กัณฑ์ที่ ๑๔๔       ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕

บริโภคนิยม

 

วันนี้เป็นวันพุธ แรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ เป็นวันสิ้นปีมะเมีย วันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่  ตามปฏิทินทางจันทรคติ  พรุ่งนี้ก็จะเป็นวันปีใหม่ วันแรกของปีมะแม  แต่คนส่วนใหญ่ในสมัยนี้จะไม่ทราบกัน จะไม่รู้กันว่าวันนี้เป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่  เพราะสมัยนี้เราใช้วิธีนับวันปีใหม่อีกระบบหนึ่ง คือทางปฏิทินทางสุริยคติ  เป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ  พร้อมกับการเข้ามาของลัทธิบริโภคนิยม วัตถุนิยม ซึ่งเป็นเหตุทำลายจิตใจของพุทธศาสนิกชน ผู้มีความเชื่อในธรรมนิยมมาแต่ดั้งเดิม แต่เมื่อถูกกระแสของวัตถุนิยม บริโภคนิยมไหลเข้ามา เลยทำให้กระแสของธรรมนิยมค่อยๆอ่อนแรงลงไป  เพราะว่าจิตใจของคนเราทุกคน มีเครื่องรองรับกระแสของบริโภคนิยม ของวัตถุนิยมกันอยู่แล้ว นั่นก็คือกิเลสตัณหา  โมหะอวิชชา ซึ่งมีความยินดี มีความชอบในเรื่องของการบริโภคกามต่างๆ  การมีวัตถุสมบัติข้าวของต่างๆ  จึงเป็นการง่ายที่ธรรมนิยม คือความยึดมั่น อยู่ในคุณธรรมคุณงามความดีทั้งหลายเริ่มเสื่อมไป  เริ่มอ่อนไป 

ดังที่เราสามารถเปรียบเทียบเห็นได้ อย่างในสมัยปู่ย่าตายายของเรา กับในสมัยนี้ จะเห็นถึงความเสื่อมเสียในด้านศีลธรรม มีอยู่มากเลยทีเดียว  ในสมัยโบราณทุกๆวันพระ จะมีการมาวัดทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ชำระขัดเกลากิเลสตัณหา โมหะ อวิชชา ให้เบาบางลงไป  แล้วดำเนินชีวิตไปตามแนวทางของธรรมะ คือมีความจริงใจ  มีความอดทนอดกลั้น  มีการเสียสละ  ซึ่งเป็นธรรมประจำจิตใจของผู้ที่มีธรรมะอยู่ในใจ  แต่ทุกวันนี้ธรรมทั้ง ๔ ประการนี้  คือสัจจะ ความจริงใจ ความซื่อตรง ขันติ ความอดทน  ทมะ ความอดกลั้น และจาคะ ความเสียสละ เริ่มสูญสลาย ห่างออกไปจากจิตจากใจ ของคนสมัยนี้  เพราะอำนาจของวัตถุนิยม บริโภคนิยม ได้เข้ามาครอบงำจิตใจ  ทำให้ไม่เห็นความสำคัญของคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ 

คนเราสมัยนี้เวลาคบค้าสมาคมกัน จึงไม่ได้คบกันด้วยความจริงใจ  แต่คบกันด้วยผลประโยชน์มากกว่า   ถ้ามีผลประโยชน์ก็จะคบด้วย  ดังนั้นคนที่มีเงินมีทอง  มีตำแหน่ง  มีอำนาจวาสนา จึงกลายเป็นของหอมไป  ทั้งๆที่ไม่แน่ใจว่าการขึ้นมาสู่ความมั่งคั่ง  ความมีอำนาจวาสนานั้น  เขาขึ้นมาด้วยวิธีใด  ถ้าขึ้นมาด้วยวิธีที่ทุจริต ก็ไม่น่าจะเป็นคนที่มีกลิ่นหอม เป็นคนที่สะอาดบริสุทธิ์ ที่เราควรจะชื่นชมยินดีด้วย  แต่เพราะอำนาจของความหลง  ความไม่รู้ถึงความดีงามว่าเป็นอย่างไร  ว่าคนดีที่แท้จริงเป็นอย่างไร  เราจึงมักแสวงหาคนที่มีอำนาจวาสนา  มีเงินทองบารมีทั้งหลาย  โดยไม่คำนึงว่าเขาได้ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งนี้ได้อย่างไร  เขาฆ่า เขาโกง เขาทำลายชีวิตของผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่น  สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับผู้อื่นมากน้อยเท่าไร เราไม่รู้กัน  เพราะเราไม่มองที่เหตุ ที่นำมาสู่ความมั่งคั่ง ความมีอำนาจของเขา เรามองเพียงแต่ว่าเขามีอำนาจ  เขามีเงินทอง  ถ้าได้อยู่ใกล้ชิดเขา ก็จะได้รับส่วนบุญจากเขาบ้างเท่านั้นเอง 

นี่เป็นการคิดของคนที่มืดบอด มีความหลงครอบงำจิตใจ  ไม่เห็นคุณธรรมว่าเป็นสิ่งสำคัญ  สังคมในโลกเราทุกวันนี้ จึงมีแต่ความวุ่นวาย  มีแต่ความเดือดร้อน  มีแต่การเบียดเบียนกัน  เพราะทุกคนก็มุ่งแสวงหาเงินทอง หาอำนาจวาสนากัน เพื่อเป็นเครื่องดึงดูด ให้มีบริษัท มีบริวาร   มีการสรรเสริญเยินยอ  เลยกลายเป็นสังคมที่มีแต่การเอารัดเอาเปรียบกัน  มีแต่การเห็นแก่ตัว  แทนที่จะมีจาคะการเสียสละ   กลับกลายเป็นสังคมปากกัดตีนถีบ  ตัวใครตัวมัน  ปลาใหญ่กินปลาเล็กไป  เป็นสังคมที่ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร  ทั้งๆที่มีวัตถุ  ข้าวของ เงินทองมากมายก่ายกอง แต่ไม่มีความสุข เพราะว่าสิ่งเหล่านี้  ไม่ได้เป็นเหตุที่จะนำความสุข มาให้  นอกจากไม่ได้นำความสุขมาให้แล้ว  ยังกลับนำความทุกข์ ความ วุ่นวายใจมาให้เสียอีก   เพราะเมื่อลองได้ไปยึดติดกับวัตถุข้าวของแล้ว  ก็จะเป็นเหมือนคนพิการไป ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ  ซึ่งมีแต่จะสูญหมดไปเรื่อยๆ ตามกาลตามเวลา  ตามการใช้งาน  กลายเป็นเครื่องผลักดัน  กดดัน ให้ไปแสวงหามาใหม่อีก  เมื่อแสวงหาด้วยความสุจริตไม่ได้ ก็ต้องหาด้วยความทุจริต ทั้งๆที่ความสุขที่แท้จริงของคนเรานั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีวัตถุข้าวของ อำนาจวาสนา บารมีมากมายก่ายกองเลย  เพียงแต่มีปัจจัย ๔ ไว้ดูแลรักษาร่างกาย แล้วก็มีคุณธรรมความดีไว้รักษาจิตใจ ให้กำราบกิเลสตัณหา ความอยาก ความโลภทั้งหลายให้เบาบางลงไป  เท่านี้ชีวิตของคนเราก็มีความสุขแล้ว 

แต่เพราะสมัยนี้ตกอยู่ในกระแสของลัทธิวัตถุนิยม บริโภคนิยม ที่แรงมาก  จึงทำให้กระแสธรรมต้านไม่อยู่ ในสมัยโบราณ วันหยุดราชการ  จะตรงกับวันพระ  วันโกน เพื่อจะได้ให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ได้เข้าวัด เพื่อประกอบคุณงามความดี ชำระขัดเกลากิเลสตัณหา อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ของความวุ่นวายใจ ให้เบาบางลงไป  และเมื่อได้ขัดเกลาแล้ว จิตใจก็จะมีความสุข มีความปีติ  มีความอิ่ม  จึงไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องดิ้นรนทุรนทุราย แสวงหาวัตถุข้าวของต่างๆ  หาอำนาจวาสนาต่างๆ มาเป็นเครื่องให้ความสุขกับใจ เหมือนในสมัยนี้  เพราะไม่ใช่เป็นเครื่องที่ให้ความสุข  แต่เป็นยาพิษที่จะคอยทำลายจิตใจ ให้มีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัว มีแต่ความทุกข์ ความกังวลใจ ความกระหาย ความอยาก ที่จะมีให้มากเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ  ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าเราไปเปลี่ยนวันหยุดงานของเรา  แทนที่จะหยุดวันโกนวันพระ  เรากลับไปหยุดวันเสาร์วันอาทิตย์  เพื่อตามกระแสของโลกาภิวัตน์ ของประเทศอื่น ที่นับถือศาสนาอื่น  เราไปตามเขา เราจึงขาดทุน  แต่เขาไม่ขาดทุน  เพราะเขาหยุดวันเสาร์วันอาทิตย์ เขาก็ยังเข้าโบสถ์เข้าวัดของเขาได้  ยังไปฟังเทศน์ฟังธรรม ไปทำบุญไปทำทานได้  สังคมของเขาจึงไม่ค่อยเละเทะเหมือนสังคมเรา  ถึงแม้ว่าเขาจะมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัตถุ  แต่เขาก็มีระเบียบ มีวินัย  เรื่องการคดโกงคอรัปชั่นของเขา ก็ไม่มากมายก่ายกองเหมือนสังคมบ้านเรา 

นี่ก็เป็นเพราะว่าเขายังได้เข้าหาคำสอนของศาสนาเขา  ซึ่งส่วนใหญ่ก็สอนเหมือนๆกัน คือสอนให้คนเรามีความซื่อสัตย์สุจริต  ให้ตั้งมั่นอยู่ในการประกอบสัมมาชีพ  ไม่ทำผิดศีลผิดธรรม  ให้มีความเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  มีความจริงใจต่อกัน  ให้คบกันด้วยน้ำใจ คบกันด้วยความเมตตากรุณา  ไม่ได้คบกันเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ  สังคมเขาถึงแม้จะเจริญทางด้านวัตถุ  เจริญทางด้านบริโภค เขาก็ยังมีสิ่งที่คอยควบคุมการเจริญเติบโตของบริโภคนิยม วัตถุนิยมนี้ ให้อยู่ในขอบเขตที่ดีงาม  คือสังคมยังอยู่กันได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  แต่สังคมของเรากลับเป็นตรงกันข้าม  เพราะว่าเดี๋ยวนี้วันพระ วันโกนก็ไม่ได้ตรงกับวันหยุดงาน  คนที่จะมาวัดเพื่อขัดเกลากิเลสตัณหา มาฟังเทศน์ฟังธรรมเพื่อให้เกิดสติ เกิดปัญญาขึ้นมา ก็มาไม่ได้  และเมื่อถึงวันหยุดวันเสาร์อาทิตย์ ก็ไม่ค่อยมีวัดที่จะทำกิจกรรมเหล่านี้กัน  เพราะวัดส่วนใหญ่จะทำแต่วันพระวันเดียว 

เวลาญาติโยมมีเวลาว่างในวันเสาร์วันอาทิตย์  อยากจะเข้าวัดเพื่อไปขัดเกลากิเลสตัณหา  ไปฟังเทศน์ฟังธรรม ก็จะไม่มีที่ไปมากนัก  เพราะวัดส่วนใหญ่จะไม่มีกิจกรรมทางศาสนา ในวันหยุด วันเสาร์ วันอาทิตย์  ยกเว้นถ้าวันเสาร์วันอาทิตย์  ไปตรงกับวันพระเข้า ถึงจะมีกิจกรรมทางศาสนา เมื่อเป็นเช่นนั้นการอบรมบ่มนิสัยจิตใจ  การขัดเกลาจิตใจ ชำระกิเลสตัณหาในใจของชาวพุทธเรา จึงน้อยลงไปเรื่อยๆ   และในทางตรงกันข้าม การสะสมกิเลสตัณหาก็มีเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ  เลยทำให้จิตใจของคนสมัยใหม่นี้ กลายเป็นจิตใจที่มีแต่กิเลสตัณหา  แต่เขาไม่ได้บอกว่าเป็นกิเลสตัณหา  เขากลับว่าเป็นความทะเยอทะยาน  เป็นความขยัน  ความก้าวหน้า  เพราะคนเราถ้าไม่โลภ ไม่อยากแล้ว สังคมจะก้าวหน้าได้อย่างไร  เมื่อทุกคนอยู่เฉยๆ ไม่ค้นคว้า ไม่ประดิษฐ์ สิ่งต่างๆใหม่ๆขึ้นมา  ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด  เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบนั่นเอง  เพราะไปยึดติดอยู่กับความเจริญของวัตถุข้าวของต่างๆ  คิดว่าถ้ามีวัตถุต่างๆมาก  เช่นมีรถยนต์  มีเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ  มีเครื่องปรับอากาศ  พัดลม วิทยุ  โทรทัศน์  สิ่งของต่างๆเหล่านี้แล้ว  หมายถึงว่ากำลังมีความเจริญ  ซึ่งเป็นเพียงความเจริญทางด้านวัตถุ  แต่จิตใจของเราเป็นอย่างไรบ้าง  จิตใจของเรายังรักษาความเป็นมนุษย์ได้หรือไม่   จิตใจของเรายังละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ละเว้นจากการลักทรัพย์  ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี  ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ  ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา  และอบายมุขต่างๆ ได้หรือไม่  หรือว่าจิตใจของเราเดี๋ยวนี้ไม่มีความสนใจในเรื่องเหล่านี้แล้ว 

โดยเห็นว่าศีลธรรมเป็นของสร้างขึ้นมา เพื่อหลอกให้คนทำความดี  แต่ผลดีผลเสียที่จะตามมาต่อไป ในภพหน้าชาติหน้านั้นไม่มี  เพราะไม่เห็นว่า เมื่อตายไปแล้ว จะไปเกิดในภพหน้าชาติหน้าได้อย่างไร  เพราะเห็นเพียงแต่ร่างกายของเราเท่านั้นเอง  เลยเห็นว่าร่างกายเมื่อตายไปแล้ว  เมื่อเอาไปเผา ก็กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่าน เหลือแต่เศษกระดูกอยู่เล็กๆน้อยๆเท่านั้น แล้วก็เอาไปใส่ผอบหรือเอาไปลอยอังคารในทะเล ก็เป็นอันจบกัน  บาปกรรมทั้งหลาย  หรือบุญกุศลความดีงามทั้งหลายที่ทำไว้ ก็ไม่มีผลกับคนๆนั้นอีกต่อไป  นั่นเป็นเพราะว่าเป็นคนตาบอด มองเห็นเพียงครึ่งเดียวของชีวิต  คือเห็นเพียงแต่ร่างกาย ไม่เห็นจิตใจ  เปรียบเหมือนกับเห็นต้นไม้  เห็นส่วนที่โผล่ขึ้นมาจากดิน  แต่ไม่เห็นส่วนที่อยู่ใต้ดิน  คือรากไม้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะคอยซึมซับอาหารหล่อเลี้ยงต้นไม้ให้มีชีวิตอยู่ได้  ฉันใดคนเราหรือชีวิตของเราก็เป็นเช่นนั้น  เรามีทั้งร่างกายและมีจิตใจ  จิตใจนี้เป็นตัวสำคัญ  เป็นผู้สั่งการให้ร่างกายกระทำการต่างๆ เพื่อสนองตอบความต้องการของจิตใจ 

ถ้าไม่เคยเข้าหาพระพุทธศาสนา  ไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมะแล้ว  จะไม่รู้เรื่องของจิตใจเลย   จะคิดว่าเมื่อร่างนี้ตายไป สูญสลายไป  ก็จบกัน  ก็เลยทำให้เกิดความกลัวขึ้นมาในเรื่องความตาย ทั้งๆที่ผู้ที่กลัวความตายคือจิตใจนั้น หาตายไปกับร่างกายไม่  จิตใจเป็นสิ่งที่ทำลายไม่ได้ มีแต่จะต้องไปต่อ คือเมื่อร่างกายนี้แตกสลายไปแล้วก็ต้องไปหาร่างใหม่ เพื่อที่จะใช้ร่างใหม่นั้นเป็นเครื่องมือหาความสุขให้กับกิเลสตัณหา คือหากามสุขให้กับจิตใจดวงนั้น  ผู้ที่ยังมีความอยากในกามตัณหาอยู่  มีความอยากในกามอยู่ จึงต้องไปหาร่างใหม่  จึงต้องไปเกิดใหม่  จะไปเกิดในร่างแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่ทำไว้  ถ้ารักษาศีล ๕ ไว้ได้ ก็จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นพรหม  แต่ถ้าไม่ได้รักษาศีล ๕  มีการประพฤติผิดศีลอยู่อย่างต่อเนื่อง  เมื่อตายไปก็จะต้องไปเอาร่างของเดรัจฉาน  ของเปรต  ของอสุรกาย  หรือของสัตว์นรก มาครอบครอง  เพราะการผิดศีลผิดธรรมนี้ เป็นต้นเหตุที่จะนำไปสู่อบายนั่นเอง  เปรียบเหมือนกับเราปลูกต้นไม้ไว้  ถ้าเพาะเมล็ดพันธุ์ชนิดไหน ก็จะต้องได้พืชผลของเมล็ดพันธุ์ชนิดนั้น  ถ้าปลูกต้นส้ม เมื่อต้นไม้โตขึ้นก็จะต้องออกผลส้มออกมา  ถ้าปลูกมะม่วง ก็จะได้ผลมะม่วง 

ฉันใดถ้าสร้างอบายไว้ในใจ ด้วยการทำผิดศีลผิดธรรมอย่างสม่ำเสมอ   ก็เท่ากับเป็นการปลูกเมล็ดพืชแห่งอบายไว้ในใจ  เมื่อถึงเวลาที่เมล็ดพันธุ์จะออกดอกออกผล ก็จะส่งให้ไปเป็นดังที่ได้เพาะพันธุ์ไว้  ไปเกิดเป็นเดรัจฉานบ้าง เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรกบ้าง  ก็เกิดจากการกระทำของเรา  คือ  การกระทำผิดศีลผิดธรรม  ด้วยเหตุที่เกิดจากความเห็นผิดเป็นชอบ  เห็นว่าภพชาติไม่มี  คือมีอยู่ชาติเดียว  ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด  กรรมไม่มี  ทำไปแล้วไม่มีผลตามมา  ตามมาได้ก็เพียงแค่ชาตินี้เท่านั้นเอง  เช่น เวลาไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ถ้าถูกตำรวจจับก็ต้องเข้าคุกเข้าตะราง  แต่ถ้าไม่ถูกจับก็ถือว่ารอดตัวไป  แต่จะไม่มีผลตามมาอีกต่อไป หลังจากที่ตายไปแล้ว ซึ่งเป็นความเห็นของปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราอย่างท่าน  เพราะไม่มีปัญญาญาณ ไม่มีดวงตาเห็นธรรม ที่จะเห็นสิ่งที่ละเอียดไปกว่าร่างกาย คือจิตใจ  ทั้งๆที่อยู่กับเราตลอดเวลา เป็นผู้กำลังรับฟังธรรมเทศนาที่แสดงอยู่นี้ และเป็นผู้แสดงธรรมเทศนาด้วย  นี่แหละคือใจ  ใจเป็นผู้คิด  เมื่อคิดแล้วก็พูดออกมา  เมื่อเสียงออกไปก็ไปกระทบกับหู  หูได้รับเสียงแล้ว ก็ส่งเข้าไปสู่ใจอีกที  ใจก็เป็นผู้รับทราบ เรื่องทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องของใจล้วนๆ แต่ใจไม่เคยศึกษาเรื่องของใจเลย เลยไม่รู้จักใจ  รู้จักแต่ร่างกาย  ใจอยู่กับร่างกายมานาน จนคิดว่าร่างกายเป็นใจไปด้วย เลยทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อร่างกาย  คอยรักษาร่างกายไว้ให้ดี  เพราะร่างกายเป็นตัวที่จะนำความสุขมาให้กับใจ คือกามสุข  ต้องมีร่างกายนี้ คือต้องมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกายไว้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย 

จึงต้องดิ้นรนดูแลรักษาร่างกายให้อยู่ไปนานๆ   ต้องแสวงหาเงินทองด้วยวิธีต่างๆ  เพื่อที่ดูแลรักษาร่างกาย  แล้วเอาเงินทองที่มีเหลือจากการดูแลรักษาร่างกาย ไปแลกเปลี่ยนกับรูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ ชนิดต่างๆ ที่ถูกอกถูกใจ  เช่น ไปเที่ยว ไปดูหนังดูละคร  เดินทางไปต่างประเทศ ซื้อข้าวของต่างๆ  เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ  วิทยุ โทรทัศน์  วีดีโอ โทรศัพท์มือถือ   ซึ่งล้วนเป็นเครื่องล่อจิตใจของผู้ที่มีความมืดบอด ถูกกิเลสตัณหาครอบงำ ให้กระเสือกกระสนออกไปแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง เพื่อจะได้ซื้อสิ่งของเหล่านี้  โดยไม่คำนึงถึงการแสวงหาเงินทอง ว่าจะได้มาด้วยวิธีใด  จะผิดศีลผิดธรรมหรือไม่ก็ไม่สนใจ  เพราะเชื่อว่าไม่มีผลเสียอันใดตามมา  คือไม่มีบาปตามมา  ทำผิดศีล ทำบาป ทำกรรมแล้ว เมื่อตายไปก็จบ  เพียงแต่ว่าในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ระวังตำรวจไว้หน่อยก็แล้วกัน  โกงเขาก็อย่าให้เขาจับได้ก็พอแล้ว  ขอให้มีเงินทอง มีอำนาจวาสนา เพื่อจะได้มีความสุข 

แต่เป็นความสุขที่ฉาบฉวย  เป็นความสุขที่ไม่สร้างความอิ่ม  สร้างความพอ เป็นความสุขที่ร้อน ไม่ใช่ความสุขที่เย็น  เพราะจะสร้างให้เกิดความร้อนรน ที่จะต้องไปหาความสุขเหล่านี้มาต่อเติมอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้จักจบสิ้น   ตายไปจากชาตินี้ ความอยากนี้ก็ยังฝังอยู่ในใจ  เมื่อไปเกิดในชาติใหม่ก็ไปทำอย่างเดียวกันอีก อยู่ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด  ในทางตรงกันข้าม  ถ้านำเอาวิถีทางธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องพาไป ก็จะไปดี  ถึงแม้ยังอยากจะบริโภคกามอยู่ ยังอยากจะมีวัตถุต่างๆอยู่  พระพุทธศาสนาก็ไม่ได้ห้ามไว้เลยทีเดียว เพียงแต่สอนให้หามาด้วยความสุจริตก็แล้วกัน คืออย่าไปทำบาปทำกรรมเพื่อได้มา เพราะถ้าหามาด้วยความสุจริตแล้ว  เงินทอง ข้าวของที่หามาได้ จะไม่เป็นโทษ เพราะไม่เป็นเหตุที่จะให้ต้องไปใช้บาปใช้กรรมในภพชาติหน้าต่อไป แล้วยังจะรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ได้ด้วย  ให้ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก 

แต่พระพุทธศาสนาสอนให้ไปที่สูงกว่านั้นอีก เพราะภพชาติแต่ละภพชาตินั้น จะเป็นภพชาติของมนุษย์ก็ดี  ของเทพก็ดี  ของพรหมก็ดี  ก็ยังมีความเสื่อมเป็นธรรมดา  คือมีการเกิดแล้วก็ต้องมีการตายตามมา  เป็นเทพ เป็นพรหม เมื่อหมดบุญของเทพ หมดบุญของพรหม  ก็ต้องสูญสลายจากความเป็นเทพ เป็นพรหม ก็ต้องไปเกิดใหม่ สุดแท้แต่บุญกรรมที่ทำไว้จะส่งให้เป็นไป  พระพุทธศาสนาจึงสอนสภาพที่สูงกว่านั้นอีก  คือสภาพที่ไม่ต้องเกิด ที่เรียกว่าพระนิพพาน เป็นสภาพของจิตที่สะอาดบริสุทธิ์  ไม่มีกิเลสตัณหา  ที่ได้รับการชำระด้วยการปฏิบัติธรรม  คือการทำบุญทำทาน รักษาศีล นั่งสมาธิ และเจริญปัญญา  เพื่อให้เกิดวิมุตติ หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสและตัณหา  มีเครื่องมือนี้เท่านั้น ที่จะสามารถชำระกิเลสตัณหา โมหะอวิชชา ที่มีอยู่ในใจของสัตว์โลกให้หมดไปได้ ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน 

ถ้าเพียงแต่ทำอย่างที่ทำกันอยู่  คือทำบุญทำทานกับรักษาศีล  ก็ยังจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีก เพียงแต่ว่าจะได้ไปเกิดในสุคติ คือเกิดในภพของมนุษย์  ของเทพ  แทนที่จะไปเกิดในอบาย   แต่ถ้าได้ปฏิบัติธรรมด้วย ก็จะบรรลุถึงพระนิพพานเลย  เช่น วันนี้ก็มาถือศีล ๘ กัน  ละเว้นจากการเสพกามสุข  คือไม่ไปเที่ยว ไปดูหนังดูละคร  อย่างที่ผู้ที่ถือศีล ๘ เขาถือกัน  แล้วก็หันมาหาความสุขทางด้านจิตใจ  ทำจิตให้สงบ ให้เป็นสมาธิ  เพราะเมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว  จิตจะมีความสุข มีความสบาย  เพราะความคิดปรุงต่างๆ ที่สร้างอารมณ์ต่างๆ ให้เกิดภายในใจ ได้หยุดไป เมื่อไม่มีความคิดปรุงที่สร้างอารมณ์ต่างๆให้มีอยู่ในใจแล้ว  อารมณ์ต่างๆก็หายไป  จิตก็ว่าง  มีแต่ความสงบนิ่ง  เหมือนกับน้ำที่ได้รับการแกว่งด้วยสารส้มจนใสสะอาด  สิ่งเจือปนต่างๆที่อยู่ในน้ำ ก็จะตกตะกอนไป  กลายเป็นน้ำที่ใสสะอาดขึ้นมา  กิเลสตัณหาก็เป็นเหมือนกับสิ่งเจือปนทั้งหลาย ที่มีอยู่ในใจ  เมื่อได้รับการแกว่งสารส้ม ด้วยการทำสมาธิ โดยการไหว้พระสวดมนต์ก็ดี การกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็ดี  การบริกรรมพุทโธๆๆก็ดี  ก็เป็นเหมือนกับการแกว่งสารส้มในใจ  เมื่อใจได้รับการแกว่งสารส้มด้วยการปฏิบัติสมาธิแล้ว  กิเลสตัณหาก็จะเกาะตัวกัน แล้วก็จะตกตะกอนแยกออกจากน้ำ   ทำให้น้ำใจใสสะอาด  ทำให้เบาอกเบาใจ  มีแต่ความอิ่ม ความปีติ  ความสุข  ความพอ 

นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง ที่พวกเราทุกคนแสวงหากันอยู่แทบทุกวัน  แต่เราไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เราไปหลงติดอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย  คิดว่าสิ่งเหล่านั้นคือความสุข  เหมือนกับคนที่วิ่งตะครุบเงา  วิ่งไปเท่าไรก็ไม่เคยเจอความอิ่มความพอ  เพราะเมื่อได้สัมผัสได้เสพแล้ว   ก็เกิดความอยากที่จะไปเสพไปสัมผัสอีก อย่างวันนี้ถ้าได้ออกไปเที่ยวแล้ว เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็อยากจะออกไปเที่ยวอีก  เราเที่ยวมาตั้งแต่เด็ก  จนเดี๋ยวนี้แก่จะตายอยู่แล้ว ใจก็ยังไม่อยากจะหยุดเที่ยว  นั่นก็เป็นเพราะว่าไม่ได้ไปกำจัดตัวอยากนั่นเอง กลับไปส่งเสริมตัวอยากให้มีกำลังมากขึ้นไป   ทุกครั้งที่อยากจะเที่ยวแล้วออกไปเที่ยวตามความอยาก  ก็จะทำให้ความอยากเที่ยวในครั้งหน้า มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก  ในทางตรงกันข้าม ทุกครั้งที่อยากจะเที่ยวแล้วไม่ไป  แทนที่จะไปเที่ยวกลับมาอยู่วัด  มาอยู่จำศีลปฏิบัติธรรมกัน  ก็ชำระความอยากให้เบาบางลงไป  ทำให้ความอยากออกไปเที่ยวเบาบางลงไป ถ้าพยายามชำระอยู่เรื่อยๆ  เอาชนะอยู่เรื่อยๆ ไม่ยอมทำตามความอยากที่จะไปเที่ยว  ต่อไปความอยากเที่ยวก็จะหายไปจากใจ จะไม่มีความยินดี อยากจะไปเที่ยวอีกต่อไป  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้