กัณฑ์ที่ ๑๗      พฤศจิกายน  ๒๕๔๓

ความเป็นจริงของโลก

 

วันเดือนปีก็ค่อยๆขยับผ่านพ้นไป  เมื่อไม่กี่วันก็เพิ่งออกพรรษา   ในช่วงเข้าพรรษา   ญาติโยมก็ได้มาทำบุญกันเป็นประจำ   ตลอดเวลา ๓ เดือน  หลังจากออกพรรษาแล้ว ต่างคนต่างมีภารกิจ  มีความจำเป็นที่จะต้องมีการเดินทางไป มา ตามสถานที่ต่างๆ  เพื่อทำบุญบ้าง  ทำกุศลบ้าง  ด้วยการทอดผ้าป่าบ้าง ทอดกฐินบ้าง  หรืออาจจะมีธุระปะปังจากภารกิจทางบ้าน  หรือทางโลก แต่การออกพรรษานี้  ไม่ได้หมายความว่าญาติโยมจะได้ออกจากการทำบุญ  ทำกุศล  หรือการทำความดี  เพียงแต่ว่าโอกาสที่จะทำบุญ ทำกุศลนั้นอาจจะน้อยลงไปบ้าง แต่ไม่ควรละเว้นเรื่องของการทำบุญ  ทำกุศล  เพราะว่าการทำบุญ ทำกุศลนี้   เป็นการให้อาหารแก่จิตใจ

ร่างกายต้องการอาหารฉันใด  จิตใจก็ต้องการอาหารฉันนั้น   ร่างกายและจิตใจจึงต้องการอาหารเช่นเดียวกัน ถ้าร่างกายไม่ได้รับประทานอาหาร ร่างกายก็จะเกิดความหิวโหย เกิดความไม่สบาย   เกิดความทุกข์ขึ้นมา จิตใจก็เช่น ถ้าจิตใจไม่ได้กระทำความดี ไม่ได้ทำบุญ ทำกุศลแล้ว   จิตใจก็จะเป็นโรคขาดอาหาร  จะมีแต่ความหิวโหย มีแต่ความกระหาย   มีแต่ความอยาก มีแต่ความทุกข์  ถึงแม้จะมีทรัพย์สมบัติ เงินทอง ข้าวของมากมาย  แต่สิ่งเหล่านี้  ไม่สามารถที่จะทำให้จิตใจมีความสุขได้ ถ้าไม่เอาข้าวของ เงินทองเหล่านี้ ไปทำให้เกิดคุณ ให้เกิดประโยชน์  คือ  หมายถึงข้าวของที่เป็นส่วนเกิน เป็นของที่เหลือใช้ ควรเอาไปทำบุญ   ทำกุศล ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก  เมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว จะทำให้จิตใจมีความสุข มีความสุขเพราะได้ทำความดี  เพราะการทำความดีนั้น เป็นการชำระเครื่องเศร้าหมองต่างๆ มีอยู่ภายในจิตใจของเรานั่นเอง

เครื่องเศร้าหมองนั้น  พระพุทธองค์ให้ชื่อว่ากิเลส   กิเลสเป็นเครื่องเศร้าหมอง ที่อยู่ในจิตใจ  ได้แก่ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง   ความหลงคือความเห็นแก่ตัวนั่นเอง  เห็นว่ามีตัว มีตน  ซึ่งในหลักความเป็นจริงแล้ว   พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ไม่มีตัวไม่มีตน ทุกสิ่งทุกอย่าง   เป็นธรรมชาติทั้งหมด ในโลกนี้มีธรรมชาติอยู่ ๖ ชนิดด้วยกัน   เรียกว่าธาตุเดิม  คือธาตุ ๔  ดิน   น้ำ    ลม    ไฟ   อากาศธาตุ   และวิญญาณธาตุ  มี ๖ ธาตุ  ซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิมของโลก เมื่อธาตุ ๔ ผสมกับอากาศธาตุ   ผสมกับวิญญาณธาตุ คือธาตุรู้ ก็เกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง   ถ้าไม่มีวิญญาณธาตุ   ก็เป็นพวกต้นไม้   วัตถุข้าวของต่างๆ   อันนี้มี  ๕ ธาตุ  คือ ดิน น้ำ  ลม ไฟ กับอากาศธาตุ   สิ่งเหล่านี้เมื่อผสมกันเข้ามา   แล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ในที่สุดก็ต้องแตกสลายไป ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็กลับไปสู่ธาตุเดิมของมัน  มาจากธาตุ ๖ ก็ต้องกลับไปสู่ธาตุ ๖  ตามเดิม ส่วนธาตุรู้ หรือวิญญาณธาตุนั้น ถ้าเป็นธาตุรู้ของพระพุทธเจ้า   ก็จะเป็นผู้รู้  คือผู้ไม่หลง  ผู้รู้  คือผู้ปล่อยวางตัวตนนั่นเอง

เมื่อรู้ว่าตัวตนเหล่านี้  เกิดขึ้นมาจากอวิชชา  คือ ความหลง อวิชชา จะทำให้หายไปได้ ต้องอาศัยแสงสว่างแห่งธรรมะ   ธรรมะนั้นก็คือปัญญา   ที่สามารถแยกแยะสิ่งต่างๆได้  สามารถรู้ว่าตัวตนนี้ เกิดจากความคิดปรุงของจิตใจ   ของวิญญาณธาตุ ปรุงไปว่ามีตัว มีตน  แล้วไปยึดอยู่กับความมีตัว มีตน  เมื่อมีตัว มีตนขึ้นมาแล้ว ก็เกิดมีเรา มีเขา  มีเรา มีเขาก็มีการแก่งแย่งกันขึ้นมา   เพราะตัวตน แต่ละคน  ก็มีความปรารถนาที่จะให้ตัวตนนั้นมีมากๆ  มีความสุขมากๆ  ไม่ต้องการความทุกข์   ก็เลยต้องกอบโกยกัน  เมื่อกอบโกยในสิ่งของที่มีอยู่ในจำนวนจำกัด  มันก็ต้องมีการแก่งแย่งกัน  เมื่อมีการแก่งแย่ง  มันก็เกิดความทุกข์   เกิดการเบียดเบียนกันตามมา เป็นผลที่เกิดจากความหลง  ที่เกิดขึ้นในวิญญาณธาตุของแต่ละบุคคล  

อย่างพวกเรานี้  ก็มีวิญญาณธาตุ   หรือจิตใจที่มีอวิชชา  ความหลงครอบงำอยู่ หลงว่ามีตัว มีตน มีเรา  เมื่อมีเราแล้ว ก็ต้องมีของของเรา  มีสิ่งต่างๆ  ทั้งๆที่เมื่อมาเกิดใหม่ๆ มันก็ไม่มีอะไร  ร่างกายนี้ก็มาจากของพ่อ ของแม่  เมื่อวิญญาณธาตุเข้ามาครอบครอง  เข้ามายึดในร่างกายอันนี้  ว่าเป็นเรา เป็นของของเรา  และเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องดูแลร่างกายนี้  มีการขวนขวาย หาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ   ในรูปลักษณะของอาหาร   เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปในร่างกาย ก็เปลี่ยนแปลงจากอาหารไป   เป็นอาการ ๓๒ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง  นี่คือเรื่องของธาตุ ๔  ดิน   น้ำ  ลม  ไฟ  ที่แปลงเป็นอาหาร กับข้าว กับปลาต่างๆ   เมื่อเข้าสู่ร่างกาย  ก็เปลี่ยนสภาพกลายเป็นอาการ ๓๒   เป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง   อย่างนี้เป็นต้น มีการเจริญเติบโต และเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ก็มีการเสื่อม   มันก็จะค่อยๆ เกิดอาการแก่ เกิดอาการเจ็บ และในที่สุด ก็เกิดอาการแตกสลายของธาตุ ๔ ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ     ที่เรียกว่าความตาย       

เมื่อร่างกายแตกสลาย อาการต่างๆก็กลับไปสู่ธาตุเดิม  เวลาคนตายธาตุไฟก็หมดไป ร่างกายก็จะเย็น ธาตุลมไม่เข้า มีแต่ระเหยออกไป  ธาตุน้ำที่อยู่ในร่างกาย ก็จะไหลออกมา   เช่นน้ำเลือด   น้ำหนองต่างๆ  และในที่สุดร่างกายก็จะแห้ง เป็นหนังหุ้มกระดูกแล้วก็จะค่อยๆผุ   ค่อยกร่อน และในที่สุดก็จะกลายเป็นฝุ่นไป  ถ้าไม่ได้เอาไปเผาเสียก่อน   ถ้าฝังไว้    ปี  ๑๐  ปี  ก็จะกลายเป็นดินไป นี่ก็คือลักษณะของธาตุเดิมทั้ง ๖ ที่มีอยู่ในโลกนี้  ที่มีปฏิกิริยาต่อกัน  คือเมื่อธาตุรู้ไปยึดกับธาตุทั้ง ๕  มี   ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศธาตุ  ก็จะกลายเป็นสัตว์   เป็นบุคคล   มีการเจริญเติบโต แล้วก็มีการแก่ การเจ็บ การตายตามมา หมุนเวียนไปเรื่อยๆ   

ตราบใดที่วิญญาณธาตุนั้นยังไม่รู้ธรรม  ยังไม่เข้าถึงความเป็นจริง ว่าการเกิดนี้นำไปสู่การแก่ การเจ็บ  การตาย  มีการพลัดพรากจากของรัก ของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง  เป็นต้นเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย ถ้ามีสติ  มีปัญญา จะเริ่มใคร่ครวญ และคิดว่าการเกิดนี้  มีแต่การนำมาซึ่งความทุกข์ แล้วจะทำให้ไม่อยากเกิด เมื่อไม่อยากเกิด ก็ต้องศึกษาธรรมะ   ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ว่า การเวียนว่ายตายเกิดนี้  เกิดขึ้นเพราะความอยาก ๓ ประการ คือ กามตัณหา ความอยากในกาม ภวตัณหา  ความอยากมี  อยากเป็น   และวิภวตัณหา  ความอยากไม่มี   อยากไม่เป็น     

ถ้ายังมีความอยากทั้ง ๓ นี้ อยู่ในจิตใจหรือในวิญญาณธาตุนี้   ก็ยังจะต้องมีการขวนขวาย มีการแสวงหาอยู่ เช่น ถ้ามีกามตัณหา คือ ความอยากในกาม ก็ต้องไปหาร่างกายที่มี  ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไว้เป็นเครื่องมือ เพื่อดูรูป  ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสต่างๆ ลองสังเกตดูตัวเรา  พวกเรานี้มักจะอยู่บ้านกันไม่ค่อยได้ ถ้าอยู่บ้านเฉยๆแล้ว เกิดความรู้สึกอึดอัดใจ เพราะใจอยากจะออก ใจอยากจะไปหาอาหารใจ คือกามรสนั้นเอง อยากจะดูรูป อยากจะฟังเสียง อยากจะดมกลิ่น อยากจะลิ้มรส    อยากจะสัมผัสอะไรต่างๆ นาๆ ที่แปลกใหม่  อยู่กับบ้านเห็นแต่ของเก่าๆ  เห็นแล้วจำเจ ชินชา ไม่เกิดความยินดี จึงต้องออกไปหาสิ่งต่างๆ   ข้างนอก ถ้าออกไปไม่ได้  ก็ต้องหาเอาเข้ามาแทน   เช่น เอาโทรทัศน์เข้ามา  เอาวิทยุเข้ามา  เอาวิดีโอเข้ามา ม้วนเทป ม้วนวิดีโอต่างๆ  เอามาเปิด   เอามาดู  เพื่อให้เกิดความรื่นเริงเจริญใจ แล้วก็ติดสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ   จนกระทั่งแก่เฒ่า   จนกระทั่งตาย

เมื่อตายไปแล้ว ถ้าวิญญาณธาตุดวงนี้ ยังมีความอยากอยู่ ก็จะไปหาร่างใหม่ต่อไป จะได้ร่างแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่ได้กระทำไว้   ถ้าได้ทำบุญ ทำกุศลไว้ ก็จะเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง   ถ้าเป็นเทวดาก็จะเสพ  รูปทิพย์ เสียงทิพย์  กลิ่นทิพย์รสทิพย์  เครื่องสัมผัสทิพย์   ถ้าเกิดเป็นมนุษย์  ก็สัมผัสกับรูปหยาบ  เสียงหยาบ อย่างที่พวกเราสัมผัสกัน แต่ถ้าทำบาป ทำกรรม เบียดเบียนผู้อื่น  ก็จะต้องเกิดเป็นเดรัจฉาน บ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสูรกายบ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง ถ้ามีปัญญา มีธรรมะ ย่อมขวนขวายทำแต่คุณงามความดี   ไม่เบียดเบียนผู้อื่น   เมื่อทำแต่คุณงามความดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่นแล้ว ถึงแม้จะไม่ได้ทำลายตัณหาทั้ง ๓  คือ กามตัณหา  ภวตัณหา  วิภวตัณหา ให้สิ้นไปจากจิตจากใจ  เมื่อตายไปดวงวิญญาณ หรือวิญญาณธาตุนั้น  ก็จะไปสู่ภพชาติใหม่   ตามบุญตามกรรม ถ้าทำบุญไว้มาก  ก็จะไปเสวยบุญเป็นส่วนใหญ่   ถ้าทำกรรมไว้มาก ทำบาปไว้มาก  ก็ต้องเสวยบาปกรรมที่ได้ทำไว้  ไปเกิดในภพภูมิที่ต่ำลงไป

พวกเราชาวพุทธทั้งหลาย  ถือว่าเป็นผู้โชคดี  มีวาสนา ที่ได้มาเกิด  และได้มาเจอกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้จริง เห็นจริง  เป็นโลกวิทู ผู้รู้โลก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เรื่องของวิญญาณธาตุ คือ ดวงจิตของพวกเรา ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร  โดยมีตัณหา ความอยากทั้ง ๓  เป็นเหตุ  ซึ่งพระพุทธองค์ทรงพยายามประพฤติปฏิบัติ   ต่อสู้กับความอยากทั้ง ๓ นี้มาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยที่พระพุทธองค์ทรงเป็นเจ้าชายอยู่ในพระราชวัง   พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า ความอยากเหล่านี้มีแต่โทษ จึงทรงสลัด ตัดทิ้ง โดยวิธีแสวงหาความสงบของจิตใจ  ด้วยการออกบวช  เป็นสมณะ  แล้วก็พยายามต่อสู้  กับความอยากทั้ง ๓ นี้   ด้วยวิธีต่างๆ  โดยอาศัยสติ  อาศัยปัญญา  สอนใจ เตือนใจอยู่เสมอว่า  ความอยากเหล่านี้เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ กามคุณนี้มันไม่ใช่เป็นคุณ  มันเป็นโทษ  ความจริงไม่น่าเรียกว่ากามคุณ  น่าจะเรียกว่ากามโทษมากกว่า เพราะทำให้มีแต่ความหิว  ความกระหาย  ความอยาก   ความไม่รู้จักพอ

ถ้าตัดความอยากนี้ได้แล้ว   จิตจะเข้าสู่ความสงบ  จิตจะเข้าสู่ความพอนั้นเอง ถ้าตราบใดยังตัดไม่ได้ ก็ยังไม่พอ  อย่างวันนี้ อยากออกไปเที่ยว แล้วออกไป พรุ่งนี้ก็อยากจะไปอีก  แต่ถ้าอยากจะไป  แล้วไม่ไป  ตัดมันเสีย   สู้มัน  คราวต่อๆไป ก็ทำอย่างนี้อีก  ต่อไปก็จะหายอยากเอง  จิตใจก็จะเข้าสู่ความสงบนิ่ง ความสงบของจิตใจจะเกิดขึ้นได้   ก็ต่อเมื่อได้ตัดความอยากทั้งหลายออกไป ถ้ามีความอยาก จิตใจจะไม่สงบ ถ้าต้องการตัดความทุกข์ทั้งหลาย ต้องตัดต้นเหตุของความทุกข์ ก็คือความอยากทั้ง ๓ คือ กามตัณหา  ภวตัณหา วิภวตัณหา  

ถ้าสามารถตัดได้  จิตจะเป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ เหมือนกับจิตของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย  ท่านเหล่านั้นท่านได้ตัดแล้ว  เรื่องตัณหาทั้ง ๓  ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม  บำเพ็ญบุญ บำเพ็ญกุศล   เริ่มต้นตั้งแต่การทำบุญ   ให้ทาน รักษาศีล  และเจริญจิตภาวนา  คือ การทำให้จิตเกิดสมาธิ  แล้วเจริญวิปัสสนา ให้เห็นโทษของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมดว่า เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆเรา  ถ้ายึดในสิ่งเหล่านี้แล้ว จะนำมาซึ่งความทุกข์ใจ   เมื่อสิ่งเหล่านี้แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าละสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้  ไม่ยึด ไม่ติด  ไม่หาความสุขจากสิ่งเหล่านี้  หาความสุขอย่างเดียว  คือ ความสุขที่เกิดขึ้นในจิตใจจากการชำระความอยากทั้งหลาย เมื่อชำระได้แล้ว ใจจะมีแต่ความพอ   มีความอิ่ม  มีความสุข   มีความสงบ  

จิตใจจะไม่มีเชื้อที่จะทำให้เกิดอีกต่อไป จิตจะเป็นจิตแบบเดียวกับของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย  ธาตุรู้แบบนี้  เรียกว่านิพพานธาตุ เป็น นิพพานัง  ปรมัง  สุขัง     นิพพานัง   ปรมัง   สุูญญัง   คำว่าสูญนี้ ไม่ได้หมายความว่า จิตดวงนี้  ธาตุรู้ดวงนี้  ได้สูญไปไหน  แต่หมายถึงว่าจิตดวงนี้  ไม่มีอะไรอยู่ในนั้น ไม่มีความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ไม่มีตัณหาต่างๆ อยู่ในใจ  ที่จะเป็นเหตุ  เป็นเชื้อให้ไปเกิดอีกต่อไป   สิ่งเหล่านี้ได้ถูกทำลายหมดไปแล้ว  เป็นจิตที่ว่างเปล่า   เป็นจิตที่บริสุทธิ์   เป็นจิตที่เป็นปรมังสุขัง  เป็นบรมสุขนั้นเอง นี้คือ จุดมุ่งหมายปลายทางที่พวกเราทั้งหมดสามารถไปถึงได้ ด้วยการสะสมบุญบารมี และการเห็นโทษของการเวียนว่ายตายเกิด ว่าเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

ตราบใดที่ยังเห็นว่าโลกนี้เป็นโลกที่น่าอยู่  เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความสุขเราจะไม่สามารถตัดภพ ตัดชาติได้ ถ้าเป็นโลกที่น่าอยู่ ทำไมจึงมีคนกระโดดตึกตายกัน เป็นเพราะอะไร  เป็นเพราะมันทุกข์จนทนไม่ไหวนั้นเอง ถ้าไม่ทุกข์ ทำไมต้องไปฆ่าตัวตาย เหตุการณ์เหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเราก็ได้   แต่ถ้าได้สะสมบุญ   สะสมกุศลไว้   สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับตัวเรา เพราะเรามีธรรมะ มีบุญกุศล ไว้ดับไฟในจิตใจเรา ไฟแห่งความทุกข์ จึงไม่สามารถเผาผลาญ  ทำให้เราต้องไปฆ่าตัวตายได้     

ขอให้พวกเราทั้งหลาย  จงอย่าประมาทในบุญ  ในกุศล   ในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า   ขอให้พวกเราทั้งหลายพยายามน้อมธรรมะเข้ามา ด้วยการศึกษา และนำเอาไปประพฤติปฏิบัติให้มีขึ้นภายในจิตใจของเรา  เพื่อที่จะได้เป็นที่พึ่งของเรา   ดังที่พวกเราทั้งหลาย  ได้กล่าวคำพุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ   เรายึดเอาพระพุทธ   ยึดเอาพระธรรม   ยึดเอาพระสงฆ์เป็นสรณะ  การที่เราจะยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะได้นั้นเราต้องศึกษาพระธรรมคำสอน และประพฤติปฏิบัติ  เพื่อให้ฝังลึกอยู่ในจิตใจเรา เมื่อมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์   เป็นสรณะอยู่ในจิตใจของเราแล้ว  เราจะไม่ทำบาป  เราจะทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม  ทำบุญ ทำกุศล  เมื่อเราทำแต่บุญ  ทำแต่กุศล  ไม่ทำบาปแล้ว   จิตของเราจะมีแต่ความสุข  เพราะการกระทำทั้งหลายนั้น เป็นเหตุ ที่จะนำมาซึ่งความสุข และความทุกข์ภายในจิตใจของเรา จึงขอฝากสิ่งเหล่านี้ให้ท่านทั้งหลาย นำไปไปพินิจพิจารณาเพื่อประโยชน์อันสูงสุด คือความสุข   ความสงบของจิตใจ  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้