กัณฑ์ที่  ๑๕๔      ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ

 

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ เป็นวันที่ท่านทั้งหลายมีเวลาว่าง จากภารกิจการงานต่างๆ จึงมาที่วัดกัน  เพราะเห็นว่าเป็นวันพระด้วย จึงควรเข้าวัด เพราะวันพระเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ ให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ได้ปล่อยวางเรื่องราวต่างๆทางโลกแล้วมาที่วัด เพื่อมาสร้างสิ่งที่ดีที่งามสำหรับจิตใจ  ชีวิตของคนเราก็มี ๒ ส่วนด้วยกัน คือส่วนทางโลก คือความจำเป็นที่ต้องดูแลเกี่ยวกับอัตภาพร่างกาย ต้องมีการทำมาหากิน และอีกส่วนหนึ่งก็คือจิตใจ  จิตใจต้องมีธรรมะ มีบุญมีกุศลไว้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เพราะร่างกายกับจิตใจเป็นธรรมชาติที่ต่างกัน  เรื่องของร่างกาย คือ ปัจจัย ๔ ได้แก่ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค อาหารนั้น ไม่สามารถที่จะเยียวยาดูแลรักษาจิตใจได้  ต้องอาศัยบุญกุศล ซึ่งเปรียบเหมือนกับปัจจัย ๔ ของจิตใจ  ร่างกายต้องมีอาหาร มีที่อยู่อาศัย มียารักษาโรค มีเครื่องนุ่งห่ม ถึงจะอยู่ได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  แต่จิตใจต้องมีบุญมีกุศล ถึงจะอยู่ได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  ความสุขความเจริญของจิตใจต้องอาศัยบุญและกุศล 

เราจะรู้จักบุญกุศลได้ ก็ต่อเมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารู้ว่าอะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ ถ้าไม่เข้าหาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็จะไม่รู้ หรือรู้ก็รู้แบบไม่ครบบริบูรณ์ รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง  รู้แบบผิดๆถูกๆ ผิดบ้าง ถูกบ้าง จึงทำให้การกระทำของเราที่เกิดจากความรู้นี้ ไม่เป็นไปเพื่อคุณ เพื่อประโยชน์อย่างแท้จริง  แต่จะผสมกันไประหว่างการกระทำที่เกิดคุณบ้าง เกิดโทษบ้าง  ผลที่ตามมาย่อมมีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง  มีความเจริญบ้าง มีความเสื่อมบ้าง  ซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนปรารถนากัน  พวกเราทุกคนล้วนแต่ปรารถนาความสุขความเจริญ ไม่ต้องการความทุกข์ความเสื่อมเสีย  เราจึงต้องศึกษาให้รู้คุณและโทษ รู้สุขและทุกข์  รู้ความเจริญและความเสื่อม ไม่มีใครจะรู้เรื่องเหล่านี้ได้ดีเท่ากับพระพุทธเจ้าของเรา   ถึงแม้จะได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วหลายพันปี  แต่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ายังมีอยู่ มีการสืบทอด มีการถ่ายทอดอยู่   เป็นธรรมที่มีผล มีอานุภาพเหมือนกับได้ยินได้ฟังจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว  เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก  ไม่ขึ้นกับกาลกับเวลา ไม่เสื่อมไปตามกาลตามเวลา 

ถึงแม้ว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้นี้มีอายุถึง ๒๕๐๐ กว่าปีแล้วก็ตาม  แต่อานุภาพและประสิทธิภาพของพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้าก็ยังมีครบถ้วน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์   ผู้ที่มีความศรัทธาความเชื่อ ได้น้อมเอามาปฏิบัติแล้ว ย่อมได้รับผล ได้รับประโยชน์อย่างเดียวกับที่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย ได้รับตั้งแต่ในสมัยพุทธกาลมา  เพราะนี่คือธรรมชาติของธรรม เป็นอกาลิโก  เราจึงไม่ต้องวิตกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว สิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน จะไม่สามารถยังประโยชน์ ยังคุณให้กับเราได้  อย่างนี้เป็นความเข้าใจผิด  ความเข้าใจที่ถูกต้องนั้นต้องถือหลักว่า พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก ไม่ได้เสื่อมไปตามกาลตามเวลา ไม่เหมือนกับสิ่งต่างๆในโลกนี้ ย่อมร่วงโรยไป ย่อมเสื่อมไปตามเวลา อัตภาพสังขารร่างกายของเรา ก็ต้องเสื่อมไปตามกาลตามเวลา วัตถุข้าวของต่างๆก็ต้องเสื่อมไปตามกาลตามเวลา  แต่มีอย่างเดียวในโลกนี้ที่ไม่เสื่อมไปกับกาลกับเวลา นั่นก็คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 

เราจึงมีความมั่นใจได้ว่า เราจะไม่อยู่โดยปราศจากที่พึ่ง ที่พึ่งของเราก็คือธัมมัง สรณัง คัจฉามิ พระธรรมคำสอนนี้เป็นที่พึ่งของเราได้  เพราะเหตุใด  เพราะว่าพระธรรมนี้เปรียบเหมือนกับแสงสว่างในที่มืด  ผู้ใดถ้าอยู่ในที่มืดไม่มีแสงสว่างย่อมลำบาก  ย่อมไม่เห็นสิ่งต่างๆรอบตัวเอง  จะทำอะไรย่อมไม่รู้ว่าทำไปแล้วถูกหรือผิดอย่างไร ฉันใดบุคคลที่ไม่มีพระธรรมคำสอนอยู่ในใจ ก็เปรียบเหมือนกับคนที่อยู่ในที่มืด เหมือนกับคนตาบอด ย่อมไม่สามารถเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงได้  แต่ถ้ามีแสงสว่างแห่งธรรมอยู่ในใจแล้ว ย่อมเห็นสิ่งต่างๆเหมือนกับคนตาดีที่สามารถเห็นสิ่งต่างๆรอบตัวได้  ว่าสิ่งต่างๆนั้นมีอะไรบ้าง มีคุณมีโทษอย่างไร  ถ้ารู้ว่ามีโทษก็สามารถหลีกเลี่ยงได้  ถ้ามีคุณก็สามารถน้อมเอาเข้ามาทำให้เกิดคุณเกิดประโยชน์กับตนเองได้   นี่คืออานุภาพของพระธรรมคำสอน เป็นที่พึ่ง เป็นแสงสว่าง เป็นเหมือนดวงตาสำหรับผู้ที่ปรารถนาความสุขความเจริญ จะสามารถยึดนำเอาไปใช้เป็นเครื่องนำทางได้ เพราะชีวิตของเราก็เปรียบเหมือนกับการเดินทาง  เราต้องรู้จักทางที่จะไปว่า อยู่ในทิศไหน  ถ้าไม่รู้จักทาง เราก็จะไม่สามารถดำเนินไปถึงจุดหมายปลายทางได้  อย่างท่านทั้งหลายเวลาจะเดินทางมาที่วัด ท่านก็ต้องรู้ว่าทางที่จะพาท่านมาสู่ที่วัดนี้อยู่ตรงไหน ถ้าไม่รู้จักทาง เวลาเดินไปก็อาจจะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางได้ 

ฉันใดสิ่งที่พวกเราทุกคนปรารถนาคือความสุขความเจริญ ความปราศจากความทุกข์เศร้าโศกเสียใจ ความเสื่อมเสีย ความหายนะทั้งหลาย  ก็เป็นผล เป็นจุดหมายปลายทางของชีวิตของเรา ที่จะต้องดำเนินไป  ถ้าไม่รู้จักทางที่จะพาไปสู่ความสุขความเจริญ  ก็จะไม่สามารถเดินทางไปให้ถึงจุดหมายปลายทางนั้นได้ เมื่อไม่รู้ทาง เราก็จะเดินไปสู่จุดหมายที่เราไม่ปรารถนากัน นั่นก็คือความทุกข์ ความเสื่อมเสีย ความหายนะทั้งหลาย  ดังที่เห็นปรากฏในชีวิตรอบตัวเรา บางคนสามารถดำเนินชีวิตไปได้ด้วยความดีงาม ด้วยความเจริญรุ่งเรือง  บางคนก็ดำเนินไปด้วยความลำบากยากเข็ญ ด้วยความทุกข์  ด้วยความเสื่อมเสีย  นั่นก็เป็นเพราะว่าแต่ละคนมีปัญญา มีธรรมะความรู้ในเรื่องของทางที่จะพาไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการไปนั้น ไม่เท่าเทียมกัน  รู้มากรู้น้อยต่างกัน  รู้ผิดรู้ถูกต่างกัน 

ถ้าผู้ใดได้เข้าหาพระพุทธศาสนา  แล้วได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วนำมาใส่ใจ เอามาท่องจำจนขึ้นใจ แล้วนำไปปฏิบัติ   ก็จะดำเนินชีวิตไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม  เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น เป็นสิ่งที่ได้รับการทดสอบมาแล้ว ได้รับการพิสูจน์มาแล้ว ตามหลักความจริง ตามหลักสวากขาตธรรม  คือเป็นไปตามความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นธรรมที่เกิดจากการจินตนาการ นั่งคิดเฉยๆ ว่าทำอย่างไรถึงจะไปถึงจุดนั้น โดยที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน  เหมือนกับคนที่ไม่เคยมาที่วัดนี้ ก็อาจจะมีจินตนาการได้ว่า หนทางที่จะมาวัดนี้จะต้องไปทางนั้น จะต้องไปทางนี้  แต่คนที่พูดนั้น คนที่บอกนั้น ก็ยังไม่รู้จริง เพราะยังไม่เคยมาที่วัด ถ้าไปบอกคนอื่น ก็อาจจะมาไม่ถึงที่วัดนี้  เพราะตัวคนบอกเองก็ไม่เคยมา ทางที่เขาชี้บอกก็เป็นเพียงแต่การจินตนาการ เป็นความนึกคิด  ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ถ้าเขาเคยเดินทางมาที่วัดนี้แล้ว  เขาย่อมรู้ว่าทางที่มาที่วัดนี้เป็นอย่างไร  เมื่อเขารู้ เขาย่อมสามารถบอกผู้อื่นได้อย่างถูกต้องแม่นยำตามความเป็นจริง  เมื่อผู้อื่นได้ยินได้ฟังแล้วนำเอาไปปฏิบัติดำเนินตาม  ก็ย่อมเดินทางมาถึงที่วัดนี้ได้อย่างแน่นอน 

ฉันใดพระพุทธเจ้าก็เป็นเหมือนกับผู้ที่ได้ไปถึงจุดหมายปลายทาง ที่ดีที่เลิศแล้ว คือความสุขความเจริญ ความหมดทุกข์ หมดภัย หมดเศร้า หมดโศก เมื่อได้ทรงพิสูจน์และดำเนินไปถึงจุดหมายปลายทางที่เลิศที่ประเสริฐ ที่พวกเราทุกคนปรารถนากันแล้ว ก็ทรงนำสิ่งที่ได้ทรงพบเห็นมาสั่งสอน มาบอกกล่าว ถ่ายทอดให้กับผู้ที่ยังไม่รู้ เพื่อให้ได้รู้จักทาง    และเมื่อนำไปปฏิบัติตาม ย่อมดำเนินไปถึงจุดหมายที่ปรารถนาได้อย่างแน่นอน  เราจึงควรจะมีความเชื่อมั่นในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นคำสอนที่ถูกต้อง  เป็นสวากขาตธรรม  ถูกต้องตามหลักความเป็นจริง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เราก็ควรจะหมั่นศึกษาเล่าเรียน ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ  เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็นำเอาไปปฏิบัติ  เมื่อปฏิบัติแล้วผลที่เราปรารถนากัน ก็จะค่อยๆปรากฏขึ้นมาภายในใจของเรา   ภายในชีวิตของเรา 

เมื่อมีผลปรากฏขึ้นมาแล้ว ศรัทธาความเชื่อก็จะมีความแน่วแน่ มีความมั่นคงมากขึ้นไปตามลำดับ  เพราะเริ่มเห็นแล้ว  จากความเชื่อก็จะกลายเป็นความจริง  ในเบื้องต้นยังไม่รู้จริง  เช่น ถ้าอยากจะมาที่วัดนี้ แต่ยังไม่เคยมา ก็จะไม่รู้ว่าที่วัดนี้มีอะไรบ้าง เพียงแต่ได้ยินได้ฟังจากผู้อื่น  เวลาฟังก็เชื่อในสิ่งที่เขาพูด  แต่ก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นมีความถูกต้องมากน้อยเพียงไร  แต่เมื่อได้มาถึงที่วัดนี้แล้ว  ก็จะเห็นสิ่งต่างๆที่เขาพูด   ก็จะรู้ความจริงของวัดนี้ว่าเป็นอย่างไร  เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อเขาอีกต่อไป  เพราะสิ่งที่เขาบอก กับสิ่งที่เราเห็นนั้นก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เมื่อเห็นแล้วเราก็มีความมั่นใจ  ฉันใดในการดำเนินชีวิตของเรา ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ให้เราดำเนิน ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถพิสูจน์ได้  เมื่อปฏิบัติไปตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็จะเริ่มเห็นผลจากการปฏิบัติที่ปรากฏขึ้นมาในชีวิตของเรา ในใจของเรา เราก็จะเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นไป ว่าสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น ล้วนเป็นความจริงทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะมีความยินดีความพอใจ มีความขยันหมั่นเพียร ที่จะปฏิบัติให้มากยิ่งๆขึ้นไป  เพราะเห็นแล้วว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้จะดีเท่ากับการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า  เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น จะนำพาให้เราไปสู่ความสุขความเจริญที่แท้จริง ซึ่งหมายถึงความเจริญในคุณธรรม   เจริญในทางจิตใจ  ไม่ได้หมายถึงความเจริญในลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุขทั้งหลาย  การปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อความสุขความเจริญ จึงไม่ได้หมายถึงความเจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข  แต่เจริญด้วยคุณธรรม เจริญด้วยความสงบสุขภายในใจของเราต่างหาก 

เวลาปฏิบัติในเบื้องต้นจะไม่รู้จักผลที่แท้จริง จึงมองไปผิดที่  แทนที่จะมองมาที่ความรู้สึกภายในใจ กลับไปมองถึงผลภายนอก อย่างคนที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องการปฏิบัติธรรมและผลของการปฏิบัติ  ก็จะคิดว่าเมื่อได้ทำบุญทำทาน ได้รักษาศีล ได้ไหว้พระสวดมนต์ปฏิบัติธรรมแล้ว  ชีวิตจะรุ่งเรืองทางด้านลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข  คือจะมีเงินทองมากขึ้น มีตำแหน่ง มียศถาบรรดาศักดิ์สูงขึ้น  มีคนสรรเสริญเยินยอมากขึ้น  มีความสุขที่เกิดจากการได้เสพกามมากขึ้น  ซึ่งไม่ใช่เป็นผลหลักของการปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้า แต่เป็นผลพลอยได้  ที่จะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้  เพราะคนที่ทำความดี ตั้งตนอยู่ในคุณงามความดี ย่อมเจริญทางลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุขด้วย  แต่ไม่ใช่ผลหลักของการปฏิบัติธรรม ซึ่งอยู่ภายในใจ  คือใจที่มีความสงบ มีความเย็น มีความสบาย ที่เกิดจากการไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งต่างๆในโลกนี้  เพราะมองเห็นด้วยปัญญาแล้วว่า  เป็นสิ่งที่ไม่จีรังถาวร  อาศัยไปไม่ได้ตลอดเวลา  ไม่ช้าก็เร็ว วันใดวันหนึ่ง สิ่งที่เคยให้ความสุข ให้ความเจริญ ก็จะเสื่อมลงไปได้  แตกสลายดับไปได้  ถ้าอาศัยเป็นเครื่องให้ความสุขความเจริญ ก็จะต้องเกิดความทุกข์ เกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา  กลายเป็นคนไม่มีที่พึ่ง เพราะไปยึดไปติดอยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่เป็นที่พึ่งที่แท้จริง 

ผู้ปฏิบัติจะรู้ว่า การปฏิบัติธรรมนี่แหละคือที่พึ่งที่แท้จริง  เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เสื่อม  เราสามารถปฏิบัติธรรมไปได้ตลอดจนวันตาย และเมื่อปฏิบัติธรรมได้มากน้อยเพียงใด  จิตใจก็จะมีความสุข มีความสบาย มีความสงบ ไม่มีความวุ่นวายอยู่ในใจเลย  นี่ต่างหากคือผลที่พระพุทธศาสนาสอนให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ประสบพบเห็น ได้บรรลุถึง ไม่ใช่ผลภายนอก คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  ถ้าเข้าใจหลักธรรมนี้แล้ว ก็จะมีความมั่นใจในการปฏิบัติ  แต่ถ้าไม่เข้าใจ ก็จะเกิดความท้อแท้  ไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะปฏิบัติ ทำคุณงามความดี เพราะหลงผิด  คิดว่าการทำคุณงามความดี จะทำให้ร่ำรวยขึ้น  มีตำแหน่งสูงขึ้น  มีคนยกย่องสรรเสริญเยินยอมากขึ้น มีทรัพย์สมบัติเครื่องใช้ไม้สอย เครื่องอำนวยความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มากขึ้น   ทำให้ไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะทำคุณงามความดี  จึงต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ผลที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือการเจริญของคุณธรรมภายในจิตใจ  เพราะคุณธรรมจะเข้าไปดูแลรักษาใจ ไม่ให้วุ่นวาย ไม่ให้เศร้าโศกเสียใจ ไม่ให้กังวล ไม่ให้หลงนั่นเอง  เพราะใจยังมีสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับใจอยู่ เหมือนกับเชื้อโรคที่มีอยู่ในร่างกาย  ถ้าไม่ดูแลรักษาด้วยการรับประทานยา  เชื้อโรคก็จะสร้างความเจ็บไข้ได้ป่วยให้กับร่างกาย  ถึงแม้ว่าจะมีเงินทองมากมายก่ายกอง มีตำแหน่งสูงๆ อำนาจวาสนาล้นฟ้า แต่ร่างกายจะไม่มีความสุขเลย  เพราะไม่ได้ดูแลรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หายไปหมดไป

แต่ถ้าดูแลรักษาโรคที่มีอยู่ในร่างกาย ไปหาหมอ หายามารับประทาน  ก็จะรักษาทำลายเชื้อโรคให้หมดไปจากร่างกายได้   เมื่อไม่มีเชื้อโรคในร่างกายแล้ว ร่างกายก็เป็นปกติ  ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย  ใจก็เป็นเช่นนั้น  ใจก็มีเชื้อโรคเหมือนกัน ที่ทำให้มีความไม่สบายอกไม่สบายใจ กลุ้มอกกลุ้มใจ กังวลใจ  ห่วงหน้าห่วงหลัง  กลัวเรื่องนั้นกลัวเรื่องนี้  เหล่านี้ล้วนเป็นเชื้อโรคของใจทั้งสิ้น เกิดจากอวิชชาความไม่รู้  เกิดจากโมหะความหลง  จึงต้องอาศัยคุณธรรม ที่เกิดจากการปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  คือทำความดี ละความชั่ว  ชำระกิเลสตัณหาให้เบาบาง ให้หมดสิ้นไปจากใจด้วยธรรมโอสถ ด้วยพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  นำมาปฏิบัติ อย่างที่ท่านทั้งหลายได้มาปฏิบัติกันทุกๆวันพระ หรือทุกๆวันเสาร์วันอาทิตย์  เป็นการนำธรรมโอสถเข้ามาชำระจิตใจ  ชำระเชื้อโรคของจิตใจคือกิเลสตัณหา โมหะอวิชชาทั้งหลายที่มีอยู่ในใจ  ที่เป็นตัวสร้างความทุกข์ความกังวลใจ  ความวุ่นวายใจที่ไม่รู้จักจบจักสิ้น 

ถ้าได้นำเอาธรรมโอสถของพระพุทธเจ้าเข้ามาชำระใจแล้ว ใจก็จะค่อยๆหายจากโรคต่างๆ  โรคกลัว โรควุ่นวายใจ โรคเศร้าโศกเสียใจ  ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยธรรมโอสถที่พระพุทธเจ้าได้ทรงทดลองใช้มาก่อน  เมื่อใช้จนเห็นผลดีแล้วก็นำเอามาเผยแผ่  เอามาถ่ายทอดให้พวกเรา  ถ้าพวกเรานำมาปฏิบัติแล้ว รับรองได้ว่าใจจะดีขึ้น  จะมีความสุข มีความสบาย  ความทุกข์ความกังวลใจ ความว้าวุ่นขุ่นมัวภายในใจจะค่อยๆหมดไป จนหมดไปในที่สุด  เป็นผลที่พระพุทธเจ้าสอนให้ไปถึง   นี่แหละคือความสุขความเจริญที่แท้จริง  คนเราถ้ามีเงินทองมากมายจนกระทั่งใช้ไม่หมด  มีตำแหน่งสูงๆ เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน เป็นประธานาธิบดี  แต่ถ้าใจยังมีความว้าวุ่นขุ่นมัว มีความเศร้าโศกเสียใจ มีความทุกข์ มีความกังวลใจอยู่  สิ่งต่างๆที่มีอยู่จะมีประโยชน์อะไร  สู้ไม่มีอะไรเลยแต่ภายในใจไม่มีความทุกข์ ไม่มีความวุ่นวายใจเลย จะไม่ดีเสียกว่าหรือ 

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงผ่านมาในชีวิตของพระองค์เอง ทั้ง ๒ ส่วน  คือในสมัยที่เป็นราชโอรส เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ  อยู่ท่ามกลางทรัพย์สมบัติเงินทองมากมายก่ายกอง  แต่ภายในใจกลับมีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัว  มีความกังวล มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ  กับหลังจากที่ได้สละราชสมบัติแล้วออกปฏิบัติธรรม จนได้ชำระกิเลสตัณหา โมหะอวิชชา ที่มีอยู่ภายในใจจนหมดสิ้นไป  ทำให้ใจมีแต่ความสุข มีแต่ความสงบ มีแต่ความอิ่ม มีแต่ความพอ ไม่มีความทุกข์แม้แต่ธุลีเดียวหลงเหลืออยู่ในใจเลย  นั่นแหละเป็นทางเลือกที่พระพุทธเจ้าทรงตัดสินใจเลือก  และเมื่อได้ทรงพบสิ่งนี้แล้วก็ไม่เคยคิดที่จะหวนกลับไปหาความสุข ในสมัยที่เป็นราชกุมารอีกต่อไปเลย  เพราะว่าชีวิตของราชกุมาร ของกษัตริย์ ของประธานาธิบดี ของนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นชีวิตที่มีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความทุกข์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด 

ต่างกับความสุขที่เกิดจากการบำเพ็ญปฏิบัติธรรม   ทำความดีละความชั่ว  ชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไป  นี่แหละเป็นความสุขที่แท้จริง  เป็นความเจริญที่แท้จริง  เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้บรรลุถึง ได้ตรัสรู้ถึง  แล้วก็นำมาสั่งสอนพวกเรา  พวกเราเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ก็เกิดศรัทธา  ความเชื่อ จึงนำไปปฏิบัติ แล้วชีวิตจิตใจก็จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ  ใจจะเบา ใจจะสบาย ใจจะไม่วุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ   เพราะปล่อยวางได้   รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นความทุกข์ทั้งสิ้น  เป็นเหมือนกับไฟ  ถ้าเอามือไปจับไฟ  ก็จะถูกไฟเผาเอา  ฉันใดทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ หรือเป็นบุคคล ล้วนเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น  ถ้าไม่ไปเกี่ยวข้องก็จะไม่มีความทุกข์  แต่ถ้าไปมีความเกี่ยวข้อง ไปยึดไปติด   ก็จะทำให้ทุกข์กับสิ่งนั้นๆ  ไม่เชื่อลองตรวจตราสิ่งที่มีอยู่รอบตัวดู  เช่น บุคคลต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติสนิท มิตรสหาย ก็ต้องทุกข์กับเขา เพราะรักเขา ห่วงเขา  มีความอาลัยอาวรณ์เวลาที่เขาต้องจากไป  นี่ก็เป็นความทุกข์แล้ว 

แต่ถ้าไม่ไปยึดไปติดกับเขา ก็จะไม่ทุกข์ รู้ว่าเขาก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมา ตั้งอยู่แล้วก็ต้องดับไป  ต้องจากไปสักวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว  ถ้าเขาไม่จากเราไปก่อน  เราก็ต้องจากเขาไปก่อน  ถ้ารู้อย่างนี้แล้วก็จะไม่ยึดไม่ติด  เหมือนอยู่กับไฟ แต่มีระยะกั้นไว้ ไม่ให้อยู่ใกล้ชิดจนเกินไป  อยู่ด้วยกันก็อยู่ไป แต่ไม่ยึดไม่ติด ว่าจะต้องอยู่กันไปตลอด  รู้ว่าไม่ช้าก็เร็วก็ต้องจากกันไป  อย่างนี้แสดงว่าไม่ยึดไม่ติด  ใช้ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาดำเนินชีวิต  เวลาเกิดการพลัดพรากจากกัน ก็จะไม่ทุกข์ ไม่วุ่นวายใจ  ในขณะที่อยู่ด้วยกัน ก็ไม่ทุกข์ ไม่กังวล  เพราะรู้ว่าทุกข์ไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร  ความเป็นจริงของโลกนี้มันเป็นอย่างนี้  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นสิ่งที่มีอายุขัย ไม่เที่ยงแท้แน่นอน จะต้องมีการสิ้นสุดไปวันใดวันหนึ่ง  เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็จะปล่อยวาง  เมื่อปล่อยวางแล้ว ก็จะอยู่ในโลกนี้ด้วยความสบายใจ ไม่วุ่นวายไม่ทุกข์กับอะไร  เพราะมีธรรมะ มีแสงสว่างแห่งธรรมเป็นเครื่องพาไป   นี่แหละคือความหมายของคำว่า ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ที่พึ่งของเรา การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้