กัณฑ์ที่
๑๖๒
ฟังด้วยสติ
พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของผู้รู้จริงเห็นจริง
คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงนำมาสั่งสอนเป็นของจริง ไม่ขึ้นกับกาลกับเวลา
ผู้ปฏิบัติสามารถพิสูจน์ได้
เป็นธรรมที่นำผู้ปฏิบัติไปสู่ความสุขความเจริญที่แท้จริง
พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้
พุทธะแปลว่าผู้รู้
เป็นพระอรหันต์
คือเป็นผู้สิ้นกิเลส
ปราศจากความโลภ ความโกรธ
ความหลง การประกาศพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงประกาศออกมาจากพระทัยที่บริสุทธิ์ ไม่มีความปรารถนา
ความต้องการอามิสสินจ้างแต่อย่างใด
ไม่หวังผลจากการประกาศพระธรรมคำสอนจากผู้ใดเลย
เพราะในพระทัยเต็มเปี่ยมด้วยบรมสุขแล้ว
การสั่งสอนจึงออกมาจากความกรุณา
ทรงเห็นสัตว์โลกยังเป็นผู้มืดบอดอยู่
ถูกอำนาจของโมหะความหลง
อวิชชาความไม่รู้จริง
ครอบงำจิตใจ
หลอกลวงให้สัตว์โลกต้องเวียนว่ายตายเกิด
ในกองทุกข์แห่งการเกิดแก่เจ็บตาย
อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
ถ้าไม่ได้รับพระธรรมคำสอนไปแล้ว
จะไม่มีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้เลย
พระพุทธองค์เองก็ทรงเคยเวียนว่ายตายเกิดมาแล้ว
ในแต่ละภพแต่ละชาติก็ต้องประสบกับความทุกข์
เพราะคำว่าภพชาติก็คือทุกข์นั่นเอง
มีการเกิดขึ้น มีการเจริญ
มีการตั้งอยู่
แล้วก็ต้องมีการดับไป
เวลาที่ต้องดับไปย่อมนำมาซึ่งความทุกข์
ความเศร้าโศกเสียใจ
ให้กับสัตว์โลกอย่างแน่นอน
พระพุทธเจ้าทรงเห็นทุกข์นี้แล้ว
หลังจากที่ได้ทรงปฏิบัติจนได้บรรลุธรรมอันประเสริฐ
ได้หลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ก็ทรงมีพระกรุณา
มีความสงสารที่อยากจะช่วยเหลือให้สัตว์โลก
ผู้ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด
ได้มีโอกาสนำตนให้พ้นจากกองทุกข์
จึงทรงประกาศพระธรรมคำสอนให้กับผู้ที่มีความสนใจ
ผู้ที่ได้ยินได้ฟังแล้วก็เกิดศรัทธา
นำไปประพฤติปฏิบัติ
ก็สามารถยกตนให้พ้นจากกองทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าจึงเป็นพระศาสดา
คือเป็นครู เป็นอาจารย์
ไม่ได้เป็นพระเจ้า ผู้ที่จะเสกจะเป่า
จะบันดาลให้เราหลุดพ้นจากกองทุกข์
ให้สมความปรารถนาในสิ่งต่างๆที่เราต้องการ
การกราบไหว้พระพุทธเจ้า
จึงไม่ได้กราบไหว้
เพื่อบนบานขอสิ่งนั้นสิ่งนี้จากพระพุทธเจ้า
แต่กราบพระพุทธเจ้าเนื่องจากความสำนึก
ในพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง
ที่ทรงมีต่อสัตว์โลกทั้งหลาย
และน้อมรำลึกถึงวิถีทางอันดีงามที่ได้ทรงปฏิบัติ
แล้วนำมาเผยแผ่ให้กับพวกเรา
พวกเราจึงเปรียบเหมือนกับนักศึกษานักเรียน
ผู้มีความเชื่อในคำสอนของพระบรมศาสดา
แล้วพยายามปฏิบัติตามด้วยความเชื่อมั่น
ด้วยความอุตสาหะวิริยะ
ด้วยสติ ด้วยปัญญา
เราเชื่อว่าธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
แม้จะได้ประกาศมาเป็นเวลา
๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว
ก็ยังมีความถูกต้อง
มีประสิทธิภาพ สามารถยังผลให้กับผู้ปฏิบัติได้
คือพระธรรมไม่ได้เสื่อมไปตามเวลาเหมือนกับสิ่งต่างๆในโลกนี้
ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบุคคล
ย่อมต้องเสื่อมไปตามกาลตามเวลา
วัตถุต่างๆ เมื่อผลิตขึ้นมา
สร้างขึ้นมา
หลังจากทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง
ก็ต้องชำรุดทรุดโทรมเสื่อมสลายหมดไป
ร่างกายของคนเรา
ของสัตว์ทั้งหลาย
ก็เป็นเช่นนั้น
เมื่อเกิดมาแล้วก็มีการเจริญเติบโต
ตามมาด้วยความแก่
ความเจ็บไข้ได้ป่วย
แล้วก็ความตาย
นี่คือลักษณะของสิ่งต่างๆในโลกนี้
แต่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ไม่ได้เป็นเหมือนกับสิ่งเหล่านี้
พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเคยเป็นอย่างไร
ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ คงเส้นคงวา
ทั้งเหตุและผล
ผู้ใดปฏิบัติตามเหตุ
ย่อมได้รับผลอย่างแน่นอน
ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้และประกาศพระธรรมคำสอนนี้หรือไม่ก็ตาม
พระธรรมก็ยังเป็นพระธรรมอยู่
พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ที่ได้มาค้นคว้าศึกษา
จนได้พบพระธรรมอันประเสริฐนี้
แล้วก็นำมาถ่ายทอดให้กับผู้อื่น
ผู้ที่มีความศรัทธาแล้วนำไปปฏิบัติ
ย่อมได้รับผลดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายในอดีตได้รับมา
ไม่ได้ขึ้นกับกาลกับเวลา
ในสมัยพุทธกาลมีผู้บรรลุธรรม
มีผู้พ้นทุกข์ได้ฉันใด
ในสมัยปัจจุบันนี้
ผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ก็จะสามารถยกตนให้พ้นจากกองทุกข์ได้เหมือนกัน
ไม่ใช่ว่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว
จะทรงนำเอาพระธรรมติดตัวไปด้วย
พระธรรมเป็นสมบัติคู่กับพระศาสนา
เป็นสมบัติคู่กับโลกนี้
ขึ้นอยู่กับผู้ฟังว่าจะมีความศรัทธา
มีความเชื่อมั่นมากน้อยเพียงไร
จะมีความอุตสาหะวิริยะ
มีขันติ
ความอดทนที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ได้มากน้อยเพียงไรเท่านั้นเอง
ถ้าปฏิบัติได้และปฏิบัติถูกต้อง
ผลย่อมปรากฏขึ้นมา
คือความทุกข์ย่อมลดน้อยลงไปตามลำดับแห่งการปฏิบัติ
ความสุขที่จะได้รับก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนในที่สุดจะมีแต่ความสุขล้วนๆอยู่ภายในใจ
ความทุกข์จะไม่มีหลงเหลืออยู่เลย
ผู้ที่ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
จึงควรนำไปปฏิบัติ
อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง
บางท่านฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนให้กระทำความดี
ละความชั่ว
ชำระจิตใจให้สะอาดปราศจากความโลภ
ความโกรธ ความหลงแล้ว
ก็มัวแต่ผัดวันประกันพรุ่ง
ขอรอให้พระพุทธเจ้าองค์ใหม่มาตรัสรู้ธรรมเสียก่อน ตอนนี้ขอเพียงแต่สะสมบารมีไปพรางๆก่อน เช่นทำบุญให้ทานไปพรางๆก่อน
ยังไม่อยากจะรักษาศีล
ยังไม่อยากจะปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ
เจริญวิปัสสนา
เพราะไม่คิดว่าจะสามารถบรรลุธรรมได้ในภพนี้ชาตินี้
แต่จะบรรลุธรรมได้ก็ต่อเมื่อมีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่
คือพระศรีอารย์มาตรัสรู้ธรรมก่อน
แล้วได้ยินได้ฟังธรรมจากท่านโดยตรง
จึงจะสามารถบรรลุธรรมได้
ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดที่ผิด
เป็นความคิดที่เกิดจากโมหะความหลง
เป็นความคิดที่เกิดจากความอ่อนแอ
เกิดจากความยึดติดอยู่ในเรื่องของความสุขทางโลก
คือกามสุข โดยคิดว่ากามสุขเป็นความสุขที่ประเสริฐ
แต่ความจริงแล้วในสายตาของผู้รู้
คือพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
จะรู้ว่าความสุขที่แท้จริง
ความสุขที่ประเสริฐนั้น
ไม่ใช่กามสุข แต่เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบ
เรียกว่าสันติสุข เป็นความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม
นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา
เพื่อลดละ เพื่อตัดกิเลสตัณหา
ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ให้หมดออกไปจากใจต่างหาก
ตราบใดถ้าใจยังไม่ได้ตัดกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจ ต่อให้มีความสุขจากรูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
มากน้อยเพียงไรก็ตาม
ความสุขเหล่านั้น
ก็จะเป็นความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว
ชั่วระยะหนึ่ง ชั่วในขณะที่ได้เสพเท่านั้นเอง
หลังจากนั้นแล้ว
ก็จะมีความอยากที่จะต้องไปสัมผัสไปเสพเพิ่มขึ้นอีก
อย่างที่เราได้เสพได้สัมผัสกันมา
ตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันนี้
ก็ยังไม่เคยถึงเมืองอิ่มเมืองพอ
ยังอยากดูรูป ยังอยากฟังเสียง
ยังอยากลิ้มรส
ยังอยากดมกลิ่น
ยังอยากสัมผัสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆอยู่เสมอๆ
นี่แหละเป็นความหลง
ทำให้คิดว่าการได้เสพกามจะมีความสุข
แต่หารู้ไม่ว่าตนเองได้กลายเป็นทาสของกามกิเลสไปเสียแล้ว
คือถ้าวันใดไม่ได้เสพ
ไม่ได้สัมผัสกามรส
ในขณะที่เกิดตัณหา
คือราคะตัณหา
หรือกามราคะแล้ว
ในวันนั้นก็จะมีความทุกข์
มีความไม่สบายใจ ต้องดิ้นรนออกไปหารูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ที่ถูกอกถูกใจมาเสพ
เมื่อได้เสพแล้วก็จะมีความสุขอยู่ระยะหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะเกิดความอยากที่จะเสพขึ้นมาอีก
ก็เลยกลายเป็นวงจรอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
ไม่มีจบสิ้น
แม้ชีวิตนี้จะหาไม่แล้วก็ตาม
ดวงจิตที่ยังสะสมความอยากในกามอยู่
ก็จะไปแสวงหากามรสในภพหน้าชาติหน้าต่อไป
ก็ต้องไปเกิดในกามภูมิคือที่อยู่ของสัตว์โลกที่ยังเสพกามอยู่
ตั้งแต่ชั้นเทพลงมาสู่ชั้นมนุษย์
สู่ชั้นเดรัจฉาน ชั้นเปรต ชั้นอสุรกาย
ชั้นสัตว์นรก นี่คือที่อยู่ของสัตว์โลกที่ยังมีความผูกพัน
มีความต้องการในกามรสอยู่
ถ้าตราบใดยังไม่ได้ลดละ
ไม่ได้ตัดความอยากในกามรสนี้แล้ว
ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพเหล่านี้
จะไปภพใดก็ขึ้นอยู่กับวิธีการแสวงหากามสุข ถ้าแสวงหาด้วยความถูกต้อง
คือด้วยความสุจริต
เช่นไม่ได้แสวงหามาด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ด้วยการลักทรัพย์ ด้วยการประพฤติผิดประเวณี
ด้วยการโกหกหลอกลวง
ด้วยการเสพสุรายาเมา
ถ้าหาด้วยความสุจริตแล้ว
หลังจากที่ตายไปก็จะไปเกิดในสุคติ
คือไปเกิดบนสวรรค์ชั้นเทพ
หรือกลับมาเกิดเป็นมนุษย์
แต่ถ้าแสวงหากามสุขด้วยวิธีที่ไม่ชอบ
คือด้วยทุจริตวิธี
ด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ด้วยการลักทรัพย์
ด้วยการประพฤติผิดประเวณี
ด้วยการโกหกหลอกลวง ด้วยการเสพสุรายาเมา
ถ้าประพฤติดังนี้แล้ว
เมื่อตายไปก็จะต้องไปเกิดในอบายทั้ง
๔ คือภพของเดรัจฉาน
ของเปรต ของอสุรกาย
และสัตว์นรก เพราะความหลงผิดนั่นเอง
เห็นว่าความสุขอยู่ที่การได้เสพสัมผัสรูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ที่ถูกอกถูกใจ
จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกามภพไม่รู้จักจบจักสิ้น
แต่ถ้าได้มาเจอพระพุทธศาสนา
ได้ยินได้ฟังเรื่องของความสุขที่แท้จริง
ความสุขที่สะอาดบริสุทธิ์
ความสุขที่ไม่ต้องมีอะไรมาเป็นเครื่องให้ความสุข
เป็นความสุขที่มีอยู่ในใจของตนเอง
แล้วนำไปปฏิบัติ
ก็จะค่อยๆ
ห่างเหินจากความอยากในกามสุข
เพราะความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตใจ
เป็นความสุขที่เลิศกว่า
ดีกว่า
เป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งภายนอก
ไม่ต้องอาศัยบุคคลนั้นบุคคลนี้มาให้ความสุข
ไม่ต้องอาศัยสิ่งนั้นสิ่งนี้มาให้ความสุข
เพียงแต่หาที่สงบ มุมสงบที่ไหนสักแห่งหนึ่ง
แล้วกำหนดจิตไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ
ให้จิตอยู่กับธรรมะบทใดบทหนึ่ง
เช่นคำว่า พุทโธๆๆ
หรือบทสวดมนต์บทใดบทหนึ่ง
หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออก
เวลาหายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า
เวลาหายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก
ควบคุมจิตด้วยสติ
ไม่ให้จิตแวบออกไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ
เรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตก็ดี
เรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตก็ดี
เรื่องเขาเรื่องเรา
เรื่องดีเรื่องชั่วทั้งหลาย
ในขณะนั้นไม่ให้ไปคิดเลย
ให้อยู่กับธรรมที่ได้กำหนดไว้
ให้จิตมีสติรู้อยู่ เช่นถ้าจะบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆ
ก็ให้มีคำว่าพุทโธๆๆเพียงอย่างเดียวอยู่ในใจ
บริกรรมไปโดยไม่ต้องออกเสียงพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ
ถ้าสามารถควบคุมจิตให้อยู่กับพุทโธๆๆได้แล้ว
ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะค่อยๆสงบตัวลง
แล้วรวมลงเป็นสมาธิ เป็นเอกัคตารมณ์
เป็นหนึ่ง เหลือแต่สักแต่ว่ารู้เท่านั้น
ในขณะนั้นจิตจะไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆ
ที่เข้ามาทางตา หู จมูก
ลิ้น กายเลย จิตจะไม่สนใจ ถึงแม้จะไม่ขาดจากอารมณ์เหล่านี้
แต่ในขณะนั้นจิตจะไม่สนใจ
จิตจะมีความนิ่ง
มีความสุขอยู่กับความสงบ
นี่แหละคือความสุขที่พระพุทธเจ้า
และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ทรงสอนให้พวกเราได้ไปถึงกัน เพราะเป็นความสุขที่มีอยู่กับตัวเราอยู่ตลอดเวลา เป็นความสุขที่เราสามารถรักษาไว้ได้
ให้อยู่กับเราไปตลอดอนันตกาลเลยทีเดียว
ถ้าเรามีความขยันที่จะปฏิบัติ
การที่จะรักษาจิตให้มีความสุขได้นั้น
ในเบื้องต้นต้องมีสติ
คือสติจะเป็นตัวคอยควบคุมจิตไม่ให้คิดไปในเรื่องราวต่างๆ
ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ
ถ้าจะคิดก็คิดแต่เรื่องที่จำเป็น
เช่นวันนี้จะต้องไปทำอะไรบ้าง
เมื่อรู้แล้วก็หยุดคิด
แล้วก็หันเอาจิตกลับมาให้ตั้งอยู่กับปัจจุบัน
คือให้อยู่กับร่างกาย
ให้อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย
ร่างกายจะเคลื่อนไหวในอิริยาบถใด
จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน
ก็ให้รู้อยู่กับการเคลื่อนไหวนั้น
เฝ้าดูกายอยู่ตลอดเวลา
และเฝ้าดูใจความคิดปรุงของใจ
ว่ากำลังคิดอะไรอยู่
ถ้ากำลังคิดเรื่องราวไม่เข้าเรื่อง
ก็หยุดด้วยการกำหนดให้ใจอยู่กับอารมณ์
ธรรมะที่เคยใช้อยู่เป็นประจำ
ถ้าเคยใช้บริกรรมพุทโธๆๆอยู่
ก็ขอให้บริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ
ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด
จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน
จะทำอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความคิด
ก็ขอให้จิตบริกรรมอยู่กับคำว่าพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ ถ้าทำอย่างนี้แล้วจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน จะไม่สร้างอารมณ์ต่างๆขึ้นมา
ความทุกข์หรืออารมณ์ต่างๆ
ที่เกิดขึ้นในใจ
ก็เกิดจากความคิดปรุงแต่งของจิตนี้เอง
ถ้าปล่อยให้จิตคิดไปเรื่อยๆ
เห็นอะไรมาสัมผัสก็คิด
ก็จะทำให้จิตแกว่งไปแกว่งมา เห็นสิ่งใดที่ไม่ถูกอกถูกใจ
ก็เกิดความไม่พอใจ
เห็นสิ่งใดที่ถูกอกถูกใจ
ก็เกิดความยินดี
เกิดความอยาก
เกิดความดิ้นทุรนทุรายเพื่อที่จะหามาให้ได้
ในสิ่งที่ตนเองต้องการ
เมื่อได้มาแล้วก็ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อรักษาไว้
จิตเลยไม่มีโอกาสที่จะสงบนิ่ง
เพราะจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ
ที่มาสัมผัสผ่านทวารทั้ง ๕
แต่ถ้าจิตมีสติแล้ว
เวลามีอะไรเข้ามาสัมผัส
เช่นรูปเข้ามาสัมผัสกับตา
เสียงเข้ามาสัมผัสกับหู
จิตมีสติรู้อยู่
ก็เพียงแต่รับรู้ว่าเป็นรูป
เป็นเสียง รู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง
คือเมื่อเข้ามาสัมผัสแล้ว
เดี๋ยวก็หายไป เสียงมากระทบหูแล้วก็ผ่านไป
ไม่จำเป็นที่จะต้องให้มีอารมณ์ตามมา
เสียงจะดีหรือจะชั่ว
ไม่ได้อยู่ที่เสียงนั้นๆ
แต่อยู่ที่ใจต่างหาก
ผู้ที่ไปให้ความหมายกับเสียงนั้น
เสียงเดียวกันสำหรับคนๆหนึ่งรู้สึกว่าไพเราะเพราะพริ้ง
แต่กับอีกคนหนึ่งกลับเป็นเหมือนมีดบาดหัวใจ
เช่นพ่อแม่พูดชมลูกคนหนึ่งว่าเป็นคนดี
ลูกที่ไม่ได้รับคำชม
ก็มีความรู้สึกน้อยอกน้อยใจ
ลูกที่ได้รับคำชมก็เกิดความดีอกดีใจ
ทั้งๆที่เป็นเสียงของคนๆเดียวกัน
เรื่องเดียวกัน
แต่คนสองคนเมื่อฟังแล้ว
กลับมีอารมณ์
มีปฏิกิริยาแตกต่างกันไป
นั่นก็เป็นเพราะว่าฟังโดยไม่มีสติ
ฟังโดยไม่มีปัญญานั่นเอง
ฟังด้วยอารมณ์
ฟังด้วยความหลง
ฟังด้วยอัตตาตัวตน ฟังว่าเขาชมคนนั้น
เขาไม่ชมเรา เมื่อไม่ชมเรา
เราก็เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ
เสียอกเสียใจขึ้นมา
แต่ถ้าฟังด้วยสติ มันก็เป็นเสียงเท่านั้นเอง
เสียงออกมาจากปากคน
จะมาทำให้เราวิเศษ
หรือทำให้เราเลวได้อย่างไร เพราะความดีความชั่วไม่ได้อยู่ที่ปากคน แต่อยู่ที่การกระทำของเรา
ถ้ากระทำความดี
ถึงแม้จะไม่มีใครมาชม
เราก็ยังดีอยู่อย่างนั้นแหละ
ถ้ากระทำความชั่ว
ถึงแม้จะมีใครมายกย่องสรรเสริญ เราก็ไม่ดีตามคำยกย่องสรรเสริญของเขาเลยแม้แต่นิดเดียว
แต่ใจของเรากลับดีอกดีใจ
ลืมไปว่าเราเพิ่งไปกระทำความชั่วมาหยกๆ
นี่คือลักษณะของจิตที่ไม่มีสติควบคุมดูแลนั่นเอง ปล่อยให้ไหลไปตามอารมณ์อยาก
อารมณ์ชอบ อารมณ์รัก
อารมณ์ชังทั้งหลาย
เมื่อได้ยินได้ฟังอะไรที่ถูกอกถูกใจ
ก็เกิดความยินดี ดีอกดีใจ
เมื่อได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่ถูกอกถูกใจ
ก็เกิดความเสียใจ
เกิดความอึดอัดใจ
ไม่สบายใจขึ้นมา
แต่ถ้าได้ศึกษาธรรม
แล้วปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว
รับรองได้ว่าต่อไปเวลาได้ยินได้ฟังอะไร
จิตจะเป็นอุเบกขา
คือจะวางเฉยทั้ง ๒ ด้าน
ไม่ว่าจะเป็นคำชมก็ดี
หรือเป็นคำติก็ดี
เพราะฟังด้วยสติ
ฟังด้วยปัญญา
รู้ว่าเสียงก็เป็นเพียงแต่เสียงเท่านั้นเอง
ถ้าไม่เอาความหมายมาคิด
มาแบก มายึด มาติด แล้วละก็
เสียงนั้นเมื่อพูดไปแล้ว
มันก็ผ่านไป เมื่อไม่เอามายึดเป็นของเราเสียอย่าง
ก็ไม่มีปัญหาอะไร
เช่นเวลาใครพูดคำหยาบ
คำผรุสวาท ด่าใคร
เราอยู่ในที่นั้นด้วย
ถ้าเราฟังแล้ว
เราไม่ได้คิดว่าเขาด่าเรา
ว่าเรา ใจของเราก็ไม่มีความรู้สึกอะไร
แต่ถ้าไปคิดว่าเขาด่าเรา
ว่าเรา
ใจของเราก็จะต้องเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา
ในทางหลักธรรมแล้ว
พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราฟังเฉยๆ
ฟังเพื่อรู้ อย่าฟังเพื่อแบกรับ คืออย่าเอาอัตตาตัวตนออกไปแบกรับ
แต่เอาใจผู้รู้ไปรับรู้
ใจเป็นผู้รู้
ใจไม่ใช่ตัวตน
รู้เฉยๆ รู้แล้วก็ปล่อยวาง
รู้ว่ามีเสียงปรากฏขึ้นมา
แล้วเสียงนั้นก็ดับไป
ผ่านไป นี่คือรู้แบบธรรมะ รู้ด้วยปัญญา
ถ้ารู้ด้วยความหลง
ก็รู้ด้วยตัวตน ตัวตนออกไปรับ
ว่าเขากำลังชมเรา
ก็เกิดอาการดีอกดีใจขึ้นมา
ถ้าเขาด่าเรา ว่าเรา
ก็เกิดอาการโมโหโทโสขึ้นมา
เพราะฟังด้วยโมหะความหลงนั่นเอง
เอาตัวตนออกไปรับ และเมื่อเอาตัวตนออกไปรับแล้ว
ผลที่ตามมาคืออะไร
ก็คือความทุกข์ใจนั่นเอง
ความไม่สบายอกไม่สบายใจ
แต่ถ้าไม่เอาตัวตนออกไปรับ
เอาธรรมะออกไปรับ
คือเอาความจริงออกไปรับ
คือจิตหรือใจนี้ไม่ใช่ตัวตน
เป็นตัวรู้อย่างเดียว
มีหน้าที่รับรู้
ใครพูดอะไรก็ฟังไป
รับรู้ไป เหมือนกับไมโครโฟนอันนี้
จะพูดอะไรมันก็รับเสียงเข้าไป
แล้วส่งต่อไปเข้าเครื่องขยายเสียง
ออกมาตามลำโพง ตัวไมโครโฟนนี้ไม่เคยบ่น
ไม่เคยว่าอะไรเลย
ว่าจะพูดดีหรือไม่ดีอย่างไร มันรับไปหมด
รับแล้วก็ปล่อยวาง
รับแล้วก็ส่งต่อไป
แล้วมันก็ผ่านไป
แล้วมันก็หมดไป
เสียงต่างๆที่เราได้ยินได้ฟัง
ก็เป็นอย่างนั้น เสียงใครจะพูดอะไรอย่างไร
พูดแล้ว เข้าหูเราแล้ว
ใจรับรู้แล้ว
มันก็ผ่านไปแล้ว
ถ้ามีสติมีปัญญา
ก็ตัดมันเสีย
อย่าเอาเข้ามาแบก มาหาม
มาว่าเขาชมเรา หรือเขาติเรา รู้ว่าเป็นเสียงของเขาที่ปรากฏขึ้น
ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
เท่านี้ก็จบ ถ้าจะฟังถึงเรื่องราวต่างๆ
ที่เขาพูด
ก็ฟังด้วยเหตุด้วยผล
ฟังด้วยปัญญา ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นความจริง
หรือไม่เป็นความจริง
เท่านั้นเอง ถ้าเป็นความจริงและเป็นประโยชน์
ก็เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์
อย่างที่เราฟังธรรมกันในวันนี้
ฟังแล้วก็ใช้ปัญญาแยกแยะ
ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นประโยชน์
หรือไม่เป็นประโยชน์กับเรา
ถ้าไม่เป็นประโยชน์
ฟังเข้าหูซ้ายแล้วก็ปล่อยให้ออกหูขวาไป
มันก็จบกัน
ถ้าเป็นประโยชน์เราก็เอามาคิด
เอามาไตร่ตรอง
เอามาปฏิบัติต่อไป
ก็จะเป็นประโยชน์กับเรา
นี่คือลักษณะของการฟังด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสติด้วยปัญญา
ด้วยธรรมะ ไม่ได้ฟังด้วยอารมณ์
ถ้าฟังด้วยอารมณ์ ถึงแม้สิ่งที่เขาพูดจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
จะเป็นสิ่งที่ดี
เป็นความจริง แต่ไปกระทบกับอัตตาตัวตน
เช่นเขาตำหนิเราว่าเราเป็นคนไม่ดี
เพราะเราเป็นคนเกียจคร้าน
ชอบเสพสุรายาเมา
เล่นการพนัน พอฟังแล้ว
ถ้าเอาอัตตาตัวตนออกไปรับ
ก็รับรองได้ว่าจะต้องไม่พอใจทันที
ที่เขามาว่าเราเป็นคนเกียจคร้าน
เสพสุรายาเมา เล่นการพนัน
แต่กลับไม่คิดว่าเขากำลังเตือนเรา
ชี้ขุมทรัพย์ให้กับเรา
ชี้ความบกพร่องของเรา
ถ้าเห็นว่าเป็นความจริง
แล้วนำไปแก้ไขดัดแปลง
เปลี่ยนจากความเกียจคร้านเป็นความขยัน
เลิกเสพสุรายาเมา
เลิกเล่นการพนัน
เราก็จะได้รับประโยชน์
จึงควรฟังด้วยสติ
ฟังด้วยปัญญา
เพื่อประโยชน์สุขที่จะตามมาต่อไป
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้