กัณฑ์ที่ ๑๓๘     ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๕

เห็นทุกข์เป็นสุข

 

วันพระเป็นวันที่ท่านทั้งหลายได้จัดสรรไว้ เพื่อทำประโยชน์ให้กับชีวิตจิตใจ  ด้วยการทำบุญทำทาน  สมาทานรักษาศีล  ฟังเทศน์ฟังธรรม  เพื่อพัฒนาจิตใจให้ดีขึ้น  ให้สะอาดขึ้น  ให้เป็นจิตใจที่เต็มไปด้วยความสุข  ความสงบ ความพอ  ซึ่งเกิดจากการขัดเกลา  โดยนำเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มาเป็นเครื่องชำระจิตใจ  จิตใจเมื่อได้รับการชำระด้วยธรรมแล้ว  จะเป็นจิตที่สะอาด เป็นจิตที่ปราศจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ที่สร้างความวุ่นวาย  สร้างความหิว  สร้างความกระหายให้กับใจ  ใจก็จะอยู่เป็นสุข โดยไม่ต้องมีอะไรมากมาย  แต่เพราะว่าใจส่วนใหญ่ของคนเรานั้น ขาดการดูแลรักษาด้วยธรรมของพระพุทธเจ้า   เลยเป็นใจที่มีแต่ความหิว มีแต่ความกระหาย มีแต่ความอยาก  อยากทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้  เช่น อยากในกามสุข อยากได้ รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ ที่ถูกอกถูกใจ อยากมีข้าวของเงินทองต่างๆ อยากเป็นผู้ยิ่งใหญ่  มีคนเคารพนับถือ  อยากไม่แก่  ไม่เจ็บ ไม่ตาย  ไม่จน  เหล่านี้ล้วนเป็นความหลงทั้งสิ้น  เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างความสุขให้กับใจเลยแม้แต่น้อยนิด  แต่กลับสร้างความทุกข์ให้กับใจให้มีมากยิ่งๆขึ้นไป 

ถ้าได้สัมผัสกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว  จะเริ่มเห็นว่า  อะไรเป็นเหตุที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ  อะไรเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย  ความทุกข์  ความหายนะทั้งหลาย  เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสรู้ธรรม  มีดวงตาเห็นธรรม  ทรงรู้ทรงเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง  ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์  สุขก็รู้ว่าสุข  รู้ว่าทุกข์เกิดจากอะไร  รู้ว่าสุขเกิดจากอะไร  เมื่อรู้อย่างแน่ชัด  ก็นำมาประกาศสั่งสอนให้ผู้อื่นได้รู้กัน  ผู้ฉลาดเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ก็น้อมเอาไปปฏิบัติ  เมื่อน้อมเอาไปปฏิบัติแล้ว  ก็จะมีดวงตาเห็นธรรม  เกิดปัญญา เกิดแสงสว่างขึ้นมาภายในใจ  เห็นเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น  เมื่อรู้เช่นนั้นแล้ว ก็เป็นผู้ที่หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง  เพราะความทุกข์ทั้งหลาย  ไม่ได้เกิดจากอะไร นอกจากความมืดบอดในใจของพวกเราทุกๆ คนเท่านั้นเอง  ทำให้ไขว่คว้าหาแต่กองทุกข์เข้ามา แบบไม่รู้จักจบจักสิ้น  เพราะความเห็นผิดเป็นชอบ  เห็นความทุกข์ว่าเป็นความสุข เราจึงกว้านเอาความทุกข์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง 

อย่างเวลาที่เราอยากจะออกไปเที่ยว ดูหนัง  ดูละคร  ไปหาความสุขกับรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  สิ่งเหล่านี้พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นแล้วว่า ไม่ใช่เป็นความสุขแต่เป็นความทุกข์  เปรียบเหมือนกับยาเสพติด  ยาเสพติดนี้ ถ้าผู้ใดไปเสพเข้าแล้ว  ถึงแม้จะมีความสุขบ้างในขณะที่เสพ  แต่ความทุกข์ที่ตามมาจากการติดยาเสพติดนี้มีมาก  เพราะจะต้องแสวงหายาเสพติดมาเสพอยู่ตลอดเวลา  แล้วก็จะพาไปสู่การประพฤติผิดศีลผิดธรรม  เพราะคนที่ติดยาเสพติด จะไม่มีเวลาที่จะไปทำมาหากินด้วยความสุจริต  เพราะจะเอาเวลามาเสพแต่ยาเสพติด  เมื่อเสพแล้วจะมึนเมา ก็จะนอนหลับสลบไสลไปเป็นเวลายาวนาน  เมื่อตื่นมาจากความสลบไสล ก็เกิดความอยากที่จะเสพยาอีก  ถ้ามีเงินทองมีข้าวของ พอที่จะไปซื้อ ไปแลกยาเสพติดมาได้  ก็จะไปซื้อไปแลกยาเสพติดมาเสพอีก จนหมดเนื้อหมดตัว  เมื่อหมดเนื้อหมดตัวแล้ว ก็จะต้องไปหาเงินทองมาโดยทางมิชอบ เช่น ไปลักขโมย ไปปล้นไปจี้  ไปโกหกหลอกลวง เพื่อจะได้นำเงินทองไปซื้อยาเสพติดมาเสพอีก  นี่แหละคือพิษภัยของยาเสพติด 

ฉันใดพิษของกามคุณ ๕ ที่เรียกว่ากามสุขก็เป็นเช่นนั้น  กามคุณ ๕ เวลาได้เสพสัมผัส ก็จะมีความสุข เช่น เวลาไปดูหนังดูละคร ได้อยู่ใกล้กับคนที่เรารักเราชอบ  เราก็จะมีความสุข  แต่ยามที่ต้องห่างจากสิ่งเหล่านี้  ใจของเราก็จะมีความว้าวุ่นขุ่นมัว  มีความว้าเหว่  มีความเศร้าสร้อยหงอยเหงา  ก็ต้องสั่งให้ออกไปหาสิ่งเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ   เมื่อออกไปหาสิ่งเหล่านี้มากๆเข้า ก็จะไม่มีเวลาทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ด้วยความสุจริต  เมื่อไม่มีเงินทองที่จะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยความสุจริต  ก็จะนำไปสู่การทุจริต  ดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้  สมัยนี้คนเราวิ่งหาเงินทองกันเหมือนกับเป็นพระเจ้า  เพราะรู้สึกว่าถ้ามีเงินทองแล้ว จะสามารถบันดาลความสุขให้กับตนได้  จึงวิ่งหาเงินทองกัน แบบไม่คิดถึงว่าจะหามาด้วยวิธีใด  ถ้าหามาได้ด้วยความสุจริตก็จะหามา  ถ้าหาด้วยความสุจริตไม่ได้ ก็จะหาด้วยความทุจริต  โดยไม่เกรงกลัวกับบาปกรรมที่จะตามมาต่อไป 

การกระทำย่อมมีผลตามมา  สุจริตก็มีผลตามมา  ทุจริตก็มีผลตามมา  สุจริตทำไปแล้ว ก็ไม่มีความเสียหาย มีแต่ความเจริญตามมา  แต่ถ้าทำด้วยความทุจริต ก็จะมีแต่ความเสื่อมเสีย  มีแต่ความทุกข์ตามมา  แต่เมื่อคนเราติดกับสิ่งต่างๆที่ไม่สามารถจะเลิกได้  ก็จะไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา  เพราะผลเสียตามมาทีหลัง ไม่ได้มาก่อน  แต่ความสุขที่ได้จากการไปคด ไปโกง ไปลัก ไปขโมย เพื่อจะได้เอาเงินไปซื้อความสุขนั้น มันมาก่อน  เลยไม่คิดถึงความทุกข์ที่จะตามมาต่อไป  เพราะคิดสั้น คิดแบบสุกเอาเผากิน  ขอให้ได้เสียก่อน ส่วนผลเสียที่จะตามมาทีหลัง จะเป็นอย่างไร  ไม่ค่อยสนใจ  แต่ในที่สุดผลก็ตามมา ทั้งในปัจจุบันชาติและในชาติหน้า  ในปัจจุบันเมื่อเริ่มประกอบการทุจริตแล้ว  ใจก็จะมีความว้าวุ่นขุ่นมัว มีความวิตก  มีความกังวล เพราะมีชนักติดหลังอยู่ ไม่ทราบว่า จะต้องถูกจับไปเข้าคุกเข้าตะรางเมื่อไหร่  ก็จะไม่ได้อยู่ด้วยความสุขใจ  กินไม่ได้นอนไม่หลับ  มีแต่ความหวาดผวา  เดินไปไหนมาไหน เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็เกิดความตกใจกลัวขึ้นมา ทั้งๆที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ไม่รู้เรื่องของเราเลยแม้แต่น้อยนิด 

นี่แหละคือธรรมชาติของการทำบาปทำกรรม  เมื่อทำผิดไปแล้ว จะสร้างความวิตก  ความกังวล ความหวาดกลัว ขึ้นมาในใจของผู้กระทำ   ความสุขที่ได้จากการไปโกง ไปขโมยเงินทองมา ก็หมดไปแล้ว  เงินทองที่ได้มาก็เอาไปใช้ไปเสพหมดแล้ว  ต้องคอยหลบเจ้าหน้าที่ตำรวจ  นอกจากนั้นแล้ว  ความอยากที่มีอยู่ในใจก็ยังไม่หมดไป  ก็ยังมีความอยากอยู่เหมือนเดิม  ก็ยังต้องออกไปหาความสุขอีก ต้องมีแต่ความหวาดระแวง  ไม่รู้ว่าเมื่อออกไปแล้ว จะถูกเจ้าหน้าที่จับตัวเมื่อไร นี่แหละคือความเห็นผิดเป็นชอบ  คิดว่าความสุขอยู่กับกามสุข  อยู่กับการได้เสพกาม  ได้เสพรูป  ได้ยินเสียง  ได้ลิ้มรส  ได้ดมกลิ่น  ได้สัมผัสโผฏฐัพพะ  ที่ถูกอกถูกใจ  เวลาได้เสพก็มีความสุข  แต่เวลาไม่ได้เสพ ก็มีความว้าเหว่  มีความเศร้าสร้อยหงอยเหงา  เป็นเครื่องผลักดันให้ต้องออกไปหามาเสพเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด 

พระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้ว ในฐานะที่เป็นราชกุมาร  พระราชบิดาผู้มีความปรารถนา ที่จะให้พระพุทธเจ้าในครั้งที่เป็นราชกุมาร อยู่สืบทอดพระราชสมบัติต่อไป  จึงพยายามที่จะห้อมล้อมพระราชกุมารด้วยกามสุขชนิดต่างๆ  เพื่อจะได้ไม่คิดหนีจากพระราชวัง  เพื่อออกไปแสวงหาความสุขที่แท้จริง  ถึงแม้จะมีความสุขห้อมล้อม แต่ในพระทัยของพระองค์ ก็ทรงรู้ว่าเป็นความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว  เมื่อได้สัมผัสมากๆ เข้า ก็เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาได้  เหมือนกับเวลารับประทานอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง  ถึงแม้ว่าจะเป็นอาหารที่ถูกอก ถูกใจ ถูกปาก ถูกลิ้น  เป็นอาหารจานโปรด  แต่ถ้ารับประทานไปทุกมื้อทุกวันแล้ว ไม่ช้าก็เร็วก็จะเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา นี่ก็เป็นความทุกข์อีกแบบหนึ่ง ทั้งๆที่ได้เสพได้สัมผัสสิ่งที่ชอบ  สิ่งที่อยาก  แต่เมื่อเสพไปบ่อยๆ ก็เกิดความจำเจ  เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา  ถ้าเป็นคนฉลาดก็จะเริ่มรู้แล้วว่า  นี่ไม่ใช่ความสุขเลย  แต่ถ้าเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ก็จะหาวิธีใหม่  คือเมื่อเบื่อสิ่งนี้ ก็ไปหาสิ่งอื่นมาทดแทน  ถ้าเบื่อคนนี้  ก็หาคนอื่นมาแทน  แต่มันก็เหมือนกันแหละ  คนเรามันก็เหมือนๆกัน  สิ่งของต่างๆมันก็เหมือนๆกัน  รูปก็รูปเหมือนกัน  เสียงก็เสียงเหมือนกัน  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะก็เหมือนกัน  ต่างที่รูปลักษณ์เท่านั้นเอง 

แต่โดยธรรมชาติของกามคุณ ๕ แล้ว  ย่อมสร้างความเบื่อหน่ายให้กับทุกคน  เมื่อได้สัมผัสอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดความชินชาขึ้นมา  ทำไมคนเราจึงต้องไปเที่ยวกัน  เพราะเบื่อความจำเจ  เห็นบ้านเรา  เห็นสถานที่ของเราทุกๆวัน ก็เกิดความเบื่อหน่าย ก็เลยอยากจะไปสถานที่อื่นๆ  จึงเกิดมีการท่องเที่ยวขึ้นมา  เราเบื่อบ้าน  เบื่อเมืองของเรา  เราก็ไปท่องเที่ยวเมืองนอกเมืองนากัน  พวกที่อยู่เมืองนอกเมืองนา เขาก็เบื่อบ้านของเขา เขาก็มาเที่ยวบ้านเรา  ทั้งๆที่เราเบื่อแสนเบื่อ  ไม่เห็นจะมีอะไรดี  แต่เขากลับเห็นว่า บ้านเรามีอะไรดีเยอะแยะไปหมด  ในทางตรงกันข้ามเขาก็เบื่อบ้านเขา เขาก็ไม่เห็นว่าบ้านเขามีอะไรดี  แต่เรากลับไปเห็นว่ามีอะไรดี  นี่แหละคืออำนาจของความหลง ที่ครอบงำจิตใจ  แล้วก็สร้างความรู้สึกว่า จะต้องมีอะไรดีกว่าที่มีอยู่  เป็นอยู่  จึงทำให้ต้องดิ้นรนขวนขวาย เปลี่ยนที่อยู่เรื่อยๆไป  เปลี่ยนสิ่งนั้นเปลี่ยนสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ  ใส่เสื้อผ้าชุดไหนจำเจ ก็เบื่อ ก็ต้องหาเสื้อผ้าชุดใหม่มาใส่   มีทรงผมแบบไหน อยู่ไปสักพักก็เบื่อ ก็ต้องเปลี่ยนทรงผมใหม่

นี่แหละคือลักษณะของกามคุณ ๕  ไม่ได้สร้างความอิ่ม  สร้างความพอ มีแต่จะสร้างความเบื่อหน่าย ถ้าได้สัมผัสมากเกินไป  ถ้าสัมผัสน้อยไป ก็จะไม่พอ  ก็เกิดความหิว  เกิดความกระหาย อยากจะเสพเพิ่มขึ้นไปอีก  ก็เลยหาจุดอิ่มจุดพอไม่เจอ  เพราะความอิ่มความพอ ไม่มีอยู่ในกามคุณ ๕  พระพุทธเจ้าผู้มีปัญญา ทรงรู้จักคิด  เมื่อคิดแล้วก็ทรงเห็นว่า  กามคุณ ๕  เป็นอย่างนี้เอง  จะไปเอาความสุขที่แท้จริงจากเขา  ย่อมเป็นไปไม่ได้   มีแต่จะให้ความทุกข์กับผู้ไปหลง ไปยึด ไปติด  ไปเสพ   เมื่อเป็นเช่นนั้น  พระพุทธเจ้าจึงแสวงหาความสุขอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าสันติสุข  ความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ  ใจจะสงบได้ ใจจะต้องสลัดกามคุณทั้ง ๕  คือต้องไม่ไปแสวงหา  ต้องงด  ต้องระงับ  เคยดูหนังดูละคร ก็ต้องหยุดดู  เคยไปเที่ยวก็ต้องหยุดเที่ยว  เคยกินเหล้าเมายา  ก็ต้องหยุดกิน  เคยมีคู่ครองก็จะต้องละเว้นจากการมีคู่ครอง  ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับคนทั่วๆไป  เพราะยังถูกอำนาจของความหลงครอบงำอยู่   ยังคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีอยู่  หรือถ้ารู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ก็ไม่มีกำลังพอที่จะสลัดให้หลุดพ้นไปจากใจของตนได้ 

มีคนเพียงไม่กี่คน ที่มีความสามารถ  มีขันติความอดทน  มีวิริยะความพากเพียร พอที่จะต่อสู้กับการยึดติดในกามคุณ ๕   เมื่อทำได้แล้วจะประสบกับสิ่งที่ไม่เคยพบ เคยสัมผัสมาก่อน คือความสุขที่แท้จริง  ความสุขที่ประเสริฐ  ความสุขที่ดีเลิศ  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ไม่มีความสุขอันใดในโลกนี้ ที่จะประเสริฐ  จะดีเลิศ เท่ากับความสุข ที่เกิดจากความสงบของใจ  ก็คือสันติสุขนั่นเอง  สันติสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องละกามสุขก่อน  พยายามลดละกามสุขไปเท่าที่จะทำได้  ไม่จำเป็นที่จะต้องเลิกไปเลยในทีเดียว  เพราะเป็นสิ่งที่ยาก เหมือนกับการตัดต้นไม้  จะไม่สามารถฟันต้นไม้ให้ขาด ด้วยการฟันเพียงครั้งเดียว  แต่ต้องค่อยๆฟันไปเรื่อยๆ ฟันไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ช้าก็เร็วต้นไม้ต้นนั้น ก็จะต้องถูกตัดขาดอย่างแน่นอน  ถ้ามีความอดทน มีความขยันหมั่นเพียร

พระพุทธเจ้าทรงกำหนดอุโบสถศีลให้ไว้รักษาอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง  อุโบสถศีลก็เป็นศีลที่เพิ่มจากศีล ๕  ที่เป็นปกติของชาวพุทธเราอยู่แล้ว คือผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาที่แท้จริง ที่เรียกตนเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน  จะต้องมีศีล ๕ ประจำใจ  จะต้องรักษาศีล ๕ เป็นปกติทุกๆวัน  เมื่อถึงวันพระ วันอุโบสถ ก็จะถือศีลเพิ่มอีก ๓ ข้อ ได้แก่  ๑. ละเว้นจากการรับประทานอาหารในยามวิกาล  คือตั้งแต่หลังเที่ยงวันไปแล้ว  ๒. ละเว้นจากการหาความสุขจากเครื่องบันเทิงต่างๆ จากการแต่งกายด้วยเครื่องนุ่งห่มที่มีสีสัน จากการใช้เครื่องสำอางที่มีกลิ่นหอม  ๓. ละเว้นจากการนอนบนเตียง ฟูกที่หนา นอนแล้วหลับสบาย คือต้องการให้ละกามสุขนั่นเอง  จึงได้ทรงกำหนดอุโบสถศีลขึ้น เพื่อให้เราได้รู้จักเข้าหาความสุขที่เกิดจากความสงบบ้าง

เช่น เวลารับประทานอาหาร  เราจะรับประทานอาหารด้วยเหตุผล ๒ ประการด้วยกัน  เหตุผลอันแรกก็คือร่างกายขาดอาหาร  ต้องรับประทานอาหารเพื่อเลี้ยงดูร่างกาย ร่างกายจึงจะอยู่ต่อไปได้  แต่ในขณะเดียวกันเราก็เลี้ยงดูความอยากไปด้วย  คือความอยากในรสชาติ กลิ่นของอาหาร  เวลารับประทานอาหาร เราจะเลือกอาหารที่ถูกปาก ถูกใจ  ถูกคอ  เพื่อความสุขใจ  นี่เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องทำก็ได้  การรับประทานอาหารที่แท้จริงนั้น ควรรับประทานด้วยเหตุผลเดียว คือรับประทานเพื่อรักษาร่างกายให้อยู่ต่อไป ไม่ให้หิว  อาหารจะเป็นชนิดไหนก็ไม่สำคัญ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ขอให้อิ่มท้องก็เป็นอันใช้ได้  นี่ต่างหากคือเหตุผลของการรับประทานอาหาร  แต่คนส่วนใหญ่ยังมีความหลงอยู่  ก็เลยเห็นการรับประทานอาหาร  เป็นการให้ความสุขกับตน  เวลารับประทานอาหารจึงมีความพิถีพิถันมาก  จะต้องเลือกเฟ้นอาหาร ที่ถูกปาก ถูกคอ ถูกใจมารับประทาน  เลยกลายเป็นปัญหา ทำให้ต้องวุ่นวายกับการรับประทานอาหาร 

แต่สำหรับคนที่ไม่รับประทานอาหาร ด้วยความอยากในกามรสแล้ว  จะรับประทานอาหารแบบง่ายๆ  และไม่ต้องรับประทานอาหารบ่อย  บางคนรับประทานอาหารวันละมื้อเดียวก็อยู่ได้  แต่คนที่รับประทานอาหารเพื่อกามรสนั้น  บางทีรับประทานอาหารเพิ่งเสร็จไปหยกๆ ท้องยังแน่นอยู่เลย  แต่ใจเกิดนึกถึงอาหารหรือขนมที่ตนโปรดขึ้นมา  ก็ยังเกิดมีความอยากที่จะรับประทานต่อไปอีก  จึงทำให้เกิดเป็นโรคน้ำหนักเกินขึ้นมา  เป็นโรคอ้วนกันขึ้นมา  แล้วเวลาที่จะลดน้ำหนักนี่ ก็จะรู้สึกลำบากยากเย็น  เพราะเป็นการฝืนใจมากทีเดียว  คนเราจึงมีปัญหามาก  เพราะการไม่รู้จักความพอดี  ไม่มีเหตุผลในการกระทำ  ทำอะไรมักจะกระทำไปด้วยอารมณ์ คือความอยาก  เลยทำให้กลายเป็นทาสของความอยาก  แล้วความอยากนี้ก็กลายเป็นเครื่องมือมาทำลายตน  คนที่รับประทานอาหารมากๆ เกินความจำเป็น ก็จะเป็นโรคอ้วนขึ้นมา  แล้วก็จะมีโรคต่างๆตามมา  โรคเบาหวาน  โรคความดัน  โรคไขมันอุดตัน  โรคหัวใจ เป็นต้น  ก็ล้วนเกิดจากการรับประทานอาหารมากจนเกินไป  แล้วไม่ช้าก็เร็ว ก็จะต้องตายก่อนวัยอันควร   เพราะอำนาจของความหลง 

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้พวกเราในวันพระ วันอุโบสถ  มาสมาทานศีลอุโบสถกัน  ถ้าอยู่ที่วัดไม่ได้ ก็ให้สมาทานศีล ๘  ศีลอุโบสถกับศีล ๘ ต่างกันตรงที่  ถ้าสมาทานศีลอุโบสถ ก็จะต้องอยู่ในพระอุโบสถ  คืออยู่ในโบสถ์ อยู่ในบริเวณวัด ไม่กลับไปที่บ้าน  เพราะเวลากลับไปที่บ้าน จะมีเครื่องยั่วใจเยอะ  คนในบ้านที่ไม่ถือศีล  ก็จะกินเหล้ากัน  จะกินอาหารเย็นกัน ก็จะดูหนังดูละครกัน  ฟังเพลงกัน อะไรอย่างนี้เป็นต้น  เมื่อไปอยู่ที่บ้าน  ใจก็จะถูกสิ่งเหล่านี้รบกวน  แล้วดีไม่ดีก็จะไม่สามารถรักษาศีล ๘ ไปได้  เพราะเวลาคนในบ้านเห็นเราไม่กินข้าว ก็เกิดความสงสาร  เกิดความห่วงใย ก็จะมารบเร้า มาขอร้องให้เรากิน  เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา  ถ้าไม่กิน ก็จะวุ่นวาย  ในที่สุดก็เลยต้องกิน เพื่อระงับความวุ่นวาย  การถือศีล ๘ กับศีลอุโบสถจึงต่างกันตรงนี้  ศีลอุโบสถหมายถึงให้หาที่สงบ ที่สงัดวิเวก ไม่จำเป็นจะต้องเป็นวัดก็ได้  ไม่จำเป็นจะต้องเป็นในบริเวณพระอุโบสถก็ได้  เช่น ไปอยู่ตามป่าตามเขา ที่ไม่มีใครมารบกวน อยู่ตามลำพัง  อย่างนี้ก็ใช้ได้  เพราะถ้าอยู่ในสถานที่อย่างนั้นแล้ว  กิเลสคือความอยากในกาม จะไม่เกิดง่าย  ถ้าเกิดก็ไม่รุนแรงเพราะไม่มีสิ่งมาล่อตา  ล่อหู  ล่อจมูก  ล่อลิ้น  ล่อกาย  แต่ถ้าไปอยู่ในบ้านแล้ว รับรองได้ว่าการรักษาศีล ๘ จะลำบากมาก 

การที่จะรักษาศีล ๘ ได้ เราต้องฉลาด  ต้องรู้จักวิธี  ต้องรู้ว่าอะไรเป็นเครื่องช่วยส่งเสริม ต้องมีสถานที่สงบสงัด วิเวก ห่างไกลจากกามคุณทั้งหลาย  พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พระหาที่สงบสงัด ตามป่าตามเขา  เพราะเป็นสถานที่เอื้ออำนวย ที่จะทำให้จิตสงบ  ทำให้จิตเย็น  จิตสบาย  จิตมีความสุข  มีความอิ่ม มีความพอ  ผู้ปรารถนาความสุขภายในใจ คือความสงบ จึงต้องคำนึงถึงสถานที่  ควรจะหาสถานที่ที่สงบสงัด  ที่ห่างไกลจากกามคุณทั้งหลาย ที่เป็นเครื่องยั่วยวนกวนใจ  ถ้ามาอยู่ที่วัดได้ก็ควรมา  ถ้ามีที่ที่ดีกว่าวัด ก็จะยิ่งดีใหญ่ เพราะว่าบางวัดอาจจะไม่ค่อยสงบ อาจจะต้องไปหาวัดที่ไกลจากบ้านจากเมือง  วัดที่อยู่ตามชนบท  วัดที่อยู่ตามป่าตามเขา  เพราะโอกาสที่จะทำให้จิตสงบจะมีมาก  การรักษาอุโบสถศีล ก็จะเป็นไปได้โดยง่าย  แล้วจะเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตของเรา  คือเมื่อจิตของเราสงบตัวลง  เราจะรู้เลยว่าความสุขต่างๆที่เราเคยสัมผัสมาก่อนหน้านี้นั้น  จะไม่ดีเท่ากับความสุขที่เกิดจากการสงบของจิต  ความนิ่งของจิต เป็นความสุขที่เกิดจากการรวมตัวลงของจิต  เพราะได้ตัดความอยากในกามคุณทั้งหลาย

นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง  เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยรู้กัน ไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกัน  เพราะในสังคมจะพูดกันแต่ความสุข ที่เกิดจากการมีสมบัติข้าวของเงินทอง  ความสุขที่เกิดจากการได้ไปเที่ยว ไปกิน  ไปเสพกัน  เมื่ออยู่ในแวดวงแบบนั้น  ได้ยินเรื่องแบบนั้น  เราก็จะหลงเชื่อตามเขาไป  เพราะในใจของเราก็มีเชื้ออยู่แล้ว  ก็คือความหลง  ใจของเราก็มีความชอบสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว  ก็เลยหลงตามเขาไป  วันๆหนึ่งก็มัวแต่วุ่นกับการหาเงินหาทอง  เมื่อได้เงินทองมาแล้ว ก็เอาเงินทองนี้ไปซื้อ ไปแลกพวกกามสุขทั้งหลายมาเสพ  เมื่อเสพเสร็จแล้วก็เพลีย ก็นอนหลับ  รุ่งขึ้นก็ต้องตื่นไปทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง หาเงินหาทองอีก  ชีวิตก็วนเวียนอยู่ในวัฏจักรแบบนี้  ก็ไม่ต่างจากเดรัจฉานสักเท่าไร  เพราะเดรัจฉานก็มีชีวิตแบบนี้  เช้าเขาก็ออกไปหาอาหารมากิน  เมื่อมีกำลังวังชา ก็หาคู่มาเสพ  หาความสุขทางกาม  เมื่อเสพเสร็จแล้ว ก็อ่อนเพลียก็นอนหลับไป  ตื่นขึ้นมาก็ออกไปทำแบบเดิมๆอีก ชีวิตก็จะวนเวียนไปอย่างนี้ ไปจนถึงวันตาย 

แม้กระทั่งคนอายุมากๆแล้ว ก็ยังมีความกระหาย มีความอยาก อย่างที่มีข่าวว่ามีชายคนหนึ่งอายุ ๗๒ ปี เป็นฝรั่งอยู่ประเทศเยอรมัน  มีเงินอยู่ประมาณ ๖-๗ ล้านบาท ประกาศออกมาเลย ว่าถ้ามีหญิงสาวคนใดที่อายุต่ำกว่า ๓๐ สามารถให้เขามีความสุขจนตายในอ้อมกอดของเธอได้ เขาจะมอบมรดกที่มีอยู่ทั้งหมด ให้กับหญิงสาวคนนั้นเลย นี่แหละอำนาจของกามตัณหาความอยากในกาม มันไม่ได้อ่อน  มันไม่ได้หมดไปตามวัยของคนเลย  เพราะว่าใจของคนเราไม่มีอายุขัย  ไม่เสื่อม  ไม่แก่ ไม่ชรา  ใจเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง  เป็นอย่างนั้นมาแต่ดั้งเดิม  เมื่อร่างกายนี้แตกสลายไป  ใจก็เคลื่อนออกไป แล้วก็ไปหาร่างกายใหม่ เมื่อได้ร่างกายใหม่มา ก็เสพกามต่อ  ถ้าเป็นเดรัจฉานก็เสพกามแบบเดรัจฉาน  ถ้าเป็นมนุษย์ก็เสพกามแบบมนุษย์  ถ้าเป็นเทพก็เสพกามแบบเทพ ไปไม่มีที่สิ้นสุด  แต่ถ้าเริ่มลดละแล้ว  ต่อไปก็จะเริ่มเสพความสุขที่เกิดจากความสงบของจิต  ถ้าตายไปก็จะไปเกิดเป็นพรหม  เพราะพรหมก็คือผู้ที่เสพความสุข ที่เกิดจากความนิ่ง ความสงบของใจ  แล้วถ้าได้พบพระพุทธศาสนา ได้ปฏิบัติตามสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  คือเห็นโทษของกามสุข  แล้วตัดกามสุขได้ ด้วยปัญญาหรือวิปัสสนา ก็จะกลายเป็นพระอริยบุคคลไป  เป็นพระอนาคามี เป็นผู้ตัดความยินดีในกามสุขได้ ไม่มีความต้องการที่จะเสพกามอีกต่อไป ไม่ต้องกลับมาเกิดในกามภพอีกต่อไป  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียง