กัณฑ์ที่
๑๔๙
ตั้งเป้า วางแผน
วันนี้เป็นวันพระแรกของปี
พ.ศ.๒๕๔๖ เป็นเวลาที่ดีที่เราจะมาวางแผนตั้งเป้าหมาย
สำหรับชีวิตของเราที่จะตามมาในอนาคตต่อไป
ว่าควรจะทำอะไรเพื่อสิ่งที่เราปรารถนากัน
สิ่งที่เราทุกคนปรารถนากันก็คือความสุข
ความเจริญ ความเป็นสิริมงคล
ความปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลาย
ซึ่งเป็นผลที่จะเกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติ
ทางกาย ทางวาจา
และทางใจของเรา
ถ้าไม่ตั้งเป้าหมายว่าจะประพฤติ
จะปฏิบัติ จะกระทำอย่างไร
ผลที่ปรารถนากันก็อาจจะไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เพราะผลเป็นเพียงสิ่งที่จะตามมาจากเหตุ
คือการกระทำของเรา
เรามีความปรารถนาดี
มีความปรารถนาสูง
แต่ถ้าเราไม่บำเพ็ญเหตุที่จะทำให้ผลที่เราปรารถนาปรากฏขึ้นมา
เราย่อมไม่ได้รับผลที่เราปรารถนากัน
สิ่งสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ความปรารถนา
ไม่ได้อยู่ที่ผล แต่อยู่ที่เหตุ
ดังนั้นในเวลาที่เราเริ่มต้นชีวิตใหม่ในปีใหม่นี้
จึงควรวางแผนว่าเราจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร
เพื่อจะได้นำตัวเรา
นำชีวิตของเราไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดี
ที่งาม ที่ประเสริฐ
เหมือนกับการเดินทางออกจากบ้านสู่จุดหมายปลายทางจุดใดจุดหนึ่ง
ในเบื้องต้นเราก็ต้องวางแผนก่อนว่าจะไปอย่างไร จะขึ้นรถเมล์หรือจะขับรถไปเอง
เมื่อรู้แล้วว่าจะไปด้วยวิธีใด
เราก็ต้องเตรียมการไว้
ถ้าจะขึ้นรถเมล์
ก็ต้องเตรียมเงินไว้สำหรับซื้อตั๋ว
ถ้าจะขับรถไป
ก็ต้องเตรียมรถยนต์ให้พร้อม
เติมน้ำมัน
ดูแลเครื่องยนต์
ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
พร้อมที่จะพาไปสู่จุดหมายปลายทางได้
ถ้าไม่เตรียมตัววางแผนไว้ก่อน
เช่นพอถึงเวลาจะไป
เราก็ออกจากบ้านไป
ลืมพกเงินติดตัวไป
พอไปขึ้นรถเมล์
ก็ไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าโดยสาร
ก็ไปไม่ได้ หรือขับรถออกจากบ้านไป
แต่ไม่ได้เติมน้ำ
เครื่องยนต์ร้อนขึ้นมา
ก็ไม่สามารถเดินทางไปได้
เพราะขาดการเตรียมตัววางแผนไว้นั่นเอง
ดังนั้นการที่จะดำเนินชีวิตของเราไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม
มีแต่ความสุข
ความเป็นสิริมงคล
ไม่มีความทุกข์
ความเสื่อมเสียตามมา
เราจึงต้องวางแผนการกระทำของเราให้ดี
เมื่อวางแผนแล้ว
เราจะได้มีสิ่งที่คอยเตือนสติเรา
ให้กระทำในสิ่งนั้นๆ
เมื่อได้กระทำตามแล้ว
ผลที่เราปรารถนาย่อมตามมา
พวกเราทุกคนก็ปรารถนาที่จะมีความสุข
ความเจริญในชีวิต
ไม่ต้องการประสบกับความทุกข์
ความเสื่อมเสีย ความหายนะ
เราจึงต้องดูแลการประพฤติปฏิบัติของเรา
ซึ่งเป็นเหตุที่จะนำมาในผลที่เราปรารถนากัน
ถ้าไม่คำนึงถึงเหตุ
ปล่อยให้การกระทำของเราเป็นไปตามยถากรรม
เป็นไปตามอารมณ์
นึกอยากจะทำอะไรก็ทำไป
นึกอยากจะพูดอะไรก็พูดไป
คิดอะไรออกมา
ก็ปล่อยให้ความคิดนั้นสั่งการไปสู่การกระทำทางกาย
ทางวาจา ผลที่ปรารถนาก็อาจจะไม่เป็นไป
หรือถ้าเป็นไป
ก็อาจจะไม่มากเท่าที่ควร
เพราะว่าในใจของเรามีทั้งกระแสของความดี
มีทั้งกระแสของความไม่ดี
สลับผลัดเปลี่ยนกันทำงาน
บางวันมีกระแสดี
ก็ส่งให้มีความอยากที่จะทำบุญทำทาน
อยากจะรักษาศีล
อยากจะปฏิบัติธรรม
บางวันก็มีกระแสที่ผลักดันให้อยากออกไปเที่ยว
ไปเสพสุรายาเมา
ถ้าปล่อยให้กระแสเหล่านี้เป็นตัวชักจูงไป
ชีวิตของเราก็จะไปแบบฟันปลา
ขึ้นสูงบ้าง ลงต่ำบ้าง
ถ้าเป็นรถยนต์ก็เป็นรถยนต์ที่ไม่มีพวงมาลัย ไม่มีคนขับ
ปล่อยให้รถไหลไปตามถนนหนทาง
จะตกถนน จะแหกโค้ง
หรือจะฝ่าไฟแดงชนกับรถคันอื่น ก็ไม่มีใครที่จะบังคับควบคุมได้
แต่ถ้าได้กำหนดขั้นตอน
แผนการดำเนินชีวิต
ว่าจะทำอะไร แล้วผูกใจไว้ด้วยความจริงใจ
ว่าจะประพฤติปฏิบัติตามแผนที่วางไว้
ไม่ช้าก็เร็วเราก็จะดำเนินไปถึงจุดหมายปลายทางที่เราปรารถนากัน
เราจึงควรวางแผน
ตั้งใจกระทำในสิ่งที่จะนำมาซึ่งผล
ที่เราปรารถนากัน ซึ่งมีอยู่ ๔
ประการด้วยกัน คือ
๑.
รักษาความดีที่มีอยู่ในตัวเราให้มีอยู่ต่อไป
ไม่ให้เสื่อมสลายสูญไป ๒.
ทำความดี
สร้างความดีที่ยังไม่มีในตัวเราให้เกิดขึ้นมา
๓. ละความไม่ดีที่มีอยู่ในตัวเราให้ลดน้อยถอยลงไปจนหมดไปในที่สุด
๔. ป้องกันไม่ให้ความไม่ดีที่ได้ละแล้ว
ได้ลดแล้ว ได้เลิกไปแล้ว
หวนกลับคืนเข้ามาสู่ชีวิตของเราอีก
ถ้าเราทำได้ทั้ง ๔
ประการนี้ รับรองได้ว่าความสุข
ความเจริญ
ความไม่มีทุกข์ภัยอันตราย
ไม่มีความเสื่อมเสียทั้งหลาย
จะเป็นของเราอย่างแน่นอน
ดังนั้นหน้าที่ของเราจึงไม่ได้อยู่ที่การรอผล
ไม่ได้อยู่ที่การนั่งเฝ้าให้ผล
ที่เราปรารถนาเกิดขึ้นมา
แต่อยู่ที่การควบคุมการกระทำของเรา
ทางกาย ทางวาจา และทางใจ
ให้เป็นไปตามแนวทางที่ดีที่ควร ตามที่ได้กล่าวมาทั้ง
๔ ประการ
เราจึงควรเริ่มตรวจสอบดูตัวเรา
ว่ามีส่วนที่ดี
มากน้อยเพียงไร
มีส่วนที่ไม่ดีมากน้อยเพียงไร
แล้วก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่า
ปีนี้จะทำความดีให้มีมากเพิ่มขึ้น
และจะลดส่วนที่ไม่ดีให้น้อยลงไป
จะตั้งมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของเรา ถ้าไปตั้งเป้าหมายที่สูงไป
แล้วไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้
ก็จะเกิดความท้อแท้
หมดกำลังใจขึ้นมา
เพราะไปทำในสิ่งที่มากกว่าความสามารถของเราที่จะทำได้ สมมุติว่าขณะนี้เราสามารถยกน้ำหนัก
ยกสิ่งของได้ถึง ๒๐ กก.ต่อ
๑ ครั้ง แต่อยากจะยกน้ำหนักได้มากขึ้นกว่าเดิม
ก็ลองตั้งเป้าว่าจะยกสัก
๒๕ กก. โดยค่อยๆขยับขึ้นไป
จาก ๒๐ ก็ขึ้นสู่ ๒๑
๒๒ ๒๓
ค่อยๆขยับขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อย
ถ้าทำอย่างนี้
จะทำได้ง่ายกว่าที่จะยกจาก
๒๐ ไปสู่ ๒๕ ในครั้งเดียวเลย
เพราะร่างกายยังไม่ได้ปรับตัว
ยังไม่ได้พัฒนากล้ามเนื้อต่างๆ
ไว้รับกับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น
จึงขอให้มองดูความสามารถของเราก่อน
ว่ามีมากน้อยเพียงไหน
คนเราทุกคนมีความสามารถ
ที่จะพัฒนาตนให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้
เพียงแต่จะมีศรัทธาความเชื่อ
มีฉันทะความพอใจ
ที่จะทำในสิ่งนั้นๆหรือไม่เท่านั้นเอง
ถ้าไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ
ก็ต้องสร้างให้เกิดขึ้น
ด้วยการพิจารณาถึงผลดีงาม
ที่เกิดจากการปฏิบัติดี
ปฏิบัติชอบ ที่จะตามมา
ถึงแม้จะยาก จะลำบาก
เพราะเป็นการทวนกระแสของความไม่ดีที่มีอยู่ในใจของเราทุกคน
เช่นความเกียจคร้าน
เราต้องมองให้เห็นโทษของความเกียจคร้าน
ที่มีฝังอยู่ในใจของเรา
ว่าเป็นส่วนเสีย
เป็นส่วนถ่วงความเจริญ
คนเราจะเจริญรุ่งเรืองหรือไม่
ก็ขึ้นอยู่กับความขยันหมั่นเพียรหรือความเกียจคร้านนี่แหละ
ถ้ามีแต่ความขยันหมั่นเพียร
มีวิริยะความอุตสาหะแล้ว
ไม่ว่าจะกระทำอะไรก็จะประสบกับความสำเร็จอย่างแน่นอน
ไม่ช้าก็เร็ว แต่ถ้าเป็นคนเกียจคร้าน
และไม่สามารถที่จะกำจัดหรือทำให้ความเกียจคร้านลดน้อยถอยลงไป
โอกาสที่จะประสบกับความสำเร็จ
ประสบกับสิ่งที่ตนปรารถนา
ย่อมเป็นไปได้ยาก
เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้หนึ่งผู้ใด
แต่ขึ้นอยู่กับตัวเราแท้ๆ
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน
เน้นไปที่หลักของการมีตนเป็นที่พึ่งของตน
อัตตา หิ อัตโน
นาโถ
พระพุทธเจ้าถึงแม้จะวิเศษ
จะประเสริฐขนาดไหนก็ตาม
ก็ไม่สามารถปฏิบัติแทนเราได้
ไม่สามารถอุ้มให้เราไปสู่ผลที่เราต้องการได้
เราเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้เดินไป
ปฏิบัติไป ถึงจะไปสู่จุดหมายที่เราต้องการได้
และการที่จะไปสู่จุดหมายนั้นได้
ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติของเราเอง
โดยอาศัยผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้า
พระอริยเจ้าทั้งหลาย
เป็นผู้คอยให้กำลังใจ
เป็นผู้คอยชี้บอกทางให้กับเรา
ในยามที่เรามีความรู้สึกท้อแท้ไม่มีกำลังจิตกำลังใจ
ก็ขอให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ระลึกถึงพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ว่าท่านทั้งหลายก็เป็นเหมือนกับเรามาก่อน
เป็นปุถุชนธรรมดาเหมือนเรา
ท่านก็พยายามปฏิบัติเหมือนเรา
มีความท้อแท้เหมือนเรา
เพียงแต่ว่าท่านไม่ยอมแพ้เท่านั้น
ยามที่มีความท้อแท้ทำไม่ได้มาก
ก็ทำไปเท่าที่จะสามารถทำได้
ไม่หยุด ไม่เลิก หรือถ้าจะหยุด
ก็หยุดเพื่อพักผ่อน
เพื่อเอากำลัง
เมื่อมีกำลังแล้ว
ก็กลับมาสู้กันใหม่
อย่างนี้จะเป็นวิธี
ที่จะทำให้เรา
ดำเนินไปถึงจุดหมายปลายทาง
ที่เราต้องการไปได้
เพราะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการเดินทาง
ของการต่อสู้ เมื่อปฏิบัติไปแล้วย่อมมีความอ่อนล้า
มีความเหน็ดเหนื่อย
ท้อแท้บ้าง บางครั้งบางคราว
ต้องทำความเข้าใจว่าเป็นอารมณ์ชั่วคราว
ไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่กับเราถาวรตลอดไป
เมื่อทำความเข้าใจนี้แล้ว
ก็ไม่ไปกังวลกับอารมณ์นั้น
มีหน้าที่อย่างไร ก็ทำไป
ถึงแม้จะไม่เกิดผลที่ต้องการ
เพราะการปฏิบัติบางครั้งบางเวลาปฏิบัติไปก็เกิดผลดี
มีความรู้สึกอิ่มเอิบใจ
มีความรู้สึกว่าได้พัฒนาขึ้นไป
แต่บางครั้งก็เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่ายืนอยู่กับที่ ปฏิบัติไปก็ไม่มีความอิ่มเอิบใจอย่างไร อย่างนี้ก็ไม่ต้องกังวล
เพราะเป็นเรื่องธรรมดา
เป็นเรื่องปกติของการปฏิบัติ
ต้องมีการล้มลุกคลุกคลานไปก่อน
เมื่อได้ปฏิบัติไปมากขึ้นไปๆแล้ว
อารมณ์เหล่านี้จะค่อยเบาบางลงไป
ผลที่ต้องการจะเริ่มปรากฏขึ้นเป็นกอบเป็นกำขึ้นมา
ในเบื้องต้นจะเป็นช่วงที่ยากลำบากมาก
เพราะปฏิบัติไปแล้วไม่ค่อยเห็นผลเท่าไร
เลยเกิดความท้อแท้อิดหนาระอาใจ
ก็อย่าให้ความรู้สึกนี้มาล้มล้างความตั้งใจที่ดี
ความปรารถนาที่ดีของเรา
ขอให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้ากับพระอริยเจ้าทั้งหลายว่า
ท่านก็ล้มลุกคลุกคลานเหมือนเรา
แต่ท่านเป็นผู้ที่ไม่ยอมแพ้เท่านั้น
ถึงแม้จะถูกต่อยให้ล้มลงไปนอนกับพื้นนับ
๘ แต่เมื่อลุกขึ้นมาได้
ก็จะดำเนิน จะปฏิบัติต่อไป
จะได้ผลมากผลน้อยในแต่ละครั้งก็ไม่กังวลใจ
ขอให้ได้ปฏิบัติไปก็แล้วกัน
ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่
ก็ขอให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ
จนไม่สามารถปฏิบัติได้
ถ้ามีความแน่วแน่อย่างนี้แล้ว
เชื่อได้เลยว่าจุดหมายปลายทางอันดีงาม
ที่เราทุกคนปรารถนากัน
จะต้องเป็นของเราอย่างแน่นอน
จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่เราทำไว้ในอดีต
ถ้าได้สะสมบุญมามาก
สะสมบารมีมามาก
ก็จะถึงจุดหมายปลายทางได้เร็ว
ถ้าได้สะสมบุญบารมีมาน้อย
ได้สร้างบาปสร้างกรรมมามาก
การปฏิบัติของก็จะช้าเพราะมีอุปสรรคขวางกั้นอยู่มาก
แต่ก็ไม่เป็นไร
เพราะว่าอุปสรรคเหล่านี้ไม่วิเศษไปกว่าความเพียรของเรา
ความเพียรของเราจะชนะทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางกั้นได้
ดังนั้นยามที่มีความท้อแท้
ขอให้เราเตือนสติ
อย่าไปพาลยกเลิก
ว่าปฏิบัติมานานแล้ว
ไม่เห็นได้ผลเลย
สู้ไม่ปฏิบัติดีกว่า
ถ้าคิดแบบนี้แล้วก็เป็นการฆ่าตัวตาย
เป็นการปิดกั้นอนาคตที่ดี
ที่เจริญ ที่รุ่งเรืองไป
เพราะจะถูกอำนาจของกิเลสใฝ่ต่ำ
ชักจูงให้กลับไปทำในสิ่งที่ไม่ดี
ถึงแม้จะมีความสุข
มีความสนุก มีความเพลิดเพลิน
แต่ก็เป็นความเพลิดเพลินแบบขุดหลุมฝังตัวเองเท่านั้นเอง
เวลาไปเที่ยว
ไปเสพอบายมุขต่างๆ
ก็มีความเพลิดเพลิน
แต่ในขณะเดียวกัน
ก็กลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ จะต้องติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ไป
ถ้าติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้
ก็จะถูกสิ่งเหล่านี้ดูดความเจริญ
ดูดทรัพยากรต่างๆ
ที่มีอยู่ในตัวเราให้หมดสิ้นไป
เมื่อไม่มีทรัพยากรเหลืออยู่แล้ว
และไม่มีความสามารถที่จะหามาด้วยความสุจริต
ก็ต้องไปหามาด้วยความทุจริต
แล้วในที่สุดก็ต้องไปใช้เวรใช้กรรมทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่จะตามมาต่อไป
ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว
ก็จะทำให้มีกำลังจิตกำลังใจที่จะปฏิบัติ
ทำคุณงามความดีต่อไป
ถึงแม้จะยากลำบากเลือดตาแทบกระเด็นก็ตาม
เมื่อคิดถึงผลดีที่จะตามมาต่อไป
ก็จะทำให้เกิดมีกำลังใจ
การปฏิบัติความดีจะยากจะลำบากในเบื้องต้น
อุปสรรคจะมาก ความทุกข์
ความยาก ความลำบากจะมีมาก
แต่เมื่อปฏิบัติไปแล้วความทุกข์
ความยาก ความลำบาก
จะค่อยๆเบาบางลงไป
น้อยลงไปเรื่อยๆ แล้วความสุข
ความสบาย
จะมีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
จนเต็มครบร้อยบริบูรณ์
เป็นความสุขที่สะอาดบริสุทธิ์
เป็นความสุขที่ตั้งอยู่บนลำแข้งลำขา
บนกำลังใจของเรา
เกิดจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
เกิดจากความสงบ
ความสะอาดของจิต
เป็นสิ่งที่จะอยู่คู่เคียงกับเราไปตลอดอนันตกาล
ไม่ว่าจะไปที่ไหนแห่งใด
ถ้ายังไม่ถึงสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด คุณธรรมความดีเหล่านี้
ความสุขเหล่านี้
ก็จะติดตัวไป
ทำให้การปฏิบัติไม่ขาดตอน
ไม่สูญเสีย ไม่สูญหายไป ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่ไปเกิดในภพใหม่
ชาติใหม่
ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่
เพราะพลังของจิตไปกับจิต
คุณงามความดีนี้แหละคือพลังของจิต
ไม่สูญสลายไป จะติดไปกับใจ
เป็นนิสัย เป็นบารมี
เหมือนกับพระพุทธเจ้า
ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเป็นเวลาอันยาวนาน
พระบารมีเหล่านั้นที่ได้ทรงสะสมไว้ในแต่ละภพละชาติ
ก็ไม่สูญหายไปไหน
ก็ยังอยู่ติดอยู่กับพระทัยของพระพุทธเจ้า
กลายเป็นเครื่องมือ
สนับสนุนให้ได้ทรงบรรลุถึงธรรมอันสูงสุด
คือได้บรรลุเป็นพระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา
เพราะได้ทรงสะสมบุญบารมีมาทุกภพทุกชาติ
พวกเราก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
ใครจะไปรู้ว่าหนึ่งในพวกเราที่นั่งอยู่ในศาลานี้
อาจจะกลายเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาในภายภาคหน้าก็ได้
เพราะพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้มาจากผู้วิเศษที่ไหน พระพุทธเจ้า
พระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ก็มาจากปุถุชนคนมืดบอดอย่างพวกเราทั้งหลายนี่แหละ เพียงแต่ว่ามีศรัทธาความเชื่อ
มีฉันทะความยินดี ความพอใจ
มีวิริยะความเพียร อุตสาหะ
มีขันติ
ความอดทนที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีที่งาม
ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้ให้ปฏิบัติตาม
เรานี่แหละต่อไปจะกลายเป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระอรหันตสาวกขึ้นมา
จะช้าหรือเร็วก็อยู่กับตัวเรานี่แหละ
เหมือนกับการขับรถ
ถ้าขับช้าก็ไปถึงจุดหมายปลายทางช้า
ถ้าขับเร็วก็ไปถึงเร็ว
ฉันใดการปฏิบัติก็เป็นเช่นนั้น
ถ้าปฏิบัติมากก็จะไปถึงเร็ว
ถ้าปฏิบัติน้อย
ก็จะไปถึงช้า วันหนึ่งมีอยู่
๒๔ ชั่วโมง เราปฏิบัติธรรมกันมากน้อยเท่าไร
ถ้าปฏิบัติอย่างพระสาวกในอดีตกาล
ก็ปฏิบัติตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาจนกระทั่งหลับไป
คืนหนึ่งท่านก็หลับไม่มาก
เพียงคืนละ ๔
ชั่วโมงเท่านั้นเอง
ปฏิบัติถึง ๒๐
ชั่วโมงต่อวัน จึงไม่เป็นของแปลกอะไรที่จะบรรลุธรรมได้อย่างรวดเร็ว
สมัยพุทธกาลจึงปรากฏพระอรหันตสาวกขึ้นมาเป็นจำนวนมากมาย เพราะท่านปฏิบัติกันนั่นเอง
ไม่เพียงแต่สักแต่ว่าฟัง
แล้วก็ไม่นำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาปฏิบัติ
ผลจึงไม่ค่อยปรากฏ
เหมือนในสมัยนี้ มีคนเยอะ
มีคนถึง ๖๐ ล้านคนในประเทศไทย
ที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่มีสักกี่คนที่จะบรรลุเป็นพระอริยสาวกของพระพุทธเจ้า
แทบจะหาไม่ค่อยได้เลยทุกวันนี้
เหมือนกับงมเข็มในมหาสมุทร
เดินไปก็ไม่ค่อยเจอเท่าไร
ไม่เหมือนในสมัยพุทธกาล
เดินไปก็มักจะเดินชนกับพระอริยเจ้าเสมอๆ
สิ่งแตกต่างกันในสมัยพุทธกาลกับในสมัยนี้ก็ไม่ได้อยู่ที่ไหน
ก็อยู่ที่การปฏิบัติของเรานั่นแหละ
ในสมัยพุทธกาลมีการปฏิบัติกันอย่างจริงจัง
เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมก็ฟังกันอย่างจริงจัง
เมื่อฟังแล้วก็นำเอาไปปฏิบัติอย่างจริงจัง
ไม่ได้ฟังเพื่อเป็นการสะสมบารมี
การสะสมบารมีที่แท้จริงนั้น
จะต้องนำไปปฏิบัติ
ถ้าฟังแล้วไม่ได้เอาไปปฏิบัติ
อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการสะสมบารมี
เป็นการสูญไปเปล่าๆ
เสียเวลานั่งฟัง
เสียเวลาของคนที่พูด
เพราะไม่ได้นำไปปฏิบัติ
การฟังอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ
เหมือนกับการรู้ทางแล้วแต่ไม่ได้เดินทางไป
อย่างนี้ก็จะไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ปรารถนาได้
ถ้าเดินแบบกระต่ายก็ไม่ดี
เพราะเดินในลักษณะประมาท
แล้วแต่อารมณ์
วันไหนขยันก็เดินเร็ว
พอวันไหนขี้เกียจก็เถลไถล
ไปเที่ยว ไปทำโน่น ทำนี่
ก็ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางสักที
ต้องเอาอย่างเต่า
ถึงแม้จะก้าวไปทีละก้าวอย่างช้าๆ
แต่ไปแบบไม่หยุดไม่หย่อน
ไม่ยอมถอยหลัง ไม่เถลไถล
รู้หน้าที่ของตนว่าจะต้องเดินทาง
ให้ไปถึงจุดหมายปลายทางให้ได้
ก็เดินไปด้วยความแน่วแน่มั่นคง
ด้วยความพากเพียร
ด้วยความอดทน แล้วในที่สุดถึงแม้จะเดินช้ากว่ากระต่าย
แต่ก็ไปถึงจุดหมายปลายทางก่อนกระต่าย
เพราะไม่ประมาทนั่นเอง
ส่วนกระต่ายนี้ประมาท
คิดว่ามีความสามารถจะไปถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไรก็ไปได้
ก็เลยผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ
เลยไปไม่ถึงสักที
พวกเรามักชอบผัดไปเรื่อยๆเหมือนกับกระต่าย
ว่าตอนนี้ยังอายุน้อยอยู่ ยังหาความสุขในโลกนี้ได้
ไว้รอให้มีอายุมากขึ้นไปก่อน
ไว้แก่แล้ว
ไม่มีกำลังวังชาที่จะออกไปเที่ยวแล้ว
ค่อยเข้าวัดปฏิบัติธรรมกัน
ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว
ก็เป็นการประมาทใน ๒
กรณีด้วยกัน คือ
๑.
เรายังไม่รู้เลยว่าจะอยู่ถึงอายุแก่เฒ่าหรือไม่
อาจจะตายในขณะที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ได้
๒.
เมื่อแก่เฒ่าแล้วเวลาปฏิบัติธรรมจะยากลำบาก
เพราะสังขารร่างกายไม่เอื้ออำนวย
นิสัยที่ได้ปลูกฝังไปในทางโลกก็จะคอยกีดขวางให้การปฏิบัติธรรมเป็นไปด้วยความยากลำบาก
แต่ถ้าเริ่มปฏิบัติธรรมเสียตั้งแต่ยังหนุ่มยังแน่นยังสาวอยู่
การปฏิบัติก็จะง่าย
เพราะกำลังวังชาร่างกายก็พร้อม
นิสัยทางโลกก็จะไม่มากีดขวางในการปฏิบัติ
เหมือนกับการดัดไม้
ต้องดัดไม้ตอนที่ไม้ยังอ่อนอยู่
ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก
จึงควรรีบเร่งปฏิบัติในขณะที่ยังมีอายุน้อยอยู่
จะได้ไม่เสียใจภายหลัง
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้