กัณฑ์ที่  ๑๔๐     ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๕

ธัมมานุสติ

 

วันนี้ เป็นวันพระ  วันธรรมสวนะ วันฟังธรรม   ญาติโยมผู้มีจิตใจแน่วแน่มั่นคงกับพระพุทธศาสนา จะถือวันพระเป็นวันสำคัญมาก จะต้องมาวัดเพื่อประกอบศาสนกิจ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้  เพราะทราบกันดีว่าผลต่างๆ ที่ปรารถนากัน เช่น ความสุขความเจริญ  ความเป็นสิริมงคล ความสำเร็จในชีวิต ความปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวงนั้น  ย่อมเกิดจากการกระทำของเรา เกิดจากการกระทำตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจึงยึดถือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นผู้นำทาง เมื่อถึงเวลาที่จะต้องประกอบกิจต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดไว้  เราก็มาประกอบกิจนั้นๆกัน  ถ้ากระทำกิจเหล่านั้นได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน เราก็จะได้รับผลดีงามที่จะตามมาต่อไป  เราจึงควรขวนขวายปฏิบัติ ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีอุปสรรคกีดขวาง ก็ต้องพยายามต่อสู้ กำจัดสิ่งกีดขวางทั้งหลายให้หมดไป  เหมือนกับเวลาที่เราเดินทาง ไปสู่จุดหมายปลายทาง จุดใดจุดหนึ่ง  ถ้ามีเครื่องกีดขวางทางอยู่  เราก็ต้องหาวิธีผ่านเครื่องกีดขวางนั้นไปให้ได้   ถ้ายกสิ่งกีดขวางออกได้ก็ยกออกไป  ถ้ายกออกไม่ได้  จำเป็นจะต้องหาทิศทางใหม่เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง เราก็ต้องทำ  ถ้ามีความอุตสาหะ วิริยะ ความอดทน ความขยันหมั่นเพียร ที่จะดำเนินตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ ในไม่ช้าก็เร็ว เราก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางที่พวกเราทุกคนปรารถนากัน คือความสุข ความเจริญ ความปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง  ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน 

สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้เจริญอยู่อย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง ก็คือการเจริญธัมมานุสติ เจริญพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ซึ่งเปรียบเหมือนแสงสว่าง  ถ้าทำได้ ก็เท่ากับเป็นการจุดแสงสว่างให้เกิดขึ้นภายในใจที่ยังมีความมืดบอดอยู่  เพราะถูกอวิชชา ความไม่รู้จริง   โมหะ ความหลง  ซึ่งเปรียบเหมือนกับความมืดครอบงำอยู่  ทำให้จิตใจไม่สามารถเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้  แต่กลับจะเห็นตรงกันข้ามกับความเป็นจริง  เช่น เห็นสุขเป็นทุกข์  เห็นทุกข์เป็นสุข  เห็นว่าบาปบุญคุณโทษ นรกสวรรค์ไม่มี อย่างนี้เป็นต้น นี่คือความเห็นผิด  ที่เห็นผิดก็เพราะไม่มีแสงสว่างนั่นเอง   เหมือนเวลาที่เราอยู่ในที่มืดสนิท   ในยามค่ำคืน เราจะไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ในบริเวณนั้นได้เลย ถ้าไม่มีแสงสว่าง  แต่ถ้ามีแสงสว่าง  เราก็จะสามารถเห็นสิ่งต่างๆที่อยู่ในบริเวณนั้นได้  ถ้าไม่มีแสงสว่างเราก็ต้องอาศัยการเดาไป  คาดคะเนไป  คิดว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น  คิดว่าสิ่งนี้เป็นอย่างนี้ 

อย่างพระที่ไปอยู่ในป่าตอนกลางคืน ถ้าไม่เคยไปอยู่ป่ามาก่อน แล้วมีความกลัวอยู่ในใจ เวลาเห็นอะไร ก็จะคาดคะเนไปต่างๆนานา  เช่น คาดว่าเป็นผีบ้าง  เป็นสัตว์ร้ายบ้าง  แต่ความจริงแล้ว เป็นเงาของกิ่งไม้ ของต้นไม้  แต่เพราะว่ามืด มองไม่เห็นชัด ก็เลยทำให้เกิดการเดาขึ้นมา  และเมื่อมีความกลัวประกอบอยู่ในใจแล้ว ก็จะคิดไปในสิ่งที่น่ากลัวทั้งหลาย  แต่ความเป็นจริงแล้ว หาใช่เป็นดังที่ได้คาดคิดไว้ไม่  นั่นก็เป็นเพราะว่าใจมืดบอด ไม่มีสติไม่มีปัญญานั่นเอง  ฉันใดใจของเรา ถ้าไม่มีธรรมะอยู่ในใจแล้ว ก็จะมีแต่ความลุ่มหลง  จะมองไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริง  เราจึงต้องเจริญธัมมานุสติกัน ซึ่งเจริญได้หลายวิธีด้วยกัน  อย่างในขณะนี้ท่านกำลังฟังธรรมอยู่  ก็เป็นการเจริญธัมมานุสติอย่างหนึ่ง  แต่เป็นการเจริญเป็นช่วงๆ เป็นครั้งคราว ไม่บ่อยนัก คืออาทิตย์หนึ่ง ก็จะมีการแสดงธรรมในวันธรรมสวนะกันสักครั้งหนึ่ง  อย่างวันนี้ท่านก็ได้ยินได้ฟังธรรมกัน  ก็เปรียบเหมือนกับเปิดไฟในใจของท่านให้สว่างขึ้นขณะหนึ่ง   แต่หลังจากเสร็จจากการฟังธรรมแล้ว ก็เหมือนกับการปิดไฟในใจไป 

ถ้าต้องการมีไฟส่องแสงสว่างอยู่ในใจอยู่ตลอดเวลา  เราก็ต้องเจริญธัมมานุสติอย่างต่อเนื่อง  คือนอกจากการฟังธรรมที่วัดแล้ว  เวลากลับไปที่บ้าน  ถ้ามีเทปธรรมะ  ก็ควรเปิดเทปธรรมะฟังต่อ  หรือถ้ามีหนังสือธรรมะ  ก็เปิดหนังสือธรรมะอ่านต่อ  ถ้ามีความสามารถที่จะเจริญธัมมานุสติภายในใจ โดยนำธรรมะที่ได้ยินได้ฟังมาเจริญ  คือคิดถึงธรรมะอยู่เรื่อยๆ ก็เท่ากับเป็นการจุดไฟ เปิดไฟให้มีแสงสว่างภายใจอยู่เรื่อยๆ   ในเวลาค่ำคืน  ถ้าเปิดไฟไว้เราก็จะเห็นสิ่งต่างๆได้  ถ้าปิดไฟเราก็จะไม่เห็นอะไร ในเวลากลางคืนเราจึงเปิดไฟกันเสมอ  ยกเว้นในขณะที่นอนหลับ เราก็จะปิดไฟ  เพราะว่าในขณะนั้นไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้แสงสว่าง  แต่ในขณะที่ตื่นในยามค่ำคืน ก็ต้องเปิดไฟเสมอ  ถ้าไปในที่ที่ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีไฟ  เราก็ต้องนำไฟฉายหรือเทียนติดตัวเราไป  เมื่ออยู่ในที่มืดก็จะได้จุดไฟ เพื่อจะได้เห็นทาง  เห็นสิ่งต่างๆรอบบริเวณที่เราอยู่ ที่เราเดินไป  การเจริญธัมมานุสติภายในใจก็เป็นเช่นนั้น  เปรียบเหมือนกับมีไฟฉาย มีเทียน มีโคมไฟติดตัวไป ไปที่ไหนก็จะมีแสงสว่างอยู่ตลอดเวลา  ถ้าไม่เจริญธัมมานุสติ ก็เปรียบเหมือนกับกำลังเดินอยู่ในที่มืด ก็จะต้องถูกอำนาจของโมหะความหลง  อวิชชาความไม่รู้จริงมาครอบงำ แล้วก็จะทำให้เราดำเนินไปในทางที่ไม่ถูก ไม่ต้อง ไม่ดี ไม่งาม   พาให้เราไปทำบาปทำกรรม  ที่ทำให้มีผลเสียตามมาต่อไป 

นี่ก็เป็นเพราะว่าใจของเรา ไม่ได้เจริญธัมมานุสติอย่างต่อเนื่อง  พอเผลอปั๊บ ความมืดก็จะเข้ามาครอบงำ แล้วความโลภ ความโกรธ ก็จะปรากฏตามขึ้นมา  เมื่อมีความโลภ ความโกรธแล้ว ก็จะมีการกระทำบาปทำกรรมขึ้นมา  ทำให้เกิดผลเสียหายตามมาต่อไป  เราจึงควรระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่อย่างสม่ำเสมอ  อย่างต่อเนื่อง  อย่างน้อยที่สุด ถ้าไม่รู้จะนึกอะไร ในขณะที่ใจไม่มีภารกิจที่จะต้องคิดเรื่องอื่น ไม่ต้องคิดเกี่ยวกับเรื่องการทำงานทำการ  การทำธุรกิจต่างๆ  เวลาที่ใจว่าง  เช่น เวลานั่งรถไปไหนมาไหน  เราก็หันมาเจริญธัมมานุสติ  ถ้าไม่รู้จะคิดถึงธรรมะบทใด  ก็ให้เจริญพุทธานุสติ ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า  คือ พุทโธๆๆ  อย่างน้อยที่สุดถ้าระลึกถึงพุทโธๆๆ โดยที่ไม่ไปคิดอะไร  ใจก็จะสงบ  ใจจะนิ่ง  ใจจะเย็น  ดีกว่าปล่อยให้ใจไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่คิดไปแล้ว เกิดอารมณ์ต่างๆตามมา  มีอารมณ์โกรธบ้าง   เสียใจบ้าง ดีใจบ้าง ความเศร้าโศกเสียใจต่างๆ  ซึ่งล้วนเกิดจากความคิดของเราทั้งสิ้น 

ถ้าสามารถควบคุมความคิดของเราให้อยู่กับธรรมะ อยู่กับสิ่งที่ดีที่งาม  เช่น อยู่กับบทสวดมนต์  อยู่กับพระพุทธเจ้า  จิตของเราก็จะสงบ  เพราะธรรมเหล่านี้ไม่ได้เป็นเครื่องที่จะทำให้จิตวุ่นวาย  ส่ายแส่  แต่เป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจให้มีความสงบ มีความร่มเย็น  ถ้าระลึกถึงคติธรรมต่างๆ ก็จะทำให้เกิดสติปัญญา เกิดความฉลาดขึ้นมา  สามารถนำพาชีวิตของเราไปได้ด้วยดี มีแต่ความสุข ความเจริญ  เราจึงต้องเจริญธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสม่ำเสมอ  ควรตั้งสัจจอธิษฐานไว้ว่า  ในวันๆหนึ่ง ถ้ามีเวลาว่าง ไม่ต้องไปคิดเรื่องราวต่างๆ  ขอให้เราหันมาคิดถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ถ้าไม่ตั้งสัจจอธิษฐานไว้ก่อน  ไม่ได้กำหนดเป้าหมายว่าควรจะคิดอะไร  เราก็จะปล่อยให้ใจคิดไปเรื่อยเปื่อย  แม้ในขณะที่กำลังทำงานอยู่  ใจก็ยังมีเวลาที่จะไปคิดเรื่องราวที่ไม่เกิดคุณ ไม่เกิดประโยชน์ แต่กลับเกิดโทษให้กับเรา

แต่ถ้าได้ตั้งสัจจอธิษฐานไว้แล้ว  อธิษฐานคือความตั้งใจ  สัจจะคือความจริงใจ   เวลาจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด  ก็จะมีเครื่องเตือนสติ  เครื่องผูกมัดให้ทำในสิ่งที่ได้ตั้งใจไว้    แต่ถ้าไม่ตั้งใจก็เปรียบเหมือนกับเรือที่ไม่มีหางเสือ  หรือรถที่ไม่มีพวงมาลัย เวลาให้เรือ ให้รถวิ่งไป ก็จะวิ่งไปแบบสะเปะสะปะ ไม่มีจุดหมายปลายทาง  เพราะไม่มีการควบคุม ให้รถหรือเรือนั้น ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง  ใจของเราก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน  ถ้าไม่ตั้งสัจจอธิษฐานคือความตั้งใจจริง ให้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด  ใจของเราก็จะไม่มีเป้าหมาย  ก็จะไม่ทำในสิ่งนั้นๆ  แต่ถ้าได้ตั้งสัจจอธิษฐานไว้ว่า  จะทำสิ่งนั้นทำสิ่งนี้แล้ว  เราก็จะมีสติคอยเตือนเราอยู่เสมอ  ในเวลาที่ไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องคิดเรื่องราวที่สำคัญ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ต่อการทำมาหากิน  ต่อการปฏิบัติภารกิจอันใดอันหนึ่ง  เราก็จะได้เอาเวลาที่ว่างมาคิดในสิ่งที่ดี  คิดในสิ่งที่ทำให้เกิดความฉลาด  เกิดความรู้ขึ้นมา  เพราะธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น  ถ้าไม่นำมาคิดบ่อยๆ เราก็จะลืม  จะไม่เข้าใจเท่าที่ควร  เวลาฟังธรรมครั้งหนึ่ง เราก็จำได้เข้าใจได้เพียงบางส่วนเท่านั้นเอง  ไม่สามารถจำได้หมด เข้าใจได้ทั้งหมด  แต่ถ้านำมาคิดอยู่เรื่อยๆอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็จะจำได้มากขึ้น เข้าใจได้มากขึ้น  เมื่อจำได้มากขึ้น เข้าใจได้มากขึ้น ก็จะได้นำมาใช้ให้มากขึ้น  ถ้าไม่คิดอยู่บ่อยๆ  ธรรมะก็จะอยู่ห่างไกลจากใจเรา  เราก็จะไม่ได้นำธรรมะมาใช้ 

ธรรมะก็เปรียบเหมือนกับอาวุธ  ถ้าเรามีอาวุธอยู่ใกล้ตัวเรา  เวลามีความจำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธนั้น  เราก็จะสามารถหยิบขึ้นมาใช้ได้ทันทีเลย  อย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ เวลาออกไปปฏิบัติราชการ ตามจับผู้ร้าย  จะต้องมีอาวุธอยู่กับตัวอยู่เสมอ เพราะถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทันทีทันใด   ก็จะได้ใช้ทันที  แต่ถ้าไม่มีอาวุธติดตัวไป  เวลาไปเจอผู้ร้าย  ถ้าผู้ร้ายต่อสู้ แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอาวุธ  ก็ไม่สามารถที่จะต่อสู้กับผู้ร้ายได้  ใจของเราก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน   ผู้ร้ายของใจก็คือความมืดบอด ความหลงผิดนั่นเอง  ที่เรียกว่าโมหะอวิชชา  ถ้าไม่มีธัมมาวุธ คืออาวุธแห่งธรรม  มีแสงสว่างแห่งพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ใกล้ตัวเรา  เวลาที่ความหลง ความมืดบอดแสดงตัวขึ้นมา  เราจะไม่มีอาวุธไว้ต่อสู้  เราจะไม่มีแสงสว่างไว้ทำลายความมืด เมื่อไม่มีแสงสว่างทำลายความมืดแล้ว  ความมืดก็จะทำให้เรามีความเห็นผิดเป็นชอบ  เห็นกงจักรเป็นดอกบัว  เห็นทุกข์เป็นสุข  เห็นบาปว่าไม่ใช่บาป  เห็นบุญว่าไม่ใช่บุญ   แล้วเราก็จะทำแต่บาป ทำแต่กรรม  แล้วเราก็จะต้องประสบกับผลของการกระทำของเรา  ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ปรารถนากันเลย  แต่เราก็ต้องรับเคราะห์กรรมอันนั้นไป 

ดังที่เราเคยได้ยินข่าวคราวอยู่ทุกวันในหน้าหนังสือพิมพ์  นั่นเป็นผลของความมืดพาจิตใจไป  ถ้ามีธรรมะมีแสงสว่างอยู่ในใจแล้ว จะไม่ทำในสิ่งเหล่านั้น  เพราะรู้ว่าเมื่อทำไปแล้ว มีแต่โทษ ไม่มีคุณเลย  ในเบื้องต้นเมื่อทำไปแล้ว ก็ทำให้จิตมีความว้าวุ่นขุ่นมัว  มีความทุกข์มีความกังวลใจ  เพราะว่าเมื่อทำความผิดไปแล้ว  ย่อมมีความกลัวที่จะต้องถูกจับไปลงโทษ  หรือถูกประณาม  ความทุกข์ก็เกิดขึ้นมาแล้วภายในใจ   ถ้าถูกจับไป  ก็ต้องถูกลงโทษตามความผิดที่ได้กระทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม  เมื่อทำบาปไปแล้ว ก็จะต้องใช้กรรม  เพียงแต่ว่าผลที่ตามมา จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง  นี่หมายถึงผลภายนอก คือถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง  ถูกประจาน จะช้าหรือจะเร็ว ไม่แน่นอน  แต่เรื่องที่จะปรากฏขึ้นมาอย่างรวดเร็วทันตาเห็น ก็คือความรู้สึกภายในใจของเรา  เมื่อทำความผิดไปแล้ว ใจของเราจะมีอาการกระสับกระส่าย  มีความวุ่นวาย  มีความกังวล  มีความวิตก  เวลาเดินไปเจอใคร ก็จะมีแต่ความหวาดระแวง ว่าเขาจะรู้ เขาจะเห็น แล้วจะไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาจับเรา  นี่แหละคือความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วในใจของเรา 

แต่ถ้ามีแสงสว่างแห่งธรรมคือธรรมะ รู้ว่าการทำบาปมีผลตามมา  เราก็จะไม่กล้าทำบาป เพราะเราไม่ต้องการที่จะมีความรู้สึกไม่ดี  ไม่ต้องการถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง ถูกประจานความชั่ว เมื่อมีแสงสว่างแห่งธรรม  เราก็จะระงับการกระทำสิ่งที่ไม่ดี คือบาปกรรมที่เกิดจากความมืดบอดในใจของเราได้ การเจริญธรรมะ คือคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเสมอ  คิดอยู่เสมอว่าพระพุทธเจ้าสอนให้เราทำอะไร  สอนให้เราละจากการกระทำอะไร  แล้วพยายามทำไป  เช่น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เจริญเมตตาอยู่อย่างสม่ำเสมอ  ให้มีความรู้สึกที่ดีต่อคนทุกๆคน มองเขาเป็นเหมือนเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นคนที่เรารักที่เราชอบ ถึงแม้จะไม่รู้จักเขา  ก็ขอให้มองเขาแบบนั้น  เพราะเมื่อมองเขาแบบนั้นแล้ว  เราจะไม่มีความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท  เราจะไม่คิดเบียดเบียนเขา  แต่จะมีแต่ความปรารถนาดีกับเขา  อยากให้เขามีความสุข  อยากให้เขาพ้นทุกข์ 

แต่ถ้าไม่ได้เจริญเมตตา ปล่อยให้จิตถูกความมืดบอดครอบงำ  เวลาเห็นการกระทำของผู้อื่นที่ไม่ถูกใจ ก็จะเกิดความขุ่นมัวขึ้นมา  เกิดความพยาบาทขึ้นมา  เกิดความไม่พอใจ ไม่ชอบใจขึ้นมา  แล้วก็จะเริ่มคิดร้ายกับเขาขึ้นมา  เพราะไม่ได้เจริญเมตตานั่นเอง  ถ้าเจริญเมตตาแล้ว  เราจะมีแต่ความรู้สึกที่ดีต่อเขา  นอกจากการเจริญเมตตาแล้ว  ทรงสอนให้เจริญอุเบกขาควบคู่ไปด้วย  คือให้มองว่าสัตว์ทั้งหลายนั้น มีกรรมเป็นของๆตน  จะดีจะชั่ว ก็เป็นเรื่องของเขา  เขาดีเขาก็จะได้รับผลดีของเขา  เขาชั่วเขาก็จะต้องได้รับผลชั่วของเขา  ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะต้องไปเป็นผู้ตัดสิน  เป็นผู้ให้คุณให้โทษกับเขา  เขาดีเดี๋ยวเขาก็ได้รับผลดีไปเอง  เขาชั่วเขาก็ได้รับผลชั่วของเขาไปเอง  ยกเว้นว่าเขาเป็นคนที่อยู่ภายใต้การดูแลของเรา เป็นลูกจ้างของเรา  ถ้าเขาเป็นคนดี ทำงานมีความขยันหมั่นเพียร  มีความซื่อสัตย์สุจริต เราก็ควรให้รางวัลเขา  ถ้าเราอยู่ในฐานะที่จะให้เขาได้  ถ้าเขาเป็นคนไม่ดี คนเกียจคร้าน คนทุจริต มีแต่จะคอยลักเล็กขโมยน้อย เราก็จะต้องทำโทษเขา  ในเบื้องต้นเราอาจจะเตือนเขาไว้ก่อน ว่าไม่ควรทำสิ่งเหล่านี้   แล้วก็คาดโทษไว้ว่า  ถ้าทำต่อไปจะต้องมีการทำโทษ ต้องมีการตัดเงินเดือน ถ้าเป็นโทษร้ายแรง ก็จะต้องให้ออกจากงานไป  อย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องทำ 

แต่ไม่ได้เป็นการกระทำที่เกิดจากการขาดความเมตตา  แต่เกิดจากความจำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้น  ถ้ามีความเมตตา  มีอุเบกขา  เวลาเห็นคนอื่นที่เราไม่มีความเกี่ยวข้องด้วย  เขาจะชั่วอย่างไร เขาจะดีอย่างไร   ใจของเราจะเป็นปกติ  คือจะไม่โกรธแค้นโกรธเคืองกับเขา  อยากให้เขาต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไป เราถือว่าเป็นเรื่องของกรรม  เพราะการที่เราไปโกรธแค้นโกรธเคือง  ก็เป็นการสร้างความทุกข์ให้กับใจของเราเอง  สร้างความร้อนให้กับใจของเรา  เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง  ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากความมืดบอดนั่นแหละ  ขาดปัญญา ขาดธรรมะ  ผู้ที่มีธรรมะแล้วย่อมไม่โกรธแค้นโกรธเคืองผู้ใดเลย  แม้ผู้นั้นจะทำสิ่งที่ไม่ดีกับเรา  สร้างความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจให้กับเรา  เราจะไม่อาฆาตพยาบาท เพราะความโกรธความอาฆาตพยาบาท เป็นเหมือนไฟที่จะเผาจิตใจของเราให้มีแต่ความรุ่มร้อน เราถูกเขาทำร้ายทางกายแล้ว ทำไมจึงให้เขาทำร้ายทางใจอีกด้วย  ทางใจนี้เราระงับได้ด้วยธรรมะ  ด้วยน้ำของธรรมะ  คือต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า ตราบใดที่เรายังอยู่ในโลกนี้  เรายังจะต้องรับเคราะห์กรรม ที่เราเคยทำไว้ในอดีต  แม้ไม่ใช่เป็นกรรมในชาตินี้ ก็มีกรรมที่เราเคยทำไว้ในอดีตชาติ  เราอาจจะจำไม่ได้เท่านั้นเอง  แต่เมื่อเกิดเคราะห์กรรมแล้ว  ก็ขอให้เราทำใจให้สงบ  ทำใจให้เป็นปกติ  เป็นอุเบกขา  ดังในบทธรรมที่ได้เจริญไว้ว่า  สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของๆตน  เขาก็มีกรรมของเขา  เราก็มีกรรมของเรา  ในเมื่อวิบากกรรมคือผลของกรรมได้ตามมาถึงแล้ว  เราจะไปปฏิเสธวิบากกรรมเหล่านั้นได้อย่างไร  เราก็ต้องอดทน ใช้ขันติ ยอมรับกรรมอันนั้นไป  แต่เราจะไม่ไปสร้างกรรมอันใหม่ขึ้นมา ด้วยการไปตอบโต้  ไปทำร้ายเขา อย่างนี้เป็นการสร้างเวรสร้างกรรมให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก  เมื่อทำเช่นนี้แล้ว เวรกรรมก็จะไม่มีหมดสิ้น  ดังในพุทธภาษิตที่แสดงไว้ว่า  เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร  เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร 

นี่แหละคือธรรมะ  ถ้ามีธรรมะอยู่ในใจแล้ว  เราจะระงับความโกรธได้    ระงับความอาฆาตพยาบาทได้  ไม่ว่าเขาจะทำอะไรกับเรา รุนแรงขนาดไหนก็ตาม  การไปตอบโต้นั้น เป็นการกระทำที่โง่เขลาเบาปัญญา  ของความมืดบอด  เพราะจะไปสร้างกรรมที่เล็กที่น้อย  ให้กลายเป็นกรรมที่ใหญ่ขึ้นมา  ดังที่เราได้ยินกันว่า น้ำผึ้งหยดเดียว บางทีน้ำผึ้งหยดเดียวนี้สามารถทำให้เกิดสงครามขึ้นมาได้   ก็เพราะแต่ละฝ่ายไม่รู้จักการให้อภัย  ไม่รู้จักการทำใจให้เป็นอุเบกขา  ไม่รู้จักกฎแห่งกรรมนั่นเอง  เมื่อใครมาทำในสิ่งที่เราไม่พอใจ  เราก็จะตอบโต้ไป  แล้วก็ทำให้ลามปาม  ทำให้ผู้อื่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ต้องมารับเคราะห์กรรมตามไปด้วย  เพราะความเห็นอกเห็นใจกัน   เห็นว่าเป็นพรรคเป็นพวกกัน  เป็นญาติเป็นพี่เป็นน้องกัน ก็เลยกลายเป็นสงครามระหว่างครอบครัว  ระหว่างประเทศไป  เพราะความมืดบอด  ขาดธรรมะในใจนั่นเอง 

ถ้ามีธรรมะอยู่ภายในใจแล้ว เราจะเห็นว่าในที่สุดคนเราก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าจะตายแบบไหน  จะตายด้วยการทำบาป  หรือตายด้วยการทำบุญ  เพราะว่าถ้าตายด้วยการทำบาปก็ต้องไปเกิดในอบายต่อไป  แต่ถ้าตายด้วยการทำบุญ  คือมีอุเบกขาธรรม  มีเมตตาธรรม  มีความนิ่งเฉย  มีการให้อภัย  ตายแบบนี้แล้ว ไปดี ไปสู่สุคติ  ได้ไปเกิดเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคล  เป็นพระอรหัต  อรหันต์  อย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ  ดีกว่าตายเพราะฆ่าฟันกัน เพราะจะต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก  เพราะว่ากรรมนี้แหละ เป็นเหตุที่จะทำให้สัตว์ไปเกิดในที่ต่างๆ กรรมคือการกระทำ  ทำบาปก็จะไปสู่อบาย ไปนรก  ทำบุญก็ไปสู่สุคติ  ไปสวรรค์   ดังนั้นอย่าไปเสียดายชีวิตของเรา ขอให้รักษาธรรมะยิ่งกว่าชีวิต แล้วธรรมะจะรักษาเรา ให้แคล้วคลาดจากทุกข์ภยันตรายทั้งหลาย การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้