กัณฑ์ที่
๑๖๕
สิ่งที่ควรรู้
การที่สาธุชนจะดำเนินชีวิตไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม
มีแต่ความสุขความเจริญ
ความเป็นสิริมงคล
ปราศจากความทุกข์
ปราศจากปัญหาที่สร้างความวุ่นวายใจให้กับตนนั้น
จำต้องมีความรู้เป็นเครื่องนำทาง
พระพุทธเจ้า พระบรมศาสดา
จึงทรงประทานสิ่งที่ควรรู้ ๗
ประการ ให้สาธุชนนำเอาไปปฏิบัติ
ถ้าปฏิบัติตามได้
ชีวิตย่อมดำเนินไปด้วยความดีงาม
ด้วยความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง
สิ่งที่ควรรู้ ๗ ประการคือ
๑.
รู้เหตุ ๒.
รู้ผล ๓.
รู้ตน ๔.
รู้บุคคล ๕.
รู้สังคม ๖.
รู้กาลเทศะ ๗.
รู้ประมาณ
นี่คือสิ่งที่ควรรู้อย่างยิ่ง
ยิ่งกว่าสิ่งอื่นๆในโลกนี้
ถึงแม้จะมีความรู้จบปริญญาตรี
โท เอก มีความรู้ในการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทำให้ร่ำรวย
มีตำแหน่งสูงๆ แต่ถ้าไม่รู้สิ่งที่ควรรู้
๗ ประการนี้ รับรองได้ว่าชีวิตจะมีแต่ความวุ่นวาย
มีแต่ความทุกข์
มีแต่ปัญหาตามมา
เพราะความรู้นอกจากสิ่งที่ควรรู้
๗ ประการนี้
ไม่สามารถนำพาชีวิตไปในทิศทางที่ดี
ที่งาม ที่เจริญได้ ถึงแม้จะร่ำรวย
มีตำแหน่งสูงๆ
แต่นั่นไม่ใช่เป็นความเจริญที่แท้จริง
ถ้ามีความร่ำรวยมีตำแหน่งสูงๆ
แต่ใจมีแต่ความวุ่นวาย
มีแต่ปัญหาที่จะต้องไปแก้ไข
ขึ้นโรงขึ้นศาล
ไปติดคุกติดตะราง
อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นความเจริญ
เป็นความสุข ต่อให้อยู่ท่ามกลางกองสมบัติอันใหญ่โต
ถ้าจิตใจมีแต่ความวุ่นวาย
มีแต่ความทุกข์แล้ว สมบัติเงินทองต่างๆ
ที่มีอยู่นั้นจะมีประโยชน์อะไร
สู้คนที่ไม่มีเงินทองอย่างพระพุทธเจ้า
พระอรหันตสาวกไม่ได้
ท่านอยู่ด้วยความสงบ
ด้วยความราบรื่น
ด้วยความเย็น ด้วยความสบาย
นั่นก็เป็นเพราะว่าท่านรู้ในสิ่งที่ควรรู้ทั้ง
๗ ประการนี้ เราจึงควรให้ความสนใจต่อสิ่งที่ควรรู้ทั้ง
๗ ประการนี้ แล้วชีวิตของเราจะดำเนินไปได้ด้วยความดีงาม
ถูกต้อง มีแต่ความสุขที่แท้จริงตามมา
๑.
รู้เหตุ
คือรู้ว่าการกระทำทางกาย
ทางวาจา ทางใจ
เรียกว่ากายกรรม วจีกรรม
มโนกรรม เป็นเหตุ
เมื่อทำไปแล้วย่อมมีผลตามมา
เหตุก็มีอยู่ ๒
ลักษณะใหญ่ๆ คือการกระทำดี
เรียกว่าบุญ เรียกว่ากุศล
การกระทำไม่ดีเรียกว่าบาป
เรียกว่าอกุศล
เมื่อทำไปแล้วผลก็จะปรากฏตามมา
คือต้องรู้ว่าการกระทำของเรา
เป็นเหตุที่จะทำให้มีผลตามมา
จะสุขหรือจะเจริญ
จะทุกข์หรือจะเสื่อม
ขึ้นอยู่ที่เหตุที่ทำไป
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการขอพรจากพระเจ้า
ขอพรจากพระพุทธเจ้า
พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ศาสนิกชนขอพรจากพระ ไม่ได้ให้ขอสิ่งนั้นสิ่งนี้จากพระ
แต่ให้ทำความดี
เพราะความดีเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญ
๒.
รู้ผล
เราจึงต้องรู้ผลที่เราปรารถนา
คือความสุขและความเจริญ
ผลที่เราไม่ปรารถนา
ก็คือความทุกข์ความเสื่อมเสีย
ผลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากเหตุ
ถ้าต้องการผลที่ดี
ก็ต้องสร้างเหตุที่ดี
เช่นทำบุญทำกุศล
ถ้าไม่ต้องการผลที่เสีย
คือความทุกข์ความเสื่อม
ก็ต้องละเว้นจากการกระทำเหตุที่ไม่ดี
คือละเว้นจากการทำบาปทำกรรม
ละเว้นจากอกุศลกรรมทั้งหลาย
ผลที่ไม่ปรารถนาก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา
นี่แหละคือเรื่องของเหตุและผล
เป็นกฎของธรรมชาติที่ไม่ได้ขึ้นกับกาลกับเวลา ไม่ขึ้นกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด
แม้จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้สอนเรื่องเหล่านี้หรือไม่ก็ตาม
เรื่องเหล่านี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่
เป็นมาตั้งแต่อดีตกาลอันยาวนาน
เป็นอยู่ในปัจจุบัน
จะเป็นต่อไปในอนาคตข้างหน้า
นี่เป็นสัจธรรมความจริงที่เป็นอกาลิโก
ไม่ขึ้นกับกาลกับเวลา
เราจึงควรทำความเข้าใจสัจธรรมนี้
คือรู้เหตุรู้ผล
รู้ว่าเหตุที่จะทำให้ผลที่ต้องการเกิดขึ้นมา
เป็นอย่างไร แล้วก็บำเพ็ญเหตุนั้นให้เกิดผลขึ้นมา
เช่น
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่า
ถ้าปรารถนาความสุขความสงบ
ความเจริญทางด้านจิตใจ
ก็ต้องทำบุญทำทาน
รักษาศีล ปฏิบัติธรรม
เพราะเป็นเหตุที่จะทำให้ชีวิตของเรา
มีแต่ความสุข
มีแต่ความเจริญอย่างแท้จริง
๓.
รู้ตน
การรู้ตนหมายถึงรู้ว่าในตัวเรามีอะไรดีบ้าง
มีอะไรไม่ดีบ้าง มีจุดเด่นตรงไหน
จุดด้อยตรงไหน รู้จักแยกแยะส่วนที่ดีในตัวเราออกจากส่วนที่เสีย
คนเราทุกคนมีทั้งดีมีทั้งชั่ว
เพราะในอดีตเคยกระทำความดีและความชั่ว
สลับกันไปสลับกันมาตามอารมณ์ของจิต
ในวาระของจิตที่มีอารมณ์ดี
ที่เรียกว่ากุศลจิต
ก็จะทำความดี อย่างในวันนี้ท่านทั้งหลายมีกุศลจิตจึงได้มาที่วัด
มาทำบุญทำทาน
ฟังเทศน์ฟังธรรม รักษาศีล
ปฏิบัติธรรม นั่นเป็นเพราะว่ามีกุศลจิตปรากฏขึ้นมานั่นเอง แต่บางวันก็มีอกุศลจิตปรากฏขึ้นมา
ก็จะไปกระทำอกุศลกรรม
เช่น ไปเสพสุรายาเมา
ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ยิงนกตกปลา
ดื่มเหล้า เล่นการพนัน
ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากอกุศลจิต
เมื่อมีแล้วก็นำพาไปสู่อกุศลกรรม
ที่กระทำไปก็เพราะไม่รู้ตนนั่นเอง
ไม่มีสติคอยดูจิตของตน
ดูการเคลื่อนไหวของกายและวาจา
ว่าจะดำเนินไปในทิศทางไหน
ถ้าฝึกตั้งสติดูจิต ดูกาย
ดูวาจา
ว่ากำลังจะเคลื่อนไปในทิศทางไหน
ถ้าไปในทางอกุศลกรรมก็ยับยั้งเสีย
ถ้าไปในทางกุศลกรรมก็รีบส่งเสริม
อย่างวันนี้คิดจะมาทำบุญที่วัดก็รีบมาเสีย
อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง
ถ้ามีกุศลจิตแต่ไม่มีกำลังใจ
มีความเกียจคร้านมาขวาง
พอตื่นขึ้นมาก็รู้สึกว่าไม่อยากจะลุก
ก็เลยไม่ได้มาทำบุญที่วัด
แต่ถ้ามีกุศลจิต
พอตื่นขึ้นมาปั๊บ
ก็ลุกขึ้นมาทันที
ล้างหน้าล้างตา
เตรียมข้าวเตรียมของ
ออกจากบ้านมุ่งมาสู่ที่วัด
ไม่ว่าสภาพดินฟ้าอากาศจะเป็นอย่างไร
ก็จะไม่ให้ขัดขวางกุศลจิต
กุศลกรรมอันดีงามนี้
นี่คือการดูจิต
ถ้าเกิดอกุศลจิตขึ้นมา
เกิดเปรี้ยวปากอยากจะกินเหล้าสักหน่อย
เคยหยุดมาได้ตั้ง ๒-๓
อาทิตย์แล้ว แต่วันนี้อารมณ์ไม่ดี
คนนั้นไปพูดอย่างนั้น
คนนี้ไปทำอย่างนี้
ทำให้เกิดความไม่พออกไม่พอใจ
ก็เลยคิดว่าจะดับความไม่พอใจด้วยการเสพสุรา ถ้าไม่มีสติดูใจอยู่
ไม่รู้ตน ไม่รู้เหตุ รู้ผล
ก็จะไหลไปตามความคิดนั้น
ความอยากนั้น
แล้วก็ไปกระทำอกุศลกรรม
ไปเสพสุรายาเมา
เมื่อเสพเข้าไปแล้วเกิดอาการมึนเมา
ก็จะพาไปสู่การประพฤติที่ไม่ดีต่อไป
บางทีก็ไปพูดจาถากถางผู้อื่น
พูดจาหยาบคาย
เกิดการทะเลาะวิวาท
เกิดการทำร้ายร่างกาย
เกิดการฆ่าฟันกันขึ้นมา
นี่ก็เป็นเพราะไม่รู้ตน
ไม่มีสติดูการกระทำของตนนั่นเอง
ถ้ามีสติแล้ว
เวลามีอกุศลจิตคิดอยากจะเสพสุรายาเมา
ก็ต้องระงับความรู้สึกอันนั้นทันที
บอกตนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี
ผลที่จะตามมาก็ไม่ดี
อาจจะลามปามถึงกับทำลายชีวิตตน
อาจจะต้องเข้าคุกเข้าตะรางไป
นี่ก็เกิดจากการไม่มีสติ
คอยดูการเคลื่อนไหวของใจ
ของกาย ของวาจา นั่นเอง
เราจึงควรเจริญสติอยู่กับการเคลื่อนไหวของกรรมทั้ง
๓ คือกายกรรม
วจีกรรม มโนกรรม
อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมโนกรรม
ซึ่งเป็นผู้ริเริ่ม
เป็นต้นเหตุของการกระทำทั้งหลาย
จึงควรฝึกดูจิตของเรา
การที่จะฝึกได้ก็ต้องฝึกสมาธิ
ทำสมาธิควบคุมจิตใจให้สงบ
ให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
เช่น ให้อยู่กับบทสวดมนต์
สวดไปอย่าให้ใจไปคิดเรื่องราวต่างๆ
หรือให้อยู่กับคำว่า พุทโธๆๆ
ก็คุมไว้อยู่อย่างนั้น
แล้วต่อไปก็จะเริ่มเห็นจิตของเรา
เห็นการเคลื่อนไหวของจิต
เห็นจิตเคลื่อนออกจากพุทโธ
หรือออกจากบทสวดมนต์
ก็รู้แล้วว่ากำลังออกนอกลู่นอกทาง
เหมือนกับคนขับรถที่มีสติ
จะรู้ว่ารถอยู่บนถนนหรือไม่
แต่ถ้าเมาไม่มีสติขับไปนี่
บางทีก็ไม่รู้ว่ารถได้ตกออกไปนอกถนนแล้ว
จึงเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา
เพราะไม่มีสตินั่นเอง
จึงควรฝึกสติด้วยการฝึกสมาธิ
วันๆหนึ่งควรทำสมาธิอย่างน้อยสัก
๒ ครั้ง เช้าครั้งหนึ่ง
เย็นครั้งหนึ่งก็ยังดี
ตอนเช้าตื่นขึ้นมาก่อนจะไปทำอะไรก็ไหว้พระสวดมนต์
นั่งทำสมาธิ สักครึ่งชั่วโมง
สักชั่วโมงหนึ่ง
และก่อนที่จะนอนก็ทำอีกสักครึ่งชั่วโมง
ชั่วโมงหนึ่ง รับรองได้ว่าจะมีสติไว้คอยดูแลใจ
เมื่อมีสติแล้ว เวลาใจไปคิดถึงเรื่องอะไรก็จะรู้ทัน เมื่อรู้ทันก็ดับได้
เหมือนกับการดับไฟ
เวลาเริ่มเกิดขึ้นใหม่ๆมันดับง่าย
เช่นใครโยนเศษบุหรี่เข้าไปในใบไม้
ถ้าเห็นว่ามีควันไฟเริ่มลุกขึ้นมา
เพียงแต่เอาอะไรไปปัดๆเป่าๆ
เอาน้ำเทลงไปสักนิดหนึ่งไฟก็ดับแล้ว
มันดับง่ายถ้าดับตอนต้นไฟ
แต่ถ้าปล่อยให้ลามออกมาจนใหญ่โตแล้ว
บางทีก็ดับไม่ได้
อย่างไฟป่าบางทีก็ดับไม่ได้
ต้องปล่อยให้ลุกไปจนไม่มีอะไรให้เผาไหม้แล้ว
ไฟถึงจะดับไปเอง
ฉันใดการกระทำของเราในทางที่ไม่ดี
ทางอกุศลกรรมก็เปรียบเหมือนกับไฟ
จะเริ่มขึ้นที่ความคิดของเรา
เมื่อเริ่มแล้วถ้าไม่ควบคุมดับเสีย
ก็จะไหลออกไปทางวาจา ทางกาย
เมื่อออกไปแล้วก็ยากต่อการที่จะหยุดมันได้ จึงต้องมีสติไว้คอยดูตัวเรา
นี่คือเรื่องของการรู้ตน
๔. รู้บุคคล
คือรู้จักคนที่เราเกี่ยวข้องด้วย
ว่าเป็นคนอย่างไร
เป็นคนดีหรือเป็นคนไม่ดี
เป็นบัณฑิตหรือเป็นคนพาล
คนดี
คนเป็นบัณฑิตก็อย่างที่พูดไว้
เป็นคนที่ชอบทำบุญทำทาน
รักษาศีล ปฏิบัติธรรม
ส่วนคนพาลก็เป็นคนที่ชอบเสพอบายมุขทั้งหลาย เช่น สุรายาเมา
เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน
คบคนชั่วเป็นมิตร
เกียจคร้าน นี่คือลักษณะของคนพาล
เวลาคบกับใครก็ให้ดูว่าเป็นคนแบบไหน
ถ้าเป็นคนที่มีความดีมากกว่าความชั่ว
ก็น่าคบ แต่ถ้ามีความชั่วมากกว่าความดี
ก็ไม่น่าคบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะคบกันไม่ได้
แต่ต้องระวัง ถ้าเป็นคนไม่ดีแต่ยังมีความจำเป็นที่ต้องคบค้าสมาคมกันอยู่
ก็ต้องมีขีดเส้นไว้
ถ้าชวนไปทำสิ่งที่ไม่ดี เช่น
ชวนไปเสพอบายมุขทั้งหลาย
ก็ต้องปฏิเสธไป
ไม่ต้องเกรงใจ
ขอให้เกรงธรรมะยิ่งกว่าเกรงใจคน
ถ้าเกรงธรรมะแล้วเราปลอดภัย
แต่ถ้าเกรงใจคน
ธรรมะที่มีอยู่ในใจก็จะต้องถูกทำลายไป
เช่น ถ้าเสียดายเพื่อน
เพื่อนชวนไปกินเหล้า
ไปเล่นการพนัน เราเสียดายเขา
ก็ต้องไปกับเขา
ก็เลยเสียคุณงามความดีที่มีอยู่ในตัวไป
เมื่อไปเสพอบายมุข
ทำบาปทำกรรมต่างๆ
เราจึงต้องเลือกระหว่างธรรมะกับเพื่อน
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าถ้าไม่สามารถคบคนที่ดีกว่า
หรือดีเท่าเราได้
ก็อยู่คนเดียวไปจะดีกว่า
เพราะถ้าคบกับคนที่เลวกว่า
ร้ายกว่า ไม่ช้าก็เร็วเขาก็ต้องชวนเราไปทำในสิ่งที่เลวที่ร้ายนั่นเอง
แล้วเราก็จะเสียผู้เสียคนไป
แต่ถ้าอยู่คนเดียว
อย่างน้อยก็อยู่กับธรรมะของพระพุทธเจ้า
อยู่กับคุณงามความดี
เราก็ไม่เสียหายอะไร
ถึงแม้จะไม่เจริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าเดิม
เพราะการที่จะเจริญขึ้นได้
บางทีก็ต้องอาศัยผู้ที่ฉลาดกว่า
ผู้ที่ดีกว่า
เป็นผู้ฉุดลากเราขึ้นไป
เช่น
เวลาได้คบกับคนที่มีศีลมากกว่า
เราถือศีล ๕ แต่เขาถือศีล
๘ เขาก็จะคอยชวนเรามาวัดจำศีล
ถือศีล ๘ กัน เขาจะไม่ชวนเราไปเสพสุรายาเมาอย่างแน่นอน
เมื่อเขาชวนเราบ่อยๆเข้า
เราก็อาจจะลองดูก็ได้
ก็เลยได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน
ถึงแม้จะยากมาก
แต่เมื่อมีเพื่อนสนิททำอยู่
ก็ทำให้เรามีกำลังจิตกำลังใจ
เพราะคิดว่าเขาก็เป็นคนเหมือนเรา
เมื่อเขาทำได้ทำไมเราจะทำไม่ได้ดังนี้
จึงทำให้เราเจริญขึ้นมาได้
อย่างพวกเราได้มาพบพระพุทธศาสนา
มาเจอพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
เจอพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย
ที่บำเพ็ญตนอยู่ในทางที่ดีที่งาม
ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ก็ทำให้เรามีกำลังใจที่อยากจะประพฤติปฏิบัติตาม
เมื่อปฏิบัติตามชีวิตของเราก็จะดีขึ้น
นี่คือการรู้บุคคล รู้คนดีจากคนชั่ว
แล้วเลือกคบแต่คนดี
ไม่คบคนชั่ว
๕.
รู้สังคม
การที่จะอยู่ในสังคมได้ด้วยความสงบร่มเย็น
ไม่มีเรื่องราว ไม่มีปัญหา
ต้องรู้จักกฎระเบียบ
ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม
เวลาอยู่ในสังคมใดจึงต้องศึกษาดู
ว่าเขาทำอะไรกันอย่างไร
แล้วไม่ฝืนทำในสิ่งที่เขาไม่ทำกัน
เพราะถ้าไปฝืนทำก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา
อย่างชาวต่างประเทศจะไม่ค่อยถือเรื่องศีรษะกับเรื่องเท้ากันเท่าไร
เวลามาอยู่เมืองไทยถ้าไม่รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย
ที่ถือศีรษะเป็นส่วนสูง
เท้าเป็นส่วนต่ำ
บางทีเวลานั่งก็จะเอาเท้าชี้ใส่หน้าเรา
อย่างนี้เป็นต้น
เมื่อไปทำอย่างนั้นก็จะทำให้คนไทยไม่พออกไม่พอใจ
แต่ถ้าชาวต่างประเทศคนนั้นได้ศึกษา
ได้เรียนรู้ถึงขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคมไทยแล้วปฏิบัติตาม
เขาก็จะกลายเป็นคนน่ารักขึ้นมา
คนไทยก็จะชอบเขา ฝรั่งบางคนมีความอ่อนน้อม
รู้จักยกมือไหว้
รู้จักนั่งพับเพียบ
รู้จักกราบพระ เวลาไปที่ไหนก็จะมีแต่คนชมเชย
ชีวิตของเขาในสังคมไทยก็จะเป็นไปด้วยความสงบ
ด้วยความราบรื่นดีงาม
นี่คือการรู้สังคม
๖.
รู้กาลเทศะ
คือรู้จักกาลและสถานที่ที่เราอยู่
ที่เราไป
ว่ากำลังทำอะไรกันอยู่
อย่างตอนนี้เรากำลังนั่งฟังเทศน์ฟังธรรมกันอยู่ สมมุติว่าญาติโยมมาสาย
อยากจะรีบนำกับข้าวกับปลามาถวายพระ
ก็ไม่สนใจดูว่าเขากำลังทำอะไรกันอยู่
ก็รีบเอากับข้าวกับปลาเข้ามาถวาย
เอาข้าวมาตักบาตร
ทั้งๆที่ไม่ใช่เวลาที่จะกระทำเรื่องนี้
ก็จะทำให้วงแตกขึ้นมา
คนที่นั่งฟังเทศน์ฟังธรรมด้วยความสงบ
กำลังได้รับความรู้
ก็จะต้องถูกขัดขวาง ถูกทำลาย
เพราะผู้แสดงก็ต้องหยุดแสดง
ต้องรับของประเคน
ต้องรับข้าวใส่บาตร
ก็เลยทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมา
นี่ก็เป็นเพราะไม่รู้จักกาลเทศะ
ดังนั้นเวลาไปไหน
จะไปทำอะไร ขอให้ใช้ตาดู
หูฟัง ใจคิดเสียก่อน
ว่าตอนนี้เขากำลังทำอะไรกันอยู่
เรากำลังจะไปทำอะไรที่ทำให้วงแตกหรือเปล่า ไปพูดอะไรที่ทำให้วงแตกหรือเปล่า
อย่างนี้เป็นต้น
ถ้าไม่รู้
ถ้าสงสัยก็เฉยไว้เสียก่อน
นิ่งไว้เสียก่อน อย่าไปทำ
รอถามคนที่รู้ว่าตอนนี้ควรจะทำอะไรอย่างไร ถ้าทำอย่างนั้นแล้ว
ก็จะไม่เกิดปัญหาตามมา
นี่ก็คือตัวอย่างของการรู้จักกาลเทศะ
๗.
รู้จักประมาณ
คือรู้จักความพอดีนั่นเอง
คนเราถ้ามีอะไรมากเกินไปก็ไม่ดี
มีอะไรน้อยเกินไปก็ไม่ดี
ต้องมีพอดีกับความจำเป็น เช่น
การบริโภคปัจจัย ๔
การรับประทานอาหาร
การมีบ้านอยู่
การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
ก็ต้องมีประมาณ มีความพอดี รับประทานอาหารมากเกินไปก็เป็นโทษกับร่างกาย
รับประทานอาหารน้อยเกินไปก็เป็นโทษกับร่างกาย
ต้องรับประทานให้พอดี
อย่าไปรับประทานด้วยความชอบในรสชาติของอาหาร
แต่ให้รับประทานเพื่อยังชีพไปวันๆหนึ่ง
รับประทานเพื่อดับความทุกข์ที่เกิดจากความหิวของร่างกาย
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พระภิกษุทุกครั้งเวลาจะบริโภคปัจจัย
๔ ให้พิจารณาเสียก่อน
ให้มีปฏิสังขาโยนิโส
คือให้พิจารณาถึงเหตุผลของการบริโภคปัจจัย
๔ เสียก่อน เช่นก่อนที่จะฉันอาหารก็ให้พิจารณาว่า
อาหารที่จะรับประทานนี้รับประทานเพื่ออะไร
ไม่ได้รับประทานเพื่อความสนุกสนาน
ไม่ได้รับประทานเพื่อความสุขใจ
ไม่ได้รับประทานเพื่อรสชาติ
แต่รับประทานเพื่อดับความกระหาย
ความหิวของร่างกาย
อาหารจะเป็นชนิดไหน
อย่างไรก็ไม่สำคัญ
จะถูกปากถูกใจหรือไม่ก็ไม่สำคัญ
ขอให้รับประทานเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายนี้อยู่ไปได้
ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
ไม่ท้องเสีย
ไม่มีความหิวก็เป็นอันใช้ได้
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้รับประทานแบบเรียบๆง่ายๆ
เอาอาหารใส่รวมไปในบาตร
เพราะเดี๋ยวก็ต้องไปรวมกันในท้อง
อาหารทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นหวานหรือคาว
จะเป็นผลไม้หรือจะเป็นอะไร
เดี๋ยวก็จะต้องไปรวมกันในท้องอยู่ดี
ไม่จำเป็นต้องไปแยกแยะให้วุ่นวายเสียเวลาเกินไป อาหารทุกชนิดก็ต้องไปรวมกันในท้อง
ถ้าอยากจะฝึกนิสัยรับประทานแบบเรียบๆง่ายๆ
ก็ให้เอาอาหารที่จะรับประทานมาคลุกรวมกันในบาตรเสียก่อน
คนกันเข้าไปจนเป็นอาหารชนิดเดียว
เพื่อดับกิเลสตัณหาตัวจู้จี้จุกจิก
ตัวลุ่มหลงกับรูปรสของอาหารนั่นเอง
ถ้าทำได้แล้ว
ต่อไปการรับประทานอาหารจะไม่มีปัญหา
ไม่ต้องขับรถไปหาร้านเชลล์ชวนชิมที่อยู่ไกลๆ
เพื่อรับประทานอาหารเพียงแค่มื้อเดียว
เสียทั้งเวลาเสียทั้งเงินทอง
อยู่ที่บ้านมีไข่ทอดสักจานหนึ่ง
มีข้าวเปล่าสักจานหนึ่งก็อยู่ได้แล้ว
ถ้าไม่เชื่อวันไหนเกิดมีอาการจู้จี้จุกจิก
กินอาหารในบ้านไม่ได้
ก็ลองดับกิเลสดูบ้าง
ลองอดข้าวสักมื้อสองมื้อดู
รับรองได้ว่าหลังจากนั้นแล้ว
แม้แต่ข้าวเปล่าๆ
คลุกกับน้ำปลาก็อร่อย
เพราะเรื่องของใจเป็นอย่างนี้
เวลาเคยกินอะไรบ่อยๆ
ก็จะเบื่อ
แล้วก็จะเริ่มจู้จี้จุกจิก
แต่ถ้าไม่ได้กินข้าวมาสักวันสองวัน
เห็นข้าวเปล่าๆคลุกน้ำปลา
ก็จะกระโจนใส่ เพราะนี่คือเรื่องของกิเลสตัณหา
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเก่งทางด้านนี้ ทรงได้ตรัสรู้ธรรม รู้ถึงธรรมชาติของกิเลสตัณหา จึงสอนพระให้ดับกิเลส ดับตัณหา ด้วยการกินอยู่แบบเรียบๆง่ายๆ พอให้สำเร็จประโยชน์เท่านั้น กินอาหารก็เพื่อรักษาร่างกายให้อยู่ไปวันๆหนึ่ง ใส่เสื้อผ้าก็เพื่อปกป้องสัตว์แมลงทั้งหลาย ป้องกันความหนาว ป้องกันอวัยวะต่างๆที่ควรจะปกปิด บ้านก็มีไว้เพื่อหลบแดดหลบฝนเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านใหญ่โตราคาเป็นร้อยล้านพันล้าน เวลานอนหลับไปก็ไม่รู้ว่าบ้านนั้นราคาเท่าไร นอนในกระต๊อบกับนอนในบ้านพันล้าน เวลานอนหลับไปก็เหมือนกัน นอนในกระต๊อบเวลาหลับไป อาจจะฝันดีกว่าคนที่นอนในบ้านร้อยล้านพันล้านก็เป็นได้ เพราะคนที่มีเงินร้อยล้านพันล้านมักจะมีเรื่องวุ่นวายใจอยู่เสมอ เวลานอนหลับก็มีแต่จะฝันร้าย นี่คือเรื่องราวของการรู้จักประมาณ รู้ความพอดี รู้ว่าใช้เพื่อประโยชน์อะไร อย่าให้กิเลสตัณหามาหลอก ว่าต้องมีของหรูหรา ของสวยๆงามๆ ของแพงๆ จึงจะอยู่ได้ ซึ่งเป็นความเห็นผิด เป็นความหลง ไม่ใช่เป็นความรู้ที่ควรจะรู้นั่นเอง พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พุทธศาสนิกชน สาธุชนทั้งหลาย ให้รู้จักสิ่งที่ควรรู้ ๗ ประการ คือรู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้บุคคล รู้สังคม รู้กาละเทศะ รู้ประมาณ เพื่อการอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากความทุกข์ ความวุ่นวายทั้งหลาย การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้