ให้ยึดติดกับอะไร
เพราะว่าของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้นั้น
แท้ที่จริงแล้ว
มันไม่ใช่เป็นของของเรา
มันเป็นของที่มีอยู่กับโลกนี้มาแต่ดั้งเดิม
เราเพียงแต่มาอาศัยโลกนี้อยู่
พึ่งพาอาศัยสิ่งเหล่านี้
ไปวันหนึ่งๆเท่านั้นเอง
ในความเป็นจริงแล้ว
สิ่งของเหล่านี้
และบุคคลต่างๆทั้งหมด
จะต้องแยกกันไปในวันหนึ่งเมื่อถึงเวลา
ไม่ว่าจะเป็นสามีของเราก็ดี
ภรรยาของเราก็ดี
บิดามารดาของเราก็ดี
ลูกหลานของเราก็ดี
เพื่อนสนิทมิตรสหายของเราก็ดี
ต้องมีอันพลัดพรากจากกันไป
เป็นธรรมดา เพราะมันเป็นธรรมชาติของโลกนี้
ที่จะต้องเป็นอย่างนี้
หลังจากที่พวกเรา
ได้ตายไปในภพก่อน
ชาติก่อนแล้ว
ดวงวิญญาณของพวกเรา
ก็มาเกิดในชาตินี้
มายึดครองร่างกายอันนี้
แล้วก็อาศัยร่างกายอันนี้
ไปยึด
ไปครองสิ่งต่างๆในโลกนี้
แล้วก็ทุกข์ไปกับสิ่งเหล่านี้
เพราะอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
เป็นไปตามความอยากของเรา
แต่ก็ไม่เป็นไปตามอย่างที่เราปรารถนากัน
เพราะว่าโลกนี้เป็นโลกของอนิจจัง
อนิจจัง คือความไม่จีรัง
ไม่ถาวร ไม่ยั่งยืนนั้นเอง
อยู่กับเรา ชั่วประเดี๋ยว
ประด๋าว สักระยะหนึ่ง
แล้วก็จากไป เช่น
วันนี้ญาติโยมได้มาทำบุญ
ที่วัดนี้ มาพบพระภิกษุ สามเณร
ที่จำพรรษาอยู่ในวัดนี้
เดี๋ยวอีกสักครู่หนึ่ง
ท่านทั้งหลายก็ต้องแยกย้ายกันไป
นี่คือลักษณะของโลกนี้
พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอน
ไม่ให้พวกเราไปยึดติดกับอะไร
เพราะถ้าไปยึดติดปั๊บ
พอไม่เป็นไปตามที่ปรารถนา
ตามที่ต้องการ ก็จะมีแต่ความทุกข์ใจ
ท่านจึงทรงสอนให้ปล่อยวาง
ทำอะไรก็ให้ปล่อยวาง
เวลามีทรัพย์สมบัติ ข้าวของ
เงินทอง มากน้อยแค่ไหนก็ตาม
จะรักษาเก็บไว้อย่างไรก็ได้
แต่ใจต้องพร้อมที่จะจากกันไป
เพราะไม่รู้ว่าจะตายจากกันเมื่อไรนั่นเอง
วิธีหนึ่งที่จะตรวจสอบว่า
ใจเรายังมีความยึดมั่น
ถือมั่น กับข้าวของ
เงินทองหรือเปล่า
ก็คือการทำบุญให้ทานนั้นเอง
ถ้าไม่ยึดไม่ติด ก็จะทำบุญ
ทำทานได้อย่างสบายใจ
แล้วก็มีความสุขใจ แต่ถ้ายังยึดติดอยู่กับเงินทอง
ข้าวของแล้วละก้อ
เวลาจะทำบุญ ให้ทานผู้อื่น
จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากลำบาก
ถ้าเป็นเช่นนี้
ต้องพยายามเอาชนะใจให้ได้
ต้องพยายามฝืนใจ
พยายามต่อสู้กับความตระหนี่
ความยึดมั่น ถือมั่น
ความหวงแหนทั้งหลาย
ต้องบอกตัวเราว่าอย่าไปยึด
อย่าไปติด เกิดมีการพลัดพรากจากกัน
ก่อนที่เราจะทำใจได้
ก็จะเกิดความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง
นี่คือเรื่องของการดูแลจิตใจของเราไม่ให้ทุกข์
ด้วยการปล่อยวาง
ความยึดมั่น
ถือมั่นในสิ่งต่างๆในโลกนี้
พยายามสอนใจว่า
เราเกิดมาในโลกนี้ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว
ในที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องหมดไป
เราก็ต้องจากไป จะไปดี หรือไปไม่ดี
ก็ขึ้นอยู่กับจิตใจของเรา
ถ้าจิตใจมีแต่การปล่อยวาง
จิตใจก็จะไปดี จะไปด้วยความสุข
แต่ถ้าจิตใจ มีแต่ความยึดมั่น
ถือมั่น เวลาจากโลกนี้ไป
จะมีแต่ความทรมานใจอย่างยิ่ง
มีแต่ความหวาดกลัว
เกิดความทุกข์
เกิดความไม่อยากจะไปนั้นเอง
ถ้าเราไม่ยึดไม่ติดแล้ว
เมื่อถึงเวลา ก็พร้อมที่จะไป
ก็ไปได้อย่างสบายใจ
ไปอย่างไม่ทุกข์ใจ
จิตที่ไปด้วยความสบายใจ ก็จะไปสู่สุคติ
จิตที่ไปด้วยความทุกข์ทรมานใจ
ก็จะไปสู่ทุคติ ไปสู่อบาย
เพราะความยึดมั่น ถือมั่น
เป็นเหตุนั้นเอง
ดังนั้นถ้าอยากจะอยู่ในโลกนี้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข
และตายจากโลกนี้ไปด้วยความสงบสุขละก้อ
จงพยายามฝึกหัดการปล่อยวาง
อย่าไปยึด อย่าไปติด
กับสิ่งต่างๆในโลกนี้
พยายามทำความเข้าใจว่า
สิ่งต่างๆที่รวมกันอยู่
เป็นตัวเรานั้น
เป็นของที่เขาให้ยืมเอามาใช้
ไปวันหนึ่งๆเท่านั้น
สักวันหนึ่ง
เมื่อถึงเวลา เจ้าของจะมาเอาคืนไป
เจ้าของนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน
ก็คือธรรมชาตินี้เอง
คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอนนั่นเอง
ท่านจึงทรงแสดงไว้ว่า สัพเพ
สังขารา อนิจจา
สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง
สัพเพ ธัมมา อนัตตา
หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่
เป็นอยู่ แม้กระทั่งร่างกายของเรา
ก็ไม่ได้เป็นของเรา อนัตตา
แปลว่าไม่ใช่ของของเรา
เป็นของโลกนี้
ทุกๆอย่างเป็นของยืมมาใช้
เมื่อถึงเวลาเราก็ต้องปล่อยคืนสิ่งเหล่านั้นไป
จึงขอให้พวกเราทุกๆคน
จงสร้างบุญ สร้างกุศล
ด้วยการพยายามสอนตัวเราอยู่เรื่อยๆ
ให้ระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก
ให้รู้ว่าสักวันหนึ่งเราก็จะต้องตาย
และจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้
อาจจะตายพรุ่งนี้ก็ได้
หรืออาจจะเป็นเย็นนี้ก็ได้
หรืออาจจะเป็นเที่ยงนี้ก็ได้
หรืออาจจะเป็นอีกสิบปี
ยี่สิบปีก็ได้
ไม่มีใครสามารถที่จะไปรู้ในสิ่งเหล่านี้ได้
ถ้าไม่ได้เตรียมตัว
เตรียมใจเอาไว้ก่อนแล้ว
เวลาเหตุการณ์เกิดขึ้น
จะเกิดการตกอก ตกใจ
เกิดความกลัวขึ้นมา
แต่ถ้าได้สอนใจอยู่เสมอว่า
เราต้องไปสักวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว
เตือนสติอยู่เรื่อยๆ
ระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ
จนสามารถปล่อยวางได้
ไม่ยึด ไม่ติด
เราก็จะมีความสุข
มีความสบายใจ
สิ่งของทั้งหลายในโลกนี้
เป็นของที่เราเอาติดตัวไปไม่ได้
เวลาตายไปไม่มีใครเอาข้าวของเงินทองใส่โลงไปด้วย
มีแต่เอาไปเผาทิ้ง
เอาอะไรไปไม่ได้
เอาไปได้แต่ความสุขหรือความทุกข์
ที่เกิดจากบุญและบาปเท่านั้นเอง
ถ้ามีบุญ มีธรรมะ
ที่ทำให้ปล่อยวางได้
ก็ไปสบาย ไปสู่สุคติ
ไปสู่สวรรค์ ไปเป็นเทพ
เป็นพรหม เป็นพระอริยะบุคคล
ถ้าไปด้วยความยึดมั่น
ถือมั่น ก็จะไปด้วยความทุกข์
แสดงว่าจะต้องไปสู่ทุกคติ
ไปสู่อบาย
ไปสู่ความเป็นเดรัจฉาน
เป็นเปรต เป็นอสุรกาย
ไปสู่นรก
ถ้าปรารถนาที่จะอยู่ในโลกนี้ด้วยความสบายใจ
ด้วยความร่มเย็น เป็นสุข
ไม่มีความทุกข์
ก็ขอให้สร้างธรรมะขึ้นมา
ถ้าได้สอนตัวเราเองตลอดเวลาแล้ว
ใจจะปล่อย ใจจะวาง
และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องจากโลกนี้ไป
หรือจะต้องพลัดพรากจากใครก็ตาม
จากสิ่งของทั้งหลายก็ตาม
เราจะไม่มีความทุกข์ใจ
เช่นเวลาเรากลับไปบ้าน
พบว่าขโมยได้ขึ้นบ้านเรา
ขโมยข้าวของไปหมด
ถ้าได้ปล่อย
ได้ปลงไว้ก่อนแล้ว
ได้เตรียมใจไว้ก่อนแล้ว
เราก็จะพูดว่า เออ!
จะไปก็ไป
ของทุกสิ่งทุกอย่าง
มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน
เราจะไม่ตกใจ ไม่เสียใจ
ไม่ร้องห่มร้องไห้
เพราะของเหล่านี้หายไปแล้ว
ทำไมจะต้องเสีย ๒ ต่อ คือ
เสียของแล้ว
ยังต้องมาเสียใจด้วยทำไม
ของมันก็หายไปแล้ว
ยังไงๆมันก็ไปแล้ว
เราอย่าไปเสียใจ
เรารักษาใจได้ด้วยธรรมะ
จึงขอให้พวกเราพยายามน้อมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ามา
ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจัง
เป็นของไม่เที่ยง
ทุกสิ่งทุกอย่าง
เป็นอนัตตา
ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเรา
ถ้ามีความรู้ทั้ง ๒ อย่างนี้
ติดตัวติดใจเราแล้ว เราจะไม่ยึด ไม่ติด
เมื่อไม่ยึด ไม่ติดแล้ว
เราจะมีแต่ความสบายใจ
ขอฝากธรรมะนี้
ให้กับญาติโยมนำไป
สั่งสอนอบรมใจอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ทุกลมหายใจเข้าออกถ้าสามารถทำได้
แล้วญาติโยมจะมีธรรมะเป็นเครื่องปกป้องคุ้มครองรักษา
ไม่ให้จิตใจมีความทุกข์
ไม่ให้จิตใจไปสู่ที่ต่ำ
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้