กัณฑ์ที่ ๑๕๙      ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๖

อนิจจัง

 

พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติศาสนกิจ ให้สาธุชนทั้งหลายผู้ปรารถนาความสุขความเจริญได้นำไปปฏิบัติ  เพราะความสุขความเจริญเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้   เช่น การทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม  ปฏิบัติธรรม ขัดเกลาชำระกิเลสตัณหา ที่มีอยู่ภายในใจด้วยสมาธิและปัญญา   ถ้าไม่ปฏิบัติ ไม่ทำความดี ผลคือความสุขความเจริญย่อมไม่ปรากฏขึ้นมา  ถ้าเกิดมีความสุข มีความเจริญ มีความร่ำรวย มีชื่อเสียง มีตำแหน่งสูงๆ   ที่เป็นผลจากการกระทำความชั่วประพฤติมิชอบ ก่อกรรมทำเข็ญให้กับผู้อื่น ก็ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง  แต่เป็นความสุขที่ซ่อนเร้นด้วยความทุกข์   เป็นความเจริญที่ซ่อนเร้นไปด้วยความเสื่อมเสีย ความหายนะ ที่รอวันรอเวลาที่จะปรากฏขึ้นมา  คนที่ทำมิดีมิชอบ ฉ้อโกง ไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งก็ต้องถูกจับได้  แล้วก็จะต้องถูกนำไปทำโทษ

แต่คนที่ทำความดีด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  เวลาได้รับผลของความดี ก็ร่ำรวยได้เหมือนกัน  มีความสุขมีความเจริญได้เหมือนกัน  แต่เป็นความร่ำรวย เป็นความสุข ความเจริญที่ไม่มีโทษซ่อนเร้นอยู่  เป็นความสุขความเจริญที่แท้จริง  คนที่ทำความดีปฏิบัติธรรม ไม่จำเป็นที่จะต้องร่ำรวยเสมอไป ไม่จำเป็นจะต้องมีชื่อเสียง มีหน้ามีตา มียศถาบรรดาศักดิ์  แต่มีความสงบร่มเย็นเป็นสุขอยู่ภายในใจ เป็นสิ่งที่คนภายนอกไม่สามารถมองเห็นได้  แต่เป็นสิ่งที่ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะได้สัมผัส  อย่างพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  แต่ไม่ร่ำรวย  ไม่มีเงินทองสมบัติข้าวของอะไรมากมาย  ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ ไม่มีตำแหน่งสูงๆ ไม่มีใครมาคอยยกย่องสรรเสริญเยินยอ  แต่ในใจกลับรวยด้วยความสุข รวยด้วยความสงบ  รวยด้วยคุณธรรมความดีงาม ซึ่งเป็นผลที่จะปรากฏขึ้นมาในใจ ของผู้ปฏิบัติธรรม   ประพฤติตนในทางที่ดีที่งาม 

ดีกว่าคนที่ประพฤติมิชอบแล้วร่ำรวย  มีตำแหน่งสูงๆ  แต่มีแต่ความวุ่นวายใจ ความทุกข์ความกังวลใจ  ไปไหนมาไหนต้องมีรปภ. คอยรักษาความปลอดภัย คอยคุ้มกันอยู่ตลอดเวลา  อยู่ที่บ้านก็ต้องมี รปภ.คอยเฝ้ายามอยู่ตลอดเวลา  ถ้าอยู่อย่างนั้นแล้ว  รับรองได้ว่าจิตใจจะไม่มีความสงบร่มเย็นเป็นสุข  ถึงแม้จะมีบริษัท มีบริวารมากมาย  แต่ก็ไม่สามารถทำให้ใจมีความสงบร่มเย็นเป็นสุขได้  ในทางตรงกันข้ามอย่างพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวก ผู้ประกอบแต่คุณงามความดี  ไปไหนมาไหนไม่ต้องมีรปภ. มาคอยคุ้มกันรักษา  เข้าไปอยู่ในป่าเปลี่ยวคนเดียว อยู่ท่ามกลางสัตว์ต่างๆได้  โดยไม่มีความวิตก ไม่มีความกังวล  ไม่มีความกลัว  แล้วก็ไม่มีอะไรทำร้าย  เพราะไม่ได้ก่อกรรมทำเวรให้กับใครนั่นเอง  ทำแต่คุณงามความดี สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น  แผ่เมตตาความเป็นมิตร มีไมตรีจิตกับทุกๆคน  ไม่คิดปองร้าย  เบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบใคร  นี่แหละคือการกระทำที่จะนำพาไปสู่ความสุข ความเจริญที่แท้จริง  คือความสงบสุขของจิตใจ  เป็นผลของการทำความดี ทำบุญทำกุศล ปฏิบัติธรรม

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อทำบุญตักบาตรแล้ว  พรุ่งนี้ไปซื้อหวย งวดหน้าก็จะถูกล๊อตเตอร์รี่รางวัลที่ ๑  ถ้าคิดอย่างนี้ ก็เป็นความคิดที่ผิด  เพราะว่าการซื้อหวยเป็นการเสี่ยงโชค  มีเลขหลายเลขด้วยกัน  ถ้าไปหยิบเลขที่ตรงกับเลขที่ออก  ก็ถูกล๊อตเตอร์รี่ไป  แต่ไม่ได้เป็นผลที่เกิดจากการทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม  แต่เป็นโชคลาภ  หรือจะว่าเป็นบุญเก่าก็ได้  เป็นบุญที่เคยทำไว้ในอดีต  เมื่อถึงเวลาที่จะออกดอกออกผล  ก็ปรากฏขึ้นมาให้เห็น  แต่อย่าไปหวังว่าทำบุญในชาตินี้แล้วจะร่ำรวย  ความจริงแล้วถ้าทำบุญอย่างเดียว แล้วไม่ไปทำมาหากิน  กลับจะยากจนลงไปเสียอีก  เพราะเงินทองมีอยู่ก็จะค่อยๆหมดไป  แต่ก็ไม่เป็นไร  อย่างพระเวสสันดรท่านก็เป็นอย่างนั้น  มีเงินทองเท่าไร ก็ทำบุญไปจนกระทั่งหมดตัว  แต่ก็ไม่รู้สึกว่ายากจน  กลับมีความสบายอกสบายใจ  เพราะสมัยที่มีเงินทองนั้น  รู้สึกเป็นภาระหนักอก  ไหนจะต้องคอยดูแลรักษาเงินทอง  ไหนจะต้องทำให้งอกเงยขึ้นมา  ไหนจะต้องคอยรับแขกรับคนที่จะมาขอพึ่งบุญ ขอยืมเงิน ขอเงินไปใช้  เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่สร้างภาระทางด้านจิตใจ ทำให้จิตใจไม่สงบ ไม่สบาย ต้องคอยคิด คอยจัดการกับเงินทอง 

แต่เมื่อได้นำเงินทองที่มีอยู่ ไปทำบุญทำทาน ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  ก็ทำให้เกิดความเบาอกเบาใจ  โล่งอกโล่งใจ  ไม่ต้องห่วงเรื่องเงินทองแล้ว  ไม่มีใครมาคอยขอเงินขอทองแล้ว  ไม่มีใครมาคอยโกหกหลอกลวงแล้ว เพราะไม่มีอะไรให้แล้ว  ไม่มาตอมเหมือนแมลงวัน  ถ้าร่างกายสะอาด ไม่มีกลิ่นตัวเหงื่อไคล  แมลงวันก็ไม่ตอม  ฉันใดทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของต่างๆ ก็เป็นสิ่งดึงดูดให้คนมาตอม เมื่อไม่มีทรัพย์สมบัติเงินทองแล้ว  ก็จะไม่มีใครมาวุ่นวายด้วย  ก็จะอยู่ได้ด้วยความสงบ แต่เหตุที่พวกเราทั้งหลายยังไม่สามารถอยู่กันได้ด้วยความสงบเหมือนกับพระพุทธเจ้า  เหมือนกับพระอรหันตสาวก ก็เป็นเพราะว่าใจของเรายังไม่ได้รับการขัดเกลา ยังไม่ได้รับการชำระต้นเหตุ ที่ทำให้ใจไม่สงบนั่นเอง  นั่นก็คือกิเลสตัณหาต่างๆ ที่ยังมีอยู่ในใจอยู่  ตราบใดที่เรายังมีความอยาก มีความโลภอยู่ เราจะไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้  ถึงแม้จะมีสมบัติข้าวของเงินทองมากมายขนาดไหนก็ตาม มียศถาบรรดาศักดิ์   มีตำแหน่งสูงขนาดไหนก็ตาม  เราก็ยังจะไม่สามารถอยู่เฉยๆ แล้วบอกว่าพอได้  เรายังต้องดิ้นรนออกไปหามาเพิ่มอีก  อย่างน้อยที่สุดก็ต้องรักษาฐานะที่มีอยู่ไว้ 

ดังนั้นไม่ว่าจะร่ำรวยขนาดไหน  มีตำแหน่งสูงขนาดไหน  ก็ยังไม่สามารถอยู่เย็นเป็นสุขได้  เพราะใจยังถูกรบกวนด้วยกิเลสตัณหา ความโลภ ความอยากต่างๆอยู่  แต่ถ้าได้ปฏิบัติตามทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมา  พระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ปฏิบัติมา  คือขัดเกลาจิตใจด้วยการบำเพ็ญปฏิบัติธรรม  นั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ  เมื่อสงบแล้ว ออกจากสมาธิก็เจริญปัญญา   พยายามมองให้เห็นความเป็นจริงของทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ ที่เรามีความยินดี มีความรัก มีความยึดติดว่า  เป็นสิ่งที่น่ายินดี น่ารัก น่ายึดติดหรือไม่  หรือเป็นสิ่งที่น่ากลัว เป็นสิ่งที่จะสร้างแต่ความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจให้กับเรา  ถ้าศึกษาดูแล้วจะเห็นว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้  ไม่ว่าจะเป็นวัตถุข้าวของต่างๆ  เช่น ต้นไม้ ภูเขา อาคารบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติต่างๆ หรือบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดา  ญาติสนิทมิตรสหาย สามีภรรยา บุตรธิดา ทั้งหลาย  ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน  นี่คือความจริงข้อที่ ๑ เรียกว่าอนิจจัง  ไม่มีใครอยู่คงเส้นคงวาเหมือนเดิมไปตลอด มีการเจริญ แล้วก็มีการเสื่อม  เมื่อเกิดมาก็เจริญเติบโตขึ้นไป  และเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วก็เริ่มก้าวสู่วัยชรา  ก้าวสู่ความแก่ เข้าสู่ความเจ็บ เข้าสู่ความตาย   นี่เป็นลักษณะของบุคคลทั้งหลาย 

ส่วนวัตถุข้าวของต่างๆ ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน  เวลาได้ของมาใหม่ๆ ก็ดูใหม่ดี  แต่พอทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง ก็เริ่มกลายเป็นของเก่าไป  ชำรุดทรุดโทรมไป  แล้วในที่สุดก็แตกสลายพังไป  นี่คือลักษณะของทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้  โดยปกติถ้าใจไม่สงบ ใจไม่ได้รับการปฏิบัติสมาธิทำให้ใจสงบนิ่ง  ใจจะไม่มีเวลาที่จะมาคิดถึงเรื่องเหล่านี้  เพราะในใจจะถูกอำนาจของความหลง  อำนาจของความโลภ ของความอยาก คอยกระตุ้นให้อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้  อยากได้บุคคลนั้นบุคคลนี้มา  โดยไม่ได้คิดถึงผลเสียที่จะตามมาต่อไปคือความเสื่อม  สังเกตดูเวลาใครมีลูกออกมา  ทุกคนจะดีอกดีใจ  เป็นลูกผู้หญิงก็ดี เป็นลูกผู้ชายก็ดี  แต่ไม่มีใครเคยคิดว่าจะต้องเลี้ยงลูกนี้ไป  จะต้องเสียเงินเสียทอง เสียเวลาไปมากน้อยแค่ไหน  ต้องมาห่วงมากังวลกับลูกมากน้อยเพียงไร  แล้วในที่สุดก็จะต้องจากลูกไป   ไม่เคยมีใครคิดเรื่องเหล่านี้เลย  เพราะว่าใจถูกอำนาจของความหลงครอบงำอยู่  ปิดบังใจ  ไม่ให้เห็นความจริงของความไม่เที่ยงของทุกสิ่งทุกอย่าง  เมื่อไม่เห็นความจริงอันนี้ก็เลยคิดว่าได้อะไรมา ก็จะมีแต่ความสุขกัน  จึงออกไปแสวงหากัน

ถ้าเป็นคนโสดก็ต้องหาคู่เพื่อจะได้มีบุตรมีธิดา แต่เมื่อได้มาแล้วเป็นอย่างไร  เปรียบเทียบดูชีวิตระหว่างอยู่คนเดียว กับอยู่กับครอบครัวนั้นใครจะสบายใจกว่ากัน  ภาระอันไหนจะมากกว่ากัน  อยู่คนเดียวก็เพียงแต่มีตัวเรา มีปากเดียว มีท้องเดียว มีใจเดียว ที่จะต้องคอยดูแลเท่านั้น  แต่ถ้ามีสามี มีภรรยา มีบุตร มีธิดา มันก็มีหลายปากหลายท้อง  หลายจิตหลายใจ  ก็มีแต่ภาระ มีแต่ปัญหา มีแต่ความกังวลตามมานั่นเอง  ถ้าสมมุติว่าตอนนี้มีครอบครัวแล้ว มีทรัพย์สมบัติเงินทองแล้ว  มีบุตรมีธิดาแล้ว  แต่ไม่อยากจะทุกข์กับสิ่งเหล่านี้ เราก็ยังทำได้  ถ้าปฏิบัติธรรม  คือในเบื้องต้นทำจิตใจให้สงบก่อน  ทำจิตให้เป็นสมาธิ ให้นิ่ง  เมื่อจิตสงบนิ่งแล้ว ความหลงจะสงบตัวลงไป  แล้วก็เริ่มพิจารณามองดูสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้ เรามีความกังวล มีความห่วงใย มีความทุกข์เพราะอะไร   เราจะเห็นว่าก็เพราะเรามีความอยาก  อยากให้สิ่งต่างๆที่มีอยู่นั้น มีอยู่กับเราไปนานๆ  ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้เสีย ไม่ให้ชำรุด ไม่ให้หมด ไม่ให้หายไป  ถ้าเห็นว่า ถ้าไม่มีความอยากแล้ว เราจะมีความทุกข์ มีความกังวลใจไหม  สิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้ ที่ไม่ใช่เป็นของของเรา  เรามีความกังวลด้วยไหม  มีความทุกข์ด้วยไหม  ลูกของชาวบ้านเขา เรามีความทุกข์ มีความกังวลหรือเปล่า  ทรัพย์สมบัติของชาวบ้านเขา เรามีความทุกข์ มีความกังวลด้วยหรือเปล่า  ไม่มี เพราะอะไร  ก็เพราะว่าใจของเราไม่ได้ไปอยากยุ่งเกี่ยว กับทรัพย์สมบัติของชาวบ้านเขานั่นเอง  ชาวบ้านเขาจะมีก็เรื่องของเขา  เขาจะสูญหายไปก็เรื่องของเขา  เราไม่ได้ทุกข์ด้วย 

เมื่อพิจารณาดู เราก็จะเห็นว่าความทุกข์ใจของเรานั้น เกิดจากความอยากในใจของเรานั่นเอง  อยากให้สิ่งที่มีอยู่นั้น อยู่กับเราไปนานๆ  ถ้าเกิดมีปัญหาขึ้นมา ก็เกิดความวุ่นวายใจ  ถ้าเกิดการพลัดพรากจากกัน ก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจ  ถ้าไม่ต้องการที่จะมีความทุกข์ มีความเศร้าโศกเสียใจ  เราก็สามารถทำได้  สิ่งต่างๆที่มีอยู่ ก็มีไป  แต่ต้องทำใจคือใช้ปัญญา  เอาหลักของอนิจจังคือความไม่เที่ยงเข้ามาสอนใจอยู่เสมอ  สอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่นี้  ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเสื่อมไป ต้องสูญไปต้องดับไป ต้องเปลี่ยนแปลงไป  เมื่อเป็นเช่นนั้นเราควรที่จะเตรียมตัว เตรียมใจไว้รอรับกับเหตุการณ์เหล่านี้  เมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเราจะได้ไม่ทุกข์ใจ  ต้องมองเหมือนกับเรามองทรัพย์สมบัติของชาวบ้านเขา   มองทรัพย์สมบัติของเราว่าเป็นเหมือนกับทรัพย์สมบัติชาวบ้านเขา  ถ้าเราไม่เดือดร้อนกับทรัพย์สมบัติของชาวบ้าน  เราก็ไม่เดือดร้อนกับทรัพย์สมบัติของเรา  ต่างกันตรงที่ว่าทรัพย์สมบัติที่เรามีอยู่  เราสามารถนำเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้  แต่ทรัพย์สมบัติของชาวบ้านนั้น เราเอาของเขาไปใช้ไม่ได้ เพราะเขาจะไม่ให้เรา  แต่ถ้าทรัพย์สมบัติอันไหนที่เป็นของของเรา  เรามีเราก็เอาไปใช้ได้  จะเอาไปใช้แบบไหนก็ได้  ก็ใช้ได้อยู่ ๒ วิธีด้วยกัน  ใช้ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ กับใช้ที่เป็นโทษ 

วิธีที่จะใช้ให้เป็นโทษก็คือนำไปใช้แบบสุรุ่ยสุร่าย  ใช้ไปตามอำนาจของความอยากของความโลภ  เอาไปใช้ในทางที่ผิด  คือเอาไปซื้อสุรายาเมามาดื่ม  เอาไปเล่นการพนัน  เอาไปเที่ยว  ถ้าใช้เงินแบบนี้เป็นการใช้ที่ไม่เกิดประโยชน์  แต่เป็นโทษ  เพราะทำให้เราติดสิ่งที่ไม่ดี  เช่น สุรายาเมา ยาเสพติดต่างๆ  เมื่อเสพเข้าไปแล้ว เราจะติด จะเลิกยาก  ถ้าไม่ตั้งใจจริงๆ ไม่ฝืนจริงๆแล้ว จะเลิกไม่ได้  เมื่อเลิกไม่ได้ เราก็จะต้องสูญเสียเงินทอง ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ไปจนหมด  ถ้าทรัพย์สมบัติไม่หมด ร่างกายชีวิตของเราก็ต้องตายไปก่อน  เพราะสิ่งเสพติดทั้งหลายล้วนเป็นพิษเป็นภัย  เมื่อเสพเข้าไปแล้วจะต้องทำลายชีวิตเรา  ทำร้ายทรัพย์สินของเรา  สิ่งไหนจะหมดไปก่อนก็สุดแท้แต่  ถ้ามีทรัพย์สินมาก  ทรัพย์สินอาจจะยังเหลืออยู่  แต่ชีวิตอาจจะดับไปเสียก่อน  นี่เป็นการนำเอาทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดโทษกับเรา  ในทางตรงกันข้ามถ้านำเอาทรัพย์สินเงินทองไปทำประโยชน์ คือไปช่วยเหลือผู้อื่น  ไปทำบุญให้ทาน  เริ่มต้นตั้งแต่บุคคลที่อยู่ใกล้ตัวเรา คือบิดามารดาของเรา  ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่เราควรที่จะเลี้ยงดูท่าน  ควรจะหาสิ่งต่างๆที่ดี ที่ทำให้ท่านอยู่ได้ด้วยความสุข ด้วยความสบาย  เพราะไม่มีใครในโลกนี้จะมีบุญคุณกับเรามากยิ่งเท่ากับพ่อแม่ของเรา 

ชีวิตของเรามีมาได้ก็เพราะพ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิดกับเรา  เราจึงไม่ควรมองข้ามพ่อแม่ของเราไป  พ่อแม่ของเราเปรียบเหมือนกับพระอรหันต์พระพรหมของลูกๆ  เราไม่ต้องไปหาพระอริยเจ้าที่ไหนเพื่อทำบุญกับท่าน  เรามีพระอริยเจ้าอยู่ ๒ รูป อยู่ในบ้านของเราแล้ว  ขอให้เราอย่ามองข้ามพระอริยะในบ้านของเราไป  ทำบุญกับพระอริยะในบ้านของเราก่อน  แล้วหลังจากนั้นจึงค่อยออกไปทำบุญกับพระอริยเจ้าข้างนอกอีกทีหนึ่ง  เพราะการได้ทำบุญกับพระอริยเจ้าข้างนอก ที่เป็นพระอริยะที่แท้จริงนั้น  เราก็จะได้รับประโยชน์หลายประการ  ประการหนึ่งเราจะได้ยินได้ฟังธรรมะคำสอนของท่าน อันเปรียบเหมือนกับแสงสว่างที่จะชี้ทางให้เราดำเนินชีวิตของเราไปสู่ความเจริญ  ไปสู่ความสุข ไปสู่ความสงบที่แท้จริง  ถ้าไม่มีพระอริยเจ้ามาคอยสั่งสอน  เราก็จะเป็นเหมือนกับคนที่อยู่ในที่มืด  จะไม่เห็นทาง  จะไม่รู้ว่าทางที่ถูกที่ควรนั้นไปในทิศทางใด  เราก็จะหลงทาง  จะต้องเดินไปประสบกับพิษภัยอันตรายทั้งหลายที่เราทั้งหลายไม่ปรารถนากัน  นี่คือการใช้เงินให้เกิดคุณเกิดประโยชน์  ในเบื้องต้นก็ทำกับผู้ที่มีพระคุณ  แล้วก็ทำกับพระอริยเจ้าทั้งหลาย  ต่อมาก็ทำกับคนที่อยู่ใกล้ตัวเรา เช่น สามี ภรรยา บุตรธิดาของเรา  ญาติสนิทมิตรสหายทั้งหลาย  ถ้ามีใครเดือดร้อนเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีปัญญาที่จะรักษาตัวเองได้  เราพอที่จะช่วยเหลือเขาได้ ก็ขอให้ทำไปเถิด  อย่างนี้ก็เป็นบุญเป็นกุศลเหมือนกัน 

การทำบุญจึงไม่จำเป็นว่าจะต้องทำกับพระภิกษุนักบวชเท่านั้น  ทำกับใครก็ได้บุญเหมือนกัน  บุญนี้ก็มีลักษณะอยู่ ๒ ลักษณะก็คือ ทำไปแล้วเกิดความสุขใจขึ้นมา นี่ก็คือผลบุญ  ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ คือช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่ได้หวังผลตอบแทน แม้กระทั่งคำขอบคุณขอบใจ  ทำไปแล้วใจของเราจะมีความสุข  ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุนักบวช หรือเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็ตาม  ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ จะมีความสุขมาก  แต่ถ้าทำไปด้วยหวังผลตอบแทน เช่น ทำไปแล้วไปทวงบุญทวงคุณ ให้เขาขอบอกขอบใจ ให้เขามีความสำนึกในบุญคุณ  แต่เขากลับไม่มีความสำนึก  เราก็จะเกิดความเสียใจ เกิดความทุกข์ใจ  นั่นก็เป็นเพราะว่าเราไม่ได้ทำบุญ เรากำลังทำการค้าขาย ทำการแลกเปลี่ยน  หมายถึงว่าเราช่วยเขา เขาต้องยกมือไหว้ขอบอกขอบใจเรา  อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นการทำบุญ  การทำบุญจะต้องให้เปล่าๆ  ไม่หวังสิ่งตอบแทนจากผู้ที่เราสงเคราะห์ ผู้ที่เราช่วยเหลือ  ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่ปรารถนาอะไรตอบแทนจากคนที่เราไปช่วยเหลือ  เราจะมีความสุขใจ มีความภูมิใจในตัวของเรา  นี่แหละคือผลของบุญที่แท้จริง  

ดังนั้นเวลาทำบุญ จะช่วยใครก็ตาม ก็ขอให้พิจารณาให้ดีเสียก่อน ว่าทำเพื่ออะไร  ถ้าจะทำบุญ ก็ไม่ต้องไปหวังอะไรตอบแทนจากผู้ที่เราไปช่วยเหลือ  แต่ถ้าไปหวังผลตอบแทน  ก็ต้องทำความเข้าใจว่า เรากำลังทำการแลกเปลี่ยน ทำค้าขาย เราไม่ได้ทำบุญ  ใจของเราก็จะไม่มีความสงบ ไม่มีความเย็น ไม่มีความสุข   เพราะฉะนั้นขอให้มองที่ใจเป็นหลักเวลาทำบุญ  นี่แหละคือการเอาทรัพย์สมบัติเงินทองที่มีอยู่ มาใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์  เพราะเมื่อได้ทำบุญแล้ว ใจจะมีความสุข  ใจจะไม่ค่อยยึดติด ไม่ค่อยเสียดายกับทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของที่มีอยู่  เรารู้ว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องตายจากโลกนี้ไป  ทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของที่อุตส่าห์หามาแทบเป็นแทบตาย  ก็ต้องจากไป  ถ้าไม่เอามาใช้ให้เกิดคุณเกิดประโยชน์เราก็เป็นคนโง่  หาเงินมาแทบตาย แล้วก็กลายเป็นภาระ ต้องคอยเฝ้า คอยดูแลคอยรักษา  แทนที่จะเอาเงิน เอาทรัพย์สมบัตินี้มาเป็นบุญเป็นกุศล มาเป็นความสุขกับใจ  ก็กลับมาเป็นภาระสร้างความทุกข์ ความกังวลใจ  เมื่อตายไปก็ไม่ได้รับอานิสงส์จากทรัพย์สมบัติเงินทองที่มีอยู่ เพราะไม่ได้ทำบุญนั่นเอง 

นี่แหละคือการใช้เงินใช้ทองให้ถูกวิธี  เราหาเงินทองมาด้วยความยาก ด้วยความลำบาก  เมื่อหามาได้แล้ว เราต้องเอามาใช้ให้เกิดคุณเกิดประโยชน์กับเรา  และประโยชน์ที่แท้จริงนั้นก็มีอยู่ ๒ ประการ  ประการแรกก็ดังที่ได้แสดงไว้แล้ว นั่นก็คือการสร้างบุญสร้างกุศล   ทำให้ใจของเราอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข   อีกประการหนึ่งก็เอาเงินทองนี้มาใช้ดูแลรักษาอัตภาพร่างกายของเรา  คนเราต้องกินต้องใช้ นี่เป็นเรื่องธรรมดา  บางคนร่ำรวยแล้ว  แทนที่จะเอาเงินทองมาเลี้ยงดูร่างกายให้อยู่สุขสบาย  กลับเป็นคนตระหนี่ขี้เหนียว อยู่แบบอดๆอยากๆ  อยู่แบบขอทาน เพราะเสียดายเงิน เสียดายทอง   อย่างนี้ก็ไม่ใช่เป็นวิธีที่ฉลาด   เพราะหาเงินมาแทบเป็นแทบตาย  แทนที่จะเอาเงินมาทำให้เราอยู่อย่างสุขสบาย  คือสุขทั้งกาย สุขทั้งใจ   กลับเอาเงินมาเป็นภาระ  กลับกลายเป็นคนที่จะต้องมารับใช้เงินทอง มาคอยดูแลรักษา  มีพระท่านแสดงธรรมไว้อยู่ประโยคหนึ่ง ท่านว่าเงินทองมีไว้รับใช้เรา  เราอย่าไปรับใช้มัน  ใช้มันให้เกิดประโยชน์  เกิดประโยชน์กับผู้อื่น และเกิดประโยชน์กับตัวเรา  เราช่วยเหลือผู้อื่น  ผู้อื่นเขาก็ได้รับการบรรเทาความทุกข์ยากลำบาก  ใจเราก็ได้รับความสุข ได้ความสงบ  และเมื่อตายไป บุญที่เราได้สะสมไว้ก็จะรองรับเรา  อย่างพระพุทธเจ้าในแต่ละภพแต่ละชาติ  ได้ทรงบำเพ็ญบุญอย่างต่อเนื่อง จนได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บุญที่เราทำในวันนี้ก็จะเป็นผลอย่างเดียวกันอย่างแน่นอน  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้