กัณฑ์ที่
๑๓๗
การบวช
วันนี้มีพระเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากมีข้าราชการตำรวจตะเวนชายแดน
จำนวน ๙๔ นาย
ได้อุปสมบถถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จย่า อันเป็นกิจกรรมที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมเด็จย่าเสด็จสวรรคต
การบวชในพระพุทธศาสนา
เป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง
เป็นกิจกรรมที่มีคุณมีประโยชน์อย่างยิ่ง
ทั้งกับผู้บวชเองและกับพระพุทธศาสนา
เพราะผู้บวชจะได้รับผลอันประเสริฐจากการบวช
ถ้าสามารถปฏิบัติตาม
อย่างที่พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ปฏิบัติกัน
คือบรรลุ มรรค ผล
นิพพาน เป็นผู้สิ้นกิเลส
สิ้นความทุกข์ สิ้นการเวียนว่ายตายเกิด
นี่คือสิ่งที่พระพุทธศาสนาสามารถมอบให้กับเราทุกๆคน
ไม่ว่าหญิงหรือชาย จะเป็นนักบวชหรือไม่ก็ตาม
สามารถที่จะบรรลุธรรม
ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้บรรลุถึง
เพียงแต่ว่าถ้าได้บวช
โอกาสที่จะได้บรรลุธรรมเหล่านี้
ย่อมเป็นได้อย่างสะดวกง่ายดายกว่า
เพราะไม่มีภารกิจอย่างอื่นมาคอยหน่วงเหนี่ยว
คอยถ่วงรั้งไว้
ชีวิตของนักบวชจึงเป็นชีวิต
ที่สามารถทุ่มเทชีวิตจิตใจเวลาทั้งหมด
ให้กับการปฏิบัติธรรมได้
แต่ถ้าเป็นฆราวาสญาติโยม
ยังต้องมีภารกิจเกี่ยวกับครอบครัว
เกี่ยวกับการเลี้ยงดูชีวิตของตนเอง
เวลาที่จะมาศึกษาและปฏิบัติธรรมจึงมีน้อย
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีสิทธิ์
ที่จะได้รับผลอันประเสริฐจากพระพุทธศาสนา
ถ้าสามารถศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้
ก็สามารถบรรลุ
มรรค ผล นิพพาน
ได้เช่นเดียวกับนักบวช
ในทางตรงกันข้าม
ถ้าได้บวชแล้วแต่ไม่สนใจศึกษาปฏิบัติธรรม
ต่อให้บวชเป็นเวลาหลายสิบปี
ก็จะไม่สามารถบรรลุถึงธรรมที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้บรรลุถึงได้
ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับทัพพีในหม้อแกง
ทัพพีนั้น
ถึงแม้จะอยู่ในหม้อแกง
ที่มีรสชาติอันวิเศษขนาดไหน
ทัพพีก็จะไม่สามารถรู้ได้
ถึงรสชาติของแกงในหม้อนั้นเลย
เพราะทัพพีไม่มีโสตประสาทที่จะรับรู้
ไม่เหมือนกับลิ้น ลิ้นนี้เพียงแต่มีหยดของน้ำแกงมาสัมผัส
ที่ปลายลิ้นเพียงหยดเดียว
ก็จะรู้ทันทีเลยว่ามีรสชาติอย่างไร
ดีหรือไม่ดีอย่างไร การได้เข้าสัมผัสกับพระพุทธศาสนา
จึงสามารถสัมผัสได้ ๒
ลักษณะด้วยกัน คือสัมผัสแบบทัพพีในหม้อแกง
หรือสัมผัสแบบลิ้นกับรสแกง
ถ้าสัมผัสแบบลิ้นกับรสแกงก็จะรู้ได้ทันที
จะเข้าใจได้ทันทีในสิ่งต่างๆ
ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
และสามารถนำเอาไปปฏิบัติ
เพื่อทำให้จิตใจสะอาดหมดจด
ทำให้จิตใจปล่อยวาง ทำให้จิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย
ที่เกิดจากอุปทาน
ความยึดมั่นถือมั่น
ไม่รู้ว่าสภาพของสิ่งต่างๆ
ที่ไปยึดติดอยู่นั้น
ว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษ
แต่ถ้าเป็นลิ้นแล้ว
จะรู้ได้ทันทีเมื่อได้ยินได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง
อย่างบทที่แสดงไว้ว่า
ธรรมอันใดที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
ธรรมอันนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา
ถ้าเป็นผู้มีสติปัญญา
เป็นผู้มีลิ้นที่จะสัมผัสกับรสของธรรม
จะเข้าใจความหมายของธรรมอันนี้โดยทันที
ว่าทุกๆคนที่เกิดมาแล้ว
ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย
ด้วยกันทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น เมื่อเป็นเช่นนั้นทำไมจึงต้องไปเศร้าโศกเสียใจ
ไปเสียดายกับสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น
กับสิ่งที่จะต้องเป็นไป
ที่เรายังเศร้าโศกเสียใจ
ยังมีความความอาลัยอาวรณ์อยู่
ก็เป็นเพราะว่าใจของเรายังมืดบอดอยู่
ยังเปรียบเหมือนกับทัพพีในหม้อแกง
สัมผัสกับแกงที่อยู่ในหม้อเป็นเวลายาวนานขนาดไหน ก็ไม่สามารถรับประโยชน์จากแกงในหม้อนั้นได้เลยแม้แต่นิดเดียว
ฉันใดธรรมของพระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น
พวกเราทุกคนเป็นพุทธศาสนิกชน
เราก็ได้ยินอยู่เสมอ
เรื่องของอนิจจัง ความไม่เที่ยง
เรื่องของการเกิด แก่ เจ็บ
ตาย ว่าเป็นเรื่องปกติของภพชาตินี้
ของมนุษย์
ของสัตว์ทั้งหลาย
รวมไปถึงวัตถุสิ่งของต่างๆ
ล้วนอยู่ในสภาพที่ไหลเวียน
ไม่นิ่ง ไม่คงที่
มีการเจริญแล้วก็เสื่อมไปตามลำดับ
จะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับสิ่งของนั้นๆ
บุคคลนั้นๆ
แต่จะเป็นเหมือนกันทุกคนในลักษณะที่ว่า
มีการเกิดขึ้น
มีการตั้งอยู่ แล้วมีการดับไป
ถ้าเป็นคนที่มีความสำเหนียก
ได้ยินได้ฟังสิ่งเหล่านี้แล้ว
ก็จะเอามาใคร่ครวญพิจารณา
มาปฏิบัติกับชีวิตของตนเอง
เมื่อรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
มาสัมผัสด้วย ล้วนเป็นของไม่เที่ยงทั้งสิ้น
มีมาแล้วก็มีไป
ก็จะไม่ยึดไม่ติด
อย่างวันนี้ญาติโยมมาที่ศาลานี้เพื่อทำบุญกัน
เดี๋ยวอีกสักครู่ ก็แยกกัน
ไปคนละทิศคนละทาง
เมื่อรู้ว่าจะต้องแยกจากกัน
เราก็ไม่ยึดไม่ติด
เราก็ไม่เศร้าโศกเสียใจ
ในเวลาที่เราต้องแยกจากกันไป
แต่ถ้าเราไปยึดไปติดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ก็แสดงว่าเราหลงแล้ว เราไม่รู้แล้ว
เราลืมไปแล้วว่า
สักวันหนึ่งเราจะต้องพลัดพรากจากทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่มีอยู่กับเรา
แม้กระทั่งร่างกายของเรา
ก็ต้องมีการสูญสลายดับไปในที่สุด
ถ้าเราสำเหนียก
นำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาเตือนสติ
มาสอนใจอยู่อย่างสม่ำเสมอทุกๆวัน
ถ้าเป็นไปได้ทุกๆขณะ
ที่มีเวลาว่างจากการกระทำอะไรก็ตาม
ขอให้เตือนสติเสมอว่าชีวิตของเรา
ชีวิตของผู้อื่น หรือสิ่งของต่างๆ
ในโลกนี้
ล้วนแต่จะต้องจากกันเป็นธรรมดา
สอนกันอยู่เรื่อยๆ
สอนใจไปเรื่อยๆ
ถ้าไม่สอนเดี๋ยวจะลืม
พอลืม ก็จะเกาะ จะติด
จะยึดทันที แต่ถ้าสอนอยู่เรื่อยๆ
เตือนอยู่เรื่อยๆ
ต่อไปจะไม่กล้าไปเกาะ
ไปยึดไปติดกับอะไร
เพราะผลของการเกาะ ยึด ติด
นั้น มีแต่ความทุกข์
ความกังวลใจ ความเศร้าโศกเสียใจตามมา
เมื่อถึงเวลาที่จะต้องมีการพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบุคคล มีสภาพเป็นเหมือนกันหมด
คือ มีการเกิด
มีการเจริญ มีการเสื่อม
มีการสลายไปในที่สุด
นี่แหละคือสิ่งที่พุทธศาสนิกชนทุกๆคน
ที่ได้มาสัมผัสกับพระพุทธศาสนา
และปรารถนาที่จะได้รับผลอันประเสริฐจากพระพุทธศาสนา
จำต้องนำไปศึกษา
และเมื่อนำไปศึกษาแล้ว
จำต้องนำไปปฏิบัติ
ไม่ว่าจะเป็นนักบวช หรือเป็นฆราวาส
ก็จะต้องทำอย่างนี้เหมือนกัน
เพียงแต่ว่าโอกาสเวลาที่จะทำนั้น
ของนักบวชย่อมมีมากกว่า
เพราะนักบวชไม่มีหน้าที่อย่างอื่น
ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องการทำมาหากิน
ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการดูแลครอบครัว
ทรัพย์สมบัติต่างๆ
มีเวลาเต็มที่
ที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมได้
ถ้าประพฤติปฏิบัติตามแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว
คุณประโยชน์ก็จะเกิดขึ้น
ทั้งกับตนเองและกับพระพุทธศาสนา
ตนเองก็หลุดพ้นจากความทุกข์
หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
พระพุทธศาสนาก็จะได้รับประโยชน์
จากบุคคลที่ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล
เพราะจะเป็นผู้ที่สามารถสืบทอด
และถ่ายทอดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว
ศาสนาก็จะมีการสืบทอดไปเรื่อยๆ
เพราะการแสดงธรรมของผู้รู้จริงเห็นจริง
จะไม่สร้างความสงสัยให้กับผู้ฟัง
แต่กลับจะทำให้เกิดศรัทธาที่อยากจะศึกษา
ปฏิบัติ และออกบวชตาม
เหมือนในสมัยพุทธกาล
หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว
และเริ่มประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก
ก็มีผู้ฟังได้บรรลุธรรม
มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา
เห็นว่า ธรรมอันใดที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
ธรรมอันนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา
หนึ่งในปัญจวัคคีย์ คือพระอัญญาโกณฑัญญะ
หลังจากที่ได้ฟังธรรมแล้ว
ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในสภาพของการอยู่
ยอมรับความจริงว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างมีการสูญสิ้นดับไปเป็นธรรมดา
และหลังจากที่ได้ทรงแสดงธรรมอีกครั้งสองครั้ง
พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ รูป
ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
เป็นผู้สิ้นกิเลสอาสวะ
เป็นผู้หลุดพ้นจากกองทุกข์
หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
จึงขออนุญาตจากพระพุทธเจ้า
บวชเป็นพระสงฆ์
และช่วยเหลือพระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนาต่อไป
ในสมัยพุทธกาลจึงมีผู้ได้รับประโยชน์อย่างมากจากพระพุทธศาสนา
เพราะทุกๆคนที่มาสัมผัสกับพระพุทธศาสนา
ล้วนปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอย่างเคร่งครัด
จึงมีผู้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก
เลยทำให้ศาสนามีรากฐานที่มั่นคง
ทำให้มีอายุยืนยาวนาน
มาจนถึงปัจจุบันนี้
เพราะพระนักบวชทั้งหลาย
ได้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า
ถ้าต้องการที่จะรับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา
ไม่ว่าจะในฐานะนักบวชหรือไม่ก็ตาม
ก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้คือ
๑.
ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
๒. หลังจากที่ได้ศึกษาแล้วต้องนำเอาไปปฏิบัติ
๓. เมื่อได้ปฏิบัติแล้วก็จะบรรลุถึงธรรมขั้นต่างๆ
ตั้งแต่พระโสดาบัน
พระสกิทาคามี พระอนาคามี
พระอรหันต์ ตามลำดับไป
เรียกว่า มรรค ผล นิพพาน
๔.
หลังจากที่ได้บรรลุธรรมแล้ว
จึงนำเอาธรรมที่ได้บรรลุ
มาเผยแผ่สั่งสอนผู้อื่นต่อไป
ถ้าไม่ได้ศึกษาแล้วไปปฏิบัติ
ก็จะไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอะไรบ้าง
การศึกษาจึงเปรียบเหมือนกับการดูแผนที่
หรือถามคนที่รู้ทางว่า
จะเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางที่ไม่เคยไปได้อย่างไร
ถ้าไปโดยไม่มีแผนที่
หรือไม่มีคนบอกทาง
ก็จะหลงทางได้
เพราะไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางที่ต้องการจะไปนั้น
อยู่ทางทิศเหนือหรือทิศใต้
อยู่ทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก
แต่ถ้ามีแผนที่หรือมีคนบอกทาง
จะรู้ว่าทางที่จะต้องไปนั้น
ไปทางไหน ก็จะทำให้ไม่เสียเวลาและไม่หลงทาง
แต่หลังจากที่รู้แล้วว่า
ทางที่จะไปนั้นอยู่ทางทิศไหน
แต่ยังไม่ออกเดินทางไป ก็จะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง
ถึงแม้จะรู้แล้ว
แต่ไม่นำไปปฏิบัติ
ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร
อย่างวันนี้ท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟังว่า
ธรรมทั้งหลายมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา
ท่านรู้แล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องจากเราไป จะต้องพลัดพรากจากเราไป
แต่เราปล่อยวางกันได้หรือยัง
ถ้ายังไม่ปล่อยวาง
ก็แสดงว่ายังไม่ได้ปฏิบัติ
หรืออยากจะปล่อยวางแต่ยังปล่อยไม่ได้
เราก็ต้องปฏิบัติ เพราะมีเครื่องมือที่จะช่วยทำให้ปล่อยวางได้
เครื่องมือที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา
หรือ ทาน ศีล
ภาวนา
ถ้าต้องการปล่อยวาง
ก็ขอให้นำธรรมทั้ง ๓ นี้
มาปฏิบัติ ทำบุญทำทาน
รักษาศีล บำเพ็ญจิตตภาวนา เมื่อบำเพ็ญจิตตภาวนาแล้ว
จิตก็จะมีกำลังที่จะต่อสู้กับอุปาทาน
ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ
แล้วก็จะปล่อยวางได้
เมื่อปล่อยวางได้แล้ว
ก็จะเกิดความสบายอกสบายใจ
สิ่งที่เมื่อก่อนนี้คอยห่วง
คอยกังวล คอยทุกข์
คอยว้าวุ่นขุ่นมัวด้วย
จะไม่มีปัญหากับเรา เพราะเราไม่ไปสนใจใยดีเสียแล้ว
แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความเมตตา
ไม่มีความอาทรต่อสิ่งต่างๆ
บุคคลต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิมอยู่
เคยปฏิบัติอย่างไรกับบุคคลต่างๆ
กับสิ่งของต่างๆ
เราก็ปฏิบัติเหมือนเดิมอยู่ เพียงแต่ว่าใจของเรา
ไม่ได้หวังอะไรจากเขา
ไม่ได้หวังให้เขาอยู่กับเราไปนานๆ
ไม่ได้หวังให้เขาเป็นไปตามที่เราต้องการให้เป็นไป
เพราะใจเรารู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้
มันฝืนหลักของความจริงนั่นเอง
เมื่อทำอย่างนี้ได้แล้ว
ก็ถือว่าใจของเราได้หลุดพ้น
ได้บรรลุธรรม ธรรมก็มีหลายขั้น
เพราะสิ่งที่เราติดอยู่
เรายึดอยู่ มีหลายอย่าง
หลายชนิดด้วยกัน
เราต้องค่อยๆลด
ค่อยๆละไปเรื่อยๆ
ในเบื้องต้นก็ลดละสิ่งของภายนอก
บุคคลภายนอกไปก่อน ขั้นต่อมาก็มาลดละร่างกายของเรา
อย่าไปยึดอย่าไปติด
ร่างกายของเราที่แท้จริงก็ไม่ใช่ตัวเรา
เป็นเพียงแต่ธาตุ
๔ ที่มาทางอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปก็เจริญเติบโตงอกงาม กลายเป็นอาการ
๓๒ จิตผู้หลง
ผู้มีกิเลส เวลามาครอบครอง
ก็จะหลงคิดไปว่า
ร่างกายนี้เป็นเราเป็นของๆเรา
อันนี้ก็ต้องทำความเข้าใจ
ศึกษาไป แล้วค่อยๆปล่อยวางไป
ต้องรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น
ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
ต่อจากนั้นก็ยังมีความรัก
ความชอบในสิ่งต่างๆ
ที่ต้องปล่อยวางอีก
เช่น กามสุขที่เกิดจากกามตัณหาความอยากในกาม
เราก็ต้องปล่อยวาง ต้องเห็นว่าสิ่งที่เราไปรักไปชอบนั้น
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สวยงาม
รูปร่างหน้าตาของคนเรานั้น
พอดูได้แต่เพียงเฉพาะเปลือกนอก
คือผิวหนังเท่านั้นเอง
ถ้ามองทะลุเข้าไปใต้ผิวหนังแล้ว
ก็จะเห็นอวัยวะต่างๆ
น้อยใหญ่
ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในของร่างกาย
รวมถึงสิ่งที่เป็นปฏิกูลต่างๆ
ที่ร่างกายจะต้องขับถ่ายออกมา
ถ้าพิจารณาอย่างสม่ำเสมอด้วยปัญญา
ด้วยความแยบคาย ก็จะเห็นว่าร่างกายนี้
ไม่สวยงามเลย ไม่สะอาดหมดจด
แต่เป็นร่างกายที่สกปรก
มีความไม่สวยไม่งามซ่อนเร้นอยู่
ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังเป็นอย่างนี้
ในขณะที่ตายไป ยิ่งสกปรก
ยิ่งน่าเกลียด
น่ากลัวขึ้นไปใหญ่
แต่เป็นสิ่งที่พวกเราไม่ค่อยพิจารณากัน ไม่ค่อยคิดกัน
ก็เลยเกิดความรักความยินดีในร่างกาย
เห็นเพศตรงกันข้ามแล้ว
เกิดความอยากจะอยู่ใกล้ด้วย
อยากจะสัมผัสด้วย เพราะเห็นเพียงแต่อาการภายนอก
ไม่เห็นอาการภายใน
จึงทำให้มีความยึดติดกับร่างกายของเพศตรงกันข้าม
แต่ถ้าได้ศึกษา
ได้พิจารณาอย่างต่อเนื่อง
อย่างสม่ำเสมอ ต่อไปเวลาเห็นร่างกายของเพศตรงกันข้าม
หรือเพศเดียวกันก็ตาม
จะเห็นทะลุไปถึงอาการทั้ง
๓๒ อาการ ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย
คลายความกำหนัดยินดีในร่างกายของผู้อื่น
เมื่อคลายความกำหนัดความยินดี
จิตก็หลุดพ้นจากความเป็นทาส
ของกามตัณหา ความอยากในกาม
สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามลำพัง
โดยไม่ต้องมีคู่ครองอีกต่อไป
คนที่อยู่ตามลำพังได้เป็นคนมีบุญมีกุศล
เพราะไม่ต้องทุกข์กับคู่ครอง
เพราะเวลามีคู่แล้วถึงแม้จะมีความสุขบ้าง
แต่ถ้าเปรียบเทียบกับความทุกข์ที่ได้มาแล้ว
มันเปรียบเทียบกันไม่ได้เลยทีเดียว
เพราะเมื่ออยู่ด้วยกันก็จะต้องมีการทะเลาะเบาะแว้งกัน
มีการขัดใจกัน
มีความไม่พอใจกัน
หรือถ้าไม่มีการทะเลาะกัน
ไม่มีการขัดแย้งกัน
มีแต่ความรักต่อกัน
ก็ต้องมีความห่วงใยกัน
กลัวว่าเขาจะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไปเป็นต้น ล้วนแต่เป็นความทุกข์ทั้งนั้น
แต่เนื่องจากว่าเรายังอยู่ตามลำพังไม่ได้
ยังมีความหลงอยู่
ยังมีความยินดีในกามอยู่
จึงทำให้ไม่สามารถที่อยู่ตามลำพังได้
จึงต้องยอมรับความทุกข์
ที่มากับความสุขที่เกิดจากการเสพกาม
ถ้าเป็นคนฉลาด
ก็จะเจริญธรรม
ให้เห็นว่าร่างกายนี้
เป็นร่างกายที่ไม่สวยงาม
เป็นปฏิกูลของสกปรก
จนปล่อยวางได้
ก็จะไม่ยินดีกับการมีคู่ครองอีกต่อไป
ก็จะสามารถอยู่ตามลำพังได้
เพราะจิตที่ไม่มีกามตัณหานั้น
เป็นจิตที่สงบสงัดจากกาม
เป็นจิตที่มีความสงบนิ่ง
เป็นสมาธิ
เป็นจิตที่มีความสุขโดยธรรมชาติของจิตเอง
เป็นความสุขที่ประเสริฐ
เป็นความสุขที่เลิศกว่าความสุขที่ได้จากการเสพกาม ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า
ไม่มีความสุขอันใดในโลกนี้
จะดีเท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบของจิต
ที่เรียกว่าสันติสุข
นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง
เป็นความสุขที่อยู่กับเราไปตลอด
เพราะอยู่ในจิตของเรา
ไม่ต้องอาศัยสิ่งหนึ่งสิ่งใด
มาทำให้จิตมีความสุข
ไม่มีใครสามารถแย่งชิงความสุขนี้จากเราไปได้
ไม่เหมือนกับกามสุข
ที่ต้องอาศัยบุคคลอื่น
เป็นเครื่องให้ความสุขกับเรา
ถ้าเผลอก็อาจจะถูกคนอื่นแย่งคนๆนั้นจากเราไปก็ได้
ถ้าถูกแย่งไป เราก็จะต้องเศร้าโศกเสียใจ
เป็นความทุกข์ขึ้นมาทันที
นี่แหละคือโทษของกามสุข
กามสุขไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง
กามสุขมีโทษซ่อนอยู่
มีความทุกข์ซ่อนอยู่
เปรียบเหมือนกับระเบิดเวลา
ที่จะระเบิดขึ้นมา
เวลาไหนเราก็ไม่รู้
สามีของเรา ภรรยาของเรา
จะจากเราไปแบบไหน เมื่อไร
เราก็ไม่รู้ จะหย่ากัน
จะไปมีสามีใหม่ ภรรยาใหม่
หรือจะตายจากเราไป
อย่างใดอย่างหนึ่ง
เราก็ไม่รู้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วถ้าเรายังหวง
ยังยึด ยังติดอยู่กับเขา
เราก็จะต้องเศร้าโศกเสียใจ
ร้องห่มร้องไห้ไป เป็นธรรมดา
นี่คือปัญหาของพวกเรา
เพราะไม่ใช้ลิ้นของเราให้เป็นประโยชน์
กลับไปใช้ทัพพี
คือใจของเรานั้น
เป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง
เป็นทัพพีก็ได้
เป็นลิ้นก็ได้ ถ้าเป็นลิ้นก็ต้องสำเหนียก
เตือนสติสอนใจเราอยู่เสมอ
ต้องเข้าหาธรรมอยู่เสมอ
ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เสมอ
ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังเทศน์ฟังธรรม
ก็หาหนังสือธรรมะมาอ่านอยู่เสมอ
เพราะเมื่อได้อ่านแล้ว
ก็จะได้จดจำ แล้วธรรมก็จะไม่ห่างจากใจของเรา
ธรรมเปรียบเหมือนกับอาวุธ
ถ้าเก็บไว้ห่างตัวเรา
เวลาที่จะต้องใช้ก็จะไม่ทันการณ์
แต่ถ้ามีอาวุธติดตัวอยู่ตลอดเวลา
เวลามีข้าศึกศัตรูมาทำร้าย
เราก็สามารถชักอาวุธออกมาต่อสู้ได้ทันที
ธรรมะก็เป็นเช่นนั้น
ถ้าไม่สร้างให้มีอยู่ในใจของเราตลอดเวลา
ด้วยการเจริญสติ
เจริญปัญญา
ระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
อยู่อย่างต่อเนื่อง
อย่างสม่ำเสมอ เราก็จะไม่มีธรรมอยู่ใกล้ตัวเรา
เมื่อมีกิเลสตัณหาปรากฏขึ้นมา
จะไม่สามารถต่อสู้ทำลายกิเลสตัณหาได้
ถ้าไม่ทำลายกิเลสตัณหา
กิเลสตัณหาก็จะพาเข้าสู่กองทุกข์
อย่างที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้
เพราะยังใช้ใจแบบทัพพีในหม้อแกง
คือถึงแม้จะได้สัมผัสกับพระพุทธศาสนา
แต่ไม่ค่อยเอาจริงเอาจังกับศาสนาเท่าไร
ฟังเทศน์ฟังธรรม
ก็ฟังไปพอเป็นพิธีไปเท่านั้นเอง
ไม่เคยคิดว่า
จะเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง
มาทำให้เกิดประโยชน์
ฟังไปแล้วก็แล้วกันไป
ห่างกันไป ชีวิตก็ยังดำเนินไปแบบเดิมๆอยู่
เวลาเห็นอะไร ชอบอะไร
อยากได้อะไร ก็ยังต้องไปหามาสนองความอยาก
ความต้องการอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
ชีวิตก็เลยเป็นชีวิตที่มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา
เพราะความอยากจะคอยเป็นเจ้านาย
คอยสั่งให้ไปหาสิ่งนั้นมา
สิ่งนี้มา และเมื่อได้มาแล้ว
ก็จะให้ไปหาสิ่งอื่นๆมา
ต่อไปอยู่เรื่อยๆ
แล้วเวลาสิ่งที่ได้มา
เกิดสูญเสียไป เกิดหายไป
เกิดหมดไป ก็ต้องร้องห่มร้องไห้
เศร้าโศกเสียใจ
ก็เพราะไม่มีธรรมาวุธ
ไม่มีธรรมะไว้คอยต่อสู้กับกิเลสตัณหา
อย่างตอนนี้เรายังไม่มีคู่ครอง
เวลาไปเจอคนที่เราชอบขึ้นมา
ถ้าเรามีสติ มีปัญญา
ระลึกถึงอสุภกรรมฐาน
ระลึกถึงความไม่สวยงามของร่างกาย
ระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของร่างกาย
ก็จะทำให้คลายความกำหนัดยินดี
อยากที่จะมีเขามาเป็นคู่ครองได้
แต่ถ้าไม่มีธรรมะอยู่ใกล้ใจเลย
เราจะลืมไปเลย จะคิดแต่ว่า
ทำอย่างไรจะได้อยู่กับเขา ให้ได้เขามาเป็นคู่ครองของเรา
จิตจะคิดแต่เรื่องเหล่านี้ไปตลอดเวลา
เพราะนี่คือลักษณะของจิต
ที่ถูกอำนาจของกิเลสตัณหาครอบงำอยู่
ถ้าต้องการรับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา เราจำต้องนำแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน
มาประพฤติปฏิบัติ
ต้องเข้าหาพระศาสนาอย่างสม่ำเสมอ
อย่างต่อเนื่อง
พระศาสนาก็คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ที่มาในหลายรูปแบบด้วยกัน
มาในลักษณะของการฟังเทศน์ฟังธรรมก็มี
ฟังที่วัดก็ได้ ฟังที่บ้านก็ได้
เปิดเทปฟัง ฟังเทศน์ทางสถานีวิทยุ
ทางสถานีโทรทัศน์ก็ได้
หรืออ่านหนังสือธรรมะในหนังสือต่างๆก็ได้
เหล่านี้ล้วนเป็นการเข้าสู่พระศาสนา
เข้าสู่การศึกษา เมื่อได้ศึกษาอยู่เรื่อยๆแล้ว
ก็จะได้นำเอาไปปฏิบัติต่อไป
ไปทำบุญทำทาน รักษาศีล
ปฏิบัติธรรม
เจริญจิตตภาวนา
นั่งสมาธิ เจริญปัญญา
คือไตรลักษณ์ อนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น
เป็นของไม่เที่ยง
ไม่มีตัวตน ถ้าไปยึดไปติดก็จะเป็นทุกข์
ถ้าเห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง
เห็นว่าเป็นของไม่มีตัวตน
ก็จะปล่อยวาง เมื่อปล่อยวางได้แล้ว
ใจก็จะไม่ทุกข์
ใจก็จะหลุดพ้น
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้