กัณฑ์ที่
๑๖๘
ความกลัว
เมื่อถึงวันพระ
ศรัทธาญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส
ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะมาที่วัดกัน
เพื่อปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนที่สอนให้ทำความดี
ละความชั่ว
ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด
ด้วยการทำบุญทำทาน รักษาศีล
ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม
เพราะนี่คือเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ
ที่เราทุกคนปรารถนากัน
สิ่งต่างๆทั้งดีและชั่วนั้น
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้หนึ่งผู้ใด
แต่ขึ้นอยู่กับตัวของเราเองเป็นสำคัญ
พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่าตนเป็นที่พึ่งของตน
คำว่าเป็นที่พึ่งของตนก็หมายถึงว่า
ตนเป็นผู้สร้างบุญสร้างกรรมนั่นเอง
สร้างความสุข
สร้างความทุกข์
สร้างความเจริญ
สร้างความเสื่อม
ไม่มีผู้อื่นสามารถที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ให้กับเราได้
พระท่านเพียงแต่ทำหน้าที่สอนเรา
บอกเรา ชี้ทางให้กับเรา
ให้แสงสว่างกับเรา
แต่เราจะทำอย่างไรนั้น
เป็นเรื่องของเรา
ถ้าทำดีผลดีก็จะตามมา
ถ้าทำไม่ดีผลไม่ดีก็จะตามมา
ทุกสิ่งทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้หนึ่งผู้ใด
ถ้าปรารถนาความสุขความเจริญ
ก็ต้องพยายามทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม
ถ้าไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่งาม
อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม
ก็ต้องเข้าหาพระศาสนา
ซึ่งเปรียบเหมือนกับโรงเรียน เวลามาวัดเปรียบเหมือนกับมาโรงเรียน เพราะมีพระพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา มีพระธรรมคำสอนเป็นหนังสือ
เป็นวิชาความรู้ มีพระอริยสงฆสาวกเป็นผู้ช่วยพระบรมศาสดา
อบรมสั่งสอนพวกเรา
เพราะว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว
เป็นเวลา ๒๕๐๐
กว่าปีมาแล้ว หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ก็เป็นหน้าที่ของพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย
ที่จะทำหน้าที่เป็นครูเป็นอาจารย์
อบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชนต่อไป
เมื่อพุทธศาสนิกชนมาวัดจึงถือว่ามาโรงเรียน มาเรียนคำสอนของพระพุทธเจ้า
เพราะว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นวิชาความรู้ที่ประเสริฐ
เป็นเหมือนแสงสว่างในที่มืด
ถ้าเราอยู่ในที่มืดไม่มีแสงสว่าง
เราจะไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง
ก็จะทำให้เราเกิดความกลัวขึ้นมาได้
ปกติคนเราจะไม่ค่อยกลัวเท่าไรในตอนกลางวัน
แต่พอตกมืดถ้าเกิดไม่มีแสงไฟ
ก็จะเกิดความกลัวขึ้นมา
เพราะไม่รู้ว่ามีอะไรเป็นพิษเป็นภัยอยู่รอบตัวหรือไม่นั่นเอง
แต่ถ้ามีแสงสว่างเหมือนกับตอนกลางวัน
มักจะไม่ค่อยกลัวกันเท่าไร
เพราะสามารถเห็นสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวได้
รู้ว่ามีอะไรเป็นภัยหรือไม่
ถ้ามีอะไรที่เป็นภัย
ก็สามารถหลบหลีกป้องกันตัวได้
แต่เวลาอยู่ในที่มืดนั้น
จะไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้
ถ้าไม่มีไฟ
ก็จะต้องเกิดความหวาดระแวงขึ้นมาเป็นธรรมดา
แต่ถ้ามีไฟส่องรอบตัว
เห็นสิ่งต่างๆรอบตัว
ก็จะไม่มีความกลัว
ฉันใดชีวิตของเราก็เป็นเช่นนั้น
ถ้ามีธรรมะแสงสว่างเป็นเครื่องนำพาชีวิตไป
ก็จะสามารถดำเนินชีวิตไปได้ด้วยความมั่นคง
ด้วยความมั่นใจ
ด้วยความไม่หวาดกลัว
แต่ถ้าไม่มีธรรมะแสงสว่างนำพาไป
ก็จะต้องมีความหวาดกลัว
เช่นพวกเราทั้งหลาย
ยังมีความหวาดกลัวกัน
สิ่งที่เราหวาดกลัวนั้น
กลับเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้ากับพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย
ไม่มีความหวาดกลัว
เพราะเรากับท่านต่างกันตรงที่ใจ
ใจของท่านนั้นมีแสงสว่างแห่งธรรมอยู่ตลอดเวลา
ท่านรู้ว่าอะไรเป็นอะไร
รู้ว่าอะไรเป็นภัย
อะไรไม่เป็นภัย
และรู้วิธีกำจัดภัยเหล่านั้น
รู้วิธีป้องกันตนเอง
ไม่ให้ภัยทั้งหลายมาเหยียบย่ำจิตใจได้
แต่พวกเรายังไม่เหมือนกับพระพุทธเจ้า
ยังไม่เหมือนพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
เพราะใจของพวกเรายังมืดบอดอยู่
ยังขาดธรรมะ ขาดแสงสว่างแห่งธรรม
จึงมีความหวาดกลัวภายในใจ ไม่มีใครในศาลานี้จะปฏิเสธได้ว่าตนไม่มีความกลัวอยู่ในใจเลย
นั่นก็เป็นเพราะว่าเรายังไม่รู้สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา
ไม่รู้ว่าสิ่งไหนเป็นภัย
สิ่งไหนไม่เป็นภัย
ก็เลยมีความหวาดกลัวกัน
แต่ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสม่ำเสมอแล้ว
จะค่อยๆคลายความหวาดกลัวออกไปจากใจ
ความหวาดกลัวที่พูดถึงนี้มีอะไรบ้าง เรากลัวอะไรกันบ้าง
ส่วนใหญ่เราก็กลัวความแก่
กลัวความเจ็บ
กลัวความตาย กลัวความพลัดพรากจากคนที่เรารัก
จากสิ่งที่เรารัก
นั่นก็เป็นเพราะว่า
เราไม่รู้จักธรรมชาติของสิ่งที่มาเกี่ยวข้องด้วย
ว่าเป็นอย่างไร
เมื่อไม่รู้ก็หลงยึดติดกับธรรมชาตินั้นๆ
เช่น ร่างกายของเรา
เราไม่ได้ศึกษาเพียงพอ
จึงไม่รู้ธรรมชาติที่แท้จริงของร่างกายของเราและของผู้อื่นว่าเป็นอย่างไร
แต่ถ้าหันมาศึกษาดูธรรมชาติของร่างกายของเราและของคนที่เรารัก
ก็จะเห็นว่าเป็นธรรมดา
เป็นปกติของร่างกาย
เมื่อเกิดมาแล้ว ย่อมมีการแก่เป็นธรรมดา ย่อมมีการเจ็บไข้เป็นธรรมดา
ย่อมมีการตายไปเป็นธรรมดา
ย่อมมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา
นี่เป็นสิ่งที่เราไม่รู้กัน
หรือรู้แต่รู้แบบจำไม่ได้
คือมักจะเผลอ
เมื่อเผลอก็ลืมความจริงอันนี้ไป
เมื่อลืมความจริงอันนี้
เราก็ยึดติดกับร่างกายอันนี้
ยึดติดกับร่างกายของผู้อื่น
เพราะยังมีความปรารถนาที่จะอาศัยร่างกายของเรา
และของผู้อื่นให้ความสุขกับเรานั่นเอง
เราอยากจะมีชีวิตอยู่ไปนานๆ
เพราะคิดว่าร่างกายของเรานี้ให้ความสุขกับเรา แต่เราหารู้ไม่ว่าความสุขที่เราได้รับจากร่างกายอันนี้นั้น
มันน้อยนักเมื่อเปรียบเทียบกับความทุกข์ที่เราได้รับจากร่างกาย
ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเรา
หรือร่างกายของคนอื่น
เราได้รับความสุขจากร่างกายของเรากับของคนอื่นก็เวลาที่มันเป็นปกติ
มันสบาย ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
ไม่เป็นอะไร แต่ยามที่ร่างกายนี้เกิดแปรปรวนขึ้นมา
เกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วย
เกิดความแก่ ความชราขึ้นมา
หรือถึงแก่ความตายขึ้นมา
ในขณะนั้นเราก็ต้องประสบความทุกข์อย่างใหญ่หลวง แม้แต่ในขณะที่เรายังไม่แก่
ยังไม่เจ็บ ยังไม่ตาย
เราก็ยังมีความรู้สึกกังวล
มีความรู้สึกกลัว
ทุกครั้งที่เราได้ยินข่าวคราวเรื่องโรคระบาดเกิดขึ้น
เราก็จะต้องเกิดความกลัวขึ้นมาทันที
กลัวว่าโรคระบาดนั้นจะลามมาถึงตัวเรา
มาทำลายร่างกายของเรา
นั่นก็เป็นเพราะว่าเรายังมีความมืดบอด
มีความหลงยึดติดกับร่างกายนี้อยู่
คิดว่าร่างกายนี้จะให้ความสุขกับเราไปได้ตลอดเวลา
คิดว่าจะอยู่ไปตลอดเวลา
นั่นเป็นเพราะว่าเราขาดแสงสว่างแห่งธรรม
คือธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นเอง
พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนให้พวกเราเจริญธรรมะอยู่เสมอๆ
เหมือนกับเป็นการจุดเทียน
เวลาจุดเทียนถ้าทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง
เทียนก็จะดับไปเมื่อไหม้หมดไป
ถ้าไม่จุดเทียนเล่มใหม่ขึ้นมา
แสงสว่างก็หายไป
ความมืดก็จะกลับเข้ามา
เมื่อมีความมืดกลับเข้ามา
ก็จะทำให้เราเกิดความกลัวขึ้นมา
แต่ถ้าเราจุดเทียนอยู่อย่างสม่ำเสมอๆ
จุดไปเรื่อยๆ
เล่มแรกที่จุดยังไม่ทันจะดับ
เราก็จุดเล่มที่ ๒
จุดเล่มที่ ๓ จุดต่อไปเรื่อยๆ
ถ้าจุดต่อไปเรื่อยๆอย่างนี้
รับรองได้ว่าแสงสว่างจะไม่หายไป
ถ้าเรามีแสงสว่างแห่งธรรมอยู่ภายในใจ
ด้วยการเจริญธรรมะอยู่เรื่อยๆ
บทที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เจริญอย่างสม่ำเสมอว่า
เมื่อเกิดมาแล้วย่อมมีความแก่เป็นธรรมดา
ล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้
เมื่อเกิดมาแล้วย่อมมีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา
ล่วงพ้นความเจ็บไข้ได้ป่วยไปไม่ได้
เมื่อเกิดมาแล้วย่อมมีความตายเป็นธรรมดา
ล่วงพ้นความตายไปไม่ได้
ต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา
นี่เป็นธรรมะแสงสว่างที่จะช่วยคลายความวิตก
คลายความกลัวให้กับเรา
เพราะเมื่อเรารู้ว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น
เราก็เตรียมตัวเตรียมใจยอมรับกับสภาพนั้นๆ
ความกลัวก็จะหายไป
เพราะเรารู้ว่าเราจะไปยึดไปติดกับร่างกายของเราไม่ได้
หรือจะไปยึดติดกับร่างกายของคนอื่นก็ไม่ได้
เพราะรู้ว่าไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่ง
ร่างกายของเราและของเขา
ก็จะต้องมีการเสื่อมสลายดับไป
แต่ใจของผู้มีธรรมะปกครองรักษาจะไม่หวั่นไหว
จะไม่เศร้าโศกเสียใจ
จะไม่หวาดกลัว เพราะจะรู้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวตน
เพราะร่างกายมาจากดิน
น้ำ ลม ไฟ นั่นเอง
ถ้าเอาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้ามาศึกษามาปฏิบัติ
พยายามพิจารณาดูความเป็นมาเป็นไปของร่างกายของเรา
ว่ามาจากอะไร ร่างกายของเราถ้าไม่กินอาหารเข้าไป
จะเจริญเติบโตขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ได้หรือไม่
ย่อมเป็นไปไม่ได้
ร่างกายต้องมีอาหาร มีน้ำ
มีอากาศ มีลมหายใจ
ถึงจะเจริญเติบโต
ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้
ร่างกายจึงมาจากดิน น้ำ ลม
ไฟ นี้เอง ต้องอาศัยดิน
น้ำ ลม ไฟ เป็นสิ่งที่คอยสนับสนุน
คอยรักษา
ให้ร่างกายอยู่ไปตามอัตภาพของเขา
แต่ในที่สุดไม่ช้าก็เร็วเมื่อธาตุเกิดการแตกความสามัคคีกัน
ดิน น้ำ ลม ไฟ
ไม่ยอมอยู่รวมกัน
จะขอแยกทางกัน
ก็ต้องไปกันคนละทิศละทาง
ก็เปรียบเหมือนกับคนสองคน
เช่น สามีภรรยา
เมื่อถึงเวลาที่ไม่อยากจะอยู่ร่วมกัน
เกิดการแตกความสามัคคีกัน
ก็ต้องแยกทางกันไป
สามีก็ไปทางหนึ่ง
ภรรยาก็ไปทางหนึ่ง
ฉันใดร่างกายก็เป็นเช่นนั้น
ร่างกายก็เป็นที่รวมของธาตุ
๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ที่มาในรูปของอาหาร
อาหารต่างๆที่เรารับประทานเข้าไปนั้น
ล้วนมาจากธาตุ ๔ ทั้งสิ้น
มาจากดิน มาจากน้ำ มาจากลม
มาจากไฟ เมื่อมาสู่ร่างกาย
ก็แปลงสภาพเปลี่ยนรูปร่างลักษณะ
กลายเป็นอาการ ๓๒ เช่น
ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ
เอ็น กระดูก และอวัยวะต่างๆ
เป็นต้น
มาจากอาหารที่แปลงมาเป็นอาการต่างๆ
แล้วก็อยู่ไปจนกว่าจะถึงเวลาแตกสามัคคีกัน
แยกทางกันเดิน เมื่อถึงเวลาแยกทางกันเดิน
ร่างกายก็หยุดหายใจ
ไม่มีลมหายใจ อาหารก็เข้าไปไม่ได้
น้ำก็เข้าไปไม่ได้
มีแต่จะแยกกันออกไป
น้ำก็จะระเหยไหลออกจากร่างกาย
ทิ้งให้เหลือแต่ส่วนดิน
คือหนังกระดูกแห้งกรอบ
เมื่อทิ้งไปนานๆก็จะผุจะเปื่อย
จนกลายเป็นดินไปหมด
นี่คือธรรมชาติของร่างกาย
ถ้าใช้เวลาศึกษาพิจารณาอยู่เรื่อยๆ
จะเห็นว่าแท้จริงร่างกายนี้หามีตัวตนไม่ ร่างกายก็เป็นเพียงแต่การมารวมกันของธาตุ
๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้นเอง
แต่ใจผู้มีความมืดบอด
คือขาดแสงสว่างแห่งธรรม
เมื่อมาครอบครองร่างกายนี้เข้า
ก็เลยหลงไปคิดว่าร่างกายนี้
เป็นตัวตน เป็นตัวเรา
เป็นของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น
ก็เกิดความอยาก
ที่จะให้ร่างกายนี้อยู่ไปนานๆ
อยากจะให้ร่างกายนี้ไม่แก่
ไม่เจ็บไข้ ไม่ตาย
ซึ่งเป็นความอยากที่ฝืนความจริง
ความจริงเขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น
ความจริงจะต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา
คือจะต้องแก่ ต้องเจ็บ
และต้องตาย ถ้ายอมรับความจริงนี้
ก็จะไม่ยึดไม่ติดกับร่างกายนี้
เวลาร่างกายนี้เป็นอย่างไร
ก็รู้ตามความเป็นจริง
ขณะนี้ไม่เจ็บ ไม่แก่
ไม่ตาย ก็รู้ว่าไม่เจ็บ
ไม่แก่ ไม่ตาย แต่ในขณะใดเวลาใด
ถ้าเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา
ก็ไม่วิตก ไม่กลัว
เพราะรู้ว่าเป็นปกติของร่างกาย
ที่จะต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา
และเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว
ก็มีทางเลือกอยู่ ๒ ทาง
คือหายหรือไม่หาย
หายก็แล้วไป หายก็เพื่อที่จะกลับไปเป็นใหม่อีกนั่นแหละ
ไม่มีใครที่หายจากโรคแล้ว
จะหายไปตลอด เมื่อหายจากโรควันนี้
เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็กลับมาเป็นใหม่ได้อีก
ดังนั้นเมื่อหายก็อย่าไปดีใจ
เมื่อหายก็บอกว่าหายเพื่อที่จะกลับมาเป็นอีก
ก็ไม่ต้องไปดีใจ
หรือว่าถ้าไม่หาย จะตาย
ก็ไม่ต้องไปตกใจ
ไม่ต้องไปกลัว เพราะว่าก็ต้องตายอยู่ดี
ไม่ช้าก็เร็ว
เป็นเรื่องของเขา
ต้องเป็นอย่างนี้
ถ้าตราบใดใจไม่ไปยึดไปติด
ไม่ต้องการให้เป็นไปตามความต้องการของใจแล้ว
รับรองได้ว่าใจจะไม่เดือดร้อน
ใจจะไม่ทุกข์ การที่จะไม่ให้ใจเดือดร้อน
ไม่ทุกข์ได้นั้น
ก็ต้องศึกษาดูธรรมชาติของร่างกายนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ
การได้ยินได้ฟังอย่างเช่นในวันนี้เพียงครั้งเดียวนั้น
ยังไม่พอเพียง
ถ้าไม่นำเอาไปอบรมสอนใจอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวก็ลืม
พอออกจากศาลานี้ไปก็จะลืม
เมื่อลืมก็จะกลับไปยึดไปติดไปอยาก
ให้ร่างกายนี้เป็นไปตามความต้องการของเราอีก
ซึ่งก็จะสวนกับความจริง
เวลารู้สึกว่าร่างกายจะเจ็บ
จะตายขึ้นมา
ก็ต้องเกิดความหวาดกลัวขึ้นมา
เราจึงต้องพยายามเจริญธรรม
เรื่องความแก่ ความเจ็บ
ความตายเป็นธรรมดานี้อย่างสม่ำเสมอ
ถ้าสามารถเจริญได้ตลอดทั้งวันจะยิ่งดีใหญ่
เพราะเหมือนกับได้จุดเทียนเป็นร้อยๆเล่มเลยทีเดียว
เมื่อมีเทียนจุดไว้เยอะๆ
ก็จะมีแสงสว่าง
ทำให้เห็นสิ่งต่างๆรอบตัวเรา
เหมือนกับเป็นเวลากลางวัน
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่มีความวิตก
ไม่มีความหวาดกลัว
เพราะจะไม่ไปยึดไปติด
เพราะสิ่งที่เป็นภัยที่แท้จริงนั้น
หาใช่เป็นความแก่ ความเจ็บ
ความตายของร่างกายไม่
แต่เกิดจากความอยากของเราต่างหาก
อยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย
ตัวนี้ต่างหากที่เป็นพิษเป็นภัย
แต่เราไม่รู้เราไม่เห็น
เพราะไม่มีแสงสว่างแห่งธรรม
ถ้ามีแสงสว่างแห่งธรรม
ที่เกิดจากการพิจารณาดูธรรมชาติของร่างกาย
จนเห็นอย่างถ่องแท้
ก็จะเห็นว่าร่างกายนี้จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย
จะต้องแก่ จะต้องเจ็บ
จะต้องตาย อย่างแน่นอน
เมื่อเห็นอย่างนั้นก็ไม่ไปหวัง
ไม่ไปอยาก ให้เป็นอย่างอื่น
เมื่อไม่ได้ไปหวัง
ไม่ได้ไปอยากให้เป็นอย่างอื่น
ความวิตก ความกลัว
ความกังวลต่างๆ
ก็จะหายไปจากใจทันที
ก็จะเริ่มเห็นทันทีเลยว่าภัยที่แท้จริงนั้น
ไม่ใช่อยู่ที่ความแก่
ความเจ็บ ความตาย
แต่ภัยที่แท้จริงนั้น
อยู่ที่ความอยาก
อยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ
อยากไม่ตายต่างหาก พอตัดตัวนี้ออกไปได้
ละความอยากไม่แก่
อยากไม่เจ็บ
อยากไม่ตายได้เท่านั้น
ใจก็จะดิ่งลงสู่ความสงบทันที
เมื่อจิตดิ่งลงสู่ความสงบ
จิตจะมีความสุข
มีความรู้สึกว่าปลอดภัย
ไม่มีความว้าวุ่นขุ่นมัวคงเหลืออยู่เลย
นี่แหละคือความอัศจรรย์ของธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า
ถ้าลองปลงได้แล้ว
ใจจะปล่อย เมื่อปล่อยแล้วก็จะสบาย
อะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย
ก็จะไม่เดือดร้อนเลย
ลองเปรียบเทียบดูระหว่างสิ่งที่เรายึดติดกับสิ่งที่ไม่ยึดติด
จะมีความรู้สึกแตกต่างกัน
สิ่งที่เรายึดติดนั้น
เราจะมีทั้งความรัก
มีทั้งความกังวล
แต่สิ่งที่เราไม่ยึดติด
เรากลับไม่มีความรัก
ไม่มีความกังวล
เช่น
สมบัติหรือร่างกายของผู้อื่น
เวลาเป็นอะไรไป
เราจะไม่ค่อยเดือดร้อน
จะไม่ทุกข์เท่าไร
นั่นก็เป็นเพราะว่าเราไม่ได้ไปอยากกับเขานั่นเอง
ไม่ได้ไปอยากให้เขาอยู่ไปนานๆ
ให้เขาไม่เจ็บ ไม่แก่ ไม่ตาย
เมื่อไม่มีความอยากกับสิ่งเหล่านั้น
สิ่งของเหล่านั้นก็ไม่มีปัญหากับใจเรา
สิ่งของเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร
ใจของเราก็ไม่เดือดร้อน
แต่สิ่งของอันใดที่ใจเราไปยึดไปติดไปอยากให้เป็นอย่างนั้น
เป็นอย่างนี้ เมื่อไม่เป็นไปตามที่ต้องการ
ก็จะสร้างความทุกข์
ความวุ่นวายใจให้กับเรา ถ้าได้ปฏิบัติธรรม
ได้เจริญธรรมอยู่อย่างต่อเนื่อง
จนจิตของเราสามารถปลงอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตาได้
เราก็จะไม่ทุกข์
ไม่วุ่นวายใจ คือเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ช้าก็เร็ว
ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย
ต้องเสื่อมสลายหมดไป
ถ้าเห็นอย่างนั้นแล้ว
ก็จะปล่อยวาง
ไม่ไปอยากให้เป็นอย่างอื่นไป
จะแก่ก็ให้แก่
จะเจ็บก็ให้เจ็บ
จะตายก็ให้ตาย เพราะเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้นั่นเอง
อยู่เหนือความสามารถของเรา
เหมือนกับฝนฟ้าอากาศ
เราก็รู้ว่าเราไม่สามารถไปบังคับควบคุมฝนฟ้าอากาศได้
ฝนจะตก แดดจะออก
เราจะไปอยากไม่ได้
เราจึงไม่อยากกันเกี่ยวกับเรื่องฝนเรื่องฟ้า ถ้าจะตกหรือไม่ตก
เราก็ปล่อยให้ฝนฟ้าเป็นไปตามเรื่องของเขา
เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ไม่ไปทุกข์
ไปกังวล
ไปวุ่นวายกับเรื่องของฝนของฟ้า
ฉันใดเรื่องราวของสิ่งต่างๆที่เรามีอยู่
ก็ต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง
บุคคลต่างๆ
ก็เป็นเหมือนกับฝนกับฟ้านี่แหละ
เขาไม่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของเราไปได้ตลอด เราอาจจะควบคุมบังคับดูแลรักษาได้
เป็นบางครั้ง บางคราว บางเวลา
แต่เราไม่สามารถที่จะควบคุมบังคับดูแลรักษา
ให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้ตลอดไป
อย่างเช่นร่างกายของเรา
หรือร่างกายของคนที่เรารักก็เป็นเช่นนั้น
ไม่ช้าก็เร็วก็จะต้องแก่
ต้องเจ็บ ต้องตายไปในที่สุด
นี่เป็นเรื่องปกติของสังขารร่างกาย
ไม่ใช่เป็นเรื่องน่าวิตกน่ากลัวเลย
ถ้าใจมีแสงสว่างแห่งธรรม
เข้าใจความจริงอันนี้แล้ว
ก็จะปล่อยวาง คือไม่ไปหวัง
ไม่ไปยึด ไปติดกับเขา
เขาจะเป็นอย่างไร
ก็ปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา
ใจของเราก็จะสบาย
เช่นเดียวกับฝนฟ้าอากาศ
เราไม่ได้ไปหวังไปอยากอะไรกับฝนฟ้าอากาศ
จะตกเราก็ไม่เดือดร้อน
จะไม่ตกเราก็ไม่เดือดร้อน
นี่แหละคือเรื่องของธรรมะ
ธรรมะนี่จะสอนให้เราเห็นว่าอะไรเป็นพิษเป็นภัยที่แท้จริง
อะไรที่ไม่ใช่เป็นพิษเป็นภัย
แต่ถ้าไม่มีธรรมะ
จะเห็นกลับตาลปัตร
จะเห็นตรงกันข้ามกัน
เช่น เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
เห็นสิ่งที่เป็นภัยว่าเป็นคุณเป็นประโยชน์ เห็นสิ่งที่ไม่เป็นภัยว่าเป็นพิษเป็นภัย เช่น เห็นความแก่
ความเจ็บ ความตาย
เป็นพิษเป็นภัยกับเรา
แต่กลับเห็นความอยากเป็นคุณกับเรา
เราจึงอยากกันเหลือเกิน
เราทุกๆคนเกิดมามีความอยากด้วยกันทั้งนั้น
อยากจะร่ำรวย อยากจะมีรูปร่างหน้าตาดี
อยากจะมีครอบครัวดี
อยากจะมีทรัพย์สมบัติ
อยากจะมีสุขภาพแข็งแรง
อยากจะอยู่ไปตลอด ไม่แก่
ไม่เจ็บ ไม่ตาย นี่คือสิ่งที่เราเห็นเป็นคุณ
จึงอยากกันนักหนา แต่หารู้ไม่ว่าทุกครั้งที่อยากในสิ่งเหล่านี้
เรากำลังสร้างความทุกข์อันใหญ่หลวงให้เกิดขึ้นมาภายในใจของเรา
เพราะเมื่อสิ่งที่เราอยากไม่ได้เป็นไปตามที่เราต้องการ
เราก็จะต้องเกิดความเศร้าโศกเสียใจ
ร้องห่มร้องไห้
กินไม่ได้นอนไม่หลับ
ถึงแม้ยังมีสมบัติ
มีอะไรเหลืออยู่อีกมากมายก่ายกองก็ตาม
แต่ถ้าเสียสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เรารักที่เราชอบเป็นอย่างยิ่งไป
จะรู้สึกว่าชีวิตของเรานั้น
ไม่มีความหมายเหลืออยู่เลย
ไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อไปทำไม
นี่แหละคือผลที่จะเกิดขึ้นจากความอยากของเรา แต่เราไม่รู้ว่าเป็นพิษเป็นภัยกัน นั่นก็เป็นเพราะว่าเราไม่เคยปลง ไม่เคยต่อสู้กับความอยาก ปล่อยให้ความอยากมีอำนาจครอบงำเรา เลยหลงอยู่กับความอยาก ทุกข์ขนาดไหน ก็ยังไม่รู้ว่ากำลังทุกข์อยู่ แต่ถ้าได้เข้ามาฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ แล้วนำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไปอบรมสั่งสอนจิตใจ เอาไปต่อสู้กับสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย คือความอยากที่มีอยู่ภายในใจ จนสามารถลดละความอยากได้แล้ว เราจะเริ่มเห็นความสุข ความสงบที่จะเกิดขึ้นมาภายในใจ จะเริ่มเห็นคุณของธรรมะ แสงสว่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราปฏิบัติกัน เพราะการปฏิบัติธรรมนี้แหละ จะเป็นวิธีที่จะไปทำลายสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยกับใจของเรา นั่นก็คือความอยากต่างๆ เมื่อความอยากต่างๆเบาบางลงไป ความทุกข์ความกังวลใจก็จะเบาบางตามลงไปด้วย จะเริ่มเห็นความสุขว่าอยู่ในใจของเรา อยู่ในการที่ไม่มีความอยาก ถึงแม้ว่าร่างกายจะแก่ จะเจ็บไข้ หรือจะตาย ถ้าใจไม่ได้มีความอยากอยู่กับร่างกายแล้ว รับรองได้ว่าใจจะไม่มีความทุกข์ ไม่มีความวุ่นวายกับความเป็นไปของร่างกาย ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามเรื่องของเขา เพราะว่าใจได้ตัดความอยาก ตัดความผูกพันกับร่างกายนั้นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น กายจะเป็นอย่างไร ใจก็ไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน นี่แหละเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่าไปหลงประเด็น สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ร่างกาย สิ่งที่สำคัญคือใจ เพราะใจเป็นผู้รับความสุข รับความทุกข์ เป็นผู้สร้างความสุข สร้างความทุกข์ ไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายไม่มีความรู้ ไม่สามารถรับรู้เรื่องของความสุข ของความทุกข์ได้ การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้