กัณฑ์ที่
๑๖
กฐิน
วันนี้เป็นวันทอดกฐินพระราชทาน
ประจำปี ๒๕๔๓ ของวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
ในพระบรมราชูปถัมภ์
โดยมีคณะคณาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง
ได้นำผ้ากฐินพระราชทานมาทอด
การถวายผ้ากฐินนั้น
เป็นกุศลอันยิ่งใหญ่
เป็นพุทธบัญญัติที่พระพุทธองค์ได้ทรงกำหนดขึ้น เนื่องจากว่าในสมัยที่พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศสอนพระพุทธศาสนาใหม่ๆ
มีผู้มีจิตศรัทธาเข้ามาบวชเป็นจำนวนมาก
ทำให้การหาผ้ามาทำเป็นผ้าจีวร
เป็นสิ่งที่ลำบากยากเย็นสำหรับพระภิกษุ
ประกอบกับพระพุทธองค์ไม่ได้ทรงบอกญาติโยม
ว่าควรจะถวายอะไรให้กับพระภิกษุบ้าง
ญาติโยมก็เลยไม่ทราบ
มีถวายอยู่อย่างเดียวก็คืออาหารบิณฑบาต
ทุกๆเช้าพระภิกษุจะเข้าสู่ละแวกบ้านไปบิณฑบาต
แต่ปัจจัยอีก ๓ ส่วน
ที่ประกอบเป็นปัจจัย ๔
นั้น คือ จีวร
ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย
พระพุทธองค์ไม่ได้กำหนดให้ญาติโยมถวายหรือไม่
อย่างไร เลยไม่ค่อยมีใครได้ถวายของเหล่านี้
พระภิกษุสงฆ์ท่านจึงต้องไปหาผ้า
ตามสถานที่ต่างๆ
เช่น ตามป่าช้าบ้าง
หรือตามกองขยะบ้าง ผ้าที่เก็บตามป่าช้านี้
เรียกว่า ผ้าบังสุกุล
หรือที่เรียกกันในสมัยนี้ว่าผ้าป่า
คือผ้าที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้านั่นเอง
เมื่อพระภิกษุท่านได้ผ้ามาแต่ละชิ้น
แต่ละอัน
ท่านก็จะนำมาสะสมไว้
จนกว่าจะพอเพียง กับการตัดเย็บเป็นจีวร
ท่านจึงนำมาปะ
มาเย็บ มาซัก
มาย้อมเป็นผ้าจีวรขึ้นมา
เป็นความลำบากยากเย็นของพระภิกษุ
ในสมัยแรกๆ
ที่พระพุทธองค์ทรงประกาศสอนพระพุทธศาสนา
พระพุทธองค์ทรงเห็นความจำเป็น
ที่จะต้องกำหนดการถวายผ้าให้กับพระภิกษุสงฆ์
จึงกำหนดการถวายผ้าขึ้นมา
เรียกว่าผ้ากฐิน
ประกอบด้วยเงื่อนไขหลายอย่างด้วยกัน
เพื่อที่จะเป็นเหตุทำให้เกิดบุญ
เกิดกุศลแก่ผู้รับและผู้ให้
ทรงกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับตัวบุคคล
คือ
พระภิกษุที่จะรับผ้าพระกฐินได้นั้นจะต้องอยู่จำพรรษาครบ
๓ เดือน ในอาวาสนั้นๆ และในอาวาสนั้นๆจะต้องมีพระภิกษุจำพรรษาอยู่
๕ รูปขึ้นไป ถ้ามีต่ำกว่า
๕ รูป ในอาวาสนั้นๆ
ก็จะไม่สามารถรับผ้ากฐินได้
ในสมัยนี้จะเห็นว่ามีพระแค่รูป
สองรูป จำพรรษาอยู่
ก็ยังมีการถวายผ้ากฐินกัน
อันนี้ต้องทำความเข้าใจว่าเป็นการถวายผ้าพระกฐินที่ไม่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย
ถ้าปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยแล้ว
ต้องมีพระสงฆ์ ๕ รูปขึ้นไป
และต้องอยู่จำพรรษาครบทั้ง ๓
เดือน ถ้ามีการถวายผ้าแต่มีพระน้อยกว่า
๕ รูป
ต้องถือว่าเป็นการถวายผ้าป่า
ถึงแม้จะเรียกเป็นผ้ากฐินก็ตาม
แต่ไม่ครบกับองค์ประกอบที่พระพุทธองค์ได้ทรงกำหนดไว้
คือองค์ประกอบเกี่ยวกับบุคคลที่จะรับผ้ากฐินได้
ทรงกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับเวลาไว้ด้วยว่า
การถวายผ้าพระกฐินนี้
จะถวายได้ในเวลา ๑
เดือนเท่านั้น คือ
ตั้งแต่วันเพ็ญเดือน ๑๑
ถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒
ที่เราเรียกว่าวันลอยกระทง
เป็นเขตการถวายผ้ากฐิน
ถ้าพ้นจากเวลานั้นไปแล้ว
ก็ไม่สามารถที่จะถวายผ้ากฐินได้
พระสงฆ์ก็ไม่สามารถจะรับผ้ากฐินได้เช่นเดียวกัน
ถ้าถวายก็จะเป็นผ้าป่าไป
ในวัดหนึ่งๆนั้น
สามารถรับผ้ากฐินได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ไม่สามารถที่จะรับ ๒
๓ ๔
หรือ ๕ ครั้งได้
ถึงแม้ว่าตามวัดต่างๆ
อาจจะมีศรัทธาญาติโยม
ที่มีจิตศรัทธา อยากจะถวายผ้ากฐินกันมาก
ก็ไม่สามารถจะแยกรับ
เป็นกฐินที่ ๑
กฐินที่ ๒ ได้ ถ้าอยากถวายก็ต้องมารวมกันถวายในครั้งเดียวกัน
ทรงกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับของที่จะนำมาถวายด้วย
คือ
ผ้าที่จะนำมาถวายนั้นจะต้องเป็นผ้าขาว
และต้องเป็นผ้าที่ไม่ได้ตัดเย็บ
หรือย้อมมาก่อน คือ
เป็นผ้าขาวชิ้นเดียว
สำหรับนำมาให้พระภิกษุสงฆ์
ได้นำมาตัดเย็บ ซัก ย้อม
ให้เสร็จภายในวันนั้น
ถึงจะเรียกว่าเป็นผ้ากฐิน
ส่วนถ้าเป็นผ้าไตรจีวรที่ทำสำเร็จรูปนั้นให้ถือเป็นผ้าบริวารไป
อย่างวันนี้ พอญาติโยมถวายผ้าพระกฐินเสร็จแล้ว
พระท่านก็จะรีบเอาผ้าพระกฐินผืนนั้นไปตัดเย็บเป็นจีวร
หรือสบง ผืนใด
ผืนหนึ่ง เมื่อตัดเย็บเสร็จท่านก็จะเอาไปซักย้อม
ซักย้อมเสร็จจึงตากให้แห้ง
แล้วถึงจะเอามาทำพิธีกรานผ้ากฐิน
ทั้งหมดจะต้องทำให้เสร็จภายในคืนนี้
คือ
ต้องเสร็จก่อนรุ่งอรุณของวันพรุ่งนี้
ถ้ายังไม่เสร็จก็ถือว่ากฐินนั้นไม่ครบองค์ประกอบ ไม่เป็นไปตามพุทธบัญญัติ
นี่คือเงื่อนไขต่างๆ
ที่พระพุทธองค์ได้ทรงกำหนดไว้เกี่ยวกับการถวายผ้ากฐิน
พระพุทธองค์ทรงคำนึงถึงธรรมะ
ที่ผู้ที่มาถวาย
และผู้ที่รับพึงจะได้ คือ
ทุกคนจะต้องมีความสามัคคีกันเป็นอันดับแรก
มีฉันทะ มีวิริยะ มีจิตตะ มีวิมังสา
คือมีอิทธิบาท ๔ ฉันทะ คือ
ความยินดี ความพอใจ
วิริยะ คือความอุตสาหะ
ความพากเพียร จิตตะ คือ
ความจดจ่อ วิมังสา
คือปัญญา ต้องใช้เหตุ ใช้ผล จะต้องรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง
เพราะเป็นงานใหญ่
ที่ไม่สามารถให้บุคคลหนึ่ง
บุคคลใด
ทำโดยลำพังด้วยตัวเองได้
ต้องอาศัยความพร้อมเพียง
ความสมัครสมานสามัคคี
ร่วมแรงร่วมใจกัน
ทางญาติโยมต้องสามัคคีกัน
จัดเตรียมหาข้าวของต่างๆ
มาถวายพระ ส่วนพระท่านเมื่อได้รับผ้ามาแล้ว
ก็จะต้องมีความสามัคคีพร้อมเพียงกัน
มีอิทธิบาท ๔
มีฉันทะ มีจิตตะ
มีวิริยะ มีวิมังสา
ในการที่จะร่วมแรงร่วมใจกัน
ทำงาน ทำผ้าผืนนี้
ให้เสร็จทันตามกำหนดเวลา
ที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้
การที่ได้มีโอกาสมาทำบุญทอดกฐิน
จึงถือว่าเป็นบุญเป็นกุศลอย่างยิ่ง
เป็นทานอันยิ่งใหญ่
เพราะถวายได้เพียงครั้งเดียวในปีหนึ่งเท่านั้น
ผู้ที่มาทำบุญทอดกฐิน
จะได้รับบุญ รับกุศล
อันเกิดจากความสามัคคี
สังคมเรานั้นจะอยู่กันได้
ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข
ถ้าบุคคลที่อยู่ในสังคม
มีความสามัคคีกัน
พร้อมเพียงกัน ที่จะสละเวลา
สละทุนทรัพย์
สละข้าวของต่างๆ
มาทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม
แต่ถ้าทุกคนมีแต่ความเห็นแก่ตัว
คิดแต่จะทำประโยชน์เพื่อตัวเองแล้ว
สังคมนั้นก็จะเป็นสังคมที่วุ่นวาย
คือ
เป็นสังคมที่มีแต่ความเบียดเบียนกัน
แต่ถ้าสังคมไหน
เป็นสังคม
ที่มีแต่ความสามัคคี
ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม
เป็นสาธารณประโยชน์
สังคมนั้นจะเป็นสังคมที่อยู่กันได้
ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข
เพราะอะไร
เพราะว่ามนุษย์เราที่เกิดมาในโลกนี้
ทำบุญ ทำกรรม
มาไม่เท่าเทียมกัน
วาระของบุญ ของกรรม
ที่จะเกิดกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่เท่าเทียมกัน
วันนี้เรามีความผาสุก
มีความเจริญรุ่งเรือง
แต่มีเพื่อนมนุษย์อีกหลายคน
กำลังตกทุกข์ได้ยากอยู่
ถ้าเราหันไปมองดูคนรอบข้างตัวเรา
ว่าคนเหล่านั้นเขาอยู่กันอย่างไร
เขาลำบากยากจนขนาดไหน
แล้วไม่คิดสงเคราะห์
ไม่เอื้อเฟื้อเขาแล้ว
สังคมเราก็จะเป็นสังคมที่ไร้น้ำใจ
เป็นสังคมที่ไม่มีความเมตตากรุณา
แต่ถ้าเราให้ความสงเคราะห์
ช่วยเหลือกัน มีส่วนเหลือ
ส่วนเกิน ก็ควรแบ่งปันให้ผู้อื่นบ้าง
จะทำให้สังคมนี้
เป็นสังคมที่พอจะอยู่กันได้
พอจะมองหน้ากันได้
เราต้องเข้าใจด้วยว่า
ถึงแม้วันนี้เราจะมีความผาสุก
มีความเจริญรุ่งเรือง
แต่เมื่อใดที่วาระกรรมที่ไม่ดีตามมา
เราอาจจะต้องตกทุกข์ได้ยาก
อาจจะลำบากยากจนก็ได้
แต่ถ้าเราได้สร้างคุณงามความดีไว้
คุณงามความดีเหล่านี้นี่แหละ
จะเป็นเหมือนเทวดามาดูแลรักษาเรา
ในยามตกทุกข์ได้ยาก
ความสุขที่แท้จริง
และความเจริญที่แท้จริงนั้น
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุข้าวของต่างๆ
วัตถุต่างๆนี้เป็นเพียงเครื่องอำนวยความสะดวก
ความสบายเท่านั้นเอง
แต่ถ้าจิตใจของเราขาดคุณธรรม
ขาดความเมตตากรุณาแล้ว
จิตใจจะมีแต่ความเร่าร้อน เพราะตกอยู่ภายใต้อำนาจของความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ความเห็นแก่ตัว
เมื่อมีความโลภ ความโกรธ
ความหลง ครอบงำจิตใจแล้ว
ต่อให้อยู่ในพระมหาราชวัง
หรืออยู่บนตึกสูง ๕๐
ชั้นก็ตาม ก็จะไม่สามารถดับความทุกข์
ความร้อนของจิตใจได้
เพราะความทุกข์ ความร้อนของจิตใจนั้น
มันจะดับได้ก็ต้องมีธรรมะ
คือ มีความเมตตากรุณานั่นเอง
จึงขอให้เราทั้งหลาย
ซึ่งอยู่ในโลกของความเจริญทางด้านวัตถุ
อย่าลืมความเจริญทางด้านจิตใจเป็นอันขาด
เพราะว่าวัตถุนั้นสร้างความสุขให้กับเราไม่ได้ ดับความทุกข์ภายในจิตใจของเราไม่ได้ ทุกวันนี้
มีคนกระโดดตึกตายกันมาก
เพราะอะไร ก็เพราะว่า
จิตใจมีความทุกข์
ถึงแม้จะมีเงิน มีทอง
มีข้าวของตั้งมากมาย
แต่สิ่งเหล่านี้นั้น
ดับความทุกข์ของจิตใจไม่ได้
ขอให้พวกเราชาวพุทธทั้งหลาย
จงเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา
ซึ่งเปรียบเหมือนแสงสว่าง
ส่องทางให้แก่ชีวิตของเรา
อย่าปล่อยให้ตัวเราอยู่ในความมืดสลัว
พยายามขวนขวาย ศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรม
ตามคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้
แล้วเราจะมีเครื่องนำทางชีวิตเรา
ไปสู่ที่เจริญ ที่ดี ที่งาม
เป็นที่พึ่งของจิตใจ
ถึงแม้จะตกทุกข์ได้ยาก
เราก็จะมีที่พึ่ง
ที่ทำให้จิตใจของเรานั้น
สงบร่มเย็น ไม่รุ่มร้อน
ในโอกาสที่ท่านทั้งหลาย ได้สละเวลาอันมีค่าของท่าน มาทำประโยชน์อันใหญ่หลวงในวันนี้ คือ ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระศาสนาเจริญรุ่งเรือง คู่ไปกับสังคมของเรา ก็ขอให้บุญกุศลนี้ ส่งผลสะท้อนกลับไปยังตัวของท่าน และญาติสนิทมิตรสหายของท่าน ให้ท่านทั้งหลาย มีแต่ความผาสุก ความเจริญรุ่งเรือง ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ โดยทั่วหน้ากันเทอญ