กัณฑ์ที่ ๑๕๕       ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

ลูกตุ้มนาฬิกา

หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ เป็นพระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๒ เดือน จึงได้ทรงประกาศพระธรรมคำสอนเป็นครั้งแรกในวันเพ็ญเดือน ๘  มีผู้เลื่อมใสศรัทธา มาฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า  และได้นำธรรมที่ทรงสั่งสอนไปปฏิบัติ จนได้บรรลุเป็นพระอริยสาวก เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์  เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๓  ซึ่งเป็นเวลา ๗ เดือนหลังจากได้ทรงประกาศพระธรรมคำสอนเป็นครั้งแรก  ก็มีพระสงฆ์จำนวน ๑๒๕๐ รูปมาประชุมกันเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า โดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน  มากันเองมาตามกระแสจิต  ที่รำลึกถึงพระคุณอันใหญ่หลวงของพระพุทธเจ้า ที่ได้ทำให้ท่านเหล่านั้นได้มีโอกาสได้ปฏิบัติธรรมจนกลายเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้สิ้นกิเลส ปราศจากความทุกข์ ความเศร้าหมองภายในใจ จึงเกิดฉันทะความพอใจ วิริยะความอุตสาหะ ที่จะมาเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันเพ็ญเดือน ๓  นั้น จึงได้เดินทางมาเฝ้าโดยที่ไม่ได้นัดหมายกันไว้ก่อนเลย 

พระสงฆ์ทั้ง ๑๒๕๐ รูป  ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้สิ้นกิเลสแล้วทั้งสิ้น เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทให้ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา  คือการอุปสมบทโดยทรงเปล่งวาจาว่า  จงมาเป็นภิกษุเถิด   ธรรมวินัยที่ตถาคตได้ตรัสไว้ชอบแล้ว ขอให้เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นสุดแห่งทุกข์เถิด  นี่คือการบวชในระยะแรกๆ เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เกิดศรัทธาขอบวช  พระพุทธเจ้าก็ทรงเปล่งวาจาดังที่ได้กล่าวไว้  เรียกวิธีการบวชในครั้งแรกนี้ว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา   จงมาเป็นภิกษุเถิด  เพียงเท่านี้ผู้มีศรัทธาก็ได้บวชเป็นพระภิกษุ  ในวันนั้นทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ คือหัวใจของพระศาสนา  มีอยู่ ๓ ข้อด้วยกันคือ ๑. สัพพปาปัสส อกรณัง ละเว้นจากการกระทำบาปทั้งปวง    . กุสลัสสูปสัมปทา  ทำความดีให้ถึงพร้อม   .  สจิตตปริโยทปนัง ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด   เอตัง พุทธาน สาสนัง นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ 

พระพุทธเจ้าของเรานี้ก็เป็นหนึ่งในพระพุทธเจ้าหลายๆพระองค์ด้วยกัน ที่ได้มาตรัสรู้ธรรม แล้วประกาศธรรมให้กับสัตว์โลก   ทุกๆพระองค์ที่ได้ตรัสรู้และสอนพระธรรมในอดีต ก็จะสอนเหมือนๆกัน ทุกๆพระองค์ที่จะมาตรัสรู้และสอนพระธรรมในอนาคต ก็จะสอนเหมือนๆกัน  คือสอนให้   ละการกระทำบาปทั้งปวง  ทำกุศลให้ถึงพร้อม   ชำระจิตให้สะอาดหมดจด  เพราะเป็นวิธีนำพาสัตว์โลกให้ไปสู่ความสุขความเจริญที่แท้จริง    ไปสู่การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด  สิ้นสุดแห่งความทุกข์ทั้งหลาย  จะต้องเกิดจากการปฏิบัติของสัตว์โลกแต่ละบุคคล  ไม่มีใครจะทำให้สัตว์โลกเช่นพวกเราทั้งหลายพ้นจากความทุกข์ได้   ไม่มีใครจะทำให้เราสุข ให้เราเจริญได้   เราเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติตน ทางกาย วาจา ใจ ให้ไปสู่ความหลุดพ้นจากกองทุกข์  ให้ไปสู่ความสุขความเจริญ  เพราะนี่เป็นสัจธรรม เป็นความจริง ที่ไม่ขึ้นกับกาลกับเวลา  ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหน สถานที่ใดก็ตาม  เรื่องนี้จะเป็นเรื่องตายตัว พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จึงสอนเหมือนๆกันหมด เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะนำพาสัตว์โลกทั้งหลาย ให้ไปสู่ความสุขความเจริญ  ให้ไปสู่ความพ้นทุกข์  ไม่มีวิธีอื่น  พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เป็นเพียงผู้บอกทาง เป็นผู้สอน เป็นผู้ชี้บอกเราว่า ถ้าต้องการความสุขความเจริญที่แท้จริง การหมดสิ้นของความทุกข์ จะต้องปฏิบัติตามธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ 

ถ้าฟังแล้วแต่ไม่นำไปปฏิบัติ  ความปรารถนาของเรา ที่จะพ้นทุกข์ ที่จะมีแต่ความสุขนั้น ย่อมไม่ปรากฏผลขึ้นมา  เพราะผลจะต้องปรากฏขึ้นจากเหตุ คือการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ   พระพุทธเจ้าเป็นครูเป็นบรมศาสดา  ดังในบทพระพุทธคุณที่แสดงไว้ว่า สัตถา เทวมนุสสานัง  ทรงเป็นครูของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย  พระพุทธเจ้าไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะเสกเป่าให้พวกเรากลายเป็นพระอริยบุคคล กลายเป็นพระอรหันต์ผู้สิ้นกิเลสได้ ความวิเศษของพระพุทธเจ้าอยู่ตรงที่ได้ทรงตรัสรู้ธรรม ที่จะนำพาสัตว์โลกไปสู่การพ้นทุกข์  แต่ไม่มีความสามารถที่จะทำให้สัตว์โลกทั้งหลายพ้นทุกข์ได้ด้วยการเสกเป่า  แต่จะต้องเกิดจากการบำเพ็ญ เกิดจากการปฏิบัติของแต่ละบุคคล  พระพุทธเจ้ามีหน้าที่สั่งสอนชี้บอกทาง  ผู้ใดมีศรัทธานำไปปฏิบัติ ก็จะได้รับประโยชน์จากธรรมอันประเสริฐนี้  ผู้ไม่มีศรัทธา ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ คือหลังจากได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ไม่เชื่อว่าสิ่งที่ทรงสั่งสอนนั้นเป็นความจริง  ไม่เชื่อว่าการทำบุญละบาป ทำจิตใจให้สะอาดหมดจด เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญที่แท้จริง  เพราะใจยังถูกโมหะความหลง  อวิชชาความไม่รู้จริงครอบงำอยู่ ทำให้มีความอยากในสิ่งต่างๆในโลกนี้ เพราะคิดว่าถ้าได้มีสิ่งต่างๆ เช่น สมบัติ ข้าวของเงินทอง บุคคลต่างๆ  ตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์  ความสุขที่ได้จากสัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ถูกอกถูกใจนั้น เป็นความสุขเป็นความเจริญ  ก็จะไม่เข้าใจถึงหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ที่ให้ลดให้ละในการยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข  เพราะใจของปุถุชนยังมืดบอด   มีความเห็นผิดเป็นชอบ  เห็นกงจักรเป็นดอกบัว  เห็นตรงข้ามกับสัจธรรมความจริง ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้เห็นมา  แล้วทรงนำมาสั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลาย 

ถ้าฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วไม่เกิดศรัทธา ก็แสดงว่าจิตใจยังมีความมืดบอดมาก   แม้แสงสว่างแห่งธรรมของพระพุทธเจ้า ก็ไม่สามารถส่องทะลุผ่านเข้าไปสู่ใจ เพื่อให้เห็นถึงความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงรู้ทรงเห็น  ก็ต้องถือว่าเป็นบุคคลที่มีกรรมมาก  เคยสะสมกิเลสตัณหา  โมหะอวิชชา  มามาก จนไม่สามารถรับธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้  จึงถือว่าเป็นคนที่เสียโอกาสไป  ถึงแม้จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์และได้มาพบพระพุทธศาสนา   แต่กลับไม่ได้รับประโยชน์  จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง  แต่สำหรับพวกเราทั้งหลายที่ได้มาประชุมกันในวันนี้  เป็นผู้มีบุญมีกุศล  เพราะว่าการที่จะมาวัด มาทำบุญ มาฟังเทศน์ฟังธรรมได้นี้  จะต้องเกิดจากจิตที่มีศรัทธา มีความเชื่อในบุญในกุศล  ในบาปในกรรม  ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  แสดงว่าจิตใจไม่มืดสนิท จนไม่มีแสงสว่างอันใดเล็ดลอดเข้าไปได้เลย  แสดงว่าใจยังมีความสว่างอยู่บ้าง  และเมื่อได้สัมผัสแสงสว่างจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ทำให้เกิดศรัทธาความเชื่อ วิริยะความพากเพียร ที่จะประกอบคุณงามความดี  ละการกระทำความชั่วทั้งหลาย  และปฏิบัติจิตตภาวนา ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด 

การได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้เจอพระพุทธศาสนา จึงเป็นบุญเป็นกุศล เป็นโชคเป็นวาสนา  เพราะได้พบกับสิ่งที่ดีที่งาม  ที่จะนำพาไปสู่ความสุขความเจริญ ไปสู่ความพ้นทุกข์ได้อย่างแน่นอน  จึงควรมีความมั่นใจแน่วแน่ต่อพระพุทธเจ้า  ต่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ต่อพระอริยสงฆสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ว่าเป็นที่พึ่งของเราได้ เป็นผู้นำพาเราไปสู่ความสุขความเจริญที่เราทุกคนปรารถนากันได้  เราจึงมีฉันทะความยินดี  มีวิริยะความพากเพียร ที่จะเดินทางมาที่วัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  เมื่อปฏิบัติไปแล้วผลก็จะค่อยๆปรากฏขึ้นมาภายในใจ  เพราะหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น สอนไปที่ใจเป็นหลัก  ไม่ได้สอนไปที่สิ่งของต่างๆภายนอก  บางคนไม่เข้าใจคิดว่าเมื่อได้ทำบุญ ได้ปฏิบัติธรรมแล้ว จะเจริญในทางลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข  นี่เป็นความเข้าใจผิด  เพราะว่าผลที่จะเกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้น จะเกิดขึ้นในใจของเรา  เพราะว่าธรรมที่เราปฏิบัตินี้เป็นเหมือนกับยารักษาโรค  โรคที่จะรักษานี้ก็คือโรคของความเศร้าโศกเสียใจ  ความทุกข์  ความวุ่นวายใจต่างๆ 

ผู้ใดมีธรรมโอสถเข้าไปสถิตอยู่ในใจแล้ว  จิตใจจะสงบ  จะเย็น  จะไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อนกับเรื่องราวต่างๆ ที่มากระทบกับชีวิตในแต่ละวัน  เพราะมีธรรม มีแสงสว่าง มีปัญญาที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  ทำให้ไม่หลงติดอยู่กับสิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับใจ  นี่ต่างหากคือผลที่จะปรากฏขึ้นมาภายในใจ  ไม่ได้เป็นผลที่จะตามมาจากภายนอก  แต่ผลที่เกิดจากภายนอกก็มีส่วนด้วยแต่เป็นผลพลอยได้ ไม่ได้เป็นผลหลัก  คือคนทำบุญ ทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรมนี้ ไม่จำเป็นจะต้องร่ำรวย ไม่จำเป็นจะต้องมีตำแหน่งสูงๆ  ไม่จำเป็นจะต้องมีใครมาสรรเสริญเยินยอ  ไม่จำเป็นจะต้องมีความสุขในกามคุณทั้ง ๕   เพราะผู้ปฏิบัติธรรมย่อมเป็นคนดี  ย่อมทำให้ผู้อื่นเลื่อมใสศรัทธา  แล้วสนับสนุนให้เจริญในลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข   แต่ไม่แน่เสมอไป  ดังนั้นเวลาปฏิบัติธรรม  ทำบุญทำทาน รักษาศีล  ก็ขอให้ดูที่ใจที่มีความสบาย  อย่างวันนี้ได้มาวัด  ได้มาทำบุญให้ทาน ฟังเทศน์ฟังธรรม  ใจก็มีความสบาย ไม่มีความวุ่นวาย  เพราะในขณะนี้กิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ   ไม่ปรากฏขึ้นมาในใจ เมื่อไม่ปรากฏขึ้นมา ความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ก็ไม่ปรากฏขึ้นมา เพราะว่าการกระทำความดีในขณะนี้ เป็นเหตุให้กิเลสตัณหาไม่สามารถแสดงอาการออกมาได้ 

เหมือนกับเวลารับประทานยารักษาโรค  เชื้อโรคที่สร้างความเจ็บไข้ได้ป่วยให้กับร่างกาย ก็จะไม่มีกำลังทำให้ร่างกายเกิดอาการเจ็บป่วย  แต่ถ้าไม่ได้รับประทานยา  เชื้อโรคก็จะต้องแสดงอาการออกมา ทำให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา การปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  จึงเป็นการรักษาโรคภายในใจ  รักษาความซึมเศร้าเหงาหงอย  เศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์  วิตกกังวล  กลัวเรื่องราวต่างๆ  ผู้ที่ได้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว ใจจะไม่มีอาการเหล่านี้  ไม่ว่าในโลกนี้จะมีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นมาก็ตาม  ก็จะไม่สามารถทำให้จิตใจหวั่นไหวได้  จิตใจของพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นจิตใจที่สะอาดหมดจด  เป็นจิตใจที่ได้รับการชำระกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไปจากใจแล้ว  เมื่อเป็นเช่นนั้น เวลามีอะไรมากระทบกับใจก็ไม่ซึมซับเข้าไปในใจ  เพราะใจไม่มีตัวเชื่อมคือกิเลสตัณหา  อุปาทานความยึดมั่นต่างๆ  เมื่อไม่มีในใจของผู้ใดแล้ว  ใจของผู้นั้นก็จะไม่ได้รับการกระทบจากสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย  ใจจะนิ่งสงบ อยู่เฉยๆ เป็นอุเบกขา  ไม่ยินดียินร้ายกับอะไร  จะเสียอะไรไปก็ไม่เสียใจ  จะได้อะไรมาก็ไม่ดีใจ  เพราะไม่มีกิเลสตัณหาอยู่ในใจนั่นเอง เหมือนกับหยดน้ำบนใบบัว  ที่ไม่ซึมซับเข้าหากัน  หยดน้ำบนใบบัวเป็นรูปกลมๆ กลิ้งไปกลิ้งมา  ต่างกับหยดน้ำบนกระดาษซับ กระดาษซึม  พอหยดน้ำไปบนกระดาษซับกระดาษซึม  น้ำก็จะถูกกระดาษดูดซึมเข้าไปหมด เป็นลักษณะของใจปุถุชนอย่างเราอย่างท่านทั้งหลาย 

ใจของพวกเราเป็นแบบนี้  เวลามีอะไรมากระทบ  ก็จะออกไปรับเต็ม ๑๐๐ เลย  ถ้าได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังอะไรที่ถูกอกถูกใจ ก็จะเกิดความดีอกดีใจขึ้นมา  เกิดความอยากความโลภขึ้นมา อยากได้สิ่งนั้นๆที่ได้สัมผัส ให้มีมากขึ้นไป ให้อยู่นานๆ  ทำให้เกิดความดิ้นรนขึ้นมา  การดิ้นรนของใจนี้ก็เป็นความทุกข์แล้ว  ในทางตรงกันข้าม ถ้าได้สัมผัสกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ  ก็จะเกิดความรังเกียจ เกิดความไม่ชอบขึ้นมา  เกิดความอยากที่จะให้สิ่งนั้นๆหายไปจากใจ  นี่ก็เป็นอาการทุรนทุรายอีกอย่างหนึ่ง  ก็เป็นความทุกข์อีกอย่างหนึ่ง  นี่คือลักษณะของใจของพวกเราทุกๆคน  วันๆหนึ่งนี้ ใจจะแกว่งไปแกว่งมาเหมือนกับลูกตุ้มนาฬิกา  ไม่เคยอยู่นิ่งเลย  เวลาเจออะไรที่ชอบก็แกว่งเข้าไปหา  เวลาเจออะไรที่ไม่ชอบก็แกว่งถอยออกมา  เลยเกิดอาการแกว่งไปแกว่งมา  ใจก็เลยมีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัวตลอดเวลา  แต่ใจของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์นี้ ถ้าเป็นลูกตุ้มนาฬิกาก็จะอยู่เฉยๆ อยู่นิ่งๆ ไม่แกว่งไป ไม่แกว่งมา เวลามีอะไรมากระทบก็ไม่แกว่งไปหา ไม่แกว่งหนี   อยู่เฉยๆ  เพราะตัวที่ทำให้ใจแกว่งไปแกว่งมา คือกิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆนั้น  ไม่มีอยู่ในใจแล้ว

ดังนั้นถ้าพวกเราทั้งหลายปรารถนาความสุขที่แท้จริง  เราก็ต้องหันเข้ามาดูแลใจของเรา  แก้ปัญหาใจที่ยังมีตัวที่ทำให้ใจแกว่งอยู่  นั่นก็คือกิเลสตัณหา  ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากทั้งหลาย  ถ้าไม่จัดการกับกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจ  ถึงแม้ชีวิตของเราจะเจริญรุ่งเรืองในทางลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุขก็ตาม  แต่ใจจะไม่เจริญตามไปด้วย  ใจก็ยังต้องแกว่งไปแกว่งมา  ยังต้องกินไม่ได้นอนไม่หลับ  ต้องดีใจเสียใจ  ห่วงเรื่องนั้นห่วงเรื่องนี้  กังวลกับเรื่องนั้นกังวลกับเรื่องนี้อยู่ตลอดไป  ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด  ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมาจนถึงคนขอทาน ก็จะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน  เพราะว่าใจไม่ได้รับการแก้ไขนั่นเอง  แต่ถ้าได้รับการแก้ไขแล้ว จนไม่มีตัวเหตุที่จะทำให้ใจต้องแกว่งไปแกว่งมา  ใจก็จะเป็นเหมือนของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  เป็นใจที่มีแต่ความสุข เป็นบรมสุข  ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้เสมอว่า นิพพานัง  ปรมัง สุขัง  นิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่ง 

นี่คือสภาพของใจที่ไม่มีกิเลสตัณหาอยู่แล้ว  เรียกว่านิพพาน  นิพพานไม่ใช่สถานที่อะไรที่ไหน  เป็นสภาพของใจที่สะอาดบริสุทธิ์หมดจด  ผู้ที่ได้บรรลุถึงพระนิพพานก็ไม่ได้สูญหายไปไหน  พระพุทธเจ้าบรรลุถึงพระนิพพานตั้งแต่วันเพ็ญเดือน ๖  ในขณะที่มีพระชนมพรรษาเพียง ๓๕ พรรษาเท่านั้น   หลังจากนั้นก็ยังทรงมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกถึง ๔๕ พรรษา  ไม่ได้สูญหายไปไหน  แม้กระทั่งหลังจากที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็เป็นการดับของสังขารร่างกายเท่านั้น  แต่ใจที่สะอาดบริสุทธิ์  ใจที่เป็นนิพพานนี้ก็ไม่ได้สูญสลายไปไหน  ก็เป็นใจสะอาดบริสุทธิ์อยู่อย่างนั้น  เพียงแต่ว่าเป็นใจที่ไม่มีอุปาทาน  ไม่มีตัณหาอันเป็นเหตุที่จะทำให้ใจไปเกิดอีกเท่านั้นเอง  ใจก็ยังเป็นใจอยู่อย่างนั้น  แต่เป็นใจที่มีแต่ความสุข ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ครบถ้วนบริบูรณ์   เป็นใจที่ไม่มีความหิวความกระหาย  ความอยาก  เมื่อไม่มีแล้ว ก็เลยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเกิดอีกต่อไป  ส่วนใจของปุถุชนอย่างพวกเราทั้งหลายนี้  ยังมีกิเลส มีตัณหา มีความอยากอยู่  ถึงแม้ร่างกายของเราจะแตกสลายไปในที่สุดแล้ว  ใจของเราก็ยังอยู่นิ่งเฉยๆไม่ได้  เหมือนกับลูกตุ้มนาฬิกาที่ยังแกว่างไปแกว่งมาอยู่  ก็ยังต้องไปเกิดต่อไป  ถ้าใจเป็นเหมือนกับลูกตุ้มนาฬิกาที่ไม่แกว่งแล้ว   ใจก็จะไม่ไปเกิดอีกต่อไป 

นี่คือความแตกต่างระหว่างจิตของพระพุทธเจ้า จิตของพระอรหันต์ทั้งหลาย  กับจิตของปุถุชนอย่างพวกเราทั้งหลาย  ต่างกันตรงนี้เท่านั้นเอง  ต่างตรงที่ว่าในใจนั้นมีกิเลสตัณหาหลงเหลืออยู่หรือไม่เท่านั้น  ถ้าไม่มีกิเลสตัณหาหลงเหลืออยู่แล้ว  ใจก็เป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์  เมื่อสังขารร่างกายนี้แตกสลายไป  ใจก็ไม่ไปแสวงหาร่างกายอันใหม่อีกต่อไป  ก็ไม่ต้องไปเกิด  เพราะไม่มีความหิว ไม่มีความต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย  แต่ถ้าใจยังมีกิเลสตัณหาอยู่  เมื่อตายไปใจก็ยังต้องไปหาร่างกายที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อจะได้หาความสุขกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อีกต่อไป   และจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด  เพราะว่าต้นเหตุที่ทำให้ไปเกิดนั้นยังไม่ได้รับการชำระนั่นเอง  ตราบใดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆภายในใจ ยังไม่ได้รับการชำระด้วยการปฏิบัติธรรม  ใจก็ยังจะต้องเดินทางต่อไป   ยังต้องแกว่งไปแกว่งมาแบบไม่มีที่สิ้นสุด  ดังนั้นถ้าไม่ปรารถนาที่จะต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป  ไปหาความทุกข์อยู่ร่ำไป เราก็ต้องน้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ  คือละการกระทำบาปทั้งหลายเสีย  สร้างกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อม   และชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด ให้เหมือนกับจิตใจของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้