กัณฑ์ที่ ๑๓๓     ๒๕ กันยายน ๒๕๔๕

เป้าหมายของธรรม

 

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ทุกบททุกบาท ที่ได้ทรงแสดงตลอดเวลา ๔๕ พรรษา ที่รวบรวมได้ก็ประมาณ ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ล้วนมีใจเป็นเป้าหมาย คือพระธรรมทุกบททุกบาทจะชี้มาที่ใจ เพราะใจเป็นตัวสำคัญ เป็นผู้ทำให้เกิดทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา และเป็นผู้รับทุกสิ่งทุกอย่างด้วย คือเป็นทั้งเหตุและเป็นทั้งผล ใจเป็นผู้สร้างเหตุแล้วใจก็เป็นผู้รับผลของเหตุที่ใจสร้างขึ้นมา จึงต้องมาดูที่ใจเป็นหลัก  ถ้าดูใจแล้ว เราจะได้รู้ว่าใจกำลังทำอะไรอยู่ กำลังคิดอะไรอยู่ และเมื่อคิดไปแล้ว ก็จะได้รู้ว่าผลคือความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่ปรากฏขึ้นมานั้นเป็นอย่างไร แต่ถ้าไม่มองที่ใจ เราจะไม่รู้ เราจะหลง

ส่วนใหญ่เราไม่ได้ดูที่ใจกัน เราจะดูที่ภายนอก ดูที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เวลามาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กายแล้วรับรู้ที่ใจ แล้วใจก็ไปมีปฏิกิริยากับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านั้น มีความยินดีบ้างมีความไม่ยินดีบ้าง มีความเฉยๆบ้าง แต่ถ้าไม่ดูที่ใจ  เราจะไม่รู้ปฏิกิริยาของใจว่าเป็นอย่างไร  เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ชอบ ถ้าไม่ได้ดูที่ใจ เราก็จะพยายามไปแก้สิ่งที่เราไม่ชอบ  ให้หายไปเสีย ให้พ้นหูพ้นตาไปเสีย ถ้าเห็นสิ่งที่ชอบ ก็จะพยายามดึงเอาไว้  ทั้งๆที่ไม่รู้หรอกว่า ผลที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นอย่างไรแก่จิตใจ แต่ถ้าดูจิตใจแล้ว  เวลาเห็นอะไร สัมผัสอะไร จะเห็นว่าเกิดอารมณ์อะไรขึ้นมา  ดีใจ  เสียใจ เฉยๆ  ยินดี  ยินร้าย ถ้าเห็นแล้ว เราจะเริ่มรู้จักวิธีปฏิบัติกับสิ่งเหล่านั้น  เพราะความยินดีก็ตาม ความยินร้ายก็ตาม ความพอใจ ความไม่พอใจก็ตาม  ล้วนเป็นอารมณ์ที่สร้างความผูกพันให้กับใจ  ให้มีกับสิ่งเหล่านั้น แทนที่จะมองด้วยความวางเฉย ปล่อยวาง  ก็เลยกลายเป็นเรื่องขึ้นมา  แทนที่จะอยู่เฉยๆ ก็ต้องไปวุ่นวายจัดการกับเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามาสัมผัสกับใจ  เพราะความหลงพาไปนั่นเอง ไม่รู้ว่าสิ่งที่ใจไปยุ่งเกี่ยวด้วย ไปจัดการด้วยนั้น  โดยธรรมชาติของเขานั้น เป็นอย่างไร  ว่าอยู่ในฐานะของใจที่จะสามารถไปดูแลจัดการเขาได้หรือไม่

แต่ถ้าได้ศึกษา ได้ยินได้ฟังธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว  จะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มาสัมผัสกับใจ จะมาจากภายนอกก็ดี หรือปรากฏขึ้นมาภายในใจก็ดี ล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ปราศจากตัวตน สิ่งภายนอกก็ได้แก่บรรดารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย สิ่งภายในก็มีพวกอารมณ์ต่างๆ มีเวทนา ความรู้สึก สัญญา ความจำได้หมายรู้  สังขาร ความคิดปรุง  วิญญาณ การรับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่มาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กาย วิญญาณเป็นผู้รับรู้  สัญญาเป็นผู้แปลความหมายว่า รูป  เสียง  กลิ่น  รส โผฏฐัพพะ เป็นรูปแบบไหน  เป็นเสียงแบบไหน เป็นกลิ่นแบบไหน  เป็นรสแบบไหน  เป็นโผฏฐัพพะแบบไหน    เป็นพิษ  เป็นภัย  เป็นคุณหรือเป็นโทษ  เป็นสิ่งที่น่ายินดีหรือน่ารังเกียจ  แล้วก็จะเกิดเวทนาตามมา  ถ้าเป็นสิ่งน่ายินดีก็จะเกิดความสุขใจ  ถ้าเป็นสิ่งน่ารังเกียจก็จะเกิดความไม่พอใจ ไม่ชอบอกชอบใจ ไม่สบายใจ แล้ว สังขารก็จะปรุงต่อไป  ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกอกถูกใจก็จะเข้าหา  ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่พออกพอใจก็จะถอยออก  หรือไม่เช่นนั้นก็จะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้สิ่งนั้นหายไป  

นี่คือการทำงานของขันธ์ทั้ง ๔ ที่เรียกว่า  นามขันธ์  ที่ปรากฏอยู่ในใจ ในขณะที่ไปรับรู้เรื่องราวต่างๆภายนอก ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง ๕ แล้วก็มีวิญญาณไปรับทราบ  ถ้ามีอวิชชาคือความไม่รู้จริง เข้าไปเป็นผู้ควบคุมสั่งการให้ทำงาน  ก็จะมองไปในทางความหลง  คือจะมองไปว่า เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์  เป็นบุคคล  เป็นหญิง เป็นชาย  เป็นสิ่งที่น่ารักน่ายินดี  น่ารังเกียจ อย่างนี้เป็นต้น  แต่ถ้าเป็นใจที่มีปัญญา  คือธรรมเป็นผู้สั่งการ  คือเคยได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้ามา จะรู้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เข้ามาทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  และเข้ามาสู่ใจ โดยวิญญาณเป็นผู้รับเข้ามานั้น  ล้วนเป็นสภาวธรรมทั้งสิ้น  เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง  มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป  เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน  ถ้ารู้แล้วไม่ยึดไม่ติดก็ไม่ทุกข์  แต่ถ้าไม่รู้ แล้วหลงไปยินดียินร้ายเข้า ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

นี่แหละคือเรื่องราวของใจที่ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ   แต่ไม่มีใครสั่งสอนเรื่องเหล่านี้ นอกจากพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลายเท่านั้น  นอกจากนั้นแล้วจะไม่รู้เรื่องราวของใจเลย  ไม่รู้ปฏิกิริยาของใจ  การทำงานของใจต่อสิ่งต่างๆ ก็เลยกลายเป็นใจที่หลงกับสิ่งต่างๆ ที่มาสัมผัส  ถ้าอันไหนเป็นสิ่งที่เข้าใจโดยสมมุตินิยมว่าเป็นสิ่งที่ดี  สิ่งที่น่าสะสมก็พยายามจะสะสมกัน  โดยไม่คำนึงเลยว่าเขาจะอยู่กับเราไปได้นานมากน้อยแค่ไหน  หรือเราจะอยู่กับเขาไปได้นานมากน้อยแค่ไหน  ให้ความสุขกับเราอย่างแท้จริงหรือไม่  หรือให้ความทุกข์มากกว่า  สิ่งเหล่านี้ถ้ามีความหลง  มีอวิชชาครอบงำจิตใจ  จะไม่มีรู้เลยว่า  สิ่งต่างๆที่ใจไปยินดี  ไปยึด ไปติด ไปชอบ ไปชังนั้น ล้วนแต่สร้างความทุกข์ให้กับใจทั้งนั้น  ความสุขอาจจะมีบ้าง แต่ก็เป็นความสุขประเดี๋ยวประด๋าว  ความจริงแล้ว เป็นความทุกข์มากกว่าความสุข  แต่ไม่ได้คิด  ไม่ได้ใคร่ครวญ  ไม่ได้พินิจพิจารณา โยนิโสมนสิการ ด้วยความรอบคอบ  ไม่ได้มองทั้งขบวนการ  เพียงแต่มองตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นในครั้งแรกของใจเท่านั้น 

เวลาเห็นอะไรแล้วเกิดความชอบขึ้นมา ก็เกิดความสุขใจขึ้นมาในขณะนั้น  ก็อยากจะได้สิ่งนั้นมา  เมื่อได้มาแล้วก็มีความสุขใจ  แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีความกังวล  มีภาระความห่วงใยตามมา  เพราะสิ่งใดที่เรารัก  ที่เราชอบ  ที่เราได้มาแล้ว  เราก็อยากจะให้สิ่งนั้นอยู่กับเราไปนานๆ  แต่สิ่งนั้นไม่เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน  มีการเปลี่ยนแปลงได้  สิ่งที่เราได้มาอาจจะเปลี่ยนไป แบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือก็ได้  คนที่เราคิดว่าดีกับเรา ซึ่งเขาก็ดีกับเราตอนพบกันครั้งแรก อยู่ด้วยกันครั้งแรก  แต่ต่อมาเขาอาจเปลี่ยนไป แบบหน้ามือเป็นหลังมือก็ได้  เคยเอาอกเอาใจเรา  เคยยิ้มแย้มแจ่มใสกับเรา แต่กลับกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่สนใจใยดีเรา หน้าตาบึ้งตึง  เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา  ความทุกข์ใจย่อมเกิดขึ้นตามมา  ความชังย่อมเกิดขึ้นตามมา  อย่างนี้เป็นต้น  เพราะไม่ได้วิเคราะห์ไว้ก่อนล่วงหน้า  เลยไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น  เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วก็มาเสียใจทีหลัง 

นี่แหละคือลักษณะของสิ่งต่างๆ ที่ใจไปเกี่ยวข้องด้วย  ไม่เป็นเหมือนเดิมอยู่ตลอดไป  มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  ไม่อยู่กับเราไปตลอด    ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้น  เป็นบุคคลหรือเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ล้วนเป็นสภาวธรรม  มีความไม่เที่ยงเป็นที่ตั้ง  มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  ถ้าใจขาดปัญญา  ไม่ดูใจว่ากำลังมีความรู้สึกอย่างไร กับสิ่งต่างๆที่มาเกี่ยวข้องกับใจ  ก็ย่อมมีปฏิกิริยาตอบโต้ตามนิสัย ที่ได้สะสมมาเป็นเวลายาวนาน  เรียกว่าอารมณ์  มีปฏิกิริยาตอบโต้กับสิ่งต่างๆด้วยอารมณ์  แทนที่จะใช้เหตุใช้ผลตอบโต้ กลับใช้อารมณ์  เพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่เร็วมาก  เป็นอัตโนมัติ  พอเห็นอะไรปั๊บจะมีความรู้สึกขึ้นมาทันที  สุขทุกข์  ดีใจ  เสียใจ  พอใจ  ไม่พอใจ  จะเกิดขึ้นทันที  แล้วก็จะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้กับสิ่งนั้นๆทันที  แต่ถ้าได้ศึกษาธรรมแล้ว จะเริ่มเข้าใจว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ต้องไปยินดียินร้าย  ไม่ต้องไปรักไปชัง  เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นธรรมชาติเหมือนกันหมด  เพราะสิ่งต่างๆล้วนมาจากธาตุทั้งนั้น  มาจากธาตุทั้ง ๖ คือ ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  ธาตุไฟ  ธาตุรู้  ธาตุอากาศ  ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสิ่งต่างๆ  ที่ใจไปสัมผัส  เมื่อสัมผัสแล้วก็หลงรักหลงชัง  แล้วก็ดีใจเสียใจ  ร้องห่มร้องไห้ เศร้าโศกเสียใจกับสิ่งเหล่านั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่อยู่นิ่ง  มีการเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนตลอดเวลา 

นี่แหละคือเรื่องราวของใจ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้หันมาดูที่ใจ  เพราะใจก็เปรียบเหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง  ถ้าผู้ขับไม่รู้จักขับรถยนต์  ก็จะไม่สามารถควบคุมรถยนต์  ให้ไปในทิศทางที่ต้องการไปได้  แต่ถ้าได้ศึกษาวิธีการขับรถยนต์  รู้จักวิธีขับให้เดินหน้า  ให้ถอยหลัง  ให้เลี้ยวซ้าย  ให้เลี้ยวขวา  ให้หยุด  ก็จะสามารถขับพารถยนต์ให้ไปในทิศทางที่ต้องการจะไปได้  ฉันใด ใจของเราก็เช่นกัน  เป็นเหมือนรถยนต์ที่เราต้องควบคุมดูแลบังคับ  ถ้าปล่อยให้ใจวิ่งไปตามอารมณ์  ก็เหมือนกับปล่อยให้รถยนต์วิ่งลงเขาไป โดยไม่มีคนขับรถคอยควบคุมบังคับ  ย่อมแหกโค้งตกลงเหวอย่างแน่นอน  ใจของเราก็เป็นเช่นนั้น  ถ้าไม่ควบคุมด้วยธรรม   ก็จะเตลิดเปิดเปิงไปตามอารมณ์ความรู้สึกเดิมๆ ที่เคยสะสมไว้  ที่ไม่ถูกตามเหตุตามผล  ตามความเป็นจริง  ไม่ได้เป็นเหตุที่จะนำไปสู่ความสุข  แต่จะเป็นเหตุที่จะนำไปสู่ความทุกข์  ความวุ่นวายใจไม่มีที่สิ้นสุด  แต่ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วนำเอามาควบคุมใจ ให้ดำเนินไปตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายได้ดำเนินไป  ก็จะดำเนินไปสู่ความสวัสดิภาพ สู่ความสุขความเจริญ  สู่ความพ้นทุกข์ อย่างแท้จริง

เราจึงต้องศึกษาพระธรรมคำสอน  ที่ทรงสอนให้เราดูใจด้วยสติ  แล้วก็ให้เบรกใจด้วยการทำจิตให้สงบนิ่ง  เรียกว่าทำสมาธิ การทำสมาธิเป็นการดึงใจไว้ ไม่ให้ไปคิดปรุงเรื่องราวต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในอดีตก็ดี  เรื่องในอนาคตก็ดี  เรื่องใกล้เรื่องไกล เรื่องอะไรทั้งหมด ให้ใจเกาะอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียว  เช่นบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆ เป็นอารมณ์ก็ได้ ใช้การดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ หรือจะใช้วิธีอื่นก็ได้  ซึ่งอารมณ์ที่ใช้ควบคุมใจนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ถึง ๔๐ ชนิดด้วยกัน เรียกว่ากรรมฐาน ๔๐  เช่น พุทธานุสติ การระลึกถึงพระพุทธเจ้า ด้วยการบริกรรมพุทโธๆๆ อานาปานสติ การมีสติรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก  ธัมมานุสติ  การระลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอน สังฆานุสติ นึกถึงพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย มรณานุสติ ระลึกถึงความตาย จะใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ถูกจริตหรือได้ผลดี เป็นอารมณ์เครื่องผูกใจก็ได้ เปรียบเหมือนกับเสา  เวลาที่เราต้องการผูกลิงไว้ ไม่ให้เดินเพ่นพ่าน  เราก็ต้องจับลิงผูกไว้กับเสา มีเชือกเส้นใหญ่ๆคล้องคอลิงไว้ แล้วเอาเชือกผูกไว้ที่เสา   ลิงย่อมไม่สามารถไปเพ่นพ่านได้ ใจเช่นกัน ถ้ามีการควบคุมผูกไว้กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งด้วยสติแล้ว ย่อมไม่สามารถไปคิดปรุงแต่งได้  

สติเปรียบเหมือนกับเชือก   ใจเปรียบเหมือนกับลิง ส่วนอารมณ์ที่เป็นเครื่องควบคุมใจเป็นเหมือนกับเสา เรียกว่ากรรมฐาน  ถ้าใช้ลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ เรียกว่าอานาปานสติ  เป็นการผูกใจให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก  มรณานุสติ ระลึกถึงความตาย  พิจารณาถึงความตายอยู่เสมอๆ ทุกลมหายใจเข้าออก ว่าเกิดมาแล้วต้องตาย  ทุกๆคน  ทุกๆสิ่งทุกๆอย่างที่มีชีวิต  เมื่อเกิดมาแล้วต้องมีการตายไปเป็นธรรมดา  ให้คิดอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ  ถ้าใจไม่เล็ดลอดไปสู่ที่อื่น ไม่ช้าก็เร็ว  ใจก็จะสงบตัวลง ใจจะนิ่ง ในขณะที่ใจนิ่งอยู่ ก็ไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องไปควบคุมบังคับใจ  เพราะในขณะนั้นใจจะไม่ลอยไปไหน  แต่จะนิ่งอยู่ได้นานสักเท่าไร ก็สุดแท้แต่กำลังของสติ ที่ใช้ดึงใจให้เข้าสู่ความสงบ  ในขณะที่ใจสงบก็ไม่ต้องทำอะไร  เพราะใจกำลังเสวยความสุข  มีความอิ่มมีความพอ 

หลังจากที่ออกจากความสงบแล้ว  ใจจะเริ่มคิดไปตามเรื่องต่างๆ  พอถึงตอนนี้ เป็นเวลาที่จะต้องนำใจมาคิดในทางที่ถูกที่ควร  ในทางที่จะสร้างให้เกิดปัญญา  คือให้ใจหันมาดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นมาภายในใจ  เช่น ดูวิญญาณเวลารับรู้  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  สัญญาผู้แปลรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  เหล่านั้นว่าเป็นอะไร  แปลถูกหรือแปลผิด  ถ้าจะแปลให้ถูก จะต้องแปลให้เป็นไตรลักษณ์ให้หมด  คือเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติดกับสิ่งเหล่านั้น  ถ้าแปลอย่างนี้แล้วสังขารจะได้ไม่ปรุงไปสู่ความอยาก คือตัณหา อันเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์ตามมา  แต่จะปรุงไปทางมรรค  คือจะปรุงเพื่อปล่อยวาง  เพราะรู้ถ้าไปยึดไปติดกับสิ่งที่เป็นไตรลักษณ์  เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตาแล้ว จะต้องมีความทุกข์นั่นเอง 

เมื่อเราทุกคนเกิดมา ก็ไม่มีใครอยากจะมีความทุกข์  แล้วจะไปยึดไปติดกับสิ่งเหล่านั้นทำไม เพราะเมื่อไปติดแล้วทุกข์ก็เกิดขึ้นมา  ทุกข์เกิดขึ้นในใจ  เกิดขึ้นจากการยึดติดของใจ  ที่มอวิชชาความไม่รู้จริง เข้ามาเป็นตัวกระซิบ เป็นตัวสั่งให้ใจไปยึดไปติด  ไปยินดีไปชอบ  ไปรังเกียจ  เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะเกิดเป็น กามตัณหา ภวตัณหา  วิภวตัณหา ขึ้นมา  ซึ่งเป็นต้นเหตุของความทุกข์  เมื่อมีภวตัณหา  กามตัณหา  วิภวตัณหาแล้ว ความทุกข์ใจก็จะเกิดขึ้นมา  แต่ถ้ามีปัญญา  คือรู้ทันว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง  อนัตตาทั้งสิ้น  ก็ไม่ยึดไม่ติด ก็ปล่อยวาง  ถ้าปล่อยวาง ใจก็จะสงบ ใจก็จะเย็น  นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา  คือความทุกข์ก็ดับไป  ดับเพราะปัญญา ดับเพราะสติ  เพราะมีสติปัญญาคอยดูใจอยู่ตลอดเวลานั่นเอง  คือไม่ดูข้างนอกมากจนเกินไป  ข้างนอกก็ดู  แต่ต้องดูข้างในมากกว่า  ข้างนอกดูแล้ว ก็ต้องหันเข้ามาดูข้างใน ว่ามีปฏิกิริยาอย่างไร  ถ้ามีสติ  มีปัญญา จะเข้าใจ จะไม่ยึดไม่ติด  จะปล่อยวาง ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย  อะไรจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป  ถ้าไม่อยู่ในวิสัยหรือไม่อยู่ในฐานะที่จะต้องไปยุ่งเกี่ยวด้วย ก็ไม่ไปยุ่งเกี่ยว  แต่ถ้ายังมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติกับสิ่งนั้นๆ ก็ให้ใช้ปัญญา  ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้  แต่ถ้าสุดวิสัยเหลือวิสัย ก็ไม่มาเศร้าโศกเสียใจ  ไม่มากังวล  เพราะยอมรับความจริง ว่ามันเป็นอย่างนั้นแหละ  ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเราไปได้ทั้งหมด  เราอาจจะควบคุมหรือจัดการกับเขาได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อสุดเอื้อม  สุดความสามารถแล้ว ก็ต้องยอมรับความจริง ก็ต้องปล่อยวางเท่านั้นเอง 

คือรู้ว่าต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ช้าก็เร็ว  ที่จัดการไป ที่ทำไป ก็จัดการไปอย่างนั้น  ทำไปอย่างนั้น เท่าที่จำเป็น เช่น มีบ้าน  ก็ต้องดูแลรักษาบ้าน  ปัดกวาดเช็ดถู  เวลามีการชำรุดทรุดโทรม ก็ต้องมีการซ่อมแซม  แต่ถ้าเก่ามาก  ผุพัง ซ่อมยังไง ก็ซ่อมไม่ได้  ก็ต้องยอมรับความจริง  ก็ต้องปล่อยให้พังไป  เช่นเดียวกับร่างกายของเรา ก็เป็นแบบนั้น ก็ดูแลรักษาไป ตามความสามารถ  ตามอัตภาพ ตามกำลังของเรา ที่จะรักษาได้  แต่เมื่อถึงเวลาที่ไม่ยอมให้รักษาแล้ว  ไม่ให้ดูแลแล้ว  มีแต่จะสลาย  มีแต่จะตายอย่างเดียว ก็ต้องยอมรับความจริง  เพราะร่างกายก็เป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน  เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตาเหมือนกัน 

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใจไปเกี่ยวข้องด้วยเป็นอย่างนั้นทั้งนั้น  ถ้าเข้าใจหลักนี้แล้ว  ต่อไปก็จะไม่ทุกข์กับอะไร เพราะมีสติมีปัญญาคอยรักษาใจ  สติปัญญาก็คือวิปัสสนา คือมรรคนั่นเอง  ถ้ามีสติปัญญา  มีธรรมคอยเป็นผู้สั่งการให้ใจปฏิบัติแล้ว  ใจก็จะปฏิบัติด้วยวิธีที่ถูกต้อง  ไม่สร้างความอยากทั้งหลายขึ้นมา  อยากไม่ได้ ไปอยากอะไรกับสิ่งต่างๆในโลกนี้อยากไม่ได้  อยากไปแล้วก็จะทุกข์กับเขา  แต่ถ้าไม่อยากแล้ว    ก็จะไม่ทุกข์กับเขา  แต่ก็ยังอยู่กับเขาได้  ยอมรับตามความเป็นจริง  สภาพตามความเป็นจริงของโลกเขาเป็นอย่างไร  ก็ยอมรับตามความเป็นจริงอันนั้น  วันนี้ฝนตกก็ยอมรับได้  พรุ่งนี้ฝนไม่ตกก็รับได้  อากาศวันนี้จะหนาวก็รับได้  พรุ่งนี้อากาศจะร้อนก็รับได้  เพราะเป็นสิ่งที่ไปบังคับไม่ได้นั่นเอง 

แต่สิ่งที่เราบังคับได้ ก็คือใจของเรา  แต่เราไม่ได้มองที่ใจของเรา เรากลับไปมองข้างนอกกัน  เราจึงไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  เราไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  เวลาร้อนเราก็ไปซื้อเครื่องปรับอากาศมาใช้  แต่พอใช้ไปๆ เครื่องปรับอากาศก็เสีย  หรือไฟก็ดับ  เมื่อไม่มีเครื่องปรับอากาศก็เกิดความหงุดหงิดใจ  เกิดความร้อนรนใจขึ้นมา  แต่ถ้าเป็นคนฉลาด เวลาร้อนก็ยอมรับว่าร้อน  แล้วก็พยายามปรับใจ ให้อยู่กับความร้อนนั้น ก็อยู่ได้  ไม่มีปัญหาอะไร  ไม่ต้องไปวุ่นวายกับการไปหาเครื่องปรับอากาศ  ไม่ต้องไปห่วงว่าไฟจะดับหรือไม่ดับอย่างไร  ไม่ต้องห่วงว่าเครื่องปรับอากาศนั้นจะเสียเมื่อไร  อย่างนี้เป็นต้น ความทุกข์ก็จะไม่มี  เพราะจัดการกับความทุกข์ที่ต้นเหตุ  ไม่ได้ไปจัดการความทุกข์ที่ปลายเหตุ  ถ้าไปจัดการกับความทุกข์ที่ปลายเหตุแล้ว  จัดการเท่าไรก็จะไม่มีที่สิ้นสุด 

นี่แหละทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนให้พวกเราหันมาดูที่ใจ  เพราะใจเป็นทั้งเหตุและเป็นทั้งผล  เป็นผู้สร้างเหตุขึ้นมา  เหตุก็มีทั้ง ๒ อย่าง  เหตุที่ดีเรียกว่ามรรค เหตุที่ไม่ทำให้เกิดความทุกข์  และเหตุที่ไม่ดีเรียกว่าสมุทัย คือเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์  ซึ่งเกิดจากอวิชชาความไม่รู้จริง นั่นเอง  ไม่รู้สภาพความเป็นจริงของโลก  ของสภาวธรรมทั้งหลายว่าเป็นอย่างไร  แต่ถ้าได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า  แล้วนำมาปฏิบัติ  ตั้งแต่การนั่งสมาธิ  ควบคุมจิตใจ  แล้วเจริญปัญญา จนปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด ใจก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้