กัณฑ์ที่ ๑๕๖       ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

มรรค

 

การมาวัดอย่างสม่ำเสมอทุกๆวันพระ เพื่อทำบุญให้ทาน รักษาศีลฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม  เป็นการเจริญมรรค ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ประทานไว้ ให้กับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ได้ประพฤติปฏิบัติตาม  เพื่อความสุขความเจริญ ความพ้นทุกข์ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด  เป็นทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา เพราะเป็นวิธีพ้นทุกข์ที่อยู่กึ่งกลางของวิธีการดับทุกข์ที่สุดโต่งทั้ง ๒ วิธี คือ  วิธีหนึ่งมีความเห็นว่าพ้นทุกข์ได้ด้วยการหาความสุขให้มากๆ  คือความสุขจากกามคุณ ๕ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ซึ่งไม่ใช่เป็นทางที่จะทำให้พ้นทุกข์อย่างถาวร  แต่เป็นการพ้นทุกข์ในช่วงขณะหนึ่ง เช่นเวลาที่ไม่มีความสบายใจ แล้วก็ได้ออกไปเที่ยว  ได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ถูกอกถูกใจ ก็ทำให้เกิดความสุขอยู่ขณะหนึ่งในขณะที่ได้สัมผัส  หลังจากนั้นแล้วก็หายไป ก็ผ่านไป ทิ้งไว้แต่ความว้าเหว่ อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว  ทิ้งไว้แต่ความหิว ความกระหาย ความอยาก  ทิ้งไว้แต่ความทุกข์ ความไม่สบายใจ  จึงไม่ใช่เป็นทางที่นำพาให้ไปสู่ความสุข การหลุดพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริง 

อีกวิธีหนึ่งเห็นว่าพ้นทุกข์ได้  ด้วยการทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ เช่นพวกฤาษีชีไพรทั้งหลาย ที่คิดว่าการไม่แสวงหาความสุขใดๆในโลกนี้เลย กับการอยู่กับความยากความลำบากเท่านั้น ที่จะทำให้พ้นทุกข์  ให้ไปสู่ความสุขที่แท้จริง  เช่นไม่ใส่เสื้อผ้า ไม่ตัดผม ไม่โกนหนวด ทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ เช่นนั่งอยู่บนที่นั่งที่มีของแหลมเพื่อให้เกิดความเจ็บปวด   พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเคยอดพระกระยาหารถึง ๔๙ วัน ก็ไม่สามารถดับทุกข์ภายในใจได้  ใจก็ยังมีความทุกข์ มีความกังวล มีความกลัว มีความว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่เหมือนเดิม   จึงทรงเห็นว่าการทรมานตนด้วยวิธีการต่างๆ ก็ไม่ใช่เป็นทางที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์  ในทางกลับกัน การหาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างที่คนส่วนใหญ่แสวงหากัน ด้วยการไปเที่ยว ไปดูหนัง ดูละคร ไปกินเหล้าเมายา ไปเสพกามกัน  ก็ไม่ใช่เป็นทางที่จะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์  เพราะได้ทรงประพฤติมาเหมือนกันในสมัยที่เป็นพระราชกุมาร  ได้อยู่ท่ามกลางความสุขของกามคุณ ๕   แต่ก็ไม่ได้ทำให้พระทัยสงบเย็นสบาย ปราศจากความว้าวุ่นขุ่นมัว ความกังวล ความกลัว ความทุกข์ทั้งหลาย  จึงทรงเห็นว่า ทางทั้ง ๒ ทางนี้ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์  จึงได้ทดลองทางที่ ๓ ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างทางทั้ง ๒ นี้  คือทางแห่งมรรคที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้

หลังจากที่ได้ทรงปฏิบัติอยู่ถึง ๖ ปีด้วยกัน จึงได้ทรงตรัสรู้ในพระอริยสัจ ๔  ทรงรู้ทุกข์ รู้สมุทัย ต้นเหตุของทุกข์  รู้นิโรธ การดับทุกข์  รู้มรรค ทางดับทุกข์  เมื่อได้ทรงตรัสรู้ด้วยการประพฤติปฏิบัติแล้ว จึงมีความมั่นใจ  เพราะได้ทรงหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายแล้ว  และได้พบกับความสุขที่แท้จริง  จึงได้นำเอามรรคคือการปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์นี้มาเผยแผ่สั่งสอนให้กับสัตว์โลกทั้งหลาย  ผู้ที่มีจิตศรัทธาหลังจากได้ยินได้ฟังแล้วนำไปปฏิบัติ ก็จะได้ประสบพบกับการหลุดพ้นจากความทุกข์ ได้พบกับความสุขที่แท้จริง จึงเป็นที่มาของการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ด้วยการมาวัดกันเป็นประจำ เพื่อเจริญมรรคที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้ดำเนินนั่นเอง  มรรคที่ทรงสอนก็ทรงแสดงไว้หลายลักษณะด้วยกัน   แต่ก็เป็นมรรคอันเดียวกัน ต่างแต่ชื่อเท่านั้น  บางครั้งก็ทรงแสดงมรรคมีองค์ ๘ คือ  . สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ   . สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ   . สัมมาวาจา เจรจาชอบ    . สัมมากัมมันโต การกระทำชอบ   . สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ           .สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ   . สัมมาสติ  สติชอบ   . สัมมาสมาธิ การตั้งมั่นของจิตชอบ เรียกว่ามรรคที่มีองค์ ๘  คำว่าชอบแปลว่าถูกต้อง 

บางครั้งก็ทรงแสดงเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา  ซึ่งก็มาจากมรรคที่มีองค์ ๘ เช่นกัน  เพราะศีลก็คือสัมมากัมมันโตการกระทำที่ถูกต้อง  สัมมาวาจาการพูดที่ถูกต้อง  สัมมาอาชีโวการเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง  สมาธิก็คือสัมมาสมาธิ  ปัญญาก็คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป  ส่วนสัมมาวายาโมกับสัมมาสติคือความพากเพียรที่ถูกต้องและการระลึกรู้ที่ถูกต้อง ก็เป็นองค์ประกอบที่สนับสนุนการเจริญศีล สมาธิ ปัญญา  ผู้ใดเจริญศีล สมาธิ ปัญญา จำต้องมีสัมมาวายาโม ความพากเพียรที่ถูกต้อง  มีสัมมาสติการระลึกรู้ที่ถูกต้อง  ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถเจริญศีล สมาธิ ปัญญาได้  เช่น ญาติโยมเวลามาที่วัดก็ต้องมีสติรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ รู้ว่ากำลังมาวัด รู้ว่าจะต้องมาทำอะไร  ก็เตรียมตัวเตรียมข้าวเตรียมของมา  เตรียมจิตเตรียมใจมา  เพื่อมาประกอบกิจที่พึงกระทำ เรียกว่าสัมมาวายาโม ความพากเพียรที่ถูกต้อง มาทำความดี มาละความชั่วนั่นเอง  นี่ก็คือมรรคที่มีองค์ ๓ เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา 

บางครั้งก็ทรงแสดงมรรคไว้อีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า ทาน ศีล ภาวนา  นี่ก็เป็นมรรคที่มีองค์ ๘ เช่นกัน เพียงแต่เพิ่มทานเข้าไป เพราะทรงสอนให้ กับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ผู้ยังมีความยึดติดอยู่กับทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ  จึงจำเป็นต้องสอนให้เสียสละด้วยการให้ทาน  เพราะการจะไปสู่การพ้นทุกข์ได้ จะต้องปล่อยวางทรัพย์สินสมบัติข้าวของสิ่งภายนอกทั้งหลาย  ถ้าจิตยังมีความผูกพัน มีความยึดมั่นถือมั่นอุปาทานอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ก็จะทำให้จิตใจมีความว้าวุ่นขุ่นมัว มีความกังวล มีความทุกข์ มีความไม่สบายใจ  จึงต้องสอนทาน ศีล ภาวนา ให้กับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน  ส่วนศีลก็เหมือนกับศีลในศีล สมาธิ ปัญญา คือสัมมากัมมันโตการกระทำที่ถูกต้อง  สัมมาวาจาการพูดที่ถูกต้อง  สัมมาอาชีโวการเลี้ยงชีพที่ถูกต้องเหมือนกัน  ส่วนภาวนาก็หมายถึงการเจริญสมาธิและปัญญานั่นเอง  เหมือนกับศีล สมาธิ ปัญญาที่พระพุทธองค์จะทรงสอนให้กับพระภิกษุผู้ปฏิบัติธรรม  เวลาสอนพระภิกษุผู้ปฏิบัติ ผู้ออกบวชจะไม่สอนเรื่องทาน เพราะได้เสียสละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองหมดไปแล้ว ไม่มีเหลืออยู่ติดตัวแล้ว  เวลามาบวชก็มาตัวเปล่าๆ มาด้วยศรัทธา  ไม่ได้เอาทรัพย์สินเงินทองข้าวของติดตัวมาด้วย  ไม่ได้เอายศถาบรรดาศักดิ์ติดตัวมาด้วย  ได้เสียสละไปหมดแล้ว  จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสอนเรื่องทานให้กับพระภิกษุนักบวชทั้งหลาย  แต่ถ้าเวลาสอนให้กับฆราวาสยังต้องสอนเรื่องการให้ทานอยู่  จึงทรงสอนทาน ศีล ภาวนา  ถ้าสอนให้กับนักบวชก็จะทรงสอนศีล สมาธิ ปัญญา  แล้วก็ขยายความไปสู่มรรคที่มีองค์ ๘  ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิไปจนถึงสัมมาสมาธิ 

มรรคที่มีองค์ ๘ นี้ไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล ภาวนาก็ดี  ศีล สมาธิ ปัญญาก็ดี  จำต้องเจริญไปพร้อมๆกัน  เพราะมรรคเปรียบเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง  มีส่วนประกอบหลายส่วนด้วยกัน  เช่น มีล้อ มีเครื่องยนต์ มีตัวถัง มีพวงมาลัย มีคันเร่ง มีเบรก มีอะไรหลายๆ อย่างด้วยกัน  จำต้องมีสิ่งเหล่านี้ในการที่จะทำให้รถยนต์นั้นวิ่งไปได้  เวลารถยนต์วิ่งก็ไปพร้อมๆ กันทั้งหมด ทั้งล้อ ทั้งเครื่องยนต์ ทั้งกระบะ ทั้งตัวถัง ทั้งพวงมาลัย ทั้งเบรก ทั้งคันเร่ง ไปพร้อมๆกันหมด  ฉันใดการเจริญมรรค เช่น ทาน ศีล ภาวนา  หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา  หรือมรรคที่มีองค์ ๘ ก็ต้องเจริญไปพร้อมๆกัน   ต้องมีการทำบุญให้ทานอย่างสม่ำเสมอ มีการรักษาศีลอย่างต่อเนื่อง  มีการเจริญจิตตภาวนา  เจริญสมาธิปัญญาอย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอเช่นกัน  เหมือนกับเวลารับประทานอาหาร ก็ต้องรับประทานอาหารให้ครบทุกอย่าง ที่มีความจำเป็นต่อการทำให้ร่างกายอยู่ไปได้ โดยไม่เจ็บไข้ได้ป่วย  คือต้องรับประทานข้าว กับข้าว ของหวาน  ผลไม้ น้ำ  ร่างกายจึงจะได้สารอาหารที่ครบถ้วน  ทำให้เจริญเติบโต อยู่ไปได้โดยไม่เจ็บไข้ได้ป่วย 

ฉันใดการบำเพ็ญธรรม คือมรรคที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็ต้องบำเพ็ญพร้อมๆกันไป  ไม่แยกกันทำทีละขั้น  ซึ่งเป็นสิ่งที่บางคนบางท่านอาจจะยังไม่เข้าใจ ก็คิดว่าตอนนี้ขอเพียงทำทานอย่างเดียวก่อน ยังไม่รักษาศีล  ไม่ไหว้พระสวดมนต์ ไม่ปฏิบัติธรรม  บางท่านก็ขอทำแต่ทานและรักษาศีลแต่ยังไม่ปฏิบัติธรรม  อย่างนี้แสดงว่ายังไม่ได้เจริญมรรคให้ครบองค์ ๘  หรือถ้าขับรถก็ไม่ได้เอารถไปทั้งคันรถ  บางทีเอากระบะรถไปแต่ไม่เอาล้อไป รถก็ไปไม่ได้ ไปไม่ถึงไหน ต้องเอาไปทั้งคันรถ ถึงจะไปได้  ฉันใดการปฏิบัติธรรมเจริญมรรค ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็ต้องปฏิบัติไปพร้อมๆกันทั้งหมด  ทานก็ต้องทำ  ศีลก็ต้องรักษา จิตตภาวนาก็ต้องเจริญ  ถ้าไม่ทำอย่างนั้นแล้ว ผลที่ปรารถนาก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา  เพราะว่าองค์ประกอบไม่บริบูรณ์ ไม่ครบนั่นเอง  เหมือนกับการรับประทานอาหารที่ไม่ครบ ก็จะทำให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย  บางทีไปหาหมอ หมอก็บอกว่าไม่ได้เป็นอะไรหรอก เพียงแต่ร่างกายขาดสารอาหารบางชนิดไปเท่านั้นเอง  ถ้ากินอาหารให้ครบทุกส่วนแล้วสารอาหารก็จะได้ครบ  ร่างกายก็จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย  ฉันใดการจะทำให้ใจมีความสุข ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความวิตก ไม่มีความกังวล ก็ต้องเกิดจากการเจริญมรรคให้ครบทุกๆ ส่วนนั่นเอง 

จึงขอให้เจริญทาน ศีล ภาวนา ก็ดี ศีล สมาธิ ปัญญาก็ดี  หรือมรรค ๘ ก็ดี ให้ครบถ้วนบริบูรณ์  แล้วผลที่ประเสริฐที่เลิศ คือการพ้นจากความทุกข์ มีแต่ความสุขภายในใจ ไม่มีความว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ  ไม่มีความทุกข์ ความอาลัยอาวรณ์ต่างๆ  ก็จะปรากฏขึ้นมาในใจ   ใจจะไม่ไขว่คว้า ไม่หิว ไม่อยากกับอะไรทั้งสิ้นในโลกนี้  ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ หรือกามสุขทั้งหลาย ใจจะไม่อยากเลย  เพราะรู้ว่าหาใช่เป็นความสุขไม่ แต่เป็นความทุกข์  เพราะเป็นไตรลักษณ์นั่นเอง  เป็นของไม่เที่ยง  เป็นของที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ  ไม่มีใครบังคับให้อยู่กับตัวเองไปได้ตลอดเวลา  เมื่อบังคับไม่ได้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อไปหลงไปยึดไปติดเข้า ก็จะต้องเกิดความทุกข์ขึ้นมา  ผู้ที่ได้เจริญมรรคของพระพุทธเจ้าแล้วย่อมมีปัญญา ย่อมเห็นตามสภาพความเป็นจริงว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ไม่เป็นความสุขเลย  เป็นแต่ความทุกข์  จึงไม่เคยที่จะคิดที่จะเข้าไปหาลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุขเลย  มีแต่จะถอยออก  มีแต่จะหนี ไม่เข้าไปเกี่ยวพันด้วย 

ถ้าจำเป็นต้องเกี่ยวข้องด้วย  เช่น มีศรัทธาญาติโยมนำปัจจัยข้าวของต่างๆมาถวายมาให้ ก็จะไม่ยึดไม่ติด  จะไม่หลงคิดว่าเป็นของๆตน  จะไม่หลงคิดว่าเป็นสิ่งที่จะให้ความสุขกับตน  แต่รับไว้ด้วยความเกรงใจ  รับไว้เพื่อฉลองศรัทธา ของผู้ที่ยังมีความจำเป็น ต่อการทำบุญทำทานอยู่  ก็รับให้เขา เพื่อเขาจะได้สำเร็จประโยชน์ จะได้บุญได้กุศล  แต่ผู้รับก็จะไม่เก็บไว้เพื่อใช้สำหรับตนเลย  มีแต่จะนำเอาไปช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป  เช่น เอาไปทำสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์  ไปช่วยสร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน  ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ  ให้ทุนการศึกษากับผู้ด้อยโอกาส  สงเคราะห์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากที่ไม่มีใครเหลียวแล  ถึงแม้จะไม่ได้เป็นนักบวชก็ตาม  ไม่ได้เป็นคนดีเลิศก็ตาม  แต่หลักมนุษยธรรมก็ยังมีความจำเป็นอยู่  ตราบใดที่ยังมีคนไม่สามารถช่วยตัวเองได้อยู่ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องพาไปหาหมอให้ได้รับการรักษา ถ้าไม่มีอาหารรับประทาน ก็ต้องดูแลช่วยเหลือกันไป เขาล้มก็ช่วยให้เขาลุกขึ้นมา เพื่อจะได้เดินไปเองได้  ไม่ได้ช่วยแบบแบกหามเขาไปตลอดเวลา  ทำให้เขากลายเป็นคนพิการไป  ถ้าช่วยแบบนี้ไม่เป็นการช่วยที่ถูกต้อง  ช่วยเขาเพราะเขาช่วยตัวเขาเองไม่ได้  ช่วยเขาเพื่อให้เขาช่วยตัวเองได้  เมื่อเขาช่วยตัวเองได้แล้ว เขาจะได้ไม่ต้องไปรบกวน ไปพึ่งพาอาศัยผู้อื่น หลักมนุษยธรรมจึงเป็นความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนชั่ว  ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเป็นเดรัจฉาน ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลซึ่งกันและกัน  แม้กระทั่งโจรผู้ร้าย เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ยิงได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ก็ยังต้องนำไปส่งโรงพยาบาล  ไปรักษาให้หายเสียก่อน  เมื่อหายแล้วจึงค่อยนำไปดำเนินคดีต่อไป 

นี่คือหลักของการเจริญมรรค ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่กุศลคุณงามความดี  ชำระจิตให้สะอาดหมดจด ละกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจให้หมดสิ้นไป ด้วยการเจริญมรรค คือศีล สมาธิ ปัญญา  หรือทาน ศีล ภาวนา  เป็นวิธีที่จะทำให้จิตใจสะอาดหมดจด ประสบกับความสุขที่แท้จริง หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย เราจึงต้องมาวัดกันอย่างสม่ำเสมอ  ถึงแม้จะไม่ได้มาวัด  ก็ยังต้องบำเพ็ญเหมือนกัน  เพราะการบำเพ็ญไม่ได้หมายถึงการบำเพ็ญที่วัดอย่างเดียว  การบำเพ็ญที่แท้จริงต้องบำเพ็ญได้ทุกแห่งทุกหน  เพราะสิ่งที่เราบำเพ็ญคือกาย วาจา ใจ ของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกาลและสถานที่ อยู่ที่ไหนก็มีกาย มีวาจา มีใจ  จึงต้องเจริญสัมมาสติคือการระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา  ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทางความคิดอย่างไร ก็ต้องมีสติระลึกรู้อยู่เสมอ  ต้องตามรู้อยู่เสมอว่า ในขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ พูดอะไรอยู่ กำลังคิดอะไรอยู่ สิ่งที่กำลังพูด กำลังคิด กำลังทำอยู่นี้ ถูกต้องหรือไม่  เป็นสัมมาหรือเป็นมิจฉา ถูกหรือผิด ถ้าเป็นสัมมาก็ทำต่อไป  ถ้าเป็นมิจฉาคือไม่ถูกต้องเป็นความผิด ก็ต้องระงับทันที  เช่น กำลังฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่หรือเปล่า ถ้ากำลังทำอยู่ ก็ต้องหยุดทันที  เวลายุงมาเกาะก็ตบยุงทันที อย่างนี้แสดงว่าไม่มีสัมมาสติ ไม่มีการระลึกรู้ถึงการกระทำของเรา  ถ้ามีสติพอมือจะไปตียุงเข้า ก็ต้องรู้แล้วว่ากำลังเป็นมิจฉา เป็นการกระทำที่ผิด ก็ต้องหยุดทันที

การเจริญมรรค ๘  ที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเจริญอยู่ตลอดเวลา ก็คือสัมมาสติ การระลึกรู้อยู่ทุกเวลา  ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงเวลาหลับไป  จำต้องมีสติรู้อยู่เสมอว่ากำลังคิดอะไร กำลังพูดอะไร กำลังทำอะไร กำลังจะคิดอะไร  กำลังจะพูดอะไร กำลังจะทำอะไร ต้องรู้อยู่ว่าเป็นสัมมาหรือเป็นมิจฉา คือถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง  ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องระงับ  ถ้าถูกต้องก็ทำไปเลย  เพราะการกระทำที่ถูกต้อง การพูดที่ถูกต้อง ความคิดที่ถูกต้องจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญนั่นเอง ส่วนการกระทำที่ไม่ถูกต้องที่เป็นมิจฉา ก็จะทำให้เกิดผลเสียตามมา ผลร้ายตามมา ทั้งกับตัวเราและกับผู้อื่น จึงต้องมีสติดูความเคลื่อนไหวของกาย วาจา ใจ อยู่เสมอ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งใจของเรา  เพราะการกระทำทางกาย ทางวาจานั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเกิดจากการกระทำทางใจเสียก่อน  ใจต้องคิดก่อนแล้วจึงค่อยสั่งการไปที่กายและวาจา  จึงต้องดูใจเรา ดูความคิดเราอยู่เสมอว่า กำลังคิดอะไรอยู่  ดูอารมณ์ของเราว่า ขณะนี้เป็นปกติหรือเปล่า  มีความโลภหรือเปล่า มีความโกรธหรือเปล่า  มีความหลงหรือเปล่า มีความอยากหรือเปล่า  ถ้ามีแสดงว่าใจเริ่มไปในทางที่ไม่ชอบแล้ว ไปทางมิจฉาแล้ว ต้องระงับดับเสีย ด้วยการเจริญกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง  เช่น บริกรรมพุทโธๆๆไปก็ได้  หรือเจริญปัญญาไปก็ได้   สอนตนบอกตนว่า กำลังคิดไม่ดี  กำลังสร้างปัญหาให้กับตัวเอง 

เวลาโลภต้องถามตัวเองว่าจำเป็นไหมสิ่งที่ต้องการ  ถ้าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น ต้องรับประทานอาหาร ต้องมีเสื้อผ้าใส่ ต้องมีบ้านอยู่ ต้องมียารักษาโรค  ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นความโลภ แต่เป็นความจำเป็น ถ้ามีเกินความจำเป็น  เช่น ตอนนี้เสื้อผ้าก็มีพอใส่แล้ว อาหารก็มีพอกิน  บ้านก็มีพออยู่แล้ว  ยารักษาโรคก็มีพออยู่แล้ว  แต่กลับยังไม่พอใจ  ยังอยากจะได้บ้านที่ใหญ่โตขึ้นกว่าเดิม  มีเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นมาอีก มีอาหารพิสดารราคาแพงๆรับประทาน  รักษาโรคในโรงพยาบาลที่มีราคาสูงๆแพงๆ  ถ้าคิดอย่างนี้แล้วแสดงว่ากำลังโลภ กำลังหลง  แล้วใจจะต้องว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่เป็นปกติ อยู่นิ่งเฉยเป็นอุเบกขาไม่ได้  จะต้องออกไปดิ้นรนหาสิ่งเหล่านี้มา  เมื่อได้มาแล้ว แทนที่จะเป็นความสุข กลับกลายเป็นความกังวล เพราะจะต้องรักษาให้อยู่กับตนไปนานๆ  ซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่าย เพราะทุกคนต้องทำมาหากิน ต้องหาเงินหาทอง แก่งแย่งชิงดีกัน  จึงมีแต่เรื่องราว ที่จะทำให้เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวกับจิตใจ ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน  จึงต้องใช้มรรค คือปัญญา เพื่อจะได้ดับความโลภ ความหลงทั้งหลาย เพื่อจะได้อยู่เย็นเป็นสุข ถ้าเจริญมรรคได้ครบถ้วนบริบูรณ์ ก็จะมีความสุขเต็มเปี่ยม เรียกว่าบรมสุข ปรมังสุขัง เป็นความสุขของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก จึงควรเจริญมรรคอยู่เสมอๆจนครบถ้วนบริบูรณ์  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้