กัณฑ์ที่
๑๖๔
พลังจิต
การฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ
อย่างต่อเนื่อง
เป็นการเจริญปัญญา
ความรู้ความฉลาด
ที่เป็นเครื่องมือนำพาไปสู่การดับทุกข์
ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะสามารถดับทุกข์
ความรุ่มร้อนภายในจิตใจได้
นอกจากปัญญาเท่านั้น
แม้แต่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
ก็ต้องอาศัยพระปัญญาบารมีเท่านั้น
จึงจะสามารถบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
บารมีอื่นๆ เช่นเมตตาบารมี
ทานบารมี ศีลบารมี ฯลฯ
ยังไม่พอเพียงที่จะนำให้ผู้ปฏิบัติหลุดพ้นจากกองทุกข์
หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้
แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องมีไว้
เพื่อสนับสนุนปัญญาบารมี
บารมีทั้งหมดมี ๑๐
ประการด้วยกันรวมทั้งปัญญาบารมีด้วย
บารมีอื่นๆ เช่นทาน ศีล
เนกขัมมะ
วิริยะความหมั่นเพียร
ขันติความอดทน
เหล่านี้เป็นเครื่องสนับสนุนปัญญา
ให้ทำการต่อสู้กับอวิชชา
โมหะความหลง
ความมืดบอดที่มีอยู่ภายในจิตใจให้สลายหมดไป
ปัญญาตามลำพังจะไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้
ถ้าไม่มีบารมีอื่นๆ เช่น
วิริยะบารมี ความพากเพียร ขันติบารมี ความอดทน
ศีลบารมี ทานบารมี เป็นต้น
เป็นเครื่องสนับสนุน
บารมีทั้งหลายจึงเป็นสิ่งที่สนับสนุนกันและกัน แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ในบารมีทั้ง
๑๐ นี้ ก็คือปัญญาบารมี
ต่อให้ได้เจริญบารมีทั้ง ๙
แล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถที่จะนำตนให้พ้นทุกข์ได้
ดังที่มีนักปฏิบัติต่างๆในสมัยก่อนพุทธกาลและในสมัยพุทธกาลได้บำเพ็ญบารมีปฏิบัติธรรมกันมา
เพราะขาดปัญญาบารมี ปัญญาบารมีจะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ในบุคคลเพียงคนเดียว
คือพระโพธิสัตว์
ผู้เจริญธรรมเพื่อบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเจ้าเท่านั้น
อย่างพระพุทธเจ้าของเรา
ในเบื้องต้นก็ทรงบำเพ็ญบารมีต่างๆ
ได้ศึกษาตามสำนักต่างๆ
ปัญญาที่จะยกให้ผู้ปฏิบัติหลุดพ้นจากกองทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าจึงต้องแสวงหาปัญญาบารมีด้วยพระองค์เอง
ทรงทดลองทดสอบวิธีการต่างๆ
จนในที่สุดก็พบวิธีที่จะยกตนให้พ้นทุกข์ได้
มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักความจริงว่า
สัพเพ ธัมมา อนัตตา
คือธรรมทั้งหลายในโลกนี้ล้วนไม่มีตัวตน
สัพเพ สังขารา
อนิจจา
สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์
เมื่อทรงรู้ทรงเห็นธรรมทั้งสามประการนี้แล้ว
ก็สามารถยกตนให้พ้นจากความทุกข์
ที่เกิดจากความหลง
ความไม่รู้จริงได้
โดยปกติปุถุชนจะไม่เห็นธรรมทั้ง
๓ ประการนี้ คือความไม่เที่ยง
ความทุกข์
ความไม่มีตัวตนในสภาวธรรมทั้งหลาย
เช่นขันธ์ ๕ คือ รูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
รูปก็ได้แก่ร่างกาย
เวทนาก็ได้แก่ความรู้สึก
สุขบ้าง ทุกข์บ้าง
ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง
สัญญาคือความจำได้หมายรู้
จำภาพจำเสียงว่าเป็นภาพหญิง
เป็นภาพชาย ว่าเป็นเสียงหญิง
เสียงชาย ว่าเป็นภาพนาย ก.
นาย ข. ว่าเป็นเสียงนาย
ก. นาย ข. เป็นต้น
สังขารคือความคิดปรุงแต่ง
เช่นคิดทำดี
คิดทำบาปทำกรรม
อย่างนี้เรียกว่าสังขาร
วิญญาณคือรับรู้สิ่งต่างๆที่มาสัมผัสผ่านทวารทั้ง
๕ คือ ตา
หู จมูก ลิ้น กาย
เช่น รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
เมื่อมาสัมผัสกับ ตา หู
จมูก ลิ้น
กายแล้วก็ปรากฏมีวิญญาณรับทราบรูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะเหล่านั้นหายไป
วิญญาณผู้รับทราบก็ดับตามไปด้วย
ขันธ์ทั้ง
๕ นี้ พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นจากการปฏิบัติธรรมว่า
เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่
แล้วดับไป ถ้าไปยึดไปติด
ไปยินดี ไปไม่ยินดี
ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา
เพราะเป็นอนัตตา
คือเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลบังคับของใครทั้งสิ้น
เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของเขา
เช่น ต้นไม้ ภูเขา
วัตถุสิ่งของต่างๆ
ก็เป็นไปตามเรื่องของเขา
ต้นไม้ถ้ามีน้ำ มีแดด มีลม
มีดิน
ก็เจริญเติบโตขึ้นมาได้
ร่างกายของสัตว์ของมนุษย์ก็เจริญเติบโตขึ้นมาได้
ถ้ามีการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อกับแม่
แล้วมีดวงปฏิสนธิวิญญาณมาครอบครองร่าง
ที่เกิดจากการผสมพันธุ์
มีการเจริญในครรภ์อยู่สักระยะหนึ่ง
แล้วก็คลอดออกมาเป็นร่างของมนุษย์
เป็นร่างของสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุและปัจจัย
และดำเนินไปตามเหตุตามปัจจัย
แล้วในที่สุดก็จะเสื่อม
จะสลาย จะแตกดับไปในที่สุด
ผู้ใดที่มาเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านี้
ถ้าไม่มีปัญญาก็จะหลงยึดติดกับสิ่งเหล่านี้
เช่นจะยึดติดกับร่างกาย
ว่าร่างกายนี้จะต้องอยู่ไปนานๆ
ร่างกายนี้จะต้องไม่แก่
ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
จะต้องไม่ตาย ถ้าเกิดความแก่
ความเจ็บ ความตายขึ้นมา
ก็จะเกิดความเศร้าโศกเสียใจ
กินไม่ได้นอนไม่หลับ
เป็นทุกข์เนื่องจากไม่มีปัญญา
มีความหลง
มีอวิชชาครอบงำอยู่
แต่ถ้าได้ศึกษา
ได้ยินได้ฟังธรรม
ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้เจริญอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ว่าขันธ์ ๕
เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์
เป็นอนัตตา อย่าไปยึด
อย่าไปติด ให้รู้ตามความเป็นจริง
เขาเป็นอย่างไรก็ให้รู้ตามความเป็นจริงตามนั้น เวลาเขาคลอดออกมาก็ไม่ต้องไปดีอกดีใจ เวลาเขาเจริญเติบโตก็ไม่ต้องไปดีอกดีใจ เวลาเขาแก่เขาเจ็บเขาตาย
ก็ไม่ต้องไปเศร้าโศกเสียใจ
เพราะเป็นสัจธรรมความจริง
เป็นปกติของสภาวธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้
นี่คือเรื่องของปัญญาความฉลาด
ความรู้ทันต่อสภาวธรรมทั้งหลาย
บุคคลที่ฉลาดถ้าได้ยินได้ฟังธรรม
แล้วนำไปไตร่ตรอง
ใคร่ครวญพิจารณา
ให้เห็นตามความเป็นจริง
แล้วนำไปปฏิบัติ
ยอมรับความจริงนี้ ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
หนีไม่พ้น เมื่อรู้ทันสิ่งเหล่านี้
ยอมรับสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริงของเขา
ก็จะไม่มีความทุกข์
ไม่มีความกลัว เหตุที่เกิดความกลัวขึ้นมา
เมื่อคิดถึงความแก่
ความเจ็บ ความตาย
เพราะจิตยังไม่มีปัญญา
จึงไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ
ไม่อยากตาย
จิตยังถูกความมืดบอดครอบงำอยู่
เมื่อเป็นเช่นนั้น
เวลาคิดถึงความแก่
คิดถึงความเจ็บ
คิดถึงความตาย
ก็จะเกิดความตกอกตกใจ
เกิดความกลัว
เกิดความทุกข์ขึ้นมา
แต่ถ้าได้นำสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมาใคร่ครวญ
มาอบรมสั่งสอนตนอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ทุกวันทุกเวลา
ในอิริยาบถทั้ง ๔ เดิน ยืน
นั่ง นอน
ก็ระลึกเสมอว่าร่างกายเป็นของไม่เที่ยง
มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
มีการแก่เป็นธรรมดา
มีการเจ็บเป็นธรรมดา
มีการตายเป็นธรรมดา ถ้าอบรมสั่งสอนตนอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะยอมรับ
เมื่อยอมรับแล้ว
ก็จะปลงได้ ว่าหนีไม่พ้น
เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ
ต้องตาย ด้วยกันทุกคน
ต่อไปเวลาคิดถึงความแก่
ความเจ็บ ความตาย
หรือประสบกับความแก่
ความเจ็บ ความตาย
ก็จะไม่เกิดความทุกข์
เกิดความกลัวขึ้นมา
เพราะใจได้ปลงแล้ว
ยอมรับความจริงนี้แล้ว
นี่คือปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ
เกิดจากการใคร่ครวญ
จนเห็นตามความเป็นจริงว่า
เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
เมื่อยอมรับแล้ว
ก็จะไม่มีความทุกข์กับความแก่
ความเจ็บ ความตายอีกต่อไป
เมื่อไม่มีความทุกข์แล้วร่างกายจะเป็นอย่างไรก็ไม่เดือดร้อน
นี่แหละคือเรื่องของปัญญา
ที่จะนำให้ผู้ปฏิบัติหลุดพ้นจากความทุกข์ได้
โดยอาศัยการศึกษา
คือการได้ยินได้ฟังในเบื้องต้น หลังจากได้ยินได้ฟังแล้ว
ก็นำไปพิจารณาใคร่ครวญอย่างสม่ำเสมอ
อย่างต่อเนื่อง
จนนำไปสู่การปฏิบัติ
คือการปลงสังขาร
ยอมรับความจริงนี้
การที่จะนำไปสู่การยอมรับความจริงนี้ได้นั้น
ก็ขึ้นอยู่กับพลังของจิต
ว่ามีมากมีน้อยเพียงไร
ถ้ามีพลังจิตมาก
ก็จะสามารถปลงได้เร็ว
ถ้ามีพลังจิตน้อยก็จะปลงได้ช้า
อย่างในสมัยพุทธกาล
เวลาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม
จะมีผู้บรรลุธรรมในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นเลย
ก็เนื่องจากว่าจิตของผู้ฟังนั้นมีพลังจิต
พลังจิตนี้ก็คือสมาธิความตั้งมั่น
ความสงบนั่นเอง
ถ้าจิตมีความตั้งมั่น
มีความสงบมากน้อยเพียงไร
การจะปลงอนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา ก็จะเป็นไปได้ง่าย
มากน้อย
ตามกำลังของสมาธินั้น จึงไม่เป็นเรื่องแปลกอะไรในสมัยพุทธกาล เวลาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้กับนักบวชทั้งหลายผู้มีสมาธิอยู่แล้ว
จะมีผู้บรรลุธรรมในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นเลย
เพราะเมื่อฟังธรรมก็พิจารณาตามไป
ใคร่ครวญตามไป เมื่อพิจารณาใคร่ครวญเห็นตามความเป็นจริง
ก็สามารถปลงได้
ยอมรับความจริงได้ในขณะที่ฟังนั้นเลย
นี่คือความรวดเร็วของปัญญาของผู้ที่มีสมาธิอยู่แล้ว
ถ้ามีสมาธิอยู่แล้ว
เมื่อฟังแล้วนำไปพิจารณา
แล้วเกิดความเข้าใจ
เห็นตามความเป็นจริง
เห็นว่าทุกข์เกิดขึ้นจากการฝืนความจริง
ไม่ยอมรับความจริง
เมื่อไม่อยากจะทุกข์ก็ต้องเลิกฝืนความจริง
เลิกไม่อยากจะให้ความจริง
เป็นไปตามความเป็นจริงของเขา เมื่อยอมรับแล้วไม่ฝืนกับความจริง
คือรู้เท่ารู้ทันความจริง
รู้ว่ายังไงๆ
ก็ต้องเป็นอย่างนี้
เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
เมื่อจิตมีพลังที่จะยอมรับความจริงนี้ได้
ความทุกข์ที่เกิดจากความหลงความอยากก็จะหมดไป แต่ถ้ายังไม่มีพลังจิต
ไม่มีสมาธิพอ ต่อให้นั่งฟังไปมากน้อยเพียงไร
นำเอาไปพิจารณามากน้อยเพียงไร
ก็ยังทำใจไม่ได้
ยังปลงไม่ได้ เพราะว่าภายในใจยังมีสิ่งต่อต้านอยู่
คือกิเลสตัณหา โมหะอวิชชา
ยังไม่ได้ถูกการฉีดยาสลบ
คือทำให้อ่อนกำลังลงไปด้วยอำนาจของสมาธิ
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเจริญสมาธิก่อน
ทำจิตให้สงบให้ได้เสียก่อน
เพราะเมื่อจิตสงบแล้ว
แรงต้านทานของกิเลสตัณหา
ของโมหะอวิชชาก็จะลดน้อยถอยลงไป
เบาบางลงไปชั่วขณะที่มีสมาธิ
เมื่อไม่มีแรงต้านทานที่จะให้ฝืนความเป็นจริง
ความเห็นจริงและยอมรับความจริง
ก็จะมีกำลังพอที่จะล้มล้างกิเลสตัณหา
โมหะอวิชชาเครื่องต่อต้านความจริงได้
ดังนั้นเมื่อท่านทั้งหลายได้ฟังเทศน์ฟังธรรมในวันนี้แล้ว
ได้ยินได้ฟังแล้วเกี่ยวกับเรื่องของความจริงว่า
คนเรานั้นเมื่อเกิดมาแล้ว
ต้องมีความแก่ มีความเจ็บ
มีความตาย เป็นธรรมดา
มีการพลัดพรากจากของรักเป็นธรรมดา
มีการพบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนาเป็นธรรมดา
เช่นพบกับความผิดหวัง
พบกับความเลวร้ายทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา
ถ้าได้ยินได้ฟังเรื่องเหล่านี้แล้วยังทำใจไม่ได้
ก็แสดงว่าใจยังไม่มีกำลังพอ
กำลังใจของเรา พลังจิตของเรายังไม่มีพลัง
พอที่จะรับความจริง
ที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น
แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับพวกเราได้
เราจึงต้องสร้างกำลังจิต
พลังจิตขึ้นมาก่อน
ด้วยการเจริญสมาธิ
เพราะสมาธินี่แหละคือตัวพลังของจิต
ถ้าจิตมีสมาธิแล้ว
จิตจะเป็นเหมือนกับก้อนหิน
ก้อนหินนี้ต่อให้ลมพายุพัดมา
ก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนขยับให้ก้อนหินเคลื่อนไหวได้
ในทางตรงกันข้ามถ้าจิตยังไม่มีสมาธิ
จิตก็จะเป็นเหมือนกับนุ่น
เวลาลมเบาๆพัดแผ่วมาเพียงนิดเดียว
ก็ทำให้นุ่นลอยไปได้แล้ว
ขยับขับเคลื่อนไปได้แล้ว
จิตของผู้ที่ยังไม่มีสมาธิก็จะเป็นเหมือนกับนุ่นนั่นเอง
เวลามีอารมณ์อะไรมากระทบเพียงเล็กน้อยก็เสียหลักแล้ว เวลาใครพูดอะไรไม่ถูกใจก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว
เวลาเห็นอะไร
ใครทำอะไรไม่ถูกอกถูกใจ
ก็เกิดความไม่สบายใจขึ้นมาแล้ว เวลาอะไรเกิดขึ้นกับตัวเองเพียงเล็กๆน้อยๆ
เจ็บตรงนั้นนิดปวดตรงนี้หน่อย
ก็เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมาแล้ว
นั่นก็เป็นเพราะว่าใจไม่มีสมาธิ
ไม่มีความหนักแน่น ไม่มีความตั้งมั่นนั่นเอง
จึงไม่สามารถนำเอาธรรมะของพระพุทธเจ้า
คือปัญญามาใช้กับตนเองได้
ทั้งๆที่ได้ยินได้ฟังได้ศึกษามาเป็นเวลาหลายๆปีด้วยกัน
เพราะว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรมนั่นเอง
ไม่ได้เจริญสมาธิ
ไม่ได้ฝึกฝนทำจิตใจให้สงบ
ให้ตั้งมั่น จิตจึงลอยไปลอยมาตามกระแสอารมณ์ต่างๆที่เข้ามากระทบ
ไม่ว่าจะมาผ่านทางรูป
ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส
ก็จะเกิดอาการดีอกดีใจ
เสียอกเสียใจทันทีทันใด
ตามเรื่องราวที่มากระทบ
แต่ถ้าได้ฝึกทำใจทำจิตให้สงบ
ให้ตั้งมั่น
ให้เป็นเหมือนกับก้อนหินแล้ว
เวลามีอารมณ์อะไรต่างๆมากระทบ
ผ่านทางรูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ ทางตา
หู จมูก ลิ้น กาย ทางเวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ
ก็จะไม่มีอาการสะทกสะท้าน
ไม่มีอาการยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆเหล่านั้นมากนัก
อาจจะมีบ้าง
เพราะยังไม่มีปัญญารู้เท่าทันนั่นเอง
แต่จะไม่เหมือนกับในขณะที่ไม่มีสมาธิ
แต่ถ้ามีปัญญารู้เท่าทันแล้ว
รับรองได้ว่า
ไม่ว่าอะไรก็ตามที่มากระทบกับจิต
จะไม่ทำให้จิตมีอารมณ์ตอบโต้
มีความทุกข์เกิดขึ้นมาได้
เพราะมีปัญญารู้ทัน
รู้ว่าเป็นไตรลักษณ์นั่นเอง
รู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง
รู้ว่าเป็นของที่ควบคุมไม่ได้
บังคับไม่ได้
รู้ว่าถ้าไปยินดียินร้าย
ก็จะต้องทุกข์กับสิ่งนั้นๆ
ดังนั้นเวลามีอารมณ์อะไรมากระทบกับจิต
จะเป็นด้านที่ชอบ
หรือด้านที่ไม่ชอบก็ตาม
ถ้ามีปัญญาแล้วจะไม่ไปเกี่ยวข้องด้วย
จะเพียงแต่รับรู้เฉยๆ
คือจะไม่ไปมีปฏิกิริยายินดียินร้ายตอบโต้ด้วย
ใครจะพูดอะไร
ใครจะทำอะไรก็รู้ว่าเดี๋ยวก็ผ่านไป
เขาพูดเสร็จ เขาทำอะไรเสร็จ
เดี๋ยวเขาก็ผ่านไป
สิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาทำ
เราก็ไปห้ามเขาไม่ได้
ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้ว
เราปล่อยเขาไปตามเรื่องของเขา
เขาจะดีก็เรื่องของเขา
เขาจะร้ายก็เรื่องของเขา
แต่เราจะไม่ดีไม่ร้ายตามเขา
เพราะเรารู้ทัน
ถ้าเรารู้ทันอย่างนี้
ใจของเราก็จะนิ่งเฉยอยู่
เป็นเหมือนก้อนหิน
ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว
ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิดขึ้นมา
นี่แหละคืออานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม
การเจริญสมาธิ การมีปัญญา
เมื่อมีทั้ง ๒ อย่างแล้ว
รับรองได้ว่าความทุกข์ภายในใจจะไม่ปรากฏขึ้นมาอย่างแน่นอน
เหมือนกับใจของพระพุทธเจ้า
ใจของพระอรหันต์ทั้งหลาย
ท่านมีปัญญา ท่านมีสมาธิ
ท่านจึงหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย
ที่เข้ามากระทบผ่านทางตา หู
จมูก ลิ้น กาย ผ่านทางรูป
เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส
ผ่านทางรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ
ท่านรู้ทันสภาวธรรมเหล่านี้ทั้งหมดแล้ว
ว่าเป็นไตรลักษณ์
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ท่านไม่ยึดไม่ติด
ไม่มีความปรารถนาที่จะอยากให้เขาเป็นอย่างนั้น
ให้เขาเป็นอย่างนี้
เขาเป็นอย่างไร
ก็ยอมรับความเป็นจริง
ตามสภาพของเขา
อย่างพวกเรานี้
บางสิ่งบางอย่างเราก็รับได้
เรายอมรับได้ใจของเราก็ไม่ทุกข์
เช่นยอมรับกับสภาพดินฟ้าอากาศได้
เวลาพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก
ก็ไม่ไปมีความอยากไม่ให้ขึ้นไม่ให้ตก
เวลาฝนตก
ก็ไม่ได้มีความอยากจะไม่ให้ฝนตก
เขาจะเป็นอย่างไร
ก็ยอมรับตามความเป็นจริงของเขา
อย่างนี้แสดงว่ามีปัญญา
รู้ทันกับความเป็นจริง
เมื่อรู้ทันแล้ว
ก็ไม่ไปฝืนความจริง
เมื่อไม่ฝืนความจริง
ความทุกข์ก็จะไม่มีในใจเรา
แต่ก็เป็นเพียงบางเรื่องเท่านั้น
ยังมีอีกหลายเรื่องที่เรายังทำใจกันไม่ได้
เช่นยังทำใจกับความแก่
ความเจ็บ ความตายไม่ได้
ยังทำใจกับการพลัดพรากจากของรักไม่ได้
ยังทำใจกับการประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบไม่ได้
ยังทำใจกับความผิดหวังไม่ได้นั่นเอง
จึงยังมีความทุกข์อยู่ในใจ
แต่ถ้านำธรรมที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ไปปฏิบัติ
ในเบื้องต้นฝึกทำสมาธิ
ทำใจให้ตั้งมั่น
ให้เป็นเหมือนกับหิน
ซึ่งเราสามารถทำได้ด้วยการไหว้พระสวดมนต์ในเบื้องต้นก่อน
หรือนั่งขัดสมาธิทำสมาธิ
กำหนดพุทโธๆๆไปในใจเลยก็ได้
สุดแท้แต่ความถนัด
สุดแท้แต่ความสามารถ
ผลที่ต้องการก็คือ
ให้จิตหยุดคิด
ไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ
บังคับจิตให้อยู่กับอารมณ์เดียว
อารมณ์สวดมนต์ อารมณ์พุทโธๆๆ
จนจิตรวมลงเป็นสมาธิตั้งมั่น
หลังจากนั้นแล้ว
การสวดมนต์หรือการบริกรรมพุทโธๆๆ
ก็ไม่มีความจำเป็นต่อไป
เพราะในขณะนั้นจิตจะไม่ไปไหน
จิตจะนิ่งเฉยตั้งมั่น
มีความสุข มีความสงบ
มีความอิ่ม มีความพอ
ถ้าได้ทำให้จิตเป็นสมาธิแล้ว
หลังจากออกมาจากสมาธิ
เราก็มาเจริญปัญญาต่อไป
พิจารณาธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณา
คือเกิดมาแล้วต้องแก่
ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา
ต้องพลัดพรากจากของรักเป็นธรรมดา
ต้องประสบกับของชังของไม่ชอบเป็นธรรมดา
หลีกเลี่ยงไม่ได้ หนีไม่พ้น
เป็นปกติ
เป็นธรรมดาของโลกนี้
เมื่อรู้แล้วก็ฝึกทำใจให้ยอมรับ
ค่อยๆฝึกไปทีละเล็กทีละน้อย
ในที่สุดก็จะยอมรับได้
เมื่อยอมรับได้แล้ว
ความทุกข์ก็จะไม่มีปรากฏขึ้นมาภายในใจ
เช่นเวลาสูญเสียอะไรไป
ก็ยอมรับว่าสูญเสียไปแล้ว
เป็นเรื่องปกติ
เป็นเรื่องธรรมดา
เอากลับมาไม่ได้
ถึงแม้เอากลับมาได้
พรุ่งนี้หรือในอนาคตข้างหน้าก็ต้องสูญเสียไปอีกอยู่ดี
เพราะเป็นอนิจจัง
เป็นของไม่เที่ยง
ไม่พลัดพรากจากกันในวันนี้
ก็ต้องพลัดพรากจากกันในวันหน้าอย่างแน่นอน
เพราะนี่คือธรรมชาติของสภาวธรรมทั้งหลาย
ของสิ่งทั้งหลายในโลกนี้
เป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น
เป็นอนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว
ใจก็จะไม่ไปยึดไปติดกับอะไรอีกต่อไป
ถึงแม้จะอยู่กับสิ่งเหล่านี้
ก็ไม่ยึดไม่ติด ไม่หวง
ไม่ห่วง จะอยู่ก็อยู่ไป
จะหมดก็หมดไป
แต่ในขณะที่อยู่ด้วยกัน ก็นำมาใช้ให้เกิดคุณเกิดประโยชน์ เช่นมีเงินทอง ข้าวของส่วนที่เกินต่อความจำเป็น ก็นำมาทำบุญทำทาน สร้างบุญบารมีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อย่างนี้จะเป็นคุณเป็นประโยชน์ เป็นการสะสมบุญบารมี ที่จะส่งเสริมให้ได้มีโอกาสได้ปฏิบัติธรรม ได้มีปัญญาขึ้นมา เพื่อจะได้หลุดพ้นจากกองทุกข์ในลำดับต่อไป ชีวิตของเราจะดำเนินไปด้วยความสะดวกราบรื่น สบายอกสบายใจ เพราะความกังวลต่างๆจะไม่มีภายในใจ นี่แหละคืออานิสงส์ของปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พวกเราได้เจริญกัน ให้เจริญอย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา แทนที่จะเอาเวลาไปคิดในเรื่องไร้สาระ หรือเรื่องที่จะสร้างให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ให้นำมาคิดถึงเรื่องที่จะทำให้ใจสงบ ให้ใจสบาย ไม่ดีกว่าหรือ จึงควรใช้เวลาให้เกิดคุณเกิดประโยชน์ ด้วยการสร้างบุญบารมี สร้างพลังจิต สร้างปัญญา เพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ที่เกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดอันไม่รู้จักจบจักสิ้น การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้