กัณฑ์ที่๑๓๙      ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๕

กำลังทำอะไรอยู่

 

ใกล้เวลาสิ้นปีเข้ามาแล้ว  วันเวลาก็ค่อยๆผ่านไปๆ เดี๋ยวปีหนึ่งก็หมดไป  อายุก็เพิ่มมากขึ้นไปอีกหนึ่งปี  วันเวลามีแต่จะผ่านไปๆ  เหมือนกับกระแสน้ำ ที่ไหลไปแล้ว ไม่ไหลกลับ  เวลาเป็นสิ่งที่มีคุณค่า กับชีวิตจิตใจของพวกเราทุกคน  เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับเวลา  การที่เราจะมีอะไรขึ้นมาได้  ก็ต้องมีเวลาที่จะทำ เพื่อให้มีสิ่งนั้นๆเกิดขึ้นมา  ถ้าเวลาไม่มี ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เราปรารถนา ที่เราต้องการกัน ก็จะไม่มี  เวลาจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง  เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดในโลกนี้  เพราะถ้าไม่มีเวลาแล้ว เราจะไปหาสิ่งต่างๆในโลกนี้ได้อย่างไร  ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง  บุคคลต่างๆ ก็ต้องมีเวลาเป็นเครื่องรองรับ  ต้องมีเวลาที่จะกระทำในสิ่งต่างๆ เพื่อให้ผลที่เราต้องการปรากฏขึ้นมา  เวลาจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากๆ เราจึงไม่ควรมองข้ามคุณค่าของเวลาไป  ไม่ควรที่จะปล่อยให้เวลาผ่านไปๆ โดยไม่ได้ทำคุณ ทำประโยชน์ให้เกิดขึ้น  เพราะเวลาของเราจะมีเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ ไม่ใช่จะมีมากเพิ่มขึ้นไป เพราะชีวิตของเราถูกควบคุมด้วยเวลานั่นเอง 

เมื่อเกิดแล้ว ชีวิตก็จะต้องมีการแก่  มีการเจ็บ  มีการตาย ตามลำดับต่อไป  และเมื่อถึงเวลาตาย เวลาที่จะทำอะไรก็หมดไปเช่นกัน  ชีวิตของเราจึงเปรียบเหมือนกับต้นเทียนต้นหนึ่ง  เวลาเกิดออกมาก็เหมือนกับเวลาที่จุดต้นเทียน  เมื่อจุดแล้ว ไฟก็จะเริ่มไหม้ต้นเทียนไปตามลำดับ  จนหมดไปในที่สุด  ฉันใดชีวิตของเราก็เป็นเช่นนั้น  เมื่อเกิดมาแล้ว ก็จะเริ่มดำเนินตามวิถีทางของเขา  คือ มีการเจริญเติบโต  เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ก็จะเริ่มมีการเสื่อมตามมา  แล้วความเจ็บไข้ได้ป่วย  ความชรา  ความตายก็จะตามมาในที่สุด  ชีวิตของเราจึงมีขอบเขต  มีเวลาที่จำกัด แต่ละคนมีเวลาอยู่ไม่เท่าเทียมกัน  บางคนก็มีอายุยืนยาวนาน อยู่ได้ถึง ๙๐ ปี ๑๐๐ ปี  บางคนก็อยู่ไม่ได้ยาวนาน  บางคนเกิดมาเพียงวันเดียวก็ตายไปก็มี  ชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน จึงควรทำความเข้าใจกับธรรมชาติของเวลา  ของชีวิต ว่าไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อไปได้อีกนาน มากน้อยแค่ไหน  อาจจะอยู่ต่อไปได้ถึงอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปีก็ได้  หรืออาจจะตายในวันนี้  ในบ่ายนี้  ในเย็นนี้ ในคืนนี้ก็ได้  เพราะไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน  นี่คือธรรมชาติของชีวิตร่างกายของเรา  จะต้องเป็นไปเช่นนี้ 

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้พวกเรามีสติ คือไม่ให้ประมาท  ให้รู้ถึงความไม่แน่นอนของชีวิต  ถึงความไม่แน่นอนของเวลา ที่จะมีไว้ทำในสิ่งที่ต้องการกัน  จึงทรงสอนให้คอยถามตัวเราอยู่เสมอๆว่า วันคืนล่วงไปๆ ในบัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ ถ้าไม่ถาม เราจะไม่รู้ว่า เรากำลังทำอะไรอยู่  เพราะเราทำอยู่หลายอย่างด้วยกัน  ทำในสิ่งที่ทำให้เกิดคุณเกิดประโยชน์  นำมาซึ่งความสุขความเจริญก็มี  ทำในสิ่งที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสีย ความหายนะ ความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็มี  แต่เราไม่ค่อยรู้กัน ว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ หรือถ้ารู้ ก็รู้แบบผิดๆ เข้าใจผิด  คิดว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ดี  เป็นสิ่งที่มีคุณ มีประโยชน์ ในสายตาของพวกเรา  แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดี ที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์ เป็นสุขกับเราเลย  เพราะว่าใจของเรายังมีความหลง  มีความมืดบอดอยู่  ยังไม่รู้จริงเห็นจริง ว่าการกระทำของเราจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญที่แท้จริงหรือไม่  หรือเป็นความสุขความเจริญ ที่แฝงด้วยความเสื่อมเสีย  ความทุกข์  ความหายนะที่จะตามมาต่อไป 

เราจึงต้องศึกษา ทำความเข้าใจ ให้รู้ว่า  อะไรคือความดี  อะไรคือความไม่ดี แล้วพยายามหลีกเลี่ยงการกระทำสิ่งที่ไม่ดี ทำแต่สิ่งที่ดี  เราจะรู้ได้ ก็ต่อเมื่อได้ศึกษา หาความรู้ จากผู้รู้จริงเห็นจริงอย่างพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  ซึ่งจะหาได้ในพระพุทธศาสนานี้  ถึงแม้พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ส่วนใหญ่  ก็ได้ผ่านไปแล้ว ได้นิพพานไป  ชีวิตร่างกายของท่านไม่มีอยู่ในโลกนี้แล้ว  แต่คำสอนของท่านยังมีอยู่  คำสอนนี่แหละ ที่เป็นองค์แทนพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสั่งไว้ก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า  พวกเธอทั้งหลาย จะไม่ได้อยู่ปราศจากศาสดา เพราะศาสดาของพวกเธอ ที่จะมาทำหน้าที่แทนตถาคตต่อไป ก็คือพระธรรมวินัย ที่ตถาคตได้ตรัสไว้ชอบแล้ว  พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้มีการจดจำ  และจารึกลงเป็นตัวอักษรนี่แหละ คือพระศาสดาของพวกเรา เป็นครู  เป็นอาจารย์ เป็นศาสดาของพวกเรา 

เราจึงควรเข้าหาธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด ที่สะดวกสำหรับเรา  ถ้ามาวัด มาฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นสิ่งที่สะดวก  ก็มากัน  ถ้ามาวัดไม่สะดวก  อยู่บ้านก็หาหนังสือธรรมะไว้ในบ้าน  เอาไว้อ่าน  หาเทปธรรมะของครูบาอาจารย์ ไว้เปิดฟัง  หรือเปิดวิทยุฟัง หรือดูโทรทัศน์  ซึ่งมีการแสดงธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ ตามกาลตามเวลา เช่น ในวันพระ  วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  ก็จะมีการแสดงธรรมกันตามสื่อต่างๆ   เหล่านี้ก็เป็นวิธีที่จะทำให้เราเข้าถึงพระพุทธศาสนา  เข้าถึงพระศาสดา  เข้าถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้  และเมื่อได้เข้าถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว  จะได้รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดี  อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ดี  อะไรเป็นเหตุที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ  อะไรเป็นเหตุที่นำมาซึ่งความทุกข์ความเสื่อมเสีย  ความหายนะ  เมื่อรู้แล้ว จะได้นำมาปฏิบัติ  กับกาย  วาจา  ใจ  ที่เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญ  หรือความทุกข์ความเสื่อมเสีย  ความหายนะทั้งหลาย 

จึงต้องมีสติระลึกรู้อยู่เสมอว่า  ในขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่  เช่น ในขณะนี้เราไม่ได้พูด  เราไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย  แต่ใจของเรากำลังคิดอะไรอยู่  ใจนี้เป็นตัวที่สำคัญที่สุด ในการกระทำ  ใจเป็นผู้สั่งการก่อน   การกระทำทางวาจา และทางกายจึงจะตามมาได้  เวลาใจคิดให้ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง  ก็จะสั่งไปที่วาจา สั่งไปที่ร่างกาย ให้พูดอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้  ความคิดจึงเป็นเป็นต้นเหตุของการกระทำทั้งปวง  การกระทำดี ก็ออกมาจากความคิดที่ดี  การกระทำไม่ดี ก็ออกมาจากความคิดที่ไม่ดี  เราจึงต้องมีสติรู้อยู่กับความคิดอยู่ทุกขณะ  ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ถามตัวเราเองอยู่เสมอว่า  วันเวลาล่วงไปๆ ในบัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่  กำลังคิดในสิ่งที่ดี หรือกำลังคิดในสิ่งที่ไม่ดี  กำลังคิดที่จะทำบุญ หรือกำลังคิดจะทำบาป  กำลังคิดจะสะสมความโลภ  ความโกรธ  ความหลง หรือกำลังคิดจะลดละความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  เพราะความคิดเหล่านี้จะนำพาไปสู่การกระทำที่จะมีผลต่อไป

ผลที่จะตามมาก็คือความเจริญ หรือความเสื่อม  อย่างการกระทำที่จะนำมาซึ่งความเสื่อม  ก็ได้ทรงแสดงไว้ในอบายมุข ๔  คือ  . เล่นการพนัน  . เสพสุรายาเมา  . คบคนชั่วเป็นมิตร  .  เที่ยวกลางคืน  นี่คือการกระทำที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย ไม่ได้นำมาซึ่งความเจริญ  และก่อนที่จะไปกระทำสิ่งเหล่านี้ได้  ก่อนที่จะไปเสพสุรายาเมา  ไปเล่นการพนัน  ไปเที่ยวกลางคืน  ไปคบคนชั่วเป็นมิตร  ใจต้องคิดก่อน  เช่นคิดว่า  วันเสาร์วันอาทิตย์นี้จะไปทำอะไรดี  คืนนี้ออกไปเที่ยวดีไหม  ไปกินเหล้าดีไหม  ไปเล่นการพนันดีไหม  ไปหาเพื่อนที่ไม่ดีจะดีไหม  นี่เป็นสิ่งที่เริ่มคิดแล้ว  ถ้าไม่มีสติ ก็จะถูกความคิดนี้พาไปโดยไม่รู้สึกตัว  เพราะใจมักจะชอบคิดทำในสิ่งที่เคยติดมาเป็นนิสัย  และนิสัยของพวกเราส่วนใหญ่ที่ยังเป็นปุถุชน  ยังมีความมืดบอดอยู่  ก็มักจะคิดไปในทางที่เสื่อมเสีย  มักจะชอบทำในสิ่งที่เสื่อมเสีย  แต่ในใจกลับคิดว่าเป็นความสุข  เลยทำกันไปโดยไม่รู้สึกตัว เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนถึงความเสื่อมเสียของเรื่องเหล่านี้  เราจึงไม่รู้กัน 

อย่างเวลาไปกินเหล้าเมายา ก็จะมองแต่ด้านดีด้านเดียว  คือความสนุกสนานเฮฮา  ได้ไปเจอเพื่อนฝูง คุยกัน เล่นกัน มีความสุข แต่ไม่รู้ถึงโทษของสุรา  เวลาติดสุราแล้ว จะเป็นอย่างไร  จะต้องหาสุรามาเสพอยู่ตลอดเวลา  เป็นเหมือนยาเสพติด  และเมื่อเสพสุราไปมากๆ ก็จะไปทำลายร่างกาย  ทำลายอวัยวะต่างๆ ทำให้ชีวิตไม่เป็นปกติ  มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน  มีอายุสั้น เวลาเสพสุราเข้าไป  ก็จะทำให้เกิดความมึนเมา ไม่มีสติ ไม่สามารถควบคุมใจได้  ความคิดความอ่านเป็นอย่างไร ก็จะไม่รู้  ไม่สามารถที่จะยับยั้งได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เกิดความมึนเมา  พวกความคิดที่ไม่ดี ความคิดที่เป็นอัปมงคลทั้งหลาย  ที่เป็นอกุศลทั้งหลาย มักจะเกิดขึ้น  ทำให้ต้องไปกระทำสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและกับตัวเรา เช่น พูดจาหยาบคาย เบียดเบียน  สร้างความรำคาญใจให้กับผู้อื่น ทำให้เกิดการตอบโต้กัน  ตอบโต้กันไป ตอบโต้กันมา ก็นำไปสู่การทะเลาะวิวาท  นำไปสู่การทุบตีทำร้ายร่างกายกัน  จนถึงฆ่ากันตาย   ผู้ที่เสียชีวิตก็สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไป  ผู้ที่ยังอยู่ก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับเข้าคุกเข้าตะราง  และอาจจะต้องถูกประหารชีวิตให้ตายตามกันไป  นี่ก็คือผลของการเสพสุรายาเมา  แต่ไม่ค่อยคิดกัน  คิดแต่ว่า กินเหล้าเข้าไปแล้ว จะมีความสุข สบายอก สบายใจ  ลืมเรื่องราวต่างๆ   ลืมความทุกข์ต่างๆ   จึงทำให้เสพสุรายาเมากัน  แต่ผลเสียที่ตามมา กลับไม่รู้กัน 

นี่แหละคือสิ่งที่จะต้องศึกษาให้เห็นโทษ  เมื่อเห็นโทษแล้ว  เวลาที่จิตเริ่มคิดที่จะทำสิ่งเหล่านี้ จะได้ยับยั้งได้  เพราะไม่มีใครต้องการความทุกข์ ไม่ต้องการปัญหาต่างๆ   แต่ถ้าไม่คิดไว้ก่อน  ไม่ศึกษาไว้ก่อน  แต่ปล่อยให้ทำไปตามนิสัย  ก็จะติดนิสัย  เวลาแก้ก็ยาก  แต่ก็ไม่สุดวิสัย  ถ้าเห็นสิ่งที่ไปหลงดีหลงชอบอยู่ว่า ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดี  แต่เป็นพิษเป็นภัยกับชีวิต  ก็จะสามารถลดละเลิกได้  สามารถทำได้ถ้ามีสติ  คอยดูความคิดอ่าน  ถ้าคิดไปในทางที่ไม่ดี  ก็ต้องบอกตัวเองว่า  นี่เป็นทางที่ไม่ดี คิดไปแล้วจะนำพาไปสู่การกระทำที่ไม่ดีต่อไป  จะนำมาซึ่งโทษทั้งหลายที่ไม่ปรารถนากัน  ควรคิดทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม  ทำตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ทำและได้ทรงประพฤติปฏิบัติมา  สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ทำอยู่เสมอคือ  ๑.ให้ทำความดีเสมอ  ๒.ให้ละการกระทำบาปเสมอ    ๓. ให้ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด 

สิ่งที่ทำให้จิตใจเปรอะเปื้อนมีมลทิน ก็คือกิเลสตัณหา ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ความอยากต่างๆ เป็นสิ่งที่จะคอยทำร้ายจิตใจ  คอยฉุดลากผลักไส ให้ไปกระทำความชั่วทั้งหลาย  คนเราถ้าไม่มีความโลภแล้ว จะไปทำบาปได้อย่างไร  ถ้าไม่มีความโกรธแล้ว จะไปทำบาปได้อย่างไร  อย่างในขณะนี้พวกเรานั่งอยู่ในศาลานี้  จิตก็ตั้งมั่นอยู่กับการฟังเทศน์ฟังธรรม  ในขณะนี้ความโลภก็ไม่ปรากฏขึ้นมา  ความโกรธก็ไม่ปรากฏขึ้นมา  เราก็นั่งอยู่ที่นี่ได้  แต่ถ้ามีความโลภเกิดขึ้นมา  มีความโกรธเกิดขึ้นมา เราจะทนนั่งอยู่เฉยๆไม่ได้  จะต้องไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด  ถ้าเราเคยฝึกใจ  เคยหักห้ามใจ ด้วยการปฏิบัติธรรม  ได้ศึกษาวิธีการหยุดใจ  ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ก็จะรู้ว่าต้องหยุดใจด้วยสติ  ถ้ามีสติ รู้ว่ากำลังคิดอะไร  เพียงแต่รู้เท่านั้น ความคิดนั้นก็จะหยุดไป หายไป  แต่ถ้าไม่รู้  ก็จะคิดตามไป  เวลาเกิดความโลภ ก็จะคิดตามความโลภนั้นไป ก็จะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่อยากได้ ว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างนั้นอย่างนี้    ต้องเอามาให้ได้  เวลาโกรธ ก็จะวิพากษ์วิจารณ์คนที่เราโกรธว่า เขาเลวอย่างนั้น เขาไม่ดีอย่างนี้  ควรจะต้องถูกทำร้าย ทำลาย อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นต้น 

นี่แหละคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการไม่มีสติดูใจ  ถ้ามีสติดูใจแล้ว  ในขณะที่เกิดความโลภขึ้นมา  จะรู้ขึ้นมาทันทีเลยว่า กำลังโลภ  กำลังอยาก  ก็จะสามารถระงับได้ ด้วยเหตุด้วยผล คือปัญญา  ควรถามตัวเราเองว่า  สิ่งที่โลภที่อยากได้นั้น มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพหรือไม่  ถ้าไม่มีความจำเป็น เราไม่มี เราก็ไม่เดือดร้อนอะไร  เพราะสิ่งของบางอย่างที่เราอยากได้นั้น ไม่ได้ออกมาจากปัญญา  ออกมาจากเหตุผล  ไม่ได้ออกมาจากความจำเป็น  แต่ออกมาจากอารมณ์ เพียงแต่เห็นแล้วก็เกิดอารมณ์อยากได้ขึ้นมา  ทั้งๆที่ไม่มีสิ่งนั้นก็ไม่ตาย  และดีไม่ดีไม่มีสิ่งนั้นกลับสบายกว่าอีกตั้งเยอะแยะ  แต่เราไม่รู้กัน  เพราะเหตุใด เพราะเราไม่ใช้ปัญญา  ไม่ใช้เหตุผลเข้ามาคิด เวลาต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด  พอมีความอยากได้ปั๊บ ก็อ่อนตามความอยากนั้นแล้ว  จะต้องทำตามความอยากนั้น  ถ้าไม่ได้ทำตามความอยากแล้ว จะเกิดความทุกข์ ความเสียอกเสียใจขึ้นมาทันที

นี่แหละคือโทษของความอยาก  เมื่อเกิดความอยากแล้ว ถ้าไม่ระงับ ก็จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา  ทุกข์ ๒ อย่าง คือ ๑. ทุกข์ที่อยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องดิ้นออกไปหาสิ่งนั้นๆมา  ๒. ถ้าหาไม่ได้ ก็เกิดความเสียใจ เกิดความผิดหวังขึ้นมา  แต่ถ้าระงับความอยาก ความโลภได้ ด้วยเหตุผล  ก็สามารถอยู่ได้โดยปกติ  นี่แหละเป็นสิ่งที่จะต้องรู้จักแก้ไข  ความโลภความอยากนี้  แก้ไขได้ด้วยเหตุผล  ใช้ปัญญาถามตัวเราเองว่า  จำเป็นไหม  ถ้าไม่จำเป็น ไม่มีก็ไม่เดือดร้อนอะไร  ก็ไม่ต้องไปมีสิ่งนั้น  เพราะถ้าไม่จำเป็นแล้วไปหามา  ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเรา คือ  . จะต้องเสียเงินเสียทอง  ซึ่งเป็นสิ่งที่หายาก    ถึงแม้จะมีเงินทองเหลือใช้อยู่ก็ตาม  แต่ต้องมองถึงอนาคตข้างหน้าว่า อาจจะต้องอาศัยเงินทองที่มีเหลือใช้อยู่นี้ เอาไว้ใช้กับสิ่งที่จำเป็น  เพราะตราบใดชีวิตยังมีลมหายใจอยู่  ก็ยังต้องอาศัยเงินทอง เพื่อเอาไว้ใช้แลกเปลี่ยนปัจจัย ๔ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ คือ อาหาร  ยารักษาโรค  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย  ถ้าเอาเงินทองที่มีความจำเป็น  ถึงแม้จะไม่จำเป็นในขณะปัจจุบันนี้  แต่อาจจะมีความจำเป็นต่อไปในภายภาคหน้า  เอาไปใช้กับสิ่งที่ไม่จำเป็น  เวลาเกิดความจำเป็นขึ้นมา ก็จะเดือดร้อน  แต่ถ้าไม่เอาเงินทองที่มีเหลือใช้อยู่นี้ ไปใช้กับสิ่งที่ไม่จำเป็น  ก็จะมีเงินทองเหลือใช้มาก  ก็จะมีความอบอุ่นใจ  มีความมั่นใจ  จะไม่ค่อยกังวลกับเรื่องของอนาคตเท่าไร  เพราะรู้ว่ามีสิ่งรองรับอนาคตไว้อยู่แล้ว  จะไม่อดอยากขาดแคลนในเรื่องอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย  ยารักษาโรค 

ถ้าชนะความโลภความอยากได้แล้ว  แทนที่จะมีความทุกข์ กลับจะมีความสุข  ความสุขที่เกิดจากความมั่นใจ  ความมั่นคงกับชีวิต รู้ว่าชีวิตจะดำเนินไปด้วยความสุข ความสบาย  มีปัจจัย ๔ ไว้คอยดูแล  เท่านี้ก็จะทำให้มีความสุขแล้ว  แต่ในทางตรงกันข้าม  ถ้าใช้เงินไปเรื่อยๆ เห็นอะไรอยากได้ก็ใช้ไปๆ โดยไม่ได้เสริมสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตเลย  แต่กลับบั่นทอนความมั่นคงของชีวิต  เพราะเงินทองที่จะต้องอาศัยในภายภาคหน้า จะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ และถ้าไม่ระมัดระวัง ดีไม่ดีก็อาจจะหมดไป  นอกจากหมดไปแล้ว  ยังอาจจะเป็นหนี้เป็นสินขึ้นมาอีก  เพราะในปัจจุบันนี้ เราสามารถซื้อข้าวของได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินทั้งหมด  จ่ายเงินเพียงบางส่วน เราก็ได้ของมาแล้ว  แต่ต้องเป็นลูกหนี้  ต้องหาเงินทองมาใช้หนี้สินที่ไปสร้างไว้  นี่แหละคือโทษของการไม่ดูแลใจของเรา  ไม่ดูแลความคิดของเรา  เวลาเกิดความโลภ เกิดความอยาก ก็ปล่อยให้ความโลภความอยากฉุดลากพาลงเหวโดยไม่รู้สึกตัว  มารู้สึกตัวอีกทีก็อยู่ที่ก้นเหวแล้ว  ไม่รู้จะหาวิธีขึ้นจากเหวอย่างไร 

บางคนเมื่อถึงจุดนั้นแล้ว ก็เกิดความท้อแท้ในชีวิต  ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป  ดังที่ได้ยินได้ฟังกันทุกวันนี้  ที่ต้องทำร้ายชีวิตของตัวเอง ก็เพราะถูกความโลภ  ความอยากนี้แหละ ฉุดลากให้ลงสู่ก้นเหว  เมื่ออยู่ในก้นเหวแล้ว  ก็เกิดความทุกข์ เกิดความทรมาน จนกระทั่งไม่สามารถที่จะทนอยู่ได้อีกต่อไป  ทั้งที่ร่างกายก็ยังเป็นปกติอยู่  ยังเป็นคนหนุ่มคนสาว  มีกำลังวังชา ทุกสิ่งทุกอย่างยังสมบูรณ์ สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้  แต่เพราะความหลง  ความมืดบอด  ไม่รู้จักวิธีแก้ปัญหาชีวิต ก็เลยเกิดความท้อแท้  เกิดความมืดแปดด้านขึ้นมา  ไม่รู้จะหาใครเป็นที่พึ่ง เพราะตอนที่มีเวลา  ตอนที่เป็นปกติ ไม่เคยคิดสร้างที่พึ่งขึ้นมาไว้ก่อน   พอถึงยามยากเข็ญ  ก็เลยงงเป็นไก่ตาแตก  ไม่รู้จะพึ่งอะไร  แต่ถ้าเป็นคนฉลาด  จะรู้ว่าพระศาสนา คือ พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งของเราได้  ถ้าเข้าหาพระศาสนาอยู่เรื่อยๆ ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เสมอ แล้วนำไปปฏิบัติ อย่างที่ได้สอนในวันนี้  คือให้ดูใจเรา  ให้เตือนสติถามตัวเราเองอยู่เสมอว่า วันคืนผ่านไปๆ ในบัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่  กำลังดูใจของเราอยู่หรือเปล่า  กำลังต่อสู้กับความโลภ  กับความอยากอยู่หรือเปล่า  ถ้ากำลังทำอยู่  ก็ถือว่าเรากำลังใช้ชีวิตให้เป็นคุณเป็นประโยชน์   เพราะการต่อสู้กับความโลภ  ความอยากนี้ เท่ากับเป็นการดึงตัวเราให้ออกจากเหวลึกนั่นเอง  แต่ถ้าปล่อยใจให้คิดไปในทางโลภ  ความอยาก  แล้วทำตามความโลภ  ความอยาก  เราก็จะถูกฉุดลึกลงไปเรื่อยๆในเหว จนไม่มีทางออก

จึงขอให้พวกเราทั้งหลาย  จงอย่าตั้งอยู่ในความประมาท  จงมีสติดูการกระทำของเราอยู่เสมอ  ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา  จนถึงเวลาหลับเลย  ขอให้ดูกาย  วาจา  ใจของเรา เหมือนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลนักโทษ  อย่าให้คลาดจากสายตา  แล้วจะเห็นการกระทำทั้ง ๓ ว่าเป็นไปในทิศทางใด  ถ้าเป็นไปในทิศทางที่ดีก็ส่งเสริม รีบทำเสียเลย    อย่างวันนี้นึกอยากจะทำบุญ ก็รีบมาวัด มาทำบุญเลย   อย่าไปเลื่อนวันเวลา  เพราะว่าพรุ่งนี้อาจจะไม่มีสำหรับเราก็ได้  แต่ถ้าทำในวันนี้แล้ว  เราจะไม่เสียใจ แต่จะได้รับประโยชน์จากการกระทำความดี เพราะจะเป็นที่พึ่งในยามยากของเราต่อไป การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้