กัณฑ์ที่ ๑๖๗    ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๖

รู้ทัน

 

การที่สาธุชนพุทธบริษัทจะได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ประโยชน์เบื้องต้นจนถึงประโยชน์อันสูงสุดนั้น  สิ่งที่จะต้องมีในเบื้องต้นก็คือศรัทธา ความเชื่อ  เชื่ออะไร  ก็เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ธรรมจริง เป็นผู้รู้จริง เห็นจริง  เชื่อในพระธรรมคำสอนว่าเป็นคำสอนที่ถูกต้องแม่นยำ ตรงหลักความจริง  เชื่อในพระอริยสงฆ์สาวกว่า เป็นผู้ที่ได้น้อมนำเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาศึกษาปฏิบัติ จนได้บรรลุเห็นธรรม เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุเห็นมาแล้ว  ถ้าเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ก็จะมีวิริยะ ความพากเพียร ที่จะปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งถึงแม้จะมีหลากหลายถึง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์  ก็สรุปลงอยู่ที่คำๆเดียวก็คือกรรม  กรรมแปลว่าการกระทำ  มีอยู่ ๓  คือการกระทำทางกาย วาจา ใจ  เรียกว่ากายกรรม วจีกรรม มโนกรรม 

เมื่อทำกรรมทั้ง ๓ นี้แล้ว ก็จะมีผลตามมาเรียกว่าวิบาก  ผลที่จะตามมาก็ขึ้นอยู่กับการกระทำว่าเป็นการกระทำชนิดใด  ถ้าเป็นการกระทำดีเป็นบุญเป็นกุศล  ผลที่จะตามมาก็เป็นความสุขความเจริญ ถ้ากระทำความชั่วทำบาป ผลที่จะตามมาก็คือความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความหายนะ เป็นหลักตายตัวที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ได้ปฏิบัติจนตรัสรู้ธรรมนี้ แล้วนำธรรมนี้มาสั่งสอนให้กับสัตว์โลกทั้งหลาย เพื่อจะได้รู้เรื่องของกรรม  ซึ่งเป็นเรื่องๆเดียวที่พระพุทธเจ้าจะทรงสอน โดยสรุปได้ว่า ความสุขความเจริญก็ดี  ความทุกข์ความเสื่อมเสียก็ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้หนึ่งผู้ใด  แต่ขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละบุคคล ที่กระทำทางกาย วาจา ใจ  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพระพุทธเจ้าที่จะมามอบสิ่งต่างๆที่ดีที่งามให้กับเรา  พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้พุทธบริษัทขอสิ่งต่างๆจากพระพุทธเจ้า  ไม่ได้ให้ขอพรให้พระพุทธเจ้าจงเสก จงเป่า จงทำให้เราประสบกับความสำเร็จ ประสบกับสิ่งที่เราต้องการ แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนอยู่เสมอๆก็คือ ให้ทำความดี  ทางกาย วาจา ใจ  คือให้คิดดี พูดดี ทำดี  เมื่อคิดดี พูดดี ทำดี แล้วผลที่ดีก็จะตามมา  ให้ละเว้นจากการคิดร้าย พูดร้าย ทำร้าย  เพื่อผลที่ไม่ดีคือความทุกข์ ความเสื่อมเสีย จะได้ไม่ตามมา  

ถ้าได้เข้าหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างสม่ำเสมอ  อย่างที่ท่านได้มากระทำกันในวันนี้  ทุกครั้งที่ท่านได้มาที่วัด ก็ถือว่าได้เข้าหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะได้ยินพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  จะได้เห็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  เป็นตัวอย่างที่จะทำให้มีศรัทธาเพิ่มมากขึ้นไปอีก  เมื่อมีศรัทธาแล้วก็จะนำไปสู่ธรรมขั้นที่ ๒ คือวิริยะ ความพากเพียร  เมื่อเห็นพระท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธา ก็ทำให้เกิดมีศรัทธาที่อยากจะปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ก็เลยนำคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมาปฏิบัติกัน  คำสอนที่สรุปลงก็ได้ ๓ หัวข้อใหญ่ๆคือ  ๑. ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม คือคิดดี ทำดี พูดดี  ๒. ละเว้นการกระทำความชั่วทั้งหลายเสีย  คืออย่าไปคิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่ว  ๓. ชำระจิตให้สะอาดด้วยการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิวิปัสสนา  ชำระกิเลสตัณหาอันเป็นเหตุของความเศร้าหมอง เหตุของความเสื่อมเสียทั้งหลายให้หมดไปจากจิตจากใจ ถ้ามุ่งมั่นปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเห็นว่าชีวิตเริ่มมีความสุขความเจริญขึ้นไปตามลำดับ 

แต่ความสุขความเจริญนี้ไม่ได้หมายถึงความสุขที่เกิดจากภายนอก  เช่นความเจริญทางลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน  เพียงแต่ว่าไม่ใช่เป็นผลโดยตรงจากการปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  ผลที่จะปรากฏโดยตรงนั้นก็คือความสุขความเจริญภายในใจ   ใจจะมีความสงบ มีความร่มเย็น มีความอิ่ม มีความสุข ปราศจากความทุกข์ความวุ่นวายใจ  ปราศจากความหิว ความกระหาย  ปราศจากความกังวล ความว้าวุ่นขุ่นมัวทั้งหลาย  นี่เป็นผลที่จะเกิดขึ้นในใจโดยหลัก  เพราะผู้กระทำก็คือใจ และผู้ที่จะรับผลก็คือใจ  ส่วนสิ่งภายนอกที่จะได้รับจากผู้อื่นนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเขาว่าเขาจะรู้ เขาจะเห็นในความดีงามของเราหรือไม่  ถ้าเขาเห็นเขาก็จะส่งเสริมสนับสนุนให้เราได้เจริญในทางลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  แต่ถ้าเขาไม่รู้เขาไม่เห็น เขาก็จะไม่ได้ส่งเสริมเรา  แต่ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อความสุข ความเจริญภายในใจนั้น จะไม่ค่อยหิว ไม่ค่อยกระหาย ไม่ค่อยอยากกับสิ่งอะไรภายนอกทั้งหลาย  เพราะรู้ว่าสิ่งต่างๆภายนอกนั้น หาเป็นความสุขความเจริญที่แท้จริงไม่  เพราะโดยธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างภายนอก ล้วนมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอนเป็นธรรมชาติประจำตัวอยู่แล้ว เราไม่สามารถไปกำหนดควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้เสมอไป  เมื่อเป็นเช่นนั้นย่อมมีความทุกข์แฝงอยู่ในสิ่งนั้นๆ  ถ้าฉลาด ไม่หลง ไม่ยึด ไม่ติด ก็จะไม่ทุกข์กับสิ่งเหล่านั้น  แต่ถ้าหลงไปยินดี ไปชอบ ไปอยาก  คืออยากให้อยู่กับตนไปนานๆ  อยากให้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้  ถ้าไม่เป็นไปดังที่ปรารถนา ก็ต้องเกิดความทุกข์ขึ้นมาอย่างแน่นอน 

ผู้ที่ปฏิบัติแล้วมีความสุขภายในใจ จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ดี จะไม่ค่อยยินดีกับความสุขความเจริญภายนอกเท่าไร  เพราะความสุขความเจริญที่มีอยู่ภายในใจนั้นเป็นสิ่งที่วิเศษกว่า ประเสริฐกว่า  เป็นสิ่งที่ให้ความสุขความอิ่มกว่า  เป็นความสุขความอิ่มที่แท้จริง  เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้เกิดมีความวิริยะอุตสาหะ ที่จะปฏิบัติดูแลการกระทำของตน ให้เป็นไปตามทำนองคลองธรรมอยู่เสมอ สิ่งที่จะต้องเฝ้าดูก็คือกิริยาหรือการกระทำทั้ง ๓ คือกาย วาจา ใจ ก็จะนำไปสู่ธรรมะขั้นที่ ๓ คือสติ เมื่อคอยเฝ้าดูการกระทำทางกาย วาจา ใจ อย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง  ก็แสดงว่าเริ่มมีสติ  มีสติคอยดูรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของกาย วาจา ใจ เวลาใจคิดอะไรก็ต้องรู้ทันว่าคิดดีหรือคิดร้าย เพราะว่าใจจะเป็นต้นเหตุของการกระทำทางกายและทางวาจาต่อไป ถ้ามีสติรู้ทันว่าคิดดีก็ปล่อยให้ออกไปได้ ให้พูดดี ให้ทำดีต่อไปได้  แต่ถ้าคิดร้ายก็ต้องระงับทันที  ระงับความคิดนั้นว่าเป็นความคิดที่ไม่ดี เพราะคนที่มีความคิดร้ายนั้นย่อมพูดร้าย ทำร้ายต่อไป ซึ่งจะนำมาซึ่งผลที่ไม่ดีตามมา คือความทุกข์ ความเสื่อมเสีย 

ถ้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งหลับ  มีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของกรรมทั้ง ๓ นี้ คือกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมอย่างต่อเนื่องแล้ว  ใจก็จะรู้ทันความเคลื่อนไหวของตัวเอง  รู้ทันความคิดของตน ว่าไปในทิศทางใด  ถ้าไปในทิศทางที่ไม่ดีก็ระงับดับเสีย  เมื่อระงับดับไปเรื่อยๆ  ความคิดที่ไม่ดีก็จะมีน้อยลงไป  ส่วนความคิดที่ดีเมื่อคิดมาแล้วก็ส่งเสริมให้มีการกระทำต่อไป  ให้พูดดีให้ทำดีต่อไป  เมื่อมีการส่งเสริมความคิดที่ดี การกระทำที่ดี การพูดที่ดี ต่อไปก็จะมีแต่ความคิดที่ดี การพูดที่ดี การกระทำที่ดีเป็นนิสัยต่อไป   เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วผลที่ดีย่อมตามมา  คือมีแต่ความสุข ความเจริญในจิตใจ  เมื่อได้ปฏิบัติสติอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้จิตเข้าสู่ธรรมขั้นที่ ๔ คือสมาธิ เมื่อจิตมีสติควบคุมกาย วาจา ใจ อย่างสม่ำเสมอ  เวลาจะกำหนดให้จิตอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง  จิตก็จะตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์นั้น  เช่นกำหนดให้อยู่กับการสวดมนต์ จิตก็จะอยู่กับบทสวดมนต์  จะไม่ลอยไปลอยมาเหมือนเมื่อก่อนที่ไม่มีสติ 

ถ้ามีสติแล้ว สตินี้จะเป็นตัวที่ควบคุมจิต ให้อยู่กับอารมณ์ที่จิตต้องการจะอยู่ด้วย  เช่นเวลาสวดมนต์ก็จะอยู่กับบทสวดมนต์ตลอดเวลา  ไม่ลอยไปคิดถึงเรื่องนั้นคิดถึงเรื่องนี้ แล้วก็สวดมนต์ควบคู่กันไป  เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วจิตจะไม่สงบ จิตจะไม่นิ่ง  แต่ถ้าจิตมีสติควบคุมให้อยู่กับบทสวดมนต์  สวดไปเรื่อยๆ จิตก็จะเข้าสู่ความสงบ  หรือจะกำหนดให้อยู่กับคำบริกรรมว่า พุทโธๆๆ  จิตก็จะอยู่กับคำบริกรรมนั้น  ถ้าจิตได้อยู่กับการบริกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะรวมลงเป็นสมาธิ  เข้าสู่ความสงบเรียกว่าเป็นเอกัคตารมณ์ จิตรวมลงเป็นหนึ่ง มีสักแต่ว่ารู้อยู่ตามลำพัง  มีความสุข ความอิ่ม ความสบายใจ  ในขณะนั้นจิตจะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างภายนอก แม้กระทั่งสังขารร่างกายก็จะไม่ไปสนใจ  เพราะในขณะนั้นจิตมีความเพลิดเพลิน มีความผูกพันกับความสงบนิ่ง  ซึ่งเป็นความสุขที่ประเสริฐกว่าความสุขอันใดในโลกนี้  พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า สุขอื่นที่เหนือกว่าความสงบของจิตไม่มี  ผู้ใดถ้าได้ปฏิบัติควบคุมจิตให้เข้าสู่ความเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคตารมณ์ เป็นสมาธิได้แล้ว  จะพบกับความสุขอันมหัศจรรย์นี้ 

เมื่อได้พบกับความสุขนี้แล้วก็จะเกิดธรรมขั้นที่ ๕ คือปัญญาตามขึ้นมา  จะรู้ทันทีว่าความสุขทั้งหลายที่เคยไปแสวงหาจากสิ่งต่างๆภายนอก เช่นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ล้วนเป็นความสุขที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน  ล้วนเป็นความสุขไม่แท้จริง  เพราะมีความทุกข์ที่จะตามมาเสมอ  ซึ่งเราก็เคยเจอกันอยู่เสมอ  เวลาได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ถูกอกถูกใจ เราก็มีความสุข   แต่พอรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ชอบที่ถูกใจนั้นเปลี่ยนไปหายไป  ก็เกิดความเศร้าสร้อยหงอยเหงาขึ้นมา  นั่นก็เป็นเพราะธรรมชาติของเขาเป็นอย่างนั้น  เขาไม่อยู่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป  มีการเปลี่ยนแปลงไปเสมอ  ขณะที่นั่งอยู่นี้ เราก็มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างหนึ่ง  เดี๋ยวออกจากศาลานี้ไป ก็ต้องไปสัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอีกชนิดหนึ่ง  มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  ถ้าใจมีปัญญาไม่ยึดไม่ติดกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหมด  คือจะเป็นชนิดไหนก็รับรู้ไว้แล้วปล่อยวาง   มาสัมผัสรับรู้แล้วปล่อยวาง  ไม่ไปยินดี ไม่ได้ต้องการให้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะชนิดนั้นชนิดนี้ ให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  ถ้าเป็นเช่นนี้เรียกว่าปล่อยวาง  เมื่อปล่อยวางแล้ว เวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิดความวุ่นวายใจ  ไม่เกิดความเศร้าสร้อยหงอยเหงาในใจ 

นี่คือปัญญาเพราะเห็นแล้วว่าความสุขที่แท้จริงไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ที่สิ่งต่างๆภายนอก  แต่อยู่ที่ภายในใจ อยู่ที่ใจที่สงบ  ใจที่เราปฏิบัติจนเกิดความสงบขึ้นมา  นี่ต่างหากคือความสุขที่แท้จริง  นี่คือปัญญา  เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วปัญญาก็จะเริ่มปล่อยวางสิ่งทุกอย่างที่เป็นไตรลักษณ์  อะไรก็ตามที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะต้องปล่อยวางทั้งหมด  เมื่อปล่อยวางแล้วจิตก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ เพราะไม่ได้ไปยึดไปติดกับไตรลักษณ์นั่นเอง  ไตรลักษณ์ต้องมีทุกข์ซ่อนอยู่เสมอ  ไตรลักษณ์มี ๓ ลักษณะ  คืออนิจจังไม่เที่ยง  ทุกข์ก็คือความทุกข์   อนัตตาคือการไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้หนึ่งผู้ใด พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น  พวกเราทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ก็เป็นไตรลักษณ์  ร่างกายของเราก็เป็นไตรลักษณ์ เป็นของไม่เที่ยง  ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไป  ศาลาหลังนี้ก็เป็นของไม่เที่ยง  ต้องเก่าต้องพังไป ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างนี้ ใจผู้ที่มาเกี่ยวข้องถ้ามีปัญญาก็จะปล่อยวาง  เมื่อปล่อยวาง ใจก็จะไม่ทุกข์  เมื่อใจไม่ทุกข์ใจก็หลุดพ้นจากความทุกข์  ใจก็จะมีแต่ความสุขที่มีอยู่ในใจนั่นแหละ 

ใจที่ไม่มีความทุกข์นั่นแหละคือใจที่มีความสุข  เพราะว่าความทุกข์กับความสุขภายในใจนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นทีเดียวพร้อมๆกันได้  เช่นเดียวกับแสงสว่างกับความมืด  จะเกิดขึ้นทีเดียวพร้อมๆกันไม่ได้  ถ้ามีแสงสว่างความมืดก็หายไป  ถ้ามีความมืดแสงสว่างก็ต้องหายไป  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันไม่ได้  ฉันใดความสุขความทุกข์ภายในใจก็จะเป็นเช่นนั้น  ถ้าความทุกข์หายไป ความสุขก็จะปรากฏขึ้นมา  ถ้าความสุขหายไป ความทุกข์ก็จะปรากฏขึ้นมา ความสุขจะปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อจิตสงบ จิตได้ปล่อยวาง  จิตจะสงบได้ ๒ ลักษณะ คือสงบด้วยการทำจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ที่เรียกว่าการเจริญสมาธิ จนจิตรวมลงเป็นหนึ่ง สงบแล้วก็มีความสุข  แต่ความสุขแบบนี้เป็นความสุขที่ไม่เป็นไปตลอดเวลา  เพราะหลังจากอยู่ในสมาธิได้สักระยะหนึ่งจิตก็จะถอนออกมา ความสงบอีกอย่างหนึ่งเกิดจากการปล่อยวางด้วยปัญญา  คือพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่มาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น  กาย ว่าล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น  ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  เมื่อเห็นด้วยปัญญาก็จะปล่อยวาง  เมื่อปล่อยวางจิตก็จะสงบไม่กังวลกับเรื่องราวต่างๆ  ถ้าไม่ปล่อยวางจิตจะมีความกังวลกับเรื่องราวต่างๆ ที่มาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย  ถ้าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ชอบก็จะห่วงจะรักจะหวง  กลัวว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับสิ่งนั้นๆ  ก็จะทำให้เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา กินไม่ได้นอนไม่หลับ 

แต่ถ้ามีปัญญาก็จะรู้ว่าไปห่วงมันทำไม ของมันจะตาย มันก็ต้องตาย  ของมันจะแก่ มันก็ต้องแก่  ของมันจะหายไปจากเรา มันก็จะต้องหายไปจากเรา  เราไปควบคุมมันไม่ได้ตลอด  อาจจะควบคุมได้บางเวลาบางครั้ง  แต่ในที่สุดแล้วก็ต้องจากเราไปทั้งหมด  ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ในโลกนี้  พวกเราหลังจากนี้ไปอีก ๑๐๐ ปีก็ไม่ได้อยู่บนโลกนี้อีกแล้ว  ถ้าเราเข้าใจหลักนี้แล้ว เราก็ปลงอนิจจังเสีย  ปลงอนิจจัง ปลงทุกขัง อนัตตา  คือเห็นว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ถ้าไปยึดไปยินดีกับมัน  มันก็จะทำให้เราเกิดความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด  ถ้าไม่ไปยินดียินร้ายกับมัน  ปล่อยให้เป็นไปตามสภาพ มาก็มา ไปก็ไป  ดูแลได้ก็ดูแลไป  รักษาได้ก็รักษาไป  แต่ก็รู้อยู่ว่าในที่สุดก็ต้องจากกัน  เราไม่จากเขาไปก่อน เขาก็ต้องจากเราไปก่อน เป็นปกติเป็นธรรมดาของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้   ถ้าเห็นแบบนี้เรียกว่าเห็นด้วยปัญญา  เมื่อเห็นด้วยปัญญาแล้ว ถ้ามีสมาธิอยู่ในจิต จิตก็จะมีพลังที่จะปล่อยวาง ที่จะต่อสู้กับอุปาทานความอยากความยึดติดได้  แต่ถ้าจิตยังไม่มีสมาธิ  อย่างญาติโยมวันนี้ฟังเทศน์ฟังธรรมฟังเรื่องปัญญา  แต่ถ้าจิตยังไม่มีพลังพอ ไม่มีสมาธิ ก็ยังปลงไม่ได้ ยังวางไม่ได้  ก็ยังอดที่จะห่วงใยไม่ได้  อดที่จะทุกข์ไม่ได้  เพราะยังไม่ได้มีสมาธิซึ่งเป็นพลังของจิตไว้ต่อสู้กับความอยาก  ไว้ต่อสู้กับอุปาทานทั้งหลาย   ถ้ายังปลงไม่ได้ก็แสดงว่ายังต้องเจริญสมาธิ  ถ้ายังเจริญสมาธิไม่ได้ก็ต้องเจริญสติไปก่อน 

ต้องมีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของกาย วาจา ใจ  ถ้ายังไม่มีสติก็ต้องมีความพากเพียรไปก่อน  ขยันทำบุญ ทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรมไป   ถ้ายังไม่มีความขยันที่อยากจะทำบุญทำทาน  ก็ต้องสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นก่อน  ต้องเข้าหาพระศาสนาอยู่เรื่อยๆ  หาพระที่ดี  พระที่เรียกว่าพระสุปฏิปันโน พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  เพราะถ้าได้พบกับพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านจะสอนในสิ่งที่ดี  แล้วความประพฤติของท่านก็เป็นความประพฤติที่ดีงาม  ทำให้เชื่อในสิ่งที่ท่านสอน  เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านพูดท่านสอนนั้น เป็นสิ่งที่ท่านปฏิบัติมาแล้ว ได้ทำมาแล้ว แล้วเป็นความจริง  แล้วก็จะมีผลตามมาอย่างแน่นอน  ถ้าเข้าหาพระสุปฏิปันโน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ก็จะทำให้มีศรัทธา  เมื่อมีศรัทธาก็จะทำให้เกิดความพากเพียรวิริยะขึ้นมา ก็จะทำแต่สิ่งที่ดี ละการกระทำความชั่ว  เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้มีสติ เพราะเมื่อจะปฏิบัติดี ก็ต้องมีสติไว้คอยดูแลการเคลื่อนไหวของกาย วาจา ใจ  รู้ว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่  อย่างเช่นตอนนี้เรากำลังปฏิบัติดีกันอยู่  เพราะนั่งฟังธรรม  จิตของเราได้รับความรู้  จิตของเราได้รับความสงบ  เรามีสติรู้ว่านี่คือการกระทำความดี  เราจึงไม่ลุกจากที่นี้ไป  ถ้าเราไม่มีสติเวลานั่งอยู่สักพักหนึ่งเกิดอาการอึดอัด  เจ็บตรงนั้น ปวดตรงนี้ เกิดความรำคาญขึ้นมาทนไม่ไหว  ถ้าไม่มีสติดูความคิดของตน ก็จะลุกขึ้นออกไปจากศาลานี้  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนบางคน  เวลาฟังเทศน์ของพระได้สักนิดสักหน่อย  พอรู้สึกว่ามันยาวเกินไป ก็ทนนั่งอยู่ไม่ไหว ก็เลยลุกออกไปจากศาลา  เพราะว่าไม่มีสตินั่นเอง 

แต่ถ้ามีสติก็จะต่อสู้กับความคิดที่อยากจะลุกว่า ลุกไปทำไม ตอนนี้กำลังนั่งฟังเทศน์ฟังธรรม ฟังสิ่งที่ดีที่งามเป็นปัญญา เป็นแสงสว่างที่จะนำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตของเรา  เมื่อมีสติไว้คอยควบคุมใจแล้ว  ใจก็สงบตัวลง  เมื่อสงบตัวลงความคิดที่อยากจะลุกนั้นก็หายไป  ก็นั่งฟังเทศน์ต่อไปจนจบ  ในขณะที่ฟังเทศน์อย่างต่อเนื่อง จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ  ถึงแม้จะไม่สงบรวมลงเป็นหนึ่ง  แต่ก็ไม่วุ่นวายฟุ้งซ่าน เป็นจิตที่สบายๆ  เป็นความสุข ไม่มีความว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่ในใจ   เมื่อฟังธรรมไปก็ได้ความรู้  รู้ถึงเหตุและผลว่าความสุขความทุกข์นั้นอยู่ที่ไหน  เมื่อก่อนนี้ไม่ได้ฟังธรรมก็คิดว่าความสุขความทุกข์นั้น อยู่กับหมอดูบ้าง  อยู่กับคนเข้าทรงบ้าง  อยู่กับฤกษ์กับยามบ้าง  เวลาจะทำอะไรต้องไปถามหมอดูก่อน  ต้องไปถามคนเข้าทรงก่อน  ต้องไปดูฤกษ์ดูยามก่อน  นั่นก็เป็นเพราะว่าไม่ได้เคยได้ยินได้ฟังธรรมะนั่นเอง  จึงไม่มีปัญญา  แต่เมื่อได้ฟังธรรมะแล้ว จะรู้ว่าจะทำอะไรก็ทำไปเลย ถ้าเป็นความดี  ไม่ต้องไปดูฤกษ์ดูยามให้มันเสียเวลา  แต่ถ้าจะทำความชั่วต่อให้ไปดูฤกษ์ยามที่ดี  เช่นจะไปปล้นธนาคาร ก็ไปถามหมอดูว่าเวลาไหนถึงจะดี  ถึงแม้ว่าเวลาจะดี  แต่การปล้นนั้นไม่ดี เป็นการกระทำที่ผิดศีล  ถึงแม้จะไปปล้นสำเร็จ ได้เงินทองมา แต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่ดี  เพราะจะนำมาซึ่งความทุกข์ความเสื่อมเสียนั่นเอง  

ดังนั้นการกระทำจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับกาลกับเวลาเป็นหลัก  แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำเป็นหลัก แต่กาลกับเวลาก็อาจจะมีความเหมาะสม เช่น กาลเทศะก็ต้องรู้ ว่าควรจะทำหรือไม่ทำในเวลาใด  อย่างญาติโยมอยากจะทำบุญที่วัดนี้ก็ต้องมาตอนเช้า เพราะว่าถ้ามาตอนเพลก็ไม่มีพระที่จะออกมารับ เพราะพระวัดนี้ฉันมื้อเดียว ไม่ได้ฉันเพล ก็ต้องรู้เวลากาลเทศะ ถึงแม้จะทำความดี  แต่ความจริงแล้วต้องอยู่ที่การกระทำเป็นหลัก  ต้องเป็นการกระทำที่ดี แล้วก็ทำไปตามกาลเทศะ  แล้วผลที่ดีก็จะตามมาต่อไป  จึงขอให้พุทธบริษัทจงมีความหนักแน่นในสรณะที่พึ่งของเราคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  ขอให้อย่ายึดอย่างอื่นเป็นสรณะ  ให้ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ  แล้วความสุขสวัสดิมงคลจะเป็นของเราอย่างแน่นอน ขอให้มีความมั่นใจเชื่อในสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เมื่อมีความเชื่อแล้วก็จะมีวิริยะความอุตสาหะพากเพียรปฏิบัติตามด้วยสติ  เพื่อนำเข้าสู่สมาธิและปัญญาต่อไป  เมื่อมีคุณธรรมทั้ง ๕ ประการนี้แล้ว  คือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา  จิตจะมีเครื่องมือที่จะทำลายสิ่งต่างๆที่ซ่อนเร้นอยู่ในภายใจ คือกิเลสตัณหา โมหะอวิชชา ผู้เป็นเหตุที่คอยฉุดลากจิตใจให้ไปกระทำแต่สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม  แล้วนำความทุกข์ความเสื่อมเสียมาให้กับจิต  เมื่อได้ทำลายสิ่งเหล่านี้หมดไปจากจิตจากใจแล้ว  มีแต่ธรรมะคุณงามความดี ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญตลอดไป  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้