กัณฑ์ที่ ๑๗๑     ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖

ปั้นดินให้เป็นพระ

 

ในช่วงฤดูกาลเข้าพรรษา เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของพุทธศาสนิกชนทั่วๆไป ที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้มากยิ่งไปกว่าปกติ  คือมีการตั้งจิตตั้งใจที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมเพิ่มมากขึ้น ในธรรมข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายๆข้อ สุดแท้แต่กรณีของแต่ละบุคคลที่จะพึงกระทำ บางท่านก็ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะใส่บาตรทุกๆวัน  บางท่านก็ตั้งจิตอธิษฐานจะมาวัดทุกๆวันพระ  บางท่านก็ตั้งจิตอธิษฐานจะไหว้พระสวดมนต์ทุกๆวัน ทั้งเช้าทั้งเย็น  บางท่านก็ตั้งจิตอธิษฐานจะละเว้นจากอบายมุขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุรายาเมา การพนัน เที่ยวกลางคืน สิ่งเสพติดอื่นๆ ที่เห็นว่าไม่เกิดคุณเกิดประโยชน์ มีแต่โทษ ตลอดระยะเวลา ๓ เดือน ก็จะลองปฏิบัติกัน เพื่อประโยชน์สุขของตนเองนั่นเอง  การจะทำอะไรให้เป็นไปด้วยความสะดวกราบรื่น ก็จะต้องมีเครื่องมือสนับสนุน ซึ่งมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน  เหมือนกับเวลาที่จะต้องซ่อมรถยนต์ ก็ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือหลายชนิด  หรือเวลาจะสร้างบ้านสร้างเรือน ก็ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือหลายชนิดเช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็นขวาน เป็นมีด เป็นเลื่อย เป็นกบ เป็นค้อน เป็นต้น  ต้องมีหลายๆอย่างช่วยสนับสนุนกัน เพื่อภารกิจที่ทำจะได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี 

การที่มีความปรารถนาที่จะพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม ให้สูงขึ้นกว่าเดิม   ให้ดำเนินไปสู่จุดสูงสุดคืออริยภูมิ จากปุถุชนให้กลายเป็นพระอริยเจ้าขึ้นมา จำเป็นต้องมีธรรมะเป็นเครื่องอุปถัมภ์สนับสนุน  เช่น ความตั้งใจ  ภาษาบาลีเรียกว่าอธิษฐาน  มีความตั้งใจ  ตั้งจิตอธิษฐานให้รู้ว่าจะไปในทิศทางใด ต้องการอะไร ก็ต้องตั้งเป้าหมายเอาไว้ เรียกว่าตั้งจิตอธิษฐาน  ต่อมาก็ต้องมสัจจะ ความจริงใจ เอาจริงเอาจัง แน่วแน่มั่นคง มุมานะ ไม่สักแต่ตั้งใจไว้เฉยๆ เมื่อทำไปแล้วเจออุปสรรค เจอความยากความลำบาก ก็จะเลิกราไป  ถ้ามีสัจจะความจริงใจ เอาจริงเอาจัง เหนียวแน่นแน่นอนแล้ว  ถึงแม้จะเจออุปสรรคอย่างไร ก็ไม่ยอมถอยหลัง ไม่ยอมเลิก ไม่ยอมแพ้  จะต้องไปให้ได้  จะช้าหรือเร็วก็สุดแท้แต่  แต่จะไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมหยุด  อาจจะต้องชะลอลงไปบ้าง เพราะสุขภาพร่างกายอาจจะไม่อำนวย  หรือมีอุปสรรคบางสิ่งบางอย่าง  แต่ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะทำให้ล้มเลิกไปเลย  เรียกว่าสัจจอธิษฐาน  อย่างที่พระพุทธเจ้าของเราได้ทรงกำหนดจิตไว้ ในวาระสุดท้ายแห่งการปฏิบัติธรรม  ขณะที่นั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์   ทรงตั้งสัจจอธิษฐานไว้ว่า ถ้าไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้ไปเป็นอันขาด ถึงแม้ร่างกายจะซูบผอม  เลือดในร่างกายจะเหือดแห้งไป ชีวิตจะหาไม่  ก็จะไม่ยอมลุกจากที่นั่งนี้ไปเป็นอันขาด  นี่คือสัจจอธิษฐาน ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเปล่งวาจาไว้  เป็นเหตุเป็นเครื่องคอยผลักดัน ไม่ให้ยอมแพ้ ให้ลุยไปแต่ข้างหน้า จนในที่สุดก็ได้บรรลุถึงผลอันเลิศ ที่ได้ทรงปรารถนาไว้

นอกจากสัจจอธิษฐานแล้ว  ธรรมะที่ต้องมีก็คือวิริยะ ความอุตสาหะ พากเพียรพยายาม  เมื่อได้ตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่า  จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดในเวลาใด  เมื่อถึงเวลานั้นก็ต้องทำในสิ่งนั้นๆ  เช่น ถ้าตั้งจิตอธิษฐานว่าจะใส่บาตรทุกๆวัน  เมื่อถึงเวลาก็ต้องเตรียมกับข้าวกับปลาอาหารคาวหวานไว้ เพื่อรอพระที่เดินผ่านมาที่บ้านของเราก็ดี  หรือจะนำอาหารไปถวายตักบาตรตามจุดต่างๆที่พระท่านเดินผ่าน ก็ขอให้มีวิริยะ ความอุตสาหะพากเพียร อย่าเกียจคร้าน  บางวันอาจจะนอนดึก พอตื่นขึ้นมาเลยไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง ไม่อยากจะลุก ก็ต้องนึกถึงสัจจอธิษฐานที่ได้ตั้งไว้ แล้วก็อาศัยวิริยะความอุตสาหะความพากเพียร ผลักดันให้กายวาจาใจลุกขึ้นมาทำกิจที่ได้ตั้งใจไว้  นี่ก็เป็นธรรมะที่จะช่วยผลักดัน ให้ดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการ  ต่อมาก็ต้องมีขันติ ความอดทน เพราะการจะทำอะไรที่เป็นคุณงามความดีนั้น สำหรับปุถุชนทั่วๆไปจะรู้สึกว่ายาก  เพราะจิตใจของปุถุชนมีอำนาจใฝ่ต่ำครอบงำอยู่  มักจะชอบไหลลงต่ำ ไม่ชอบขึ้นสูงเหมือนกับน้ำ   น้ำย่อมไม่ไหลขึ้นที่สูงฉันใด จิตใจของปุถุชนก็ไม่ไหลขึ้นที่สูงฉันนั้น  ถ้าไม่มีการผลักดัน  ไม่มีการเคี่ยวเข็ญ  จิตของปุถุชนทั่วๆไปจะไม่ไปสู่ที่ดีที่งามโดยลำพังของตนเอง ต้องอาศัยธรรมะดังที่ได้กล่าวไว้ เป็นเครื่องผลักดันสนับสนุน  

ดังนั้นการจะทำความดีแต่ละครั้งสำหรับปุถุชน จึงรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยากเย็นอย่างยิ่ง  แต่ถ้าให้ไปทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามจะรู้สึกว่าง่าย  เช่น ระหว่างการมาวัด  กับการไปดูหนังดูละคร ไปเที่ยวเตร่  จิตใจจะรู้สึกว่าการมาวัดนี้แสนจะยากเย็นลำบากลำบน  แต่เวลาไปเที่ยว  ไปกินเลี้ยง  ไปหาความสุขทางโลกแล้ว จะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ง่ายแสนง่าย  แทบจะไม่ต้องมีใครมาเตือนมาบอก  ในใจพร้อมที่จะไปอยู่เสมอ  นั่นก็เป็นเพราะว่าธรรมชาติของจิตปุถุชนเป็นอย่างนั้น  ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นจิตของพระอริยเจ้าแล้ว การทำความดีกลับเป็นของง่าย  และการกระทำความชั่วกลับเป็นของยาก  เพราะเหตุที่ได้ฝึกฝนอบรมนิสัยสันดานจนกลายเป็นจิตที่ดีที่งาม  ใฝ่ดีใฝ่งามโดยถ่ายเดียว เวลาจะทำความชั่วจึงเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้  ตั้งแต่พระอริยบุคคลเบื้องต้นขึ้นไปคือพระโสดาบันแล้ว  เรื่องการทำบาปละเมิดศีล จะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว  ท่านจะไม่ทำโดยเด็ดขาด  แม้แต่จะเพื่อรักษาชีวิตของตนไว้ โดยการทำบาปทำกรรมก็จะไม่ทำ  เช่น สมมุติมีผู้หนึ่งผู้ใดจะมาทำร้ายชีวิตของท่าน  ท่านก็จะไม่ต่อสู้ทำร้ายเขา  แต่ถ้าหลบได้ก็จะหลบ  หลีกได้ก็จะหลีก  ถ้าพูดคุยสอนกันได้ ให้เขายกเลิกการกระทำที่ไม่ดีนั้นได้ ท่านก็จะพูด  แต่การที่จะต้องไปทำบาปทำกรรมเพื่อรักษาชีวิตของท่านไว้นั้น ท่านจะไม่ทำโดยเด็ดขาด เพราะได้ถูกกำจัดหมดสิ้นไปแล้วจากจิตใจ ในเรื่องการทำบาปทำกรรมทั้งหลาย 

แต่ก่อนที่จะไปถึงที่นั่นได้ ก็ต้องอาศัยธรรมะที่ได้แสดงไว้ คือต้องมอธิษฐาน ความตั้งใจ  สัจจะ ความจริงใจ  วิริยะ ความอุตสาหะ ความพากเพียร  ขันติ ความอดทน  ถ้าหากไม่มีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว  การที่จะยกสภาพจิตปุถุชนให้กลายเป็นพระอริยบุคคล ย่อมเป็นไปได้ยาก  หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว  เพราะเหมือนกับการสร้างบ้านขึ้นมาโดยไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ฉันใด  การที่จะปั้นดินให้เป็นพระขึ้นมาก็เช่นนั้น  การที่จะเอาดินมาปั้นให้เป็นพระพุทธรูปนั้น  ถ้าไม่มีความตั้งจิตตั้งใจ ไม่มีความแน่วแน่ เอาจริงเอาจัง  ไม่มีความขยันหมั่นเพียร  ไม่มีความอดทนแล้ว  รับรองได้ว่าจะไม่สามารถปั้นให้กลายเป็นพระพุทธรูปขึ้นมาได้  แต่ถ้ามีความตั้งใจ มีความจริงใจ มีความขยัน มีความอดทนแล้ว  ก็จะสามารถที่จะปั้นดินให้เป็นพระพุทธรูปได้  สามารถทำจิตของปุถุชนให้กลายเป็นพระอริยเจ้าได้   ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้ว  โลกจะต้องไม่มีพระพุทธเจ้ามาปรากฏ  จะไม่มีพระอรหันตสาวกทั้งหลายมาปรากฏ  เพราะว่าไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตาม  พระอรหันตสาวกรูปใดก็ตาม  ก็ล้วนมาจากปุถุชนทั้งสิ้น  ไม่มีใครมาจากพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกเลย  ทุกๆองค์ต้องมาจากปุถุชนทั้งนั้น  ต้องมาจากดินทั้งนั้น  โดยอาศัยธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบ มาใช้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือ ปั้นก้อนดินให้กลายเป็นพระพุทธรูป  ปั้นจิตของปุถุชนให้กลายเป็นจิตของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย 

เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้  ปุถุชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้  มีสิทธิ์ที่จะเป็นพระอรหันตสาวกได้ ถ้ามีความตั้งใจ มีความจริงใจ   มีความขยันหมั่นเพียร มีความอดทนที่จะปฏิบัติธรรม ที่จะทำให้ปุถุชนกลายเป็นพระอริยะขึ้นมา  จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายที่ยังเป็นปุถุชนอยู่   ควรมีความดีอกดีใจ เพราะมีความหวัง  ชีวิตของเราไม่สิ้นหวัง  ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่  ซึ่งเปรียบเหมือนกับคนที่ติดคุกติดตะรางนั่นเอง ถ้าโดนจำคุกตลอดชีวิต ก็จะไม่มีโอกาสที่จะออกจากคุกตะรางไปชั่วชีวิต  แต่ถ้าถูกจำคุกเป็นเวลา ๕ ปี ๑๐ ปี  ก็ยังมีความหวังที่จะออกจากคุกไปได้  ฉันใดพวกเราก็เป็นเหมือนกับนักโทษ แต่ไม่ได้ถูกลงโทษให้จำคุกตลอดชีวิต มีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากคุกตะรางไปได้ด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า  เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือ ทำให้ทรงหลุดพ้นไปจากห้องขัง จากคุกตะราง  เมื่อก่อนนี้พระพุทธเจ้าก็ทรงถูกขังอยู่ในคุกในตะรางนี้  แต่หลังจากที่ได้ทรงฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ด้วยการปฏิบัติธรรม ทำแต่ความดี  ละความชั่ว  กำจัดกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในพระทัยจนหมดสิ้นไป หลุดพ้นจากคุกตะรางแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้โดยสิ้นเชิง

พวกเราทุกคนจะทราบหรือไม่ทราบก็ตาม  เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เมื่อตายไปแล้วยังไม่จบเพียงเท่านั้น  ยังไปเกิดใหม่อีก  ไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่  ภพสูงภพต่ำ  ตั้งแต่นรกที่เป็นภพที่ต่ำที่สุด  จนถึงขั้นพรหมโลกที่เป็นภพที่สูงที่สุด ไล่ขึ้นมาจากนรก สู่เปรต สู่อสุรกาย สู่เดรัจฉาน สู่มนุษย์ สู่เทวโลก สู่พรหมโลก   นี่คือคุกตะรางของสัตว์โลกทั้งหลาย ที่ยังไม่สามารถปลดเปลื้องตัวเองให้หลุดพ้นไปได้  มีแต่พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลายเท่านั้น ที่สามารถดิ้นหลุดพ้นจากคุกตะรางนี้ไปได้  ด้วยการปฏิบัติธรรม คือละทำชั่ว  ทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม  กำจัดกิเลสตัณหาทั้งหลาย ที่มีอยู่ภายในจิตใจให้หมดสิ้นไป  ด้วยการทำบุญทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ไหว้พระสวดมนต์ ทำสมาธิ  เจริญวิปัสสนา ปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นธรรมะสำหรับผู้ที่ต้องการจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด  หลุดพ้นจากคุกตะรางแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะต้องปฏิบัติกัน  ถ้าปฏิบัติด้วยความตั้งใจ  ด้วยความจริงจัง  ด้วยความขยันหมั่นเพียร  ด้วยความอดทนแล้ว  รับรองได้ว่าไม่ช้าก็เร็ว ก็จะสามารถหลุดพ้นจากคุกตะรางนี้ไปได้  แต่ถ้าจะหวังให้ผู้หนึ่งผู้ใดปฏิบัติแทน ลากจูงให้พ้นจากคุกตะรางนี้ ก็จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเป็นไปได้  จะต้องผิดหวังไปตลอดชีวิต  จะต้องอยู่ในคุกตะรางแห่งการเวียนว่ายตายเกิดไปแบบไม่รู้จักจบจักสิ้น

ดังนั้นเวลาที่ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  ขอให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ คือความสามารถ ความเก่งกาจ  เช่นความตั้งใจ ความจริงใจ ความขยัน ความอดทน ที่มีอยู่ในองค์พระรัตนตรัย แล้วนำมาใช้กับตัวเรา  พยายามตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งใจว่าจะทำความดี ไม่กระทำความชั่ว จะตัดกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ หรือต่อการปฏิบัติธรรม ให้ลดน้อยถอยลงไปจนหมดไปในที่สุด  ถ้าสามารถปฏิบัติได้  ไม่ช้าก็เร็วปุถุชนจิตก็จะกลายเป็นอริยจิต เหมือนกับจิตของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ที่ได้กลายจากปุถุชนเป็นพระอริยเจ้า ด้วยการปฏิบัติธรรมเท่านั้น  ไม่ได้จากการปลุกเสก ไม่ได้จากการบนบาน ขอสิ่งนั้นสิ่งนี้ จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในโลกนี้  เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่แท้จริงในโลกนี้ก็คือธรรมะ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า อัตตาหิ อัตโน นาโถ  นี่แหละคือธรรมะที่ศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริง  ผู้ใดมีธรรมะข้อนี้แล้ว ย่อมสามารถนำตนให้พ้นจากความทุกข์  พ้นจากความยากความลำบากได้ 

แม้แต่ชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวันนี้  ถ้ามีอัตตาหิ อัตโน นาโถ ก็จะสามารถยกตนให้พ้นจากความทุกข์ ความยาก ความลำบาก ในเรื่องการดำรงชีพได้  แต่ถ้าไม่ขวนขวาย ไม่ยึดตนเป็นที่พึ่ง หวังพึ่งผู้นั้นผู้นี้ มาคอยช่วยเหลือดูแลแล้ว  ชีวิตจะต้องลำบากลำบนอย่างแน่นอน  เพราะคนที่จะมาดูแลนั้น  ก็ไม่แน่ว่าจะสามารถดูแลไปได้ตลอดหรือไม่ เพราะชีวิตของคนเราทุกคนอยู่ภายใต้กฎของอนิจจัง คือความไม่เที่ยง  จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้  จะพิกลพิการเมื่อไรก็ไม่มีใครรู้  ถ้าคนที่ดูแลเป็นอะไรไปเสียก่อน จะทำอย่างไร  จะไม่ลำบากลำบนหรือ  ในทางตรงกันข้ามถ้ายึดตนเป็นที่พึ่งของตน ทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งผู้หนึ่งผู้ใด ก็จะไม่เดือดร้อน  ยกเว้นเสียว่าไม่สามารถพึ่งตนเองได้แล้วเท่านั้น   ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องอาศัยบุญกรรม ที่ได้ทำไว้ในอดีตเป็นเครื่องสนับสนุนหรือเป็นเครื่องทำลายเราเท่านั้น  ถ้าได้ทำบุญไว้มาก บุญก็จะอุปถัมภ์ค้ำจุนในยามที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้  แต่ถ้าไม่ได้ทำบุญก็ต้องอยู่แบบอนาถา หรือตายไปในระยะอันใกล้  ก็เป็นเรื่องของบุญของกรรม 

พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงไม่ควรประมาท ในเรื่องบุญเรื่องกรรมเป็นอันขาด  เพราะบุญกรรมนี่แหละจะเป็นเครื่องที่ส่งเสริมหรือฉุดลากให้ลงต่ำ ส่งให้ขึ้นสูงก็คือบุญ  ฉุดให้ลงต่ำให้สู่ความทุกข์ความลำบากก็คือกรรม นั่นแหละจึงเป็นเหตุผลที่ทำไมพระอริยเจ้าทั้งหลาย จึงไม่กระทำบาปทำกรรมกัน  เพราะท่านมีดวงตาเห็นธรรม  เห็นผลของกรรมที่จะตามมาว่าจะเป็นอย่างไรนั่นเอง  ท่านจึงมีความกลัว มีความอายในการกระทำบาป มีหิริโอตตัปปะ กลัวบาป  อายต่อการกระทำบาป  กลัวเพราะรู้ว่าผลของบาปมีจริงและรุนแรง  อายก็เพราะว่าคนที่ทำบาปไม่ใช่เป็นคนที่น่าชื่นชมยินดี ถ้าเป็นรูปร่างหน้าตาก็เป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์  คนที่ทำบาปจะเป็นอย่างนั้น  ในทางตรงกันข้ามคนที่ทำบุญกลับมีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม  นี่เป็นการเปรียบเทียบ ถึงแม้ว่าร่างกายสังขารอาจจะไม่สวยงาม  แต่ถ้าได้ทำบุญทำความดีแล้ว ก็จะมีคนชื่นชมยินดีอยู่ ตรงกันข้ามกับคนที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม แต่ชอบทำแต่บาป  ถึงแม้รูปร่างหน้าตาจะดีแต่คนที่รู้จักพฤติกรรมของเขา ก็จะรังเกียจ ไม่ยินดีคบค้าสมาคมด้วย 

ผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม เห็นผลของบาปของกรรมแล้ว  จึงมีหิริโอตตับปะไม่กล้าทำบาป มีความละอายในการทำบาป  ถ้ามีคุณธรรมทั้ง ๒ ประการนี้แล้ว  การที่จะไปกระทำสิ่งที่ไม่ดี คือบาปกรรมทั้งหลาย ก็จะเป็นสิ่งที่ยากที่จะทำได้  แต่การที่จะมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาได้ ก็ต้องปฏิบัติธรรม  ปฏิบัติอย่างที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ปฏิบัติกันมา ด้วยความตั้งใจ  ด้วยความจริงใจ ด้วยความพากเพียร  ด้วยความอดทน  อย่าให้สิ่งที่เป็นอุปสรรคเล็กๆน้อยๆ มาล้ม มาทำลายผลอันประเสริฐที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ  เพราะเวลาที่ปฏิบัติธรรมในเบื้องต้น จะรู้สึกว่ายาก  เพราะอุปสรรคส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากภายนอก แต่เป็นอุปสรรคภายใน คือความไม่เคยชินนั่นเอง  ถ้าเคยชินกับการทำอะไร เวลาทำสิ่งนั้นก็จะง่าย  สิ่งที่ไม่เคยทำนั้น เวลาทำจะรู้สึกว่ายาก  เช่น ถ้าถนัดมือขวา  แล้วเกิดมีความจำเป็นที่จะต้องไปใช้มือซ้ายแทน เพราะมือขวาใช้งานไม่ได้ เวลาใช้มือซ้ายก็จะรู้สึกว่ายาก รู้สึกว่าลำบาก  แต่ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้มือซ้าย ก็พยายามอดทนใช้ไป  ตั้งใจทำไป  ไม่ช้าก็เร็วความเคยชินก็จะปรากฏขึ้นมา  แล้วต่อไปการใช้มือซ้ายก็ไม่เป็นสิ่งที่ยากเย็นอีกต่อไป  เพราะมือซ้ายกับมือขวานั้น ความจริงก็ไม่มีความแตกต่างกัน  ทำไมคนที่ถนัดมือขวา  จึงใช้มือซ้ายไม่ถนัด  แล้วคนที่ถนัดมือซ้าย จึงใช้มือขวาไม่ถนัด  ก็เป็นเพราะความเคยชินนั่นเอง  ถ้าเคยใช้มือไหน ก็เป็นความเคยชิน เป็นความสะดวก เป็นการง่ายที่จะใช้มือนั้น  ถ้ามือที่ไม่ได้ใช้มาก่อน ก็ไม่เคยชิน ก็จะรู้สึกยากเวลาที่จะใช้ 

เช่นเดียวกับการทำบาปกับการทำบุญ  เคยทำบาปกันมานับไม่ถ้วนแล้ว  การทำบาปทำกรรมเป็นสิ่งที่ง่ายสำหรับจิตใจของพวกเรา  แต่เวลาที่จะทำบุญกันจะรู้สึกว่ายาก เพราะไม่ค่อยได้ทำกันนั่นเอง  แต่ถ้าพยายามทำบุญกันให้มากขึ้นไปเรื่อยๆแล้ว  ต่อไปการทำบุญก็จะกลายเป็นของง่าย  จนกลายเป็นของที่ไม่ทำไม่ได้ คือจะต้องทำ  เหมือนกับคนที่เคยใส่บาตรเป็นประจำ  วันไหนที่ไม่ได้ใส่บาตรแล้วจะรู้สึกไม่สบายใจ  ถ้าพระเดินผ่านบ้านไปก่อน  ถ้าเตรียมอาหารไว้ก็จะวิ่งตาม  จะนั่งรถตามมาใส่บาตร  ถ้าตามพระที่เดินบิณฑบาตไม่ทัน ก็ตามถึงที่วัดเลย เพราะเป็นนิสัย  ทำอะไรไปแล้ว ก็ติดเป็นนิสัยด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าดีหรือชั่ว  ถ้าทำความชั่วก็จะติดนิสัยของการทำความชั่วไป  ถ้าทำความดีก็จะติดนิสัยของการทำความดีไป  ดังนั้นในขณะที่เริ่มทำความดีแล้วรู้สึกว่ายากก็อย่าท้อแท้  จงทำความเข้าใจว่ายังไม่เคยชิน  ขอให้ทำไปเรื่อยๆ อีกสักพัก อีกสักระยะหนึ่ง ก็จะรู้สึกว่าง่ายขึ้น  แล้วจะง่ายขึ้นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นของที่ต้องทำ คือติดเป็นนิสัยไปแล้ว 

ดังนั้นการที่จะยกตนให้พ้นจากกองทุกข์  ให้ออกจากคุกจากตะรางนั้น ถึงแม้จะยากจะลำบากลำบนอย่างไร ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งสุดวิสัย  จะยากแต่เฉพาะช่วงเริ่มต้นเท่านั้นเอง  เหมือนกับรถยนต์เวลาที่จะออกก็รู้สึกว่าหนัก กว่าจะให้รถวิ่งได้  จะรู้สึกว่าลำบาก  แต่เมื่อรถได้วิ่งไปแล้ว ก็จะรู้สึกว่าเบา เวลาขับก็จะรู้สึกว่าไม่ต้องใช้แรงมาก เหมือนกับตอนที่ขับตอนต้น  เวลารถจอดอยู่ ต้องผลักให้รถไหลไป จะรู้สึกว่าหนัก ต้องใช้แรงมากถึงจะทำให้รถเลื่อนไปได้  แต่พอรถเริ่มเลื่อนไปได้แล้ว ก็จะรู้สึกว่าไม่ต้องใช้แรงมาก ก็สามารถทำให้รถเลื่อนไปได้เรื่อยๆ  ฉันใดการปฏิบัติธรรมทำคุณงามความดี ละการกระทำความชั่ว  กำจัดกิเลสก็เป็นเช่นนั้น  จึงต้องใชอธิษฐาน ความตั้งใจ  สัจจะ ความจริงใจ  วิริยะ ความอุตสาหะ ความพากเพียร  ขันติ ความอดทน  จึงจะบรรลุผลได้  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้