กัณฑ์ที่
๑๔๓
ความเห็นที่ถูกต้อง
การที่ญาติโยมได้มาประกอบภารกิจทางศาสนา
เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
เป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับตน เพราะเวลาที่มาทำบุญที่วัด
ก็จะได้ฟังเทศน์ ฟังธรรม
ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง
ดังในพระบาลีที่ตรัสไว้ว่า
กาเลนะ
ธัมมัสสวนัง เอตัมมัง
กลมุตตมัง การฟังธรรมตามกาลตามเวลา
เป็นมงคลอย่างยิ่ง
มงคลก็คือความผาสุก
ความเจริญรุ่งเรือง
ความสงบของจิตใจ
ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราทุกๆคนปรารถนากัน
ไม่มีใครต้องการความทุกข์
ความเสื่อมเสีย
ไม่มีใครต้องการความเดือดเนื้อร้อนใจ
แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นเหตุทางด้านดี
คือความเป็นมงคล
หรือเหตุทางด้านไม่ดีคือความอัปมงคล
ความเสื่อมเสียทั้งหลาย
ก็ล้วนเกิดจากเหตุด้วยกันทั้งสิ้น
ถ้ามีเหตุที่ดีพาไป ก็จะนำมาซึ่งสิ่งที่ดี
ถ้ามีเหตุที่ไม่ดีพาไป
ก็จะมีสิ่งที่ไม่ดีตามมา
เราจึงควรสร้างเหตุที่ดีไว้อย่างสม่ำเสมอ
อย่างการมาฟังเทศน์
ฟังธรรมทุกๆวันพระ
หรือทุกๆวันเสาร์วันอาทิตย์
หรือมากกว่านั้นได้ก็ยิ่งดี
ถ้ามีเวลาว่างเราควรฟังเทศน์ฟังธรรมกัน
เราจะได้รับประโยชน์
เพราะอานิสงส์ของการฟังเทศน์
ฟังธรรมนั้น จะทำให้เรามีความเห็นที่ถูกต้อง
มีสัมมาทิฏฐิ
ความเห็นชอบ
ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับจิตใจ
เพราะจะเป็นผู้นำพาจิตใจให้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ถ้าไม่มีความเห็นที่ถูกต้อง
ก็จะทำในสิ่งที่ผิด
ในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่เราปรารถนา
คือไปทำในสิ่งที่สร้างความทุกข์
สร้างความเดือดร้อนให้กับเรา
เราจึงต้องมีความเห็นที่ถูกต้องเป็นเครื่องนำพาไป
เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว
ความคิดของเราก็จะถูกต้อง
การพูด การกระทำของเรา
ก็จะถูกต้อง ความถูกต้องนี้
หมายถึงถูกต้องตามหลักของความเป็นจริง
ที่เกี่ยวกับความสุขและความทุกข์ของเรา ความทุกข์ก็เป็นความจริงอย่างหนึ่ง ความสุขก็เป็นความจริงอย่างหนึ่ง
ทั้ง ๒
เป็นผลที่เกิดจากการกระทำทางกาย
ทางวาจา และทางใจ
และการกระทำที่จะทำให้เกิดทุกข์หรือสุขก็ขึ้นอยู่กับความเห็น
ที่จะเป็นผู้สั่งให้คิด
แล้วก็มีการกระทำทางวาจาและทางกายตามมาต่อไป
ความเห็นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
เห็นผิดก็จะทำให้คิดผิด
พูดผิด กระทำผิด
เห็นถูกก็ทำให้คิดถูก
พูดถูก และกระทำถูก
เราจึงต้องแสวงหาความเห็นที่ถูกต้อง
และไม่มีใครที่จะสามารถให้ความเห็นที่ถูกต้องได้ดีเท่ากับพระพุทธเจ้า
กับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
เพราะท่านเหล่านี้เป็นผู้บรรลุธรรม
ท่านได้ปฏิบัติได้ศึกษา
เกี่ยวกับความจริงทั้งหลาย
ที่มีอยู่ในโลกนี้
ทั้งที่เป็นส่วนที่เห็นได้
สัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น
กาย และสิ่งที่ไม่สามารถเห็นได้
สัมผัสได้ ด้วยตา หู จมูก ลิ้น
กาย
แต่จะต้องสัมผัสได้ด้วยใจ
คือความคิดที่คิดไปตามเหตุ
ตามผล
คือปัญญาเท่านั้นจึงจะสามารถเห็นได้
หรือเข้าใจได้ สิ่งต่างๆในโลกนี้
มีส่วนที่เราทุกคนเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ได้ยินด้วยหู
ลิ้มรสได้ด้วยลิ้น
ดมกลิ่นได้ด้วยจมูก
สัมผัสได้ด้วยร่างกายของเรา
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพอจะรู้
พอจะเข้าใจกันได้
เพราะมีผู้ที่รู้เรื่องเหล่านี้มาก
บิดา มารดาเรา
ก็รู้เรื่องเหล่านี้
พอเราเกิดมา
พ่อแม่ก็จะสอนเราในเรื่องต่างๆ
ที่เราเห็น ได้ยิน ได้ดม
ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสทางกาย
ว่าสิ่งไหนเป็นคุณ
สิ่งไหนเป็นโทษ
นอกจากสิ่งที่เราเห็นได้
สัมผัสได้ ด้วยอายตนะทั้ง ๕
คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้ว
ยังมีสิ่งที่ละเอียดไปกว่านั้น
ที่ไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยอายตนะทั้ง
๕ ก็คือนามธรรมทั้งหลาย
มีนามธรรมบางส่วนที่มนุษย์ธรรมดาอย่างเราอย่างท่าน
สามารถที่จะเข้าถึงได้
เข้าใจได้ เช่นความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์
อย่างความรู้เกี่ยวกับกระแสแม่เหล็กไฟฟ้า
ทำให้เราสามารถผลิตเครื่องมือสื่อสารต่างๆได้ เช่น วิทยุ โทรทัศน์
โทรศัพท์มือถือ
ก็ล้วนใช้กระแสแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นสื่อ
ไว้สำหรับถ่ายทอดข้อมูลต่างๆ
จากเครื่องส่งไปสู่เครื่องรับ
แต่เป็นสิ่งที่ละเอียดไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ทั้งๆที่ขณะนี้ก็มีอยู่รอบตัวเรา
กระแสแม่เหล็กไฟฟ้ามีอยู่รอบตัวเรา
แต่ตา หู จมูก ลิ้น กาย
ของเรา
ไม่สามารถที่จะสัมผัสรับรู้ได้
เพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดกว่า
ต้องใช้ปัญญาเป็นผู้แยกแยะศึกษา
เมื่อได้ศึกษาแล้วก็สร้างเครื่องส่ง
เครื่องรับขึ้นมา
เราจึงมีเครื่องส่ง
เครื่องรับ วิทยุ โทรทัศน์
โทรศัพท์มือถือ
และเมื่อมีเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้แล้ว เราก็สามารถรับ สัมผัส
ได้กับกระแสของแม่เหล็กไฟฟ้า
ถ้าเรามีโทรศัพท์มือถือ
แล้วเปิดเครื่องไว้
ถ้ามีใครส่งสัญญาณมาเข้าเครื่องของเรา
เราก็จะรับได้ เราก็รู้ว่าต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งในอากาศ
ในรอบตัวเรา
ที่เข้าไปในโทรศัพท์มือถือของเรา
ทำให้โทรศัพท์มือถือของเราส่งเสียงร้อง
ส่งเสียงสัญญาณบอก
ว่ามีคนต้องการติดต่อกับเรา
แต่ถ้าเรามองด้วยอายตนะ
ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย
เราจะไม่สามารถเห็นได้เลย
เพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
สิ่งที่ละเอียดขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
ที่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออันใดจะสามารถมาวัด
มารับรู้ได้
ก็คือจิตใจของเรา
ที่ละเอียดยิ่งกว่ากระแสของแม่เหล็กไฟฟ้าเสียอีก
เป็นสิ่งที่วัดได้ด้วยจิตใจเท่านั้น
จิตใจจะเป็นตัววัดหรือรับรู้จิตใจของเรา
เครื่องมือที่จะทำให้จิตใจสามารถรับรู้เรื่องราวของจิตใจได้
ก็คือการปฏิบัติธรรม
นั่งสมาธิ เจริญปัญญา ที่จะทำให้เราเข้าถึงภาวะหรือธรรมชาติของจิตใจของเรา
ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรก
ที่สามารถเข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงของจิตใจได้
พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าร่างกายกับจิตใจเป็นคนละส่วนกัน
อย่างพวกเรานี้
เรายังไม่รู้จักจิตใจของเรา
เรายังคิดว่าจิตใจของเราเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย
ถ้าร่างกายนี้ดับสลายไป
จิตใจก็สลายไปด้วย
คือเห็นว่าไม่มีการเกิดใหม่
เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้
เพราะเมื่อร่างกายดับสลายไปแล้ว
การรับรู้ต่างๆก็สูญไปด้วย
เพราะเวลาไปงานศพ
เราจะเห็นคนตายนอนนิ่งอยู่เฉยๆ
เราจะพูดอะไร เขาก็ไม่ได้ยิน
จะไปจับเนื้อต้องตัวเขา
เขาก็จะไม่มีปฏิกิริยารับรู้
เราก็เลยคิดว่า
ความรับรู้ก็หมดไปกับการดับสลายของร่างกาย
แต่นี่เป็นความเข้าใจผิด
เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด
ถ้ามีความเห็นผิดแบบนี้แล้ว
ก็จะปฏิเสธการไปเกิดใหม่
เพราะไม่เห็นธรรมชาติของจิต
ซึ่งความเป็นจริงแล้ว
จิตใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย
เมื่อร่างกายดับสลาย
จิตใจก็ไปสู่ร่างใหม่
ไปหาร่างใหม่ ไปเกิดใหม่
สุดแท้แต่บุญกรรมจะพาไป
ถ้าบุญพาไป
ก็ไปเกิดในภพชาติที่ดี เกิดเป็นมนุษย์
เป็นเทพ เป็นพรหม
เป็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ถ้าบาปกรรมพาไป
ก็ต้องไปเกิดในภพภูมิที่ต่ำ
ในอบาย ไปเป็นเดรัจฉาน
เป็นเปรต เป็นอสุรกาย
เป็นสัตว์นรก
นี่เป็นวิถีของจิตใจ
ที่หลังจากแยกออกจากร่างกายแล้ว
จะต้องดำเนินต่อไป
แต่สำหรับคนทั่วๆไปแล้ว
จะไม่มีความสามารถที่จะรู้
จะเข้าใจเรื่องราวของจิตใจได้เลย
เพราะไม่เคยปฏิบัติธรรมนั่นเอง
ไม่มีเครื่องมือที่จะทำให้เห็น
ให้เข้าใจถึงธรรมชาติของจิตใจ
เลยทำให้เกิดการปฏิเสธเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด
เรื่องบุญเรื่องกรรม
เรื่องนรก เรื่องสวรรค์กัน
นี่เป็นเพราะความเห็นผิด
มิจฉาทิฏฐิ
ทำให้คิดไปอย่างนั้น
เมื่อคิดไปอย่างนั้นแล้ว
ก็เลยปฏิเสธการทำบุญ
การรักษาศีล การปฏิบัติธรรม
เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องงมงาย
ก็เลยทำแต่สิ่งที่ตนเองต้องการ
สุดแท้แต่อารมณ์จะพาไป
วันไหนอารมณ์ดีก็จะทำดี
พูดดี คิดดี วันไหนอารมณ์ไม่ดีก็จะคิดร้าย
พูดร้าย ทำร้าย โดยที่ตัวเองไม่รู้ว่า
การกระทำทั้ง ๒ ชนิดนี้
ไม่ว่าดีหรือร้าย
ล้วนมีผลที่จะตามมาต่อไป
เป็นการสะสมผลดีและผลชั่วที่จะตามมา
เหมือนกับนำเงินไปฝากไว้ในธนาคาร เมื่อฝากไปเรื่อยๆ
จำนวนเงินในธนาคารย่อมมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ
ในทางตรงกันข้ามถ้าไปกู้หนี้ยืมสินจากธนาคารไปเรื่อยๆ
ยอดของหนี้ก็จะมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ
เราก็รู้อยู่แล้วว่าผลของการมีเงินฝาก
กับผลของการมีหนี้นั้น
ต่างกันอย่างไร
คนที่มีเงินฝากในธนาคารมาก
ย่อมมีความสุขใจ
มีความมั่นใจ มีความสบายใจมาก
แต่คนที่มีหนี้มากในธนาคาร
ย่อมมีความทุกข์ใจ
มีความกังวลใจ มีความเดือดเนื้อร้อนใจมาก
นี่ก็เป็นเช่นเดียวกันกับการกระทำของเรา
เวลากระทำความดี เช่น ทำบุญให้ทาน
รักษาศีล ปฏิบัติธรรม
เราก็จะมีความรู้สึกที่ดี
มีความสุขใจ มีความสบายใจ
มีความอิ่มเอิบใจ
ในทางตรงกันข้าม ถ้าไปกระทำความชั่ว
ทำบาป
เราก็จะมีความวุ่นวายใจ
กังวลใจ เดือดร้อนใจ
นี่เป็นผลที่เราสามารถรับรู้ได้ในปัจจุบัน ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
แต่อีกส่วนหนึ่งนั้น
เราจะไม่รู้ได้เลย
เพราะเราไม่มีปัญญาพอ
ที่จะไปรับรู้เรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดของดวงจิตดวงใจของเรา
เราจึงต้องอาศัยคนอย่างพระพุทธเจ้า
อย่างพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ผู้ปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงของใจ
คือสามารถมองเห็นตัวของจิตใจได้อย่างชัดแจ้ง
เห็นพฤติกรรมของจิตใจว่า
เมื่อทำอะไรไปแล้ว
ผลอันใดจะเกิดขึ้นกับจิตใจดวงนั้น
และเมื่อร่างกายแตกสลายไปแล้ว
จิตใจจะไม่สลายไปกับร่างกาย
แต่จะต้องเดินทางต่อไป
ไปสู่ภพหน้าชาติหน้าต่อไป
เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกเห็นได้อย่างชัดแจ้ง
ไม่มีอะไรเคลือบแคลงสงสัยอยู่ในใจ
ท่านถึงกลายเป็นผู้รู้ขึ้นมา
พุทธะแปลว่าผู้รู้
พระพุทธเจ้าหลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้ว
ก็ทรงประกาศว่าพระพุทธองค์คือพุทธะ
คือผู้รู้ รู้อะไร
ก็รู้เรื่องจิตใจนี้แหละเป็นตัวสำคัญ
แล้วก็เรื่องอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับจิตใจ
เป็นเรื่องรองลงมา
เมื่อรู้เรื่องจิตใจแล้ว
รู้ว่าจิตใจเป็นต้นเหตุอันสำคัญ
ที่จะนำมาซึ่งภพชาติต่างๆ
ไม่ว่าสูงหรือต่ำ
และความสุขและความทุกข์
ที่มีอยู่ในใจ ทรงรู้วิธีที่จะทำให้ใจผลิตหรือสร้างแต่ภพชาติที่ดี
สร้างแต่ความสุข เพราะจิตใจเป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ สามารถบังคับได้
ให้เป็นไปในทิศทางที่เราต้องการจะไปได้
แต่เราต้องมีความเห็นที่ถูกต้องเสียก่อน
ต้องเห็นว่าหลังจากที่ตายไปแล้ว
ร่างกายก็จะสลายไป
กลับคืนสู่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ
แต่จิตใจของเรายังต้องไปต่อ
จะไปสูง ไปต่ำ
ก็ขึ้นอยู่กับธรรมที่เราปฏิบัติกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรม ๓
ประการ ก็คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา ธรรมทั้ง
๓ นี้จะเป็นตัวชี้
ว่าเราจะไปสูง หรือไปต่ำ
ถ้าเราไม่มีศีล
ไม่รักษาศีล ๕ เลย
เวลาตายไป ก็ต้องไปสู่อบาย
คือไปเกิดในภพของเดรัจฉาน
ของเปรต ของอสุรกาย และของสัตว์นรก
แต่ถ้าเรารักษาศีล ๕ กัน
ก็จะไม่ต้องไปเกิดในอบาย
แต่จะไปเกิดในสุคติ
ได้แก่ภพของมนุษย์และสวรรค์ ที่อยู่ของเทวดาทั้งหลาย
นี่คืออานิสงส์ของการรักษาศีล
ดังที่ได้แสดงไว้เบื้องต้น
ตอนที่ญาติโยมขอศีลกัน
เวลาให้ศีลเสร็จพระจะต้องแสดงอานิสงส์ของศีลให้ฟัง
และหนึ่งในอานิสงส์ของศีลนั้นก็คือ
สีเลนะ สุคติง ยันติ
ศีลเป็นเหตุที่จะนำพาไปสู่สุคติ
ไปเกิดเป็นมนุษย์
เป็นเทวดา แต่ศีลอย่างเดียวจะไม่สามารถทำให้ไปเกิดในภพที่สูงกว่านั้นได้
คือภพของรูปพรหม และอรูปพรหม
และภพของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ถ้าต้องการจะขึ้นไปสูงกว่านั้นก็จะต้องปฏิบัติธรรมอีก
๒ ขั้น คือขั้นสมาธิและปัญญา
ถ้าปฏิบัติขั้นสมาธิ
ได้สมาธิ ได้ฌาณ
ก็จะไปเกิดในสวรรค์ชั้นพรหม
๒ ชั้นด้วยกัน ชั้นรูปพรหม
และอรูปพรหม ขึ้นอยู่กับสมาธิที่ได้ปฏิบัติถึง
ถ้าได้บรรลุถึงรูปฌาณทั้ง
๔
เมื่อตายไปก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นรูปพรหม
ถ้าได้บรรลุถึงอรูปฌาณทั้ง
๔ ก็จะได้ไปเกิดในชั้นอรูปพรหม
แต่ถ้าปฏิบัติเพียงศีล
และสมาธิ ก็จะไปได้สูงสุดแค่ชั้นอรูปพรหมเท่านั้น
ภพทั้ง ๓ นี้คือ
ภพของมนุษย์กับเทวดาก็ดี
รูปพรหมก็ดี อรูปพรหมก็ดี
ก็ยังอยู่ภายใต้กฎของความไม่เที่ยง
เมื่อได้ทำบุญ
ก็เหมือนกับได้เติมน้ำมันใส่รถยนต์
เมื่อรถยนต์มีน้ำมัน
เราก็สามารถขับรถยนต์ให้พาเราไปในที่ๆต้องการจะไปได้
แต่เมื่อน้ำมันหมด
เราก็ไม่สามารถที่จะขับรถคันนั้นต่อไปได้
บุญที่เราทำ เช่น
การรักษาศีลก็ดี
หรือการนั่งสมาธิก็ดี
ก็เป็นบุญที่มีการเสื่อมสลาย
มีหมดไปได้
ถ้าไม่ทำอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเราได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นพรหม
และได้เสวยบุญของสวรรค์ชั้นพรหมหมดไป
จิตก็จะเสื่อมลงมา
ลงมาสู่สวรรค์ชั้นเทพ
และเมื่อบุญของสวรรค์ชั้นเทพหมดไป
ก็จะเสื่อมลงมาในภพของมนุษย์
ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก
และเมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์
ก็เหมือนกับขับรถเข้าไปในสถานีบริการ
ที่จำหน่ายน้ำมัน
ภพของมนุษย์ก็เป็นเหมือนกับสถานีจำหน่ายน้ำมัน
เป็นที่ที่เราสามารถเติมบุญเติมกุศล
เพื่อจะได้กลับขึ้นไปสู่ภพที่สูงขึ้นไปได้อีก
นี่เป็นเรื่องที่มีขึ้นมาก่อนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้
แล้วทรงนำธรรมที่วิเศษกว่าศีลกับสมาธิมาสั่งสอน
ในสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้
คนเราจะบรรลุได้สูงสุดก็เพียงขั้นอรูปพรหมเท่านั้นเอง
แล้วยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้ง
๓ นี้ต่อไปอีก คือในกามภพ
รูปภพ และอรูปภพ
เพราะว่าสมาธิไม่ได้เป็นตัวที่จะไปทำลายเชื้อ หรือต้นเหตุที่ทำให้ไปเกิด
ไปเวียนว่ายในภพต่างๆ
ศีลกับสมาธิเป็นเพียงแต่เป็นเครื่องช่วยหนุนให้ไปเกิดในสุคติ
ให้ไปเกิดในภพของมนุษย์
ของเทวดา ของพรหมทั้งหลาย
แต่ไม่สามารถพาให้ไปสู่ภพที่สูงกว่านั้น
หรือสภาพของจิตที่เหนือกว่านั้นได้
ที่เรียกว่าโลกุตตรธรรม
คือธรรมที่อยู่เหนือโลก
อยู่เหนือการเวียนว่ายตายเกิด
อันนี้จะต้องอาศัยปัญญาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้
ที่ทรงเห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง
ปราศจากตัวตน เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด
เช่น ขันธ์ ๕ ที่มีอยู่กับเรา
คือ รูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้
ถ้าเป็นปุถุชนคนธรรมดาก็จะยึดติดกับขันธ์
๕ และหลงคิดว่าขันธ์ ๕
นี้เป็นตัวเป็นตน เช่น
ร่างกายของเราก็คิดว่าเป็นตัวเรา เป็นของๆเรา
สังขาร
ความคิดปรุงแต่ง
ก็คิดว่าเป็นความคิดของเรา
เวทนา
ความรู้สึก สุข ทุกข์
ก็เป็นความรู้สึกของเรา
อย่างนี้เป็นต้น
เราก็เลยหลงยึดติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้
ไม่ปล่อยไม่วาง
เมื่อตายไปจากร่างกายนี้
เราก็ไปหาร่างกายอันใหม่อีก
เพราะความผูกพัน
ความยึดติดกับสิ่งเหล่านี้
เหมือนกับคนที่ติดยาเสพติด
เมื่อเสพยาเสร็จแล้ว
เมื่อฤทธิ์ยาหมดแล้ว
ก็เกิดความอยากที่จะเสพอีก
ก็ต้องไปหายาใหม่มาเสพอีก
ขันธ์ ๕
ก็เป็นสิ่งที่จิตของพวกเรายึดติดกัน
เพราะไม่มีปัญญา
ถ้าได้พบพระพุทธศาสนา
ก็จะได้รับการสั่งสอนให้พิจารณาให้เห็นว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็น รูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่ว่าเป็นรูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ ทั้งหลาย
สิ่งต่างๆ
เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
เป็นสิ่งที่ให้ความทุกข์กับเราถ้าไปยึดไปติด
เป็นสิ่งที่ไม่ตัวไม่มีตน
ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
เป็นธรรมชาติ เหมือนกับ
ดิน น้ำ ลม ไฟ
ร่างกายของเราก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง
แต่เพราะความหลงเลยทำให้เราไปยึดไปติด
มีอุปาทานยึดติดอยู่ในขันธ์
๕ เมื่อมีอุปาทาน
มีความยึดติดแล้ว
ก็เลยมีความทุกข์
มีความว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่ตลอดเวลา เพราะต้องคอยรักษาในสิ่งที่รักษาไม่ได้
ก็คือร่างกายของเรา
ทุกคนเกิดมาอยากจะอยู่ไปตลอด
ไม่อยากจะตาย แต่ไม่มีใครสามารถรักษาร่างกายนี้ไม่ให้ตายได้
ก็เลยต้องมีแต่ความทุกข์
ทุกข์ทั้งในขณะที่มีชีวิตอยู่
และทุกข์ในขณะที่กำลังจะตาย
เมื่อตายไปแล้วก็ทุกข์อีก
เพราะยังจะต้องไปเกิดอีก
เมื่อไปเกิดอีกก็ต้องไปแก่
ไปเจ็บ ไปตายอีก
เป็นวัฏฏะ
เป็นแบบนี้ไปไม่มีที่สิ้นสุด
เพราะไม่มีความเห็นที่ถูกต้อง
ก็คือไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรม
ไม่มีปัญญาในระดับโลกุตรธรรม
ที่เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่าง
คือสภาวธรรมทั้งหลายในโลกนี้
ล้วนเป็นไตรลักษณ์
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด
ไม่มีตัวตน
นี่แหละคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้
แล้วนำมาสั่งสอนพวกเรา
คำสอนของพระพุทธเจ้าจึงเป็นโลกุตตรธรรม
เป็นธรรมเหนือโลก
เพราะถ้าผู้ใดเข้าถึงธรรมนี้ได้แล้ว
จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
ในเบื้องต้นก็จะตัดภพชาติให้น้อยลง
เช่นระดับพระอริยเจ้าขั้นแรกที่เรียกว่าโสดาบัน
จะเป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม
คือเห็นว่าขันธ์ ๕
เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา ไม่มีตัว
ไม่มีตน
เมื่อเห็นแล้วก็ปล่อยวาง
ร่างกายจะเป็นอย่างไร
ก็ยอมรับสภาพของความเป็นจริงของร่างกาย
ถึงเวลาจะตายก็ยอมรับว่าเป็นธรรมดา
เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นธรรมดา
เวลาแก่ก็เป็นธรรมดา
ไม่เดือดร้อน ยอมรับความเป็นจริงเหมือนกับเรายอมรับ
เวลาที่ฝนตกแดดออก
เราก็ไม่ไปวุ่นวายกับฝนตกแดดออก
เราก็ไม่เดือดร้อน
แต่คนที่ไปวุ่นวายกับเรื่องฝนตกแดดออก
เขาก็ต้องเดือดร้อน
นี่คือลักษณะของการปล่อยวาง
ปล่อยวางได้ด้วยความเข้าใจ
คือปัญญา
คือเห็นไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕
เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ ว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา เมื่อเห็นแล้วก็จะปล่อยวาง
เมื่อปล่อยวางแล้วก็จะบรรลุเป็นพระโสดาบันขึ้นมา พระโสดาบันนี้ก็จะมีภพชาติเหลือไม่เกิน
๗ ชาติเป็นอย่างมาก
และจะไม่ไปเกิดในอบายเลยในภพชาติทั้ง
๗ นี้ ไม่ว่าจะเป็นเดรัจฉาน
เปรต อสุรกาย หรือสัตว์นรก
ไม่ใช่เป็นภพที่พระโสดาบันจะไปเกิดอีกต่อไป
และถ้าได้ปฏิบัติธรรมขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
คือลดละความยินดีในกาม
ในกามสุข คือพิจารณาดูร่างกายของคนเรา
ว่าเป็นของไม่สวยงาม
ใต้ผิวหนังยังมีสิ่งแปลกๆ
ที่เรายังไม่เห็นกันอีกเยอะ
เช่น อวัยวะต่างๆ
ซึ่งเรามักจะไม่ค่อยมองกัน
ถ้าเราพิจารณาอยู่เรื่อยๆ
ต่อไปก็จะเกิดความเบื่อหน่าย
คลายความกำหนัดยินดีในร่างกาย
ก็จะปล่อยวางกามราคะ
คือความยินดีในกาม
จะไม่แสวงหาความสุขจากการเสพกามอีกต่อไป
ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะบรรลุธรรมขั้นอนาคามี
ก็จะไม่กลับมาเกิดในกามโลกอีกต่อไป
เพราะจิตของพระอนาคามีได้เข้าสู่ขั้นรูปฌานแล้ว
ถ้าท่านตายไปและยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านก็จะไปเกิดในสวรรค์ชั้นสุทธาวาส
มีอยู่ ๕ ชั้นด้วยกัน
แล้วก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ต่อไป
สิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิดในสวรรค์ชั้นพรหมนั้น
แต่ถ้ายังเป็นมนุษย์อยู่และปฏิบัติธรรมต่อไป คือเจริญให้เห็นว่าไม่มีอะไรเป็นตัวตน แม้กระทั่งจิตของผู้ที่กำลังแสดงธรรมนี้อยู่
หรือผู้ที่กำลังรับฟังอยู่นี้
ก็ไม่ใช่ตัวตน สักแต่ว่าเป็นธรรมชาติ
เป็นธาตุรู้อย่างหนึ่ง
จิตเป็นธาตุรู้
เพียงแต่รู้ แต่เพราะความหลงจึงทำให้จิตคิดว่าเป็นตัวเป็นตน
ถ้าสามารถรู้ทันความหลงนี้ได้
ก็เท่ากับได้ทำลายอวิชชาความไม่รู้จริง
ไม่รู้ธรรมชาติที่แท้จริงของจิตว่าเป็นอย่างไร
ถ้าทำได้ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์
เมื่อทำลายอวิชชาที่มีอยู่ในใจได้แล้ว
ก็จะไม่มีตัวที่จะไปสร้างเหตุ
คือความอยากให้ไปเกิดในภพชาติต่างๆ
ภพชาติก็จะหมดสิ้นไป
นี่แหละก็คือธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ซึ่งไม่มีสอนในศาสนาอื่น มีอยู่ในศาสนาเดียวเท่านั้น ก็คือพระพุทธศาสนา เพราะสอนในเรื่องของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าผู้ใดได้เข้าถึงไตรลักษณ์นี้แล้ว และเข้าใจไตรลักษณ์ที่มีอยู่ในสภาวธรรมทั้งหลาย ทุกสัดทุกส่วน ก็จะสามารถตัดการยึดมั่นถือมั่นในตัวในตนได้ เมื่อไม่มีตัวมีตนแล้วก็จะไม่มีเหตุที่จะพาให้ไปเกิดอีกต่อไป ผู้นั้นก็หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้อย่างราบคาบ ได้อย่างถาวร นี่แหละก็คือผลที่เราจะสามารถประสบพบเห็น บรรลุถึงได้ จากการศึกษาเล่าเรียน ฟังเทศน์ฟังธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะจะทำให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องแล้วก็จะนำพาเราไปสู่การคิด การพูด การกระทำที่ถูกต้อง จะพาไปสู่การทำบุญให้ทาน การรักษาศีล การนั่งสมาธิ การเจริญปัญญา การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้