กัณฑ์ที่ ๑๗๒      ๕ สิงหาคม ๒๕๔๖

ผู้กำกับ

 

การดำเนินชีวิตให้เป็นไปอย่างราบรื่นดีงาม ตรงเป้าหมายที่ปรารถนา มีแต่ความสุขความเจริญ มีแต่สิ่งที่ดีที่งาม เป็นสิริมงคลนั้น  จำต้องมีการกำกับชีวิต ไม่ปล่อยให้ไหลไปตามยถากรรม เหมือนกับเรือที่ไม่มีหางเสือ  หรือรถที่ไม่มีพวงมาลัย  ถ้าปราศจากเครื่องกำกับชีวิตแล้ว  ชีวิตก็จะไม่ดำเนินไปตามเป้าหมายที่ต้องการ  เช่นเดียวกับเรือที่ขาดหางเสือ หรือรถที่ไม่มีพวงมาลัย ย่อมยากต่อการควบคุมบังคับให้แล่นไปตามทิศทางที่ต้องการจะไปได้  ชีวิตก็เป็นเช่นนั้น  ถ้าไม่มีหางเสือ ไม่มีพวงมาลัยไว้คอยกำกับ ก็จะไม่เป็นไปตามที่ปรารถนา จึงควรมีเครื่องกำกับชีวิต ถ้าไม่มี ก็จะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ  เครื่องกำกับชีวิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พุทธศาสนิกชนมีไว้ใช้ ก็คือสติปัญญา 

สติปัญญาเป็นธรรม ๒ ชนิด แต่มักจะไปคู่กัน  สติคือการระลึกรู้  ให้รู้อยู่กับสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏขึ้น เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย ที่มาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆปรากฏตามขึ้นมา   เช่นอารมณ์ชอบ อารมณ์ไม่ชอบ อารมณ์รัก อารมณ์ชัง  แล้วก็มีปฏิกิริยาตอบโต้ไปในทางความคิด  เช่น เมื่อได้สัมผัสกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ทำให้เกิดความชอบขึ้นมา ก็เกิดความอยากที่จะได้สิ่งนั้นมา  สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่ถูกใจ ก็เกิดความไม่ชอบขึ้นมา ต้องการให้สิ่งนั้นๆหายไปหมดไป  ผู้รู้ผู้ปฏิบัติคือตัวเรา ควรรู้กับเหตุการณ์และสิ่งต่างๆที่มาสัมผัสและปรากฏขึ้น   ถ้าไม่มีสติคอยเฝ้าดูอยู่ ก็จะไม่รู้  เมื่อไม่รู้ ก็จะปล่อยให้ชีวิตถูกฉุดกระชากลากไปตามอารมณ์ต่างๆ ถ้ามีสติ ก็จะรู้ว่าขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่  กำลังคิดอะไร พูดอะไร ถ้ามีสติ ก็รู้  ถ้าไม่มีสติก็ไม่รู้  เหมือนกับคนที่เสพสุรายาเมา  เมื่อถึงอาการมึนเมาแล้ว จะไม่รู้สึกตัวว่ากำลังพูดอะไร กำลังทำอะไร กำลังคิดอะไร เวลาหายเมาแล้วถามดู  ก็จะบอกว่าไม่รู้ จำไม่ได้  เพราะในขณะที่มีอาการมึนเมา จะอยู่ในสภาพไม่มีสติ จึงไม่สามารถควบคุมการกระทำได้  ไม่ว่าจะเป็นการพูดก็ดี การกระทำทางกายก็ดี ให้เป็นไปตามความเหมาะสม แต่ถ้าไม่ได้เสพสุรายาเมา  ก็จะมีสติพอจะรู้ว่า ตอนนี้กำลังคิดอะไรอยู่  กำลังพูดอะไร  กำลังทำอะไร  นี่คือการมีสติ และไม่มีสติ 

การมีสติก็คือการรู้อยู่ทุกขณะในปัจจุบัน กับสิ่งต่างๆที่ปรากฏขึ้นมา ที่มาสัมผัสกับกายกับใจ และปฏิกิริยาตอบโต้ของกาย วาจา ใจ ถ้ารู้ก็จะสามารถควบคุมได้ ถ้าเป็นไปในทางที่ไม่ถูกไม่ต้องไม่ควร  ก็จะสามารถหักห้ามได้  เหมือนกับขับรถ  เมื่อเห็นว่าข้างหน้ามีเครื่องกีดขวาง ก็จะไม่ขับไปชน แต่จะหักหลบไป  เพราะถ้าขับไปชน ก็จะต้องเกิดความเสียหายตามมา  ฉันใดชีวิตของเราก็คล้ายๆกับการขับรถยนต์  เวลาไปเจอเหตุการณ์อะไรเข้า ก็จะต้องมีปฏิกิริยาตอบรับกับเหตุการณ์นั้นๆ  บางครั้งก็เป็นปฏิกิริยาที่ดี  บางครั้งก็เป็นปฏิกิริยาที่ไม่ดี ถ้าไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติ  ก็ปล่อยให้ปฏิกิริยาออกไปทันทีทันใด  ถ้าเป็นปฏิกิริยาที่ดีผลดีก็จะตามมา   ถ้าเป็นปฏิกิริยาที่ไม่ดี ผลเสียก็จะตามมา  เช่น เวลาไปเจออะไรที่ไม่ถูกอกถูกใจเข้า ก็จะเกิดอารมณ์หงุดหงิด เกิดความไม่พอใจ เกิดความโกรธ แล้วก็ระบายความโกรธออกมาด้วยวาจาที่ไม่สุภาพ 

แต่ถ้ามีสติรู้อยู่ว่า การที่จะพูดอะไรออกไป ทำให้เกิดความเสียหายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี มีแต่ผลเสียตามมา  ถ้ามีสติ ก็สามารถยับยั้งวาจาที่ไม่สุภาพนั้นได้  แต่ถ้าไม่มีสติ พอมีอะไรปรากฏขึ้นมา จิตจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ทันที  ปล่อยออกไปสุดแท้แต่อารมณ์ที่ปรากฏขึ้นในขณะนั้น การมีปฏิกิริยาแบบนั้น ก็มีทั้งผลดีและผลเสีย ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยา  ถ้าเป็นการแสดงออกในทางที่ดี ก็เป็นคุณเป็นประโยชน์  ถ้าแสดงออกไปในทางที่ไม่ดี ก็เกิดโทษ เกิดความเสียหายขึ้นมา  ดังนั้นก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะทำอะไร ต้องมีสติยับยั้ง คือต้องรู้ก่อนว่าขณะนี้มีอารมณ์อะไรอยู่  อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง หรืออารมณ์ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง  เมื่อรู้แล้ว ก็ต้องรู้จักแยกแยะ ว่าควรแสดงออกไปอย่างไร  ถ้าไม่รู้ว่าการแสดงมีคุณมีโทษอย่างไร  ก็แสดงว่าขาดปัญญา  เพราะปัญญาจะเป็นผู้ชี้บอกเรื่องของบาป บุญ คุณ โทษ เรื่องความถูกความผิด  ถ้าไม่รู้ ก็ต้องศึกษาหาความรู้เพื่อให้เกิดปัญญา   เพราะคนเราส่วนใหญ่จะเกิดมากับความโง่เขลาเบาปัญญา มากกว่าที่จะมากับปัญญาความรู้ความฉลาด 

แต่ความรู้ความฉลาดเป็นสิ่งที่เรียนรู้กันได้  สามารถพัฒนาทำให้เกิดขึ้น ทำให้มีมากขึ้นไปได้ ถ้าขวนขวายหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เรื่อยๆ  ก็จะรู้ถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ดีที่งาม  ที่ไม่ดี ไม่งาม  ที่เป็นคุณ เป็นโทษ  เมื่อมีปัญญาแล้วเวลาแสดงอะไรออกไป ก็จะรู้ว่าควรหรือไม่ควรอย่างไร  เพราะการแสดงออกทางกาย วาจานั้น มีทั้งที่เป็นคุณและเป็นโทษ  ถ้ารู้ว่าการแสดงออกไปแล้วเป็นโทษ ก็ระงับได้  ถ้ารู้ว่าการพูดออกไปแล้วเกิดโทษขึ้นมา ก็ระงับเสีย  โทษต่างๆก็จะไม่ปรากฏตามมา  จึงต้องศึกษาหาความรู้ หาปัญญา  เพราะถ้ามีปัญญาควบคู่กับสติแล้ว ก็จะมีผู้กำกับชีวิตที่ดี ที่จะคอยกำกับพาให้เดินไปในทิศทางที่เกิดแต่คุณ เกิดแต่ประโยชน์  มีแต่ความสุขความเจริญ  สติปัญญาถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับผู้ใหญ่ที่คอยประคับประคองเด็ก   เวลาเด็กเกิดมาใหม่ๆ จะไม่รู้จักเรื่องราวต่างๆ  ว่าอะไรควรไม่ควรอย่างไร  เด็กๆจึงต้องอาศัยผู้ใหญ่เป็นผู้คอยประคับประคอง  เป็นผู้กำกับสั่งสอน ให้รู้ว่าควรจะทำอะไรอย่างไร 

ฉันใดคนที่มีสติปัญญา ก็เหมือนกับมีผู้หลักผู้ใหญ่คอยดูแลเด็ก ให้เด็กดำเนินชีวิตไปด้วยความราบรื่นดีงามนั่นเอง  ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ควรมีในชีวิตก็คือสติและปัญญา  ควรเจริญสติอยู่เรื่อยๆ อย่าปล่อยให้ใจลอยไปลอยมา  พยายามมีสติรู้อยู่กับปัจจุบัน ขณะที่อยู่ที่ตรงนี้เดี๋ยวนี้ ก็ขอให้มีความรู้อยู่กับที่นี่เดี๋ยวนี้ อย่าปล่อยให้ใจลอยไปคิดถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้วก็ดี  เรื่องที่ยังไม่มาก็ดี  เรื่องที่บ้าน ที่ทำงาน ที่อื่นๆ  ขอให้รู้อยู่กับปัจจุบัน ให้รู้อยู่กับที่นี่เดี๋ยวนี้  ขณะนี้กำลังนั่งอยู่ ก็ให้รู้อยู่กับการนั่ง  ขณะนี้กำลังฟังธรรมะ ก็ให้รู้อยู่กับการฟังธรรมะ อย่าให้ใจไปคิดเรื่องอื่น  เพราะถ้าไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ก็แสดงว่าไม่มีสติ  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ก็จะไม่รู้  เรื่องที่พระกำลังแสดงอยู่ ก็จะไม่รู้  เพราะไม่มีสติรู้อยู่กับการฟัง  ใจไปรู้อยู่กับเรื่องราวต่างๆ ที่ปล่อยให้คิดไป ถ้าเป็นอย่างนี้การดำเนินชีวิตก็จะเป็นไปแบบไม่รู้สึกตัว ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่  หรือทำอะไรไปแล้ว ก็ลืมไป ไม่รู้ว่าได้ทำไปแล้วหรือยัง 

รับประทานยาไปหยกๆ  ยังต้องมานั่งคิดว่า เมื่อสักครู่นี้กินยาไปหรือยัง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในขณะที่รับประทานยานั้น ไม่มีสติอยู่กับการรับประทานยา เวลารับประทานก็คิดไปถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ควบคู่ไปด้วย  พอรับประทานเสร็จแล้ว สักพักหนึ่งต้องกลับมาถามตัวเองว่า เมื่อสักครู่นี้กินยาไปหรือยัง  เป็นเพราะไม่มีสตินั่นเอง  ถ้าไม่มีสติแล้วการกระทำจะดีจะชั่ว  จะเป็นคุณหรือเป็นโทษ ก็จะไม่รู้ แล้วก็ปล่อยให้ทำไป  แต่ถ้ามีสติ ก็จะรู้อยู่ทุกขณะว่ากำลังฟังอะไรอยู่  จะรู้ว่าเกิดอารมณ์อย่างใดขึ้นมา  เมื่อมีอารมณ์แล้ว ความอยากจะทำอะไรก็จะปรากฏขึ้นมา  บางคนฟังแล้วก็เกิดอารมณ์หงุดหงิด ไม่อยากจะนั่งฟัง อยากจะลุกไปก็มี  บางคนฟังแล้วเกิดความสงบ เกิดความสบาย ก็อยากจะนั่งต่อไป  แต่ละคนมีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่างๆที่มาสัมผัสตามทวารทั้ง ๕ ไม่เหมือนกัน  ปฏิกิริยาตอบสนองของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน  ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของแต่ละคน ว่ามีมากน้อยเพียงไร  คนที่มีสติปัญญาน้อย ก็เปรียบเหมือนกับพวกเดรัจฉานทั้งหลาย   ที่มีปฏิกิริยาตอบโต้รวดเร็ว  เช่นเวลาเดินไปเหยียบหางสุนัขเข้า สุนัขก็จะเห่ากลับหรือกัดทันที  เพราะเป็นสัญชาตญาณของเดรัจฉาน  

แต่ถ้าเป็นมนุษย์  สมมุติใครเดินมาเหยียบเท้าเข้า ก็จะมีสติ  จะรู้ว่าขณะนั้นได้มีอารมณ์เกิดขึ้นแล้ว  เกิดความเจ็บเท้าขึ้นมา  ตามมาด้วยความเจ็บใจ  แต่ถ้าเป็นคนที่มีสติ ก็จะระงับความเจ็บใจนั้นได้  เพราะมีปัญญารู้ว่าความเจ็บใจเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี  ถ้าปล่อยให้ระบายออกไป ก็จะต้องมีการตอบโต้กัน  นี่คือลักษณะของคนมีปัญญา  คนมีปัญญาจะรู้ว่าเหตุการณ์ ก็ได้เกิดขึ้นไปแล้ว  เท้าก็ถูกเหยียบไปแล้ว   ความเจ็บเท้าก็ปรากฏขึ้นมาแล้ว แต่อย่าไปเจ็บใจ  เพราะเจ็บใจแล้วจะสร้างความโกรธความแค้นขึ้นมา  แล้วจะนำไปสู่การทะเลาะวิวาทต่อกร ทำร้ายร่างกายกัน  ถ้ารู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี ก็สามารถระงับได้  นี่คือลักษณะของผู้ที่มีสติมีปัญญา จะรู้ทันกับเหตุการณ์ต่างๆที่มากระทบ  มีปฏิกิริยาอย่างไรก็จะรู้ทัน ถ้าเป็นปฏิกิริยาที่ไม่ดีไม่งามนำไปสู่ความเสียหาย ความวุ่นวาย ความเดือดร้อน ก็จะระงับปฏิกิริยานั้นเสีย  เมื่อระงับได้ก็จะนิ่งเฉยไม่แสดงอาการอะไรออกมา อาจจะยิ้มกลับไป บอกว่าไม่เป็นไร เรื่องมันผ่านไปแล้ว ให้อภัยกันได้  นี่คือลักษณะของคนฉลาด เพราะจะทำให้ไม่มีปัญหา  ไม่มีเรื่องราวตามมา 

แต่ถ้าไม่มีสติปัญญา  พอโดนใครเหยียบเท้าเข้า ก็จะเกิดความโกรธแค้นขึ้นมา เกิดความรู้สึกว่าถูกเหยียดหยาม ไม่ให้ความเคารพเป็นต้น  ก็จะต้องมีการต่อว่ากัน  ถ้ามีการตอบโต้กลับมา ก็จะต้องมีการทำร้ายร่างกายตามมา นั่นเป็นวิสัยของเดรัจฉาน ของผู้ที่ไม่มีสติปัญญา  มนุษย์ถือว่าเป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้มีสติ มีปัญญา  ต้องรู้จักแยกแยะอะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด อะไรควรไม่ควร  เมื่อรู้แล้วก็จะสามารถทำให้การดำเนินชีวิตของตนเป็นไปในทางที่ดีที่งาม ที่ถูกที่ต้อง นำมาแต่ความสุขความเจริญ จึงควรขวนขวายศึกษาให้รู้ว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ  พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่าการกระทำทางกาย วาจา ใจนั้น มีทั้งคุณและโทษ  การแสดงออกที่เป็นโทษทางกายก็คือ  . การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  . การลักทรัพย์  . การประพฤติผิดประเวณี เมื่อกระทำไปแล้วจะมีแต่โทษตามมา  การพูดที่เป็นโทษได้แก่ ๑. การพูดปดมดเท็จ  ๒. พูดคำหยาบ ๓. พูดเพ้อเจ้อ  ๔. พูดส่อเสียด ยุยงให้เกิดความแตกแยกสามัคคี การพูดแบบนี้ไม่เกิดคุณ ไม่เกิดประโยชน์ มีแต่โทษ  ความคิดที่เป็นโทษได้แก่ ๑. ความโลภ  ๒. ความโกรธ  ๓. ความหลง  นี่คือการกระทำที่พระพุทธเจ้าทรงบอกว่าไม่ดีเป็นโทษ ไม่ควรกระทำ 

การกระทำที่ดีคืออะไร  ก็คือการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดประเวณี ไม่เสพสุรายาเมา  การพูดที่ดีก็คือไม่พูดคำเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดส่อเสียด  ความคิดที่ดีก็คือ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง  นี่คือสิ่งที่ควรดูแลอยู่เสมอ เวลาทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร เป็นไปในทิศทางไหน  ถ้าไปในทางโลภ โกรธ หลง ก็ควรระงับความคิดนั้นเสีย  เพราะถ้าไม่ระงับแล้ว ความคิดนั้นๆจะพาไปสู่การพูดที่ไม่ดี การกระทำที่ไม่ดีนั่นเอง  เมื่อพูดไม่ดีกระทำไม่ดีแล้ว ผลเสียก็จะตามมา ต้องมีเรื่องราวตามมาอย่างแน่นอน  ไม่ช้าก็เร็ว ก็อาจจะต้องเข้าคุกเข้าตะราง หรือในที่สุดก็อาจจะต้องเสียชีวิตไป เพราะไม่มีสติปัญญาคอยกำกับดูแลรักษาการกระทำ ให้อยู่ในกรอบของความดีงามนั่นเอง   จึงควรเจริญสติและปัญญาอย่างสม่ำเสมอ 

การเจริญสตินี้สามารถเจริญได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งนอนหลับไปเลย  เวลาตื่นขึ้นมาก็ให้มีความรู้สึกตัวว่าขณะนี้ตื่นขึ้นมาแล้ว  กำลังคิดจะทำอะไรอยู่   เบื้องต้นเวลาตื่นขึ้นมาแล้ว ก็คิดจะลุกขึ้น เพื่อไปเข้าห้องน้ำ ก็ให้รู้ว่าตอนนี้กำลังมีความคิดนี้อยู่ แล้วก็พิจารณาดูว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็น ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ  เมื่อเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องทำ เพราะร่างกายต้องมีการระบายขับถ่ายสิ่งต่างๆออกมา  ก็มีสติให้รู้อยู่ว่าขณะนี้กำลังจะลุกขึ้น  เมื่อลุกขึ้นก็รู้ว่ากำลังลุกขึ้น  เมื่อยืนขึ้นก็รู้ว่ายืนอยู่  เมื่อกำลังเดินเข้าห้องน้ำ ก็รู้ว่ากำลังเดินเข้าห้องน้ำ  นี่คือการฝึกให้มีสติอยู่กับตน  ให้อยู่กับการเคลื่อนไหวของกาย วาจา ใจ  ขณะที่ทำกิจวัตรต่างๆในห้องน้ำ ล้างหน้าล้างตา แปรงฟัน หรือทำอะไรก็ตาม ก็ให้มีสติอยู่กับการกระทำนั้นๆ  อย่าทำไปควบคู่กับการคิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ไป  เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ถือว่าไม่มีสติ เพราะเผลอไปแล้ว กำลังทำอะไรก็ไม่รู้  บางทีแปรงฟันไปแล้ว ยังจำไม่ได้เลยว่าแปรงซี่นี้หรือยัง  แปรงข้างบนแล้วหรือยัง  หรือแปรงข้างล่างแล้วหรือยัง  เพราะขณะที่แปรงไป ก็คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ไป  แต่ถ้ามีสติอยู่กับการแปรง ก็จะรู้อยู่ทุกขณะเลยว่าได้ทำอะไรไปบ้างแล้วอย่างไร 

ให้มีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวเสมอ เวลาออกไปทำมาหากินทำงานทำการ เวลาพบปะกับใคร  เวลามีอารมณ์อะไรมากระทบก็ให้รู้  เวลาระบายอารมณ์ก็ต้องแยกแยะ ว่าควรจะระบายหรือไม่  ถ้าเป็นความรู้สึกหงุดหงิดไม่สบายใจไม่พอใจ ก็ต้องระงับอารมณ์นั้น เพราะเวลาหงุดหงิดไม่พอใจ จะพูดไม่ดี  ทำไม่ดี  จะทำให้คนอื่นไม่ชอบไม่พอใจ   มีปฏิกิริยาที่ไม่ดีตอบโต้กลับมา  แต่ถ้าระงับอารมณ์เหล่านั้นได้  แล้วพยายามสร้างอารมณ์ที่ดีให้เกิดขึ้น แทนที่จะโกรธก็ให้อภัย บอกว่าไม่เป็นไร คนเราอยู่ในโลกนี้ด้วยกันก็เหมือนลิ้นกับฟัน ต้องมีการกระทบกันบ้าง  หรือคิดเสียว่าเป็นการใช้หนี้เก่า ใช้กรรมเก่า  เกิดมาแล้วก็ต้องมีคนมาทวงหนี้เก่า  เคยสร้างหนี้สร้างเวรสร้างกรรมไว้ในอดีต  พอเมื่อถึงเวลาที่เวรกรรมจะส่งผล ก็มาในรูปเคราะห์กรรมต่างๆ        เจอคนที่ไม่ถูกอกถูกใจ คอยหาเรื่องหาราว อย่างนี้ก็ต้องฝึกหัดทำใจ อย่าไปโกรธ  เพราะความโกรธจะทำให้ไปสร้างเวรสร้างกรรม เป็นการฉุดลากให้ลงสู่ที่ต่ำ  ลงไปสู่กองทุกข์นั่นเอง 

แต่ถ้ารู้จักระงับยับยั้ง  ก็จะไม่มีการพูดในสิ่งที่ไม่ดี  ไม่กระทำในสิ่งที่ไม่ดี ถึงแม้เขาจะทำร้ายเรา  ถึงแม้เขาจะพูดไม่ดี ใส่ร้ายต่างๆนานา ดุด่าด้วยวาจาที่หยาบคาย ก็จะไม่ตอบโต้   เมื่อไม่ตอบโต้แล้ว เรื่องก็ผ่านไป   ไม่มีปัญหาอะไร เมื่อเขาได้ระบายแล้วเรื่องมันก็จบ ก็จะไม่มีปัญหาอะไรตามมา  ชีวิตก็จะมีแต่ความสงบ มีแต่ความร่มเย็น  นี่ก็เป็นเพราะว่ามีสติ มีปัญญา คอยควบคุมการดำเนินชีวิตนั่นเอง  สังเกตดูถ้าวันไหนไม่มีสติไม่มีปัญญา วันนั้นจะมีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่สบายอกไม่สบายใจ  เพราะไม่รู้จักระงับอารมณ์ต่างๆ  เวลามีอารมณ์อยากให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นไปตามที่ต้องการ แล้วไม่เป็นไปดังที่ต้องการ ก็จะเกิดความหงุดหงิด อาจจะต้องไปมีเรื่องมีราวกับคนที่มาขัดขวาง หรือมาทำสิ่งที่ไม่ต้องการให้กระทำ  ก็เลยกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมา  นี่ก็เป็นเพราะขาดสติขาดปัญญานั่นเอง ถ้ามีสติมีปัญญาแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความราบรื่นดีงาม 

ขอให้เข้าใจว่า การมีเรื่องมีราวทะเลาะเบาะแว้งกัน ทุบตีกัน ต่อสู้ทำร้ายกัน ไม่ใช่เป็นการรักษาศักดิ์ศรี  แต่เป็นการทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  เพราะมนุษย์ที่ประเสริฐจะไม่มีเรื่องกับใคร  จะรู้จักให้อภัย รู้จักถอย รู้จักหยุด รู้จักยอม  ถ้ารู้จักหยุด รู้จักยอม  ใจก็จะเย็น ใจก็จะมีความสุข ใจก็จะสบาย  ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนากัน  แต่เพราะถูกความหลงครอบงำ  เวลาใครมาทำอะไรที่ไม่พอใจ ก็ต้องตอบโต้  เพราะถือว่าต้องรักษาศักดิ์ศรี  ใครมาทำร้ายแล้วปล่อยให้ทำร้าย แสดงว่าเป็นคนขี้ขลาด ไม่รักษาเกียรติยศ  นี่เป็นความเข้าใจผิด เป็นความเห็นผิด  เป็นความเห็นผิดเป็นชอบ  เป็นความหลง  ผู้มีสติปัญญาจะต้องรักษาความสงบ ความร่มเย็นเป็นสุขไว้ในทุกกรณี  นั่นแหละถือว่าเป็นการรักษาศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่แท้จริง  เพราะถ้ามนุษย์ทุกคนรักษาศักดิ์ศรีแบบนี้แล้ว  ทุกคนจะอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข 

แต่ทุกวันนี้มนุษย์เราไม่ได้อยู่ด้วยความสงบสุข  เพราะไม่รักษาเกียรติยศของมนุษย์นั่นเอง  เอาความหลงคืออัตตาตัวตนมาเป็นที่ตั้ง  ถ้าใครมาทำอะไรไม่ถูกใจ ก็ถือว่ามาหยามน้ำใจ ต้องทำร้าย ต้องทำโทษเขาอย่างนี้เป็นต้น  สังคมจึงมีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัว  มีแต่ความวุ่นวาย  ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงควรเห็นคุณค่าของสติปัญญา  ถ้าต้องการดำเนินชีวิตที่สงบร่มเย็นเป็นสุข  มีแต่ความเจริญ มีแต่ความเป็นสิริมงคล ก็ขอให้นำเอาธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนมาปฏิบัติกัน ให้มีสติมีปัญญา ดูแลรักษากาย วาจา ใจ ให้ตั้งอยู่ในทำนองคลองธรรม  คิดดี พูดดี ทำดี  ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง  ไม่พูดปด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ไม่ลักทรัพย์  ไม่ประพฤติผิดประเวณี   การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้